xs
xsm
sm
md
lg

“เช็ค สุทธิพงษ์” วิถีคนต้นเรื่องกว่าจะเป็น “ทีวีบูรพา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย้อนไปกว่า 10 ปีก่อน วงการโทรทัศน์บ้านเราได้รับความฮือฮาอย่างถึงที่สุด เมื่อมีผู้พลิกฟื้นรายการประเภทสารคดีให้กลับมาคืนชีพ จากที่ล้มหายตายจากจอทีวีไปนาน แถมการกลับมาในครานั้นยังเป็นที่ยอมรับ และสร้างกระแสให้คนหันมาตื่นตัว กับรายการรูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า "เรียลลิตี้"

เวลานั้นไม่มีใครไม่รู้จักรายการ “คน ค้น ฅน” รายการสารคดีที่สะท้อนและตีแผ่วิถีชีวิตชาวไทย และยังถือเอาเป็นรูปแบบบทเรียนให้กับคนในสังคม ซึ่งนั่นถือเป็นการทลายทฤษฎีที่ว่า ในช่วงเวลาทำเงินอย่างช่วงไพร์มไทม์บนจอทีวีนั้น รายการที่มีเนื้อหาสาระหนักๆอย่างสารคดี ก็สามารถทำให้ผู้คนสนใจ ยอมกดรีโมตย้ายช่องจากละครน้ำเน่าหรือเบาสมองได้

นับตั้งแต่นั้นมาชื่อของ “เช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ” ก็กลายเป็นที่รู้จัก ในฐานะพิธีกรภาคสนามของรายการ "คน ค้น ฅน" ทั้งยังพ่วงตำแหน่งผู้บริหารบริษัท “ทีวีบูรพา” ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรายการสารคดีคุณภาพมากมาย ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเวลาต่อมา อาทิ "กบนอกกะลา" "คิดข้ามเมฆ" "จุดเปลี่ยน" "หลุมดำ" ฯลฯ

ซึ่งความสำเร็จของเขาการันตีได้จากการคว้ารางวัลผู้ดำเนินรายการดีเด่น หรือแม้กระทั่งรางวัลรายการส่งเสริมความรู้ดีเด่น จากการประกาศผลรางวัลจากหลายสถาบัน และทุกวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักชายหนุ่มผิวคมเข้ม ที่สวมหมวกเป็นเอกลักษณ์ “เช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ”

.....................

ย้อนมองสารคดี "ทีวีบูรพา"

“เราก่อตั้งทีวีบูรพามาได้ 9 ปีกว่าแล้ว จากวันนั้นจนถึงวันนี้ผมมองว่า รสนิยมของผู้ชมเริ่มที่จะเปลี่ยนไป ซึ่งรายการทีวีก็เหมือนแฟชั่น คล้ายๆหนังที่มันเป็นยุคๆของมันไป อย่างตอนนี้งานสารคดี หรือพวกงานเรียลลิตี้กำลังเป็นที่นิยม คนก็เริ่มที่จะจับทางทำกันเยอะขึ้น ย้อนหลังไปสมัยที่ผมเริ่มทำ ทีวีบูรพา ตอนนั้นรายการที่เขานิยมกันก็จะเป็นประเภทเกมส์โชว์ ควิซโชว์ ช่วงนั้นจำได้ว่า เกมส์เศรษฐี ของพี่ต๋อย ไตรภพ ลิมปพัทธ์ กำลังมาอย่างเต็มที่ มีคนแห่ทำตามกันทั้งบ้านทั้งเมือง แต่หลังจากนั้นไม่นานรายการประเภทเกมส์ควิซโชว์ก็เริ่มที่จะน้อยลง ก็จะมีรายการประเภทอื่นๆหมุนเวียนเปลี่ยนเข้ามา”

