xs
xsm
sm
md
lg

Music Shines : ‘Born This Way’ ฉลาดเป็นกรด ภายใต้หน้ากากตอหลดตอแหลแห่งยุคสมัยของ Lady Gaga/ พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

paulheng_2000@yahoo.com

แฟชั่นของโลกดนตรีหมุนเวียนวิ่งวนเป็นวัฏจักรที่ย้อนถ่ายเทกลับไปกลับมา จากเก่าสู่สิ่งเก่าที่เคยผ่านมา จากใหม่ก็กลับไปหาสิ่งเก่านำมาย่อยปรุงแต่งแปรแปลงสู่สิ่งที่ใหม่กว่า เป็นการต่อยอดที่ไม่ทิ้งจากแนวความคิดเดิมๆ ที่เคยเป็นมา เพียงพุ่งออกมาจากสิ่งที่สดกว่าของไอเดีย และความหาญกล้าที่จะแสดงออก ทะลุกรอบสังคมที่เปิดกว้างทางความคิดและอิสระเสรีมากขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด

ผู้หญิงในโลกแห่งเสียงเพลงยุคใหม่ ซึ่งกลายเป็นโลกหลังทันสมัยหรือโพสต์โมเดิร์น ได้พลิกแพลงแผลงร่างจำแลงสู่วัตถุทางสายตาอย่างเต็มรูปแบบ นอกเหนือไปจากความสามารถในการร้องเพลง เขียนเพลง และเสน่ห์ยั่วยวนทางเพศในฐานะเซ็กซี่สตาร์อีกทางหนึ่งด้วย

โดยเฉพาะว่าที่ราชินีพ๊อพคนใหม่ที่ยังไม่ถูกสถาปนาอย่างเป็นทางการ แต่ในแง่ของพฤตินัยเธอก้าวสู่จุดนั้นไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับ ‘Lady Gaga’

‘Born This Way’ งานสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 2 ของเธอ โดยไม่นับ ‘The Fame Monster’ ซึ่งเป็นภาคขยายจากอัลบั้มชุดแรกของเธอ ‘The Fame’ วันเวลาผ่านไป จากปี 2008 (พ.ศ.2551) เลดี้ กาก้า (Lady Gaga) กำลังทะลุพาตัวเองสู่มิติของความเป็นซูเปอร์สตาร์อย่างเต็มรูปแบบ เลยผ่านคำว่า ‘พ๊อพสตาร์’ ในวงการดนตรีไปเรียบร้อยแล้ว

กระแสเสียง แฟชั่นการแต่งตัว และวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของเธอมีพลานุภาพเสมอ โดยไม่จำกัดอยู่แค่เวทีการแสดงอีกแล้ว

ความสนุกสนานอย่างแท้จริงที่เติมเต็มจากจินตนาการของโลกดนตรีพ๊อพ แต่ยังเก็บรักษาการถากถางเหน็บแนมแบบจริตคนปากจัดไว้ได้อย่างครบเครื่อง และทำให้ดูเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างเป็นธรรมชาติ สำหรับความหมายแห่งภาพรวมของอัลบั้ม ‘Born This Way’

จากเสียงร้องและสไตล์ดนตรีที่หลากหลาย โดยมีแนวความคิดในการเขียนเนื้อร้องที่แสดงความเห็นเต็มไปด้วยนัยของการวิพากษ์วิจารณ์รูปเคารพทางศาสนา ซึ่งแฝงเรื่องความเชื่อความศรัทธาเอาไว้ การสนับสนุนทัศนคติทางเพศที่เปิดกว้าง รวมถึงวิญญาณของความขบถที่มีต่อความเป็นไปในสังคมไว้อย่างหลักแหลม

การขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตเพลงต่างๆ ทั่วโลกถึง 23 ประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเองสามารถทำยอดขายในสัปดาห์ที่ออกวางจำหน่ายด้วยยอดมากกว่า 1.11 ล้านก็อปปี้ ถือว่ามากที่สุดของยอดขายในรอบ 6 ปีหลังสุดของอัลบั้มที่เคยมีมา นี่คือศักยภาพในโลกดนตรียุคปัจจุบันของเธอ ที่ผู้คนอยากรู้ว่า เลดี้ กาก้า กำลังบอกกล่าวอะไรและนำเทรนด์ใหม่ๆ มาให้ผู้คนร่วมสมัยบ้าง

มิติที่ลึกซึ้งดำดิ่งลงไปมากกว่าการดูเพลง และฟังเพลงของ เลดี้ กาก้า หากข้ามพ้นรูปลักษณ์ภายนอกและการแสดง เธอมีเนื้อสารผ่านคำร้องในบทเพลงของเธอที่แยบคายมาก ฟังเอาสนุกก็ได้ และสามารถฟังตีความได้ในหลายระดับ

ฉีกปูมหลัง 'เลดี้ กาก้า'

หากมาดูรากเหง้าบรรพบุรุษและพื้นฐานทางสังคมของ เลดี้ กาก้า เพื่อจะทำความเข้าใจให้ได้ว่า ทำไมเธอจึงมีทัศนคติต่อโลก และมีมุมมองและไอเดียทางดนตรี แฟชั่น และศิลปะเป็นอย่างนี้

