xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้นำเครือข่ายต่อต้านเมเจอร์” จวกโรงหนังอย่าเอาเปรียบ ถ้าไม่อยากเป็นศัตรูกับคนดู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ผู้นำเครือข่าวต่อต้านเมเจอร์” เปิดใจเหตุขย่มเมเจอร์ สุดทนโดนเอาเปรียบทุกด้าน จวกตั๋วหนังสุดแพงราคาแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน ถ้าอยากดูหนังถูกต้องรออีก 2 สัปดาห์ แถมยังฉ้อฉลเปิดช่องขายตั๋วน้อยลงเพราะต้องการให้คนไปซื้อบัตรเติมเงินดูหนังจะได้ไม่ต้องต่อคิว ซัดโปรโมชั่นลดราคาทุกวันพุธก็ดูไม่ได้ทุกเรื่อง สุดเซ็งต้องมาดูโฆษณานาน 45 นาที ด้านนักวิจารณ์เตือนถ้ายังไม่ปรับปรุง ระวังคนดูจะไปโหลดบิท

หลังจากมีกลุ่มคนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ได้มีการรวมตัวกันก่อตั้ง “เครือข่ายคนรักหนังต่อต้านการโฆษณามหาโหดของโรงหนังเครือเมเจอร์" เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภค เนื่องจากได้รับความไม่เป็นธรรมจากการให้บริการ เพราะ โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ซีเนเพล็กมีการปรับเพิ่มราคาตั๋วเข้าชมภาพยนตร์สูงขึ้นถึง 240 บาทต่อที่นั่ง ซึ่งสูงเกินราคาที่เหมาะสม และยังไม่มีการปิดป้ายแสดงราคาไว้ให้ทราบล่วงหน้ากันอีกด้วย

แถมอาหารและเครื่องดื่มก็ยังมีราคาที่แพงมากกว่าข้างนอกเป็นหลายเท่า มิหนำซ้ำหลังจากที่ควักเงินแทบหมดกระเป๋าซื้อตั๋วเข้าไปเพื่อชมภาพยนตร์ แต่กลับต้องไปนั่งเสียเวลาทนดูหนังโฆษณาสิ้นค้าอีกเกือบเป็นชั่วโมง ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งเป็น Fanpage ขึ้นมาในเฟชบุ๊ค ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม จนถึงปัจจุบันนี้ และมีบรรดาคอหนังและผู้คนที่เคยได้รับผลกระทบจากการใช้บริการของโรงหนังให้ความสนใจเข้าไปกด Like จนยอดสูงถึงเกือบสองหมื่นกว่าคนแล้ว

จนทำให้มีการนำประเด็นนี้ไปตั้งกระทู้ในอินเตอร์เน็ต รวมทั้งสื่อหนังสือพิมพ์,โทรทัศน์ ต่างๆเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นกับเรื่องดังกล่าว และทำให้หน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสคบ. เริ่มที่จะมีปฏิกิริยาขยับตัวร่อนจดหมายแจ้งไปยังโรงภาพยนตร์ต่างๆ ให้มีการดูแลกวดขันเรื่องระยะเวลาการฉายโฆษณาในโรงภาพยนตร์ให้มากขึ้น

แต่ถึงสคบ.จะขยับตัวบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่มีมาตรการออกมาอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าโรงภาพยนตร์ไม่ได้อยู่ในรายชื่อของสินค้าและบริการควบคุม แต่เป็น บริการทางเลือก ด้านโรงหนังเมเจอร์เองก็ได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยจะสร้างโรงหนังราคาถูกขึ้นมาในปี 2555 เพื่อเป็นการลดกระแสการต่อต้าน ในขณะที่โรงหนังเอสเอฟ คู่แข่งออกมาประกาศกร้าวทุบเวลาการฉายโฆษณาเหลือเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น ได้ใจคนดูหนังไปอื้อ
ความขยับตัวของเมเจอร์ดังกล่าว เป็นที่พอใจของเครือข่ายคนรักหนังต่อต้านการโฆษณามหาโหดของโรงหนังเครือเมเจอร์หรือไม่ และเหตุใดทำไมผู้บริโภคตัวเล็กๆ ถึงหาญกล้าลุกขึ้นมาสู้กับโรงหนังที่มีเครือข่ายมากที่สุดในประเทศไทย วันนี้ผู้ก่อตั้ง Fanpage ที่ไม่ประสงค์จะออกนาม จะมาเปิดใจถึงเรื่องราวทั้งหมด