“ถามว่าการเปลี่ยนแปลงตามแนวต่างๆ มีผลมั้ย มันก็มีผลบ้าง คือพอมันมีอะไรที่ฝังราก หรือพอมันมีอะไรที่เป็นโมเดล ที่เป็นการสร้างภาพจำ หรือเป็นการสร้างเงื่อนไขในการรับรู้ให้กับสังคมขึ้นมาแล้ว พูดง่ายๆให้เห็นภาพก็คือ การผลิตซ้ำมันง่าย เพราะมีคนทำให้เห็นแล้ว แต่สิ่งที่มันยากคือในการที่เราต้องต่อสู้ เพื่อที่จะให้มันเกิดสิ่งใหม่ๆหรือจะหาข้อที่จะไปหักล้าง กับสิ่งที่มันเป็นแบบแผน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มันมีอยู่ มันต้องอาศัยเงื่อนไขหลายอย่าง แต่ตรงนี้มันก็ไม่ได้มีผลต่อทัศนคติ ความคิด และ ความเชื่อหรือความสนใจของผม อย่างที่ผ่านมาตลอด 7-8 ปี ความสนใจในสารคดีของประชาชนที่เสพติดทีวี ถ้าจะเปรียบเทียบกับปัจจุบันมันก็แตกต่างกันมาก เพราะว่าเหตุและปัจจัยหลายอย่างมันต่างกัน”

“ตอนที่ผมเริ่มทำบริษัท ทีวีบูรพา ตอนนั้นต้องพูดเลยว่าสารคดีมันถูกทำให้สูญพันธุ์ไปจากรายการโทรทัศน์ โดยเฉพาะทางฟรีทีวีที่มีให้เลือกอยู่เพียงไม่กี่ช่อง โดยเฉพาะถ้าในความหมายของรายการที่มันสามารถขายโฆษณาได้ มีเรตติ้ง มีคนดูอยู่บนเวทีเดียวกัน ชกกันกับผู้ต่อสู้ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเลย สาเหตุคงเป็นเพราะทำไปแล้วไม่มีเรตติ้ง ไม่มีคนดู ทำไปแล้วก็ขายโฆษณาไม่ได้ แต่ถ้าให้ย้อนกลับไปมอง มันก็อาจจะเป็นเพราะยังไม่มีทางออกใหม่ๆ ไม่มีวิธีการนำเสนอ มันยังผูกติดกับอะไร ที่มันยังเป็นจารีตจนเกินไป”

กว่าจะเป็นสารคดี "ทีวีบูรพา"?

“ช่วงแรกๆนั้นเราพยายามสู้ ทำให้มันสามารถอยู่รอดมาได้ เราก็ทำตามเงื่อนไขที่มันสามรถทำได้ ทีมงานมีกล้องแฮนด์ดี้แคมกันตัวนึงก็ต้องทำให้ได้ มีรถกระบะคันนึงก็ต้องอัดกันไป ไม่มีเงินนอนโรงแรมก็ต้องพกเปลติดไป พูดง่ายๆมันคือการบริหารเงื่อนไข แล้วก็ดูว่าอย่างคนอื่นขายได้100 บาท เราอาจจะขายได้แค่ 20 บาทแต่เราก็ต้องอย่าใช้มันถึง เราก็ใช้วิธีการแบบนี้แล้วคอยปลุกเร้า ปลอบใจกัน”

“เราลำบากเอาการอยู่ โดยเฉพาะช่วงที่ยังมองไม่เห็นอนาคต เราอยู่กับความไม่แน่ใจ อยู่กับความวิตก ซึ่งความเชื่อนั้นจะเริ่มชัดเจน ก็ต่อเมื่อมันมีการตอบรับจากผู้ชม มันมีการซื้อโฆษณาเข้ามา แต่ตอนนั้นแค่จะหาเวลาออกอากาศยังไม่ได้เลย แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเราใช้หลักเหมือนกับการปรุงอาหาร อย่างน้อยที่สุดเราไม่ได้เป็นพ่อครัวคนเดียว งานโทรทัศน์มันไม่ใช่งานที่จะทำได้เพียงคนเดียว มันต้องหาสูตรใหม่ออกมาให้ได้ เพื่อที่ว่านายก. นายข. หรือว่านายค.คนไหนจะไปทำ ก็ต้องออกมาในรสชาติเดียวกัน”

