มณฑล อารยางกูล ชื่อนี้อาจทำให้นักดูหนังลังเลใจได้เสมอว่าจะตีตั๋วเข้าไปดูดีหรือไม่เวลาที่หนังเรื่องใหม่ของเขาเข้าโรงฉาย เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาร่วมๆ 10 ปีในบทบาทหน้าที่ผู้กำกับภาพยนตร์ 3-4 เรื่อง ไล่ตั้งแต่ “ปักษาวายุ” (2004) “ผีคนเป็น” (2006) บ้านผีสิง (2007) มาจนถึง “บิ๊กบอย” เมื่อสองปีที่แล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า ผลงานทั้งหมดนี้ยังไม่สามารถสร้างความประทับใจอันน่าจดจำไว้ในใจของคนดูได้ และนั่นก็อาจเป็นเหตุผลสำคัญซึ่งทำให้ชื่อของเขาไม่ได้ถูกยกขึ้นมาขายทั้งในหนังตัวอย่างและโปสเตอร์ราวกับจงใจ
อย่างไรก็ตาม ชีวิตคนก็คงเหมือนกับคำกล่าวที่คุ้นเคยว่า ถ้าไม่หยุดพัฒนา ศักยภาพของมนุษย์ก็พร้อมที่จะรุดหน้าไปได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากผลงานชิ้นล่าสุดของผู้กำกับคนนี้ที่ผมถือว่าเป็นพัฒนาการไปข้างหน้าอีกขีดขั้นหนึ่ง
เนื้อเรื่องหลักๆ ของ “I Miss You รักฉัน อย่าคิดถึงฉัน” ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเรื่องราวของหมอธนา (เจษฎาภรณ์ ผลดี) ซึ่งสูญเสียคนรักจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เสียงลือเสียงเล่าอ้างที่กล่าวขานกันไปทั่วทั้งโรงพยาบาลก็คือว่า ภายหลังความตายของ “หมอนก” (ณัฐฐาวีรนุช ทองมี) แฟนสาวของหมอธนา แม้จะมีหญิงสาวอีกหลายคนพยายามเข้ามาเยียวยาผ่าตัดหัวใจของหมอหนุ่มด้วยรักครั้งใหม่ แต่หญิงสาวเหล่านั้นก็ต้องพบกับการตามหลอนตามหลอกของผีหมอนกจนสุดท้ายไม่มีใครกล้าเข้าใกล้หมอธนาอีกต่อไป จนกระทั่งหญิงสาวคนใหม่อย่างหมอบี (อภิญญา สกุลเจริญสุข) ก้าวเข้ามาในชีวิตของหมอธนา แต่คำถามก็คือ เธอจะสามารถฝ่าด่านผีสาวและก้าวเข้าไปยืนอยู่ในหัวใจของหมอหนุ่มได้หรือไม่?
ในความเป็นหนังผี โดยส่วนตัวของผม I Miss You ถือว่าเป็นหนังผีในระดับที่ไม่ได้น่ากลัวมาก จังหวะการออกมาหลอกอยู่ในขั้นเบสิกทั่วไป ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์และเดาได้ว่าผีจะโผล่มาตอนไหน อย่างเช่น จังหวะที่หมอบียืนมองรถหมอธนาที่กำลังขับออกไปหลังจากมาส่งตัวเองที่บ้านแล้วผีหมอนกมายืนอยู่ข้างหลัง นั้นถือเป็นมุกโบราณซึ่งเห็นมาแล้วนับไม่ถ้วน แน่นอน พอเราเดาได้ว่าผีจะต้องมา และมันก็มาจริงๆ ความน่ากลัวหรือการที่จะทำให้เราสะดุ้งสะเทือนได้ ก็มลายหายไป จุดนี้ ผมพูดในมุมของตัวเองที่ดูหนังผีมาระดับหนึ่ง แต่สำหรับอีกหลายคน ผมไม่รู้ เพราะคุณดูแล้ว คุณอาจจะบอกว่าน่ากลัวก็เป็นได้
ดังนั้น แทนที่จะสะดุ้งสะเทือนไปกับการหลอกหลอนของผี ผมคิดว่าความหลอนของหนังเรื่องนี้อยู่ที่รายละเอียดอื่นๆ ของหนังมากกว่า ที่เด่นชัดที่สุดคืองานด้านภาพ อย่างวอลล์เปเปอร์ภาพถ่ายหมอนกใบมหึมาเท่าผนังซึ่งหมอธนานำไปติดไว้ในห้องโถงนั้น สร้างความรู้สึกหลอกหลอนได้อย่างน่าประหลาด และหนังเองก็ใช้สอยภาพนี้ได้คุ้มค่า เหมือนอย่างฉากที่ตัวประกอบอย่างทราย เจริญปุระ เดินเข้าไปในห้อง มุมกล้องที่ถ่ายจากมุมสูงนั้น ให้ความรู้สึกน่าหวาดหวั่นราวกับมีสายตาของใครบางคนจับจ้องเธออยู่ ผมคุยเล่นกับน้องๆ ที่ไปดูด้วยกันว่า ถ้าหนังให้ภาพถ่ายของหมอนกกะพริบตาสักนิด จะสยองกว่านี้ แต่นั่นอาจจะเป็นความคิดที่ไม่เข้าท่านักก็ได้ เพราะความจริง ลำพังเพียงแค่นั้นก็หลอนพอแล้ว
ขณะเดียวกัน พฤติกรรมของหมอธนานั้น ก็สร้างความรู้สึกหลอนให้กับเราได้ดียิ่งกว่าการหลอกของผีเสียด้วยซ้ำ เฉพาะอย่างยิ่ง การที่เขามักจะไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งเคยไปด้วยกันกับแฟนสาวสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ การที่เขามักจะสั่งกาแฟสองแก้วเสมอ (ทั้งๆ ที่ไปนั่งดื่มคนเดียว) แก้วหนึ่งวางข้างหน้าตัวเอง และอีกแก้วหนึ่งวางอีกฝั่งของโต๊ะราวกับว่าสั่งไว้ให้ใครอีกคน มันเป็นภาพที่น่าขนลุกไม่ใช่แค่เฉพาะกับหมอบีเท่านั้น หากแต่เราๆ ท่านๆ ก็จะรู้สึกแบบนั้นตามไปด้วย นี่คือความสำเร็จแห่งการสร้างความหลอนโดยไม่จำเป็นต้องมีผีเป็นเครื่องมือ
