xs
xsm
sm
md
lg

“หนึ่งในดวงใจ” ละครรสรื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนึ่งในดวงใจ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล

เบื้องหลังการทำงานผ่านเพลงพิเศษ “หนึ่งในดวงใจ (Blue ver.)” ซึ่งเวอร์ชันนี้ไม่ได้เป็นเพลงประกอบละครเวทีแต่อย่างไร

ใครที่ได้มีโอกาสชม “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์เดอะมิวสิคัล” เมื่อต้นปีที่แล้วย่อมสัมผัสได้ถึงความสุข สนุกสนาน อิ่มเอมกับบทเพลงที่มีความไพเราะของสุนทราภรณ์ในรูปแบบของ “ละครเวที” สัญญากันก่อนลาเวทีว่า ละครเวทีเรื่องนี้จะกลับมาแสดงอีกครั้งในช่วงปลายปี แต่สุดท้ายเหตุผลบางประการทำให้ตัดสินใจทำละครเวทีเรื่องใหม่ “หนึ่งในดวงใจ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” ในปีนี้...
 
“พอเอาเข้าจริงๆ ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องคิวดาราที่ไม่ตรงกัน คนนั้นได้ คนนี้ไม่ได้ ถ้าจะคัดเลือกนักแสดงใหม่ หมายถึงมีคนเดิมบ้าง คนใหม่บ้าง เท่ากับเราต้องซ้อมใหม่ทั้งหมด อย่างนี้เรามาทำเรื่องใหม่ดีกว่า เพื่อให้มันมีอะไรที่ใหม่ๆ เพราะคนที่ดูไปแล้วก็อาจจะไม่อยากดูซ้ำก็ได้ การทำเรื่องใหม่มันก็จะทำให้คนที่ดูไปแล้วก็สามารถมาดูละครเรื่องใหม่ได้” นี่คือ เหตุผลที่ “อั๋น” วัชระ แวววุฒินันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย ในฐานะ Executive Producer & Writer ละครเรื่องนี้ชี้แจงกับทีมสกู๊ปพิเศษ “ซูเปอร์บันเทิง”

การทำละครเวที “กว่าจะรักกันได้” ริเริ่มโดยมูลนิธิสุนทราภรณ์ เนื่องในวาระ “100 ปีชาตกาล เอื้อ สุนทรสนาน” ตามประกาศของคณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรมของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติหรือองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก แต่ “หนึ่งในดวงใจ” ริเริ่มโดยบริษัท เจเอสแอลฯ ที่ต้องการต่อยอดความสำเร็จของละครในครั้งที่แล้ว โดยร่วมกับทางมูลนิธิสุนทราภรณ์ เพราะ “สุนทราภรณ์เดอะมิวสิคัล” เป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกค้นพบว่าประสบความสำเร็จในการนำเพลงสุนทราภรณ์กลับมาใช้ประกอบละครเวที ครั้งนี้ จึงอาจจะถือเป็น “สุนทราภรณ์เดอะมิวสิคัล ลำดับ2” และถ้าประสบความสำเร็จเทียบเท่าครั้งแรก นั่นหมายความว่า ในปีต่อๆไป… จะมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีผลงานในลำดับที่ 3 - 4 - 5

“เป็นความสำเร็จของการสืบทอดงานวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้เครดิตกับทางมูลนิธิสุนทราภรณ์ คือ ถ้าเขายอมให้ทำ แต่ห้ามแตะ ห้ามบิด ต้องเหมือนต้นฉบับเดิมเป๊ะ เราจะทำงานลำบาก หรือทำแล้วอาจจะขายได้เฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ เด็กก็อาจจะดูแล้วง่วงนอนจังเลยเนื่องจากขาดความหลากหลาย นี่เขาได้หมด จะช้าจะเร็วจะใส่ลูกเล่นอย่างไร ให้เข้ากับละครเวทีเพื่อให้มีรสชาติ เขายินดี”