“ผมจำเป็นที่จะต้องสรุปออกมาเป็นสูตร เป็นต้นแบบ หรือทำให้มันเป็นคัมภีร์ออกมาให้ได้ เราใช้เวลาอยู่กับการคิดค้นสูตรประมาณ 2 ปี ค่อยๆเรียนรู้กับมันไปว่า ควรจะออกมาเป็นยังไง เทปแรกของเราเป็นการไปนั่งเฝ้า ไปแก้ปัญหากันว่าจะเอายังไง เราช่วยๆกันแก้ แต่บังเอิญว่ามันโชคดีตรงที่มันทำมาล่วงหน้าประมาณ 2 ปีก่อนที่จะออกอากาศ”

รับที่รอมาได้ถึง 2 ปีเพราะได้กำลังใจดีจากผู้ใหญ่ที่ช่วยผลักดัน เผยโชคดีที่ได้เวลาออกอากาศช้า เพราะกว่าจะผลิตรายการได้แต่ละเทปต้องใช้เวลานาน

“ที่เรามีกำลังใจสู้กันมาถึง 2 ปี เพราะให้เจ้านายดูแล้ว เขาบอกว่าน่าสนใจเดี๋ยวจะผลักดันให้ แต่เราเองก็รู้ชะตากรรมว่า กว่าจะทำให้มันเสร็จซักตอน ต้องใช้เวลาถึง 3-4 เดือน ช่วงแรกตอนที่ทำ 2 ปีมีสต๊อกอยู่แค่ 10 ตอน เราก็กังวลว่าถ้าจะทำในระยะยาว มันจะออกมายังไง มันเป็นปัญหาที่เราต้องเรียนรู้ และหาวิธีจัดการกับมัน บริหารจัดการให้มันเป็นจริง ให้มันสามารถอออกอากาศได้ทุกอาทิตย์เมื่อได้เวลามา ผมถึงบอกว่ามันเป็นโชคดีของเราที่ได้เวลามาช้า ไม่อย่างนั้นที่ทำไว้ก็หมด ที่ทำใหม่ก็ไม่ทัน แต่ก็ต้องเอาออกอากาศแล้วคุณภาพก็ไม่ได้ ตรงนี้มันคือปัญหา”

“เราใช้เวลาค่อยๆคิดค้นสูตรที่ต้องการ สมมติเรามีกันอยู่ 5 คน ทุกคนต้องมาเรียนรู้เพื่อที่จะทำให้ได้ทุกหน้าที่ ทุกคนต้องมาอยู่หน้าจอ มาช่วยกันดู มานั่งวิจารณ์ มันไม่ใช่งานของผมเพียงแค่คนเดียว แต่มันเป็นงานของหลายๆคนที่ช่วยกันทำ ฉะนั้นเราก็จะเห็นเท่าๆกัน รู้เท่าๆกันตั้งแต่ต้น พอมีคนใหม่เข้ามาเราก็ค่อยๆถ่ายทอดให้เขา หาวิธีกำกับดูแลให้มันออกมาเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเราจะโยนให้เขาไปทำ แล้วเรามาดูแลทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์คนเดียว มันคงไม่ได้หรอก เราต้องลงไปช่วยตัดต่อ ช่วยทำข้อมูล ช่วยเขียนสคริปต์ เราก็ใช้วิธีการเรียนรู้ในกระบวนการพวกนี้”

“ในส่วนของกระบวนการที่จะหาสมาชิกมาเพิ่ม ช่วงนั้นก็ยังมึนๆ คนที่เข้ามาก็ยังไม่รู้หรอกว่า จะได้ทำอะไร หรือสิ่งที่ทำอยู่มันเรียกว่าอะไร พวกผมเองก็ยังมึนๆ มีคุณประสาน (ประสาน อิงคนันท์ โปรดิวเซอร์และพิธีกรรายการ คนค้นคน) เข้ามาช่วยทำให้ทุกอย่างมันชัดเจนขึ้น เขาก็มาตั้งคอนเซ็ปต์ที่เรียกมันว่า ดรามาติค ดอคคิวเมนทารี่ หรือที่เรียกว่า ดอคคิวดราม่า ก็มาคุยกันหาวิธีการค่อยๆทำมันไปเรื่อยๆ รายการมันก็เลยพอจะเป็นรูปเป็นร่างลงตัวมากขึ้น”