เธอมีชื่อเสียงเรียงตามตามทะเบียนราษฎร์ว่า Stefani Joanne Angelina Germanotta หรือ Stefani Germanotta ถือกำเนิดในวันที่ 28 มีนาคม ปี 1986 (พ.ศ.2529) อายุในปัจจุบันก็เพียง 26 ปีเท่านั้น

แน่นอน เลดี้ กาก้า เติบโตขึ้นมาในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นศูนย์รวมความทันสมัยแบบทุนนิยมที่สุดโต่งที่สุดในโลก โดยในทางกลับกันเธอถูกส่งตัวเข้าเรียนในคอนแวนต์ ออฟ เดอะ ซาครีด ฮาร์ท ซึ่งเป็นโรงเรียนคาธอลิคหญิงล้วนที่เคร่งครัดในแมนฮัตตัน จุดเปลี่ยนที่สำคัญซึ่งย้อนแย้งกับชีวิตวัยเด็กของเธอคือ การได้เข้าเรียนดนตรีที่โรงเรียนศิลปะทิสช์ ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ตอนอายุ 17 ปี โลกของเธอก็ทะลุสู่มิติใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

อิทธิพลทางดนตรีของเธอสามารถค้นลงลึกไปถึงตัวตนในปัจจุบันที่เด่นชัดแจ่มแจ้งแดงแจ๋ก็คือ สีสันฉูดฉาดหรูหราของดนตรีแกลมร๊อคที่เพริศแพรวพรรณรายในด้านการปรุงแต่งรูปลักษณ์ในแนวแฟนตาซีหลุดโลก เนี้ยบในความก้าวร้าวและพลังขับเคลื่อนที่ไม่มีวันหมด อย่าง เดวิด โบวี่ (David Bowie) และเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ (Freddie Mercury) ซึ่งตัวของ เลดี้ กาก้า เอง ก็เคยยอมรับอย่างดุษณีว่า ชื่อของเธอที่ใช้นำมาจากบทเพลงของวงควีน (Queen) ที่แสนโด่งดังเป็นอมตะ คือ ‘Radio Ga-Ga’

และเช่นเดียวกันในระนาบของความชอบส่วนตัวที่มีต่อดนตรีแด๊นซ์พ๊อพในยุคทศวรรษที่ 80 ต่อราชาพ๊อพคือ ไมเคิล แจ๊คสัน (Michael Jackson) และราชินีพ๊อพ มาดอนน่า (Madonna) เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอเริ่มต้นเล่นเปียโนในวัยเยาว์และหัดเขียนเพลงของตัวเองในช่วงวัยรุ่น

แร๊พเปอร์ Akon เปรียบเสมือนเป็นคนเปิดประตูให้เธอเข้าสู่จุดหมายของการเป็นนักร้อง-นักเขียนเพลง เป็นคนที่เล็งเห็นพรสวรรค์ทั้ง 2 อย่างของเธอ เลดี้ กาก้า ได้รับโอกาสบนเส้นทางดนตรี แม้จะประสบอุปสรรคในช่วงแรกๆ แต่หลังจากอัลบั้มชุดแรก ‘The Fame’ ในปี 2007 (พ.ศ.2550) เธอก็ไม่เคยย้อนมองกลับไปข้างหลังอีกเลย

บทเพลงฮิตจากอัลบั้มชุดแรก ‘Just Dance’ และ ‘Poker Face’ แม้อัลบั้มนี้จะขึ้นสูงสุดเพียงอันดับ 2 บนชาร์ตบิลบอร์ด แต่การประสบความสำเร็จในตลาดเพลงทั่วโลก เป็นเรื่องที่น่าจับตามองกว่า เพราะกระแสเสียงจากบทเพลงยอดนิยมของอเมริกาในยุคปัจจุบัน ล้วนต้องมีพื้นฐานของเพลงในแบบฮิพฮอพและเออร์เบิ้น แบล๊ค มิวสิค การฉีกตัวออกมาของ เลดี้ กาก้า จึงเป็นประดุจการเจาะเกราะอันแข็งแกร่งของวัฒนธรรมดนตรีแบบแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ครอบครองโสตคนอเมริกันและทั่วโลกอยู่อย่างน่าสนใจ

ยิ่งการทำงานร่วมกับบียอนเซ่ (Beyoncé) ซูเปอร์สตาร์ของวงการเพลงยอดนิยมร่วมสมัยที่มาในสายเออร์เบิ้น แบล๊ค มิวสิค ในบทเพลง ‘Telephone’ ทำให้ดีกรีการยอมรับจากแฟนเพลงยิ่งทวีคูณมากยิ่งขึ้น

อย่างที่รับรู้กันอย่างเปิดเผยจากปากคำของเลดี้ กาก้า เอง ว่าสิ่งที่กอปรรวมเป็นตัวเธอในวันนี้นั้น เธอชื่นชมบุคลิกภาพอันพิเศษโดดเด่นของ Freddie นักร้องนำของวงโอเปร่า ร๊อค ระดับตำนาน ควีน (Queen) ซึ่งเธอบอกว่า เป็นหนึ่งในบุคลิกลักษณะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของดนตรีพ๊อพจากทั้งหมดทั้งมวลที่เคยมีมา อัลบั้ม ‘Born This Way’ จะมีสัดส่วนของความเป็นร๊อคที่มากขึ้น

