xs
xsm
sm
md
lg

Music Shines : ‘Some Kind of Trouble’ พ๊อพร๊อคฟูมฟายเพ้อพร่ำของ เจมส์ บลันท์ / พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

paulheng_2000@yahoo.com

ในความเป็นจริงของมนุษย์ บางทีก็ต้องยอมรับว่า มีพวกที่รอคอยและเสียเวลากับความไร้สาระอันน่าโง่เขลาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นความสุขที่ได้ทบทวนหวนคิดถึงสิ่งที่ผ่านมา ก็อาจจะพอจะมีน้ำหนักในการที่จะทอดหุ่ยและปล่อยเวลาให้ไหลเลื่อนอย่างว่างเปล่าบ้างก็ได้

เช่นกัน คนฟังเพลงก็เหมือนกับการได้หยุดเวลาไปกับถ้อยคำและเรื่องราวที่พรั่งพรูออกมากับดนตรีที่เป็นพาหะนำอารมณ์ไปสู่ความรู้สึกร่วมเรื่องเดียวกัน แต่ต่างภูมิหลังไปบ้างตามแต่ละบุคคล บทเพลงในโลกนี้จึงล้วนเป็นเพลงรักที่สามารถดำดิ่งแทรกซึมเข้าผสานร่วมกับผู้รับสารได้กระทบฉับพลันเร็วที่สุด เป็นการระบายที่ใฝ่หาและทำไม่ได้ในโลกแห่งความจริง กึ่งๆ เพ้อฝันแต่ไม่ใช่...

เจมส์ บลันท์ (James Blunt) ถือเป็นนักร้อง / นักเขียนเพลง ที่ไม่มีชั้นเชิงมากมายในความคิดและถ้อยคำที่นำเสนอเพลงรักออกมา แต่ปรากฏว่า โดน! เพราะความง่ายที่พูดแทนความรู้สึกและอารมณ์ของคนทั่วๆ ไปที่สามารถส่งกระทบถึงกันได้ทันที โดยประสบการณ์ที่เหมือนกันของความรัก ที่เปรียบเหมือนประสบการณ์ร่วมที่พูดเรื่องเดียวกันไปโดยปริยาย

พิสูจน์มาจากอัลบั้มชุดแรกของเขา มาจนถึงชุดปัจจุบันที่เป็นงานชุดที่ 3 ‘Some Kind of Trouble’ เพราะหากจะพูดถึงความยิ่งใหญ่และชาญฉลาดในการเขียนเนื้อเพลงและทำดนตรีแล้วเขาอาจจะไม่ใช่ แต่ถ้าจะพูดในแง่ว่าเป็นคนที่เขียนเนื้อเพลงได้ฟูมฟายเพ้อพร่ำแต่ลึกดิ่งเข้าไปในความรู้สึก ด้วยท่อนฮุคร้องซ้ำและเมโลดี้ของดนตรีที่ละมุนหู เขาทำได้ในระดับที่ดีเยี่ยม

สตูดิโออัลบั้ม ‘Some Kind of Trouble’ จึงเสมือนการตอกย้ำลายเซ็นจากงานชุดแรกที่ฮิตสุดกู่มาทำให้มีมิติที่รื่นรมย์ขึ้นมาบ้าง ได้ใจคนฟังที่ชอบฟังเพลงที่ติดหูไพเราะและเข้าใจง่าย แต่ไม่มีอะไรใหม่...

คอนเสิร์ตน่าประทับใจในไทย

หลังจากบนเวทีดับแสงไฟและเสียงเพลงที่เปิดโหมก่อนคอนเสิร์ตหยุดลง นักดนตรีพร้อมสรรพบนเวที มีความเงียบที่เกิดจากการรอคอยเสียงแรกของชิ้นดนตรีหรือเสียงร้องบนเวที แต่จุดสนใจของผู้ชมกลับไปสู่บริเวณชั้น 3 จากอัฒจันทร์ทางด้านซ้ายมือของผู้ชม เมื่อมีชายหนุ่มใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์วิ่งกระโดลงมา และพุ่งขึ้นเวที แสงสว่างวูบโฟกัสที่ตัวเขา หยิบกีตาร์ ปากจ่อไมค์ที่ตั้งอยู่ เสียงดนตรีบรรเลง

เจมส์ บลันท์ มาเปิดแสดงคอนเสิร์ตในเมืองไทยเป็นครั้งแรก แม้มีคนดูแบบไม่มากมายนัก แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าอบอุ่น และได้ใจแฟนเพลงไปแบบเต็มๆ เนื้อๆ ในแง่ของความเป็นนักร้องที่แสดงบนเวทีหรือเพอร์ฟอร์ม เขาได้ดีในระดับที่สร้างความสนุกและอารมณ์ซาบซึ้งผ่านบทเพลงในความรู้สึกต่างๆ ได้ในระดับที่น่าชื่นชม

ในบางบทเพลงก็จะเห็นความรู้สึกที่เขากลั่นออกมาจากข้างในสู่สีหน้าสายตา เป็นอารมณ์ที่ลอยออกมาพร้อมเนื้อเสียงและดนตรีที่ผู้ชมสามารถรับรู้ได้ (ผ่านจอโปรเจ็กเตอร์ด้านข้างเวที) ทีมดนตรีก็เข้าขาและรับลูกส่งอย่างสนุกสนาน

