xs
xsm
sm
md
lg

หนังดีๆ ที่มีเคราะห์กรรม & 'บ้านฉัน..ประท้วงไว้ก่อน พ่อ(แม้ว)สอนไว้'/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


อีเมล์ : apnunt@yahoo.com

ถ้าค่ายหนังอย่างจีทีเอชเคยทำให้คนไทยเคลิบเคลิ้มไปกับสภาวะที่เรียกว่า “ถวิลหาคืนวันอันเก่าก่อน” (Nostalgia) จากภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน คำถามที่น่าสนใจก็คือว่า แล้วในบรรดา 6 ผู้กำกับที่ร่วมกันสร้างหนังระดับตำนานอย่างแฟนฉันขึ้นมาล่ะ ใครคนไหนที่ถือได้ว่ามีสภาวะแบบ Nostalgia มากกว่าใครเพื่อน


แน่นอนครับ วัดจากเนื้องาน เขาคนนั้นจะเป็นอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ “บอล-วิทยา ทองอยู่ยง”

ผมรู้สึกว่า ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นๆ หันไปทำหนังที่ดู “แตกต่างออกไป” พอสมควรจากงานแจ้งเกิดอย่างแฟนฉัน แต่บอล-วิทยา ดูเหมือนจะยังสนุกอยู่กับการแคะคุ้ยเอาความทรงจำและความหลังครั้งเก่ามาบอกเล่าเป็นหนังได้ไม่รู้หมด

โอเคล่ะ ต่อให้แกล้งลืมๆ ไปก่อนก็ได้ว่า หนังที่พูดถึงความรักและความหลังอย่างแฟนฉันนั้น จริงๆ แล้ว ก็มีต้นทางมาจากเรื่องสั้นชื่อ “อยากบอกเธอ รักครั้งแรก” ซึ่งบอล-วิทยา เขียนไปแขวนไว้บนเว็บไซต์ของคณะสมัยเรียนนิเทศศาสตร์อยู่จุฬาฯ...ผลงานฉายเดี่ยวเรื่องแรกของบอล-วิทยา อย่าง “เก๋า...เก๋า” ก็คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่บอกกล่าวเล่าโยงไปถึงโมงยามแห่งอดีตเช่นเดียวกัน

โดยส่วนตัว ผมชอบคนที่มีอดีต แต่ไม่ใช่จมอยู่กับอดีต หากแต่มองอดีตด้วยสายตาที่เข้าอกเข้าใจ ในชีวิต ผมพบเห็นทั้งคนซึ่งลืมอดีตของตัวเองแบบที่คนเรียกกันว่าลืมกำพืดมาจำนวนหนึ่ง รวมถึงคนที่มองอดีตแบบผู้เจ็บแค้นไม่ยอมปล่อยวาง แต่นั่นคงไม่ใช่บอล-วิทยา ทองอยู่ยง เพราะอดีตที่เขาหยิบมาเล่าให้เราเห็น มันมีหลากแง่หลายมุม บางช่วงก็สวยงาม บางโมงยามก็เจ็บปวด มีสนุกและน่าเบื่อ มีสุขสมและสูญเสีย คละเคล้ากันไป

และไม่มากไม่มาย ผมคิดว่า เรื่องราวในหนังเรื่องใหม่ของเขาซึ่งมี “เมษ ธราธร” มานั่งกำกับร่วม อย่าง “บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้)” นั้น ยังคงไว้ซึ่งลายเซ็นแบบบอล-วิทยา อย่างเด่นชัด ในแง่ที่พาคนดูกลับไปสู่ความหลังครั้งเก่าก่อน

เหตุการณ์ในหนังน่าจะย้อนหลังไปสักราวๆ 15-20 ปีที่แล้ว หรือไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้นเท่าไรนัก มันคือยุคเฟื่องฟูของตลกคาเฟ่ จนอาจจะกล่าวได้ว่าการได้เป็นตลกถือเป็นความฝันอย่างหนึ่งของคนยุคนั้นเลยก็ว่าได้ ดังนั้นแล้ว จะป่วยกล่าวไปไย ที่เด็กผู้ชายซึ่งเติบใหญ่มาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นตลกแท้ๆ อย่าง “ต๊อก” (ชวิน ลิขิตเจริญพงษ์) จะไม่มีความนึกฝันเช่นนั้น แต่ก็อีกนั่นแหละ พูดไปก็เหมือน “บุญมีแต่กรรมบัง” เพราะทั้งๆ ที่มีสายเลือดตลกอยู่ในตัว แต่ทว่าต๊อกดูเหมือนจะไม่มีพรสวรรค์ในด้านการเล่นตลกเลย