เมื่อฟังดูการขับร้องของเธอ สามารถจำแนกเสียงร้องของ เลดี้ กาก้า ได้ว่าอยู่ในระดับเสียงที่อยู่ในระนาบความกว้างที่เรียกว่า ‘คอนทราลโต’ คือเป็นเสียงที่ต่ำที่สุดของผู้หญิง อยู่ระหว่างเสียงโซปราโนกับเสียงเทเนอร์ ซึ่งมักมีการนำไปเปรียบเทียบกับนักร้องสาวผู้มาก่อนบนเส้นทางที่คล้ายคลึงกันคือ มาดอนน่า และ เกวน สเตฟานี่ (Gwen Stefani)

สำหรับโครงสร้างดนตรีของงานเพลงที่ เลดี้ กาก้า นำมาใช้นั้น แทบจะไม่มีอะไรใหม่เลย โดยนำเสียงรูปแบบดนตรีของสิ่งที่ดีอยู่แล้วในดนตรีพ๊อพยุคทศวรรษที่ 80 มาเขย่ารวมกับดนตรียูโรพ๊อพยุคทศวรรษที่ 90 อย่างลงตัวในสไตล์ของเธอ และโปรดิวเซอร์ที่มีพื้นเพดนตรียูโรพ๊อพที่มือฉมังคนหนึ่งคือ RedOne ถือเป็นคนทำเพลงคู่บุญคู่ใจมาตลอด

จากปรากฏการณ์ที่เขย่าโลกดนตรีพ๊อพกระแสหลักมีการนิยามตัวตนของ เลดี้ กาก้า ผ่านภาพลักษณ์ ดนตรี การแสดงบนเวที และการปรากฏตัวต่อสาธารณชนว่า เธอสามารถเชื่อมหลอมเอาดนตรี แฟชั่น ศิลปะ และเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ทว่าฉูดฉาดโดดเด่น โดยมีกลิ่นอายผสมผสานในสไตล์ของผู้มาก่อนในวงการดนตรีที่วางสถานะตัวเองเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนในเทรนด์แฟชั่นและโลกศิลปะร่วมสมัย อย่าง มาดอนน่า (Madonna), เกวน สเตฟานี่ (Gwen Stefani), ไคลี่ มิโนค (Kylie Minogue) และ เกรซ โจนส์ (Grace Jones )โดยนำมาเขย่ารวมปนเปรูปลักษณ์ของการแสดงออกในแนวทางของนักร้องและวงดนตรีที่เป็นกลุ่มหัวก้าวหน้าในซาวด์อิเล็กทรอนิกส์อย่างแนวอิเล็กทรอแคลช แต่ดนตรีของเธอกลับตรงกันข้ามเป็นพ๊อพสนุกสนานแบบยูโรพ๊อพที่มีบีมอาร์แอนด์บีเข้ามาผสมผสาน

จุดที่พิเศษและน่าจับตามองของ เลดี้ กาก้า ที่มีความหมายในโลกหลังสมัยใหม่ ก็คือเธอสามารถยุบรวมพื้นที่ทางดนตรีพ๊อพในกระแสหลักยอดนิยมเข้าสู่กระบวนการขับเคลื่อนแนวใหม่ในวัฒนธรรมสมัยนิยมได้อย่างไม่ประดักประเดิด และสามารถส่งสารที่สำคัญซึ่งฝังแฝงความหมายภายในการตีความทางนัยยะสังคมได้อย่างชาญฉลาด และตั้งเป็นวาระทางสังคมขึ้นมาให้คนสนใจได้ โดยใช้ความเป็นปัจเจกแสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติภายใต้ธีมหรือแนวคิดทางศิลปะ ซึ่งบทบาทในตรงนี้ของเธอได้รับการสนับสนุนและยกย่องชมเชย โดยเฉพาะในการทำการรณรงค์และบริจาคเพื่อการกุศลที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมและโลกใบนี้ในครั้งสำคัญที่อยู่ในความสนใจ ซึ่งเช่นเดียวกันเธอก็สามารถทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นมีลมหายใจและชีวิตชีวาที่มากขึ้นไม่ต่างกัน

ไขรหัส 'Born This Way'

การประกาศตัวตนที่ชัดแจ้งขึ้นผ่านอัลบั้มชุดที่ 2 ‘Born This Way’ ที่อัดแน่นเพลงไว้ถึง 14 บทเพลง และมีความดีเด่นที่แตกต่างหลากหลาย ยังแสดงถึงแก่นความคิดของเธอที่ยังไม่ลงตัวสมบูรณ์มากนัก มีแรงปะทะทั้งแรงบันดาลใจ ความชอบ และอิทธิพลของสังคมอยู่เช่นกัน แต่อย่างที่ว่า เลดี้ กาก้า ได้เป็นคนวางวาระทางดนตรีให้กับโลกใบนี้ ผ่านตัวของเธอจากความโด่งดังและกระแสข่าว แต่นั่นก็เป็นแค่เปลือกนอกที่แสดงให้เห็นว่า เธอเล่นกับสื่อเป็น และเอาสื่อเสียอยู่หมัด