“ฟีดที่ได้นั้นก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ในวันที่เปิด Fanpage ก็ไม่ได้คิดอะไรมากถ้ามีคนกดLIKEสักร้อยสองร้อยคนก็เอาไว้คุยกัน แต่ปรากฏว่าไปๆมาๆ มันขยายวงกว้างจนเป็นหมื่นสองหมื่นแล้ว โดยในสัปดาห์แรกที่เปิดได้ 2-3 วันทางเว็บไซต์พันทิพย์ก็เอาไปตั้งกระทู้คุยกัน หลังจากนั้นทางสคบ. ก็ได้ร่อนจดหมายไปยังโรงหนังต่างๆ ว่าอย่าฉายโฆษณานาน ซึ่งทางโรงหนังเอสเอฟก็ออกมาแถลงว่าโรงหนังของเขามีการฉายโฆษณาไม่เกิน 5 นาที ต่อมาก็เริ่มเห็นหนังสือพิมพ์เริ่มลงข่าวบางเล่มก็เขียนถึงเพจบางเล่มก็ไม่ได้เขียน แต่มีคอลัมน์ที่เว็บไซต์เมเนเจอร์ที่เดียวที่ลงเพจ”

“และก็ยืนยันว่าทั้งหมดที่ผมทำไปมันเป็นความบริสุทธิ์ใจ ปกติผมเป็นคนที่ค่อนข้างชอบการดูหนัง รักหนังดูหนังเยอะมากและเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบดูหนังในทีวีไม่ว่าเคเบิ้ล หรือแผ่นชอบที่จะดูหนังในโรงหนังมันได้อรรถรสมากกว่า ที่ผ่านมาดูหนังเกือบทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นหนังฝรั่งหนังไทย และขอพูดเลยว่าหนังเลวๆเราก็ดูคิดว่ามันเป็นหนังเรื่องหนึ่ง ส่วนสาเหตุที่ทำเพจนี้ขึ้นมาคือผมค่อนข้างรู้สึกว่าโรงหนังโรงหนังที่ผมดูประจำอยู่แถวๆปิ่นเกล้า ราคาค่าตั๋วจะขึ้นตลอดเวลาและรู้สึกว่าเขาตุกติกโปรโมชั่นต่างๆของเขาก็เริ่มตุกติกมาก เช่นดูหนังถูกวันพุธ แต่พอมาวันพุธก็ไม่ได้ดูได้ทุกเรื่องทุกรอบ หนังบางเรื่องก็ไม่เข้าร่วมโปรแกรม อยู่ๆก็ขึ้นราคาตั๋วหนัง”

“อย่างปีที่แล้วหนังเรื่องทไวไลท์กับแฮรี่พอตเตอร์ก็ขึ้นเรื่องละ20 บาท โดยให้เหตุผลว่าเป็นหนังต้นทุนสูงเราเริ่มรู้สึกว่าแล้วยังไงต้นทุนสูงแล้วทางโรงหนังเมเจอร์ไปร่วมลงทุนสร้างกับเขาด้วยเหรอ (หัวเราะ)”