ความต่างของรสชาติ
ยุคสมัย - “หนึ่งในดวงใจ” เป็นละครย้อนยุค ในขณะที่ “กว่าจะรักกันได้” เป็นละครในยุคปัจจุบันที่เป็นละครซ้อนกับละครเพลง “จุฬาตรีคูณ”

“เราคิดถึงเรื่องย้อนยุค เพราะว่าคนที่เป็นแฟนสุนทราภรณ์ที่รุ่นโตหน่อย เขาจะมีความทรงจำที่ดีกับวงสุนทราภรณ์ในช่วงที่เขายังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ซึ่งตรงนี้สามารถสร้างเสน่ห์ได้ คือเวลาที่เขาชมละคร นอกจากดูละคร ได้ฟังเพลงที่ตัวเองชอบแล้ว มันได้ย้อนกลับไปรู้สึกถึงความหอมหวานในอดีตอะไรอย่างนี้”

เมื่อกำหนดว่าเป็นละครย้อนยุคแล้ว ก็คิดต่อว่าจะย้อนกลับไปกี่ปี และจะเอาอะไรมาเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์

“เราก็มาคิดว่า มันน่าจะมีสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่เข้ามาเป็นตัวประวัติศาสตร์ในด้านความรื่นรมย์ของประเทศชาติ เลยนึกถึงว่า เมื่อคนไทยไปประกวดนางงามจักรวาลคนแรก คือ อาภัสรา หงสกุล (ปี 2508) ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่คนไทยในยุคนั้นมีความสุขมาก เราก็เลยจับบรรยากาศช่วงนั้นเข้ามาเป็นต้นเรื่องจะดีกว่า เพราะผลจากการที่คนไทยไปคว้าตำแหน่ง นางงามจักรวาล ทำให้การประกวดนางงามตื่นตัวมากในเวลาต่อมา”

ตามท้องเรื่อง เริ่มต้นที่งานประกวดเทพีเหมันต์ ในงานฤดูหนาว ปี พ.ศ. 2509 ที่หนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งมีโอกาสมาพบกันจนเกิดเป็นความรัก

“ความรักของคนหนุ่มสาวในยุคก่อนมันจะมีเสน่ห์ของมัน สมัยก่อนคนหนุ่มสาวต้องมาเจอะกันตามงาน แล้วงานสมัยก่อนก็มีไม่เยอะ เช่นงานรัฐธรรมนูญ งานกาชาด ประมาณนี้ เจอกันอย่างไร นัดพบกันที่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นสวนลุมพินี ซึ่งสมัยก่อนในสวนลุมฯจะมีภัตตาคารชื่อ “กินรีนาวา” (ชื่อภาษาอังกฤษคือ Peninsula - เป็นภัตตาคารขนาดใหญ่ลอยอยู่ในสระน้ำของสวนลุมพินี หัวเรือเป็นรูปนางกินรีเชิดหน้า โชว์ถัน 2 เต้าเปลือยเปล่าให้เป็นจุดสะดุดตา ภายหลังเกิดอัคคีภัย จึงปิดตัวลง) นอกจากนี้ ความรักของคนหนุ่มสาวมีอุปสรรคมีอะไรบ้าง แล้วยังต้องมีอุปสรรคจากครอบครัวอีก เพราะว่า ครอบครัวสมัยก่อนมีบทบาทกับลูกมาก”

ผู้กำกับฯ ละครเรื่องนี้คือ “เจี๊ยบ” วัชระ ปานเอี่ยม ขณะที่เรื่องที่แล้ว คือ “แหม่ม” พิไลวรรณ บุญล้น
“ ถ้าบทเรื่องนี้ไปอยู่ในมือผู้หญิงก็จะออกแนวหวานๆ หน่อย และถ้าให้แหม่มทำ บทอาจจะดิ้นไม่ออกเท่าที่ควร เพราะมันจะมีบทที่มีแก๊กตลก เราต้องการละครเรื่องนี้ออกแนวซุกซนหน่อยๆ เป็นผู้ชายนิดๆ คือ เรามองว่าเจี๊ยบมีความสามารถสองด้านคือ หนึ่ง ในด้านการแสดง ที่สำคัญเล่นตลกเป็น รู้จังหวะตลก การมีเซนส์จะทำให้รู้ว่า อะไรที่มันมากไป น้อยไป สอง เจี๊ยบเป็นคนที่ร้องเพลงได้เองอยู่แล้ว ตรงนี้เค้าสามารถที่จะแนะนำคนที่แสดงได้ ซึ่งจริงๆ เราก็มีครูที่สอนร้องนะ แต่นั่นก็อาจจะร้องแบบร้อง แต่นี่มันต้องร้องแบบละคร เจี๊ยบจะเอาศาสตร์ 2 อันนี้มาไกด์ให้กับนักแสดงได้”

