xs
xsm
sm
md
lg

“21”...พลัง“อะเดล” เธอแรงจริง แบบไม่ต้องพึ่งพิง “เซ็ก”!?!/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)

“เลดี้ กาก้า”

ว่ากันตามเนื้อผ้าแล้วเธอเป็นนักร้องที่เก่งคนหนึ่ง แต่ประทานโทษ!!! ด้วยความที่เธอเน้นขายเซ็ก ขายความเพี้ยนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ทำให้ความสามารถของเธอถูกรัศมีด้านเซ็กบดบังไปพอตัว

ตรงข้ามกับ“อะเดล”นักร้องสาวชื่อก้องที่มาแรงควบคู่กัน ซึ่งจากข่าวระบุว่าเธอไม่ต้องการขายเซ็ก(ซี่)แต่อย่างใด พร้อมกับมีประโยคเด็ดจากปากของเธอออกมาว่า

"นั่นมันไม่ใช่แนวเพลงของฉัน ฉันไม่ได้ทำเพลงมาให้ใครดู ฉันทำมาให้ฟัง"

อย่างไรก็ดีในเรื่องนี้ มีนักเลงคีย์บอร์ดบางคนแซวว่า หุ่นอวบๆอย่างเธอไม่น่าจะขายเซ็กได้ แถมเธอยังเป็นคนที่แต่งตัวจัดว่าเชยคนหนึ่ง ในขณะที่บางคนก็โต้ว่า ถ้าอะเดลไปเข้าฟิตเนส เข้าคอร์สลดหุ่น(อย่างหนัก) เธอจะเป็นนักร้องหญิงที่ดูดีมากคนหนึ่ง สามารถขายเซ็กได้สบาย เพราะหน้าตาหวานซึ้ง ปนโศกของเธอดูมีเสน่ห์กว่านักร้องหญิงที่เน้นขายเซ็กหลายๆคนเสียอีก

สำหรับผมการที่อะเดลไม่คิดจะขายเซ็กนะดี(มากๆ)แล้ว ส่วนถ้าวันใดเธอเกิดหลงคิดผิดไปขายเซ็ก ไม่รู้ว่าจะออกน่าดูหรือดูไม่จืดกันแน่ เพราะทุกวันนี้ลำพังแค่เธอขายพลังเสียงขายความสามารถทางด้านดนตรีก็โด่งดังแบบฉุดไม่อยู่แล้ว เพราะอะเดลถือเป็นนักร้องที่มีพรแสวงและพรสวรรค์สูงมากคนหนึ่ง โดยเฉพาะกับเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอนั้นถือว่ายอดเยี่ยมกระเทียมเจียวมากเลยทีเดียว

“อะเดล”(Adele) หรือชื่อเต็ม “อะเดล ลอรี บลู แอดคินส์” (Adele Laurie Blue Adkins) เป็นนักร้องสาวชาวอังกฤษ ลืมตาขึ้นมาดูโลกเมื่อ 5 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1988

แม้อะเดลจะไม่ได้มาจากครอบครัวนักนักร้อง นักดนตรี แต่เธอก็ชื่นชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก พร้อมกับค้นพบตัวเองว่าโตขึ้นจะต้องเป็นนักร้องให้ได้ สมัยเป็นนักเรียนเธอฝึกเล่นคลาริเน็ตเพื่อที่จะได้เข้าไปร่วมเป็นนักร้องในวงประสานเสียง จากนั้นเธอก็ฝึกฝนร้องเพลงอย่างหนักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้วันนี้ที่โด่งดังเป็นพลุก้องฟ้า อะเดลก็ยังคงทุ่มเทให้กับร้องเพลงอยู่ไม่สร่างซา โดยเธอเล่าว่า ถึงวันนี้ยังคงฝึกซ้อมร้องเพลงในห้องน้ำอยู่เลย เพราะนี่มันเป็นทั้งอาชีพ งานอดิเรก และสิ่งที่เธอใช้สื่อสารกับคนอื่นๆ

