xs
xsm
sm
md
lg

พังประตูห้อง...Who Are You? : 'หนังที่ดูไม่รู้เรื่อง'!!/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


อีเมล์ : apnunt@yahoo.com

นับตั้งแต่เริ่มต้นเขียนคอลัมน์นี้มาเป็นเวลาร่วมๆ 2 ปี นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่มีผู้อ่านอีเมล์มาพูดคุยกับผมมากที่สุด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้น มีจุดร่วมที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวหนังที่ไม่เคลียร์คัทชัดเจน ซึ่งถ้าไม่นับรวมคุณๆ หลายคนที่ถามมาว่า หนังต้องการจะสื่ออะไร ก็ยังมีอีกหลายท่านเหมือนกันที่บ่นให้ฟังว่า ดูหนังไม่รู้เรื่อง

อันที่จริง ต้องสารภาพตามตรงเลยครับว่า ขณะที่ดู ผมก็งงๆ อยู่เหมือนกันกับรายละเอียดบางอย่างในหนังซึ่งสร้างความรู้สึกน่าสงสัย อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับล่ะครับว่า ความสนุกของการดูหนังเรื่องนี้ก็อยู่ที่ตรงนี้ล่ะ คือดูจบแล้วได้มานั่งคิดถึงมันและทำความเข้าใจมันอีกต่อหนึ่ง

ผมไม่ได้มีอคติอะไรเลยครับกับ “ความบันเทิงสำเร็จรูป” ที่ป้อนทุกอย่างให้กับคนดูผู้ชมโดยไม่ต้องคิดอะไร คือดูจบแล้วเข้าใจ กลับบ้านไปด้วยความปลอดโปร่ง แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าความบันเทิงนั้นสามารถกระตุ้นให้เราได้ใช้สอยรอยหยักในสมองบ้าง ก็น่าจะดีกว่าการ “มีหัวไว้ใส่หมวก” เพียงอย่างเดียว

การได้ดูหนังอย่าง The Science of Sleep เอย Eyes Wide Shut เอย Swimming Pool เอย หรือแม้แต่หนังทางฝั่งยุโรปเกือบทุกเรื่องที่ได้รับกล่าวขวัญว่า “ดูยาก” (หรือกระทั่งดูไม่รู้เรื่อง) ความสนุกของมันก็อยู่ตรงที่ “ความไม่สำเร็จรูป” นี่แหละครับ

...ความไม่สำเร็จรูป ซึ่งคนดูจำเป็นต้องใช้ “เครื่องไม้เครื่องมือ” ที่มีอยู่ในตัวเอง (มุมมองความคิด ประสบการณ์ พื้นฐานความรู้ ฯลฯ) ไปทำความเข้าใจกับมัน...

พูดแบบนี้ ไม่ได้จะบอกนะครับว่า หนังอย่าง Who Are You? เป็นหนังที่ดูยาก อาร์ตแตก หรือต้องไต่บันไดขึ้นไปดูถึงจะรู้เรื่อง ตรงกันข้าม ผมว่ามันเป็นหนังที่ดูง่ายที่สุดเรื่องหนึ่ง เท่าๆ กับที่เนื้อหาของมันก็พูดเรื่องง่ายๆ ที่พบเห็นได้ในโลกแห่งความเป็นจริงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงแต่สิ่งที่มันทำให้มึนงงสงกา ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องของ “รายละเอียด” บางอย่างบางประการมากกว่าที่เป็นเสมือนหมอกม่านบังตาให้หลายๆ คน “เข้าไม่ถึง” หนังเรื่องนี้

ครับ, นี่คือผลงานการกำกับเรื่องที่ 4 ของคุณภาคภูมิ วงษ์จินดา (ฟอร์มาลีนแมน, วิดีโอคลิป, รับน้องสยองขวัญ) จุดศูนย์กลางของเรื่องราวอยู่ที่ “นิดา” (สินจัย เปล่งพานิช) แม่ม่ายวัยกลางคนผู้ประกอบอาชีพขายหนังแผ่น เธอมีลูกชายหนึ่งคนชื่อ “ต้น” แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา “ต้น” ขลุกตัวเองอยู่แต่ในห้อง ไม่ยอมออกไปไหน เวลาที่ต้องการหรือไม่ต้องการอะไร ก็ติดต่อกับแม่โดยการเขียนข้อความใส่กระดาษแล้วสอดลอดออกมาทางช่องประตู ขณะที่ชาวบ้านในย่านนั้นก็ร่ำลือกันไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับต้น บ้างก็ว่าเห็นต้นชอบออกมาเดินตอนดึกๆ บ้างก็ว่าต้นย้ายไปอยู่กับพ่อที่มีเมียใหม่แล้วหรือเปล่า เล่ากันไปลือกันมา จนที่สุดแล้ว ก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่า ใครกันแน่ที่อยู่ในห้องชั้นบนของบ้านหลังนั้น?

