xs
xsm
sm
md
lg

Leap Year : บอกรัก 29 ก.พ. คำขอที่ผู้ชายไม่อาจปฎิเสธ?/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ


ต้องบอกว่าเข้ากันทีเดียวครับสำหรับบรรยากาศในช่วงเดือนแห่งความรักของปี "อธิกสุรทิน" และภาพยนตร์เรื่อง "Leap Year" ที่ทางเคเบิ้ลเจ้าใหญ่ แต่ไม่ค่อยจะมีเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์เวลาโทรไปสอบถามปัญหาเรื่องสัญญาณขัดข้อง (555) อย่าง "ทรู วิชั่นส์" นำมาฉายให้ชมกันอยู่ในขณะนี้

เดือนแห่งความรัก หลายคนคงจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะในเดือนกุมภาพันธ์เดือนนี้ วันที่ 14 นั้นได้ถูกกำหนดให้เป็นวันวาเลนไทน์วันที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของวันแห่งความรักไปแล้ว

แต่ที่หลายคนอาจจะลืมๆ ไปก็คือ หากมองดูปฏิทินของปีนี้เราจะพบว่ามีความพิเศษกว่าปีก่อนๆ (อย่างน้อยๆ ก็ 3 ปีที่ผ่านมา) เพราะเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้มีวันที่ 29 อยู่ด้วย ซึ่งการนับวัน-เวลาตามปฏิทินแบบสุริยคติที่สังคมไทยเราใช้อยู่นั้นเราเรียกปีที่มีวันเพิ่มขึ้นมา 1 วันจนทำให้เดือนกุมภาพันธ์มีวันที่ 29 นี้ว่าปี "อธิกสุรทิน" และวันที่เพิ่มขึ้นมานี่แหละที่มีเนื้อหาโยงไปถึงหนังเรื่องที่ว่า(**)

Leap Year ถูกตั้งชื่อไทยแบบน่ารักกึ่งๆ ชวนหวาดเสียวเชียวครับว่า "รักแท้แพ้ทางกิ๊ก" เป็นหนังแนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่ได้นักร้อง-นักแสดงสาวชื่อดัง "เอมี่ อดัมส์" มาประกบกับพระเอกสุดหล่อ "แมทธิว กู้ดดี" ร่วมด้วยหนุ่ม "อดัม สก็อตต์"

หนังว่าด้วยเรื่องราวของ "แอนนา แบลดี้" (เอมี่ อดัมส์) สาวมั่นจากบอสตันที่ต้องการเดินทางไปเมือง "ดับลิน" เพื่อขอแฟนหนุ่ม "เจรามี่" (อดัม สก็อตต์) แพทย์ผู้มีงานยุ่งตลอดเวลาแต่งงานในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ซึ่งตามประเพณีของชาวไอริช ผู้ชายที่ได้รับการขอแต่งงานจากผู้หญิงในวันดังกล่าวจะต้องตอบรับคำขอที่ว่า

ในระหว่างการเดินทางนั้นเองได้มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมายและส่งให้นางเอกของเราต้องหกระเหเร่ร่อนไปพบกับ "เดคลิน" (แมทธิว กู้ดดี้) ชายหนุ่มที่เธอรู้สึกว่าหยาบโลน กักขฬะ แต่ถึงแม้จะไม่ชอบขี้หน้าสักเท่าไหร่ทว่าเธอก็จำเป็นต้องจ้างวานให้เขาไปส่งยังจุดหมาย เช่นเดียวกับชายหนุ่มเองที่จำเป็นต้องรับการว่าจ้างที่ว่าในขณะที่ตัวเขาเองไม่เคยคิดที่จะย่างกายไปเมืองที่ว่าสักนิดเดียว

