ลืมอาชีพที่แท้จริงของคุณไปก่อน แล้วลองใช้ความคิดดู สมมุติว่าวันนี้คุณกลายเป็นศิลปินนักแต่งเพลงที่ต้องการจะกลั่นเพลงออกมาจากมันสมองได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเงินล้าน คุณเพียงอยากเห็นเพลงของตัวเองติดอยู่ในชาร์ตรายการดัง คุณอยากได้ยินเพลงของตัวเองเปิดคลอไปกับจังหวะชีวิตของผู้คนในยุคสมัยที่ตัวเองเติบโตขึ้นมา คุณอยากให้เพลงของตัวเองเป็นเพลงที่ผู้คนฮัมติดปากในยามอาบน้ำ เป็นเพลงที่ถูกส่งต่อให้คนรัก เป็นเพลงที่ทำให้ละคร ภาพยนตร์และโฆษณาที่นำไปใช้ติดตรึงอยู่ในหัวใจของผู้คนหมู่มาก
ราตรีสวัสดิ์ความคิดดังกล่าวไปได้เลย ถ้าเหตุผลสำคัญในการทำเพลงของคุณคือเรื่องราวเหล่านั้น คุณอาจเสียน้ำตา ถ้ามุ่งหวังเพียงชื่อเสียงและคำชมเชย เพราะเจ้าของเพลงฮิตกว่าสิบเพลงที่ชื่อ 'แสตมป์ - อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข' บอกว่าเพลงฮิตไม่มีสูตรสำเร็จ ไร้ซึ่งทฤษฎีไม่ว่าจะเป็นสีชมพูหรือสีอะไรก็ตาม เพลงจะฮิตได้ต่อเมื่อคนประพันธ์เปิดหัวใจออกมาสัมผัสกับหัวใจของคนฟังในยุคสมัยนั้นๆ ได้เท่านั้น
อาจดูเป็นคนเฉิ่มเชยถ้าคนฟังเพลงรุ่นใหม่สักคนส่ายหน้าบอกว่าไม่รู้จักแสตมป์ นอกจากเป็นหนึ่งชื่อเรียกของดวงตราไปรษณียากรที่ใช้ประทับหัวจดหมายในยามส่งไปหาใครแล้ว แสตมป์ยังเป็นชื่อของศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลงรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าของเพลงฮิตติดหูมากมาย ทั้งเพลงที่เขาร้องเองและเพลงที่แต่งให้คนอื่นร้อง และถ้าคุณเป็นแฟนเพลงของแสตมป์ก็คงพอจะจำแนกชื่อเพลง(หรือเนื้อความที่อิงกับชื่อเพลง)ของแสตมป์จากสองย่อหน้าแรกของบทสัมภาษณ์นี้ได้อย่างแน่นอน
และถ้าคุณเป็นแฟนในระดับพันธุ์แท้ของแสตมป์ก็คงจะจำแนกลงไปได้ละเอียดมากขึ้นว่าในจำนวนชื่อเพลง(และเนื้อความที่อิงกับชื่อเพลง) เหล่านั้น มีกี่เพลงที่จัดอยู่ในขั้น 'ฮิตติดหู' มีกี่เพลงที่แต่งให้คนอื่นร้อง และมีกี่เพลงที่แทบจะถูกลืมเลือนไปกับสายลม
และถ้าคุณคิดว่าแสตมป์เป็นนักแต่งเพลงอัจฉริยะในระดับที่แต่งเพลงอะไรออกมาก็ต้องฮิต ก็ขอให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะเจ้าตัวรู้ดีว่าบรรดาเพลงฮิตหลักเกือบสิบเพลงเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของงานที่เขาทั้งกรองทั้งกลั่นออกมาจากสมอง
"ที่เห็นว่าเพลงฮิตๆ นี่เรียกว่า 1 ใน 10 ดีกว่าครับ เพราะผมทำเยอะมาก" แสตมป์พูดถึงวิถีชีวิตการขึ้นแท่นเป็นนักแต่งเพลง(รุ่นใหม่) คิวทองด้วยท่าทีสบายๆ ภายในร่มหลังคาของ Love is ค่ายเพลงที่เขาสังกัดมาตั้งแต่วันแรกที่ประกอบอาชีพนี้
