xs
xsm
sm
md
lg

ที่มาแห่งความปัญญาอ่อนของละครเย็นช่อง 7/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

หลังเยิ่นเย้อมานานจนเลอะเทอะ ในที่สุดก็จบลงจนได้ สำหรับละครเย็นของช่อง 7 อย่าง "คุณชายตำระเบิด" ที่มีหนุ่มเติ้ล ตะวัน จารุจินดา รับบทเป็น ไอ้เผือก มือตำส้มตำระดับพระกาฬ ประกบกับน้องทับทิม อัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์ ในบทของ จิ้งหรีด

ผมเองจะมีโอกาสได้ชมละครเรื่องนี้(ตลอดจนละครเย็นเรื่องอื่นๆ)ก็ต่อเมื่อกลับไปบ้านที่สระบุรีในวันหยุดวันเสาร์ครับ เหตุเพราะช่วงเวลาดังกล่าวรีโมตทีวีนั้นจะตกไปอยู่ในการยึดครองของผู้เป็นมารดา

ไม่รู้ว่าคนที่ดูละครเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะรู้สึกอย่างไรนะครับ แต่ผมดู คุณชายตำระเบิด ที่แม่เป็นคนเปิดไปดูทีไรเป็นต้องเกิดความรู้สึกน่ารำคาญขึ้นมาเมื่อนั้น

คนที่ชอบละครเรื่องนี้อยู่จะโกรธ จะเคือง จะไม่พอใจก็ไม่ว่ากันครับ เพราะมันรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ

โดยเฉพาะในช่วงหลังจากที่ละครทำท่าจะจบไปแล้วเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกระแสเรตติ้งค่อนข้างจะดีหรือเปล่าถึงทำให้ละครเรื่องนี้ถูกยืดออกมากระทั่งทำให้เนื้อหาที่แรกๆ ก็ดูสะเปะสะปะอยู่แล้วยิ่งดูไร้ทิศไร้ทางเข้าไปใหญ่

ดูกี่ตอนกี่ตอนก็ไม่เห็นเรื่องราวจะก้าวหน้าไปไหนเสียที

เมื่อครั้งที่ได้ยินชื่อละครเรื่องนี้ ผมก็นึกว่ามันจะเป็นละครที่เกี่ยวกับการห้ำหั่นกันเพื่อชิงความเป็นจ้าวแห่งการตำส้มตำ คล้ายกับการ์ตูนเกี่ยวกับอาหารอย่าง จอมโหดกระทะเหล็ก, ไอ้หนูซูชิ, ยอดเชฟครัวท่านทูต, เซียนบะหมี่สีรุ้ง, ยอดกุ๊กแดนมังกร ฯ ที่นอกจากจะทำให้คนเสพเกิดแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาอยากทำหรืออยากทานอาหารชนิดนั้นๆ แล้วก็มักจะแฝงเรื่องอื่นๆ เข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมานะพยายาม การฝันฝ่าเพื่อเอาชนะปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามา เรื่องของมิตรภาพ ความรัก ความผูกพันธ์ ต่างๆ นานา

แรกๆ ดูเหมือน คุณชายตำระเบิด ก็เหมือนจะเป็นแบบนั้นนิดๆ แหละครับ เพราะเห็นมีแข่งชิงแชมป์ส้มตำอะไรกัน ทว่าเอาเข้าจริงๆ ก็เข้าอีหรอบเดียวกับละครไทยหลายๆ เรื่อง คือแก่นเรื่องอยู่ที่ตัวละครที่วุ่นวายอยู่กับการอยากมีผัว มีเมีย แถมเรื่องนี้ยังมีทั้งผี มีพระเอกปลอมตัวไปอยู่กับนางเอก มีนางเอกปลอมเป็นทอมมาอยู่กับพระเอกโดยที่พระเอกไม่รู้ มีนางอิจฉาที่วันๆ ไม่ทำอะไรจ้องแต่จะจับสามีของพี่สาว ฯ

ไม่ใช่ คุณชายตำะเบิด เรื่องเดียวครับที่ผมรู้สึกว่าดูแล้วน่ารำคาญ หากแต่ยังรวมไปถึงละครเย็นอีกหลายเรื่องของช่อง 7 ในรอบปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น "บ้านนาคาเฟ่" (ผลิตโดย บ.กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำแสดงโดย รพีภัทร เอกพันธ์กุล, ชวัลกร วรรธนพิสิฐกุล, ธาราเขต เพ็ชรสุกใส), "ปอบอพาร์ตเมนต์" (ผลิตโดย บ.พอดีคำ จำกัด นำแสดงโดย ตะวัน จารุจินดา, กัญญา รัตนเพชร์) รวมไปถึง "แม่ศรีไพร" (ผลิตโดย บ.นพพรโปรโมชั่น แอนด์ พิคเจอร์ จำกัด นำแสดงโดย อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร, จีรนันท์ มะโนแจ่ม)

