xs
xsm
sm
md
lg

เลิฟจุลินทรีย์ : รักมันน่าเบื่อมาก

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


Facebook...teelao1979@hotmail.com

เว้ากันแบบซื่อๆ ตั้งแต่บรรทัดแรกนี้เลยครับว่า ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งมีความสนใจใคร่ดูหนังเรื่องนี้ไม่น้อยกว่าใครอีกหลายคน แม้หน้าหนังจะเป็นหนังวัยรุ่น แต่ผมมองเห็นประกายความน่าสนใจในหนังเรื่องนี้อยู่ 2-3 อย่าง ถ้าใครติดตามรายการ Viewfinder ทางช่องซูเปอร์บันเทิง ในช่วง “แนะนำหนังเข้าใหม่” แล้วให้ผู้ร่วมรายการแต่ละท่านบอกว่าอยากดูเรื่องไหน

“ผม” อยากดูเรื่องนี้

“เลิฟจุลินทรีย์ รักมันใหญ่มาก”

คือตอนที่ยังไม่ได้เห็นตัวอย่าง ไม่ได้เห็นหน้าหนัง ไม่ได้เห็นอะไรทั้งสิ้น ได้ยินแค่พล็อตคร่าวๆ ผมก็คิดว่า อืมมม...น่าสนใจดี

เพราะโจทย์ของหนังเรื่องนี้ อยู่ที่การเล่าเรื่องราวของตัวละคร แล้วมีบทเพลงของวงพาราด็อกซ์เป็นตัวสื่อสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์ของคู่รักแต่ละคู่

หนังก็ไปเลือกเพลงมาสี่เพลง แล้วสร้างเรื่องราวขึ้นมาสี่เรื่อง โดยที่เนื้อหาและเนื้อเรื่องของแต่ละเรื่องจะต้องแมตช์กับเนื้อหาของเพลงแต่ละเพลง

ที่ผมต้องเล่าละเอียดเช่นนี้ ก็เพราะว่ามันสำคัญครับ เพราะหลังจากที่หนัง (สั้น) แต่ละเรื่องเล่าตัวเองไปจนถึงจุดจบปลายทางแล้ว เพลงของวงพาราด็อกซ์ก็จะดังขึ้นมา คล้ายกับว่าเป็นตัวช่วยสรุปเนื้อหาความรู้สึกของเรื่องราวที่เพิ่งจบลงไปด้วยในตัว

เพลงที่ดังขึ้นมาทั้งหมด หนังตัดมาจากการแสดงสดของวงพาราด็อกซ์ซึ่งเคยเล่นในคอนเสิร์ต Big Mountain ที่เขาใหญ่

ไอเดียแบบนี้ ก็ถือว่าแปลกใหม่และเรียกความสนอกสนใจได้ไม่แพ้ชื่อเรื่องเลยล่ะครับ

“เลิฟจุลินทรีย์”

อะไรคือ เลิฟจุลินทรีย์? จุลินทรีย์ ไปเกี่ยวกับอะไรกับความรัก?

อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่สนอกสนใจมากมายขนาดนั้น (ในรายการ Viewfinder ผม “ออกตัวแรงมาก” ว่าอยากดู) แต่สุดท้าย นี่คือหนังโรงเรื่องแรกในชีวิตที่ผม “ดูไม่จบ”!!

จำได้ว่า ผมนั่งดูไปได้ประมาณชั่วโมงกว่าๆ พอถึงเรื่องที่ 4 ได้ประมาณ 9-10 นาที ผมก็ตัดสินใจลุกจากเก้าอี้ ขอทางกับคนที่นั่งข้างๆ อย่างสุภาพ “ขอทางหน่อยครับ” แล้วเดินออกจากโรง
ไม่ใช่ว่าเมาแฮงก์ ปวดหัว ปวดปัสสาวะ หรือปวดอุจจาระ

แต่มัน “ปวดตับ” ครับ!