ความแยบคายของหนังในส่วนนี้ นอกเหนือไปจากทำให้เราสัมผัสได้ในความโรแมนติกของผู้ชายคนหนึ่งซึ่งมั่นคงในรักไม่เสื่อมคลาย ยังส่งเสียงบอกแทรกไปด้วยว่า บางครั้ง พฤติกรรมที่สะท้อนความโรแมนติกก็ดูน่ากลัวได้เหมือนกัน ถ้าหากมัน “เยอะเกินไป”
ด้วยเหตุนั้น ในมุมมองส่วนตัว ผมจึงชอบหนังเรื่องนี้ในมุมที่ไม่เกี่ยวกับผี และพูดกันตรงๆ I Miss You นั้น จะถูกจดจำในความเป็นหนังรักมากกว่าการเป็นหนังผี แต่แม้จะเป็นหนังรัก I Miss You ก็ไม่ได้เอ่ยถึงแต่ด้านที่สวยงามของความรัก หากแต่ยังปรับแว่นขยายให้เรามองเห็นด้านร้ายๆ ของมันด้วย ตัวประกอบอย่างทราย เจริญปุระ ที่โผล่มาเพียงแค่สองสามฉาก แต่กลับมีอิทธิพลต่อเนื้อหาของหนังอย่างมหาศาล โดยเฉพาะการปรากฏตัวครั้งที่สองของเธอ ในฉากที่ต้องทุ่มเถียงกับหมอบีนั้น ตีแผ่ความคิดออกมาอย่างเด่นชัดเกี่ยวกับความร้ายของความรักความใคร่ที่ยึดโยงอยู่กับการแย่งชิงเพื่อให้ได้มาครอบครอง
ความรักที่มากเกินจนกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่น อันตรายต่อความสุขทางใจเช่นใด ความผูกพันอันล้นเกินก็ไม่ต่างไปจากนั้น เพราะมันจะส่งผลเป็นความทุกข์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ผมชอบถ้อยคำประโยคหนึ่งซึ่งออกจากปากของหมอนกตอนที่หมอธนาสวมแหวนหมั้นให้ (ถ้าจำไม่ผิด เธอพูดว่า “นี่มันไม่ใช่แค่ผูก แต่มันมัดแล้วนะ”) เพราะถ้อยคำประโยคนั้นสามารถสื่อสารสาระของเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้ง เช่นเดียวกับสัญลักษณ์อย่างหนึ่งซึ่งหนังหยิบมาใช้ คือ “นก” ที่ติดอยู่ในห้องเก็บศพ มันเทียวบินวนชนกระจกหน้าต่างเพื่อหาทางออกอยู่อย่างนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แลดูน่าเวทนา
เท่าๆ กับที่รู้สึกว่า “รักฉัน อย่าคิดถึงฉัน” เป็นหนังดีๆ เรื่องหนึ่งในบรรดาหนังไทยที่เข้าฉายในช่วงครึ่งปีแรก ผมมองว่า นี่คือภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในชีวิตการทำหนังของมณฑล อารยางกูล และถ้าเขาสามารถรักษาระดับมาตรฐานตรงนี้ไว้และพัฒนามันขึ้นไปอีก เชื่อว่า ชื่อของเขาจะต้องถูกชูขึ้นมาขายทั้งในหนังตัวอย่างและโปสเตอร์หนังในงานชิ้นต่อๆ ไปอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ก็อย่างที่หลายคนคงรู้ครับว่า หนังเรื่องนี้มีตอนจบ 3 แบบ และเท่าๆ ที่ผมดูมาแล้วหนึ่งแบบ ผมรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องจ่ายสามรอบ เนื่องจากตอนจบที่ว่านั้น ผมพอจะเดาได้ว่าเป็นฉากไหนตอนใด และถ้าเข้าใจไม่ผิด ผมคิดว่าตอนจบสามแบบคงจะหมายถึงซีนสั้นๆ (ไม่น่าจะถึงหนึ่งนาที) ซึ่งพูดกันอย่างถึงที่สุด ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการที่เราจะซึมซับประเด็นเนื้อหาของหนังได้หรือไม่ได้
เหนืออื่นใด ผมคิดว่า การที่หนังมาเฉลยตอนจบเหมือนติ่งเล็กๆ นั้น เป็นความล้นเกินเสียด้วยซ้ำ เพราะมันเหมือนแค่จะมาเฉลยสรุปว่าสุดท้าย ใครได้ครอบครองใคร ดังนั้น ต่อให้หนังจะมีตอนจบอีกสักสิบแบบ ก็คงไม่จำเป็น เนื่องจากฉากก่อนหน้านั้นที่กล้องพาเราไปดูผู้คนที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับเรื่องราวที่เล่ามาตั้งแต่ต้น ถือเป็นการทำพลังด้านเนื้อหาของหนังให้ครบถ้วนสมบูรณ์และเปิดมุมมองโลกทัศน์ให้กว้างขวางลึกซึ้งเพียงพอแล้ว เกี่ยวกับประเด็นความรัก ความตาย และความผูกพัน