ความไม่มีพิธีรีตองมากมาย และแสดงถึงคนที่มีท่าเยอะ แต่เน้นสร้างความรู้สึกร่วม ร้องเพลงเล่นดนตรีสร้างความสุขให้กับคนที่มาดูคอนเสิร์ต ถือได้ว่าคอนเสิร์ต 'เจมส์ บลันท์ ไลฟ์ อิน แบงค็อก' ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่ในทางกลับกัน ทิศทางพัฒนาในงานสตูดิโออัลบั้มของเขา กลับหยุดลง และไม่แสวงทางดนตรีใหม่ๆ ค้นพบถึงศักยภาพที่แท้จริงในการรักษากลุ่มคนฟังของตัวเองไว้ โดยเฉพาะกลุ่มคนฟังที่ชอบบทเพลงรักในแนวพ๊อพร๊อคของตลาดดนตรีกระแสหลักยุคปัจจุบัน

‘You're Beautiful’ ที่ตามหลอกหลอนอย่างไม่มีจุดจบ

บทเพลง ‘You're Beautiful’ ยังมีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบัน ข้ามเส้นแห่งเวลาเอาชนะโลกแห่งดนตรีพ๊อพมาได้ถึง 6 ปีเข้าไปแล้วอย่างงดงาม พิสูจน์ได้ชัดจากคอนเสิร์ตที่เพิ่งผ่านพ้นไปในเมืองไทย ‘You're Beautiful’ ก็เป็นเสียงเรียกจากผู้ชมที่พลาดไม่ได้

แม้นิตยสารโรลลิ่ง สโตน จะจัดให้เป็นบทเพลงในอันดับที่ 7 ของการจัดอันดับบทเพลงที่น่ารำคาญที่สุด 10 บทเพลงของโพลที่ถูกทำขึ้นมาของที่นี่ ส่วนเดอะ ซัน หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของอังกฤษจัดให้เป็นบทเพลงที่กวนประสาทที่สุด แต่ไม่ใช่บทเพลงนี้ไมดี อาจเพราะมันเป็นบทเพลงที่ถูกเปิดจนได้ยินในทุกๆ ที่จนยากเกินจะทานทน

เจมส์ บลันท์ เคยให้สัมภาษณ์ หลังจากบทเพลงนี้ฮิตระเบิดในระดับเมกะฮิตไปทั่วโลกแล้วว่า หนึ่งอย่างที่เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะการเขียนเพลงที่สามารถเชื่อใจได้ว่า เมื่อเขียนขึ้นมาแล้วจะโดดเด่นและเป็นการบันทึกเสียงที่ทำให้เพลงมีชื่อเสียงเป็นเพลงฮิต บทเพลง 'You're Beautiful' บอกความหมายบางอย่างกับเขา เพราะผู้คนชอบร้องเพลงในเวลาที่พวกเขาดื่มกัน

แน่นอน บทเพลงอกหักรักคุด-สะดุดความเศร้า-บอกเล่าความโศก-สับโขกตัวเอง-บรรเลงอย่างอ้อยสร้อย นับได้ว่าเป็นเหมือนสูตรของการเขียนเพลงฮิต แต่ก็ไม่ใช่สูตร เพราะมีหลายปัจจัยและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน การที่เจมส์ บลันท์ ออกมาพูดอย่างนั้น หมายถึงตัวเขานั้นไม่ค้นพบอะไรเลย เพราะอัลบั้มชุดถัดมาจนถึงชุดที่ 3 เขาทำเพลงได้อยู่มือขึ้น แต่ขาดเสน่ห์ลึกลับบางอย่างที่เคยดูสดและจริงใจอีกแล้ว ไร้ความสดชื่นมีแต่ความจืดชืดซ้ำซาก

เจมส์ บลันท์ เป็นนักร้อง/นักแต่งเพลง ที่ทำอาชีพอื่นมาก่อน และหันเหเข้าสู่วงการดนตรีจากครอบครัวที่มีสาแหรกสืบค้นไปถึงบรรพบุรุษที่เป็นทหารมาหลายชั่วอายุคน เจมส์ บลันท์เอง ก็เข้าสู่กองทัพบก และเข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต กับกองกำลังรักษาสันติภาพ ปฏิบัติภารกิจในสงครามโคโซโว

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ตอนที่เขาจากไฮสคูล เขาได้รับทุนจากกองทัพให้เรียนที่มหาวิทยาลัยบริสตอล ซึ่งเขาเปลี่ยนจากเรียนวิศวกรรมการผลิตเครื่องบินมาเรียนสังคมวิทยา และทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘The Commodification of Image - Production of a Pop Idol’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจในโลกของดนตรียอดนิยมอย่างเต็มที่

การได้พบและร่วมทำงานในฐานะคนเขียนเพลงกับลินดา เพอร์รี่ (Linda Perry) แห่งวงโฟร์ นอน บอนดส์ (4 Non Blondes) ซึ่งผันตัวเองเป็นนักแต่งเพลงมีชื่อ ทำให้เจมส์ บลันท์ ได้เปิดประตูสู่การเป็นนักร้อง/นักเขียนเพลง

ตั้งแต่การขายงานได้ถึง 12 ล้านแผ่นจากอัลบั้มชุดแรก ‘Back to Bedlam’ แต่ก็ใช้เวลารอเพลงฮิตถึง 2 ปี ในซิงเกิลที่ 3 ซึ่งแน่นอนบทเพลงในระดับเมกะฮิต อย่าง ‘You're Beautiful’ คือบทเพลงนั้น ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้เปิดในงานแต่งงานอย่างพลาดมิได้ เรียกว่าเป็นเพลงบังคับเพลงหนึ่งเมื่อมีการเลี้ยงฉลองเกิดขึ้น ทั้งที่มันเป็นเพลงอกหักด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตลกมาก

ในวัย 37 ปี เจมส์ บลันท์ มาไกลเหลือเกินจากจุดที่คิดไว้ในโลกดนตรียอดนิยม จากอัลบั้มชุดแรก ‘Back to Bedlam’ ที่ออกมาในปี 2005 (พ.ศ.2548) จนมาถึงอัลบั้มชุดที่ 2 ‘All the Lost Souls’ และมาสู่งานชุดที่ 3 ‘Some Kind of Trouble’ ในปัจจุบัน

แน่นอน เจมส์ บลันท์ ก็ถูกจัดให้อยู่ในความคาดหมายว่า จะมีบทบาทสำคัญในฐานะศิลปินโมเดิร์น พ๊อพ ที่จะสร้างงานออกมาสู่ตลาดกระแสหลักผ่านเพลงฮิตของเขา ซึ่งมีการตั้งความหวังไว้ค่อนข้างเยอะ

‘Some Kind of Trouble’ งานเพลงเสนาะโสตที่หยุดนิ่ง

โดยภาพรวมทั้งหมดของอัลบั้มชุดนี้ แม้จะไม่มีพัฒนาการทางดนตรีและความคิดที่สามารถหยิบยกมาพูดถึงได้มากนัก แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่น่าสนใจในสัมผัสทางดนตรีของเจมส์ บลันท์ ที่แตกต่างจากความสำเร็จพื้นฐานที่เคยทำมาในอดีต

แม้จะมองว่ามีความเฉื่อยชาทางความคิดและขาดพลังสร้างสรรค์อยู่พอสมควร แต่ทางกลับกันก็มีแรงกระตุ้นของแนวทางในการทำเพลงเพื่อตอบสนองคนฟังที่ชอบเพลงและดนตรีของเขามากยิ่งขึ้น แบบกะเอาให้อยู่มืออย่างไปไหนไม่รอด

อัลบั้ม ‘Some Kind of Trouble’ ถือว่ามีจังหวะก้าวและทิศทางที่เหมาะสมสำหรับเจมส์ บลันท์ แล้ว เพราะดูจากศักยภาพที่ผ่านมาอัลบั้ม 3 ชุด ภายใน 6 ปี ถือว่าเขาไม่สามารถมีพลังขับเคลื่อนทางความคิดและดนตรีไปไกลกว่านี้อีกแล้ว แต่กลับพบการเคลื่อนไปสู่ความเป็นนักร้องสายพ๊อพร๊อคเพลงรักฟูมฟายหวานเลี่ยนเฉพาะตัวยิ่งขึ้น

เจมส์ บลันท์ ค่อนข้างจะรักษาเพดานในการผลิตเพลงในรูปแบบของเขาที่คิดว่าจะเป็นเพลงฮิตเอาใจตลาด ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะอย่างน้อยที่สุดเขาก็ไม่ได้หลอกตัวเองไปค้นหาหรือทำสิ่งที่ไม่ถนัด รวมถึงความท้าทายทางดนตรี เขาเพียงต้องการคนฟังเพลงของเขาที่จะทำให้เป็นเพลงฮิต แม้จะมองได้ว่ามีความตื้นเขินไม่ลึกซึ้งและปราศจากวิญญาณ แต่สามารถทดแทนด้วยฝีมือในการทำเพลงให้ไพเราะเพราะพริ้งหนักแน่นในแบบเพลงคอนเทมโพรารี่-พ๊อพร๊อค และบัลลาดร๊อค

หากอัลบั้มชุดที่ 2 เป็นแรงเหวี่ยงของโมเมนตัมที่พุ่งกระทบรุนแรงจากอัลบั้มชุดแรกที่ประสบความสำเร็จทางยอดขายอย่างสูงส่ง อัลบั้มชุดที่ 3 ก็น่าจะเป็นแรงเฉื่อยสุดท้ายที่จะพิสูจน์ว่า จะสามารถยืนระยะข้ามผ่านพ้นไปบนเส้นทางดนตรีในระดับสูงในฐานะพ๊อพสตาร์ที่มีเพลงฮิตอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่

‘Some Kind of Trouble’ เป็นทิศทางดนตรีที่พยายามหันเหจากสูตรของดนตรีซอฟต์ร๊อคในยุคทศวรรษที่ 70 อยู่บ้างแต่ไม่มากมาย และแสดงถึงอิทธิพลดนตรีของศิลปินอื่นๆ ในตัวเพลงผ่านดนตรีของเขาจนชัดเจน

ในโลกของดนตรีร๊อคร่วมสมัยแบบผู้ใหญ่ฟัง ถือเป็นการทำงานในการสร้างส่วนผสมที่ยากมากระหว่างความหวาน การคร่ำครวญฟูมฟาย ในฐานะผู้ชายอ่อนไหวพ่ายแพ้และปวดร้าว สื่อสารความหดหู่หัวใจออกมา ซึ่งต้องมีรสนิยมที่ดีในการนำเสนอ เพราะเป็นเพลงฟังที่ดูเหมือนผาดเผินแต่ไม่ใช่ ดูเหมือนลึกซึ้งก็ไม่เชิง แต่ต้องเป็นความพอดีที่ลงตัว ซึ่งเป็นนามธรรมทางความรู้สึกเป็นอย่างมาก