มานึกๆ ดู ตอนนี้ ผมก็ยังสงสัยเลยครับว่า ทนดูไปได้อย่างไร ตั้งชั่วโมงกว่า

มันอาจจะเป็นเพราะนิสัยอันดีงาม (ตรงไหน?) ของผมเองก็ได้ว่า อย่างไรเสีย เราก็ควรจะให้โอกาสแก่คนที่เขาทำงาน อย่างน้อย ถ้าเรื่องที่หนึ่งยังไม่ถูกใจเรา เรื่องที่สอง อาจจะดีก็ได้ หรือถ้าเรื่องที่สอง ยังไม่โดนอีก เรื่องที่สามที่สี่ ก็อาจจะมีดีอะไรอยู่

ก็เพราะคิดแบบนี้ พอเรื่องที่สี่ฉายได้ไม่เท่าไหร่ ผมก็ตัดสินใจก้าวออกจากโรง เพราะคิดว่ามันคงไม่มีเรื่องที่ห้ามาให้ลุ้นอีกเป็นแน่ (ใครดูจบครบสี่เรื่อง ช่วยบอกผมหน่อยว่ามันมีเรื่องที่ห้าด้วยหรือเปล่า?)

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ผมจะไม่ลงรายละเอียดเป็นเรื่องๆ ไปแล้วกันนะครับ แต่จะมองที่ภาพรวมทั้งหมดของหนังว่า เพราะอะไร มันถึงดึงความสนใจของ “ผม” ไม่ได้เลย เห็นเครื่องหมายอัญญะประกาศชัดเจนกันนะครับ จะได้ไม่มีใครมาเดือดร้อนว่า ผมกำลังพูดถึงคนทั้งหมด เพราะบางที คนอื่นๆ อาจจะประทับใจกับหนังเรื่องนี้ก็ได้ จริงไหม?

แต่ผมไม่ประทับใจครับ

ขณะที่บางคนบอกว่า วัยของผมเลยวัยรุ่นมาแล้วหรือเปล่า ถึงไม่อินกับหนัง ตรงกันข้ามเลยครับ หัวใจทั้งสี่ห้องของผม เปิดอ้ารอพร้อมที่จะรับความลึกซึ้งของเรื่องรักอย่างเต็มที่ ไม่เกี่ยวกับวันวัย แต่มันเกี่ยวกับตัวหนังโดยตรง

เหตุผลใหญ่ๆ เลย ก็คือ ผมว่า การเล่าเรื่องของหนังไม่น่าสนใจเอาซะเลย

มันดูเรื่อยๆ เอื่อยๆ เหมือนไก่ป่วยแมวเหงา ไม่มีท่อนฮุก ไม่มีหมัดเด็ดที่จะดึงให้เราอยากเดินร่วมทางไปกับหนังจนกระทั่งจบ ดูแล้วไม่หือไม่อือเลยสักอย่าง จะซึ้งก็ไม่ซึ้ง จะเศร้าก็ไม่เศร้า จะสนุกสนานเฮฮาก็ไม่ไม่ได้

คำว่า “ใหญ่” ในชื่อหนัง คิดว่าคงหมายถึง “ยิ่งใหญ่” และหนังก็คงหวังจะสื่อสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องความรัก มันเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิต โดยเฉพาะรักแรกช่วงวัยรุ่น แต่สุดท้าย เนื้อหาเรื่องราวของหนังก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกได้อย่างจริงจังถึงพลังของคำว่ารัก

เรื่องรักในหนัง มันจึงไม่ “ใหญ่” สมกับชื่อ แต่แค่ “สิวๆ จิ๋วๆ” เล็กจ้อยเหมือนเชื้อจุลินทรีย์

สรุปก็คือ ดูแล้ว ทั้งไม่สนุก ไม่ซึ้ง ไม่อิน และไม่กินใจ

ผมคิดว่า หนังที่จะดึงความสนใจจากคนดูได้ มันต้องรู้จักวาง “จุดพิกัด” ให้ได้นะครับ เหมือนโน้ตดนตรีที่ดีๆ นั่นแหละ มันต้องมีขึ้นๆ ลงๆ สูงๆ ต่ำๆ บ้าง ไม่ใช่คีย์เดียวโทนเดียวตลอดทั้งเพลง