วาระของข่าวที่ออกไปไม่ใช่สื่อเป็นคนกำหนด แต่เธอเป็นคนกำหนดให้กับสื่อบันเทิงเอง

อีกทั้งการแสดงสดของเธอที่เป็นงานสำคัญๆ ทางดนตรี เธอสามารถตรึงทุกสายตาทุกกล้องให้แพนมาสนใจที่ตัวเธออย่างเป็นจุดสำคัญเพียงหนึ่งเดียวได้ไม่มีตกหล่น ไม่ว่างานมอบรางวัลแกรมมี่ อวอร์ดส, เอ็มทีวี อวอร์ดส, บิลบอร์ดส์ อวอร์ดส ฯลฯ เรียกได้ว่าเธอก้าวข้ามพ้นของขอบเขตทางดนตรีอย่างมีความหมาย ผ่านพลังขับเคลื่อนที่ทรงพลัง และเล่นกับโลกยุคหลังสมัยใหม่ที่เน้นการรื้อสร้างทุบเปลือกนอกเดิม โดยการสร้างเปลือกนอกที่หลอกล่อยั่วยวนขึ้นมา เพื่อให้เข้าไปหาแก่นแท้ของบทเพลง

ความฉลาดเป็นกรดของเธอ ในการนำความฉาบฉวยฉูดฉาดของวัฒนธรรมทางสายตามารับใช้ดนตรี และพยายามส่งสารที่เธอคิดในระดับลึกซึ้งสู่สังคม ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง เพราะความหลุดโลกของเธอทำให้ไม่มีใครใส่ใจเธอมากนัก เพราะมัวไปตีตราความบ้าเพี้ยน ให้ค่าตรงนั้นเสียมากกว่า แต่ลึกลงไปในบทเพลงของเธอ มีสิ่งที่ซ่อนอยู่ในระดับการรื้อสร้างความเชื่อความศรัทธาของสังคม รวมทั้งพลังของความขบถที่แนบเนียนและแยบคาย

โลกของศิลปะทุกแขนง ใช้คำว่า 'Zeitgeist' ซึ่งหมายความว่า จิตวิญญาณของยุคสมัย มาแปะไว้สำหรับศิลปินที่เข้าถึงหัวใจของผู้คนและมีแก่นสาระที่สะท้อนภาพของยุคสมัยไว้แจ่มชัด จากอัลบั้มชุดนี้ ‘Born This Way’ ของเลดี้ กาก้า ได้เข้าถึงได้อย่างหมดเปลือก และเลือกที่จะเล่นกับมันอย่างชาญฉลาด

การชำแหละงานพาณิชย์ศิลป์ในดนตรียอดนิยมของเธอให้ถึงเนื้อในเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะภาพลักษณ์ผาดเผินดูคล้ายตกหลงอยู่ในวังวนของแฟชั่นในโลกเพลงแห่ตามไหนตามกัน...

ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกของงานศิลปะในมิวสิควิดีโอบทเพลง ‘Born This Way’ ที่สะกดสายตาด้วยความงงงวย ซึ่งนำเสนอถึงอวัยวะสงวนที่เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมในร่างกายของผู้หญิงในแนวไซไฟ+แฟนตาซี ถือเป็นแรงบันดาลใจที่มีความลึกซึ้งถูกถ่ายทอดออกมาสวยงามอย่างเหลือเชื่อ

อย่างที่บอก บทเพลงของ Lady Gaga นอกจากใช้หูฟังแล้วยังต้องใช้ศิลปะทางสายตาประกอบด้วย ก่อนที่จะซึมซับลงสู่ใจ ผ่านชื่อเพลงที่ซ่อนนัยยะและเนื้อสารในบทเพลงที่แฝงความเชิงวิพากษ์เอาไว้ การตีความเพลงนี้ ซึ่งกำกับการแสดงโดย Nick Knight โดยเขาได้บอกว่า พวกเรารู้สึกช๊อคในโจทย์ของการผสมผสานทั้งแด๊นซ์ การขับร้อง และศิลปะดนตรีให้เข้ากับภาพเคลื่อนไหวที่ต้องตีความให้เป็นศิลปะขั้นที่สูงเพื่อไม่ให้อุจาดหรือทุเรศในการเสพชม เพราะค่อนข้างล่อแหลม แน่นอน เลดี้ กาก้าใช้เวลาถึง 1 สัปดาห์เต็มในการเรียบเรียงตัดต่อมิวสิควิดีโอเพลงนี้อย่างละเอียด

เช่นกัน เลดี้ กาก้าก็ออกมายอมรับว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจผ่านทางทัศนศิลป์ (Visual Art) จาก ซัลวาดอร์ ดาลี่ (Salvador Dalí) จิตรกรชาวสเปนที่มีชื่อเสียงจากผลงานภาพวาดแนวเหนือจริง (Surrealism) กับ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) นักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เสนอแนวคิดใหม่ในวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยเน้นที่การสังเกต การทดลองและการค้นหาความจริงจากประสบการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งเขาเชื่อว่าจะนำไปสู่ความรู้ที่แท้จริง นำมาสู่การสร้างมิวสิควิดีโอบทเพลง ‘Born This Way’ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นชื่ออัลบั้มด้วย