เกือบทุกบทเพลงของเขาพยายามเน้นความในใจที่กลั่นออกมาพร้อมเสียงทุ้มแหบเครือเบาๆ เหมือนคร่ำครวญครางร้องเพลงอยู่บนเตียงนอนพร้อมกับเสียงเปียโนเรียบง่ายคลอเคล้า
และเสียงตีคอร์ดกีตาร์ กับเวลา 41:15 นาที ผ่าน 12 บทเพลง แต่ในรายชื่อเพลงจะมี 13 บทเพลง ในเพลงลำดับที่ 12 จะเป็นเสียงของความเงียบประมาณ 5 วินาที ซึ่งหากพยายามคิดให้ลึกตีความและแปลความหมาย ก็นึกไม่ออกว่าเจมส์ บลันท์ จะสื่อสารอะไรออกมา เพราะเป็นกระบวนการผลิตที่ผิดพลาด ในส่วนของการเรียงชื่อเพลงในปก เพราะฉะนั้นซีดีที่ผลิตออกมาจึงต้องข้ามแทร๊คที่ 12 ไป

งานเพลงในแนวดนตรีที่มีพื้นฐานอยู่ที่พ๊อพร๊อคมีกรุ่นอายของโฟล์คร๊อคผสมอยู่บางๆ โดยนำดนตรีพ๊อพร๊อคที่มีจุดเด่นคือ ฟังง่ายติดหู เมโลดี้สวยไพเราะดึงดูดใจ และเนื้อร้องเข้าใจง่ายสัมผัสรับรู้ถึงกันทันทีอย่างกินใจ โดยมีกีตาร์ในแนวทางของร๊อคกร้าวหวานหนักแน่น เน้นที่ความไพเราะเสนาะหูให้ถูกใจคอเพลงตลาดกระแสหลกักลุ่มใหญ่โดยทั่วไป ซึ่งโดยหลักใหญ่คือ เพื่อสร้างความบันเทิงเริงรมย์

ว่าไปแล้ว ดนตรีพ๊อพร๊อคร่วมสมัย หรือคอนเทมโพรารี พ๊อพร๊อค ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในจังหวะและความเร็วระดับปานกลาง และบัลลาด และไม่มีช่องว่างของเพลง เพราะจะเต็มไปด้วยการร้องย้ำวนของท่อนฮุคเพื่อให้คนฟังจดจำเนื้อร้องและท่วงทำนองให้ได้ ความไพเราะสละสลวยของกีตาร์พ๊อพที่ละมุนเสนาะหู โดยมีเจตนาที่ฟังได้เด่นชัดจากท่อนฮุคที่เน้นย้ำจะให้ฮิตติดใจติดโสตคนฟัง เจมส์ บลันท์ ทำได้เนียนมาก

เปิดหัวอัลบั้มด้วย ‘Stay the Night’ บทเพลงที่มีจังหวะที่สดใสมีชีวิตชีวาในแนวทางของ เจสัน มราซ (Jason Mraz) ความร่าเริงสุขสันต์บนชายหาดยามแสงแดดเจิดจ้า ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกและการร้องไปละม้ายกับบทเพลง ‘Hey, Soul Sister’ ของวงอัลเทอร์เนทีฟพ๊อพ-ร๊อค จากซานฟรานซิสโก วงเทรน (Train) โดยรวมของตัวดนตรีในเพลงนี้ ก็เป็นจังหวะยกกรุ่นอายของดนตรีเร็กเก้อยู่กลายๆ นำมาผสมผกับดนตรีร๊อคยุคทศวรรษที่ 80 เพื่อสร้างแรงดึงดูดใจด้วยท่วงทำนองที่ติดหู สามารถดึงดูดใจพอให้คนเงี่ยหูและตามฟัง สร้างความบันเทิงเริงรมย์แต่ไม่น่าประทับใจและอยู่ในความน่าจดจำ พยายามโชว์ความเก๋าในลีลาเก่าของดนตรีแห่งคาริบเบียน นำตัวเองไปเชื่อมโยงกับบ๊อบ มาลีย์ (Bob Marley) และได้ใส่ชื่อ บ๊อบ มาร์ลีย์ ลงไปในเครดิตการเขียนเพลงด้วย เนื่องจากมีท่อนที่ร้องว่า ‘Just like the song on our radio set / We'll share the shelter of my single bed’ ซึ่งนำมาจากบทเพลงฮิตระดับตำนานเร๊กเก้ของมาลีย์ ในบทเพลง ‘Is This Love’

บทเพลงเบาๆ โปร่งหูในแนวบัลลาดที่ขับเคลื่อนด้วยเสียงเปียโน ‘Best Laid Plans’ ซึ่งน่าจะเป็นการผลิตซ้ำตามรอยทางของเพลงฮิต ‘You’re Beautiful’ อย่างชัดแจ้ง ซึ่งน่าจะเป็นสูตรหรือสัญชาตญาณประจำตัวของเจมส์ บลันท์ ที่ชอบคร่ำครวญฟูมฟายกับความรักที่ผิดหวัง โดดดเดี่ยวสะท้อนสะท้านออกมากับกีตาร์ที่โซโล่กรีดใจให้อ่อนระทวยโรยล้า