มันก็เป็นคำถามเดียวกันกับที่คุณผู้อ่านหลายๆ ท่าน ถามผมมาทางอีเมล์ ซึ่งผมก็จะตอบเท่าที่ความรู้เอื้ออำนวย แต่บอกกันสั้นๆ ตรงนี้เลยว่า คนที่อยู่ในห้อง ไม่ใช่ “ต้น” แน่นอน และยิ่งไม่ใช่เจ้าตัวซีจีหน้าตาประหลาดๆ ตัวนั้นอีกต่างหาก แต่ใครกันล่ะที่อยู่ในห้องจริงๆ ผมมีบางความเห็น ในกรณีที่คุณไม่กลัวการสปอยล์

มองกันอย่างผิวเผินที่สุด ผมว่าหนังเรื่องนี้ก็ไม่ต่างไปจากหนังอีกร้อยๆ เรื่องในตลาดที่พยายามสะท้อนให้เห็นปัญหาร่วมสมัยบางประการ โดยที่ Who Are You? เลือกที่จะพูดถึงเด็กแบบหนึ่งซึ่งตกอยู่ในอาการ “ฮิคิโคโมริ” มันเป็นสภาวะของเด็กแบบหนึ่งซึ่งแยกตัวออกไปจากสังคมแล้วสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมาแล้วก็หมกอยู่แต่ในนั้น อาการก็คล้ายๆ กับ “ต้น” ที่วันๆ อยู่แต่ในห้อง เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์

ซึ่งในความเป็นจริง มันอาจจะมีปัจจัยหลายอย่างหลายประการที่หล่อหลอมให้เกิดเด็กแบบนี้ขึ้นมา แต่ถึงกระนั้น ปัจจัยแบบหนึ่งซึ่งหนังเรื่องนี้สะท้อนออกมาให้เรารู้ก็คือ สภาพครอบครัว (พ่อแม่ผู้ปกครอง) ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว (เพื่อนวัยเดียวกัน) นั้นมีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นคนเก็บตัว ไม่ว่าจะในกรณีของ “ต้น” หรือเด็กสาวข้างบ้านอย่าง “ป่าน” (กัญญา รัตนเพชร) เราจะเห็นว่าปัญหาของทั้งสองคนล้วนมีต้นทางไม่ต่างกัน

“ต้น” เกลียดแม่ที่จู้จี้ขี้บ่นและมักจะถูกเพื่อนๆ ล้อเลียนอยู่เรื่อยๆ เช่นเดียวกับ “ป่าน” ที่นอกจากจะโดนเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้งสารพัด ตอนอยู่บ้าน เธอยังรู้สึกว่าแม่ให้ความสำคัญกับแฟนใหม่มากกว่า ซึ่งแน่นอนครับว่า สิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงผลักดันอย่างยิ่งยวดให้เขาและเธอกลายเป็น “เด็กติดห้อง” ไม่อยากสุงสิงกับโลกภายนอกอีกต่อไปในที่สุด

ดังนั้น ชั้นที่ผิวเผินที่สุดที่คนดูจะจับต้องสัมผัสได้จากหนังเรื่องนี้ ก็คือ ความรักความอบอุ่นในครอบครัวตลอดจนสังคมที่แวดล้อมนั้น มีพลังอย่างมหาศาลในการที่จะทำให้ “เด็ก” กลายไปเป็นแบบใดแบบหนึ่งซึ่งไม่พึงปรารถนา อาจจะติดยา ติดเกมส์ ฯลฯ หรือแม้แต่เป็น “ฮิคิโคโมริ”

แต่ก็อีกนั่นแหละ ทุกสิ่งทุกอย่างมันควรจะได้บทสรุปที่เรียบง่ายแบบนั้นที่พูดมา ถ้าเพียงแต่หนังจะไม่นำเสนอประเด็นซ้อนทับขึ้นมาอีกหนึ่งชั้น และมันก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับตัวละครของคุณนก-สินจัย (นี่คือบทที่ดีอย่างไม่อาจปฏิเสธอีกบทหนึ่งของเธอ หลังจาก “รักแห่งสยาม”)