“ที่ทนไม่ได้คือเรื่องโฆษณาก่อนหนังฉายจะมีเยอะมาก อย่างที่เคยไปดูที่เมเจอร์ปิ่นเกล้าโฆษณาเยอะ และค่าที่จอดรถเขาก็คิด ซึ่งจริงๆเขาบอกว่าจอดฟรีสองชั่วโมง แต่ถ้ามีตราประทับจะจอดได้สามชั่วโมงเสีย20 บาท ถ้าเกินไปอีกก็จะเป็นชั่วโมงละ 20 บาท ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์ เพราะสาเหตุที่เราต้องจอดรถนานก็เพราะต้องเข้าไปดูโฆษณาของคุณนี่แหล่ะมันถึงทำให้เราเอารถออกไม่ทันจนต้องเสียเงินค่าที่จอดรถ”

“เมเจอร์บอกต้นทุนสูงขึ้น แต่เท่าที่เห็นตั๋วคุณก็ขายได้แล้วยังได้ค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นมาอีก ในขณะที่เมื่อ 2 ปีก่อนเราดูหนังตัวอย่างประมาณสัก 15-20 นาทีก็ได้ดูหนังแล้ว แต่ปัจจุบันนี้นั่งดูผ่านไป 45 นาที จำได้แม่นเลย (หัวเราะ) แล้วยังไม่ได้ดูหนังเลย เพราะโฆษณาเขาเยอะมากเคยลองนั่งนับดูเล่นๆน่าตกใจมากมีโฆษณาถึง 15 ตัว ก็เลยรู้สึกว่าที่คุณกล่าวอ้างเรื่องต้นทุนสูงไม่ใช่เหตุผลแล้วล่ะ”

“ขนาดช่องเคเบิ้ลยูบีซีเขายังห้ามโฆษณาเลย เพราะว่าเราเสียเงินในขณะที่โรงหนังก็เสียเงินเข้าไปดู แต่ทำไมต้องมีโฆษณาสิ้นค้านานขนาดนี้ในเมื่อคุณได้ค่าโฆษณาเยอะขนาดนี้ในเรื่องราคาตั๋วคุณช่วยตรึงราคาได้ไหม ที่สำคัญที่เคยเจอมาทางเมเจอร์บอกว่าขึ้นราคาตั๋ว 20 บาท แต่ถ้าต้องการจะซื้อตั๋วในราคาเดิมต้องไปทำบัตรเอ็มเจนเนอเรชั่น ซึ่งเสียค่าทำบัตรอีก 50 บาท บัตรนี้ทางเมเจอร์ได้อะไรเขาได้ฐานดาต้าข้อมูลเราทั้งที่อยู่ทั้งอีเมลล์อีกสารพัดแล้วก็จะส่งเมลล์ขยะเมลโปรโมชั่นมาให้ ตรงนี้มีความรู้สึกว่าเมเจอร์ไม่ลงทุนเลยอยากได้ฐานข้อมูลลูกค้าก็ไม่ซื้อ”

“ส่วนวันศุกร์,เสาร์,อาทิตย์ มีช่องขายตั๋วหกเจ็ดช่อง แต่เปิดขายแค่หนึ่งถึงสองช่องและคิวก็ยาวมากๆ จากนั้นก็ให้เซลล์มาขายบัตรเติมเงินแล้วบอกว่าไม่ต้องไปต่อคิวแล้วยังมีการติดประกาศว่าถ้าคุณไม่อยากต่อคิวก็ให้ใช้ช่องทางพิเศษนั่นก็คือซื้อตั๋วพร้อมกับป๊อปคอน ซึ่งราคาไม่ต้องพูดถึงแพงไปอีกเป็นเท่า เขาเล่นแบบนี้อย่างนี้คุณไม่จริงใจกับลูกค้าหรือเปล่า มานั่งคิดคำนวนด้วยตรรกะอะไรหลายๆอย่างมันคงไม่มีเหตุไม่มีผลอะไรแล้วที่เมเจอร์จะบอกว่าไม่ได้ฉ้อฉลกับลูกค้าเริ่มรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คุณเอาแต่ได้อย่างเดียวเมเจอร์เอาเปรียบลูกค้ามาก”

