xs
xsm
sm
md
lg

คอนเสิร์ต“อีเกิ้ลส์” ทะลักจุดสุขกับลีลาเก๋า-เก่ง ของพญาอินทรีผงาดฟ้า/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
4 ประสานแห่งอีเกิ้ลส์
"Sold Out"!!!

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่วงดนตรีจากเมืองนอกที่เข้ามาเล่นคอนเสิร์ตในเมืองไทยแล้วสามารถขายตั๋วได้หมดเกลี้ยง แต่สำหรับคอนเสิร์ตวง“อีเกิ้ลส์”(Eagles) ถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เพราะครั้งก่อนที่มาเล่นในเมืองไทยเมื่อปี 2547 ตั๋วก็ขายหมดทั้ง 2 รอบ มาในคอนเสิร์ตล่าสุด(20 ก.พ. 54 ) จากข่าวที่ออกมาก่อนคอนเสิร์ต 2-3 วันก็บอกว่าตั๋ว "Sold Out" อีก

อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ดูจะไม่เหนือความคาดหมายของผมสักเท่าใด(และเชื่อว่าในความคาดหมายของผู้จัดอย่าง“บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนต์” แม้(อาจ)จะไม่ตั้งเป้าไว้ถึง Sold Out แต่ก็น่าจะตั้งไว้ที่ยอดขายตั๋ว 80-90 % ขึ้นไป) เพราะอีเกิ้ลส์ถือเป็นหนึ่งในวงดนตรีเมืองนอกที่กระพือปีกบินอย่างสง่าเข้ามาโด่งดังอย่างมากในเมืองไทย ตั้งแต่ช่วงยุค 70’s ที่ผ่านมา

เพลงดังๆของอีเกิ้ลส์ในบ้านเราอย่าง “Hotel California”, “Desperado”, “Take It Easy” และ "I Can't Tell You Why” ถูกนำไปเล่นไปเปิดมากมาย ทั้งในวิทยุ ในผับ เธค บาร์ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านเหล้า ตามงานวัด งานบวช งานบุญ รวมถึงยังถูกตลกคาเฟ่นำไปเล่นขำบ้างไม่ขำบ้างอีกด้วย

เรียกว่าเพลงของอีเกิ้ลส์ในบ้านเรามีฐานกลุ่มคนฟังกว้างขวางและมากมาย ไล่มาจากรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง ไปจนถึงรุ่นเล็ก หรือแม้กระทั่งหนุ่มสาววัยกระเตาะที่นิยมชมชื่นในเพลงเกาหลีก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่เคยฟังเพลงของวงอีเกิ้ลส์ผ่านหูมา(บ้าง) แถมบางคนยังร้องตามได้เสียด้วย เพียงแต่พวกเขาอาจไม่รู้ว่ามันเป็นเพลงของใครเท่านั้นเอง

ในขณะที่ชื่อชั้นระดับโลกของวงอีเกิ้ลส์ “พญาอินทรีผงาดฟ้า”นั้น จัดอยู่ในระดับต้นๆของโลก พวกเขาได้ชื่อว่าหนึ่งในตำนานแห่งยุทธจักรวงการเพลงร็อค โดยเฉพาะวงการคันทรีร็อคนั้น อีเกิ้ลส์นอนบินมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งวันนี้ยังหาคู่ท้าชิงที่มีฝีมือพอฟัดพอเหวี่ยงมาบินสูงวัดรอยปีกกับพญาอินทรีวงนี้ไม่ได้
เกลน ฟราย
อีเกิ้ล แม้ถูกจัดให้เป็นวงดนตรีในแนวเวสต์โคสท์ คันทรีร็อค และโฟล์คร็อค แต่หลายเพลงของเขามีความเป็นป็อบอันไพเราะเพราะพริ้ง สามารถบินเข้าไปจิกในใจของแฟนเพลงทั่วโลกได้อย่างไม่ยากเย็น