ผมว่า ถ้าจะพูดให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นมาอีกหน่อย ก็คงต้องให้สังเกตตอนที่หนังสั้นแต่ละเรื่องเล่าตัวเองจบลงแล้วเพลงจากคอนเสิร์ตของพาราด็อกซ์ดังขึ้นมานั่นแหละครับ สังเกตดูได้เลย พลังของเพลง “ใหญ่” กว่าเรื่องราวของหนังมาก

เปรียบเทียบง่ายๆ อย่างถ้าเราดูหนังสักเรื่องแล้วมันลึกซึ้งกินใจ พอหนังปล่อยเพลงออกมา มันก็ยิ่งบิลท์ให้อารมณ์ของเราพุ่งสูงขึ้นไปอีก เพลงเป็นตัวขับเน้นและเร่งเร้าความรู้สึกให้ทะยานไปไกล น้ำตาคนมันจะยิ่งไหล ก็ตอนที่ได้ยินเสียงเพลงนี่แหละครับ

แต่ “เลิฟจุลินทรีย์” นี่ไม่ใช่เลย

ผมรู้สึกว่า ถ้านั่งฟังเพลงพาราด็อกซ์อยู่ที่บ้าน พร้อมกับคิดถึงคนรัก คิดถึงเรื่องอกหักในอดีต พลังของบทเพลงก็ดูจะสามารถบาดกรีดส่วนลึกที่อ่อนไหวของหัวใจได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบารมีของหนังเลย

ที่ผมตลกมากๆ ก็คือว่า ในหนังเรื่องนี้ มันมีหนังสั้น 4 เรื่อง ซึ่ง 3 ใน 4 เรื่องนั้น ต่างก็พยายามที่จะซึ้ง พยายามที่จะทำให้คนอิน แต่ทว่ามันมีอยู่เรื่องหนึ่งที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง นั่นก็คือ ตอนที่คุณสายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข แสดงนำ

หนังใช้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หนึ่ง และคาดเดาในอารมณ์ ผมคิดว่า หนังคงต้องการขายความฮาความตลก แต่ความรู้สึกโดยรวม ผมกลับเห็นว่า ความฮาไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่มันให้อารมณ์เหมือนอ่าน “หนังสือปกขาว” มากกว่า

ผมคนยุคเกือบเก่า ก็เคยอ่านหนังสือปกขาวมาบ้างครับ (ก็ซื้อหาตามร้านขายหนังสือเก่า ก็พอจะมี)

ก็ตามประสาผู้ชายแหละครับ

เคยอ่านก็ยอมรับว่าเคยอ่าน ไม่จำเป็นต้องดัดจริตว่าไม่เคยอ่าน เพราะกลัวภาพลักษณ์จะเสีย อย่างคนยุคเก่าบางคน พอบอก “หนังสือปกขาว” จะกรี๊ดกร๊าดว้าดวี้ด เห็นว่าผิดกันไปหมด ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะผิดที่ตรงไหน อย่างผม อ่านแล้วก็ไม่ได้ว่าจะไปกระทำมิดีมิร้ายต่อใคร ไม่เค้ย ไม่เคย ไอ้พวกที่ไปก่ออาชญากรรมอะไรทั้งหลายน่ะ มันมีองค์ประกอบอย่างอื่นเยอะกว่านี้ครับ
แล้วทำไม ผมต้องพูดถึง “หนังสือปกขาว”

“หนังสือปกขาว” มันก็คือหนังสือติดเรตรูปแบบหนึ่งนั่นแหละครับ สำนวนภาษาที่ใช้ก็ส่อไปในเรื่องเพศ

หนังสั้นเรื่องที่คุณสายป่านแสดงนำนี้ ทำให้ผมนึกไปถึง “หนังสือปกขาว” หรือถ้าไล่ๆ มาใกล้ๆ หน่อย ก็คือ หนังสือโป๊เรตต่ำ อย่างพวก “ไทยเพลย์บอย” หรือไม่ก็ “นวลนาง”

คือหนังเรื่องนี้เป็นอย่างนั้นเลย ความรู้สึกเหมือนกับได้อ่านหนังสือโป๊พวกนั้น ในคอลัมน์อย่างพวก “เรื่องจากคนทางบ้าน” หรือ “ประสบการณ์สมัยแรกรุ่น” อะไรทำนองนั้น

