xs
xsm
sm
md
lg

‘ธรรมดาเกินไป’ สำหรับชายที่ชื่อทิม เบอร์ตัน : Alice in Wonderland/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


อีเมล์ : apnunt@yahoo.com

แฟนคลับ ทิม เบอร์ตัน อย่าเพิ่งร้อนอกร้อนใจไปนะครับ เมื่อได้เห็นชื่อบทความของผมข้างต้นซึ่งอ่านดูแล้ว สามารถทำให้คิดไปได้ว่า หนังเรื่องนี้ของผู้กำกับจอมจินตนาการ เป็นงานที่ไม่ได้เรื่อง ในทางตรงกันข้าม ถ้าตีความซ้ำอีกรอบ คุณจะพบว่า ถ้อยคำดังกล่าวของผมนั้น แฝงไว้ด้วยความนับถือชื่นชมต่อตัวของผู้กำกับคนนี้อยู่อย่างมากมาย

นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า ผมเองก็เหมือนกับคุณๆ อีกจำนวนไม่น้อยที่ “ติดสอยห้อยตาม” เป็นแฟนหนังของทิม เบอร์ตัน มาครบทุกเรื่อง จนบอกกับตัวเองได้ว่า เขานี่แหละ คืออีกหนึ่งผู้กำกับที่อยู่ในใจเสมอ

ทิม เบอร์ตัน มักจะมีอะไรๆ ที่ “ไม่ธรรมดา” ชักพาให้เรารู้สึกทึ่งได้เสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในด้านการปรุงแต่งโลกแห่งจินตนาการของเขานั้น นอกจากจะ “กว้าง” และ “ไกล” อย่างที่คนทั่วๆ ไป มักจะ “คิดไม่ถึง” เนื้อหาแนวคิดที่เขาเล่าถึง ก็ยังดูฉีกออกไปกว่าหนังแฟนตาซีทั่วๆ ไปที่ส่วนใหญ่ ถ้าไม่ตอบสนองความรู้สึกเชิงพาฝันของผู้คนที่อยากจะหลุดพ้นไปจากโลกจริงอันน่าเบื่อสู่การผจญภัยในโลกอีกใบที่ตื่นเต้นกว่า ก็เป็นหนังแฟนตาซีประเภทพร่ำสอนคติธรรมทำนองว่า ธรรมะย่อมชนะอธรรม ผ่านการต่อสู้ของตัวละครฝ่ายดีกับฝ่ายร้ายที่แบ่งขั้วแยกข้างกันอย่างชัดเจน

ผมคิดว่า ที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความรักและชอบในหนังของทิม เบอร์ตัน น่าจะเป็นเพราะเขาไม่เคยกลัวที่จะนำเอาเนื้อหาหม่นๆ มัวๆ มาใส่ไว้ในหนังแฟนตาซี ซึ่งตามความเชื่อ หนังแนวนี้ ควรเน้นให้เห็นความสดใสมีชีวิตชีวาและมีความหวังมากกว่าจะสะท้อนอะไรที่ชวนให้รู้สึกจิตตกหดหู่
แต่สำหรับทิม เบอร์ตัน หาได้เป็นเช่นนั้น เพราะเขาเคยทำให้นกเพนกวินที่น่ารักน่าชัง กลายเป็นกองทัพนรกที่ยกพลขนระเบิดพร้อมจะไปบอมบ์เมืองก็อตแธ่มใน Batman Returns (ซึ่งมาพร้อมกับแนวคิดที่น่าตกใจแบบว่า “ถ้าเป็นคนดีแล้วมันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมา ก็เป็นคนเลวแม่มมันซะเลย” ผ่านตัวละครอย่างแค็ท วูแมน) ขณะที่ใน Corpse Bride เขาก็ทำให้วันวิวาห์ซึ่งน่าจะเป็นวันชื่นคืนสุข กลับกลายเป็นห้วงเวลาแห่งความทุกข์ระทมตั้งแต่เมืองคนไปจนถึงเมืองผี นั่นยังไม่นับรวมถึงงานอีกจำนวนหนึ่งอย่าง Sleepy Hallow, Edward Scissorhand หรือ Sweeney Todd ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถจัดเข้าข่าย “ป่วย หลอน และมืดมนหม่นเศร้า” ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ต้องพูดถึงการพามนุษย์ดาวอังคารอย่าง Mars Attacks!! (หนังล้อเลียน Independence Day) นั่นอีกที่สะท้อนความบ้าหลุดโลกในแบบทิม เบอร์ตัน ได้เป็นอย่างดี