“ตั้งแต่วันแรกที่เราทำเพจขึ้นจนถึงที่ผ่านมาทางด้านโรงหนังเมเจอร์ไม่มีฟีดแบคอะไรมาถึง มีแค่เข้ามาอธิบายผ่านกระทู้เว็บไซต์พันทิพย์ โดยอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องทำแบบนี้ก็เพื่อที่จะให้เป็นมาตรฐานสากลทุกที่ก็ทำแบบนี้เหมือนกันทั่วโลก จากคำอธิบายของเขาต้องบอกว่าปลงอย่างเดียวอย่างเรื่องป็อปคอร์น เมเจอร์ให้เหตุผลว่าเพื่อจะให้ลูกค้ามีประสบการณ์ร่วมไปกับหนัง ประมาณว่าดูหนังเรื่องเอ็กซ์เมนแล้วก็ถือแก้วน้ำที่เป็นรูปหนัง (หัวเราะ)”

“ ส่วนการห้ามนำเครื่องดื่มข้างนอกเข้าไปในโรงหนังก็เป็นกติกาสากลทั่วโลกก็ทำแบบนี้ ค่าที่จอดรถทั่วโลกก็ทำแบบนี้ เขาอ้างว่าเป็นมาตรฐานทั่วโลกทำแบบนี้ก็โอเค (หัวเราะ) แสดงว่าแนวทางแก้ปัญหาคุณก็เป็นแบบนี้ คือสถานที่ที่เราเข้าดูหนังทุกวันนี้คือมาตรฐานโลกนะไม่ควรมาเรียกร้องใดๆทั้งสิ้น แต่เผอิญว่าเราเองก็ไม่เคยไปดูโรงหนังเมืองนอกว่าเขาเป็นแบบนี้เหรอ”

“ที่ผ่านมาเราเป็นผู้บริโภคที่ถูกกระทำรู้สึกอย่างไรก็ใส่ไปตามความรู้สึกบ้านๆของเรา ทำในเครือข่ายออนไลน์และขอยืนยันว่าการทำเพจครั้งนี้ไม่มีนักธุรกิจ นักการเมือง องค์กรเอกชน ไม่มีใครเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้นเป็นผู้บริโภคที่ชอบการดูหนังล้วนๆยืนยันได้ ช่วงหลังๆเริ่มมีคนมาโจมตีว่าทำไมไม่ด่าโรงหนังเอสเอฟบ้าง หรือว่าโรงหนังเอสเอฟเป็นคนที่ทำเพจนี้ ถ้าจะพูดกันแบบนี้ต้องบอกก่อนว่าเมเจอร์มีตลาดโรงหนังมากกว่าแปดสิบเปอร์เซ็น ฉะนั้นเวลาที่จะดูหนังเขาก็เริ่มกันที่เมเจอร์และเท่าที่สัมผัสมาอย่างโรงหนังเอสเอฟจะไม่เคยเจอเรื่องการตุกติกมากมายเหมือนโรงหนังเมเจอร์ที่ยิ่งรวยยิ่งตุกติก”

“อยากที่จะย้อนถามด้วยซ้ำว่าทุกวันนี้เมเจอร์ร่ำรวยมาขนาดนี้ได้ทำกิจกรรมอะไรเพื่อประโยชน์แก่สังคมบ้าง มีแต่ว่ามากอบโกยหาเงินหาทองอย่างเดียว โดยวัตถุประสงค์ที่เราทำเพจนี้ขึ้นมาไม่ใช่ว่าจะให้เมเจอร์เจ๊ง แต่ต้องการแค่ว่าอยากให้เขาปรับปรุงพฤติกรรมมีความจริงใจให้กับลูกค้าในเรื่องของโปรโมชั่น”