เราจะเห็นตั้งแต่ต้นๆ เรื่องว่า นิดานั้นได้พาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับสมาคมไสยศาสตร์ที่ชื่อว่า “จีรัง ยั่งยืน” ซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจของพลังจิตที่สามารถกำหนดให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ใจต้องการได้ ซึ่งถ้าพลังจิตกล้าแกร่งพอ แม้แต่ตัดสินสอด้วยกระดาษก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้

สิ่งที่ต้องใส่ใจให้มากในส่วนนี้ก็คือ กรณีตัวอย่างอันน่าอัศจรรย์ที่หัวหน้าสมาคมหยิบมาเล่าให้เหล่าสาวกฟังเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งซึ่งหลังจากประสบอุบัติและความจำเสื่อม ซึ่งหมอใช้วิธีการรักษาเขาโดยสอนให้เขาเชื่อว่าเขาเป็นผู้หญิง จนกระทั่งเขา “เชื่อ” แบบนั้นอย่างสนิทใจ แล้วไอ้ความเชื่อนี้เองก็ทำให้เขา (คิดว่าตัวเอง) เป็นเหมือนผู้หญิงทั่วๆ ไป มีประจำเดือนและแต่งงานมีลูก ก่อนจะถูกสืบพบในภายหลังว่าไม่ได้เป็นผู้หญิงจริง ยังความเสียใจให้กับเขาถึงขั้นฆ่าตัวตายไปในที่สุด และเมื่อเขาตาย ลูกๆ ก็ตายตามไปด้วย

ยังไม่ต้องไปพิสูจน์ว่า เรื่องที่เล่ามา จริงหรือเท็จ แต่ย้อนกลับมาที่นิดา เรื่องที่ว่านั้น มันส่งผลต่อเธออย่างมหาศาล จนถึงขั้นที่เธอ “เอาอย่าง” ด้วยการเสกสร้างโลกขึ้นมาอีกใบ มันคือโลกที่เธอ “เชื่อ” ว่าลูกของเธอยังมีชีวิตอยู่

ผมรู้สึกว่า ในขณะที่หนังดูเหมือนจะโยนสภาพความเป็นฮิคิโคโมริให้กับ “ต้น” หรือไม่ก็ “ป่าน” นั้น คนที่ควรจะเป็น “ฮิคิโคโมริ” ตัวจริงเสียงจริง น่าจะเป็น “นิดา” มากกว่า เพราะภาวะของเธอที่ไม่ยอมรับว่าลูกตายไปแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกันเลยกับเด็กฮิคิโคโมริที่ตัดขาดตัวเองออกไปจากโลกแห่งความเป็นจริง แล้วสิงตัวเองอยู่ในโลกอีกใบ ไม่ให้ใครอื่นเข้าไปยุ่มย่าม มากกว่านั้น ยังพยายามปกป้องโลกใบนั้นไว้แบบหัวชนฝา ซึ่งการพยายามปกป้องที่ว่านี้ ก็แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดตอนที่สามีเก่า (บี๋-ธีระพงษ์ เหลียวรักวงษ์) ผู้ซึ่งอุตส่าห์มาให้อนุสติแก่เธอว่า “ต้น” นั้นไม่ได้ชีวิตอยู่แล้วในโลกนี้ แต่นิดาก็ยังดื้อดึงที่จะเชื่อว่า “โลกที่เธอสร้างขึ้น” นั้นคือความจริง

พูดมาถึงตรงนี้ ผมคิดว่า คำว่า “ใคร” ในชื่อหนังนั้น เอาเข้าจริงๆ อาจไม่ได้หมายถึง “กอลลัม” (ที่เป็นผลผลิตของอำนาจพลังจิตของนิดาหรือเกิดจากอารมณ์แฟนตาซีของผู้กำกับก็ตามที) และไม่ได้หมายถึงใครอื่นใดทั้งสิ้น เพราะที่อยู่ “...ในห้อง” ตัวจริง ก็คือนิดาเองนั่นแหละ เพียงแต่ห้องที่เธออยู่ มันอาจจะไม่ใช่ห้องที่มีผนังปิดกั้นเหมือนห้องทั่วๆ ไป แต่มันเป็น “ห้องหับแห่งความเชื่อ” ที่เธอปิดประตูหน้าต่างมิดชิดและกักขังตัวเองไว้ในนั้นอย่างไม่ยอมเปิดประตูออกไปยอมรับกับ “ความจริง”!!