ใช้เพลงอะไรกันบ้าง
หลังจากที่วางฉากต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ก็จะลงรายละเอียดคร่าวๆ ว่าแต่ละฉากต้องใช้เพลงอะไรบ้าง และถ้ายังนึกไม่ออกก็จะวางไว้กว้างๆ ว่า ฉากนี้ อารมณ์นี้ เพลงจีบกัน เพลงพี่ผู้หญิงแอบรักผู้ชาย หรือเพลงทะเลาะกัน และให้ฝ่ายเพลงของสุนทราภรณ์ที่มีความชำนาญ ช่วยคัดเพลงมาให้ ละครเรื่องนี้ใช้เพลงทั้งหมด 20 เพลง และเป็นเพลงที่ไม่ซ้ำกับเรื่องที่แล้ว เนื่องจากเพลงของสุนทราภรณ์มีเป็นจำนวนมากที่คุ้นหู สามารถหยิบมาทำละครได้อีกนับ 10 เรื่องเลยทีเดียว
 
“บางทีก็มีแบบว่า อยากได้เพลงนี้ที่สุดมาอยู่ในละครมันต้องสนุก มันต้องดีแน่ๆ ดังนั้น บางทีก็ต้องบิดเรื่องเพื่อรับเพลงที่เราต้องการเหมือนกัน เช่น เพลงไพรพิสดาร ที่ผู้ชาย ผู้หญิงเดินป่าแล้วมีเสียงสิงสาราสัตว์ เราก็เลยต้องสร้างเรื่องให้กลุ่มเพื่อนไปเที่ยวป่ากัน เพื่อจะได้โชว์เพลงนี้ ให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา

เพลงกังวลรัก เป็นเพลงที่เนื้อเพลงจะเข้ากับเรื่องได้มากเลย เราแอบรักคุณ เราจะบอกดีมั้ย หรือไม่กล้าบอก เป็นเพลงแอบรักของฉันกับเธอ คือในเรื่องมันจะมีคู่เอกสองคุ่ ซึ่งแอบรักกันมา คนนั้นรักคนนี้ แต่คนนี้ไปรักคนโน้น เพลงนี้ 4 คนร้อง แต่จะร้องด้วยอารมณ์ของตัวเองหมดเลย อันนี้จะเป็นเพลงโชว์ของละครเรื่องนี้

ยังมีเพลงหนึ่งที่เราเอามาแปลงเนื้อด้วย ถึงบอกว่าต้องให้เครดิตกับทางมูลนิธิฯ เขาเองก็ยินดี ถ้าเกิดจะต้องมีการแปลงเพลงบางเพลงเพื่อให้มันเข้ากับเรื่องได้ เพลงนี้ใช้กับเนื้อเรื่องที่ต้องทะเลาะกัน ก็เลยเอาเพลงรำวงมาเพลงหนึ่งคือ บ่าวสาวรำวง มาแปลงเนื้อให้พ่อทะเลาะกับลูก ลูกทะเลาะกับแฟนอะไรอย่างเนี้ย ซึ่งก็สนุกสนานดี”

เกร็ด 20 เพลงดังสุนทราภรณ์
“หนึ่งในดวงใจ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” ประกอบด้วยเพลงยอดนิยมของวงสุนทราภรณ์ทั้งสิ้น 20 เพลง ซึ่งเพลงต้นฉบับเดิมแต่ละเพลงมีเกร็ดเพลงมากบ้าง น้อยบ้างแตกต่างกันไป

