xs
xsm
sm
md
lg

Music Shines : ‘The Imagine Project’ เวิร์ลด์ฟิวชั่น ในเจตนารมณ์ทางดนตรีไร้พรมแดนของ เฮอร์บี แฮนคอค / พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

paulheng_2000@yahoo.com

บนเวทีมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2010 (พ.ศ.2553) ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ คอนเสิร์ตเฉลิมฉลองในพิธีครั้งนี้ เฮอร์บี แฮนคอค (Herbie Hancock) มือเปียโนในระดับเซียนของวงการดนตรีแจ๊ซได้ขึ้นเล่นในบทเพลง ‘Imagine’ ร่วมกับนักร้องและนักดนตรีอย่าง อินเดีย.อรี (India.Arie), คริสตินา เทรน (Kristina Train) และ เกรก ฟิลลินแกนส์ (Greg Phillinganes)

แต่น่าเสียดายที่ผู้ได้รับรางวัลคือ หลิว เสี่ยว โป ซึ่งเป็นนักโทษการเมืองของจีน ไม่สามารถเดินทางมารับรางวัลและร่วมดื่มด่ำในบทเพลงนี้ได้

บทเพลง ‘Imagine’ ในการคอฟเวอร์ในแบบเวิร์ลด์ฟิวชั่นครั้งนั้น เป็นแรงบันดาลใจถูกนำมาบันทึกเสียงในสตูดิโอนำมาบรรจุอยู่ในอัลบั้ม ‘The Imagine Project’ ของเขาเอง และในกลางเดือนมีนาคม 2011 (พ.ศ.2554) บทเพลงนี้ก็ได้รับรางวัลแกรมมี่ในสาขา Best Pop Collaboration With Vocals ซึ่งเป็นการทำงานร่วมมือกันของนักร้องนักดนตรีมากหน้าหลายตา อาทิ ซีล (Seal ) นักร้องโซล อาร์แอนด์บี พ๊อพ, พิงค์ (P!nk) นักร้องสาวร๊อคสุดมั่น, อินเดีย.อรี นักร้องสายนีโอโซล, เจฟฟ์ เบค (Jeff Beck) กีตารฮีโร่ชาวอังกฤษ, โคโนโน นัมเบอร์วัน (Konono N°1) วงดนตรีในแนวบาซอมโบ จากคองโก, อูมู ซางกาเร (Oumou Sangare) นักร้องสาวใหญ่ในแนววาสซูลูชาวมาลี และคนอื่นๆ โดยมีเฮอร์บี แฮนคอค เป็นแกนกลางเจ้าของโปรเจคท์

โปรเจคท์ทางดนตรีที่ชื่อ ‘Imagine Project’ ของ เฮอร์บี แฮนคอค นั้น ไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อนในการบันทึกเสียงในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้แรงบันดาลใจเอาภาพยนตร์สารคดีมาต่อยอดทำดนตรีกัน ระหว่างนักเปียโนแจ๊ซระดับตำนาน เฮอร์บี แฮนคอค กับบรรดานักร้องนักดนตรีในระดับซูเปอร์สตาร์ของแต่เชื้อชาติในละประเทศบนโลกใบนี้อีก 12 คน มาทำงานร่วมด้วยช่วยกัน

โครงการดนตรีโครงการนี้ได้สะท้อนภาพให้เห็นชัดเจนสำแดงออกมาทางโสตว่า ดนตรีคือ

‘ภาษาแห่งจักรวาลอย่างแท้จริง’

โดยเฉพาะการเชื่อมโยงภาระหน้าที่ ซึ่งจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนคงทนถาวรบนโลกใบนี้ แน่นอน...งานชุดนี้เป็นการเชื่อมหลอมทางดนตรีแจ๊ซในแบบ เฮอร์บี แฮนคอค เข้าไปสู่ความท้าทายใหม่ของวิสัยทัศน์ทางดนตรี ซึ่งเสนอผ่านอัตลักษณ์ของนักดนตรีในแต่ละชาติและวัฒนธรรมจากทั่วโลกที่ถูกดึงมาร่วมงานในโครงการนี้

โครงการดนตรีนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากสารคดี ‘Journey of Man’ ที่ออกอากาศทางทีวีสาธารณะของสหรัฐอเมริกา หรือช่องพีบีเอส ซึ่งเป็นเรื่องราวที่นำเสนอถึงเส้นทางที่มนุษย์อพยพย้ายถิ่นออกจากทวีปแอฟริกา อันถือเป็นต้นตอทางพันธุกรรมของมนุษย์ทั้งหมดในทุกวันนี้

หลังจากได้ชมสารคดีชุดนี้ เฮอร์บี แฮนคอค รู้สึกตื่นตะลึง และเกรงขามถึงการเชื่อมต่อทางชีววิทยาอย่างไม่มีจุดสิ้นสุดของการร่วมวงศาคณาญาติจากแม่เดียวกันของเผ่าพันธุ์มนุษย์

เขาเริ่มร้องไห้ และตัดสินใจในทันทีทันใดว่า โครงการทางดนตรีในชุดต่อไปของเขาจะวางธีมหรือเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางของมนุษย์ที่ไม่มีเชื้อชาติ พรมแดน และภาษา