อีเกิ้ล เป็นวงจากลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2514( ค.ศ.1971) มีเพลงฮิตมากมายนับสิบเพลง นอกจาก 4 เพลงที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว วงนี้ยังมีเพลงดังๆชวนฟัง อาทิ “Take it to the limit”,“Heartache tonight”,”New kid in town”,“Tequila sunrise” เป็นต้น

ในยุค 70’s อีเกิ้ลส์เป็นวงหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงลิ่ว สามารถบินไปจิกรางวัลแกรมมี่มาได้ถึง 6 รางวัล ก่อนที่ภายหลังนิตยสาร“โรลลิง สโตน” นิตยสารดนตรีชื่อดังของโลก จะยกให้เป็นหนึ่งในวงดนตรีร็อคยอดเยี่ยมตลอดกาล

แต่ดูเหมือนว่าช่วงเวลาบินสร้างสรรค์ผลงานของพญาอินทรีวงนี้ไม่ยาวนานเท่าใด แค่ 10 กว่าปีเท่านั้น เพราะในปี 2525 อีเกิ้ลได้ประกาศแยกวงอย่างไม่เป็นทางการขึ้น

จากนั้นพวกเขากลับมารวมตัวกันอีกใน ปี 2537 ก่อนจะประกาศยุบวงอีกครั้ง(ครั้งที่สอง) ในปี 2547 พร้อมๆกับการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตอำลาแฟนเพลงไปทั่วโลกรวมถึงบ้านเราด้วย ซึ่งเรื่องราว ความเป็นมา ความสำเร็จ เครดิต และบทเพลงน่าสนใจในระดับตำนานของวงนี้ เอาไว้มีโอกาสเหมาะๆ ผมจะขอเขียนถึงพวกเขาแบบเต็มๆลงในบทความแนะนำเพลงเก่าอีกที

ส่วนตอนนี้ผมขอเก็บอารมณ์ที่ค้างคาจากคอนเสิร์ต "อีเกิ้ลส์ ไลฟ์ อิน แบ็งคอก" (EAGLES Live In Bangkok)ที่เพิ่งเล่นผ่านไปสดๆร้อนๆ มาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง โดยก่อนที่จะร่วมบินทะยานผงาดฟ้าไปกับเสียงเพลงของวงพญาอินทรี ผมขอเกาะปีกพญาอินทรีบินไปดูที่มาของคอนเสิร์ตครั้งนี้กันสักหน่อย

หลังการประกาศยุบวงครั้งที่สอง(2547) สมาชิกชุดล่าสุดของวงอีเกิ้ลส์ที่ประกอบด้วย “เกลน ฟราย”หรือที่บางคนเรียกว่า“เกลน เฟรย์”(Glenn Frey) กีตาร์ ร้องนำ, "ดอน เฮนลี่ย์"(Don Henley)ตีกลอง ร้องนำ, "โจ วอลช์"(Joe Walsh) กีต้าร์โซโล ร้องนำ และ "ทิโมธี บี ชมิท"(Timothy B. Schmit) ทึ้งเบส+ร้องนำ ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง(เป็นครั้งที่สาม) เพื่อร่วมกันทำอัลบั้มชุด “Long Road Out Of Eden”ออกมาในปี 2550 พร้อมๆกับออกมาประกาศยืนยัน(อีกครั้ง)ว่านี่จะเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายของพวกเขา(จริงๆ)