โอเคล่ะ เราอาจจะเคยเห็นการพร่ำสอนคติธรรมอย่างทื่อๆ ตรงไปตรงมาแบบนี้ ในผลงานของทิม เบอร์ตัน มาบ้าง อย่างในเรื่อง Charlie and the Chocolate Factory หรือหนังสดใสสไตล์ฟีลล์กู๊ดแบบ Fig Fish แต่ทั้งสองเรื่อง ต่างก็มีแง่มุมที่แลดู “ไม่สดใส” แทรกอยู่อย่างสัมผัสจับต้องได้ อย่างใน Charlieฯ ที่นำเสนอภาพของเด็กเกเรได้ “เลวร้าย” น่ากระทืบซะจริงๆ เช่นเดียวกับ Big Fish ที่แม้ภาพรวมจะดูเป็นหนังฟีลล์กู๊ด แต่กว่าจะฟีลล์กู๊ดได้ ก็ Feel Bad ไปก่อนอย่างมากมายแล้ว
ผมคิดว่ามันก็คงเหมือนกับตอนที่เราคิดถึงคนทำหนังอย่าง เควนติน ทารันติโน แล้วภาพของความยียวนกวนโอ๊ยจะโผล่เข้ามาในหัว หรือพอนึกถึงหนังเรื่องใหม่ของไมเคิล มัวร์ แล้วก็เกิดคำถามในใจว่า “ไอ้หมอนี่ มันจะมาแฉอะไรอีก(วะ)?” ทำนองเดียวกัน พอนึกหน้าทิม เบอร์ตัน หนังที่มีเนื้อหาหม่นๆ มัวๆ ดูหดหู่ไร้ความหวัง ก็คล้ายๆ จะเป็น “ลายเซ็น” ที่โดดเด่นอย่างถึงที่สุดของผู้กำกับคนนี้ เช่นเดียวกับอารมณ์ขันในชั้นเชิงตลกร้ายที่ฟังแล้วชวนปวดหัวใจซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถเก็บเกี่ยวได้เสมอๆ จากงานของทิม เบอร์ตัน

แต่ทั้งหมดนั้น อาจไม่ใช่คำนิยามที่จะสามารถหยิบเอามาใช้ได้กับงานชิ้นใหม่ของทิม เบอร์ตัน อย่าง Alice in Wonderland

อันที่จริง ตั้งแต่รู้ว่า ทิม เบอร์ตัน มาทำหนังให้กับวอลต์ ดิสนี่ย์ ผมก็นึกอยู่ในใจแล้วว่าสไตล์การ์ตูนของดิสนี่ย์มันน่าจะส่งผลสะเทือนต่อตัวตนและเนื้องานของทิม เบอร์ตัน บ้าง ไม่มากก็น้อย และความคาดเดานั้นก็คลาดเคลื่อนไปไม่กี่เซ็นฯ เพราะเท่าที่เห็น พูดกันตามจริงเลย ขณะดูหนังเรื่องนี้ ผมรู้สึกราวกับว่า ผู้กำกับได้ถอดเสื้อคลุมของทิม เบอร์ตัน ออก แล้วสวมใส่เสื้อผ้าของวอลต์ ดิสนี่ย์ เข้าไปแทน ในตอนที่สร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมา

และพูดแบบนี้ ไม่ได้จะบอกนะครับว่า Alice in Wonderland เป็นหนังไม่ดีเพราะมันเดินตามแบบของวอลต์ ดิสนี่ย์ แล้วที่สำคัญ ใครกันหรือจะกล้าบอกว่าหนังของดิสนี่ย์มีแต่หนังห่วยๆ และ Alice in Wonderland ก็เป็นหนังที่ “ดูดี” ในแบบดิสนี่ย์ที่เด็กๆ ดูได้ ผู้ใหญ่ดูก็ดี บทหนังมีพัฒนาการและเส้นเรื่องที่จับต้องได้ การเล่าเรื่องก็ต่อเนื่องเชื่อมโยง มีเหตุมีผลที่มาที่ไป ไม่มีอะไรให้รู้สึกว่า “น่าสงสัย” หรือ “เกิดคำถาม” ส่วนเทคนิคงานด้านภาพหรือวิช่วลเอฟเฟคต์ที่ตระการตาของอันเดอร์แลนด์ (อ่านไม่ผิดครับ เพราะที่จริง ดินแดนดังกล่าวชื่อว่าอันเดอร์แลนด์ แต่สำหรับอลิซ มันคือ “วันเดอร์แลน”) ทิม เบอร์ตัน ก็ยังคงรักษาความเป็นเลิศในด้านนี้ไว้ได้เช่นเดิม