‘อัลบั้มชุดนี้บันทึกเสียงในหลายประเทศทั่วโลก ในหลากหลายภาษา กับศิลปินนานาชาติมากหน้าหลายตา จากความพยายามเหล่านี้ทำให้เห็นพลังและความสวยงามของความร่วมมือประสานใจบนโลกใบนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนทางเดินทองคำที่นำไปสู่สันติภาพ

‘ขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ช่วยเหลือในทุกด้าน ด้วยทุกหัวใจเพื่อมุ่งสู่จุดหมายด้วยกัน และขอแสดงความขอโทษด้วยความจริงใจถึงใครๆ ที่ไม่ได้ถูกเชิญมาร่วมงานด้วย แต่เสนอตัวอยากจะมาทำงานในอัลบั้มชุดนี้’

เป็นคำเขียนแสดงความในใจของ เฮอร์บี แฮนคอค ที่มีต่ออัลบั้มชุดนี้ ซึ่งเป็นโปรเจคท์พิเศษทางดนตรีของเขาภายใต้แนวความคิดหรือคอนเซ็ปท์มาจากบทเพลง ‘Imagine’ ของ จอห์น เลนนอน (John Lennon)

‘Imagine’ กับการข้ามพรมแดนทางดนตรี

หลังจากที่วงแตก จอห์น เลนนอน หนึ่งในสมาชิกวงเดอะ บีทเทิลส์ (the Beatles) ได้เขียนเพลง ‘Imagine’ เพื่อนำมาบรรจุอยู่ในอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง มันได้กลายเป็นบทเพลงอมตะนิรันดร์กาล และเป็นตัวแทนของบทเพลงเรียกร้องสันติภาพที่คนทั้งโลกยอมรับ พลังที่มาจากประชาชนในการเรียกร้องสันติภาพและสันติสุข คล้องแขนเกี่ยวใจและสร้างสันติขึ้นมาผ่านบทเพลง

โดยบทเพลงนี้ออกมาครั้งแรกในปี 1971 (พ.ศ.2514) หรือเมื่อ 41 ปีที่แล้ว แต่มันไม่เคยเงียบจางลางหายไปจากโลกนี้เลย และถูกนิตยสารโรลลิ่ง สโตน ซึ่งเป็นนิตยสารทางดนตรีในอเมริกาที่ทรงอิทธิพลที่สุดจัดให้อยู่ในอันดับที่ 3 ใน 500 บทเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล รวมถึงถูกบรรจุเป็น 1 ใน 500 รายชื่อของบทเพลงที่มีอิทธิพลต่อดนตรีร๊อคแอนด์โรล ของหอเกียรติยศร๊อคแอนด์โรล หรือร๊อคแอนด์โรล ฮอลล์ ออฟ เฟม

หากจะย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของบทเพลงเพื่อสันติภาพอันเป็นอมตะเหนือกาลเวลาอย่างไม่มีวันสูญสลายในทุกยุคสมัยบทเพลงนี้ในตลอดระยะเวลา 4 ทศวรรษที่ผ่านไป เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ผ่านแรงบันดาลใจในสมุดโครงร่างคำเพื่อเขียนบทกวีเพียง 3 บรรทัด ของภรรยาชาวญี่ปุ่น โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) ของ จอห์น เลนนอน ในขณะนั้น ซึ่งต่อมาภายหลังโครงร่างของคำชุดนี้ก็เสร็จเป็นบทกวีโดยสมบูรณ์ในชื่อ ‘Cloud Piece’ และถูกรวบรวมบรรจุในหนังสือของ โยโกะ โอโนะ ที่ออกมาในปี 1964 (พ.ศ.2507) มีชื่อเล่มว่า ‘Grapefruit’ แต่มีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ด้วยถ้อยกวีชุดเดียวกันซึ่งยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ได้ถูกต่อยอดถ้อยคำขยายความคิดสู่เสรีภาพแห่งจินตนาการของความหมายกลายเป็นบทเพลงที่ยิ่งใหญ่เป็นอมตะของมนุษยชาติเพลงหนึ่งแห่งยุคสมัย

หากจะย้อนกลับให้ลึกลงไปอีก มูลรากทางความคิดของบทเพลง ‘Imegine’ ของ จอห์น เลนนอน นั้น สามารถย้อนรอยไปสู่จิตใต้สำนึกที่ก่อตัวมา เพราะในปี 1963 (พ.ศ.2506) เนื้อร้องท่อนขึ้นต้นของบทเพลง ‘I'll Get You’ ของวงเดอะ บีเทิลส์ เขียนไว้ว่า

‘Imagine I'm in love with you, it's easy 'cause I know’

ซึ่งเป็นเนื้อเพลงที่ จอห์น เลนนอน ได้เขียนไว้นานแล้วก่อนหน้าที่จะพบ โยโกะ โอโนะ ถึง 3 ปี ซึ่ง โยโกะ โอโนะ ได้แสดงถึงที่มาของเนื้อหาในบทเพลง ‘Imagine’ ว่า เป็นความเชื่อของ จอห์น เลนนอน ว่า ประเทศคือหนึ่งเดียวกัน โลกเป็นหนึ่งเดียวกัน และผู้คนก็ไม่มีการแบ่งแยกกันทั้งหมดทั้งสิ้น เขาต้องการให้ความคิดนี้เผยแพร่ออกไป ซึ่งแนวความคิดนี้ได้แรงบันดาลใจมากจาก ‘Nutopia’ ประเทศแห่งสันติภาพ ไม่มีศาสนา ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีการระเบียบกฎเกณฑ์และการบังคับ ไม่มีทุนนิยม เป็นสังคมแห่งอุดมคติอย่างแท้จริง

แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นจริง....