เรียกร้องให้เมเจอร์ตรึงราคาตั๋วห้ามขึ้นราคา 3 ปี และลดโฆษณาเหลือแค่ 3 นาที

“อย่างแรกเลยเราได้มีการแถลงการณ์จดหมายเปิดผนึกไปยังสคบ.แล้วประมาณ4-5ข้อ คือข้อแรกเรื่องที่ว่าจะให้ทางเมเจอร์ลดราคาตั๋วคิดว่ายาก เพราะสินค้าโดยธรรมชาติถ้าขึ้นแล้วคงลงยากฉะนั้นสิ่งแรกที่เราอยากให้เขาทำก็คือลดเวลาโฆษณาลง สินค้าแต่ละตัวให้ใช้เวลาแค่ 3 นาที เราเรียกร้องก็คล้ายๆ พันธมิตรแหละ เริ่มจากมากไปก่อนเพื่อต่อรอง แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องของการโฆษณาในโรงหนังนั้นไม่ควรมี เพราะเราเสียเงินเข้าไปดูแล้ว”

“จากนั้นควรที่จะออกมากำหนดว่าในระยะเวลาต่อไป 2-3 ปีนี้ทางเมเจอร์จะไม่ขึ้นราคาตั๋วอีกแล้ว เพราะราคาในปัจจุบันนี้ก็เกินที่จะรับแล้ว อย่างที่สองอยากที่จะให้สคบ.ออกมาบอกเลยว่าเขาสามารถที่จะจัดการอะไรกับทางเมเจอร์ได้ไหมในเรื่องของป็อปคอนเมเจอร์มีสิทธิ์กำหนดราคาไหม ถ้าสคบ.บอกเมเจอร์มีสิทธิ์ก็ไม่เป็นไรให้เขามีสิทธิ์ไป”

“แต่ในเรื่องการที่จะห้ามคนเอาของเข้าไปกินในโรงหนังได้ไหม ถ้าเขาบอกว่าทำได้อีกทางเราก็คงต้องถามทางสคบ.บ้าง แล้วอย่างนี้จะดำเนินการอย่างไรในการช่วยเหลือผู้บริโภค เพราะสำนักงานนี้ตั้งมาเพื่อที่ช่วยเหลือผู้บริโภค แต่เมื่อผู้บริโภคเดือดร้อนขนาดนี้แล้วช่วยอะไรไม่ได้เลยจะให้ช่วยคิดไหมว่าต้องทำอย่างไรแก้กฎหมายหรืออะไรต่างๆ หรือจะต้องให้เราไปยื่นคำร้องกับศาลผู้บริโภคเอง ฉะนั้นในตอนนี้คงต้องรอคำตอบจากทางสคบ.ก่อนว่าจะยังไง แต่เห็นว่าตอนนี้ทางโรงหนังเมเจอร์เองเขาก็ปรับเวลาลงมาแล้วเหมือนกันประมาณ 25 นาที โดยส่วนตัวก็ค่อนข้างที่จะโอเคระดับหนึ่ง แต่ว่าเท่าที่ไปเช็คดู 25นาทีก็คือเป็นการลดหนังตัวอย่างลง แต่โฆษณาก็ยังเหมือนเดิม (หัวเราะ)”

“สำหรับเรื่องการฟ้องร้องถามว่ากลัวไหมบอกตามตรงไม่รู้ว่าเขาคิดยังไง แต่เราเป็นแค่ผู้บริโภคบริสุทธิ์ใจไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ทุกอย่างมันมาจากข้อมูลที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ เจอมาทั้งนั้น ถ้าเจ้าของคิดที่จะเป็นศัตรูกับผู้บริโภคก็คงต้องรอดูว่าผลจะเป็นยังไง”

