Facebook...teelao1979@hotmail.com
อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าในเวทีออสการ์หรือว่าในเวทีชีวิตจริง
ขึ้นต้นมาแบบนี้ ก็คงเดากันออกนะครับว่า ผมกำลังพูดถึงผลรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุด ที่ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนว่า หนังเต็งจ๋ามาแรงอันดับหนึ่งและน่าจะเข้าวินไปในฐานะภาพยนตร์ยอดเยี่ยมนั้น น่าจะไม่พ้นจาก The Social Network ไปได้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา กลับเป็น The King's Speech ที่ชนะในสายนี้
แน่นอน เมื่อหนังยอดเยี่ยมเป็น The King's Speech ผู้กำกับก็ย่อมจะติดไปด้วย อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา “ทอม ฮูเปอร์” คนทำหนังชาวอังกฤษก็ได้ติดสอยห้อมตาม กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกคนหนึ่งของออสการ์ไปเป็นที่เรียบร้อย
ในฐานะของคนที่คาดเดาว่า The Social Network น่าจะได้หนังยอดเยี่ยม เท่าๆ กับที่เชื่อมั่นว่าเดวิด ฟินเชอร์ ก็คงจะได้ในสายผู้กำกับ ดุจเดียวกับเวทีลูกโลกทองคำ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า สถาบันรางวัลทั้งสองแห่ง ตัดสินสวนกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งผมมานั่งคิดๆ ก็นึกขำอยู่นิดหน่อย เพราะในขณะที่เวทีลูกโลกทองคำซึ่งตั้งอยู่ฝั่งอังกฤษ ให้รางวัลหนังยอดเยี่ยมแก่หนังอเมริกันจ๋าอย่าง The Social Network ออสการ์ที่มีฐานที่มั่นอยู่เมืองลุงแซม กลับขอข้ามฝั่งมาให้หนังอังกฤษได้พิชิตรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแทน
ผมเคยเดาใจออสการ์และวิเคราะห์ไว้ว่า โผออสการ์ในสาขาหนังยอดเยี่ยม คงไม่พลิกไปจากลูกโลกทองคำเท่าไรนัก โดยเหตุผลหนึ่ง ก็เพราะเชื่อว่า ไม่ว่าจะลูกโลกทองคำหรือออสการ์ น่าจะยินดีกับการมาถึงของ “สิ่งใหม่” หรือ “ความหมายใหม่” แห่งยุคสมัยเหมือนๆ กัน “สิ่งใหม่” ที่ว่านั้นก็คือ เฟซบุ๊ก ซึ่งเข้ามามีบทบาทและสร้าง “นิยามใหม่-ความหมายใหม่” ให้กับโลกแห่งความสัมพันธ์และการสื่อสารของผู้คน
เหมือนกับปีที่แล้ว ซึ่ง The Hurt Locker เป็นผู้ชนะในสาขานี้ ก็มีมิติทางด้านเนื้อหาที่พลิกมุมในการมองใหม่ เพราะในขณะที่หนังสงครามเรื่องอื่นๆ หรือยุคก่อนๆ ถ้าไม่พูดถึงความสูญเสียเจ็บปวดที่เป็นแรงเหวี่ยงของสงคราม ก็มักจะตั้งหน้าตั้งตาวิพากษ์วิจารณ์จุดบอดข้อผิดพลาดของผู้มีส่วนรับผิดชอบในสงครามนั้นๆ (ทั้งรัฐบาล ทหาร ฯลฯ) แต่ The Hurt Locker กลับนำเสนอในสิ่งที่แตกต่างออกไป เพราะมันพูดถึงมนุษย์ปุถุชนหลายๆ คนที่ดูเหมือนว่าจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ หากไร้ซึ่งสงคราม
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว กับผลลัพธ์ที่ออกมาบนเวทีออสการ์ครั้งล่าสุด ก็บอกกล่าวอยู่กลายๆ ว่า หนังที่ทำให้คนดูมีความสุขใจในตอนจบหรือรู้สึกฮึกเหิมมีกำลังใจในชีวิต ยังมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาเสมอๆ บนเวทีแห่งนี้ Slumdog Millionaire, Forrest Gump, Braveheart, Gladiator, Million Dollar Baby หรือแม้กระทั่ง Rocky และ Unforgiven ฯลฯ ก็ล้วนอยู่ในขอบข่ายความคิดนี้