แม้ชื่อของ “ต๊อก” จะฟังดูคล้ายๆ “ล้อต๊อก” แต่ความตลกของเขาไม่ได้แม้ส่วนเสี้ยวของตลกชั้นครูผู้ล่วงลับเลย เล่นมุกไหนแป้กมุกนั้น หรือพูดกันจริงๆ เลยก็คือ แม้แต่น้องสาวคนเล็กจอมแก่นอย่าง “ม่อน” (ณิชาพัชร์ จารุรัตนวารี) ยังทิ้งห่างเขาไปแบบไม่เห็นฝุ่น ยามเมื่อขึ้นเวทีเล่นตลก (จริงๆ ชื่อเล่นเต็มๆ ของต๊อก ไม่ควรจะเป็น “ล้อต๊อก” แต่น่าจะเป็น “ต๊อกต๋อย” มากกว่า เพราะถ้าเขายึดอาชีพตลก มีหวังได้เดินเตะฝุ่นต๊อกต๋อยแน่ๆ เพราะเขาคือตัวตลกที่สอบตกเรื่องความฮาโดยสิ้นเชิง)

แต่พูดก็พูดเถอะ ไอ้มุกแป้กๆ ที่ต๊อกเล่นนั้นมันตลกนักแลสำหรับคนดูหนัง ซึ่งก็ต้องยอมรับกันล่ะครับว่า ความตั้งใจของบอล-วิทยา ที่บอกว่าจะใช้มุกฝืดๆ มาทำให้คนดูขำนั้น ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง ผมว่าอย่างน้อยๆ ไอเดียเขาแตกต่างไปจากหนังตลกทั่วๆ ไปที่มักจะสรรหามุกตลกที่คิดว่า “ดีที่สุด” มาขายคนดู แต่สำหรับ “บ้านฉันฯ” มันคือการหยิบเอามุกที่ดู “ฝืดที่สุด” มาใช้ แต่อารมณ์ที่ได้ มันกลับกลายเป็นความฮา เหมือนกับตอนที่เพื่อนบางคนเล่นมุกแป้กแล้วเราขำ ฉันใดก็ฉันนั้น

แต่เอาล่ะ ในขณะที่หนังใช้สอยมุกฝืดๆ ของเด็กชายเป็นเครื่องมือในการทำให้คนดูฮานั้น ผมรู้สึกว่า “ต๊อก” มีบางแง่บางมุมที่ชวนให้นึกไปถึง “เจี๊ยบ” ในหนังแฟนฉันอย่างมีนัยยะ เพราะในขณะที่ “เจี๊ยบ” ดูเป็นเด็กผู้ชายที่รู้สึก “แปลกแยก” จากการถูกเพื่อนๆ ในกลุ่มไม่ให้การยอมรับและถูกกีดกันออกจากกลุ่มจนเขาต้อง “กระทำการ” บางอย่างเพื่อให้ตัวเองได้เข้าพวกด้วย (ซึ่งกลับกลายเป็นการทำร้ายคนที่ตัวเองรักอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์)

ต๊อกก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ความรู้สึกแปลกแยกนั้น ไม่ได้มีที่มาจากเพื่อนร่วมวัย แต่เป็นผู้ใหญ่ในสังคมตลกที่มักจะมองเขาด้วยสายตาตลกๆ (พูดง่ายๆ ก็คือ มองเขาเป็นตัวตลกที่ไม่ตลกนั่นแหละท่าน!?!?) และที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ การที่ต๊อก “รู้สึกว่า” ตัวเองไม่มีค่าในสายตาของพ่อเลย

ก็คงคล้ายๆ กับเจี๊ยบในแฟนฉันที่อยากให้ตัวเองได้รับการยอมรับในหมู่เพื่อนๆ ต๊อกเองซึ่งมีพ่อเป็นต้นแบบก็อยากให้พ่อรักและภาคภูมิใจในตัวเขา แต่ครั้งแล้วครั้งเล่า ความพยายามของเขาก็ดูเหมือนจะไร้ผล มุกตลกมุกแล้วมุกเล่าทำเอาพ่อ “ฮากริบ” ได้ตลอด