"ผมเชื่อว่าคนเราแต่งเพลงหรือทำงานสร้างสรรค์ได้เฉพาะช่วงอายุหนึ่งเท่านั้นน่ะครับ เพราะหลังจากนี้ไปเราก็อาจจะไม่เข้าใจคนสมัยนั้นแล้วหรือว่าคนสมัยนั้นอาจไม่เข้าใจเราแล้ว ผมรู้สึกว่าเรายังมีแรงอยู่ก็ต้องรีบทำ"
พลังงานของแสตมป์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผลงานของตัวเองหรือภายในคอกค่ายแห่งความรักแห่งนี้ เพราะสายใยของความสัมพันธ์โยงให้เขาลามปามไปแต่งเพลงให้ศิลปินระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง 'เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์' เรื่อยระมาถึงศิลปินสาวรุ่นใหม่แห่งค่ายกามิกาเซ่ไม่ว่าจะเป็น 'เฟย์ - ฟาง - แก้ว' และสองสาว 'โฟร์ - มด'
"ก็เป็นโอกาสที่เข้ามาแล้วเราก็รู้สึกว่าเราไม่ได้รังเกียจใครเลยน่ะ ก็ถือว่ามันเป็นการทดลองที่เราจะได้ไปเรียนรู้อะไรจากเขาด้วย สมมุติเราไปทำงานให้กับกามิกาเซ่เราก็อยากจะรู้ว่าเขาคิดกันยังไงวะ อะไรที่เขาเอาหรือไม่เอา เขามีหลักคิดอย่างไรในการที่เพลงๆ นึงจะออกไปสู่คนทั้งประเทศ ซึ่งเราไม่ได้ทำน่ะ เราอาจจะทำแค่ในเมือง เราก็ได้อะไรตรงนั้นมาเหมือนกัน"
เพราะการแต่งเพลงคือการสื่อสารในรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกับการพูด การพูดของนักร้องวัยห้าสิบกว่าๆ ที่ดังระดับโลกกับการพูดของเด็กสาววัยใสย่อมแตกต่างกัน วิธีการพูดผ่านปากของคนอื่นหรือการให้คนอื่นพูดผ่านปากกาของนักแต่งเพลงจึงเป็นเรื่องที่แสตมป์ใช้หลักในการจัดสมดุลให้เพลงมีความตัวตนของนักแต่งเพลงส่วนหนึ่งและมีความเป็นตัวตนของศิลปินอีกส่วนหนึ่ง
"หนึ่ง เราก็คงทำได้แค่ลองดูว่าเราทำอะไรให้เขาได้บ้าง แล้วเขาต้องการอะไร สอง เขามาขอเรา คงจะต้องใส่ความเป็นเราพอสมควรแหล่ะ หมายความว่าถ้าเขามาถามว่าอยากจะให้เราแต่งเพลงให้ แสดงว่าเขาก็คงไม่รังเกียจลายมือเราหรอกนะ ผมก็ไม่ได้สวมบทบาทอะไรมากมาย แค่คิดว่าผมเขียนแบบนี้แล้วให้คนนี้ร้องก็น่าจะไม่น่าเกลียด น่าจะส่งเสริมเขา ก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรให้เขาร้องแล้วเขาดูดีน่ะครับ แล้วมันก็ออกมาเอง"
"อย่างการแต่งเพลงให้ผู้หญิงร้อง ผมว่าก็มีเสน่ห์ของมันอีกอย่างที่ผู้ชายแต่งเพลงให้ผู้หญิงนะครับ เพราะผู้หญิงอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้ชายชอบเขาตรงไหนน่ะ ผมว่ามันก็มีความน่ารักอีกแบบเวลาที่ผู้ชายเขียนเพลงให้ผู้หญิง"