หากมองข้ามเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่เลือกใช้งานจากฝีมือของดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกแทบทั้งสิ้น ซึ่งแสดงถึงความจงใจอย่างร้ายกาจและชาญฉลาดที่จะให้คนได้ตื่นตาตื่นใจรสนิยมของเธอที่เลิศหรูทว่ามีแบบฉบับเฉพาะตัว เนื้อสารที่ฝังแฝงสาระสำคัญผ่านบทเพลงและมิวสิควิดีโอ รวมถึงเป็นแก่นแกนหรือธีมของอัลบั้ม ‘Born This Way’ เป็นเนื้อหาที่ตรงดิ่งทิ่มแทงแปลตรงตัวง่ายๆ ได้ว่า ‘ทุกคนออกมาจากรูนี้แหละ’ แต่ถ้าให้สุภาพขึ้นมาหน่อยก็แปลว่า ‘มนุษย์ก็ถือกำเนิดออกมาจากช่องทางนี้’

จากจุดเริ่มต้นเรื่องราวของมิวสิควิดีโอที่เป็นกรอบสามเหลี่ยมขอบสีชมพูโดยภายในเป็นเงาร่างของม้ายูนิคอร์น ก่อนที่เรื่องราวของบทเพลงจะดำเนินไปในแบบของเลดี้ กาก้า ผ่านการประกาศของเธอว่า "นี่คือคำแถลงการณ์แห่งมารดาอสูรกาย" ก่อนเข้าสู่ธีมแห่งความคิดที่บอกว่า

‘การก่อกำเนิดโดยการคลอดไร้ซึ่งอคติ ไม่มีการตัดสิน แต่เปี่ยมด้วยอิสรภาพอันไร้ขอบเขต’

มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายในมิวสิควิดีโอที่สามารถนำมาแปลความหมายตีความในเชิงต่างๆ ของการสื่อสารสู่คนฟังและผู้ชมได้มากมาย แสดงถึงความช่างคิดในทุกรายละเอียดอย่างไม่ยอมผ่านเลย เพียงแต่ผู้รับสารจะรับได้ในระดับไหน

จากตื้นเขินที่สุดคือ เสพชมเพื่อความบันเทิงสนุกสนานกับดนตรี เนื้อหา และภาพเคลื่อนไหลเพียงเปลือกนอกผิวเผินก็ได้

หรือจะฟังแบบจับจุดวิธีนำเสนอทางศิลปะและแฟชั่นก็มีความเคลื่อนไหวที่นำเทรนด์ให้ค้นหาอยู่

สุดท้ายเป็นการดำดิ่งลงลึกถึงจิตใต้สำนึกในระดับอภิปรัชญา (Metaphysics) ซึ่งเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งของ ปรัชญา ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะ (Reality Essence) ซึ่งรวมทั้ง ชีวิต โลก และ ภาวะเหนือธรรมชาติ เช่น พระเจ้า แบบเคร่งเครียดจริงจัง ก็ได้อย่างน่าสนุกกับการตีความค้นหา

สำหรับม้ายูนิคอร์นนั้น ยังไปปรากฏในชื่อบทเพลง ‘Highway Unicorn (Road to Love)’ ซึ่งบรรจุอยู่ในอัลบั้มชุดนี้เช่นกัน หากจะตีความจิตใต้สำนึกของเลดี้ กาก้า ที่ผูกพันกับยูนิคอร์น ก็จะพบได้ว่า ยูนิคอร์น ถือเป็นสัตว์ที่มีความดุร้ายและรักความสันโดษ เรื่องเล่าของยุโรประบุว่า การจับยูนิคอร์นนั้นต้องใช้สาวพรหมจรรย์เป็นผู้จับยูนิคอร์น ซึ่งยูนิคอร์นจะลืมสัญชาตญาณป่าเถื่อนและเชื่องราวกับเป็นม้าธรรมดา

การแปลความหมายของยูนิคอร์นในเชิงสัญลักษณ์ เขาที่อยู่บนหัวถือเป็นสัญลักษณ์ของ พลัง อำนาจ ความเข้มแข็ง และความเป็นลูกผู้ชาย ในบางตำนานยูนิคอร์นเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ สะอาด บางตำนานเชื่อว่ายูนิคอร์นมีสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยง ระหว่างเพศหญิงและเพศชาย นั่นคือ เขาของมันแทนเพศชาย และลำตัวแทนเพศหญิง และชื่อภาษาจีนของยูนิคอร์น คือ กิเลน ซึ่งแปลว่า ผู้ชาย-ผู้หญิง

แค่ 'ยูนิคอร์น' เพียงอย่างเดียวก็สามารถตีความถึงเพศหญิง-เพศชายได้อย่างลุ่มลึก และถ้าสังเกตให้ดีๆ ในช่วงต้นของมิวสิควิดีโอของบทเพลงนี้ จะมีกุญแจสำคัญ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการวางแนวความคิดทั้งหมดผ่านในเรื่องความเชื่อเทพปกรณัมของตะวันตกคือ กรีกและโรมัน โดยภาพของ เจนัส (Janus) ซึ่งเป็นเทพแห่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นเทพแห่งทวารทางเข้าออก สงคราม และสันติภาพ เป็นผู้อุปถัมภ์การกำเนิดของสิ่งต่างๆ ถึงแม้จะเป็นเทพที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในบรรดาเทพทั้งปวงของโรมัน แต่ไม่เป็นที่รู้จักของกรีกเลย

เมื่อนำมาตีความก็แสดงให้เห็นว่า เธอเลือกมาอย่างตรงประเด็นกับเนื้อหาในตัวเพลง เพราะเจนัสเป็นเทพที่อุปถัมภ์การก่อเกิด ซึ่งตรงกับนัยยะที่ฝังอยู่ในตัวเพลง