การที่ เฮอร์บี แฮนคอค มาบรรลุความฉับพลันในสันติภาพโดยพลัน สู่แรงกระตุ้นอันยิ่งใหญ่ผ่านบทเพลง ‘Imagine’ นั้น อัตตาและวัยวุฒิทางดนตรีของเขาก็เป็นเลิศอยู่ในโลกดนตรีอยู่แล้ว โดยเฉพาะมรรคาแห่งแจ๊ซ เขาถือเป็นหนึ่งในนักดนตรีที่ได้รับความเคารพยำเกรงและก่อให้เกิดความโต้แย้งมากที่สุดคนหนึ่งในวงการเพลงแจ๊ซร่วมสมัย โดยเฉพาะการเป็นลูกวงและคนคอยให้คำปรึกษากับ ไมล์ส เดวิส (Miles Davis) ปรมาจารย์แจ๊ซในชิ้นทรัมเป็ตช่วงที่ยังโลดแล่นมีชีวิตและกลายเป็นตำนาน แต่วิถีแจ๊ซและชีวิตของเขาไม่คล้ายคลึงกับไมล์ส เดวิส

การที่ เฮอร์บี แฮนคอค ให้ความสำคัญกับชีวิตและดนตรีที่พุ่งก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ย้อนมองกลับหลัง ทัศนคติทั้งดนตรีและการใช้ชีวิตจึงทะยานสู่เส้นทางที่แน่นอน โดยเฉพาะการพัฒนาทางดนตรีแจ๊ซที่เขาเคลื่อนไปมาระหว่างอิเล็กทรอนิคส์และอคูสติค แจ๊ซ รวมถึงเส้นทางของดนตรีริธึ่มแอนด์บลูส์ หรืออาร์แอนด์บีร่วมสมัยด้วย

จากการเริ่มต้นเรียนรู้และเล่นเปียโนเมื่อวัยเยาว์ตอนอายุ 7 ขวบ เฮอร์บี แฮนคอค กลายเป็นที่รู้จักจากการเล่นโซโล่อันมหัศจรรย์ในมูฟเมนท์แรกของเปียโน คอนแชร์โต้ ในบทเพลงของโมสาร์ท (Mozart) กับวงเดอะ ชิคาโก ซิมโฟนี (the Chicago Symphony) ในช่วงอายุเพียง 11 ขวบ จากนั้นเส้นทางดนตรีของเขาก็โลดโผนโจนทะยานอย่างกู่ไม่กลับมาจนถึงทุกวันนี้ 6 ทศวรรษเกว่าเข้าไปแล้วจากวันนั้น

ปัจจุบันด้วยวัยย่างเข้า 71 ปีเต็ม แต่เฮอร์เบิร์ต เจฟฟรีย์ 'เฮอร์บี' แฮนคอค (Herbert Jeffrey ‘Herbie’ Hancock) ก็ยังผ่องแผ้วนพคุณศรีอยู่ในจริตทั้งร่างกายและจิตวิญญาณทางดนตรี ด้วยสถานะของมือเปียโนแจ๊ซในระดับปรมาจารย์ ผู้นำวง และประพันธกร รวมถึงถูกบันทึกให้อยู่ในระดับตำนานในยุค ‘second great quintet’ หรือวงแจ๊ซ 5 ชิ้นอันยิ่งใหญ่ยุคที่ 2 ของ ไมล์ส เดวิส ซึ่งเฮอร์บี แฮนคอค ได้ร่วมเป็นหนึ่งในการช่วยสร้างคำจำกัดความใหม่ทางเซคชันริธึ่มของดนตรีแจ๊ซอย่างที่ไม่เคยมีสุนทรียศาสตร์ก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์ทางดนตรีเคยบันทึกไว้

แน่นอนเขาเป็นคนที่ร่วมเขียนประวัติศาสตร์ทางดนตรีแจ๊ซในยุคโมเดิร์นด้วยสถาปัตยกรรมทางเสียงที่รวมเรียกกันว่า ‘โพสต์-บ๊อพ’ ที่สำคัญเขาเป็นนักดนตรีแจ๊ซคนแรกที่บุกเบิกนำซินธิไซเซอร์และดนตรีฟังค์กีมาหลอมรวมกับดนตรีแจ๊ซ

บุคลิกทางดนตรีแจ๊ซในจริตของ เฮอร์บี แฮนคอค นั้น รุ่มรวยด้วยเมโลดี้ที่สวยงาม และบทเพลงส่วนมากก็อยู่ในลักษณะครอส โอเวอร์ หรือสามารถข้ามสายไปประสบความสำเร็จในหูของคนฟังเพลงในตลาดเพลงพ๊อพหรือยอดนิยมได้ เพราะการนำทั้งดนตรีฟังค์กี โซล มาประยุกต์แปลงอย่างอิสระในรูปแบบการเล่นผ่านแนวทางของแจ๊ซ