ผลิตสารคดีอย่างวิถี "ทีวีบูรพา" ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

“กระแสตอบรับที่รับรู้ได้ตอนนั้น ผมว่ามันมีอยู่ 2- 3 ความรู้สึก ความรู้สึกแรกเลยคืออะไรวะ ไอ้บ้านี่มันอะไรวะ สองคืออันนี้น่าสนใจโว้ย แปลกโว้ย สามคือรู้สึกมึนๆ ขอดูมันไปอีกสักพัก(หัวเราะ) แต่สิ่งที่มันสนุกมากก็คือ มีการปะทะกันของความรู้สึกสองขั้ว คือเห็นว่ามันเข้าท่ากับไม่เข้าท่า คนที่บอกว่ามันไม่เข้าท่าในตอนนั้น ด้วยโปรดักชั่น คุณภาพของภาพ แสง สีหรืออะไรทุกอย่าง แม้แต่หน้าตาพิธีกร รวมไปถึงการแต่งเนื้อแต่งตัว เนื้อหาที่ไปพูดในรายการ ศัพท์แสงคำพูดต่างๆ คนมองว่ามันเหมือนกับในหนังสือ”

“เราเองก็คิดเหมือนอย่างที่เขาว่านั่นแหละ ผมเองก็คิดว่าตอนแรกที่ทำไม่ใช่ว่ามันจะดี เคยกลับไปดูเทปตอนที่ตัวเองทำแรกๆ เรายังตลกตัวเองเลย(หัวเราะ) คิดในใจว่ากูทำไปได้ยังไง พอรายการประสบความสำเร็จ มีเสียงตอบรับที่ดีประมาณนึงแล้ว ก็มีคนไม่น้อยที่อยากจะเดินเข้ามาร่วมงานกับเรา คนที่เดินเข้ามาก็จะเดินเอาฝันเข้ามาอย่างเดียว แต่ส่วนที่จะไปประกอบให้มันเป็นฝันนั้น เขาก็ยังไม่เข้าใจว่ามันเป็นยังไง”

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดของคนที่จะเข้ามาทำสารคดี แบบที่ผมทำนั้นจะต้องมีความเข้าใจ แล้วก็ยอมรับในวิถีของมัน เช่น คนที่จะมาทำสารคดี ถ้าคิดฝันจะทำรายการโทรทัศน์เหมือนคนทำเกมส์โชว์ มันผิดแล้ว เพราะว่าคนทำเกมส์โชว์ อาจจะได้คิดที่โต๊ะในห้องแอร์ที่เย็นๆ ได้นั่งจิบกาแฟตามร้านดีๆ แล้วก็คิดงานพอได้ เลยโทรศัพท์ติดต่อดารามาอัดเทปในสตูดิโอ วันนึงก็ได้ 2 เทปแล้ว บางทีถ้าเกิดอยากจะขยันๆก็ล่อเข้าไป 4 เทปเลยได้แล้ว 1 เดือน จากนั้นก็เอามาตัดต่อสัก 3-6 ชั่วโมง ร้อยๆหน่อยก็เสร็จแล้ว”

“แต่การทำสารคดีแบบผม 2-3 เดือนนะกว่าจะได้หนึ่งเทป ซึ่งเราเองก็ต้องออกอากาศทุกอาทิตย์เหมือนคนอื่น เพราะฉะนั้นคุณต้องจัดการยังไงล่ะในการลงไปทำ เราไปเมคเอาไม่ได้ คุณต้องลงไปอยู่กับความเป็นจริง คุณต้องลงไปนอนกลางดิน กินกลางทราย ต้องไปผูกเปลนอนกับเขา เพื่อที่จะเฝ้าเขา แต่ขณะเดียวกันพอคนมาขายโฆษณาออกมาเป็นเงิน มันขายได้น้อยกว่าคนอื่น ฉะนั้นคนที่จะเข้ามาต้องเข้าใจข้อจำกัดหลายๆอย่างตรงนี้”