หลายคนที่รู้ว่าแสตมป์ผลิตผลงานเพลงที่มีท่อนฮุคโดนๆ ออกมาหลายเพลงก็อาจจะจินตนาการว่าผู้ชายคนนี้คงจะพกสมุดบันทึกติดตัวไว้จดทุกอย่างที่ไหลผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา แต่แสตมป์เปิดเผยว่าแท้จริงแล้วเขาไม่ค่อยได้จดบันทึกเท่าไหร่ แล้วเพลงฮิตของเขาส่วนใหญ่มักเกิดจากการได้สนทนากับผู้คนอย่างไม่ตั้งใจที่จะหาวัตถุดิบไปผลิตเพลงด้วยซ้ำ
"ถ้าเป็นเรื่องของคอนเซปมันมักจะมาด้วยความบังเอิญเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ไปคุยกับเพื่อนคนนี้ แล้วเขาบ่นเรื่องนี้ให้เราฟัง หรือคุยกับแฟนแล้วเขาก็พูดคำคมออกมาสักคำ ซึ่งเราก็ เฮ้ย อะไรวะเนี่ย เราก็เก็บสิ่งเหล่านั้นไว้ในใจ แล้วพอมีเมโลดี้ที่เราทำออกมาแล้วรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นเรื่องนี้ เราก็เอามาผูกกัน มันเป็นความบังเอิญซะส่วนใหญ่ ผมเชื่อว่าเรื่องที่เด็ดจริงมันต้องจำได้ แต่ก็มีบางครั้งที่จดเอาไว้แต่ไม่ค่อยได้ใช้น่ะครับ อันที่ใช้คืออันที่จำได้"
อย่างที่พูดเอาไว้ในตอนต้นว่าแสตมป์เชื่อว่าเหตุผลสำคัญของการทำเพลงออกมาแล้วโดนใจคนฟัง ก็เพราะว่าเขาสามารถเชื่อมต่อหัวใจตัวเองติดกับหัวใจของผู้ฟังเพลงในยุคสมัยนี้ได้ ซึ่งนักแต่งเพลงหนุ่มก็ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้เขาจะยังคงทำให้เพลงฮิตเช่นวันนี้ได้อยู่หรือเปล่า
"ผมว่าด้วยความที่เราอายุพอๆ กับคนฟังอยู่ ทำให้เราเสพอะไรมาเหมือนๆ กัน เราพูดคล้ายๆ กัน เราใช้ชีวิตเหมือนกัน เวลาเราทำอะไร เมโลดี้อะไรก็จะไปคล้ายเขา แค่นี้เองครับ ผมว่าเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าผมจะทำได้หรือเปล่า เพราะคนเปลี่ยนไป ผมก็เปลี่ยนไป"
"ผมเชื่อว่าเรื่องความฮิตเป็นเรื่องที่กะเก็งกันไม่ได้ ถ้าถามว่าสูตรสำเร็จมีไหม มันก็มี แต่ว่าก็ใช้ได้ไม่มาก สมมุติว่าเรากะว่าเพลงนี้ต้องฮิต โอเค ถ้าเราทำแบบนี้แล้วฮิตแน่นอน ผมเชื่อว่าไอ้แบบนี้เป็นการฮิตแบบตรรกะน่ะ มันฮิตไม่จริง ฮิตแบบวางแผน คนฟังก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเข้าไปอยู่ในหัวใจเขา เพราะว่ามันถูกวางแผนมาหมดแล้ว ก็แค่การตลาดอย่างหนึ่ง ถ้าวางให้ฮิตมันก็ฮิต แต่ผมเชื่อว่ามันจะฮิตได้ไม่ยั่งยืน ผมก็คิดว่าโลกนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ สูตรสำเร็จก็คือคุณต้องทำให้เจ๋งจริงๆ คุณต้องฝึกหนักจริงๆ น่ะ ร้อยเพลงอาจจะออกมาสักเพลงก็ได้ทำหนักเข้าไว้ครับ"
นอกจากตอนที่ทำเพลงเสร็จเรียบร้อยแล้ววินาทีที่สวยงามอีกหนึ่งห้วงขณะสำหรับนักแต่งเพลงก็คือการที่บทเพลงนั้นๆ ได้รับเสียงชื่นชม สำหรับแสตมป์เองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับคำชื่นชมมากมายปลิวว่อนดังดอกไม้หอมสีสดสวยเข้ามาหาตัวอยู่เสมอ และดอกไม้เหล่านั้นเองที่แสตมป์ยอมรับว่าทำให้เขาเสียการทรงตัวไปไม่น้อย