หนึ่งในดวงใจ (ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง ชอุ่ม ปัญจพรรค์)

ชื่อเพลง “หนึ่งในดวงใจ” ได้รับการคัดเลือกให้เป็นชื่อของละครเวทีเรื่องนี้ด้วย บันทึกเสียงครั้งแรก ประมาณปี 2498โดยสุนทราภรณ์ และชวลี ช่วงวิทย์ (เพลงแก้) ชอุ่ม ปัญจพรรค์ เคยเล่าถึงเพลงนี้ว่า
เรื่องมีว่า บุคคลซึ่งเป็นคนสนิทของฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์มาขอให้อาเอื้อ แต่งเพลงรับขวัญท่านผู้หญิงวิจิตรา ซึ่งไปรักษาสุขภาพที่ประเทศอังกฤษแล้วไม่ยอมกลับเมืองไทย เพราะท่านจอมพลนอกใจท่าน ท่านจอมพลส่งทูตไปขอร้องอ้อนวอนจนยอมกลับเมืองไทย ทางกรุงเทพฯจึงเตรียมการให้มีดนตรีสุนทราภรณ์บรรเลงรับขวัญ อาเอื้อจึงให้ชอุ่ม ปัญจพรรค์แต่งเพลงรับขวัญนี้
เพลงนี้แต่งขึ้นที่บ้านพักตากอากาศของกรมประมง จ.ประจวบคีรีขันธ์

ขณะนั้นพี่ปรีดา กรรณสูตได้พาพวกญาติๆไปเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพักแรมที่บ้านพักรับรองของกรมประมงซึ่งมีคุณพระฯ และคุณนายเดียร์ หมอดวงมณี หมอพิสิษฐ์ วิเศษกุล อาเอื้อกับอาภรณ์ คุณป้าสะอิ้งและชอุ่ม ลงเล่นฉีกใบตองกันสนุกสนาน ชอุ่มกำลังผ่องไพ่อยู่เพลินๆ อาเอื้อก็เรียกให้ลุกขึ้นจากวงไพ่ตอง

“อุ่ม แต่งเพลงรับขวัญ” ชอุ่มลุกขึ้นจากวงอย่างเสียดาย แต่ก็จำใจแต่งตามเสียงผิวปากตามทำนองที่อาเอื้อ แต่งเสร็จเรียบร้อยภายในเวลาชั่วโมงเศษ อาเอื้อลุกขึ้นจากที่นั่งแต่งเพลงข้างวงไพ่ ไปแต่งตัวเข้ากรุงเทพฯเพื่อจัดการกับเพลงหนึ่งในดวงใจให้เรียบร้อยคอยต้อนรับท่านผู้หญิง
ต่อมามีการนำเพลงนี้มาบันทึกเสียงเป็นครั้งที่ 2 โดยสุนทราภรณ์กับรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส

“ทำนองเอื้อ (สุนทรสนาน) - เนื้อแก้ว (อัจฉริยะกุล)” ถือเป็นเพลงที่มีความไพเราะและลงตัวมากที่สุดของวงสุนทราภรณ์ มีเพลงที่ทั้งคู่ได้ร่วมกันประพันธ์จำนวนมาก และนำมาสอดร้อยอยู่ในเนื้อหาของละครเวทีเรื่องนี้ถึง 5 เพลง ได้แก่

นางฟ้าจำแลง (ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล)

เพลงซึ่งแต่งขึ้นพิเศษ เพื่อเป็นเกียรติแก่นางสาวไทย เพลงแรกคือ “สาวน้อยร้อยชั่ง” เพลง “นางฟ้าจำแลง” ถือเป็นเพลงที่ 2 โดยบรรเลงครั้งแรกในงานประกวดนางสาวไทยครั้งที่ 12 เมื่อปี พ.ศ. 2496 ซึ่งปีนั้น อนงค์ อัชชวัฒนา ครองตำแหน่งนางสาวไทยในงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดขึ้นที่สวนลุมพินี ระหว่างวันที่ 8-16 ธันวาคม