คุณสายป่านในหนังเรื่องนี้ เธอแสดงเป็นหญิงสาวรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย แล้วก็มีเด็กหนุ่มรุ่นน้องมาแอบรักแอบชอบ อยู่มาวันหนึ่ง คุณสายป่านนี่แกจะกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ไอ้หนุ่มคนนั้นก็เลยขันอาสาด้วยความรักว่าอยากขับรถไปส่งเอง สาวเจ้าก็ไม่ขัดขืน ก็นั่งรถกันไป และในระหว่างทาง ก็มีทั้งพูดจาโอ้โลมปฏิโลมกัน เฉพาะอย่างยิ่ง หญิงสาวรุ่นพี่ที่ดูจะ “จัดเจนกว่า” นอกจากจะพูดจาให้หนุ่มน้อยเคลิบเคลิ้มฝันหวานแล้ว เธอยังพาเล่นเกมหรือทำอะไรๆ ที่ยั่วยุให้จิตใจของเจ้าหนุ่มกระเจิดกระเจิงไปถึงไหนต่อไหนซะอีกด้วย

เรียกว่า เล่นเอาเจ้าหนุ่มของเราพลุ่งพล่านกันเลยทีเดียว

ภาษาการดำเนินเรื่องแบบนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับภาษาของหนังสือที่ผมกล่าวมา ลองนึกภาพตามนะครับว่า ถ้าหนังเรื่องนี้ถูกเขียนอยู่ในหนังสือเหล่านั้น มันจะเป็นอย่างไร

“วันหนึ่ง ในขณะที่ผมกำลังขับรถไปส่งหญิงสาวรุ่นพี่ที่มหา’ลัย ซึ่งผมหมายปองแอบมองเธอมาเนิ่นนานด้วยความคลั่งไคล้ใหลหลง สิ่งที่ผมคิดไม่ถึงก็เกิดขึ้น เพราะทุกกิริยาที่เธอแสดงออกนั้น มันล้วนแต่ดูยั่วยวนยั่วเย้าให้ผมรู้สึกหัวใจเต้นแรงโดยเฉพาะตอนที่เธอหยิบลูกอมจูปาจุ๊บขึ้นมาดูดแล้วจงใจดึงออกจากปากให้มันเกิดเสียงดัง “โบ๊ะ” เหมือนจะมีความหมายแอบแฝงนั้น เล่นเอาใจผมสั่นตุ๊บๆ เลยทีเดียว

“มีอยู่ตอนหนึ่ง เธอบอกเธอจะขอขับรถเอง ผมก็จะเปิดประตูออกไปเพื่อเปลี่ยนที่นั่ง แต่ทันใดนั้น เธอก็บอกกับผมว่า ไม่ต้องยุ่งยากหรอก เราข้ามฝั่งกันในรถนี่เลย แล้วเธอก็เลื่อนตัวมาทางเบาะผม ขณะที่ผมก็เลื่อนไปที่เบาะอีกข้าง แต่ในระหว่างนั้น ร่างกายของเราก็เสียดสีกันไปมาจนผมรู้สึกวูบไหวในอารมณ์....”


แค่นี้พอนะครับ นี่เป็นแค่ตัวอย่าง เพราะนอกจากนั้น คงต้องไปดูกันเองว่า ลีลายั่วเย้าของคุณสายป่านนั้น เข้าขั้นเซียนไม่ด้อยไปกว่านักเขียนประสบการณ์ในหนังสือแบบที่ผมว่ามานั้นแต่อย่างใด

จากหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่า สองผู้กำกับแห่งค่าย M๓๙ ทั้งคุณ “ไชยณรงค์ แต้มพงษ์” และ “สกล เตียเจริญ” น่าจะได้ค้นพบทางที่ตัวเองถนัดมากขึ้น

ทำหนังเรต อาจจะรุ่งกว่าทำหนังรัก นะครับ ลองดู คนเรามีศักยภาพไม่จำกัด อย่าไปลิมิตตัวเองว่าจะต้องทำหนังรักอย่างเดียว ลองทำหนังเรตดูสิ ผมว่าคุณสองคนมีแววนะครับ








กำลังโหลดความคิดเห็น