"มันก็ทำให้เราเป๋เหมือนกันนะครับ บางทีที่พอมีคน Press เรามากๆ เนี่ย สิ่งที่อันตรายที่สุดคือเราหลงทางจากสิ่งที่เราทำจริงๆ สมมุติว่าตอนแรกเราอยากจะทำดนตรีเพื่อที่จะทำให้เพลงเจ๋งที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ใช่ไหมครับ เมื่อมีคน Press เยอะๆ เราก็ชอบ เราก็ไปติดใจ มันก็เลยเป๋ไปว่าเราอยากจะทำเพลงเพื่อให้คนชมเยอะที่สุด ซึ่งก็ต้อง Balanceกันพอสมควร"
"พอเราเริ่มที่จะทำเพลงเพื่อที่จะให้คนชม เพื่อให้คนชอบ เพื่อให้คนคิดยังไงกัน แต่ว่าไอ้ความตั้งใจเดิมของเราก็ยังอยู่ในตัวอยู่นะ ความตั้งใจที่ว่าเราอยากจะทำเพลงให้เจ๋งที่สุด มันก็เลยขัดแย้งในตัวเองอย่างสุดยอดเลยล่ะ อะไรดีวะเนี่ยแล้วก็เครียด ผมว่าวิธีรับมือก็คือต้องกลับสู่รากเหง้าว่าเรามาถึงจุดนี้ได้เพราะว่าความตั้งใจไหน แค่นั้นเอง"
"ซึ่งความตั้งใจดั้งเดิมของผมคือความตั้งใจที่จะทำเพลงมากกว่าที่จะทำให้คนชอบ คือเราทำเพลงแล้วมีคนมาชอบ ไม่ใช่คนมาชอบเรา แล้วเราค่อยทำเพลง ซึ่งตอนนี้ก็พยายาม Balance อยู่ครับ มีคนชมอีกก็ดีนะ ก็ต้องรู้สึกดีอยู่แล้วล่ะคนเรา แต่ก็ต้องกลับมาดูว่าอะไรสำคัญกว่า คนชมหรือว่าใจเรา สมมุติว่าเราทำเพลงแล้วคนชอบ อย่างเพลงทฤษฎีสีชมพูเป็นเพลงที่คนชอบ แต่ผมไม่ชอบเลย มันฮิตไปก็เท่านั้นน่ะ ผมรู้สึกอย่างนั้นไง แต่ว่าถ้าทำให้เราชอบด้วยแล้วเขาชอบด้วย ก็ยากนะ แต่ถ้าทำได้เราก็จะมีความสุขทีเดียวครับ"
ท่าทีเป็นกันเองขณะพูดคุย ตลอดจนวิถีชีวิตของแสตมป์ที่ใครต่อใครเห็นเขายืนโบกรถแท็กซี่ริมฟุตบาทเป็นกิจวัตรค่อนข้างจะขัดกับภาพความเป็นคนมีชื่อเสียงที่เกิดขึ้นกับเขาในช่วงเวลานี้ นิตยสารหลายเล่มมีแสตมป์เป็นนายแบบ นิตยสารแจกฟรีฉบับหนึ่งติดต่อให้เขาเป็นพรีเซนเตอร์ประจำเนื่องจากมีภาพลักษณ์ที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ แต่แสตมป์บอกว่าเขายังเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่เดินทางด้วยรถรับจ้างสาธารณะเนื่องจากตัวเองยังขับรถไม่เป็นและไม่กล้าที่จะบังคับควบคุมยานพาหนะใดใดเพราะเชื่อว่าสำหรับตัวเขาเองนั้นยานพาหนะควบคุมไม่ง่ายเหมือนกีตาร์หรือปากกา
"ผมไม่กล้าขับรถกลัวชนคน ผมไม่ได้ติดดินอะไรทั้งสิ้นครับ ติดสบายด้วยซ้ำ เพราะมีคนขับให้" แสตมป์พูดล้อตัวเองด้วยรอยยิ้มและจบด้วยเสียงหัวเราะลั่นค่าย บุคลิกเช่นนี้เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ทำให้คนฟังเพลงชื่นชอบผู้ชายวัยยี่สิบเก้าปลายๆ รายนี้