ในการอิมโพรไวซ์หรือการด้นสดโชว์ปฏิภาณไหวพริบทางดนตรีแบบฉับพลันแยบคาย เขามีความสามารถพิเศษอันเปี่ยมด้วยพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์การผสมผสานระหว่างแนวทางของดนตรีแจ๊ซ บลูส์ และโมเดิร์น คลาสสิค เข้าด้วยกันอย่างหาตัวจับวางยาก ถึงแม้ว่าในวงการดนตรีแจ๊ซ มือเปียโนระดับซือแป๋อย่าง บิลล์ อีแวนท์ (Bill Evans) จะเป็นผู้มาก่อนในการแผ้วทางเพื่อดูดซึมทางดนตรีหลากหลายเข้ามาไว้ในดนตรีแจ๊ซ แต่เฮอร์บี แฮนคอค ก็สามารถนำแนวทางเหล่านั้นมาสร้างสไตล์ของตัวเองผ่านเสียงเปียโนและคีย์บอร์ดได้อย่างหาใครเสมอเหมือนเฉกเช่นเดียวกัน

ด้วยท่วงทำนองและเสียงประสานที่ดีเยี่ยมและสลับซับซ้อน และโครงสร้างจังหวะที่พื้นๆ จนเป็นแนวทางประจำตัวที่เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเกิดจากความขวนขวายและไม่เคยหยุดนิ่งในการฝึกฝนและแสวงหาความท้าทายใหม่ทางดนตรี ทั้งการวิวัฒน์ของเสียงและเทคโนโลยีทางเสียงที่เดินเคียงคู่พร้อมไปกันกับฝีมือที่รุดหน้าก้าวไกล

‘The Imagine Project’ เพื่อสันติภาพและสันติสุขทางโสต

อัลบั้มชุด ‘The Imagine Project’ เป็นอีกย่างก้าวที่ เฮอร์บี แฮนคอค ล้ำออกจากปริมณฑลทางดนตรีแบบเดิมสู่แรงท้าทายใหม่ๆ ของทางดนตรีในแบบโกลบอลหรือทั่วโลก ผ่านพันธุกรรมดนตรีที่เรียกว่า เวิร์ลด์ ฟิวชั่น (World Fusion)

ซึ่งดนตรีแขนงนี้ อ้างอิงได้จากการหลอมรวมผสมกันของดนตรีในโลกที่ 3 หรือเวิร์ลด์มิวสิค (ในที่นี้หมายถึงดนตรีที่ไม่ใช่จากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ที่เป็นอุตสาหกรรมดนตรีกระแสหลักของโลก) เข้ากับทางดนตรีแจ๊ซ และเรียกว่า เวิร์ลด์ ฟิวชั่น โดยจะแตกต่างกับ‘เวิร์ลด์บีท’ ซึ่งเป็นดนตรีที่ผิดแผกออกไปจากเวิร์ลด์ มิวสิค อีกที เพราะเป็นการหยิบยืมเพื่อผสมผสานพันทางหลอมแนวทางดนตรีเทรดิชั่นหรือประเพณีนิยมดั้งเดิมของแต่ละที่และแต่ละเชื้อชาติเข้ากับเสียงและการเล่นของดนตรีแบบตะวันตกในวัฒนธรรมสมัยนิยม

เวิร์ลด์ ฟิวชั่น เป็นการนำแขนงดนตรีย่อยที่อยู่ในหมวดหมู่ของดนตรีเวิร์ลด์ มิวสิค มาเป็นต้นกำเนิด ซึ่งสามารถแยกออกมาได้ 3 แบบ คือ ดนตรีชาติพันธุ์, ดนตรีที่ไม่ใช่ดนตรีตะวันตก และดนตรีใหม่หรือ นิว มิวสิค มีจุดเด่นก็คือ การนำมาใช้วิธีการเล่นในแบบแจ๊ซ โดยเฉพาะการด้นสดหรืออิมโพรไวเซชั่น หรือการสนทนาทางดนตรีของกันและกัน

เฮอร์บี แฮนคอค ก็เช่นกัน แม้เขาจะสำเหนียกรู้สึกตัวถึงการข้ามพรมแดนทางดนตรีในแบบแจ๊ซอเมริกันจ๋าไปสู่สิ่งใหม่ๆ เมื่อถึงปัจฉิมวัยหรือช่วงเวลาท้ายสุดของอายุขัย ว่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ ไม่ได้อยู่ที่ชื่อเสียง เงินทอง และเกียรติยศที่ได้รับ แต่มีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น

ไม่ต้องถามว่า คุณได้อะไรจากโลกใบนี้หรือยัง แต่ต้องบอกว่าคุณให้อะไรคืนกลับแก่โลกใบนี้ ก่อนที่ร่างไร้วิญญาณจะถูกเผาหรือสลายย่อยเป็นธุลีและหายกลายเป็นอากาศธาตุ

ในฐานะนายวงของ เฮอร์บี แฮนคอค ในอัลบั้ม ‘The Imagine Project’ ได้แสดงให้เห็นศักดิ์ศรีและบารมีที่สั่งสมมากว่าครึ่งศตวรรษ ผ่านการทำงานดนตรีในฐานะยอดฝีมือทางเปียโนแจ๊ซที่เจนจัดและต่อยอดดนตรีสู่สิ่งใหม่อย่างไร้พรมแดนหรือขีดคั่น