โดยเฉพาะเรื่องหลัง แม่ศรีไพร นี่ต้องบอกว่าสุดๆ ของความโคตรจะน่ารำคาญในความเยิ่นเย้อยืดยาด เนื้อหาที่วกวนเวียนไปมา ไม่ได้มีสาระแก่นสาร ซึ่งทำให้ผมรู้สึกเสียดายในความสามารถทางการแสดงของคู่พระ-นางอย่างคุณอัษฎาวุธ กับคุณยุ้ย จีรนันท์ ซึ่งผมว่าทั้งสองนั้นเป็นคนที่มีฝีมือในการแสดงอยู่พอสมควร

แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกนะครับ ทั้งที่เป็นเช่นนี้ ปรากฏว่าละครทั้งสองเรื่องอย่าง คุณชายตำระเบิด กับ แม่ศรีไพร กลับเป็นละครเย็นที่มีจำนวนตอนในการออกอากาศมากที่สุดถึง 70 กว่าตอน หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือละครได้รับความนิยมค่อนข้างจะดีนั่นเอง

ขณะที่ละครเย็นเรื่องอื่นที่ผมคิดว่าพอดูได้อย่าง "เพลงรักทะเลใต้" ที่ผลิตโดย บ.พอดีคำ จำกัด นำแสดงโดย ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์, ปุณยาพร พูลพิพัฒน์ กลับมีจำนวนตอนในการออกอากาศเพียง 30 ตอนเท่านั้น

แน่นอนว่าด้วยจำนวนของระยะเวลาในการออกอากาศตรงนี้ส่วนหนึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า "กลุ่มคน" ที่ติดตามดูละครในช่วงเย็นนี้มีรสนิยมต้องการละครเช่นไร? และเป็นคนกลุ่มไหนเป็นหลัก?

ผมเข้าใจครับว่าตลาดคนดูของช่อง 7 คือชาวบ้าน+แม่บ้านตามต่างจังหวัดเสียเป็นส่วนใหญ่ แล้วผมก็เข้าใจด้วยครับว่าคนเหล่านี้ค่อนข้างจะชอบอะไรที่มันไม่สลับซับซ้อน ดูละครก็เพราะต้องการผ่อนคลายความเครียดเป็นหลัก เพราะตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

แต่ทั้งนี้ต้องก็เข้าใจนะครับว่ามันมีแตกต่างกันเมากหลือเกินระหว่างความเป็นละครในรูปแบบ "เบาปัญญา" กับละครที่มีคุณภาพ "ปัญญาอ่อน"

จริงอยู่ที่นี่คือช่วงเวลาของละครเนื้อหา "เบาสมอง" ที่มุ่งเน้นความเฮฮาความสนุกสนานเป็นหลัก แต่ที่ไม่เข้าใจก็คือทำไมผู้ผลิตทั้งหลายถึงได้ทำงานที่เหมือนกับเป็นการดูถูกกลุ่มเป้าหมายของตนเองโดยการทำราวกับว่าคนเหล่านั้น "ไม่มีสมอง" ทั้งๆ ที่เครื่องไม้เครื่องมือตลอดจนบุคลากรเบื้องหลัง ดาราที่อยู่เบื้องหน้าต่างก็ล้วนแล้วแต่มีศักยภาพที่ผมคิดว่าสามารถทำละครที่ดูดีกว่านี้ได้

คนที่ดูละครอาจจะไม่รู้สึกถึงตรงนั้น แต่ผมว่าบรรดาคุณๆ ผู้ผลิตย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าตนเองทำอะไรอยู่ หรือทำงานให้เกียรติกับคนที่จะเสพผลงานของตนเองขนาดไหน

ไม่เชื่อลองไปเอาละครอย่าง แม่ศรีไพร หรือ คุณชายตำระเบิด มาย้อนดูได้เลยว่ามันเป็นละครที่น่ารำคาญ ดูแล้วชวนให้รู้สึกถึงความปัญญาอ่อนของผู้ผลิตเพียงใด

บางคนอาจจะบอกว่าจะคิดอะไรมากกับละครแนวเบาสมองที่มุ่งเน้นความสนุก เอาฮาเป็นหลัก ไม่เห็นจะต้องมีสาระ มีอะไรมาสลับซับซ้อนให้วุ่นวาย ซึ่งก็ใช่ครับ แต่ทำไมกับละครในแนวเดียวกันแต่เป็นของช่องอื่นหรือจะเป็นของช่อง 7 เองในช่วงเสาร์-อาทิตย์ มันถึงได้ดูดีกว่าละครเย็นเหล่านี้ล่ะครับ

ไม่นับไปถึงซีรี่ส์บางเรื่องของต่างประเทศที่เราอาจจะดูไปยิ้มไป หัวเราะไปด้วยความสนุกสนาน แต่ครั้นพอดูจบ เรากลับมาพบว่า เอ๊ะ...นี่เรื่องนี้มันมีสาระตรงนี้แฝงอยู่ด้วยนี่หว่า ทำไมตอนที่ดูเราถึงไม่รู้สึกถึงเลยวะ

คำตอบง่ายๆ ก็คือมันอยู่ที่ความใส่ใจ ความตั้งใจ การทำงานอย่างมีระบบเบียบแผนผ่านการระดมความคิดเห็น ตลอดจนความจริงใจของผู้ผลิตเองครับที่ว่าอยากจะให้คนดูนั้นได้เสพงานเช่นไร