แม้จะมีเสียงค่อนขอดถึงสไตล์หรือรูปแบบของมิวสิควิดีโอชุดนี้ จะเป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นมาดอนน่า ในงานบางชิ้นในอดีต เข้ากับสไตล์ภาพและอารมณ์ความรู้สึกจากภาพยนตร์อมตะของผู้กำกับการแสดง Fritz Lang ซึ่งทำออกมาในปี 1927 (พ.ศ.2470) ที่มีชื่อว่า ‘Metropolis’ ที่ถือเป็นต้นแบบของภาพยนตร์ไซไฟในเวลาต่อมา อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบทางศิลปะอย่างที่เรียกว่า เยอรมัน เอกซ์เพรสชั่นนิสม์ (German Expressionism)

แน่นอน หากพิจารณาถึงขอบเขตของศิลปะเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) หรือ ศิลปะแสดงพลังอารมณ์ ซึ่งหมายถึงการแสดงออกถึงอารมณ์ภายในอันเร่าร้อนรุนแรง การใช้สีและการตัดเส้นรอบนอก เพื่อให้รูปทรงดูเด่นชัดและแข็งกร้าว สะท้อนแนวคิดที่เกี่ยวกับสังคม การเมือง แสดงความสกปรก ความหลอกลวง ความเลวร้ายของสังคม มีการสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงความรู้สึกต่างๆ และความประทับใจในธรรมชาติลงฉับพลัน ทั้งความรู้สึกรุนแรง บ้าระห่ำ เกลียดชัง ทารุณ ความเจ็บปวดทางร่างกาย ทรมาน น่าเกลียดน่ากลัว และเป็นการมองโลกในแง่ร้าย มีความเชื่อมั่น แสงสี การรับรู้โลกภายนอก ตอบสนองด้วยความรู้สึกของตนเอง

เอกซ์เพรสชั่นนิสม์ เป็นคำที่มีนัยยะถึงอารมณ์รุนแรงภายใน (angst) มีความปรารถนาที่จะทำให้ตกตะลึงและยั่วยุอารมณ์ความเป็นขบถของคนรุ่นใหม่ในทัศนคติซึ่งฝังแน่นอยู่ เคยมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวของศิลปะในศตวรรษที่ 20

เลดี้ กาก้า สามารถใช้ชั้นชิงทางศิลปะเอกซ์เพรสชั่นนิสม์มาใช้ในมิวสิควิดีโออย่างประสบความสำเร็จในการสื่อสาร เพราะงานมอบรางวัล the 2011 MTV Video Music Awards มิวสิควิดีโอ ‘Born This Way’ เพลงนี้ของ Lady Gaga จะกวาดมาถึง 2 รางวัล คือ Best Female Video กับ Best Video With a Message ส่วนในงาน the 2011 MTV Europe Music Award ก็คว้ารางวัล Best Song กับ Best Video

นี่แค่เพลงเดียวกับมิวสิควิดีโอ ยังพูดได้ยืดยาวและนำมาแปลความหมายเพื่อการตีความได้สนุกสนาน

แล้วเพลงที่เหลือในอัลบั้มหากนำมาสังเคราะห์วิเคราะห์ย่อยความคิดของ Lady Gaga ออกมา คงได้หนังสือเล่มหนึ่งอย่างแน่นอน!!!

แกะรหัสเพลงที่เหลือในอัลบั้ม

โครงร่างคร่าวๆ ของการพลวัตทางดนตรีกับความคิดของสารและไอเดียทางแฟชั่นและความบันเทิงที่อยู่ในตัวเพลงและการแสดงของเลดี้ กาก้า ท้าทายมากในการที่จะไขว่า องค์ประกอบไหนจะมีความสำคัญมากไปกว่ากัน

แต่ ณ จุดนี้ของ เลดี้ กาก้า คงตอบได้ยากอยู่พอสมควรกับการเดินทางมาสู่สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 2 เพียงเท่านั้น ความโด่งดังชื่อเสียงเงินทองและเกียรติยศว่าเป็นสิ่งที่ต้องได้มาของการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมดนตรี แต่การยืนระยะให้อยู่เหนือกาลเวลาและเป็นไอคอนหรือจำหลักของยุคสมัย ย่อมเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเมินมูลค่าไม่ได้และไม่มีทางหมดอายุ

เลดี้ กาก้า แสดงให้เห็นอิทธิพลทางดนตรีที่หลากหลายในอัลบั้ม ‘Born This Way’ ชุดนี้ ทั้งลีลาการร้องในแบบดิวาหรือนักร้องเสียงทองที่เน้นนำทางเสียงในแบบพ๊อพ-อาร์แอนด์บีในแนวทางของวิทนีย์ ฮุสตัน (Whitney Houston) กลิ่นอายของดนตรีอเมริกัน เทรดิชั่น ร๊อค ในแบบของบรูซ สปริงสทีน (Bruce Springsteen) และแด๊นซ์พ๊อพหัวก้าวหน้าในสายทางของมาดอนน่า (Madonna) มาขมวดรวมไว้ในองค์ประกอบทางดนตรีของบทเพลงในงานทั้งหมด เรียกว่าไม่มีความสุดโต่งทางดนตรีที่เป็นของตัวเองเพื่อเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างโดดเด่น แต่เป็นการประยุกต์เขย่ารวมในอัตลักษณ์ของตัวเองให้ลงตัวกับการเขียนเนื้อร้องที่มีความเฉพาะตัวให้สำคัญน่าสนใจ

หากจะมีการพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงความแตกต่างที่สะดุดหูจากงานเพลงในชุดก่อนหน้านี้ของเธอ จะเห็นถึงความผิดแผกที่แหวกออกไปอยู่บ้าง จากพื้นฐานดั้งเดิมทางดนตรีของเลดี้ กาก้า จากงานชุดแรกและภาคขยายนั้น ส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานอยู่ที่ดนตรีอิเล็กทรอพ๊อพ เฮ้าส์ และแด๊นซ์พ๊อพ เมื่อมาถึง ‘Born This Way’ จะฟังได้ถึงความพยายามที่จะขยายขอบเขตความคิดทางดนตรีในเพลงต่างๆ ที่แสดงถึงการนำกลิ่นอายรูปแบบดนตรีในหลายสไตล์ อาทิ โอเปร่า, ร๊อคแอนด์โรล, เฮฟวี่เมทัล, ยูโรพ๊อพ มาเรียชี่ (ดนตรีเม็กซิกันทางตะวันตก) และดิสโก้ เข้ามาใช้ในบทเพลงที่ต้องการสื่อสารอารมณ์ดนตรีแบบนั้นออกมา

ภาพรวมของบทเพลงในอัลบั้ม โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีองค์ประกอบทางดนตรีเป็นเพลงแด๊นพ๊อพที่มีท่วงทำนองและจังหวะกลางๆ มีเมโลดี้และคำร้องที่สวยและติดหูง่ายด้วยการร้องวนย้ำในท่อนฮุค ผนวกกำลังเสริมด้วยบีทแบบหนักหน่วงของเพลงเต้นรำ การเติมเต็มดนตรีซินธิ์พ๊อพและดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในยุคทศวรรษที่ 80 และ 90 ในอัลบั้มชุดนี้ โดยมีจุดศูนย์รวมความคิดผ่านธีมของศาสนา เรื่องราวทางเพศ และเฟมินิสม์

สำหรับอัลบั้มที่วางจำหน่ายในเมืองไทยบรรจุบทเพลงไว้ 17 บทเพลง พร้อมกับซีดีอีกแผ่นที่เป็นเวอร์ชั่นรีมิกซ์อีกจำนวน 6 แทร๊ค ซึ่งเรียกว่า ฟังกันเต็มอิ่มอย่างจุใจแบบทะลักทะล้นออกมาเลยทีเดียว

บทเพลง ‘Marry the Night’ ถือเป็นบทเพลงเปิดหัวอัลบั้มที่สื่ออกมาถึงการแสดงความคารวะมหานครนิวยอร์ค เมืองที่เป็นถิ่นกำเนิดของเธอ เป็นงานแด๊นซ์พ๊อพที่ขยับพลังการเต้นรำด้วยบีทของดนตรีเฮ้าส์ ซึ่งเป็นดนตรีเต้นรำที่ผู้คนรับและเข้าถึงโสตง่ายที่สุดในการเต้นรำของโลกยุคนี้ โดยมีกลิ่นอายของดิสโก้ เทคโน และฟังค์ผสมอยู่

‘Born This Way’ เป็นบทเพลงที่เสนอความคิดในด้านที่เป็นอุดมคติอยู่พอสมควรในเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การแบ่งแยกชนชั้นและสีผิว รวมถึงความคิดในทางเพศที่ถูกบัญญัติทางศาสนา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเจตนารมณ์ในความคิดความฝันของ เลดี้ กาก้า โดยนำบีทของยูโรดิสโก้มาประกอบสร้างความคึกคักในตัวเพลง

‘Government Hooker’ นำสัดส่วนของโอเปร่าร๊อคมาผสมกับดนตรีเทคโนและเทรนซ์ ทำให้หวนถึงกรุ่นกลิ่นอายของเมโลดี้ดนตรีแด๊นซ์จากอดีต รวมถึงการเพิ่มเติมของบีทที่มีอิทธิพลจากอิพฮอพอยู่พอสวยงาม

‘Judas’ มีการใช้สัญลักษณ์ทางสาสนาคริสต์ที่ดูล่อแหลมและยั่วยุอยู่พอสมควร แต่ไม่เลยเถิดจนเกินเลยพอดี กำลังอยู่ในแง่มุมทางการตีความผ่านศิลปะของบทเพลงอยู่ โดยใช้ดนตรีแด๊นซ์พ๊อพและอิเล็กทรอพ๊อพที่เป็นพิมพ์นิยมในอุตสาหกรมดนตรีเป็นพาหะในการเล่าเรื่อง แทรกด้วยการผสมส่วนของซาวด์เทคโนและดับสเต็ป

‘Americano’ เป็นบทเพลงในแบบมาเรียชี่ที่ผสมดนตรีเทคโนและดิสโก้ ที่ใช้ภาษาสเปนิช’และอังกฤษเข้าไว้ด้วยกัน แต่มีความสำคัญตรงการนำเสนอประเด็นทางสังคมที่มีเนื้อหาพาดพิงและให้ฉุกคิดถึงการโต้ตอบกฎหมายผู้อพยพของอริโซน่า ซึ่งมีเป็นปัญหาในเรื่องกีดกันทางเชื้อชาติ