การนั่งในเก้าอี้ฝ่ายสร้างสรรค์ของวงนิว ลอสแองเจลิส ฟิลฮาร์โมนิค ในปัจจุบันก็ถือเป็นการยอมรับอย่างดุษณีจากวิถีของดนตรีในสายคลาสสิคอีกสายทางหนึ่งด้วยเช่นกัน ยิ่งแก่ยิ่งขม ยิ่งแก่ยิ่งจัดจ้าน ทว่าคงความสุขุมคัมภีรภาพได้อย่างน่าชื่นชม เฮอร์บี แฮนคอค ได้พาตัวเองและทีมดนตรีที่เป็นแขกรับเชิญฝ่าข้ามมิติทางดนตรีในแบบเวิร์ลด์ฟิวชั่น ซึ่งมีแกนกลางอยู่ที่ดนตรีแจ๊ซและหลอมรวมกับดนตรีพ๊อพแบบชาติพันธุ์ต่างๆ ในทุกทวีปได้ดีในระดับที่น่าพอใจ

66.11 นาทีในลำนำของเสียงเพลง 10 บทเพลง จะเห็นถึงดนตรีในแขนงต่างๆ ที่ถูกหยิบมาตามความถนัดของนักดนตรีและนักร้องรับเชิญมากลืนกลายหลอมรวมจิตวิญญาณทางดนตรีเพื่อโลกกับ เฮอร์บี แฮนคอค กลิ่นดนตรีอย่าง อดัลท์ อัลเทอร์เนทีฟ พ๊อพร๊อค / คอนเทมโพรารี่ แจ๊ซ / แจ๊ซพ๊อพ / อินดี้ร๊อค / อดัลท์ คอนเทมโพรารี่ ริธึ่มแอนด์บลูส์ / คอนเทมโพรารี่ พ๊อพร๊อค / แซมบ้า / แอฟริกัน เทรดิชั่น / แอโฟร-พ๊อพ / บราซิเลียน เทรดิชั่น / เซลติค ร๊อค / เดเสิร์ช บลูส์ และละติน พ๊อพ ถูกนำมาใช้งานตามสัญชาตญาณทางดนตรีของพวกเขาเองอย่างเป็นธรรมชาติ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือมีการบันทึกเสียงโดยใช้นักดนตรีถึง 64 คน ในการทำงานทั้งหมด 10 บทเพลง และใช้สตูดิโอที่บันทึกเสียงถึง 8 แห่งใน 3 ประเทศ รวมถึงใช้ซาวด์ เอนจิเนียร์ ถึง 10 คนด้วยกัน แม้จะแสดงถึงความหลากหลายของดนตรีในแต่ละบทเพลงเพื่อผสมผสานสู่ความเป็นเวิร์ลด์ฟิวชั่น นับได้ว่าเป็นความพยายามที่อยู่ในขั้นสูง ในการเชื่อมโยงคนดนตรีทุกมุมโลกเข้ากับตัวของ เฮอร์บี แฮนคอค ถือเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า โดยผ่านทางทักษะฝีมือและเชิงชั้นทางดนตรีชั้นเยี่ยมและจินตนาการที่สวยงามถึงสันติภาพและสันติสุข

นอกจากแขกรับเชิญที่เป็นนักร้องและนักดนตรีในระดับโลกรู้จักจากทั่วโลกแล้ว ทีมดนตรีของ เฮอร์บี แฮนคอค เอง หรือเป็นลูกวงที่รู้มือรู้ใจก็ถือว่าอยู่ในระดับที่อยู่ในชั้นยอด อย่าง ลาร์รี ไคลน์ (Larry Klein) เบสและรับหน้าที่โปรดิวเซอร์ด้วย, วินนี โคลาอุยตา (Vinnie Colaiuta) กลอง, อเล็กซ์ อคูนา (Alex Acuña) เพอร์คัสชั่นหรือเครื่องเคาะ และ ลีโอเนล ลูเก้ (Lionel Loueke) กีตาร์

ที่สำคัญ นักดนตรีชุดนี้ที่รู้ความหมายของทางดนตรีพ๊อพ โฟล์ค และโซล ซึ่งจะมาขยายและตีความในบทเพลงที่ร่วมกับแขกรับเชิญในระนาบที่หลอมรวมกันได้อย่างกลืนกลายภายใต้แนวทางหลักของแจ๊ซ แต่ก็ได้ไม่สมบูรณ์อย่างเต็มที่ ยังเหมือนมีรอยตะเข็บที่เป็นร่องรอยของความไม่กลมกลืนอยู่บ้างเช่นกัน แต่ก็สะท้อนถึงความล้นเหลือของการคิดอย่างรอบคอบและตั้งใจอย่างมาก ที่ทำให้เกิดงานที่ดูเหมือนจะไม่นวลเนียนในการผสมผสานอยู่

แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี งานศิลปะทางดนตรีข้ามชาติพันธุ์ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป

ศิลปะทางดนตรีและจิตวิญญาณของยุคสมัย ที่แบ่งปันร่วมกันผ่านมุมมองทางสันติภาพและภาระหน้าที่ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ ความหลากหลายทางสิ่งแวดล้อมของดนตรีทำให้มีรอยต่างที่แยกจากกันอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องกังวลใจหรือกระวนกระวายใจมากนักในมวลเสียงที่ออกมา เพราะเอกภาพของตัวเพลงก็ยังควบแน่นมวลรวมทั้งหมดอยู่อย่างลงตัว