‘No Tears’ บทเพลงบัลลาดที่บีบหัวใจอีกเพลง ส่วนบทเพลง ‘Superstar’ ดนตรีมีอิทธิพลมาจากวงฟลีทวู้ด แมค วงร๊อคแนวผู้ใหญ่ในยุคทศวรรษที่ 70มีความสละสลวยในเนื้อดนตรีและผสานกลิ่นอายดนตรีคันทรีเข้ามา พร้อมกับเสียงโซโล่กีตาร์แบบเฮฟวี่ในแนวทาเสียงของสแลช (Slash) ที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับวงกันส์ แอนด์ โรเซส (Guns ‘n’ Roses)

บทเพลงอย่าง ‘If Time is All I Have’มีเมโลดี้ที่โศกเครืออย่างจงใจ บทเพลงสุดท้ายปิดอัลบั้ม ‘Turn Me On’ มีทางของดนตรีบลูส์ร๊อค โดยเฉพาะการเดินเบสแบบฟังค์กี้จัดจ้าน และเสียงกีตาร์แหบพร่าแบบกรันจ์ร๊อค ที่ดูมีโทนเสียงแตกต่างกับบทเพลงอื่นๆ ในอัลบั้ม

ฟังไปแล้ว บทเพลงของเจมส์ บลันท์ ก็อยู่ในแนวเพลงในจริตของชนชั้นกลาง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีกำลังซื้อมากที่สุดและรายได้สูง ที่จะเห็นถึงลักษณะที่กลางๆ ไม่สุดขั้วออกมาในรูปประนีประนอมปล่อยวางไป ให้ความเจ็บปวดทำร้ายตัวเองและยอมรับสภาพค่อยๆ รักษาจนหาย

ในงานเพลงชุดนี้ เสียงร้องของเจมส์ บลันท์ ดูไม่พยายามเค้นรีดสร้างอารมณ์จนหนืดอืดเหมือนอัลบั้มชุดที่แล้ว ‘All the Lost Souls’ แต่กลับมาสู่ความเป็นธรรมชาติแบบแหบหลบในเจือพร่าโศกในระดับที่อบอุ่นนุ่มทุ้ม ดูจริงจังและจริงใจมากขึ้น

ความพยายามที่จะฮิพ แอนด์ คูล ในโลกของดนตรีพ๊อพร๊อคดูเหมือนจะเป็นปัญหาในเรื่องทัศนคติอยู่ใช่น้อยเช่นกันสำหรับโลกกระแสหลักในดนตรีตะวันตก แต่ในทางกลับกันสำหรับตลาดดนตรีพ๊อพของโลก เจมส์ บลันท์ เลือกทางเดินได้ถูกต้อง

ด้วยที่เป็นคนเขียนเพลงเอง ทำให้จังหวะการร้องและการสร้างอารมณ์ในเพลงผ่านเสียงนุ่มเศร้าแหบปลายภายใต้เสียงเปียโนและกีตาร์ที่หวานสละสลวย รู้สึกได้ถึงความจงใจที่จะเข้าสู่คาบเกี่ยวระหว่างตลาดเพลงอดัลท์ คอนเทมรารี่ ที่เน้นไปในกลุ่มคนฟังเพลงในแนวซอฟท์ร๊อค และพ๊อพร๊อคที่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน

พูดด้วยความเป็นธรรม สำหรับรสนิยมของคนเอเชียตะวันออกไกล อาจจะรวมถึงเอเชียแปซิฟิค และคนไทยด้วยแล้วแล้ว บทเพลงอกหักฟูมฟายดนตรีหวานโศกมีความไพเราะด้วยเมโลดี้ติดหูสวยๆ ท่วงทำนองช้าๆ ท่อนร้องย้ำโดนใจติดหู ก็เพียงพอที่จะตอบรับด้วยดี (จุดนี้ไม่ได้รวมไปถึงแฟชั่นการฟังเพลงตามสมัยนิยมซึ่งเป็นอีกแบบหนึ่ง)
เจมส์ บลันท์ ทำได้ดีในแบบของเขาแล้ว
……….

รายชื่อเพลงทั้งหมดในอัลบั้ม ‘Some Kind of Trouble’ ของ เจมส์ บลันท์

1. Stay the Night
2. Dangerous
3. Best Laid Plans
4. So Far Gone
5. No Tears
6. Superstar
7. These Are The Words
8. Calling Out Your Name
9. Heart of Gold
10. I'll Be Your Man
11. If Time Is All I Have
12. 0.5 วินาที (เสียงแห่งความเงียบ)
13. Turn Me On
>>>>>>>>>>>
………
ฟังมาแล้ว
>>>>>>>>

‘Country Stars’ / รวมนักร้อง-วงดนตรี

คอนเสิร์ตในเทศกาลดนตรีที่เรียกว่า ‘ปีเตอร์โบโร่ห์ อินเตอร์เนชันแนล คันทรี มิวสิค เฟสติวัล’ ในปี 2530 ซึ่งนำศิลปินคันทรีหลากหลายที่อุดมด้วยชื่อเสียงจากอเมริกามาแสดงบนเกาะอังกฤษอาทิ เอ็ด บรูซ, คริส คริสตอฟเฟอร์สัน, จอห์นนี่ แคช, สตีฟ วอริเนอร์ ฯลฯ

