สิ้นสุดการรอคอยเรียบร้อยโรงเรียนประวัติศาสตร์ไทยกันไปแล้ว สำหรับตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 “ยุทธนาวี” โดยการกำกับของท่านมุ้ย-มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หลังจากใช้เวลาฟูมฟักบ่มเพาะแบบทิ้งช่วงห่างจากภาค 2 นานพอสมควร จนหลายคนเกือบๆ ลืมไปแล้วว่าหนังเรื่องนี้จะมีภาค 3 ตามออกมาอีก
อย่างเกรงว่าคนดูผู้ชมจะต้องนั่งระลึกชาติกันไม่ออกว่าเนื้อหาในภาคที่แล้วจบลงที่ตรงไหน จุดเริ่มต้นของ “นเรศวร 3” จึงปูพื้นคนดูด้วยภาพที่ตัดมาจากภาค 1 และ 2 แบบคร่าวๆ เป็นการย้อนเหตุการณ์เรื่องราวแบบพอจับใจความได้ ก่อนจะตัดเข้าสู่เนื้อหาภาคยุทธนาวีที่บอกเล่าสถานการณ์ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศได้พาคนไทยและเหล่าเชลยรอนแรมกลับกรุงศรี ภายหลังประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และสังหารสุระกำมาเหนือยุทธภูมิริมฝั่งแม่น้ำสะโตง
อย่างไรก็ตาม เส้นทางนับจากนี้ของกรุงศรีอยุธยาก็ดูจะมีแต่ความยุ่งยากมากขึ้นกว่าเดิม เพราะนอกจากทัพพม่ารามัญที่ขนาบมาทั้งสองทิศ ทั้งทัพพระยาพะสิมที่ยกมาทางด้านด่านเจดีย์สามองค์ และพระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอที่ดาหน้ามาจากเหนือ ก็ยังมีในส่วนของพระยาละแวกที่พอได้ยินกิตติศัพท์อันห้าวหาญของพระนเรศแล้ว ก็จัดส่งจารชนอย่าง “พระยาจีนจันตุ” เข้ามาล้วงความลับในกรุงศรี และจากเรื่องราวซึ่งเกี่ยวกับพระยาจีนจันตุนี้เองที่กลายเป็นที่มาของ “การศึกเหนือผืนน้ำ” หรือ “ยุทธนาวี” ซึ่งเป็นชื่อตอนของหนังภาคที่ 3 นี้
ครับ, โดยภาพรวมทั้งหมด ผมเห็นว่า หนังเรื่องนี้มีความพยายามที่จับเกาะ “สถานการณ์” ที่เกิดขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์อย่างค่อนข้างละเอียดว่ามีอะไรเกิดขึ้นตอนไหนบ้าง ก็เป็นความรู้สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดในหนังเรื่องนี้ และต้องนับว่าเป็น “วิสัยทัศน์อันกว้างขวางอย่างยิ่ง” ของท่านมุ้ย ก็คือ ในขณะที่จะเล่าเรื่องของกษัตร์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ ก็ยังไม่หลงลืมที่จะเหลียวแลคนตัวเล็กๆ ในสังคม เป็นการให้พื้นที่ให้ความสำคัญกับผู้คนประชาชนทั่วไปที่มีส่วนช่วยในการกอบกู้และสร้างชาติเช่นเดียวกัน (การศึกษาประวัติศาสตร์บ้านเรา ตัดขาดจาก “คนตัวเล็กตัวน้อย” มาแล้วไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของท่านมุ้ย ทำให้คนเหล่านี้ดู “มีตัวมีตน” ขึ้นมา) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากในภาคนี้ ก็คือ ไอ้ขาม (ต๊อก-ศุภกร กิจสุวรรณ) ที่ทั้งเป็นบ้าทั้งเป็นใบ้ แต่ทว่าก็ได้แสดงวีรกรรมความกล้าออกมาเป็นพลังช่วยชาติรูปแบบหนึ่ง