พื้นฐานดนตรีของอะเดลมาจากแนวเพลงที่หลากหลายและแตกต่าง เธอนิยมชมชอบในนักร้อง นักดนตรีทั้งรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ อาทิ จิล สก็อต, เอตตา เจมส์, บิลลี แบร็ก, เพ็กกี ลี, เจฟ บักลีย์ และ The Cure เป็นต้น

อย่างไรก็ดีอิทธิพลทางดนตรีที่อะเดลได้รับมาอย่างสูงมาจากดนตรีอาร์แอนด์บีและโซล เมื่อแรกเข้าวงการ ด้วยพลังเสียงอันยอดเยี่ยมทำให้อะเดลเป็นนักร้องถูกจับตามองมากคนหนึ่ง

ปี 2004 อะเดลปล่อยซิงเกิ้ลแรก "Hometown Glory" ออกมา ได้รับเสียงตอบรับทั้งจากแฟนเพลงและนักวิจารณ์ในอังกฤษเป็นอย่างดี ไต่อันดับขึ้นไปอยู่ลำดับที่ 32 ในชาร์ตเพลงอังกฤษ(UKชาร์ต) ต่อมาในปลายปี 2007 สื่อมวลชนและผู้ทรงวุฒิทางดนตรีทั่วสหราชอาณาจักรโหวตให้เธอได้รับรางวัล Critic’s Choice หรือรางวัลขวัญใจนักวิจารณ์ของสถาบัน Brit Awards ไปครอง
อัลบั้ม 19
ตามมาในปี 2008 เธอส่ง “19” อัลบั้มแรกในชีวิตออกมา อัลบั้มนี้ตั้งชื่อตามตัวเลขอายุที่เธอไม่อายที่จะบอกใครว่าปีนี้ฉันอายุเท่าไหร่แล้ว(แต่ถ้าเมื่อโตขึ้นเป็นสาวใหญ่ ไม่รู้ว่าเธอจะยินดีบอกหรือเปล่า?)

19 เปรียบเสมือนเหมือนบันทึกส่วนหนึ่งของชีวิตอะเดล มีซิงเกิ้ล “Chasing Pavements” เป็นเพลงดังไฮไลท์ ว่าด้วยเรื่องความรักอันผิดหวังเพราะถูกคนรักนอกใจ ซึ่งเธอเปิดเผยว่าเพลงนี้ แต่งขึ้นจากความรู้สึกและประสบการณ์ตรง เมื่อพบว่าคนรักที่คบหากันมาได้ 6 เดือนนอกใจ เธอจึงไปหาเขาที่บาร์ในช่วง 6 โมงเช้าของวันหนึ่ง และเข้าไปตั๊นหน้าแฟนหนุ่มกลางบาร์(ช่างกล้าดีแท้) ก่อนที่ตัวเองจะถูกโยนออกมา(ซะงั้น)

อะเดล นำความรันทดครั้งนี้มาเขียนเนื้อร้องทำนองแต่งเป็นเพลง Chasing Pavements ขึ้นมา กลายเป็นเพลงฮิตหลังจากปล่อยออกมาไม่นาน พร้อมกันนี้อัลบั้มแรกอย่าง 19 ยังสร้างชื่อแจ้งเกิดให้อะเดลโด่งดังไปทั่วโลก 19 หนุนส่งให้เธอ คว้ารางวัลแกรมมี่มาครองได้ 2 รางวัล คือ รางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม(Best New Artist) และ รางวัลเพลงป็อบจากนักร้องหญิงยอดเยี่ยม(Best Female Pop Vocal Performance) จากบทเพลง Chasing Pavements อันลือลั่น

เส้นทางดนตรีของอะเดลหลังประสบความสำเร็จอย่างสูงล้นในชุด 19 ถูกตอกย้ำอีกครั้งในปีนี้ด้วย “21” สตูดิโออัลบั้มที่สองในสังกัด Warner Music ที่มาในมุกเดิมคือตั้งชื่อตัวเลขอัลบั้มตามวัยของเธอ(แต่ปัจจุบันเธออายุ 23 ปี)