หรือถ้าจะลองตีความกันเล่นๆ คำว่า “ห้อง” ในชื่อหนัง บางที ก็อาจจะสื่อถึง “ความเชื่อ” ได้เช่นกัน เพราะถ้าห้องหมายถึงสถานที่ที่เราจะอาศัยอยู่ในนั้นได้อย่างรู้สึกปลอดภัย ความเชื่อก็ไม่คงต่างกันนั้น นั่นหมายความว่า ความเชื่อแบบใดทำให้เรารู้สึกอุ่นใจและเป็นสุข เราก็จะพักพิงตัวเองอยู่ในความเชื่อแบบนั้นเหมือนคนที่พักอยู่ในห้องที่ปลอดภัย

และไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกผิดบาปที่ตนเป็นต้นเหตุหนึ่งแห่งการสูญเสียลูกชายหรือด้วยอะไรก็ตาม แต่นิดาก็ได้สร้าง “ห้องส่วนตัว” ขึ้นมา (และสร้างตัวกอลลัมด้วย) มันคือห้องแห่งความเชื่อของเธอ ที่พอมีใครเข้าไปก้าวก่าย เธอก็ต้องป้องกัน เหมือนกับโดมที่ต้องเจอดีเพราะดันไปยุ่มย่ามกับห้องของนิดา มันคงคล้ายๆ กับคนที่ “พิทักษ์” ความเชื่อของตัวเองนั่นแหละครับ ไม่มีใครอยากให้ความเชื่อของตัวเองต้องสั่นคลอน แต่ที่น่าเศร้าก็คือว่า วิธีพิทักษ์ความเชื่อของนิดานั้น มันจบลงด้วยเรื่องร้ายๆ อย่างที่เห็น ความตายของโดมเอย สามีเก่าของนิดาเอย หรือแม้แต่หญิงสาวอย่างตาลเอย จริงๆ ก็คือผลพวงจากการพยายาม “รักษาความเชื่อของตัวเองไว้” ของนิดาทั้งสิ้น

นี่แหละครับคือความเยี่ยมยอดของบทหนังซึ่งเขียนโดยคุณเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ มือเขียนบทหนังจาก 13 เกมสยอง และบอดี้ ศพ#19 (หมายเหตุตัวโตๆ ไว้ตรงนี้เลยครับว่า มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ไม่ได้ร่วมเขียนบทด้วยอย่างที่หลายๆ สื่อนำเสนอ) คุณเอกสิทธิ์ให้ Who are You? เป็นเสมือนเสียงหนึ่งซึ่งบอกเล่าสิ่งที่มีอิทธิพลต่อคนเราอย่างมาก นั่นก็คือ “ความเชื่อ” พร้อมกับตรวจสอบผลพวงที่ตามมาจากการยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อนั้นๆ ซึ่งพร้อมจะให้คุณหรือให้โทษได้ทุกเมื่อ หากมันไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริง

ความเชื่อของนิดา ที่สุดแล้ว ก็ไม่ต่างไปจากความเชื่ออีกหลายๆ อย่างในโลก ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางศาสนาลัทธิ ความเชื่อเรื่องเผ่าพันธุ์สีผิว หรือแม้แต่ความเชื่อทางการเมือง ที่ก็ล้วนแล้วแต่กลายมาเป็น “ต้นทาง” ให้มนุษย์เข่นฆ่าทำร้ายกันไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ (เช่นเดียวกัน บางประเทศที่กำลังวุ่นวายอยู่ในตอนนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจาก “ความเชื่อ” ว่าอดีตนักการเมืองผู้หนึ่งเป็นคนดีไม่มีความผิดและยึดติดอยู่กับความเชื่อนั้น เช่นเดียวกัน)

เอาเถอะ ไม่ว่าจะอย่างไร ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผมเสียดายแทนหนังเรื่องนี้อยู่บ้าง ก็คงเกี่ยวกับการนำเสนอภาพของการมี “ความเชื่อแบบหลงผิดขั้นรุนแรง” พอที่จะทำร้ายตัวเองและคนอื่นได้ของนิดานั้น หนังยังทำได้ไม่จะแจ้งเพียงพอ ฉาก 2 ฉาก (คือตอนที่โดมจะเข้าไปดูในห้อง แต่นิดาห้ามไว้ กับตอนที่สามีเก่าเล่าความจริง แต่นิดาไม่เชื่อ) มันอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะ “ปกปิด” และ “ปกป้อง” ความเชื่อของตัวเองของนิดาได้อยู่ แต่ผมว่ามันก็ยังดูน้อยเกินไปสำหรับการที่จะสื่อให้คนดูเกิดความเข้าอกเข้าใจในตัวตนและความคิดของตัวละครตัวนี้อย่างถ่องแท้ พูดง่ายๆ ก็คือว่า หนังยังไม่สามารถทำให้คนดูรู้สึกได้อย่างแจ่มชัดว่า นิดานั้นเป็นคนที่ “เชื่ออย่างดื้อดึง” จนทำให้เรื่องต่างๆ มันลุกลามบานปลายอย่างที่เห็น