และเหนืออื่นใด หนังที่สร้างมาจากเรื่องราวชีวิตของบุคคลในประวัติศาสตร์นั้น มักจะมีแต้มต่อพอสมควรสำหรับออสการ์ ถามว่า The Social Network ก็เป็นหนังที่สร้างมาจากชีวิตจริงๆ ของคนเหมือนกันมิใช่หรือ คำตอบก็คือ ใช่ครับ และถ้าถามว่าทำไมออสการ์ถึงได้ปลื้ม The King's Speech “ความคิดเห็น” ก็คงเป็นประมาณว่า เพราะบุคคลประวัติศาสตร์ในเรื่อง The King's Speech นั้น ได้กระทำวีรกรรมที่เป็นคุณูปการต่อโดยรวมอันนำมาซึ่งความน่าจดจำประทับจิต แบบเดียวกับ “มหาตมะคานธี” (Gandhi ค.ศ.1982) หรือ “โทมัส มอร์” จาก A Man For All Seasons ขณะที่สิ่งที่มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ให้กำเนิดขึ้นมานั้น ถ้าไม่นับว่ามันได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้างระดับโลกก็จริงอยู่ แต่ในแง่ของการชุบชูความรู้สึกนึกคิดและหัวจิตหัวใจของมนุษย์นั้น ยังไม่ปรากฏชัด
แต่นี่คือสิ่งที่เราจะซึมซับสัมผัสได้อย่างเด่นชัดจากเรื่องราวของบุคคลประวัติศาสตร์ในหนัง The King's Speech...
The King's Speech เกาะติดเรื่องราวแห่งราชวงศ์อังกฤษในยุคสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์จอร์จที่ 5 (ไมเคิล แกมบอน) ผู้เป็นพระบิดา พร้อมกับการสละโอกาสครองราชบัลลังก์ของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (กาย เพียร์ซ) ส่งผลให้เจ้าชายอัลเบิร์ต (โคลิน เฟิร์ธ) หรือที่รู้จักกันในนาม “เบอร์ตี้” ผู้มีปัญหาทางด้านการพูด ต้องขึ้นครองราชย์แทนในนามพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งอังกฤษ ด้วยเหตุที่ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์จวนเจียนเข้าสู่สงคราม และจำเป็นต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง เอลิซาเบ็ธ (เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) ภรรยาของเบอร์ตี จึงจัดแจงให้สามีของเธอได้พบกับไลโอเนล ล็อก (เจฟฟรีย์ รัช) ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคผิดปกติทางการพูด
จากการเริ่มต้นที่แสนลำบาก ผู้รักษาและผู้รับการรักษาต่างร่วมกันแสวงหาวิธีบำบัดแบบใหม่ๆ ซึ่งก่อกำเนิดมิตรภาพระหว่างชายทั้งคู่ ด้วยความช่วยเหลือของล็อก รวมทั้งครอบครัว, รัฐบาล และวินสตัน เชอร์ชิลล์ (ทิโมธี สปอลล์) กษัตริย์จอร์จที่ 6 จะต้องเอาชนะอาการพูดติดอ่างให้ได้ เพื่อตรัสสุนทรพจน์ปลุกปลอบขวัญกำลังใจพสกนิกรของพระองค์ ให้ลุกขึ้นยืนหยัดเคียงข้างประเทศชาติในภาวะสงคราม
โคลิน เฟิร์ธ ที่ได้ออสการ์ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปครองนั้น ไม่มีอันใดเหนือความคาดหมาย เพราะบทหนัง ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้เขาได้โชว์พลังด้านการแสดงเต็มที่กับบทของกษัตริย์ที่ตรัสติดอ่าง ผมเคยพูดไว้ในรายการ Viewfinder ทางช่องซูเปอร์บันเทิงไว้ว่า นี่คือ “ความย้อนแย้ง” ที่แยบยลและยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่ตัวละครในเรื่อง (เจ้าชายอัลเบิร์ต) พยายามบำบัดฝึกฝนเพื่อให้ตัวเองพูดได้คล่องแคล่ว แต่โคลิน เฟิร์ธ ที่ไม่มีปัญหาในการพูดติดอ่าง กลับต้องพยายามสวมบทบาทให้ตัวเองดูเป็นคนที่พูดติดอ่าง และไม่ใช่แค่เล่นเป็นคนพูดติดอ่าง แต่ยังเป็นคนพูดติดอ่างที่ต้องพยายามฝ่าฟันเอาชนะการพูดติดอ่างของตัวเองให้ได้ด้วย