หากอัลบั้ม 19 ทำให้อะเดลโด่งดังเป็นพลุ 21 ก็ทำให้อะเดลโด่งดังเป็นระเบิดสะเทือนเลื่อนลั่น ทำสถิติครองอันดับหนึ่งในชาร์ตเพลงอังกฤษต่อเนื่องกันถึง 16 สัปดาห์ ครองบัลลังก์อันดับหนึ่งในบิลบอร์ดชาร์ตอยู่เกือบ 10 สัปดาห์ ก่อนเพิ่งถูกเจ๊เลดี้ กาก้า เบียดตกบัลลังก์ไปเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนซิงเกิ้ลแรกใน 21 อย่าง Rolling in the Deep ก็ติดลมบนครองอันดับหนึ่งในชาร์ตบิลบอร์ดเพลงดังมายาวนานหลายสัปดาห์ แม้กระทั่งวันนี้ก็ยังเป็นเบอร์หนึ่งอยู่
อัลบั้ม 21
บนชื่อเสียงความสำเร็จของ 21 มีความจริงในเรื่องฝีมือการเขียนเพลง การทำเพลง และเสียงร้องอันยอดเยี่ยมของเธอการันตีอยู่ โดยมีโปรดิวเซอร์ยอดฝีมือมากหน้าหลายตามาร่วมด้วยช่วยกัน อย่าง Paul Epworth, Ryan Tedder, Eg White และ Rick Rubin

21 เนื้อหาโดยรวมว่าด้วยเรื่องราวความรัก(ของเธอ)ที่ผิดหวัง นำเสนอออกมาในแนวทางเฉพาะตัว ทั้งในแง่ดีแง่ร้ายแบบไม่โหล หากแต่แฝงความกึ๋นและมุมมองความคิดอันคมคายในแบบของเธอไว้ ในภาคดนตรีที่ฟังลึกขึ้น ซับซ้อนขึ้น และมีมิติมากกว่าขั้นกว่าชุดแรก ผ่านเสียงร้องอันทรงพลัง ทรงเสน่ห์ และเข้าถึงจิตวิญญาณของเธอ ยืนพื้นอยู่บนฐานความเป็นโซล บลูส์ แจ๊ซ พร้อมมีสัดส่วนของความเป็นป็อบผสมผสานเจือลงไปมาก-น้อย ตามแต่คอนเซ็ปต์ของแต่ละเพลง ร่วมกับภาคดนตรี

อัลบั้มนี้เปิดนำด้วยซิงเกิ้ลยอดฮิต “Rolling in the Deep” ขึ้นต้นด้วยกีตาร์โปร่งตีคอร์ดดิบๆ ก่อนอะเดลจะส่งน้ำเสียงโซลบาดลึก เข้ามาตอกย้ำในเนื้อหาเพลงเจ็บช้ำรันทดจากการกระทำของคนรัก ในสไตล์ดนตรีโซลป็อบ เริ่มมาจากภาคดนตรีบางๆ ก่อนจะเติมความเข้นข้นใส่เข้าไปเรื่อยๆในจังหวะสนุกๆ มีเปียโนเคาะคีย์ย้ำตัวโน้ตคลอคู่ไปกับเบส-กลองที่เล่นคุมจังหวะกันแบบแน่นๆ พร้อมกับเสียงร้องประสานที่มาเป็นช่วงช่วยเติมสีสันอารมณ์เพลงให้น่าฟังมากขึ้น

เพลงนี้แม้จะมาในจังหวะสนุกๆแต่ทั้งเนื้อหาและเสียงร้องของอะเดลที่ถ่ายทอดออกมานั้น ผมฟังแล้วมันเจือความเศร้า(ปนแค้น)อยู่ในที

“Rumour Has It” เล่นนำมาด้วยเสียงกลองดังๆ กับเสียงประสานที่ร้องควบตามมา ก่อนส่งให้อะเดลโชว์เสียงร้องติดกลิ่นแจ๊ซนิดๆ จากนั้นจึงเป็นการส่งเข้าเพลงในจังหวะมันต่อเนื่องอารมณ์จากเพลงแรก

