จากตัวเลขกลมๆ ที่ออกมา กับการเปิดตัวฉายในเมืองไทยเพียงแค่วันแรก หนังรวมมิตรพันธมิตรซูเปอร์ฮีโร่ อย่าง The Avengers ก็เก็บเงินเข้ากระเป๋าไปแล้วกว่า 40 ล้านบาท และมีทีท่าว่า ฤดูกาลกวาดรายได้ของหนังเรื่องนี้จะไม่จบลงอย่างง่ายๆ ก็เป็นที่น่าเชื่อได้ว่า ผลงานจากชายคามาร์เวลสตูดิโอชิ้นนี้ อาจจะขึ้นแท่นเป็นหนังทำเงินสูงสุดของบ้านเราประจำปีนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น
แม้ก่อนหน้านี้ จะมีกระแสข่าวจากเมืองนอก ว่า หนังนั้นดีทุกอย่าง แต่ “ตลกเกินไป” ซึ่งนั่น ผมคิดว่า ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดสำหรับคนไทย เพราะหากสังเกตรสนิยมของคอหนังบ้านเรา จะพบว่า หนังที่ทำเงินเป็นอันดับต้นๆ ก็ยังคงเป็นหนังแอ็กชั่นกับหนังตลก ดังนั้น คำว่า “ตลกเกินไป” จึงเข้าทางพี่น้องไทยแบบเต็มๆ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า เมื่อความตลกมาผนึกกำลังเข้ากับความแอ็กชั่นด้วยแล้ว พลังของหนังยิ่งเพิ่มมหาศาลไม่ต่างไปจากการรวมพลของเหล่า “คนเหนือคน” ในเรื่อง
โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่า มาร์เวลสตูดิโอ สมควรได้รับกำไรจากงานชิ้นนี้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะหลังจากฟูมฟักปลุกปั้นและปูทางมาตลอดหลายปี ด้วยการปล่อยฮีโร่ออกมาโชว์เดี่ยวกันคนละภาคสองภาค ให้คนดูได้รู้จักมักคุ้น ก็ถึงคราวที่จะเก็บเกี่ยวดอกผลของเมล็ดพันธุ์ที่เพาะหว่านมานานเนิ่น
เทียบกับหนังที่รวมเหล่าซูเปอร์ฮีโร่หลายๆ ตัวเข้าไว้ด้วยกันอย่าง Watchmen ผมคิดว่า The Avengers นั้น คิดถูกกับการปรับอุณหภูมิของหนังให้ออกมาเป็นแบบนี้ เพราะขณะที่งานกำกับของ แซ็ค ซไนเดอร์ (Watchmen) อับทึบไปด้วยบรรยากาศของความหม่นมัวนัวร์ดาร์ก พร้อมกับภาพของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ที่ล้มลุกคลุกคลานไปกับอุดมการณ์ความคิดความเชื่อของตัวเอง The Avengers ของผู้กำกับจอสส์ วีดอน กลับเหมือนอาหารที่รับประทานง่าย ย่อยง่าย ตามแบบฉบับดั้งเดิมของหนังบล็อกบัสเตอร์ในช่วงฤดูซัมเมอร์
แน่นอนล่ะ มันอาจจะยังมีกลิ่นอายสไตล์หนังฮีโร่ยุคหลังๆ ที่เอะอะอะไรก็ต้อง “ดาร์ก” ไว้ก่อน แต่นั่นก็ไม่ถึงกับก่อให้เกิดความรู้สึกหนักอึ้งแต่อย่างใด
ท่ามกลางการดำเนินเรื่องที่เน้นความเรียบง่าย แต่น่าสนใจติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ นี่คือหนังที่ผ่านการ “ผสมส่วนประกอบ” มาอย่างเข้าอกเข้าใจ และผมขออนุญาตไล่เรียงไปเป็นข้อๆ ในส่วนที่รู้สึกว่า โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบ
1.คาแรกเตอร์ตัวละคร
แม้ตัวหนังจะประกอบไปด้วยตัวละครมากหน้าหลายตา ซึ่งถ้าไม่นับรวมเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ขาใหญ่ในจักรวาลของมาร์เวลทั้ง 4 ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกัปตันอเมริกา, Iron Man, Hulk และ Thor ก็ยังมีตัวละครอื่นๆ อีก ทั้ง นิค ฟิวรี่, แบล็กวิโดว์, เจ้าหน้าที่คาร์สัน, ฮอว์คอาย รวมไปจนถึงตัวร้ายอย่างโลกิ ด้วยเวลาเท่าที่มีอยู่ หนังสามารถฉายให้เห็นเอกลักษณ์ความโดดเด่นตลอดจนบุคลิกภาพของตัวละครให้คนดูสัมผัสได้อย่างแจ่มชัด และที่สำคัญ คือสามารถเฉลี่ยเกลี่ยพื้นที่ให้แต่ละคนมีบทบาทเชิงลึก หรือ “มีปม” ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ของเรื่อง แตกต่างกันไป แต่ละคนแต่ละจุด
ในช่วงเวลาหนึ่ง เราจะสามารถอินไปกับตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง และอีกช่วงเวลา หนังก็พาเราเข้าไปสัมผัสหัวจิตหัวใจของตัวละครอีกตัวได้แบบเข้าถึง และผมก็เชื่อของผมเองว่า พี่เบิ้มตัวเขียวอย่าง Hulk นั้น ได้ความรักความชอบมากเลยทีเดียวจากคนดูผู้ชม เช่นเดียวกับโทนี่ สตาร์ค ผู้ปากจัดและชอบจิกกัดเป็นนิสัย ก็ลดทอนความรู้สึกน่าหมั่นไส้ลงไปได้ด้วยวีรกรรมอันเหลือกิน
และในขณะที่ Thor วูบวาบหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของความเป็นเครือญาติกับวายร้ายอย่างโลกิ แบล็กวิโดว์ก็ถูกเล่นงานโดยความมืดซึ่งฝังอยู่ในก้นบึ้งของจิตใจ ส่วนกัปตันอเมริกา นอกจากหน้าตาจะหล่อเหลา ผมคิดว่าเขาก็ดูจะเป็นแบบอย่างทางบุคลิกภาพได้ในแง่ของความสุขุมคัมภีรภาพ
สรุปสั้นๆ ก็คือ แต่ละฮีโร่ ต่างก็มีส่วนที่ดีเด่นในแบบฉบับของตัวเองผิดแผกกันไป และไม่ว่าจะดีหรือร้าย พวกเขาก็ “มีบทบาทเพียงพอ” ที่จะอยู่ในพื้นที่ความทรงจำของคนดูผู้ชม
2.แอกชัน
ถือว่าเป็นจุดขายสำคัญของงานชิ้นนี้ และหนังก็ทำออกมาได้เจ๋ง สมศักดิ์ศรี ฉากตูมตามโครมครามมีให้เห็นเป็นระยะๆ แบบรักษาจังหวะที่จะ “กัก” หรือจะ “ปล่อย” ในช่วงเวลาไหนอย่างไรได้ดี ซึ่งมีตั้งแต่ฉากเล็กๆ ไปจนถึงฉากใหญ่ๆ กระจายอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นฮีโร่ฟาดปากกันเอง หรือถึงตอนที่ต้องต่อกรกับเหล่าร้ายในช่วงท้ายเรื่องที่ซัดกันต่อเนื่องร่วมๆ ครึ่งชั่วโมง ล้วนนำพาความบันเทิงเริงใจมาสู่คนดูผู้ชมด้วยกันทั้งสิ้น
3.อารมณ์ขัน