“และบอกเลยว่าสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่จะให้เมเจอร์เจ๊งอยากที่จะให้เขาปรับปรุงปรับความเข้าใจกับผู้บริโภคอยากให้เมเจอร์เมตตาธรรมกับลูกค้าบ้างดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมมาอภิบาล อย่าทำทุกอย่างเพื่อที่จะล้วงเงินในกระเป๋าลูกค้าอย่างเดียว แต่ถ้าหลังจากนี้สมมุติว่าทางเมเจอร์ไม่มีมาตรการปรับอะไรตรงนี้คิดว่ากระแสสังคมคงจะลงโทษเขาเอง แต่ว่าจะมากน้อยแค่ไหนก็ต้องยอมรับ”

นักวิจารณ์หนัง จวก “เมเจอร์” ทำอะไรต้องให้ชัดเจนราคาค่าตั๋วจะถูกจะแพงเลือกเอาสักอย่าง
ด้าน “อภินันท์ บุญเรืองพะเนา" คอลัมน์นิสต์เขียนวิจารณ์หนังให้กับเว็บไซต์เมเนเจอร์ และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน แล้วยังเป็นนักดูหนังตัวยง ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มองว่าทุกวันนี้ราคาค่าใช้จ่ายในการไปดูหนังนั้นแพงเกินไปแล้วจนบางครั้งทำให้เจ้าตัวต้องกลับมาคิดหนักหากจะต้องออกไปดูหนังสักหนึ่งเรื่อง
“ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาทิตย์หนึ่งอย่างน้อยต้องดูหนังถึงสองสามเรื่อง แต่เดี๋ยวนี้ต้องลดลงแล้วเพราะเหตุที่ว่าเรื่องค่าใช้จ่ายเรารู้สึกว่าการไปดูหนังแต่ละครั้งมันกินเงินในกระเป๋าเราค่อนข้างเยอะสำหรับหนังเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นปัจจัยหลักคือเรื่องราคาค่าตั๋ว อย่างน้อยที่สุดถ้ามันจะแพงก็ขอให้มันแพงไปเลยชัดๆ ประกาศมาเลยว่าโรงหนังต้องการแบบนี้ราคาเท่านี้หนังต่างประเทศราคาเท่านี้ หรือถ้าเป็นซับไทยราคาเท่าไหร่ให้มีความชัดเจนไปสักเรื่อง”

“อย่างล่าสุดที่ผมไปดูมีหนังต่างประเทศเรื่องไพเรทส์ ออฟ เดอะ คาริบเบียน ซับไทยราคา 180 บาท แต่พอมาถึงเรื่อง ซุปเปอร์เอท ซับไทยเหมือนกัน แต่ราคา 160 บาท แล้วถามว่ามาตรฐานของโรงหนังเขาอยู่ที่ตรงไหน อีกเรื่องที่ต้องพูดก็คือเรื่องค่าขนม ค่าน้ำ ค่าป็อปคอน ตรงนี้เราน่าจะพบกันครึ่งทางเข้าใจถ้าเราเป็นเจ้าของบ้านเป็นเมเจอร์ก็ไม่อยากให้คนเอาของข้างนอกเข้าไปกิน เพราะโรงหนังก็มีบริการอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันทางเมเจอร์ก็ควรพิจารณาเรื่องของราคาด้วยไม่ใช่ตั้งราคาโหดมากเกินไปมันดูเกินจริงมากไปหน่อย”

“จนในที่สุดก็เกิดกลุ่มคนที่ทนไม่ได้กับสิ่งเหล่านี้ และร่วมตัวกันร้องเรียนซึ่งเท่าที่ติดตามข่าวรู้สึกว่ามีความสมเหตุสมผลนะที่จะมีคนออกมาพูดอะไรแบบนี้ เพราะว่ามันเป็นความเจ็บปวดที่สะสมบ่มเพาะมาเป็นเวลาอันยาวนาน โดยที่ตัวเองรู้สึกว่าเป็นผู้ถูกกระทำตลอดเวลา จากการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องราคาค่าตั๋วมันเหมือนเป็นเรื่องที่เอาแต่ใจเอามาตรฐานตัวเองมากเกินไปไม่ได้ดูที่หัวจิตหัวใจของคนดูหนังเลย”