เสน่ห์ของเพลงนี้นอกจากพลังเสียงของอะเดลแล้ว ยังอยู่ที่กลุ่มเสียงประสานและซาวดน์ออกแนวย้อนยุค พร้อมด้วยลูกเล่นตบมือประสานไปกับเสียงกลอง ช่วงครึ่งหลังของเพลงนี้มีการสลับอารมณ์ด้วยช่วงเปลี่ยนพาร์ทเข้าสู่โหมดช้าเนิบนาบ กระชากความสนุกทิ้ง เปลี่ยนเข้าสู่ห้วงหวานเศร้ามีเปียโนกับเครื่องสายบางๆเล่นคลอเคล้าไปกับเสียงร้อง ก่อนส่งเข้าสู่อารมณ์สนุกแบบตั้งต้นอีกครั้ง

“Turning Tables” บัลลาดช้าๆที่อะเดลถ่ายทอดน้ำเสียงทรงพลังร้องเคียงคู่ไปกับเสียงเปียโน โดยมีภาคเครื่องสายเล่นไลน์สวยๆ หยอดเติมเป็นสีสันในแถวสองได้อย่างยอดเยี่ยม และฟังเศร้าในอารมณ์อีกแล้ว

“Don't You Remember” เพลงช้าติดกลิ่นป็อบ มีกีตาร์เล่นลูกลิคสอดแทรกเติมสีสันไปตลอด ส่วน “Set Fire to the Rain” เร่งจังหวะให้กลับมาสนุกกระชับอีกครั้ง กับภาคดนตรีที่อวลไปด้วยเสียงเครื่องสายอันหนาแน่น แล้วต่อกันด้วย “He Won't Go” มาในจังหวะกระตุกๆติดลูกฟังก์นิดๆ

ด้าน “Take It All” เธอโชว์พลังเสียงร้องปนเศร้า เคียงคู่ไปกับเปียโนตัวเดียวได้อย่างบาดลึกกินอารมณ์ เป็นอีกหนึ่งเพลงที่ฟังแล้วจับใจในน้ำเสียงของเธอไม่น้อยเลย

“I'll Be Waiting” ดึงอารมณ์ขึ้นมาให้ฟังสนุกขึ้น เป็นโซลจังหวะกระชับมันๆ มีเสียงของเครื่องเป่าแน่นๆมาช่วยเติมแต่งสร้างสีสันอารมณ์เพลง

จากนั้นอารมณ์เพลงของ 21 นับแต่ช่วงนี้ไปจนจบอัลบั้ม ยิ่งมายิ่งหม่นเศร้า เพราะอะเดลเธอตอกย้ำความโหยหากันกับ 2 เพลงเศร้าอย่าง “One and Only” เพลงรักเท่ๆที่ไม่ใช้คำว่ารักอยู่ในเนื้อเพลงเลย แต่ฟังรู้ได้ไม่ยากว่านี่คือเพลงรัก และ “Lovesong” เพลงช้าๆในกลิ่นสมูธแจ๊ซที่เสียงกีตาร์เล่นลอยโดดเด่นนำมา แล้วปิดท้ายกันด้วย “Someone Like You” ซิงเกิ้ลที่ 2 ที่มาแรงเอาเรื่อง

Someone Like You อะเดลร้องกับเปียโนเพียงตัวเดียว แสดงให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมของน้ำเสียง ที่สำคัญคือเรื่องการถ่ายทอดอารมณ์เธอทำออกมาได้ชนิดผมฟังแล้วรู้สึกเศร้าโหยหาตามไปด้วย

11 เพลงของอัลบั้ม 21 ผ่านพ้นไป แต่เพลงในอัลบั้มนี้ยังไม่หมด ยังมีโบนัสแทร็ค 3 เพลงในเวอร์ชั่นไลฟ์อะคูสติคแถมให้ฟังกันอีกกับ “Turning Tables”,” Don't You Remember” และ “Someone Like You”