พลังทางดนตรีของคันทรีนับได้ว่าเป็นรูปแบบลูกทุ่งของอเมริกันจริงๆ คอนเสิร์ตครั้งนี้ดูแปลกที่แปลกถิ่นกับผู้ชมอยู่พอสมควร แต่ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง คุณภาพการแสดงสดที่ดี ระบบเสียงที่เยี่ยมด้วยความเป็นอะคูสติก ทำให้เพลิดเพลินจำเริญใจจากความสามารถอันเอกอุของศิลปินคันทรีเหล่านี้บนเวที

สะท้อนให้เห็นว่า ทุกอย่างถ้าเป็นตัวตนที่แท้จริงออกมาจากจิตวิญญาณภายในย่อมเป็นของจริงเสมอ ไม่ว่าอยู่ที่ใด

‘The Collection’ / Europe

16 บทเพลงของวงแฮร์เมทัลและพ๊อพเมทัลจากสวีเดน ที่เคยครองโลกดนตรีกระแสหลักในยุคทศวรรษที่ 80 ด้วยบทเพลง 'The Final Countdown’ อันเป็นอมตะและอยู่ในใจของขาร๊อคมาจนถึงทุกวันนี้ วงร๊อคผมยาวหน้าสวยมีความหนักแน่นที่ได้สมดุลกับความสวยทางเมโลดี้ในตัวเพลง เสียงกีตาร์ที่กรีดบาดใจ เสียงคีย์บอร์ดเสนาะก้องกังวานหูที่ปูรองรับบรรยากาศเพลง รวมถึงเสียงร้องที่โหนสูงกระชากใจ เป็นเสน่ห์ที่ครองใจคนยุคนั้น

งานรวมเพลงชุดนี้รวมเพลงฮิตเอาไว้เกือบครบถ้วน อาทิ ‘Prisoners In Paradise’, ‘Rock The Night’, ‘Seven Doors Hotel’, ‘Cry For You’ ฯลฯ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีบทเพลง 'Carrie' ซึ่งฮอตฮิตถูกหูคนไทย และวงร๊อคเล็กๆ ของไทยก็นำมาใส่เนื้อไทยเป็นเพลงของตัวเองจนโด่งดัง

Songbook / Marvin Gaye

นักร้องสายโซล อาร์แอนด์บี ฟังค์ พ๊อพที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลกดนตรี มีพลังเสียงที่หมดจดครบเครื่องเปรียบเสมือนเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง เขาเป็นหนึ่งในผลผลิตของยุคโมทาวน์ที่บทเพลงของนักร้องแอฟริกัน-อเมริกัน ขึ้นเป็นเพลงพ๊อพกระแสหลักในระดับยอดนิยมไปทั่วโลก

15 บทเพลงสุดอมตะคลาสสิคของเขาที่ถูกคัดสรรมาแสดงถึงตัวตนและความอ่อนไหวที่กลั่นออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกในบทเพลงที่เลอเลิศ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีบทเพลงสุดยอดอมตะ ‘what’s going on’ ในอัลบั้มชุดนี้

The Defamation of Strickland Banks / Plan B

ฟังง่าย งดงาม และเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ด้วยเสียงร้องในแนวโซลทางหวานที่เอนไปในแนวโมทาวน์ เร้าอารมณ์และติดหู นับได้ว่าเป็นนักร้องผิวขาวในแนวแร๊พของอังกฤษรุ่นใหม่ที่ทำเพลงในแบบคนแอฟริกัน-อเมริกัน ได้ดี ด้วยอัลบั้มชื่อค่อนข้างยาวที่มีแรงบันดาลใจมาจากนวนิยาย เขาสร้างคอนเซ็ปท์อัลบั้มขึ้นมา และเขย่าดนตรีโซล ฟังค์กี้ อาร์แอนด์บี อัลเทอร์เนทีฟฮิพฮอพ และพ๊อพเข้าด้วยกันอย่างลงตัว 49.58 นาที ที่ฟังยากไม่คุ้นหูแบบรสนิยมอเมริกัน แต่เต็มอิ่มกับรสความคิดดนตรี และเสียงร้อง
……….
ชีพจรดนตรี
>>>>>>>>>>>

BSO-You Can't Stop the Music

ช่วงทศวรรษที่ 1970 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของดนตรีพ๊อพอีกครั้งหนึ่ง มีเพลงพ๊อพเกิดขึ้นมากมาย เพลงยอดนิยมหลายเพลงในยุคนั้น ยังอยู่ในความทรงจำมาจนทุกวันนี้ ศิลปินพ๊อพ หลายคนกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก อาทิ ไดน่า รอสส์, เอลตัน จอห์น, แอ๊บบ้า, เดอะ บีจีส์, สตีวี่ วอนเดอร์ ฯลฯ

คอนเสิร์ตรายการ ‘You Can’t Stop the Music’ เป็นการนำเสนอเพลงยอดนิยมจากยุคดังกล่าว ซึ่งได้เรียบเรียงดนตรีใหม่สำหรับบรรเลงโดยวงออร์เคสตร้าพ๊อพ ขับขานโดย 4 ศิลปินนักร้องและผู้อำนวยเพลงรับเชิญจากอังกฤษ บรรเลงโดยวง Bangkok Symphony Orchestra (BSO)

สำหรับศิลปินนักร้องทั้ง 4 คนคือ Anita Louise Combe เคยรับบทนำในละครเพลงหลายเรื่อง อาทิ Chicago, Saturday Night Fever, Sunset Boulevarde, Les Miserables, Evita, A Chorus Line, CATS