โดยส่วนตัวผมมีความรู้สึกว่าละครเย็นของช่อง 7 มันเหมือนกับตั้งอยู่บนโจทย์ของการทำงานง่ายๆ ที่ว่า ไม่ต้องลงทุนมาก ขอให้มีเรื่องราวเนื้อหาที่เกี่ยวกับบรรยากาศต่างจังหวัด ตลาดร้านค้าชนบท มีตัวละครหลักๆ คือพระเอก-นางเอก ตัวโกง-ตัวอิจฉา ที่สำคัญก็คือจะต้องเน้นตลกไว้ก่อน และหากจับพลัดจับผลูละครได้รับความนิยม คนดูติดขึ้นมา ก็ไม่มีปัญหาหากจะหาเรื่องหาราวหาอะไรยัดใส่เข้ามาเพื่อให้ละครยืดออกไป ซึ่งตรงนี้นี่เองที่ทำให้ตรงที่เป็น "แก่นแกน" ของเรื่องที่ควรจะยึดจับไม่มี การทำงานการผลิตทุกอย่างถูกวางไว้แบบหลวมๆ พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานะการณ์และความพึงพอใจของคนทำ

ที่สำคัญเท่าที่ผมสังเกตละครเย็นของช่อง 7 ก็คือตัวละครแต่ละตัวไม่ว่าจะเล่นเป็น พ่อค้า-แม่ค้า ผู้ใหญ่บ้าน ครู ตำรวจ นักศึกษา คนรับใช้ คุณนาย นักธุรกิจ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับแท็กซี่ เจ้าของโรงสี ฯ ต่างก็ไม่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกว่าเขาและเธอเล่นเป็นตัวละครตัวนั้นๆ จริงๆ เนื่องจากเกือบทุกตัวนั้นต่างก็มีบุคลิกเหมือนคนปัญญาอ่อนเหมือนกันหมด

ไม่ใช่ว่าทุกตัวละครที่ว่าจะต้องมาซีเรียจรักษาภาพของความเป็นจริง ตรงนั้นเป็นส่วนของคาแรกเตอร์ที่เป็นเรื่องของปลีกย่อยครับ คือจะเป็นกำนันนิสัยติ๊งต๊อง จะเป็นครูสุดเอ๋อ จะเป็นคนใช้จอมแก่น แม่ค้าจอมยียวน อะไรก็ได้ แต่โดยพื้นฐานต้องทำให้คนดูเข้าถึงตรงนั้นโดยผ่านจากความรู้สึกให้ได้ ไม่ใช่ผ่านด้วยสายตาจากเสื้อผ้าและอุปกรณ์ประกอบ เช่น ใครเล่นเป็นผู้ใหญ่บ้าน-กำนันบ้าน ต้องแขวนพระเต็มคอ สาวบ้านนาต้องนุ่งผ้าถุง หนุ่มลูกทุ่งต้องใส่เสื้อลายสก็อต ฯ

สำคัญนะครับกับการทำให้คนดูรู้สึก "อิน" เพราะหากไม่เกิดอารมณ์ตรงนี้ต่อให้เขียนพล็อตไว้ซะสนุกสนานก็จะกลายเป็นความติ๊งต๊อง? กลายเป็นว่าเอาแค่ขอให้มีสถานการณ์อะไรขึ้นมาแล้วก็สนุกกัน เอาแค่ได้ฮากันพอให้จบไปตอนๆ

เอากันง่ายๆ อย่าง "ลิเก" เราก็รู้ว่าก็คนธรรมดานี่แหละที่เล่น ใช่กษัตริย์ ใช่พระโอรส ใช่เจ้าเมืองเชื้อเจ้าใช่อะไรที่ไหน แต่ทำไมลิเกบางคณะ ลิเกบางคนถึงสามารถทำให้เหล่าบรรดาพ่อยก-แม่ยกต้องหัวเราะไปกับตัวตลก รู้สึกเกลียดตัวโกง สงสารนางเอก-พระเอกที่ต้องโดนเนรเทศออกมาจากเมืองเพราะถูกตัวอิจฉาใส่ร้ายได้

เขียนถึงเรื่องนี้ก็ไม่ได้มุ่งหวังว่าช่อง 7 จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในช่วงของละครเย็นนะครับ เพียงแต่นานวันเข้าผมชักเริ่มจะไม่แน่ใจแล้วว่า การที่ช่อง 7 ยังคงมีละครเย็นแนวนี้ออกมาอยู่เรื่อยๆ นั้นเป็นเพราะว่าทางช่องเองตลอดจนผู้ผลิตมองว่าแนวทางละครช่วงเย็นแนวทางนี้มาถูกทาง ตรงกับรสนิยมของกลุ่มเป้าหมาย สามารถตอบสนองความชอบความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้

...หรือเป็นเพราะไม่สามารถคิด-ผลิตงานที่มันดี ที่มันสร้างสรรค์ไปกว่านี้ได้แล้วกันแน่?
กำลังโหลดความคิดเห็น