หากใครที่เคยฟังงานในสไตล์ฟิวชั่นแจ๊ซในแนวทดลองของ เฮอร์บี แฮนคอค ในช่วงปลายยุคทศวรรษที่ 70 ก็จะเห็นพลังการผสมผสานของดนตรีฟังค์กีที่จัดจ้าน ซึ่งกลิ่นเหล่านี้จะจางหายไปในงานยุคหลัง โดยเฉพาะอัลบั้มชุดนี้จะมีการทำงานที่แสดงออกถึงรสนิยมที่ดีและไหวพริบทางดนตรีที่นำบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ของยุคสมัยมาเล่นและเรียบเรียงดนตรีและเสียงประสานใหม่ โดยดนตรีที่นำมาเป็นพาหะหลักใหญ่ๆ ก็คือคอนเทมโพรารี แจ๊ซ แจ๊ซ-พ๊อพ และเวิร์ลด์ฟิวชั่น

แน่นอน เครื่องหมายทางการค้าที่มีมายาวนานของ เฮอร์บี แฮนคอค ก็คือ อย่างน้อยดนตรีของเขาที่ผ่านมาก็ล้วนมีคุณภาพในระดับที่มาตรฐานไม่เคยตกหล่นลงไป แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพขั้นปรมาจารย์ที่ไม่เคยสร้างความน่าเบื่อในเส้นเสียงดนตรีของตัวเองให้กับคนฟัง และยังมีความลึกเร้นที่น่าค้นหาทางดนตรีอยู่มากมาย ภายใต้เสน่ห์ของความละมุนหูและประสบการณ์ทางดนตรีที่ไม่ต้องปีนบันไดฟัง โดยมีลักษณะของความเป็นพ๊อพอยู่ในตัวเพลงทุกเพลงที่เสนาะโสต

เริ่มจากบทเพลงแรกที่เปิดหัวอัลบั้ม 'Imagine' บทเพลงของ จอห์น เลนนอน ที่โดดเด่นน่าจดจำ แสดงออกถึงความเรียบง่ายเน้นหนักที่อารมณ์ของเนื้อหาและดนตรีที่อ่อนโยนอบอุ่น เห็นได้ถึงรสนิยมที่ประณีตละเอียดอ่อน ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของอัลบั้มในการขับเคลื่อนพลังของสันติภาพแห่งโลกใบนี้ที่ไม่มีพรมแดนใดมาขีดกั้นได้

การเปิดอัลบั้มวางไว้เป็นแทร๊คแรกด้วยบทเพลงนี้ มีแขกรับเชิญมาร่วมทำงานอย่างคับคั่งล้นเหลือด้วยความยาวถึง 7.20 นาที ทั้งที่บทเพลงดั้งเดิมในแบบออริจินัลมีความสั้นกระชับเต็มอิ่มเต็มความรู้สึกอย่างพอดิบพอดี

นักร้องและนักดนตรีที่เป็นสื่อกลางในการหลอมเชื่อมความรู้สึกร่วมกันล้วนอยู่ในระดับยอด ไม่ว่าจะเป็น พิงค์ นักร้องสาวสายร๊อคที่เปี่ยมด้วยพลังเสียงขั้นสูง เคียงคู่กันกับ ซีล ที่ปล่อยพลังเสียงร้องในแบบโซล ไล่ล้อกับเสียงเปียโนของ เฮอร์บี แฮนคอค รวมทั้งพลังกรีดโหนเสียงของ อินเดีย.อรี นักร้องแอฟริกัน-อเมริกัน สายนีโอ-โซล และ เจฟฟ์ เบค เอตทัคคะทางกีตาร์แห่งเกาะอังกฤษผู้เยี่ยมยุทธ์ในการบดขยี้สายขับลำนำอารมณ์เพลงให้ทวีคูณร้อนเร่า เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่านักร้องสาวทั้งสองคนตีความการร้องใหม่ด้วยการบีบเค้นอารมณ์ร้องอย่างหนักหน่วงเพื่อรีดพลังของเพลงให้ออกมาทำให้ดูฝืนจนเกินจริง ส่วนซาวด์การโซโล่กีตาร์ของ เจฟฟ์ เบค ก็เป็นจุดศูนย์รวมความสนใจที่โดดเด่นไปกว่ามวลรวมของบทเพลงใช่น้อยอยู่เช่นกัน

ส่วนที่เพิ่มเข้ามาขยายยืดยาวในบทเพลงนี้ อยู่ที่การบรรเลงชิ้นดนตรี ซึ่งเป็นร่องเสียงและการเปิดทางให้โชว์สีสันของดนตรีในจังหวะแอฟริกันของวงโคโนโน นัมเบอร์วัน โดยเล่นดนตรีในแนวบาซอมโบ ดนตรีชาติพันธุ์แบบประเพณีนิยมของคองโก ที่แผลงแปลงสู่ความร่วมสมัย โดยเฉพาะเสียงของนักร้องสาวชาวมาลี อูมู ซางกาเร ที่ได้รับสมญานาม นกเพลงแห่งดนตรีวอสซูลูที่มีเสน่ห์แนวไพรัช แต่ภาพรวมของบทเพลงก็ดูยังไม่นวลเนียนสมานผสานไปกับทางเพลงนี้ เหมือนติ่งที่โผล่เพิ่มเข้ามาในตัวเพลง