“โหลดบิท” ทางเลือกของคนที่ไม่เข้าโรงหนัง
ในขณะที่โรงภาพยนตร์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ ต่างเรียกร้องให้ผู้บริโภคมีจิตสำนึกในการเป็นผู้ดูที่ดี อย่าซื้อเทปผีซีดีเถื่อน อย่าโหลดหนังในอินเตอร์เน็ต แต่ในขณะเดียวกันราคาค่าตั๋วหนังกับแพงหูฉี่ แถมเสียเงินเข้าไปแล้วยังต้องเสียเวลานั่งดูหนังโฆษณาจนเสียอารมณ์ แต่ถ้าอยู่บ้านนั่งโหลดบิทคลิกกิ๊กเดียวได้หนังเรื่องเดียวกันมาดู แถมไม่มีโฆษณามากวนอารมณ์เงินในกระเป๋าก็ยังอยู่ครบ เช่นนี้ก็คงไม่แปลกที่คอหนังจะหันใช้ทางเลือกใหม่ด้วยการโหลดบิท

“ต้องบอกก่อนเลยว่ายิ่งนับวันโรงหนังก็ยิ่งผลักคนดูออกไปจากตัวเองมากยิ่งขึ้น และผมพูดได้เลยว่าวันข้างหน้าโรงหนังอาจจะเจ๊งอาจจะอยู่ไม่ได้เหมือนกับที่ธุรกิจแผ่นซีดี แผ่นเพลง นั้นล้มมาแล้วสักพักหนึ่งโรงหนังอาจเป็นแบบนั้น ถ้ายังไม่มีมาตรฐานที่ดีพอไม่มีความชัดเจน เดี๋ยวนี้คนดูหนังเขามีทางเลือกใหม่ เขาอาจจะไปโหลดบิทดูในอินเตอร์เน็ตก็ได้ แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีใครอยากทำหรอก เพราะหนังบางเรื่องต้องบอกว่าโหลดดูก็เสียดายเวลาโหลด”

“ถ้าโรงหนังเมเจอร์ยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจำนวนคนที่เจ็บปวดจากการดูหนังโรงจะเพิ่มขึ้น แล้วมันจะสะสมเป็นความอัดอั้นตันใจคนเหล่านี้จะค่อยๆ เข้ามารวมกลุ่มกันจำนวนคนจะขยายตัวมากขึ้นๆ และถ้าวันหนึ่งคนพวกนี้เลิกเข้าไปดูหนังซะสมมุติมีจำนวนคนหนึ่งแสนโรงหนังก็มีผลกระทบแล้ว ฉะนั้นถ้าคนกลุ่มนี้หายไปรายได้ของเมเจอร์จะเป็นอย่างไรไม่ต้องคิดเลยในตอนนี้หนึ่งหมื่นคนก็อาจยังไม่คิดอะไร แต่ก็เกิดการสั่นคลอนไม่น้อย และถ้าเป็นหนึ่งแสนตนก็มีผลแล้ว”

“เมเจอร์มีสิทธิ์ที่จะไม่ต้องมานั่งตามใจผู้บริโภคทุกอย่างก็ได้ แต่ว่าลองไปนั่งพิจารณาดูว่าเราจะสร้างระบบที่จะเป็นมาตรฐานยังไง เพราะในเรื่องของโรงหนังเขามันดีอยู่แล้ว แต่ในแง่ของการให้บริการหรือเรื่องของราคาต่างๆลองใช้สติคิดดูว่ามาตรฐานจริงๆควรจะเป็นยังไงแล้วประกาศออกมาเป็นข้อๆไม่จำเป็นต้องไปเอาใจเหตุผลที่เขาเรียกร้องหรือต่อต้านมาก็ได้ แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะสร้างระบบของเรายังไงให้มันเป็นที่พออกพอใจสำหรับคนที่เขารู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ”

กำลังโหลดความคิดเห็น