ไม่มีคำว่า “ตลกเกินไป” สำหรับผม แต่มันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวแล้ว และถึงอย่างไร ผมคิดว่า ความตลกทั้งหลายในเรื่อง ไม่รุกรานทำลายอรรถรสของหนังให้เสียไป ขณะที่มุกส่วนใหญ่ ว่ากันอย่างเป็นธรรม ก็ไม่น่าจะเกิดจากความคิดเพียงแค่ว่า อยากจะยัดๆ ใส่เข้ามาเพราะต้องการจะเอาฮาเพียงเท่านั้น หากแต่ประโยชน์ส่วนหนึ่งของมุกตลก (ซึ่งส่วนมากเกิดจากการจิกกัดพาดพิงถึงอดีตของกันและกันของตัวละคร) คือ การเน้นย้ำให้เราเข้าอกเข้าใจใน “ตัวตน” และ “ความเป็นมา” ของตัวละครซูเปอร์ฮีโร่มากยิ่งขึ้น
เฉพาะอย่างยิ่ง ใครที่เป็นแฟนหนังของมาร์เวลฮีโร่อยู่แล้ว น่าจะหัวเราะได้เสียงดังมากเป็นพิเศษ เพราะเข้าใจในเหตุและผลแห่งการจิกกัด อำกัน กระแนะกระแหนกันของบรรดาขาใหญ่ต่างๆ
4.เนื้อหาสาระ
ท่ามกลางอารมณ์ขันและเสียงอึกทึกครึกโครมที่โถมกระหน่ำใส่คนดูราวกับไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อาจจะส่งผลให้เนื้อหาสาระมีสถานะเป็นพระรองของเรื่องไปโดยปริยาย กระนั้นก็ตาม คงไม่มีใครกล้าพูดได้ว่า นี่คือ หนังแอกชันฮีโร่ที่โหวงเหวงกลวงเปล่าด้านเนื้อหา หรือตั้งใจจะมา “เอามันเข้าว่า” เพียงอย่างเดียว
ในภาพกว้างๆ ก็อย่างที่ทุกคนคงสัมผัสได้อย่างไม่ยากเลยนั่นล่ะครับ ว่า ความสามัคคีปรองดองเปรียบเสมือนคีย์เวิร์ดของงานชิ้นนี้ หนังใช้สอยประโยชน์จากการรวมพลของเหล่าฮีโร่ได้แบบคุ้มค่า คือ ก่อนจะสรรเสริญเยินยอ ก็ตบกะโหลกสั่งสอนฮีโร่กันคนละทีสองทีก่อนว่า ถ้ามัวแต่ยึดถือในอัตตาและอวดดื้อถือดีใส่กัน หายนะนั้นก็รออยู่ไม่ไกล
เห็นการปรองดองและร่วมแรงร่วมใจกันของบรรดาฮีโร่ในเรื่อง ก็ชื่นหัวใจดีครับ มาร์เวลสตูดิโอหนังเรื่องนี้ราวกับหยั่งรู้สภาวะจิตใจของคนไทย เพราะอย่างนี้ด้วยหรือเปล่า คนแดนสยามถึงกระทำการต้อนรับขับสู้หนังเรื่องนี้ถึง 40 ล้านบาท!?
ดูหนังดูละครแล้วก็ย้อนมาดูตัว คนในหนังเขาก็ปรองดองกันแล้ว แล้วเราคนไทยจะปรองดองกันได้หรือยัง?
ผมไม่ได้พูดถึงการปรองดองแบบโง่ๆ อย่างที่ว่าใครสักคนทำผิดแล้วคิดจะได้รับการอภัยโทษให้หมดเรื่องหมดราวนะครับ ฮีโร่ในหนังอาจทำงานไม่เข้าขากัน ไม่ลงรอยกัน ไม่ใช่เพราะพวกเขาทำผิดอะไรมา หากแต่เป็นเพราะอัตตาส่วนบุคคลเป็นสำคัญ พอลดอัตตาตรงนั้นได้ ความปรองดองก็เกิดขึ้น
ดังนั้น มันจึงเป็นคนละเรื่องกับแบบที่ว่า “ข้าทำผิดไปแล้ว เอ็งอภัยให้ข้าเถอะ แล้วเรามารักกัน” เพราะถ้าแบบนั้น กินมะม่วงดองหรือมะขามดองดีกว่าครับ เนื่องจากคนที่พูดเยี่ยงนั้น มันดูจะ “หัวหมอ” และ “เห็นแก่ตัว” มากเกินไป ว่าไหม?