แต่ยังดีที่มีเสียงเปียโนของ เฮอร์บี แฮนคอค เอง ที่ยังยอดเยี่ยมอย่างน่าประทับใจ เป็นจุดศูนย์รวมที่สามารถสร้างเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวในตัวเพลง คล้ายแกนแม่เหล็กที่ดึงดูดดนตรีและเสียงร้องที่กระจัดกระจายมารวมมวลเป็นก้อนเดียวกัน

มาถึงบทเพลงที่ 2 ‘Don't Give Up’ ซึ่งเป็นบทเพลงของอีกหนึ่งตำนานดนตรีโปรเกรสสีฟ ร๊อค ปีเตอร์ กาเบรียล (Peter Gabriel) แห่งวงเจเนซิส (Genesis) อีกสายทางเขาถือเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกดนตรีแนวเวิร์ลด์มิวสิคให้ขจรขจายไปทั่วโลก หลังจากร้างราจากวงไปแล้ว เขาเป็นคนที่นำดนตรีจากทุกทวีปทั่วโลกมาบันทึกเสียงสู่หูชาวโลก และมีส่วนร่วมสถาปนาดนตรีเวิร์ลด์มิวสิคให้เป็นสายสกุลดนตรีหลักของโลกดนตรีตะวันตก การตีความเพลงนี้ผ่านความเข้าใจของ เฮอร์บี แฮนคอค มีบรรยากาศของความเป็นแจ๊ซและความกระจ่างใสปลอดโปร่งของดนตรี รวมถึงกีตาร์บลูส์ที่ช้าอ้อยสร้อยย้ำลอยล่องอยู่ พิงค์มาร่วมร้องอีกเพลงหนึ่งปลดปล่อยพลังเสียงที่หนักแน่นเต็มด้วยพลังอย่างล้นเหลือออกมา ร่วมกับ จอห์น เลเจนด์ (John Legend) ที่ขับร้องในแนวโซลตามมาตรฐานของตัวเองตามสมัยนิยม

‘Tempo Di Amor’ บทเพลงที่ 3 ซึ่งนำข้ามทวีปไปใช้บริการจากนักร้องสายแจ๊ซบราซิเลียน เซา (Céu) ที่ทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยมในการสอดรับกับดนตรีแนวโมเดิร์น บอสซาโนว่า

บทเพลงที่ 4 ด้วยความยาว 8.06 นาที ‘Space Captain’ เป็นความสดใสของดนตรีเซาเธิร์น ร๊อค ยุคใหม่ที่ได้มือกีตาร์ ดีเรค ทรัคส์ (Derek Trucks) แห่งวงเบอร์หนึ่งระดับตำนานเซาเธิร์น ร๊อค ดิ ออลแมน บราเธอร์ส แบนด์ (The Allman Brothers Band) เคียงคู่กับภรรยา ซูซาน เทเดสคิ (Susan Tedeschi) ซึ่งมาร่วมขับร้องในแนวทางบลูส์-โซลที่เธอถนัด กำซาบได้ถึงจิตวิญญาณของการแจมเซสชันของวงร๊อคที่นุ่มนวลอ่อนโยน

‘The Times, They Are A-Changin' บทเพลงของ บ๊อบ ดีแลน (Bob Dylan) เป็นบทเพลงครึ่งทางในแทร๊คที่ 5 วางองค์ประกอบทางดนตรีด้วยร่องเสียงแบบโฟล์ค รูธ หรือดนตรีโฟล์คดั้งเดิม ผ่านการเรียบเรียงในแนวทางของแจ๊ซ และรสชาติแบบเวิร์ลมิวสิค ได้วงดนตรีเซลติครุ่นเก๋าโก๋เก็บของ ไอริช เดอะ ชิฟเทนส์ (The Chieftains) มาร่วมบรรเลงให้นักร้องสาวเสียงสวยในสไตล์โมเดิร์น โฟล์ค ลิซา แฮนนิแกน (Lisa Hannigan) ร้องทอดอารมณ์อย่างงดงาม ยิ่งได้แผ่วสัมผัสของเปียโนแจ๊ซที่ฟุ้งสวยงดงาม ถือเป็นบทเพลงที่เสนาะหูอย่างยอดเยี่ยม รวมถึงได้ ทูมานิ เดียแบเต (Toumani Diabaté) นักดนตรีชาวมาลีมาเล่นชิ้นดนตรีพื้นถิ่นที่เรียกว่า โครา เพิ่มมิติเสียงแบบแอฟริกาเข้ามาเติมเต็ม

บทเพลงที่ 6 ‘La Tierra’ เดินในร่องเสียงบัลลาดละตินแจ๊ซ เปี่ยมด้วยเสียงไพเราะของอะคูสติกเปียโนและเสียงร้องของซูเปอร์สตาร์ละตินร๊อคแห่งโคลัมเบีย ฮวนส์ (Juanes) ที่ขับร้องเพลงนี้อย่างทรงพลังและละเมียดละไม

‘Tamatant Tilay / Exodus’ เป็นบทเพลงที่ผสมผสานระหว่างดนตรีชนเผ่ากับเร็กเก้ รวมทั้งแจ๊ซ และบลูส์ได้อย่างแปลกประหลาด ได้วงดนตรีแอฟริกา บลูส์ ทินาาริเวน (Tinariwen) มาทำงานร่วมกันกับ เค' นาน (K'naan) นักร้องฮิพฮอพเชื้อสายโซมาเลีย และ ลอส โลบส์ (Los Lobos) นำซาวด์แบบชิคาโน ร๊อค หรือดนตรีร๊อคแบบเม็กซิกัน-อเมริกัน มาพ่วงสร้างสีสัน