อย่างไรก็ดี ชีวิตที่ดูเซ็งๆ ซึมๆ ของต๊อกนั้นก็ดูจะมีสีสันขึ้นมาทันที หลังได้พบ “หมอน้ำแข็ง” หมอสิวแสนสวยประจำคลินิกที่ได้หัวใจของต๊อกไปตั้งแต่แรกเห็น

แม้พูดกันตามจริง หมอน้ำแข็งอาจจะไม่ใช่ “เสาหลัก” ของหนัง แต่ก็มีบทบาทอย่างมากมายต่อความเปลี่ยนแปลงของเด็กผู้ชาย อย่างน้อยที่สุด เธอก็เหมือนจิ๊กซอว์ที่เข้ามาต่อเติมช่องว่างในใจของต๊อกให้เต็ม จาก “ตัวตลก” ที่ไม่ฮาเอาซะเลยในสายตาพ่อและคนอื่นๆ นั้น คุณหมอแสนสวยทำให้ต๊อกรู้ว่า มุกตลกของเขายังไม่แป้กซะทีเดียว และเขาเริ่มตระหนักว่าตัวเองไม่ได้ “ไร้ค่า” อย่างที่เคยรู้สึก

แน่นอนล่ะว่า ในด้านหนึ่ง หนังอาจจะมีรายละเอียดที่ดูโอเว่อร์ๆ ไม่น่าเชื่อไปบ้าง (อย่างให้ต๊อกนั่งรถเข้ากรุงเทพฯ ไปบ้านหมอน้ำแข็ง ฯลฯ) แต่ความจริงที่ทำให้หลายๆ คนนึกย้อนไปถึงวัยเยาว์ของตัวเองได้แบบขำๆ ก็คือ หมอน้ำแข็งนั้นก็คงไม่ต่างไปจากหญิงสาวต่างวัยข้างบ้าน หรือเด็กหนุ่มรุ่นพี่บางคนที่เราเคยแอบชอบในตอนเป็นเด็ก ตอนที่สิวเม็ดแรกแทรกขึ้นบนพื้นผิวของใบหน้า

มันเป็น “ความรัก” ซึ่งเดินทางมาในวันวัยที่แม้กระทั่งคำว่ารักคืออะไร เราก็ยังไม่รู้ความหมายของมันแม้แต่น้อย สิ่งที่รู้มีอยู่เพียงอย่างเดียวก็คือว่า มันเป็นความงดงามอย่างหนึ่งที่เราได้รู้สึกแบบนั้น

อันที่จริง ผมคิดว่า ด้วยทิศทางของตัวละคร คนดูก็น่าจะเดาทางได้ประมาณหนึ่งว่า เนื้อหาที่เกี่ยวกับต๊อกคงจะไปจบที่ปลายทาง คือการก้าวผ่านวันวัย (Coming of Age) ของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง แต่หนังก็ทำให้ผู้ชมสนุกและรื่นรมย์ได้กับกระบวนการก่อนที่จะเกิด “การเปลี่ยนผ่านทางความคิด” ของต๊อก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าทีเอาจริงเอาจังเพื่อจะพิชิตหัวใจหญิงสาวให้ได้นั้น มันเป็นทั้งความ “น่าขัน” และ “งดงาม” ไปด้วยในขณะเดียวกัน

น่าขัน...เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าต่างวัยครั้งนี้ มันเป็นไปไม่ได้แน่ๆ แต่ “ตัวตลก” ของเราก็ยังคิดเป็นตุเป็นตะว่ามันจะเป็นจริง

และงดงาม...เพราะมันสะท้อนให้เห็นโมงยามของความรู้สึกรักที่คนๆ หนึ่งสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่าง (นั่งรถทางไกลเพื่อไปหา หรือฝ่าดงสุนัขดุเพื่อไปบ้านเธอ) เพื่อให้คนอีกคนได้รับรู้ถึงความรักที่มี...