เดิมเพลงนี้ครูแก้ว อัจฉริยะกุลแต่งท่อนแรกของเพลงนี้ว่า “เห็นเอยโฉมงามอร่ามแท้แลตะลึง” แล้วให้ครูเอื้อร้อง พอครูเอื้อร้องจบแล้ว ก็เดินลงมาพบนักดนตรีรวมตัวกันกินเหล้าเมามายอยู่ ในเวลานั้น มีผู้หญิงคนหนึ่งหน้าตาสวยงามเดินผ่านหน้านักดนตรีเหล่านั้น พวกนักดนตรีก็ร้องขึ้นมาว่า “โฉมเอยโฉมงามอร่ามแท้พี่ขอเป็นแฟนแม่ได้ไหม” ครูเอื้อได้ยินเช่นนั้น ก็คิดว่า เพลงนี้คุ้นๆ แต่เพราะกว่า ก็เลยแก้เนื้อเป็น “โฉมเอยโฉมงามอร่ามแท้แลตะลึง” ในเวลาต่อมา

คิดถึง (ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล)
ลืมเสียเถิด อย่าคิดถึง (คำร้อง เอื้อ สุนทรสนาน, ทำนอง แก้ว อัจฉริยะกุล)

เชิด ทรงศรี ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ผู้ล่วงลับ (20 พฤษภาคม 2549) ที่มีความคุ้นเคยใกล้ชิด กับ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เขียนเล่าเอาถึงเบื้องหลัง ความเป็นมา ของ เพลงคิดถึง เพลงนี้เอาไว้ใน หนังสือ แก้วฟ้า ๖๐ ว่า

“ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เขียนขึ้น เพื่อถ่ายทอดความในใจของตนที่มีต่อ คุณน้อง สาวที่หมายปองอยู่ และได้รับแรงเชียร์จาก ครูเอื้อ สุนทรสนาน เพื่อนซี้ที่รู้ใจมากกว่าใครๆ แต่ คุณน้อง ก็ไปแต่งงานมีครอบครัวกับชายคนอื่น ตามความประสงค์ของผู้ใหญ่ เพื่ออนาคตที่สดใสกว่า

เชิด ทรงศรี เขียนไว้ในบทความ เรื่อง คิดถึง, แก้วฟ้า และอุปกรณ์การประพันธ์ ว่า
“...ผมเป็นเด็กรุ่นลูก ถือเป็นความโชคดี ที่ได้รับความเมตตา และให้ความใกล้ชิดสนิทสนมจากผู้ใหญ่อย่างครู
ได้เที่ยวเตร่ด้วยกัน ได้ร่วมโต๊ะอาหารกัน และที่ต้องจดจำอยู่จนทุกวันนี้ คือ ได้รับมอบให้เป็นผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ เรื่องคิดถึง เลียนจากชีวิตจริงเบื้องหลังเพลง
การนัดแนะพบปะเพื่อฟังเรื่องราว และสร้างอารมณ์ร่วม ย่อมจะต้องมีบ่อย
“ผมอยากรู้ว่า ผู้หญิง ที่ครูคิดถึงเป็นใคร ?”
“เราว่า เชิด เคยเห็นแล้ว”
“ไม่เคยเห็นเลย”
“เมื่อกี้ เขาก็มา”
เรานั่งโต้กันอยู่ที่โต๊ะทำงานของครู บนโรงหนังเฉลิมเขตร์
“เชิด อาจเดินสวนทางกันก็ได้...เขามาหาเรา...มาดูหนัง”
“ครูบอกชื่อผม ด้วยซี”
“ชื่อเล่นๆ น้อง ชื่อจริงบอกไม่ได้ เขาเป็นคนมีศักดิ์ มีตระกูล จะเสื่อมเสีย เพราะการเปิดเผยของเรา”
จากชื่อเล่นๆ น้อง กลายมาเป็นชื่อจริง ขนิษฐา ในละครโทรทัศน์ ซึ่ง ขนิษฐา แปลว่า น้อง แต่ ขนิษฐา ไม่ใช่ชื่อจริงของผู้หญิงเบื้องหลังเพลงคิดถึง...”