“คนที่จะเข้ามาเป็นทีมเดียวกับเรา มันต้องทำความเข้าใจ บางคนบอกว่าทำไมทำสารคดีมันเหนื่อยชิบหาย ค่าตอบแทนที่ได้ก็น้อยจังวะ เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ เปรียบถ้าคุณชกมวยวัด มันก็ไม่มีทางหรอกที่คุณจะไปได้เงินเท่าปาเกียว ทั้งๆที่มันก็เป็นการชกมวยเหมือนกัน หรือจะไปหวังว่าจะได้เงินเท่า บอล ภราดร ศรีชาพันธ์ มีหลายคนไม่น้อยที่หอบฝันเข้ามาหาเรา แล้วต้องฝันสลายกลับไป”

“แต่ก็มีหลายคนนะ ที่มาขออาสาขับรถให้โดยไม่คิดค่าจ้าง คือผมคิดว่าด้วยงานที่ทำ มันอาจจะอนุญาตให้คนธรรมดาสามัญมีสิทธิ์ที่จะฝัน คือถ้านึกถึงต้องไปเป็นเอเอฟปุ๊บ มันก็ดูจะไกลเราจังเลย หรือว่าจะคิดไปเล่นหนัง เล่นละคร ไปเป็นตลกคาเฟ่ มันต้องอาศัยต้นทุนบางอย่าง แต่งานสารคดีประเภทที่ผมทำอยู่ มันเหมือนกับอนุญาตให้คนมีคุณสมบัติ ที่ไม่อาจจะเผยได้ในอีกหลายเวที ให้เขาได้เข้ามาตรงนี้ ซึ่งเขาอาจจะดูจากลุคของผมเป็นต้นแบบก็เป็นได้(หัวเราะ)”

ทำไมพิธีกรถึงต้องเป็น “เช็ค สุทธิพงษ์” ??

“ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะเอาตัวเองมาเป็นต้นแบบ ณ ปัจจุบันนี้ผมก็ยังคิดว่าเป็นคนเบื้องหลัง ตัวผมนั้นเกิดมาจากคนที่ทำโปรดักชั่นมากกว่า ผมมีความสุขกับการอยู่เบื้องหลัง ในเรื่องของการได้คิด แต่ที่มันจับพลัดจับผลูกลายมาเป็นคนเบื้องหน้าซะเองนั้น เพราะพอถึงเวลาจริงๆแล้วมันไม่มีใคร คือตอนนั้นเราพยายามหาแล้วหาอีก แต่มันก็ไม่ได้ ตอนที่เรามาทำไม่เคยคิดฝันว่า จะมีสิทธิ์ได้มาเป็นคนเบื้องหน้า เพราะคิดว่าคนที่มาอยู่เบื้องหน้าเขาก็ต้องการคนที่มีคุณสมบัติอีกแบบนึง โดยเฉพาะในตอนนั้นที่คิดว่า คนแบบไหนถึงจะได้เข้ามาอยู่เบื้องหน้า มันถึงจะขายรายการได้ คิดแค่นี้เราก็ไม่ผ่านแล้ว”

“มันอาจจะเหมือนกับฟ้าได้ลิขิต อย่างที่ผมบอกว่า 3 เดือนกว่าจะเสร็จได้สักตอน ถามว่าจะให้เอาดารา หรือคนที่มีชื่อเสียง ถามหน่อยว่าใครจะยอมไปถ่ายทำรายการกับเราถึง 3 เดือน แล้วได้ค่าตัวเท่ากับคุณไปถ่ายรายการแค่เทปเดียว ซึ่งใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง แถมยังได้ค่าตัวน้อยอีก ที่สำคัญคือคุณต้องใช้ความคิดของคุณเอง คำว่า คนค้นฅน คือการที่เราไปเฝ้ามองชีวิตของคนอื่น แล้วมันจะตกผลึกอะไรในความคิดของเรามองคนๆนี้ ถ้าคนที่ทำมองไม่เห็น ตัวเองยังไม่อินเลย แล้วเขาจะไปสามารถถ่ายทอดเชื่อมโยงการรับรู้ ไปสู่ผู้ชมในแบบที่ผมหรือทีมงานของผมทำอยู่ได้อย่างไร”