แน่นอนว่า โคลิน เฟิร์ธ สอบผ่านกับบทนี้และสามารถเอาชนะใจคณะกรรมการออสการ์ได้อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ ก็เคยคว้ารางวัลดังกล่าวมาจากเวทีลูกโลกทองคำมาแล้ว
รายการ “เขย่าจอ” ทางช่องซูเปอร์บันเทิง เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ให้ผมไปออกรายการ พร้อมทั้งวิเคราะห์วิจารณ์ว่า เพราะอะไร The King’s Speech ถึงเป็นฝ่ายมีชัยเหนือกว่า The Social Network ซึ่งจริงๆ ผมมองว่าหนังทั้งสองเรื่อง ต่างมีดีมีเด่นไม่น้อยไปกว่ากัน ที่เหลือนอกจากนั้นเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ
The Social Network นั้น มีดีแน่ๆ ในแง่ที่มันสะท้อนให้เห็นหลักไมล์ใหม่แห่งยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของการสื่อสารและความสัมพันธ์ของผู้คน ขณะเดียวกัน คาแรกเตอร์ของตัวละครต่างๆ ก็ดูมีความเป็นมนุษย์ปุถุชนอยู่สูงมาก และตลอดทั้งเรื่อง เราก็ได้เห็นพวกเขา “แสงความเป็นปุถุชน” ออกมาห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด มนุษย์ที่เราเห็นใน The Social Network มีมิติแห่งด้านมืดด้านสว่าง หรือ “ขาวๆ ดำๆ” อยู่ในตัวเอง เหมือนๆ กับมีเทพและมารอยู่ในตัวคนๆ เดียว และเทพและมารนั้น ก็ผลัดกันออกมาเล่นบทบาทคนละฉากสองฉากสลับกันไปมา
ซึ่งผลลัพธ์ด้านความรู้สึกต่อคนดู มันย่อมแตกต่างอย่างแน่นอนกับภาพของมนุษย์ในหนังเรื่อง The King’s Speech ที่ดูแล้ว เราได้รู้สึกปลาบปลื้ม ตื้นตันใจ ไปกับชัยชนะของมนุษย์ อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องมานั่งปวดหัวว่า ตกลง คนนี้คนนั้น ดีจริงหรือเปล่า?
กับประเด็นที่พูดกันว่า ออสการ์ไม่นำพาต่อกระแสสังคมหรือความเป็นไปแห่งยุคสมัย เพราะดูจากการให้รางวัลแก่หนังยอดเยี่ยมแก่หนังย้อนยุคนั้น ผมพูดไว้ในรายการ “เขย่าจอ” ว่า เป็นมุมมองที่ไม่ถูกต้องซะทีเดียวนัก เพราะหากนั่งลงวิเคราะห์กันอย่างละเอียด เราอาจจะพบว่า The King’s Speech อาจจะมีนัยยะแห่งความร่วมสมัยอย่างที่เราปฏิเสธไม่ได้
มันอาจจะไม่มีเรื่องเฟซบุ๊ก ทวีดเตอร์ หรือ บีบี แต่ The King’s Speech มีประเด็นเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ ซึ่งค่อนข้างจะไปพ้องกับความเป็นจริงของหลายๆ ประเทศ ณ ตอนนี้ ที่ต่างก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของ “ผู้นำ” ด้วยกันทั้งสิ้น ผมไม่อาจไปตรัสรู้หัวใจของคณะกรรมการออสการ์ได้ แต่เป็นไปได้ไหม ที่เรื่องราวของพระเจ้าจอร์จที่ 6 จะถูกยกขึ้นมาเป็นดั่ง “บุคลาธิษฐาน” ถึงจิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้นำ