ครูแก้ว อัจฉริยะกุล บอกถึง ความรัก ความคิดถึง ที่มีต่อตัว คุณน้อง ไว้ว่า...“ผู้แต่ง ขออุทิศให้แก่ใครคนหนึ่ง ซึ่งนับวันจะห่างจากกันไปทุกที”

เพลงคิดถึง เพลงนี้ จะเห็นได้ว่า ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ใช้คำว่า คิดถึง ซ้ำกันอยู่ถึง ๑๑ คำ เพื่อตอกย้ำ และสื่อความในใจให้สาวที่ตนหมายปองได้อย่างสอดคล้องลงตัว

ส่วนทำนองนั้น ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้วางแนวให้เป็น เพลงเศร้าที่ออดอ้อน ขอความเห็นใจ ด้วยการตีความ เพื่อสื่อความหมาย และการขับร้องที่ใส่อารมณ์อย่างเต็มที่ ในฐานะ กัลยาณมิตรคนสำคัญของครูแก้ว อัจฉริยะกุล ก็ทำให้บทเพลงคิดถึงเพลงนี้มีความไพเราะเป็นพิเศษ

ความไพเราะและการสื่อความในใจ จาก เพลงคิดถึง เพลงนี้ เป็นเหตุให้ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ต้องแต่งเพลงใหม่อีกเพลงหนึ่ง คือ เพลงลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง ขับร้องโดย รวงทอง ทองลั่นธม ตามคำขอร้องของ คุณน้อง สาวคนสำคัญ ที่เป็นต้นเหตุ และจุดบันดาลใจ ให้ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล แต่ง เพลงคิดถึง เพลงนี้ขึ้นมา

เชิด ทรงศรี เขียนเล่าเอาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า
“...ขณะนั้น ครูแก้ว ยังเป็นนักแต่งเพลงจนๆ ถึงแม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังแค่ไหน พ่อแม่ของ ขนิษฐา ก็ไม่อาจยินยอมให้ลูกรักแต่งงานกับ แก้วฟ้า ได้ ขนิษฐาถูกผู้บังเกิดเกล้าหมายมั่นให้แต่งงานกับหนุ่มนักเรียนนอก อุปสรรคแห่งความรัก จึงบันดาลให้คนรักทั้งสองต้องจากกัน จากกันเมื่อหัวใจรักใกล้ชิดกัน และนี่คือ ความเป็นจริง เบื้องหลัง เพลงคิดถึง

ครูแต่ง เพลงคิดถึง เมื่อคุณน้อง แต่งงานแล้ว มีลูกกับสามีนักเรียนนอก คุณน้อง มาพบครู บางทีก็โทรศัพท์มา
“ได้ฟัง เพลงคิดถึง ทีไร อดร้องไห้ไม่ได้ ทำไมจะต้องแต่ง เพลงนี้... ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง ดีกว่า...” เพลงลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง จึงเกิดขึ้นใหม่...”

ขอพบในฝัน (ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน ทำนอง แก้ว อัจฉริยะกุล)
เพลงในจังหวะวอลซ์ บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2493 โดยสุนทราภรณ์ในระบบ 78 แผ่นครั่ง เป็นเพลงซึ่งนำมาประกอบเสริมเข้าชุดกับเพลงจากละครเรื่อง “ท้าวแสนปม” โดยมีเนื้อหาซึ่งชายหนุ่มรำพึงรำพันถึงสาวที่ตนหลงรัก นอกจากนี้ยังเคยใช้เป็นเพลงประกอบในละครโทรทัศน์เรื่องเรือมนุษย์ ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5อีกด้วย