บอกสาเหตุที่ต้องใส่หมวกในรายการนั้น เพื่อปกปิดรอยแผลที่ใบหน้า จนทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ประชาชนจดจำได้

“ตัวผมไม่สามารถเป็นอื่นได้ ผมเคยลองมาแล้ว เคยใส่สูทผูกไทด์ ลองมาหมดแล้วทุกอย่าง แต่มันไม่ได้ สุดท้ายแล้วก็เลยมาคิดกัน เอาล่ะถ้ามันจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในบางครั้งบางเวลาก็ทำได้ ถามว่าทำแล้วจะมองตัวเองสนิทใจหรือเปล่า ก็ไม่หรอก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดก็คือ การที่ผมต้องเป็นตัวของผมเอง ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ตัวเองคิดถูก”

“เวลาผมไปทำงานไม่มีเมคอัพ ไม่มีไฟแบบไหนก็แบบนั้น หน้าของผมก็มีแต่แผลเต็มไปหมด นี่คือที่มาว่าทำไมผมถึงต้องใส่หมวก เดิมทีมันไม่ได้ใส่หรอก แต่เนื่องจากหน้าผมเป็นแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุรถยนต์ เต็มหน้าไปหมด ทีนี้พอซูมกล้องเข้ามาใกล้ๆมันน่าเกลียดมาก”

“มีอยู่ครั้งนึงที่ผมไปถ่ายรายการแบบหน้ามันๆ เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหัน เขาเพิ่งโทรเข้ามา ซึ่งเทปนั้นเป็นเทปแรกที่เราทำออกอากาศ พอทราบข่าวก็รีบไปทันที ก็ถ่ายทำกันไป พอมาถึงตอนที่เราต้องพูดอะไรหน้ากล้อง พอผมเรียบเรียงประเด็นเสร็จกำลังจะพูด น้องที่เป็นตากล้องมันก็ไม่อยู่ แล้วแสงอะไรก็ใกล้จะหมด เพราะเริ่มที่จะมืด”

“ผมก็เริ่มฉุนว่าทำไมไม่ถ่ายซะที ไอ้ตากล้องมันก็เริ่มฉุนลดกล้องลง แล้วก็พูดว่าก็หน้าพี่ถ่ายมุมไหนก็...ผมก็เลยบอกว่าไหนดูสิ มันก็เลยพลิกจอแอลซีดีมาให้ดู ผมก็เลยถึงบางอ้อ(หัวเราะ) ผมก็เดินสงบเสงี่ยมไปที่รถพอดีมีหมวกอยู่ใบนึงก็เลยหยิบเอามาใส่ มันก็เลยยกกล้องขึ้นมาแล้วบอกว่าดีขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมผมต้องใส่หมวก”

“ซึ่งต่อมามันก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของผม คือพอไปถึงจุดนึงคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณที่ดำรงตำแน่งผอ.ช่อง 9 ตอนนั้น ก็เรียกผมเข้าไปคุย แกก็บอกว่าเช็คนายต้องเป็นอย่างนี้แล้วล่ะ เพราะคนจำนายในรูปลักษณ์นี้แล้ว นายต้องใส่หมวก นายต้องไว้หนวดอย่างนี้ ต้องเป็นหน้าโจรๆอย่างนี้ ท่านก็ยกตัวอย่างว่ามันก็เหมือนกับซูเปอร์แมนที่ต้องใส่กางเกงในไว้ข้างนอก นายก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะคนเขาเกิดการจำในแบบนี้ขึ้นมาแล้ว แล้วคนก็จำอย่างนั้นจริงๆ เพราะบางวันผมไม่ใส่หมวก คนก็จะจำผมไม่ได้ เขาก็ไม่เข้ามาทัก”



กว่าจะเป็นบุคคลต้นเรื่อง "คน ค้น ฅน"!!