บทเพลงที่ 8 ‘Tomorrow Never Knows’ เพลงเก่าของวงเดอะ บีเทิลส์ ที่ได้ เดฟ แมทธิวส์ (Dave Matthews) มือกีตาร์ร๊อครอบจัดมาเล่นและร้องนำ โดยมีจังหวะในแบบแอฟริกาเข้ามาสร้างซาวด์แบบใหม่ที่แตกต่างออกไป

‘A Change Is Gonna Come’ บทเพลงรองสุดท้าย เจมส์ มอร์ริสัน (James Morrison) นักร้องหนุ่มสายบลูส์ อายด์ โซล ชาวอังกฤษ ซึ่งมีเสียงร้องละม้ายกับ ร๊อด สจ๊วร์ต (Rod Stewart) แหบแบบอบอุ่นแฝงเสน่ห์ลึกลับที่น่าค้นหา เพลงนี้ถือเป็นความผิดพลาดที่ทำให้การตีความซ้ำอีกครั้งทำให้ดูเหมือนเป็นการทำสำเนาใหม่ที่ไม่ไปไกลกว่าต้นฉบับดั้งเดิมเท่าไหร่

บทเพลงปิดท้ายสุด ‘The Song Goes On’ วางเสียงภารตะซาวด์เป็นแกนหัวใจหลัก ผ่านเสียงร้องของนักร้องเทรดิชั่นแห่งมาลายาลัมแห่งอินเดียใต้ เค.เอส.ชิธรา (K.S. Chithra) ที่มาผสานการร้องกับ ชาคา ข่าน (Chaka Khan) นักร้องฟังค์-โซลสาวใหญ่ชาวอเมริกัน โดยได้ยอดฝีมือทางซีตาร์ อนุขกา แชงการ์ (Anoushka Shankar) ลูกสาวปรมาจารย์ซีตาร์ของอินเดีย ระวี แชงการ์ (Ravi Shankar) ที่มาเคียงคู่กับเสียงแซกโซโฟนแจ๊ซ เวย์น ชอร์ต (Wayne Shorte) ยอดเยี่ยมเปี่ยมลีลาพริ้วไหว ทำให้บทเพลงนี้เป็นการปิดฉากอย่างสวยงามกระจ่างโสต

กับ 47 สตูดิโออัลบั้ม และ 13 รางวัลแกรมมี่ และรางวัลออสการ์ทางดนตรีประกอบภาพยนตร์อีก 1 ตัว คงไม่ต้องสาธยายความยอดเยี่ยมของไอคอนหรือรูปเคารพทางดนตรีแจ๊ซคนนี้กันให้มากความถึงพรสวรรค์ชั้นยอดและการทำงานดนตรีชั้นเยี่ยมที่เคยเป็นมาในอดีต

หลังจากที่ เฮอร์บี แฮนคอค ได้รับการคัดเลือกและถูกเสนอชื่อเข้าหอเกียรติยศแห่งดนตรีแจ๊ซ (the Jazz Hall of Fame) ในปี 2005 (พ.ศ.2548) ถือได้ว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดของคนดนตรีในสายแจ๊ซที่บรรลุสู่ความเป็นตำนานอย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจสามารถสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ออกมาสู่โสตของโลกดนตรีได้อีก เพราะฉะนั้นบรรดาคนฟังเพลงแจ๊ซและนักวิจารณ์ในสายแจ๊ซจึงต้องการที่จะได้ยินได้ฟังอัลบั้มที่เป็นพัฒนาการหรือโชว์ฝีมือและไอเดียทางดนตรีอย่างเข้มข้น แต่ในยุคหลังจากที่เข้าสู่หอเกียรติยศของดนตรีแจ๊ซ อัลบั้มยุคหลังๆ ของเขากลับเลือกที่จะไปทำงานกับคนดนตรีหลากแขนงเพื่อนำดนตรีไปหลอมรวมกับดนตรีแนวอื่น เพื่อหาผู้ฟังในวงกว้าง ไม่จำกัดจำเพาะหูดนตรีแจ๊ซ แต่ขยายขอบข่ายสู่โลกดนตรีกระแสหลักด้วย

อัลบั้ม ‘The Imagine Project’ ก็เช่นกัน ยิ่งแผ่ขอบเขตสู่ความเป็นดนตรีของโลก ที่เขามั่นใจว่าเป็นภาษาแห่งจักรวาล ด้วยการผสมผสานดนตรีเวิร์ลมิวสิคเข้ามาในรอยทางแจ๊ซแบบเจนจัดของเขาเอง ซึ่งไม่เป็นที่สบอารมณ์ของคอแจ๊ซเท่าไหร่นัก

แต่บทสรุปท้ายสุดก็คือ ‘The Imagine Project’ เป็นอัลบั้มที่ดีทางดนตรีและเป้าประสงค์ในการที่จะนำนักร้องนักดนตรีจากทั่วโลกที่มีชื่อเสียงมาทำงานร่วมกันเพื่อสื่อไปถึงสันติภาพจากเสียงแห่งสันติสุข แต่ก็ไปไม่ถึงขั้นเลอเลิศอย่างที่คนฟังพลาดไม่ได้...
….......
พอล เฮง
paulheng_2000@yahoo.com
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
กำลังโหลดความคิดเห็น