นั่นจึงทำให้มีเกิดการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตล่ำลาแฟนเพลงทั่วโลกตามมาในปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าพญาอินทรีกลุ่มนี้ย่อมไม่พลาดการบินมาเล่นเมืองไทยด้วยประการทั้งปวง ส่วนถ้าขืนพลาดอาจโดนแฟนเพลงขาโหดบางคนยิงพญาอินทรีร่วง!!! ก่อนนำมาต้มยำใบมะขามอ่อนซดแกล้มเหล้าให้หายแค้นโทษฐานที่ไม่ยอมมาเล่นเมืองไทย
ดอน เฮนลี่ย์
ครั้นเมื่อทุกอย่างเหมาะเจาะลงตัว คอนเสิร์ตอีเกิ้ลส์ ก็ได้ฤกษ์เปิดการแสดงขึ้นในช่วง 2 ทุ่มเศษๆ(จากกำหนดการ 2 ทุ่ม)ของค่ำคืนวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ท่ามกลางแฟนเพลงแน่นขนัดเต็มพื้นที่ฮอลล์ ชนิดไม่มีที่นั่งฟันหลอให้เห็นแต่อย่างใด

สมาชิกทั้ง 4 ของอีเกิ้ลส์ เกลน,ดอน,โจ และทิโมธี และทีมงานวงแบ็คอัพเปิดตัวด้วยแนวทางอันเป็นเอกลักษณ์ในเพลง “Seven Bridges Road” ที่โชว์ชั้นเชิงอันเหนือชั้นในการร้องประสานเสียง ซึ่งแม้วันนี้พวกเขาจะถูกกาลเวลาพรากจากสังขารของวัยหนุ่มฉกรรจ์ให้กลายเป็นสมาชิกกลุ่ม ส.ว.(สูงวัย) แต่ซุ่มเสียงของแต่ละคนยังยอดเยี่ยม เสียงดีไม่มีตก และไม่มีเพี้ยนแกว่งแต่อย่างใด

จากนั้นอีเกิ้ลส์จัดส่งเพลงจากอัลบั้มล่าสุด(ชุดสุดท้าย) Long Road Out Of Eden มาเรียกเสียงกรี๊ดต่อบรรดาแฟนานุแฟน 4 เพลงรวด นำโดย “How Long” ร็อคแอนด์โรลโจ๊ะๆสำเนียงลูกทุ่ง(อเมริกัน)ตามสไตล์ถนัดของวงที่เกลนกับดอนสลับกันร้อง ตามด้วย “Busy Being Fabulous” ให้จังหวะหน่วงลงมาหน่อย ก่อนจะเปิดโอกาสให้น้าทิม(ทิโมธี)โชว์บ้างในเพลงช้าๆตามสไตล์ลายเซ็นของเขาในเพลง “I Don’t Want To Hear” ที่มีไลน์กีตาร์สวยๆเล่นอินโทรนำมา

น้าทิมวันนี้แม้จะดูผอมซูบร่วงโรยไปมาก แต่ลีลาการทึ้งเบสควบคู่ไปกับการร้องเพลงของเขายังคงเท่(โคตร)เหมือนเดิม แถมหลังจบเพลงน้าแกยกมือไหว้อีกหนึ่งดอก เรียกเสียงกรี๊ดจากแฟนเพลงได้ลั่นฮอลล์เลยทีเดียว

ถัดมาเป็นคิวของน้าโจบ้างในเพลง “Guilty Of The Crime” กับร็อคแอนด์โรลมันๆ เปิดพื้นที่ให้น้าโจรูดสไลด์สนุกมือ ซึ่งสำหรับ โจ วอลช์ แล้ว ผมว่าเขาไว้ผมยาวราวฮิปปี้ยุคดอกไม้บานแบบนี้ดูเท่กว่าสมัยที่ไว้ผมสั้น สวมแว่นเบี้ยวๆ เล่นโซโลกีตาร์เยอะเลย
โจ วอลช์
จากนั้นเวทีมืดลงไปชั่ววูบ ก่อนที่สปอร์ตไลท์จะยิงจับไปยังทีมงานแบ๊คอัพกับการเดี่ยวทรัมเป็ตอินเทอร์ลูดสั้นๆ ชนิดให้แฟนเพลงลุ้นกันว่าจะนำส่งเข้าเพลงอะไร?