และเหนือสิ่งอื่นใดเลยก็คือ ที่นิดาเป็นแบบนั้น ไม่ได้จู่ๆ ก็เป็นเองโดยอัตโนมัติ หากแต่เธอได้รับการหล่อหลอมกล่อมเกลามาอีกทีจากสมาคม (ถ้าเราจะเรียกแบบนั้น) “จีรัง ยั่งยืน” ซึ่งมีรูปแบบแนวคิดไปจนถึงการปฏิบัติที่น่าเคลือบแคลงสงสัย แต่ทว่า หนังก็ไม่ได้ทำอะไรกับส่วนนี้เลย ซ้ำมิหนำ ยังนำเสนอออกมาในลักษณะที่ดูเป็นการ “โปรฯ” และ “ขายตรง” ความเก่งกาจของสมาคมนั้นแบบไม่อนุญาตให้ “ตั้งคำถาม” หรือแม้แต่ “เคลือบแคลงสงสัย” ใดๆ เลย ทั้งที่จริงๆ องค์กรแบบนี้ที่มีวิถีความเชื่อแบบนี้ (ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคมเรา) มันมีแนวโน้มสูงมากที่จะชักนำผู้คนไปสู่ความเป็นมิจฉาทิฐิ และมันจะเลวร้ายยิ่งขึ้นก็ตรงที่มันพร้อมจะแผ่ขยายกระจายเครือข่ายออกไปเรื่อยๆ พร้อมกับการเกิดใหม่ของสาวกรุ่นแล้วรุ่นเล่า (เหมือนแม่ของตาล ที่ในที่สุด ก็มารับช่วงต่อจากแม่ของต้น พาตนเองเข้าสู่วงจรแห่งความเชื่อนั้น)

ผมรู้สึกของผมเองนะครับว่า ขณะที่ทิศทางของบทหนังดูเหมือนจะพยายามนำเสนอให้เราเห็นถึง “ผลพวง” ของความเชื่อแบบหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตทั้งของตนเอง (นิดา) และผู้อื่น (ตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้อง) แต่หนังกลับไม่สามารถพาตัวเองก้าวไปถึงจุดนั้นแบบสุดๆ ได้ เหมือนมี “ต้นทุนทางแนวคิด” ที่ดีแล้ว แต่ยังสื่อออกมาได้ไม่แหลมคมพอ ขณะที่ตัวละครของคุณนก-สินจัย ก็สามารถทำให้ดู “ป่วย(ทางใจ)” และ “มีพลังทางบท” ได้มากกว่านี้อีก แต่เท่าที่เห็น คนดูจำเธอได้ในคาแรกเตอร์แม่ค้าหนังแผ่นที่มาพร้อมกับความฮา มากกว่าจะจำว่าเธอคือหญิงม่ายผู้ป่วยไข้ทางใจซะด้วยซ้ำ

และซ้ำร้ายไปกว่านั้น หนังยังทำให้คนดูหลายๆ คนหยุดตัวเองอยู่กับคำถามกระจุ๋มกระจิ๋มจิปาถะ แบบว่า...

“เออ กอลลัมมันมาจากไหนอะ” หรือ “ทำไมกอลลัมถึงไล่เอาไม้กระแทกเพดานปังๆ เหมือนผีซอมบี้ยังงั้นอะ??” หรือไม่ก็ “เอ๊ะ นิดาตายแล้วไม่ใช่เหรอ ทำไมไปโผล่ที่โรงพยาบาลอีก?”, “อ้าว แล้วถ้านิดาตาย ต้นก็ต้องตายไปด้วยสิ แต่ไหงมายื่นกระดาษโน้ตให้นิดาได้อีก??”, “เออ ถามหน่อยดิ แล้วตกลง ใครฆ่าโดมวะ?” ฯลฯ

อย่างไม่น่าจะเป็น...








กำลังโหลดความคิดเห็น