Zoe Birkett มีผลงานในละครเพลง เรื่อง Priscilla Queen of the Desert, Thriller Live

Henrik Wager มีผลงานในคอนเสิร์ตโชว์ทางโทรทัศน์ งานบันทึกเสียงและละครเพลง Jesus Christ Superstar, The Woman in White

Dean Chisnall เคยรับบทเด่นในละครเพลงเรื่อง Evita, The Woman in White, The Phantom of the Opera, Love Never Dies (Andrew Lloyd Webber)

ส่วน John Owen Edwards ผู้อำนวยเพลงรับเชิญ มีความสามารถหลากหลายสไตล์ ทั้งประเภทอุปรากร คอนเสิร์ตเพลงคลาสสิก พ๊อพ และละครเพลง เคยเป็นผู้อำนวยการด้านดนตรีในละครเพลงเรื่อง Annie, Oklahoma!, Evita, Chess, The Phantom of the Opera, A Little Night Music และ The Wizard of Oz ผลงานอำนวยเพลงแบบอุปรากรมีอาทิ เรื่อง The Merry Widow, Die Fledermaus, Orpheus in the Underworld, The Barber of Seville และ La Boheme
Ticket Information

จัดแสดงวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2554 20.00 น. ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หอประชุมใหญ่ รัชดาฯ กรุงเทพมหานคร

บัตรราคา 2,500 บาท 2,000 บาท 1,500 บาท 1,000 บาท และ 500 บาท ซื้อได้ที่ TTM Call Center โทร.0 2262 3456 E-mail : callcentre@thaiticketmajor.com

‘PP & P’ @ แบล็คกี้ สปอร์ต ผับ

เพิ่มสีสันให้คุณได้ผ่อนคลายกับเสียงเพลงที่บรรเลงสดจากวง ‘PP & P’ โดยนักร้องสาวเสียงใส ประพันธ์ศรี รักธรรม และ ปาริชาติ นิตยานนท์ ทุกวันจันทร์ - วันเสาร์ ระหว่างเวลา 19.00 - 24.00 น. กับโปรโมชั่นดราฟเบียร์บุฟเฟต์ เพียงท่านละ 499 บาท++ ระหว่างเวลา 19.00 - 22.00 น. ต่อด้วยซื้อ 1 เหยือก แถม 1 เหยือก ระหว่างเวลา 22.00 - 24.00 น. เพียง 280 บาท++ ณ แบล็คกี้ สปอร์ต ผับ โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอริน ถ.พระรามเก้า กรุงเทพฯ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร 0-2641-4777 ต่อ 1131

Mellow Motif กับ Stories From The Road

หลังจากผ่านงานมาหลายเวที ในที่สุด เมลโลว์ โมทิฟ มีกำหนดขึ้นเวที จุดประกาย คอนเสิร์ต ซีรีส์ # 46 เพื่อสร้างพื้นที่การแสดงออกให้คนดนตรีตัวจริง และเชื่อมโยงคนฟังที่เสพงานดนตรีในแง่มุมของศิลปะให้ได้มาพบกัน

นำเสนอการแสดงดนตรีเต็มรูปแบบให้แฟนเพลงแจ๊ซได้ชื่นชม ด้วยแนวคิด Stories From The Road บันทึกส่วนตัวของเมลโลว์ โมทิฟ บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของศิลปินกลุ่มนี้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น เนื้อหาของบทเพลงในอัลบั้มทั้งสองชุด และประสบการณ์ทางดนตรีที่พานพบ

สำหรับจุดกำเนิดของ เมลโลว์ โมทิฟ เริ่มต้นขึ้นที่เมืองพิตต์สเบิร์ก สหรัฐอเมริกา นำโดย โอ่ง ณัฐชา ปัทมพงศ์ นักร้องนำ และ ยูจีน อัง มือเปียโนชาวสิงคโปร์ โดยมีเพื่อนนักดนตรีมากหน้าหลายตามมาสนับสนุน

โดยภาพรวม เมลโลว์ โมทิฟ คือศิลปินแจ๊ซรุ่นใหม่ของไทยที่นำเสนอความเป็นสากลของดนตรีแขนงนี้ ด้วยอัตลักษณ์แบบเอเชีย วัตถุดิบส่วนหนึ่งนั้น เป็นงานเพลงสแตนดาร์ด (American Standard Songbook) ที่คัดสรรมาด้วยความรักความชื่นชอบส่วนตัว แต่ยังมีเพลงไทยที่นำมาเรียบเรียงใหม่ให้ได้คอนเซ็ปท์ที่ต้องการ เพื่อขยายประสบการณ์และพรมแดนของการฟังดนตรีให้กว้างไกลออกไปยิ่งขึ้น

หากคุณรู้จัก เมลโลว์ โมทิฟ อยู่แล้ว อย่าลืมจัดเวลาไปให้กำลังพวกเขา และหากคุณยังไม่รู้จัก เมลโลว์ โมทิฟ ดีพอ นี่คือคนดนตรีรุ่นใหม่ของไทยที่คุณควรให้โอกาสตัวเองสักครั้ง กับการทำความรู้จักพวกเขา ในห้วงเวลาที่การสร้างสรรค์งานดนตรีกำลังผลิบานอย่างสวยงามเช่นในวันนี้.

จัดแสดงในวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2554 17.00 น. ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หอประชุมเล็ก รัชดาฯกรุงเทพมหานคร

บัตรราคา1,000 บาท 800 บาท และ 500 บาท ซื้อได้ที่ TTM Call Center โทร.0 2262 3456 E-mail : callcentre@thaiticketmajor.com

‘Back to the Future’
พรี-คอลเลจ คอนเสิร์ต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหิดล

เป็นกิจกรรมการจัดดนตรีและการแสดงโชว์ศักยภาพความเป็นเลิศของนักเรียนหลักสูตรเตรียมศิลปินดนตรี (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 4, 5,6 ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือทำงานอย่างจริงจัง ด้วยการลงมือแสดงเอง คิดรูปแบบเอง จัดการเอง โดยแบ่งกระบวนการจัดการเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายการแสดง ฝ่ายดนตรี ฝ่ายฉาก อุปกรณ์ประกอบฉาก เครื่องแต่งกาย การตลาด เทศโนโลยี่สื่อสาร สูจิบัตร สปอนเซอร์ ฯลฯ

ในปีนี้ นักเรียนคิดธีมของคอนเสิร์ตเป็น ‘Back to the Future’ อันประกอบด้วยบทเพลงและการแสดงต่างยุคสมัย ทั้งหมดนี้ถูกเรียงร้อยด้วยเรื่องราวการผจญภัยของนักเรียนกลุ่มหนึ่ง และเนื่องจากนักเรียนเตรียมศิลปินดนตรีมีจำนวนมากและมีสาขาการเรียนที่แตกต่างหลากหลาย การแสดงจึงถูกแบ่งเป็น 2 ชุด

ชุดที่ 1 ‘ตลุยอวกาศ ทะลุจักรวาล ย้อนยุคอีสาน-ไทย’

เด็กนักเรียนมัธยมฯ ดนตรีผู้ซุกซนแอบหนีการเข้าแถวจนไปเจอห้องลึกลับที่นำพาพวกเขาข้ามเวลาทะลุมิติไปถึงจักรวาลอันไกลแสนไกลและกลับมาที่ประเทศสยามสมัยโบราณ ซึ่งจะพาผู้ชมไปรับชมการแสดงดนตรี ทั้งดนตรีไทย ซึ่งแบ่งเป็น ‘จันทรคติ’ การแสดงของวงเครี่องสายที่จะบ่งบอกถึงความเงียบสงบของดวงจันทร์ และ ‘สุริยคติ’ การแสดงของวงปี่พาทย์ที่จะบ่งบอกถึงความร้อนแรงของดวงอาทิตย์

นอกจากนั้นยังมีการบรรเลงในรูปแบบออร์เคสตร้าเต็มวง ที่จะบรรเลงเพลงเกี่ยวกับเรื่องระบบสุริยจักรวาลต่างๆ และการบรรเลงดนตรีไทย ตะวันออกผสมผสานออร์เคสตร้าเต็มวงแบบร่วมสมัยเพลง Earth and Heaven รวมถึงดนตรีอีสานและการแสดงรำเพลินซิ่งอันสนุกสนาน

ก่อนจะส่งท้ายด้วยละครเพลงเรื่อง ‘ตุ๊กตายอดรัก’ พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เรื่องราวของ ‘หลวงกะละมัย’ ผู้มีอาชีพปั้นตุ๊กตาขาย อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อแฉล้ม ลูกสาวคุณหลวงทำตุ๊กตาแตก และความลับของตุ๊กตาที่หลวงวิเชียรรักคืออะไร ละครเพลงเรื่องนี้มีการนำวงดนตรี ‘Thai Tem’ ซึ่งเป็นการผสมผสานดนตรีไทยกับสากลที่เคยได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดรายการคุณพระช่วยมาบรรเลงประกอบ และขับร้องเป็นลูกคู่

ส่วนชุดที่ 2 เป็นการแสดง ‘ล่าวัวกระทิง ชิ่งไปอเมริกา เอฮามิคาโด้’

การเดินทางของเด็กนักเรียนมัธยมฯ ดนตรียังไม่จบลง พวกเขาทะลุมิติ ย้อนเวลาเดินทางไปถึงดินแดนวัวกระทิง และไปถึงประเทศอเมริกาตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้ง จบลงด้วยการตะลุยแดนซากุระ ในชุดนี้จะมีการแสดงดนตรีทั้ง การบรรเลงของวงกีตาร์ ออร์เคสตร้า ในแนวเพลงละตินอเมริกา ร่วมกับลีลาการเต้นแบบลาตินอันเร้าใจ การบรรเลงของวงคอนเสิร์ต แบนด์บรรเลงเพลงในยุคสมัยประวัติศาสตร์ประเทศอเมริกา การแสดงละครเพลงเรื่อง Mikado ของ Gilbert & Sullivan มิคาโดเป็นละครเพลงแนว ตลกขบขัน เสียดสี เจ็บๆ คันๆ เรื่องของพระเอกนักดนตรีชายหนุ่มรูปงามนาม ‘นังกินปู’ ผู้หลงรักสาวงามชื่อ ‘ยำยำ’ และออกเที่ยวตามหาแต่มีอุปสรรคสำคัญคือหล่อนได้หมั้นหมายกับชายในราชสำนักคือ ‘โกโก้’ ไปเสียแล้ว
การแสดงจะมีระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม-3 กันยายน 2554 ที่หอการแสดงวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บัตรราคา 500/750/1,000 และ 1,200 บาท สอบถามโทร.089-999-7977, 081-424-3223
>>>>>>>>>>>

พอล เฮง
paulheng_2000@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น