และพอเล่นปิ๊คกิ้ง Bm คอร์ดแรก มาเท่านั้นแหละ แฟนเพลงกรี๊ดกันสนั่นฮอลล์ ใช่แล้ว เพราะมันคือเพลง “Hotel California” อันลือลั่น งานนี้น้าดอนที่เห็นเล่นกีตาร์อยู่แหม็บๆ พาร่างอันจ้ำม่ำขึ้นไปตีกลองซะแล้ว แน่นอนว่า ถ้าไม่ตีกลองร้องเพลงโฮเทลก็เสียยี่ห้อน้าดอนหมด

น่าเสียดายที่คอนเสิร์ตครั้งนี้เสียงเบสบางเบาไปนิด ทำให้เสียงริทึ่มเบสมันๆของน้าทิมในเพลงนี้ถูกกลบไปเกือบหมด แต่กับช่วงโซโลกีตาร์นั้นยังคงยอดเยี่ยมเหมือนเดิม

และนับจากนี้ไปเป็นคิวของเพลงเก่า ที่เรียกเสียงกรี๊ดจากแฟนเพลงอายุไล่เลี่ยกับสมาชิกของวงได้เป็นอย่างดี ไล่ไปด้วย“Peaceful Easy Feeling” กับคันทรีสบายๆสไตล์น้าเกลน “I Can’t Tell You Why” ที่เปิดให้น้าทิมมาดเท่เป็นพระเอกอีกกับเพลงฮิตอันดับหนึ่งประจำตัวของแกในน้ำเสียงสบายๆกับโหนสูงเพราะๆในบางช่วง โดยมีน้าเกลนผันตัวไปเล่นคีย์บอร์ดคลอไปตลอด ก่อนตบท้ายด้วยลูฏโวโลหวานๆของมือกีตาร์แบ๊คอัพ ก่อนตามด้วย “Witchy Woman” ที่น้าดอนตีกลองไปร้องเพลงไปในจังหวะสนุกๆ

ตามต่อกันด้วย“Lyin’Eyes”,”Boys Of Summer”,“In The City” และ “The Long Run” ที่วงพญาอินทรีสามารถสร้างความชื่นมื่นไปกับบทเพลงย้อนยุคได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนจะพักเบรก 15 นาที ให้คนดูเข้าห้องน้ำห้องท่า เพราะคอนเสิร์ตนี้เล่นกันย๊าววววววววววว

กลับมาสู่ครึ่งหลังที่ราคาแมนฯยูยังต่อลูกครึ่งเหมือนเดิม อ้าวเอ้ย!!! ผิดงาน กลับมาสู่ครึ่งหลัง คอนเสิร์ตยังคงแบ่งเป็น 2 พาร์ทเหมือนครึ่งแรก

พาร์ทแรกมาแบบเบาๆสบายๆในกลิ่นอายอะคูสติก เปิดนำด้วย “No More Walks in the Wood” ที่เป็นการร้องประสานโชว์ลีลาเฉพาะตัวของพญาอินทรีอีกครั้ง ก่อนจัดเพลงสบายๆในอัลบั้มล่าสุดมาอีก 2 เพลง คือ “Waiting In The Weeds” และ “No More Cloudy Days” ช่วงต่อมาอีเกิ้ลส์ดึงอารมณ์ย้อนยุคกลับไปหาเพลงเก่าอีกครั้ง เริ่มจาก “Love Will Keep Us Alive”, “Best Of My Love” และ “Take It To The Limit” กับลีลาการร้องนำสลับเสียงประสานอันยอดเยี่ยม
ทิโมธี บี ชมิท
ส่วนพาร์ทสองอีเกิ้ลส์ดึงกลับเข้ามาสู่ภาคเครื่องไฟฟ้าอีกครั้ง ผสมด้วยทีมเครื่องเป่าอันหนาแน่น โดยในช่วงท้ายนี้ถือเป็นช่วงของน้าโจเลยก็ว่าได้ เพราะแกทั้งร้อง ทั้ง ตี(คอร์ด) ขยี้ ลีด สไลด์ กีตาร์มันๆให้ฟังกันหลายเพลงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น “Walk Away” กับการตีคอร์ดและโซโลขยี้สายมันๆ ส่วน “Life’s Been Good” และ “Funk 49” น้าโจเล่นบลูส์ร็อคกับลีลาการโซโลมันๆเร้าใจตามสไตล์ถนัดของแก ในขณะที่เพลงอื่นๆในพาร์ทสองนอกจากของน้าโจแล้วก็มี “Long Road Out Of Eden”, “Somebody”, “Dirty Laundry” และ “Heartache Tonight” ก่อนที่จะปิดท้ายกันด้วยร็อคมันๆกับ “Life In The Fast Lane”