และที่สำคัญ ตัวละครของต๊อก-ศุภกร นี่แหละครับ ถือได้ว่าเป็นสีสันความสนุกสนานมีชีวิตชีวาอันโดดเด่นของหนัง เท่าที่สังเกต ช่วงเวลา 2 ชั่วโมงกับการดูหนังเรื่องนี้ ผมได้ยินคนดูขยับเนื้อขยับตัวพร้อมส่งเสียงหัวเราะแทบจะทุกครั้งที่ถึงบทของไอ้ขาม นอกเหนือไปจากนั้น ก็นิ่งเงียบเหมือนจะอึดอัดกันไปหมด
เรื่องนี้ มีเหตุมีผลครับ
ผมคิดว่า สิ่งที่เป็นปัญหามากๆ ของหนังนเรศวรภาค 3 นี้ น่าจะเป็นผลพวงโดยตรงจากการแบ่งภาคของหนัง เพราะทีแรก ผมเข้าใจว่า ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชน่าจะจบลงแค่ภาค 3 แต่ทำไปทำมา คงเห็นว่า มันยาวเกิน ก็เลยต้องมีการตัดแบ่งออกเป็นภาค 3 และ 4 (ยุทธหัตถี) จากจุดนี้ ไม่ใช่พูดแบบลอยๆ นะครับ เพราะภาค3 ที่ใช้ชื่อว่า “ยุทธนาวี” ซึ่งผมและคุณก็คง “เชื่อว่า” ไฮไลต์ของหนังทั้งหมด น่าจะอยู่ที่ “การศึกกลางสายน้ำ” ระหว่างทัพของสมเด็จพระนเรศกับพระยาจีนจันตุ แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่า ไฮไลต์ของหนังออกไปตั้งแต่กลางๆ เรื่อง และ...ด้วยความเคารพนะครับ...ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนเขียนพล็อตโฆษณาว่า ฉากรบกลางสายน้ำจะอลังการตระการตามากๆ และถือเป็นฉากที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของหนังภาคนี้ เพราะจะใช้เรือรบนับร้อยๆ ลำ แต่ใช่หรือไม่ว่า เราเห็นจริงๆ แค่ 3-4 ลำเท่านั้นเอง
ผมไม่ได้จะบอกว่าหนังโกหกนะครับ แต่แค่สงสัยว่า ในเมื่อหนังเล่นเล่าไฮไลต์ของตัวเองไปตั้งแต่กลางๆ เรื่องแล้ว ที่เหลือจะมีอะไรให้เล่าอีก ดังนั้น เราจึงเห็นว่า หนังก็พยายามลากตัวเองไปข้างหน้าต่อไปด้วยการใส่เหตุการณ์ที่สู้รบกับพระยาพะสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอเข้ามา แต่ทว่าขาดความน่าตื่นตาตื่นใจไปอย่างน่าเสียดาย
และไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะอะไร อรรถรสโดยรวมของหนังจึงดู “จืดชืด” ได้ถึงเพียงนั้น หรือถ้าจะให้วิเคราะห์กันจริงๆ ผมว่าเรื่องราวที่หนังหยิบจับมามัน “เยอะเกินไป” “กระจัดกระจายเกินไป” จนทำให้โฟกัสไม่ได้ว่าจะขับเน้นจุดไหน เรื่องราวจากทุกๆ มุม ดูจะมี “ความขัดแย้ง” ที่พอจะปะทุระเบิดได้ โดยเฉพาะ “ปมรัก” ที่ซ้อนอยู่ใน “ปมรบ” ไม่ว่าจะเป็นรักสามเส้าระหว่างเลอขิ่น เสือฟ้า และพระราชมนู ซึ่งก็ลามไปถึงรัตนาวดีที่มาทอดไมตรีพระราชมนูอีกต่อหนึ่ง ไปจนถึงเรื่องระหว่างพระสุพรรณกัลยากับพระเจ้านันทบุเรง ประเด็นเหล่านี้ถูกเปิดขึ้นมาแล้วก็ “ไปไม่ถึงไหน” ซึ่งก็แน่ล่ะครับว่า หนังคงไปตามเก็บประเด็นที่พวกนี้ในภาคต่อไป แต่คำถามก็คือ อะไร คือ ธีม (Theme) หรือ แก่นหลักของภาคนี้ นอกเหนือไปจากได้รับรู้ว่า สมเด็จพระนเรศไปรบชนะที่โน่นและที่นี่