พรานทะเล (ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล)
เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการขับร้องสลับหน้าม่านบนเวทีละคร โดยสิงห์ อิ่มลาภ เป็นผู้ขับร้องหน้าม่าน เป็นเพลงที่ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการแต่งเพื่อใช้เป็นเพลงประจำสถาบันฯของเหล่าทัพแต่อย่างใด (ต่อมา โรงเรียนนายเรือ ได้นำเพลงพรานทะเล,ถอนสมอ ของวงสุนทราภรณ์ไปเป็นเพลงประจำโรงเรียน) บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2492 โดย สุนทราภรณ์ และเป็นเพลงสุดท้ายที่ครูเอื้อได้ร้องถวายด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ในเดือนพฤศจิกายน 2523 เพื่อกราบบังคมทูลลา ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม (1 เมษายน 2524) เพลงพรานทะเลนี้ยังเป็นเพลงที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงโปรดมากเป็นพิเศษ ทางสมาคมดนตรีฯได้นำเพลงนี้มาขับร้องเพื่อถวายความอาลัยสมเด็จพระเจ้าภคนีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาภัณณวดี ด้วยเป็นเพลงที่พระองค์ท่านทรงโปรดมากเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีเพลงอื่นๆ เช่น

มั่นใจไม่รัก (ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์)
บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2502 โดย รวงทอง ทองลั่นธม

หนึ่งน้องนางเดียว (ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง พจน์ จารุวนิช)
เพลงในจังหวะ “อเมริกันรัมบ้า” บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2494 โดยสุนทราภรณ์

สมมุติว่าเขารัก (ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง ธาตรี)
เพลงนี้ขับร้องโดย โฉมฉาย อรุณฉาน ดาวรุ่งสุนทราภรณ์ ซึ่งมีน้ำเสียงของ รวงทอง ทองลั่นธมและบุษยา รังสีผสมกันอยู่

ไม่รักใครเลย (ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์)
ท่อนที่ร้องว่า “ตึกฉันมีออกแยะไป” ครูสมศักดิ์แอบมาเฉลยในตอนหลังว่า “ตึก” ในเนื้อเพลง หมายถึง ตึก TV หรือตึกสถานีวิทยุ

กังวลรัก (ทำนอง - คำร้อง ศิรวัฒน์ พิมพ์วงศ์)
(จ่าสิบเอก) นพดฬ ชาวไร่เงินกับ (จ่าสิบเอก) ศิรวัฒน์ พิมพ์วงศ์ เป็นทหารพลร่มอยู่ที่ป่าหวาย เดิมทีนพดฬเป็นนักร้องประจำวงดนตรีฉัตรฟ้าของศูนย์สงครามพิเศษลพบุรี โดยวงดนตรีวงนี้ก่อตั้งโดยพลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์โดยครูแก้ว เป็นผู้ตั้งชื่อวงดนตรีให้ว่า “ฉัตรฟ้า” บันทึกเสียงครั้งแรกโดย นพดฬ ชาวไร่เงิน อดีตนักร้องดาวรุ่งพรุ่งนี้ของวงสุนทราภรณ์ เขามีผลงานเพลงกับสุนทราภรณ์จำนวนไม่มาก แต่ไพเราะและกินใจมากทุกเพลงด้วยน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เพลงเด่นอื่นๆ ของนพดฬเช่น ลาทีปากน้ำ, สาวอัมพวา, ปากลัด, คลองมอญ, อกเอ๋ยมันแค้น, นินทราสวาท เป็นต้น

เพื่อคุณ(ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง ธาตรี)
บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2501 โดย รวงทอง ทองลั่นทม

ดาวล้อมเดือน (ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐคำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์)
เพลงในจังหวะแทงโก้ บันทึกเสียงครั้งแรกโดย วินัย จุลบุษปะ ผู้ได้ฉายา “ราชาแทงโก้” (เมืองไทย)

พักร้อน(ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์)
เพลงสนุกในจังหวะ “แซมบ้า”

น้ำตาดาว (ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน, คำร้อง ธาตรี)
เพลงนี้บุษยา รังสีร้องครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2504 และเป็นเพลงที่เธอชื่นชอบมากที่สุด