แน่นอนว่างานนี้ต้องมีอังกอร์ เพราะอีก 2 เพลงฮิตที่คนไทยรู้จักกันดียังไม่ได้เล่น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา อีเกิ้ลส์หายไปหลังเวทีแผล็บเดียวก่อนกับมาพร้อมเสียงกรี๊ดสนั่นจากแฟนเพลงด้วย “Take It Easy” ที่ไม่ว่าเล่นกี่ทีก็ยังคงเจ๋งเหมือนเดิม ก่อนล่ำลากันแบบซึ้งๆด้วย “Desperado” ที่บรรดาแฟนเพลงร้องคลอตามกันลั่นฮอลล์ ปิดท้ายคอนเสิร์ตอันยาวนานกว่า 3 ชั่วโมงกันอย่างเต็มอิ่มจุใจ สมศักดิ์ศรีวงพญาอินทรีอีเกิ้ลส์ ที่แม้วันนี้สมาชิก 4 ประสานของวงจะมีอายุอานามไม่ใช่น้อยแล้ว แต่พวกเขายามเมื่ออยู่บนเวทีคอนเสิร์ตยังคงดูเก่ง เก๋า และมีพลังไฟในดนตรีอย่างเหลือเฟือ

น้าเกลน ยังคงดูอารมณ์ดี และเอนเตอร์เทนต์แฟนเพลงได้ไม่มียุบ

น้าดอน แม้ความหล่อความเท่จะลดน้อยลงสวนทางกับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น แต่เขายังคงเส้นคงวาในการทำหน้าที่ แถมทำหน้าที่หลากหลายทั้งร้อง เล่นกีตาร์ ตีกลอง และเพอร์คัสชั่น

น้าทิม แม้จะผอมซูบแต่แกยังผมสาวสลวยดูเท่เหมือนเดิม ที่สำคัญคือแกอ้อนแฟนเพลงชาวไทยได้เก่งมาก ทั้งลีลาการไหว้ การพยายามพูดภาษาไทยอย่าง “สวัสดีครับ” “ขอบคุณครับ” หรือ กับประโยคเด็ดอย่าง “ผมรักคนไทย” ที่ได้ใจแฟนเพลงไปเต็มๆ

ส่วนน้าโจนี่ผมยกให้มาที่หนึ่ง เพราะแกยังคงซ่าและบ้าพลังไม่ต่างจากสมัยหนุ่มๆ

นอกจากนี้ทุกคนยังคงเสียงดีไม่มีตก โดยเฉพาะยามร้องประสานเสียงนี่ถือเป็นทีเด็ดเลย ในขณะที่วงแบ็คอัพนั้นก็เล่นได้สมมาตรฐานระดับโลก ที่สำคัญคือวงอีเกิ้ลส์กับทีมงานสามารถจัดการกับระบบเสียงปราบเซียนในอิมแพ็คได้อยู่หมัด แม้จะไม่เพอร์เฟ็คมากมาย แต่งานนี้ไม่มีเสียงตีกันเหมือนเด็กช่างกล ทำให้ฟังแล้วไม่ระคายหูเหมือนหลายคอนเสิร์ตที่ผ่านมา

นับได้ว่านี่เป็นอีกหนึ่งคอนเสิร์ตที่แฟนเพลงส่วนใหญ่ต่างทะลักล้นในความสุขสมอารมณ์หมาย ต่อฝีมืออันแก่กล้าของวงพญาอินทรีวงนี้