การเดินทางของทั้งคู่ต้องบอกว่าเป็นไปอย่างทุลักทุเล ทั้งเรื่องของความคิดอุปนิสัยที่ค่อนข้างจะตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงอุปสรรคนานัปการแต่ทั้งหลายทั้งปวงนั่นเองที่ทำให้ทั้งสองได้เริ่มเรียนรู้ตัวตนของอีกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายหญิงที่พบว่า แท้จริงแล้วภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูเป็นคนค่อนข้างที่จะหยาบคาย พูดจาแบบตรงๆ ไม่ถนอมน้ำใจของชายหนุ่มคนนี้ ตลอดจนเหตุผลที่เขาไม่อยากจะเดินทางมาดับลินโดยให้เหตุผลว่าเป็นเมืองที่มีแต่ความโกหกหลอกลวงนั้นก็เพราะเจ้าตัวมีแผลแห่งความหลังอะไรบางอย่างซุกซ่อนอยู่นั่นเอง

หลังฟันฝ่าปัญหาต่างๆ ในที่สุดทั้งสองก็มาถึงดับลิน และที่นี่เองแอนนาก็ต้องแปลกใจเป็นอย่างมาก เพราะกลายเป็นว่าเป็นแฟนหนุ่มของเธอที่ชิงเอ่ยปากขอเธอแต่งงานออกมาก่อน แต่แทนที่จะดีใจที่ความฝันของตนเองที่รอคอยมาตลอดได้กลายเป็นความจริงขึ้นมา เธอกลับเกิดความลังเลขึ้นมาซะอย่างนั้น

ใช่ครับ ความลังเลที่ว่านั้นก็มีสาเหตุมาจากความผูกพันและความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงระยะเวลาสั้นๆ กับ เดคลิน นั่นเอง

หนังค่อนข้างจะเป็นไปตามสูตรหนังรักตลกสไตล์พ่อแง่แม่งอนเป๊ะๆ เลยครับ ทั้ง "ความบังเอิญ" ต่างๆ ที่ถูกตั้งเป็นเงื่อนไขขึ้นมาเพื่อเอื้อให้ทั้งคู่ทำอะไรที่ขัดกับความรู้สึกของตนเอง รวมไปถึงคาแรกเตอร์ที่ค่อนข้างจะแตกต่างชนิดที่อยู่ตรงกันข้ามกันของตัวละครเอกทั้งสอง

เพราะในขณะที่ฝ่ายชายนั้นดูจะนิ่งๆ อยากจะทำอะไรก็ทำ อยากพูดอะไรก็พูด ชีวิตไม่ค่อยจะวางแผนอะไรมากนัก มีความสุขแบบเรียบๆ ในสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างจะเงียบๆ เอื่อยเฉื่อย ตัวละครฝ่ายหญิงก็ถูกสร้างมาให้เป็นหญิงสาวที่คล่องแคล่ว เป็นจอมวางแผน และมีความคิดว่าความสมบูรณ์ของชีวิตคือการได้ใช้ของที่มียี่ห้อหรูๆ ได้แต่งงานกับชายหนุ่มหล่อที่มีอาชีพมั่นคง ได้พักในอพาร์ทเม้นต์สุดเริ่ด มีความสะดวกสบายในด้านต่างๆ รองรับโดยที่เธอลืมถามตัวเองไปเลยว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นหัวใจเธอเองต้องการมันจริงๆ หรือไม่? รวมถึงเธอเองไม่เคยเฉลียวเลยว่าเธอเองจะมีความสุขกับมันได้จริงๆ หรือหากการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้บางครั้งมันก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงการเสแสร้งแกล้งทำหรือทำไปเพราะถูกสังคมรอบข้างบ่มเพาะเท่านั้น
ที่จริงแอนนาเองก็ไม่ได้เชื่อเรื่องประเพณีผู้หญิงขอผู้ชายแต่งงานในวันที่ 29 กุมภาฯ สักเท่าไหร่หรอกครับ แถมยังมองว่าเพียงนิยายเท่านั้น แต่พอรู้สึกว่าไม่รู้ว่าเมื่อไหร่แฟนหนุ่มจะขอเธอแต่งงานสักที เธอก็เลยจจะใช้วิธีที่ว่านี้ ซึ่งพอเธอเล่าเรื่องนี้ให้ดีแคลนฟังระหว่างเดินทางไปด้วยกันด้วยความรู้สึกว่าชายหนุ่มซึ่งอยู่ในสังคมชนบทที่เชื่อเรื่องหรือประเพณีเก่าๆ ทำนองนี้จะโรแมนติกด้วย เแต่ชายหนุ่มกลับหัวเราะก๊ากแล้วบอกว่า เกิดมาเขาก็เคยได้ยินเรื่องงี่เง่าก็ครั้งนี้นี่แหละ