และนี่ก็คืออัลบั้ม 21 งานเพลงดังๆดีๆที่มีล้นรางวัลแกรมมี่ อีกทั้งยังตอกย้ำในแนวคิดของอะเดล ถึงการทำเพลงออกมาให้ฟังโดยไม่หวังที่จะโด่งดังจากการขายเซ็กแต่อย่างใด ส่วนที่โด่งดังอยู่ในทุกวันนี้นั้น มันมาจากน้ำเสียงอันยอดเยี่ยมและความสามารถเพียวๆ ชนิดที่ถ้าเธอยังคงเส้นคงว่ากับการทำเพลงแบบนี้ไว้ ไม่ว่าในอนาคตต่อไปเธอจะออกอั้ลบั้ม 25,29,31,37,41 หรือ 45 ผมก็เชื่อว่าเธอยังคงได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงอยู่ไม่เสื่อมคลาย

****************************************

คลิกฟังเพลง Rolling in the Deep ของอะเดล
****************************************

คอนเสิร์ต

เทศกาลแข่งขันกีต้าร์เอเชียนานาชาติ

โรงแรมสยามซิตี ร่วมกับ ชมรมกีต้าร์ไทย และ วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ชวนชม “เทศกาลแข่งขันกีต้าร์เอเชียนานาชาติ 2011” (Asia International Guitar Festival and Competition 2011) พร้อมคอนเสิร์ตจากมือกีตาร์มากฝีมือ ระหว่างวันที่ 16-19 มิถุนายน 2554 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ โรงแรมสยามซิตี

สำหรับเทศกาลในปีนี้ ประกอบด้วยการแข่งขันกีตาร์ระดับยุวชน และระดับผู้ใหญ่ ผู้ชนะการแข่งขันจะมีสิทธิเลือกกีต้าร์ที่ทำขึ้นเป็นพิเศษจากนักทำกีต้าร์ระดับโลก และในปีนี้กิจกรรมจะประกอบด้วยการสอนกีตาร์จากระดับอาจารย์ นิทรรศการกีตาร์ พบปะกับตัวจริงของนักทำกีต้าร์ฝีมือยอดเยี่ยม การแข่งขัน และคอนเสิร์ตที่หาชมยาก จากนักกีต้าร์ชื่อดังจากนานาประเทศ อาทิ สาธารณรัฐเชค คิวบา/คอสตาริก้า ญี่ปุ่น เกาหลี ยูเครน/อังกฤษ อิตาลี สหรัฐอเมริกา/โปแลนด์ ฟิลิปปินส์ เยอรมัน และไทย ฯลฯ

ส่วนรอบการแสดงของคอนเสิร์ตมีดังนี้

-16 มิ.ย. 54 / 16:00 น. / คอนเสิร์ตของ มอนชิ คาร์ปิโอ จากฟิลิปปินส์ กับ อาเลซซิโอ มอนติ จากอิตาลี
20:00 น. / คอนเสิร์ต “สแปนนิช ไนท์” ของ อาจารย์ธนา สืบศิริ จากไทย และ มาเรียดูโอ จากญี่ปุ่น& ซีนริคซ์ดูโอ จากเยอรมัน

-17 มิ.ย. 54 / 20:00 น. / คอนเสิร์ตของ โทโมโนริ อาไร จากญี่ปุ่น

-18 มิ.ย. 54 / 16.00 น. / คอนเสิร์ต วงกีต้าร์-แมนโดลินออร์เคสตร้า Kaizuka Guitar Mandolin Ensemble จากประเทศญี่ปุ่น และ วงกีต้าร์ออร์เคสตร้าจาก Philippine Guitar Ensemble จากประเทศฟิลิปปินส์
20:00 น. / คอนเสิร์ตของ พาเวล ชไตดัล จากสาธารณรัฐเชค

-19 มิ.ย. 54 / 20:00 น. / คอนเสิร์ตของ จอร์ช หลุยส์ ซาโมร่า ศิลปินกีต้าร์มือรางวัลระดับโลก จากคิวบา

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถจองบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตได้ในราคา 300 บาท ที่ 02-247-0123 ต่อ 1928 และ 1944 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.thailandguitarsociety.com
กำลังโหลดความคิดเห็น