แต่ก็เหมือนกับหนังในแบบ Coming of Age ทั่วๆ ไป (คัมมิ่งออฟเอจ คือหนังที่พูดถึงการก้าวผ่านวัยวัยและเติบโตทางความคิด) ที่มันมักจะมีเงี่อนไขหรือปัจจัยอะไรบางอย่างที่นำไปสู่การเติบโตทางความคิดเสมอๆ บางคนอาจต้องสูญเสียคนที่รักก่อนถึงจะเข้าใจความหมายของชีวิต ขณะที่อีกคนอาจต้องพบการอกหัก ถึงจะรู้ว่ารักคืออะไร ผมคิดว่า การที่คุณหมอแสนสวยผ่านเข้ามาในชีวิตของต๊อก จริงๆ มันก็เหมือนเงื่อนไขอันหนึ่งซึ่งสุดท้ายแล้ว มันได้นำไปสู่การเติบโตขึ้นอีกขั้นของเด็กชาย ไม่ใช่ทางร่างกาย แต่เป็นจิตใจและความคิดความอ่าน

เหมือนเด็กผู้ชายสี่คนในหนัง Stand By Me ที่การออกจากบ้านเพื่อตามหาศพเด็กในหน้าร้อนปีนั้น ทำให้ระดับสายตาในการมองโลกมองชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป ผมเชื่อว่า หลังจากอะไรๆ ผ่านพ้นไปแล้ว ต๊อกก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

และที่สำคัญ ไม่ว่า “ผู้หญิงจะชอบผู้ชายตลก” อย่างที่พ่อต๊อกบอกจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ผมว่าคนส่วนใหญ่น่าจะชอบหนังเรื่องนี้ และสำหรับผม บอล-วิทยา กับเพื่อนอีกคน คือเมษ ธราธร สร้างหนังเรื่องนี้ได้ลงตัวกว่าตอนที่ทำ “เก๋า...เก๋า” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหาที่แตกตัวเองออกไปให้ขบคิดได้หลากทิศหลายทาง ทั้งเรื่องความสัมพันธ์พ่อลูก เรื่องรักครั้งแรก ไปจนการเติบโตและก้าวผ่านวันวัย ฯลฯ แต่ทั้งหมดนั้น ก็ผสมผสานกันออกมาได้อย่างกลมกล่อมลงตัว นั่นยังไม่ต้องพูดถึงมุกตลกที่แทบจะเรียกได้ว่า เบิ้ลสามมุกได้ในหนึ่งนาทีเลยทีเดียว

และถ้ามันจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผมยังไม่ได้เอ่ยปากชมก็คือ การแสดงของทุกๆ คนในเรื่อง คือถ้าไม่นับรวมน้องม่อนตัวเล็กนั้น บทของคุณจตุรงค์ ม๊กจ๊ก ก็โดดเด่นชนิดที่พูดได้ว่าไปยืนบนเวทีรางวัลรอชิงตำแหน่งนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมได้เลย

อย่างไรก็ดี ถ้ามันจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผมเสียดายแทนจีทีเอชอยู่บ้าง ก็คงเกี่ยวกับจังหวะที่หนังเรื่องนี้เข้าฉายซึ่งอาจจะทำให้ “บอล-วิทยา กับเพื่อนอีกคน” ตกที่นั่งเดียวกันกับต๊อก เพราะทั้งๆ ที่คุณภาพของหนังจัดได้ว่า “เกือบๆ จะยอดเยี่ยม” อยู่แล้ว และมีโอกาสลุ้นเป็นหนังร้อยล้านได้สบายๆ แต่หนังกลับได้เข้าฉายในสัปดาห์ที่ผู้คนไม่อยากจะออกจากบ้าน เพราะพากันลุ้นอย่างหวาดระแวงอยู่กับ “หนังดังอีกเรื่อง” ที่โปรโมตโฆษณาซะใหญ่โตมโหฬารจนชาวกรุงไม่กล้าออกนอกบ้าน

เพราะหนังดังอาจไม่ใช่หนังดี และหนังดีๆ ก็อาจไม่ใช่หนังดัง แต่หนังดังเรื่องนี้ก็มีชื่อยาวๆ ว่า “บ้านฉัน ประท้วงไว้ก่อน (พ่อแม้วสอนไว้)” กองถ่ายหลักอยู่แถวๆ ถนนราชดำเนิน และมีกองถ่ายย่อยๆ กระจายอยู่หรอมแหรมตามจุดต่างๆ ขณะที่ผู้กำกับหน้าสี่เหลี่ยมคอยสั่งคัทอยู่อีกซีกโลก

เคราะห์ก๊ำ เคราะห์กรรม (ถ้ามุกนี้ไม่ขำ หรือว่าแป้ก ผมจะให้ต๊อกยืมไปเล่น ฮา...)








กำลังโหลดความคิดเห็น