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผมเคยชอบในหนังเรื่องอื่นๆ ของทิม เบอร์ตัน ก็คือ ตัวละครเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาใส่เข้ามาได้อย่างมีสีสันและเติมเต็มอารมณ์ของหนังให้มีชีวิตชีวา อย่างเช่น เจ้าหนอนน้อยตัวเขียวๆ ใน Corpse Bride หรืออุมป้า ลุมป้าใน Charlie and the Chocolate Factory และสำหรับเรื่องนี้ สิ่งที่เคยชอบเหล่านั้นก็ยังมีอยู่ แม้จะเป็นตัวละครที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว (ทั้งในหนังสือ และแอนิเมชั่นเวอร์ชั่นปี 1951) อย่างพวกกระต่ายมีนา กระต่ายขาว เจ้าฝาแฝดทวีเดิ้ลดีและทวีเดิ้ลดัม หนูดอร์เมาส์ หรือแม้กระทั่งบรรดากบที่เป็นองครักษ์ราชินีโพธิ์แดง แต่ตัวละครเล็กๆ เหล่านี้ก็ยังทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองแต่ละตัวที่ช่วยขับเคลื่อนให้หนังในหลายๆ ช่วงดำเนินไปได้แบบสนุกสนาน

พ้นไปจากนั้น สิ่งที่ผมคิดว่าหนังทำออกมาได้ค่อนข้างดีมากๆ ก็คือเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวละครหลักอย่าง “อลิซ” ซึ่งหนังเล่าถึงเธอในเวลา 13 ปีต่อมา หลังจากหลุดเข้าไปในดินแดนวันเดอร์แลนด์คราวก่อน อลิซ (มีอา วาชีคอฟสก้า) ในวัย 23 ปี คือหญิงสาวหน้าตาดีและโตเต็มวัยพอที่จะสร้างครอบครัวได้ และกำลังจะได้รับการหมั้นหมายจากชายหนุ่มผู้มั่งคั่งคนหนึ่ง

บอกกล่าวเล่าความอีกเล็กน้อยว่า อลิซนั้นเติบโตมาในท่ามกลางสังคมของผู้รากมากดีที่ดูเคร่งครัดเจ้ากี้เจ้าการ ไร้จินตนาการ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับหญิงสาวช่างฝันอย่างอลิซที่ดูเป็นสาวรักอิสระล้ำยุคล้ำสมัย ไม่ชอบอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่บีบรัดชวนอึดอัด เช่นเดียวกับการเลือกคู่ที่หญิงสาวไม่สามารถใช้สิทธิ์เสียงเองได้ ต้องตามใจพ่อแม่ อลิซก็ไม่ต่างไปจากนั้น แต่ว่าขณะที่เธอกำลังจะถูกจับคลุมถุงชนอยู่รอมร่อนั่นเอง กระต่ายน้อยตัวหนึ่งก็มาปรากฏตัวและพาเธอหลุดเข้าไปในแดนมหัศจรรย์ในโพรงกระต่ายอีกครั้งหนึ่ง

อาจจะมีคนใจร้ายสักคนบอกว่า จริงๆ แล้ว มันไม่มีหรอก แดนอัศจรรย์ที่ว่าน่ะ ทั้งหมดที่เห็นมันก็เป็นแค่โลกในความฝันของหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งหล่นลงไปหัวกระแทกพื้นในโพรงกระต่ายแล้วสลบสไล ก่อนจะ “ฝันไป” เท่านั้นแหละ แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังมองว่า สิ่งที่อลิซเวอร์ชั่นของทิม เบอร์ตัน พูดได้ชัดถ้อยคำชัดคำมากๆ ก็คือ เรื่องของอิสรเสรีภาพซึ่งทุกๆ ควรจะได้ใช้สอยมัน ไม่ว่าจะเป็นเสรีในการ “มีชีวิต” หรือแม้แต่เสรีในการ “มีคู่ชีวิต”

เอาล่ะ ก็ในเมื่อทั้งหมดที่ว่ามัน มันก็น่าจะ “ดี” อยู่แล้วมิใช่หรือ? แน่นอนครับ ผมไม่ได้พูดถึงว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่ที่บอกว่า “ธรรมดาเกินไป” นั้น ก็เนื่องมาจากเอกลักษณ์และอรรถรสในแบบของหนังทิม เบอร์ตัน ล้วนๆ ซึ่งมันเหมือนจะไม่ได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างเต็มที่ในงานชิ้นนี้