"ผมไม่ได้ตลกนะครับ แต่ผมเป็นคนกวนตีนมากกว่า อย่าเรียกว่าตลกเลยครับ ผมว่าเอาเข้าจริง 'บอย โกสิยพงษ์' ก็ไม่ใช่คนโรแมนติกนะ(หัวเราะร่วน) ผมว่าเพลงไม่ได้บอกอะไรว่าเขาเป็นคนยังไงนะ ผมไปเจอวงเดธเมทัลเขาก็เป็นคนตัวหอมๆ เลี้ยงลูกอยู่บ้าน น่ารัก ไม่ได้ฆ่าแมว บูชายัญอะไรแบบนั้น ผมว่าเพลงมันเป็นเหมือน Outer Ego ของเราน่ะ คือเราอาจจะไม่ใช่คนที่ชีวิตแบบนี้ แต่ว่าเราก็มีอักด้านนึงที่เป็นแบบนี้ ชีวิตจริงเราก็ไม่ได้ใช้แบบนั้น แต่เราเอาออกมาในงานของเรา"
"ถ้าฟังเพลงจริงๆ เพลงของผมก็จะมีความกวนตีนอยู่พอสมควร จะมีแอบกวนตีนอยู่ทุกเพลงครับ ลืมไปก่อน คนที่คุณก็รู้ว่าใคร หรือเพลงความคิดก็แอบกวนตีนนะ(หัวเราะ) จะมีความเกรียนอยู่เสมอนะครับ ถ้าลองจับดีๆ"
สถาปนิคเป็นหนึ่งในอาชีพที่คนซึ่งเข้าไปเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ใฝ่ฝัน แต่สำหรับบัณฑิตที่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลายคนกลับไม่ได้ประกอบอาชีพนั้น หลายคนก้าวเข้าไปทำงานในวงการบันเทิง บางคนเป็นนักแสดง พิธีกร คนทำรายการโทรทัศน์ และมีอีกมากที่กลายเป็นนักร้อง นักแต่งเพลงเหมือนแสตมป์
ในฐานะที่เป็นบัณฑิตจากคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ เหมือนอีกหลายต่อหลายคนในวงการบันเทิงไทย แสตมป์บอกว่าสาเหตุที่เข้ามาทำงานแวดวงนี้ไม่ใช่เพราะอยากเดินตามรอยเท้ารุ่นพี่ แต่เป็นเพราะว่าการแต่งเพลงและเล่นดนตรีเป็นสิ่งที่เขาถนัดกว่าการแต่งบ้านตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนิสิตเลยด้วยซ้ำ
"ผมไม่เก่งเลยครับ ที่ผมเรียนมา ผมเป็นบ๊วยของชั้นครับ เป็นคนที่อาจารย์ด่าเช้าเย็นน่ะครับ แต่ผมชอบงานออกแบบมากเลยนะ(เน้นเสียง) ถ้าสมมุติว่าวันนี้ผมต้องทำปกซิงเกิ้ล ปกอัลบั้ม ผมยังไม่กล้าทำเองเลยน่ะ เพราะว่าคำด่าของอาจารย์ยังหลอนอยู่ในหัวของผม ผมก็ให้คนอื่นทำ ผมชื่นชมงานออกแบบมาก แต่ผมไม่กล้าลงมือทำเอง"
ถ้าคุณเป็นคนฟังเพลงที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี คุณก็คงจะทันฟังเพลงในยุคบุกเบิกและยุครุ่งเรืองของ 'บอย โกสิยพงษ์' ตั้งแต่สมัยก่อตั้งค่าย Bekery Music เรื่อยมาจนถึงการกำเนิดค่าย Love is สำหรับคุณ บอย โกสิยพงษ์คือตัวแทนของ Bekery Music แต่สำหรับคนในยุคดิจิตอลเต็มตัวซึ่งเป็นยุคที่บอยผันตัวไปทำงานด้านบริหารแบบเต็มตัวเช่นนี้ 'แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข' กลายตัวแทนของ Love is จนใครบางคนกระซิบบอกว่าบอยอาจจะส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่สามารถสื่อสารกับคนรุ่นนี้ได้อย่างแสตมป์ในอนาคตอันใกล้นี้