อย่าลืมว่า อังกฤษยุคนั้น ขวัญกำลังใจของผู้คนกำลังสั่นคลอนมากในการที่ประเทศอาจจะขาดผู้นำ ในห้วงเวลาที่ประเทศชาติกำลังเข้าสู่ภาวะสงคราม การขาดผู้นำ จึงไม่ต่างอะไรกับคนที่มองเห็นความปราชัยไปแล้วครึ่งหนึ่ง ในหนังเรื่องนี้ ความสำคัญแห่งผู้นำ ถูกตอกย้ำอย่างชัดๆ ในฉากฉากหนึ่ง หลังจากเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดสละราชสมบัติ มีการนำป้ายประกาศไปติดไว้ทั่วเมืองว่า God saves the King อย่างมีนัยยะ
ภาระหนักจึงมาตกอยู่ที่เจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งนอกเหนือจะต้องคอยระแวดระวังพวกหอกข้างแคร่ทั้งหลายแหล่แล้ว โดยส่วนพระองค์ ยังต้องทรงบั่นบากพากเพียรเพื่อเอาชนะอุปสรรคที่ยากแสนสาหัสเพื่อจะได้ตรัสสุนทรพจน์สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้เกิดแก่อาณาประชาราษฎร์
มีบางสิ่งบางอย่างที่ผมชอบมากๆ ในหนังเรื่องนี้ ถ้าไม่นับรวมบรรยากาศอัน “มาคุ” แต่ “ชวนขบขัน” ที่มักจะเกิดขึ้นเสมอๆ เวลาที่เจ้าชายอัลเบิร์ตต้องไปฝึกฝนการพูดกับไลโอเนลแล้ว มีฉากๆ หนึ่งซึ่งผมรู้สึกว่าหนังทำได้ดีมากๆ ก็คือ ตอนที่เจ้าชายอัลเบิร์ตปะทะคารมกับไลโอเนล ท่ามกลางสายหมอกที่หนาตา หลังจากเดินเจรจากันอยู่ครู่หนึ่ง เจ้าชายอัลเบิร์ตก็ระเบิดโทสะออกมาและเดินจากไป ทิ้งให้ไลโอเนลยืนมองตามอย่างไร้คำพูด ความเป็นมนุษย์ที่มีความเปราะบางและหวั่นไหวโดยธรรมชาติ ถูกสะท้อนออกมาอย่างหมดเปลือกผ่านฉากที่ว่านี้
คนเรา ต่อให้หัวใจแข็งแกร่งเพียงไหน ก็ยังมีช่วงเวลาและอ่อนไหว เป็นเรื่องธรรมดา แต่ทว่าเรื่องราวของเจ้าชายอัลเบิร์ต ที่มันลึกซึ้งกินใจขึ้นมาได้ เพราะเหตุว่า สุดท้าย พระองค์ยังคงไม่ยอมอ่อนข้อให้กับอุปสรรคและความหวั่นไหวนั้น แต่กลับลุกขึ้นมาเพื่อที่จะฝ่าข้ามและเอาชนะมัน ความน่าประทับใจของ King พระองค์นี้ ก็อยู่ตรงนี้นี่แหละครับ
โดยภาพรวม The King’s Speech จัดได้ว่าเป็นหนังที่ให้พลังชีวิต ดูแล้วรู้สึกฮึกเหิมในการไม่ยอมจำนนต่ออะไรทั้งสิ้น และเหนืออื่นใด ดูแล้วมีความสุขใจ
มานั่งคิดๆ ดู ผมว่าก็ถูกต้องแล้วนะครับที่รางวัลออสการ์เลือกที่จะ “ให้กำลังใจ” ผู้คน ด้วยหนังเรื่องนี้ เพราะในยุคที่เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี อีกทั้งผู้นำก็ไม่ค่อยจะได้เรื่องเท่าไรนักอย่างเช่นทุกวันนี้ The King’s Speech ก็น่าจะเป็นเช่นเสียงหนึ่งซึ่งปลุกปลอบพลังชีวิตของคนดูผู้ชม เช่นเดียวกับที่เจ้าชายอัลเบิร์ตได้ทรงสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดขึ้นแก่พสกนิกรของพระองค์ด้วยสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์บทนั้น
ส่วนใครที่ทายไว้ว่า The Social Network จะได้ออสการ์สาขาหนังยอดเยี่ยม ก็ไม่ต้องเสียอกเสียใจอะไรไปหรอกครับ ใช้ชีวิตไปตามปกตินั่นแหละ นอนให้หลับอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง ทานข้าวให้ครบสามมื้อ และสู้กันต่อไป อย่าไปคิดมาก เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ บนเวทีออสการ์ หรือว่าบนเวทีชีวิตจริง (ไม่ฮา 555)