แถมแฟนเพลงหลายๆคนยังบ่นเสียอีกว่า เวลากว่า 3 ชั่วโมงของคนเสิร์ตนั้นมันช่างผ่านไปไวเหลือเกิน

ในขณะที่ก็มีแฟนเพลงบางคนบ่นไปไกลกว่าว่า

...เวลาร่วม 40 ปีที่ฟังเพลงของอีเกิ้ลส์ ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นมาจนถึงวันนี้ มันช่างผ่านไปไวเหลือเกิน...

***********************************************************

หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก บีอีซี-เทโรฯ

***********************************************************
ข่าวดนตรี

ม.มหิดลชวนร่วมงาน “รัชกาลที่ 6 กับการดนตรี”

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสครบรอบ 100 ปี บรมราชาภิเษกสมโภช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรม งานประชุมวิชาการดนตรีวิทยา เรื่อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี

ภายในงานแสดงประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี ที่ทรงก่อตั้ง ทั้งงานดนตรีไทย ดนตรีฝรั่ง และงานกรมมหรสพมีทั้งเรื่องการสร้างศิลปินทุกสาขาจำนวนมาก ล้วนมีทั้งฝีมือและความรอบรู้ สามารถในงานศิลปะ จนได้สืบสานการเป็นครูเป็นแบบอย่างให้ศิลปะการแสดงของชาติมั่นคงอยู่ได้ ทั้งตกทอดมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติจนถึงทุกวันนี้ โดยจัดรูปแบบเป็นนิทรรศการ และการเสวนาความรู้ 2 วัน ได้แก่

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 ตั้งแต่เวลา 8.00-21.00 น. พบการเสนอบทความวิชาการเรื่องดนตรีและการแสดงสมัยรัชกาลที่ 6 ครั้งอดีตที่คนรุ่นปัจจุบันอาจไม่รู้จัก อาทิเช่น พระราชนิพนธ์เสภา เรื่อง พญาราชวังสัน, งานพระราชนิพนธ์เบิกโรง, งานพระราชนิยม “วงเครื่องสายผสมเปียโนฝ่ายใน ราชสำนักรัชกาลที่ 6, การเสวนาเรื่อง “ละครเพลงร้อง 6 เรื่อง ในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6”, ผลงานวิจัย “เพลงตับเรื่องพระนาละ” งานพระราชนิพนธ์ อายุกว่า 100 ปี ที่ค้นพบจากแผ่นเสียงโบราณ พร้อมรับฟังการขับร้องและบรรเลงบทเพลงไทยสากลบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 โดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (TPO)

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 8.00-16.30 รับฟังประวัติศาสตร์ กำเนิดเพลงดนตรี ครั้งรัชกาลที่ 6 ที่หาฟังได้ยาก อาทิเช่น ประวัติ “ครูผู้สอนดนตรีฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 6” อย่าง หมื่นคำรณพิฆาต, หมื่นอำนาจไพรี, ขุนดนตรีบรรเลง, ทูลกระหม่อมบริพัตร, หลวงวาทิตบรเทศ (แดง), Alberto Nazzari หรือ พระประดิษฐ์ไพเราะ (เอ.วัน วาระศิริ), พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) การเสวนาโรงเรียนพรานหลวงและกำเนิดวงเครื่องสายฝรั่งหลวง “มหาอุปรากรในสมัยรัชกาลที่ 6”, เสวนา “ดัมแครมโบ” พระราชนิยมการละเล่นในราชสำนักรัชกาลที่ 6” เรื่อง “สมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯกับกำเนิดภาพยนตร์ไทย”

สำหรับกิจกรรมนี้จัดขึ้น ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดล ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-800-2525 ต่อ 153-4 หรือ www.music.mahidol.ac.th
กำลังโหลดความคิดเห็น