รวมถึงหน้าที่การงานการกับการเป็นนักออกแบบตกแต่งบ้าน/อพาร์ตเม้นท์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าอยากจะซื้อโดยอาจจะต้องมีแทคติกอื่นๆ เข้าช่วย เช่นให้อบขนมปังเพื่อให้มีกลิ่นหอมๆ ระหว่างลูกค้ามาขอดูห้อง ทั้งๆ ที่สิ่งของและพล็อบต่างๆ ที่ถูกนำมาตั้งไว้นี้จะถูกยกออกไปหลังลูกค้าตกลงใจที่จะซื้อซึ่งหญิงสาวเองรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากเพราะว่าถ้าเธอลงมือเมื่อไหร่แล้วก็เป็นอันว่าการันตีว่าขายได้แน่นอนนั้น ชายหนุ่มของเรากลับรู้สึกว่านางเอกเป็นนักต้มตุ๋น!?

และในขณะที่ฝ่ายหญิงรู้สึกถึงความมีระดับในการได้ใช้ "หลุยส์" ชายหนุ่มกลับมองว่าเธอเพี้ยนถึงขนาดตั้งชื่อให้กระเป๋า

จริงๆ ก็ไม่ใช่ฝ่ายหญิงฝ่ายเดียวเท่านั้นหรอกนะครับที่ได้เรียนรู้ในความต่างจากฝ่ายชาย เพราะขณะเดียวกันนั้นฝ่ายชายเองก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากตัวตนฝ่ายหญิงที่เขามองว่าเป็นผู้หญิงงี่เง่า เอาแต่ใจ ด้วยเช่นกัน

ต้องบอกก่อนว่า Leap Year ไม่ใช่หนังรักที่สุดแสนจะโรแมนติกชวนดื่มด่ำไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ หรือว่ามีแง่คิดเกี่ยวกับเความรักที่ลึกซึ้งอะไรมากมายนะครับ เพียงแต่ว่าหนังเรื่องนี้ดูแล้วรับรองว่าคุณจะต้องยิ้มไปกับความกุ๊กๆ กิ๊กๆ ของทั้งสองสลับกับเสียงหัวเราะของมุกตลกแบบง่ายๆ รวมไปถึงรู้สึกสบายตา-สบายใจกับความสวยงามของวิวทิวทัศน์ในฉากต่างๆ ตลอดจนเพลิดเพลินไปกับเพลงที่ถูกนำมาใช้ประกอบอย่างแน่นอน

เอาเป็นว่า ช่วงนี้ถ้าใครอยากจะลองทำตัวให้เข้ากับเทศกาลของเดือนแห่งความรักแต่ยังไม่รู้จะทำอย่างไร ใช้วิธีการดูหนังเรื่องนี้ดูก็ได้ครับ คือถ้าไม่ได้ติดเคเบิ้ลเจ้าใหญ่ที่ขอย้ำอีกครั้งว่าโทรศัพท์ไปทีไรกว่าจะได้คุยกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องรอแล้วรออีก (555) ก็ลองไปเช่าแผ่นเอา หรือถ้าไม่อยากจะเสียเงิน ก็เสิร์ชเอาในอินเทอร์เน็ตก็ได้เพราะมีคนนำมาโพสต์ไว้หลายต่อหลายเว็บไซต์ด้วยกัน

แต่ก่อนดู แนะนำให้ลองตอบคำถามเล่นๆ กันก่อนว่า...ถ้าอพาร์ตเม้นท์แสนสวยหรือบ้านแสนสุขที่คุณอยู่เกิดไฟไหม้ขึ้นมา แล้วคุณมีเวลา 60 วินาทีในการหนี คุณจะคว้าอะไรออกมาด้วย?