‘Hair’ เป็นบทเพลงที่อุปมาอุปไมยความสำคัญของเส้นผมกับอิสระเสรี โดยใช้ท่วงทำนองด๊นซ์พ๊อพผูกเข้าอิทฺพลดนตรีร๊อคในแนวของบรูซ สปริงสทีน (Bruce Springsteen) และเฮฟวีเมทัลในรูปแบบของวงคิส (Kiss) ที่สำคัญได้เสียงโซโล่แซกโซโฟนจากฝีปากของ คลาเรนซ์ คลีมองส์ (Clarence Clemons) ซึ่งเป็นหนึ่งในคนเป่าแซกฯ ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในวงการเพลงอเมริกัน

‘Scheiße’ ใช้ภาษาเยอรมันในการสื่อสารเพื่อสะท้อนถึงเนื้อหาของเฟมินิสม์ คลอไปกับดนตรียูโรดิสโก้และเมโลดี้ที่กระเดียดไปทางเทคโน

‘Bloody Mary’ กระชับจังหวะให้ช้าลง เนื้อหาผูกอ้างอิงในเชิงศาสนาและใช้ดนตรีเทรนซ์เป็นตัวช่วยนำสาร

‘Bad Kids’ ดนตรีเป็นซินธิ์พ๊อพที่มีดาษดื่นในยุคทศวรรษที่ 80 ตัดเลี่ยนด้วยกีตาร์ไฟฟ้าและบีทดิสโก้

‘Highway Unicorn (Road to Love)’ บทเพลงแด๊นซ์พ๊อพที่พยายามใส่ความเป็นอเมริกัน เทรดิชั่น ร๊อค ในรูปแบบดนตรีของบรูซ สปริงสทีน อีกครั้ง เสริมสร้างเสียงกลองและซินธิไซเซอร์ที่เปี่ยมด้วยพลัง

‘Heavy Metal Lover’ ขัดแย้งกับชื่อเพลงอย่างสิ้นเชิง ดนตรีกลับเป็นอิเล็กทรอพ๊อพและเทคโน โดยมีซินธิ์สร้างซาวด์สังเคราะห์เป็นจุดศูนย์รวมของเพลง

‘Electric Chapel’ บทเพลงนี้กลับสวนทางกับชื่อ ใช้ดนตรีเฮฟวีเมทัลที่มีสัมผัสทางพ๊อพในแบบมาดอนน่าอย่างลงตัว

‘Yoü and I’ บทเพลงบัลลาดร๊อคแอนด์โรลที่มีสัดส่วนของคันทรีร๊อค โดยมีไบรอัน เมย์ (Brian May) มือกีตาร์ระดับตำนานของวงโอเปร่าร๊อค ควีน (Queen) ที่เลดี้ กาก้า รับอิทธิพลมาและเป็นแรงบันดาลใจทางดนตรีให้กับเธอ ได้มาร่วมทำงานด้วย

‘The Edge of Glory’ เพลงนี้ใช้บริการเสียงแซกโซโฟนของคลาเรนซ์ คลีมองส์ อีกเพลง ผ่านดนตรีแด๊นซ์พ๊อพที่ผสมความเป็นอิเล็กทรอนิค, ร๊อค และซินธิ์พ๊อพ

‘Black Jesus † Amen Fashion’ บทเพลงพ๊อพที่มีอิทธิพลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ยุคทศวรรษที่ 80 ซึ่งอดจะนำไปเปรียบเทียบกับงานของมาดอนน่าในยุคนั้นไม่ได้อีกเพลง ซึ่งเป็นการบอกเล่าถึงสายสัมพันธ์ของโลกแฟชั่นกับมหานครนิวยอร์ค รวมถึงบรอดเวย์หรือละครเพลงบรอดเวย์ในนิวยอร์ค

‘The Queen’ บทเพลงดิสโก้ที่หวนรำลึกถึงความเป้นบทเพลงพ๊อพกระแสหลักในยุคนุ่งกางเกงขาบาน

หลายบทเพลงในอัลบั้มชุดนี้มีความคมเข้มและแยบคายทางความคิดที่สามารถอ้างอิงและเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นทางสังคมที่ซับซ้อน เรื่องของเพศสภาพ และเฟมินิสม์หรือลัทธิความเสมอภาคทางสังคมและการเมืองให้กับผู้หญิง ซึ่งเป็นจุดที่ยอดเยี่ยมสำหรับงานเพลงอัลบั้มนี้ที่โดดเด่นมากกว่าแฟชั่นดนตรี การเสพฟังและการดูเพลงด้วยสายตา

เลดี้ กาก้า พยายามที่จะสื่อสารถึงความคิดหรือการกระทำที่อิสระโดยขับเน้นความเป็นปัจเจกบุคคลผ่านทฤษฎีทางสังคมที่ยึดถือในสิทธิเสรีภาพของบุคคล ความเสมอภาค และเท่าเทียม รวมถึงอิสรภาพที่ไม่มีกรอบหรือขอบเขตมาจำกัด สื่อสะท้อนถึงความผิดแผกแตกต่างแต่สามารถกลืนกลายเข้าสู่วัฒนธรรมยอดนิยมหรือวัฒนธรรมพ๊อพได้อย่างกลมกลืน
…......
พอล เฮง
paulheng_2000@yahoo.com
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
กำลังโหลดความคิดเห็น