คือถ้าไม่นับรวมพวกอารมณ์ขันซึ่งมีอยู่เพียงประปราย ผมว่าทิม เบอร์ตัน เองก็ดูจะ “ยั้งมือ” พอสมควรกับตัวละครอย่าง “แมด แฮทเตอร์” (จอห์นนี่ เด็ปป์ นักแสดงที่ถือเป็นดาราคู่บุญของทิม เบอร์ตัน เหมือนกันกับที่โรเบิร์ต เดอนิโร คือมือข้างขวาของมาร์ติน สกอร์เซซี่) ผมรู้สึกว่าคุณแมดของคุณทิม ยังไม่ “แมด” (Mad) หรือบ้าเพี้ยนสมชื่อพอ คือมันยังดูก้ำๆ กึ่งๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวละครในทางเดียวกันกับตอนที่จอห์นนี่ เด็ปป์ เล่นเป็นเจ้าของโรงงานช็อกโกแล็ตอย่างวิลลี่ วองก้า ใน Charlie and the Chocolate Factory นั้นดูจะเป็นต่ออยู่หลายช่วงตัว

ไม่ได้บอกว่าจอห์นนี่ เด็ปป์ เล่นไม่ดีหรือว่าอะไรนะครับ แต่แค่เห็นว่า คาแรกเตอร์ของเขายังอนุญาตให้เพี้ยนและมีบทเด่นๆ ซีนเด็ดๆ กว่านี้ได้อีก พูดง่ายๆ คือผมมองว่า เขาไม่ค่อยมีความรุ่มรวยทางบุคลิกอะไรมากไปกว่าผู้ชายที่รอคอยการกลับมาของอลิซด้วยการนั่งละเลียดชากับกระต่ายมีนาและหนูดอร์เมาส์

และ “ความรุ่มรวย” ที่ว่านี้ ก็รวมไปถึงเรื่องราวในหนังที่ชวนให้รู้สึกถึงการ “ออมมือ” ของทิม เบอร์ตัน ด้วยเช่นกัน เราจะเห็นว่าบทหนังมี “ทางเดิน” ทางเดียวเด่นชัด นั่นก็คือหาวิธีการปราบเหล่าร้ายให้พ่ายแพ้ และหนังก็นำเสนอกระบวนการนี้แบบ “เพียวๆ” ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งมันผิดวิสัยทิม เบอร์ตัน ที่รักของผมยิ่งนัก

เปรียบเทียบง่ายๆ อย่าง Batman Returns หนังก็พูดถึงการปราบปรามเหล่าร้ายคล้ายๆ กัน และเราก็รู้ตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วล่ะว่า ฮีโร่อย่างแบ็ทแมนต้องปราบตัวโกงได้สำเร็จแน่ๆ แต่ในระหว่างก่อนที่จะปราบได้นั้น หนังก็ยังสามารถแตกบทออกไปพูดถึงอะไรต่อมิอะไรได้อีกหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิสัยใจคอมนุษย์ ความละโมบโลภมากเห็นแก่ได้จนเป็นภัยแก่ตัวเอง หรือแม้แต่การสร้างภาพหลอกชาวบ้านแบบนักการเมืองเลวๆ ฯลฯ

คงเหมือนหลายๆ คน ผมคิดว่าสาเหตุที่ Alice in Wonderland มัน “เรียบง่ายธรรมดา” ถึงเพียงนั้น อาจจะเพราะความต้องการของทางค่ายเป็นหลักที่อยากให้หนังจัดอยู่ในกลุ่มที่ผู้ใหญ่สามารถหอบลูกจูงหลานไปดูได้โดยไม่ต้องกลัว “พิษภัยแอบแฝง” ใดๆ แทรกซึมเข้าไปในใจของเด็กๆ

ดังนั้น Alice in Wonderland เวอร์ชั่นนี้ที่เราเห็น มันจึงดูไม่ต่างไปจากหนังแฟนตาซีประเภทเอาใจเด็กๆ ทั่วไป อย่างพวก Narnia ที่ตัวละครหลักจะต้องหลุดเข้าไปในดินแดนแปลกๆ แล้วทำหน้าที่เป็น “อัศวิน” ช่วยปราบเหล่าร้ายในดินแดนแห่งนั้น ซึ่งกระบวนการก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าค้นหา “ของวิเศษ” ให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปเชือดคอตัวโกง

แต่คำถามก็คือ สไตล์แบบนั้น มันใช่ “ทิม เบอร์ตัน” จริงๆ หรือ?









กำลังโหลดความคิดเห็น