หมายเหตุ : (**) รู้สึกว่าในดิกชันนารีจะแปล Leap Year ว่า "ปีอธิกวาร" แต่พอได้อ่านข้อเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้จากการ รศ. ดร. อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ ผมเลยคิดว่าคำว่า "ปีอธิกสุรทิน" น่าจะตรงมากกว่า (ซึ่งในหนังเรื่องนี้ที่พากย์ไทยก็ใช้คำนี้เช่นกัน) หรือถ้าอย่างไรก็ลองแนะนำกันได้ครับ

อธิกสุรทิน อธิกวาร อธิกมาส คืออะไร ??

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า "อธิกวาร" "อธิกมาส" และ "อธิกสุรทิน" เป็นไปได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันอาจไม่รู้ความหมายของคำเหล่านี้ เพราะเป็นคำที่มีความหมายเข้าใจยาก และเป็นคำที่ไม่ได้ใช้บ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน คำทั้งสามคำเหล่านี้เกี่ยวข้องกับปฏิทิน หรือการนับวันเดือนปี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในวัฒนธรรม ผู้เขียนจึงต้องการอธิบายความหมายของคำเหล่านี้พอเป็นสังเขปเพื่อให้คนที่ยังไม่รู้จักคำเหล่านี้เข้าใจความหมายเมื่อได้ยินหรืออ่านพบคำดังกล่าวในสื่อต่างๆ

คำว่า "อธิกวาร" "อธิกมาส" และ "อธิกสุรทิน" ประกอบด้วยคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตทั้งหมด หน่วยหน้าศัพท์ อธิก- (อ่านว่า อะ-ทิ-กะ) ในที่นี้หมายถึง "เกิน, เพิ่ม" ส่วนคำว่า วาร แปลว่า "วัน" มาส แปลว่า "เดือน" คำว่า สุรทิน มาจาก สุร + ทิน ทิน แปลว่า "วัน" สุร ในที่นี้น่าจะแปลว่า "พระอาทิตย์"

ในจำนวนคำทั้งสามดังกล่าว คำว่า อธิกสุรทิน น่าจะเป็นคำที่คุ้นเคยมากที่สุดสำหรับคนไทยปัจจุบัน เพราะเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับปฏิทินแบบสุริยคติ ซึ่งใช้ในสังคมไทยปัจจุบัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของ อธิกสุรทิน ไว้ว่า "วันที่เพิ่มขึ้นในปีสุริยคติ คือในปีนั้นเพิ่มวันเข้าในเดือนกุมภาพันธ์อีกวันหนึ่งเป็น 29 วัน" ตามธรรมดาเดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน ปฏิทินบางฉบับเรียกปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วันว่า "ปีปกติสุรทิน" และเรียกปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ว่า "ปีอธิกสุรทิน"

ปีอธิกสุรทินจะมี 4 ปีครั้ง ปีพ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) เป็นปีอธิกสุรทิน ปีอธิกสุรทินต่อไปคือปีพ.ศ. 2547 ข้อสังเกตง่ายๆว่าปีใดเป็นปีอธิกสุรทินคือให้เอาปีค.ศ. ตั้งหารด้วยเลข 4 ถ้าหารลงตัวจะเป็นปีอธิกสุรทิน ถ้าหารไม่ลงตัวก็เป็นปีปรกติ เช่นปีค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) หารด้วยเลข 4 ลงตัว และทั้งหมดเป็นปีอธิกสุรทิน