แต่สำหรับแสตมป์เอง เขาบอกว่าการหย่อนก้นลงไปนั่งตำแหน่งเดียวกับบอยเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสักนิด "ผมว่าผมทำ Love is ไม่ไหวหรอก ถ้าจะทำจริง ผมตั้งบริษัทใหม่ดีกว่า เพราะ Love is ลงตัวดีอยู่แล้ว"
"ผมเป็นศิลปินคนนึงแค่นั้นเอง แต่พี่บอยเป็นมากกว่านั้นเยอะ ถ้าเป็นคนทั่วไปอาจจะเห็นว่าคุณบอยคือศิลปินเหมือนกัน เป็นหัวหน้าศิลปินแต่ว่าสิ่งที่พี่บอยทำ การเป็นศิลปินของเขามันนิดเดียว แต่ว่าสิ่งที่เขาทำกว้างกว่านั้นเยอะ ซึ่งผมไม่ได้ทำสิ่งพวกนั้นเลย ผมเป็นศิลปินคนหนึ่งแค่นั้นเอง งานบริหารที่พี่บอยทำมันหนักหน่วงมากเลยนะครับ"
นอกจากแต่งเพลง เล่นดนตรีสดตามเวทีต่างๆ แล้ว งานอีกหนึ่งอย่างที่แสตมป์ดูแลรับผิดชอบก็คือการทำธุรกิจเสื้อผ้าเล็กๆ กับแฟนสาว แม้ในขณะนั่งคุยกัน แสตมป์ก็เตรียมพร้อมสำหรับการทำงานในทุกๆ ด้านของเขาอยู่เสมอ ด้วยวัยใกล้สามสิบซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หนุ่มแน่นและเปี่ยมไปด้วยพลังงานเช่นนี้ แสตมป์บอกว่าการแบรนดิ้งตัวเองให้แข็งแรงคือเรื่องที่เขาต้องเร่งกระทำเป็นการต่อไป
"สิ่งที่เราทำไปทั้งหมดในวันนี้ มันไม่ใช่แค่การทำเพลงแล้วในยุคนี้น่ะครับ มันคือการ Branding แล้ว ผมคิดว่าทุกเพลงที่พวกเราทำ มันไม่ใช่สินค้าของเราแล้ว สินค้าของเรามันคือเรา ส่วนเพลงมันคือ Advertising ของเรา ผมก็คงจะต้อง Branding ตัวเองให้แข็งแรงด้วย (หัวเราะ) แล้วก็ต้อง Balance ตัวเองมากขึ้น ตอนนี้ผมเริ่มรู้สึกว่าการที่พยายามทำเพลงรัก ทำเพลงอกหัก แล้วมันได้เป็นเพลงฮิต มันไม่พอสำหรับการ Branding อีกแล้ว
" เพราะว่าคนยุคนี้คนไมได้ซื้ออัลบั้ม โอเค คนล้านคนรู้จักเราด้วยเพลงเพลงเดียวหรือสองเพลงที่ฮิต แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่มันจะอยู่ต่ออย่างยั่งยืนมันคือคนที่อาจจะแค่หมื่นสองหมื่นคนที่เป็นแฟนเราจริงๆ ซึ่งเขาอาจจะต้องการมากกว่าแค่เพลงที่ฮิตน่ะ ผมคิดว่าเราอาจจะต้อง Serveคนกลุ่มนี้ด้วยการทำเพลงที่ไม่ใช่แค่เพลงอิตแล้ว มีเพลงที่มันทรงคุณค่าขึ้น อาจจะมีเพลงที่ปล่อยไปแล้วตั้งใจไม่ฮิต แต่ตั้งใจสร้างแบรนด์"
และเมื่อขอให้แสตมป์คิดประโยคสั้นๆ สำหรับโฆษณาตัวเองในการเป็นคนแต่งเพลง เจ้าตัวก็นิ่งคิดเพียงชั่วครู่ก่อนจะตอบออกมาว่า "นักแต่งเพลงสไตล์กวนตีนแบบไม่รู้ตัว คือคนฟังไม่รู้ตัวว่าโดนกวนตีนอยู่ ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร กวนเงียบน่ะครับ" แสตมป์ปิดท้ายแบบทำให้คนฟังเริ่มไม่แน่ใจว่าเขาจะเอาดีทางด้านแต่งเพลงหรือเล่นตลกกันแน่
ภาพโดย ดำรง นิมิตเพิ่มพูน และ Love is
…............................................................