และเป็นการ “รับรู้” แบบแบ็ตอ่อนเหลือเกิน เพราะพลังแห่งความห้าวหาญกล้าแกร่งของพระนเรศไม่เปล่งประกายแสงให้เราได้สัมผัสอย่างจังๆ เลยสักครั้ง พระองค์เป็นวีรกษัตริ์ แต่หนังยังสื่อออกมาได้ไม่ดีพอ ทั้งๆ ที่น้ำเสียงและการแสดงของ พ.ท.วันชนะ สวัสดี นั้น ส่งมากๆ ในด้านความห้าวหาญขึงขัง แต่บทของหนังกลับไม่เสริมไม่ส่งอย่างที่ควรจะเป็น ผมอยากให้นึกถึงหนังอย่าง Brave Heart หรือ Gladiator อะไรพวกนั้นนะครับ แหม...ดูแล้ว มันได้พลังฮึกเหิม รักชาติ รักอิสรภาพเสียยิ่งกว่าอะไรดี เพราะ “แบบอย่าง” มันปลุกเร้าพลังภายในตัวเราได้
ผมนึกไปถึงภาคที่แล้วนะครับ ดูเหมือนว่าจะมีความลงตัว กลมกล่อม และสมบูรณ์มากที่สุดในบรรดาตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหมดทุกภาค เพราะรู้สึกว่ามันมีชีวิตชีวาความเป็นหนัง ไม่ใช่หนังสือตำราหรือสารคดีประวัติศาสตร์แบบแข็งๆ
การเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้สนุกนี่ เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งซึ่งจะทำให้คนหันมาสนใจประวัติศาสตร์ได้เหมือนกันนะครับ และอันที่จริง ผมว่า หนังนั้นสามารถจะ “เล่น” ให้สนุกอย่างไรก็ได้นะครับ เพราะอย่างน้อยๆ คำว่า “ตำนาน” ในชื่อเรื่อง (ตำนาน ใช่ว่าจะเป็น “ความจริง” ไปซะทั้งหมด) ก็น่าจะสร้างความชอบธรรมให้กับหนังในการที่จะใส่ลูกเล่นได้หลากหลายโดยไม่ต้องกังวลว่าพวกนักเคร่งครัดประวัติศาสตร์จะมาโจมตี
ผมนึกถึงเพื่อนของผมคนหนึ่งซึ่งเป็นครู ว่างๆ เขาชอบมาหาผม และเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้ฟังบ้าง จนหลายๆ ครั้ง มันทำให้ผมสนใจถึงขั้นต้องไปแสวงหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติม เพราะรู้สึกว่ามันมีรสชาติสีสันมีความสนุก กระตุ้นความอยากรู้ อย่างล่าสุด ผมก็เพิ่งไปซื้อ “กบฏเจ้าฟ้ากุ้ง” กับ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” มาอ่าน ก็เพราะเพื่อนคนนี้แหละครับ
จริงๆ ท่านมุ้ยก็ได้ทำมาแล้วเหมือนกันในภาคที่สอง คือทำให้หนังดูสนุก (สนุก ไม่ใช่ ฮาขี้แตกขี้แตน แต่สนุกเพราะมีชีวิตชีวา มีอารมณ์ความรู้สึก) และทำให้เราอยากศึกษาหาความรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม เพียงแต่ก็ไม่รู้ว่าทำไม ภาคนี้มันถึงดูไม่สนุกเหมือนภาคที่แล้ว แต่กลับเป็น “หนังประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” ซึ่งไปเหยียบรอยภาคหนึ่งซึ่งเป็นภาคที่ไม่สนุกอีกที
พูดแบบนี้ ก็อย่าเพิ่งกล่าวหาว่าผมไม่รักชาติไม่อะไรนะครับ เพราะก็เห็นมาเยอะแล้ว พอมีใครสักคนออกมาพูดถึงหนังในทางที่ไม่ “ปลื้ม” ก็มักจะโดนถล่มว่าไม่รักชาติอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ครับ ผมก็รักชาติและชื่นชมสมเด็จพระนเรศไม่น้อยไปกว่าทุกๆ ท่าน แต่ความรักนั้น มันเป็นคนละเรื่องกันกับ “ความรักที่มีต่อหนัง”
ไม่สนุก ก็บอกตรงๆ ว่าไม่สนุก ก็เท่านี้แหละครับ
แล้วก็รอดูภาคต่อไปด้วยหวังใจว่า มันจะ “สนุก” และผมเชื่อว่า เนื้อหาเรื่องราวมันจะต้องเข้มข้นกว่านี้แน่นอน เพราะประเด็นดีๆ นั้นถูกปูไว้หมดแล้ว ที่เหลือก็เพียง “ขยี้” ซึ่งก็เป็นภาระของภาคที่ 4 ว่าหนังจะทำสำเร็จหรือไม่?