เหตุที่จะต้องมีปีอธิกสุรทินทุก 4 ปี เพราะตามระบบของปฏิทินทางสุริยคติ จะต้องเพิ่มวันเข้าไป 1 วันเพื่อให้ปีนั้นมี 366 วัน วันที่เพิ่มเข้าไปนี้เรียกว่า อธิกสุรทิน การที่ต้องเพิ่มวันเนื่องจากในปีหนึ่งๆนั้นตามความเป็นจริงมีจำนวนวัน 365.25 วัน ไม่ใช่ 365 วันถ้วนอย่างที่เราเข้าใจกันทั่วไป ดังนั้นเพื่อรวมเศษที่ตกค้างในแต่ละปีให้เป็น 1 วันได้ก็จะทำได้ทุก 4 ปี ทำให้สะดวกในการนับจำนวนวันในแต่ละปี คือนับจำนวนถ้วนๆ โดยให้ปีที่ 1, 2, และ3 มี 365 วัน และปีที่ 4 มี 366 วัน เป็นดังนี้เรื่อยไป

อธิกมาส และ อธิกวาร เป็นคำที่คนไทยสมัยใหม่อาจไม่คุ้นเคยเพราะเกี่ยวข้องกับปฏิทินแบบจันทรคติ ซึ่งปัจจุบันเลิกใช้อย่างเป็นทางการแล้วในสังคมไทย อย่างไรก็ตามหากเราเข้าใจที่มาหรือเหตุผลของการเพิ่มวันเป็นอธิกสุรทิน ก็คงไม่ยากนักที่จะเข้าใจเหตุผลของการเพิ่มเดือนหรือเพิ่มวันเข้าไปในปฏิทินทางจันทรคติเช่นกัน

อธิกมาส หมายถึง เดือนที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ คือในปีนั้นมี 13 เดือน มีเดือน 8 สองหน สาเหตุที่ต้องเพิ่มเดือน 8 เข้าไปอีก 1 เดือน เช่นในปีนี้ (พ.ศ. 2545) ก็เพื่อให้ปฏิทินทางจันทรคติเทียบได้กับปฏิทินทางสุริยคติได้ โดยจำนวนวันไม่ต่างกันมากเกินไป ดังรายละเอียดที่ผู้เขียนเคยอธิบายไว้แล้วในเรื่อง "ปฏิทินไทยดั้งเดิม" ปฏิทินบางฉบับเรียกปีที่มีอธิกมาสหรือปีที่มีเดือน 8 สองหนว่า "ปีอธิกมาส" และเรียกปีที่มีเดือน 8 หนเดียวว่า "ปีปกติมาส"

อธิกวาร หมายถึงวันที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ คือในปีนั้นเดือน 7 เป็นเดือนเต็มมี 30 วัน ตามปรกติเดือนที่เป็นเลขคี่ ในปฏิทินทางจันทรคติจะเป็นเดือนขาด มี 29 วัน และเดือนเลขคู่เป็นเดือนเต็มมี 30 วัน แต่ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันกับการเพิ่มเดือนเป็นอธิกมาส ในรอบประมาณ 5 ปีปฏิทินทางจันทรคติซึ่งแม้จะมีอธิกมาสแล้ว แต่ก็จะมีจำนวนวัน ต่างจากปฏิทินทางสุริยคติอยู่อีกหนึ่งวัน จึงต้องเพิ่มเสีย เพื่อให้เท่ากันโดย เพิ่มวันเข้าไป ในเดือน 7 ทำให้เดือน 7 ในปีนั้นมี 30 วัน วันสุดท้ายของเดือน 7 ดังกล่าวจะเป็นวันแรม 15 ค่ำแทนที่จะเป็นวันแรม 14 ค่ำเหมือนเดือนขาดทั่วไป วันที่เพิ่มเข้าไปนี้เรียกว่า อธิกวาร ปีที่มีอธิกวารเรียกว่า "ปีอธิกวาร" ที่ไม่มีเรียกว่า "ปีปกติวาร" คำทั้งสามคำที่ได้อธิบาย ไปนั้นแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีระบบในการนับและการคำนวณวันเดือนปี ที่น่าสนใจ (อธิก-) ทำให้คนไทยสามารถเข้าใจความคล้ายคลึงและความมีส่วนร่วมกันของมโนทัศน์ทั้งสามประการได้เป็นอย่างดี/ผู้เขียน: รศ. ดร. อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์



กำลังโหลดความคิดเห็น