โลกต้อนรับนักร้องนักแต่งเพลงที่มีเพลงฮิตนับสิบอย่าง 'แสตมป์ อภิวัชร์' แล้ว คุณรู้หรือไม่ว่าในขณะเดียวกันโลกก็ยังอ้าแขนต้อนรับนักร้องที่มีเพลงฮิตแค่เพียงหนึ่งเพลง (แต่เพลงเหล่านั้นมักจะฮิตแบบข้ามยุคข้ามสมัย) อีกด้วย มีใครบ้างมาฟัง เอ้ย มาดูกัน
1.เพชร โอสถานุเคราะห์ / เพียงชายคนนี้ : ผ่านกาลเวลามาหลายปีดีดัก ถูกนำไป Cover มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ใครบ้างจะปฏิเสธว่าเพลงบทนี้ของเพชรไม่ได้ไพเราะเหนือกาลเวลา แม้ว่าอีกหลายปีถัดมาเขาจะทำเพลงอัลบั้มเต็มชุดที่สองแต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่ากับเพลงนี้ของเขา
2.นีโน่ เมทนี บุรณศิริ / คนขี้เหงา : หากให้ตัดเพลงนี้ออกไป แล้วตั้งคำถามว่านีโน่ร้องเพลงไหน เชื่อว่าคงต้องมีคนเกาหัวจนผมร่วง คนขี้เหงาถือเป็นเพลงหากินของนีโน่ที่โด่งดังข้ามยุคสมัยอีกหนึ่งเพลง
3.สามารถ พยัคฆ์อรุณ / อ่อนซ้อม : เป็นนักร้องอดิเรกอีกคนจึงไม่แปลกที่จะมีเพลงดังแค่หนึ่งสำหรับสามารถ ที่ทุกวันนี้หากได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีร้องเพลง เพลงหากินก็ยังคงเป็นเพลงเดียวกับที่เขาร้องเอาไว้สมัยละอ่อนเพลงนี้
4.ญารินดา บุนนาค / แค่ได้คิดถึง : เป็นหนึ่งในนักร้องนักดนตรีมากฝีมือ แต่เพราะความโด่งดังของเพลงที่ได้สีฟ้าเป็นผู้ประพันธ์เพลงนี้ ทำให้มันสามารถกลบเพลงบทอื่นๆ ของเธอไปจนหมดสิ้น ทุกวันนี้หากใครพูดถึงญารินดา เพลงเหงาๆ เศร้าๆ เพลงนี้จะต้องหวนกลับมาเป็นลำดับต้นๆ ทุกครั้ง
5.เสนาหอย - เกียรติศักดิ์ อุดมนาค / แอบเหงา : เสียงดีจนหลายคนประหลาดใจ แต่จนแล้วจนรอดเพลงน่ารักๆ ที่ตรงกับอุปนิสัยส่วนตัวของเขาก็โด่งดังขึ้นมาอยู่แค่เพลงเดียว ทั้งๆ ที่เวลาผ่านไปนานหลายปี และนักแสดงอารมณ์ดีรายนี้ก็ทำเพลงออกมาอีกไม่น้อย แต่แอบเหงาก็ยังเป็นเพลงประจำตัวของเขาไม่เสื่อมคลาย