บ่าวสาวรำวง (ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐคำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ // แปลงเนื้อ)
เพลงสนุกสไตล์รำวงซึ่งดัดแปลงจากเพลงรำวง รำโทน พื้นบ้านของไทย

ใครจะรักเธอจริง (ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์)
เพลงในจังหวะ วอลซ์ บันทึกแผ่นเสียงสปีด 45 ตราสุนทราภรณ์หน้าสีส้ม โดยห้างกมลสุโกศล หมายเลขแผ่น S.P.S 023 อีกหน้าหนึ่งเป็นเพลงเริงรองเงง

สุขกันเถอะเรา (ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์)
บันทึกเสียงเมื่อปี 2504 เป็นเพลงในจังหวะชะชะช่า รุ่นแรกๆ ของเมืองไทย

ไพรพิสดาร(ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์)
เพลงสนุกของสุนทราภรณ์ บันทึกเสียงครั้งแรกด้วยเนื้อเพียงส่วนหนึ่ง ต่อมามีการบันทึกเสียงครั้งที่ 2 ด้วยเนื้อเต็มสมบูรณ์ ความเด่นของเพลงนี้คือการเลียนเสียงสัตว์ต่างๆ อยู่ในการร้องเพลงด้วย

ยิ้ม (ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน, คำร้อง ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ)
เพลงสนุกอารมณ์ดีของศรีสุดา รัชตะวรรณ ที่มีความไพเราะและน้ำเสียงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว


เพลง หนึ่งในดวงใจ - ซี ต้อล ซานิ ฝ้าย


ขอพบในฝัน-ซานิ ซี ศิวัฒน์


เพลง เพื่อคุณ - ปุยฝ้าย ต้อล
.............................

“หนึ่งในดวงใจ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” แสดงโดย ซี-ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์, ซานิ AF-นิภาภรณ์ ฐิติธนการ, ต้อล AF-วันธงชัย อินทรวัตร, ฝ้าย AF-ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล, หนุ่ม-สันติสุข พรหมศิริ, ปั๋ง-ประกาศิต โบสุวรรณ, ท้อป-ดารณีนุช โพธิปิติ, ผัดไท-ดีใจ ดีดีดี ร่วมด้วยคลื่นลูกใหม่ทายาทนักแสดงชื่อดัง ได้แก่ แม็กกี้- อาภา ภาวิไล ลูกสาวอรุณ ภาวิไล ปาล์ม-ธัญวิชญ์ เจนอักษร ลูกชายมนตรี เจนอักษร ร่วมด้วยนักแสดงรับเชิญ อู๋-นวพล ภูวดล และนักแสดงหน้าใหม่ช่วยชูรสคับคั่ง เปิดการแสดงวันที่ 27 มกราคม - 12 กุมภาพันธ์ 2555 ทุกวันศุกร์ รอบ 19.30 น. เสาร์-อาทิตย์ รอบ 14.00 น. 9 รอบ ณ โรงละคร เอ็ม เธียเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ บัตรราคา 2,500 / 2,000 / 1,500 และ 1,000 บาท
“อั๋น” วัชระ แวววุฒินันท์
เอื้อ สุนทรสนาน
แก้ว อัจฉริยะกุล
วงสุนทราภรณ์ในอดีต

อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทยและนางงามจักรวาลคนแรกที่ทำให้คนไทยมีความสุขและตื่นตัวในเรื่องการประกวดนางงาม
เพลง “นางฟ้าจำแลง”  บรรเลงครั้งแรกเพื่อต้อนรับ อนงค์ อัชชวัฒนา  จากงานประกวดนางสาวไทยครั้งที่ 12
“กินรีนาวา” สัญลักษณ์ความทรงจำของคนหนุ่มสาวในอดีตที่สวนลุมพินี
งานประกวด “เทพีเหมันต์” สมมติตามท้องเรื่องในบรรยากาศฤดูหนาว ปี 2509
เหล่านักแสดงจาก “หนึ่งในดวงใจ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล”



[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
กำลังโหลดความคิดเห็น