“วิธีทำงานของผมคือ จะนึกถึงปลายทางก่อนต้นทาง เราจะนึกก่อนว่าจะเดินไปไหน แล้วค่อยมาดูว่าจะไปถึงที่นั่นได้อย่างไร เราต้องการให้ คน ค้น ฅน ออกมาในรูปแบบบทเรียนชีวิต จากนั้นก็คิดต่อยอดไปว่า แล้วเราจะเรียนรู้กันเรื่องของอะไร เราก็จะมานั่งนึกสมมติว่าเรียนเรื่องของความกตัญญู ผมก็จะต้องไปหาคนต้นเรื่องที่เป็นคนกตัญญู อย่างเช่นตือโพ ที่เขาใช้ชื่อว่า เบิร์ด ธงไชย ของชาวกะเหรี่ยง ตอนนั้นมันเป็นเรื่องที่ว่าไม่ได้มีแต่พี่เบิร์ดของเรานะที่ดัง ชาวกะเหรี่ยงก็มีพี่เบิร์ดของเขาเหมือนกัน เราก็จะนึกถึงเรื่องอะไรที่เป็นประเด็น ที่มันน่าสนใจของเรื่องนั้นๆก่อน”

“สิ่งที่คิดถึงในลำดับต่อมาคือ เขาจะอนุญาตให้เราเข้าไปทำเรื่องของเขามั้ย ถ้าจะให้ทำต้องมีข้อแม้อะไร ต้องทำความเข้าใจอะไรกันบ้าง ที่ผ่านมาเราก็เจอข้อแม้เยอะนะในรูปแบบของ คน ค้น คน อย่างน้อยที่สุดมันไม่ใช่ คน ค้น คน ที่ไปสัมภาษณ์คุณอย่างน้อยชั่วโมงเดียวแล้วจบ แต่เราเทียวไล้เทียวขื่อกันอยู่นั่นจนกว่ามันจะพอ ซึ่งเราไม่รู้ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นตอนไหน เมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากจะมาออกรายการ คน ค้น ฅน คุณก็ต้องมาเป็นทีมงานด้วย นั่นคือคุณต้องคอยโทรมาบอกเรานะว่า วันนี้คุณจะทำไอ้นี่ วันนี้จะเกิดอย่างนี้ขึ้น เขาก็ต้องให้ความร่วมมือกับเรา แล้วเขาต้องโทรบอกล่วงหน้าด้วยนะ ไม่อย่างนั้นเราไปไม่ทัน”

“มันเป็นอะไรที่จุกจิก แล้วคุณต้องมึนๆกับเราว่า เฮ้ยไม่รู้มึงจะมาทำอะไรกับกูว่ะ เพราะเราไปเฝ้าก็ยังไม่รู้เลยว่า สุดท้ายแล้วเรื่องของเขาจะไปยังไง จะมีซีนอะไรบ้าง บางอย่างโอเคคนที่มีโปร์ไฟล์ปกติ เราก็พอจะเดาทิศทางได้ แต่บางอย่างที่มันเป็นเหตุการณ์สุดๆ ที่มันน่าสนใจมาก เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลย ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้เหมือนกัน”

“เพราะฉะนั้นเรากำหนดไม่ได้ว่า เรื่องจะออกมาเป็นยังไง แต่เราขอให้เขาเชื่อไว้อย่างเดียวว่า เราจะไม่ทำให้เขาเสีย เราจะไม่ทำให้เขาหมดความศรัทธา หมดความไว้วางใจกับเรา เพราะรายการเราไม่ใช่รายการแฉ หรือรายการที่ไปตีแผ่ แต่เป็นรายการที่เราต้องการส่งทอดแบบเรียนจากมนุษย์สู่มนุษย์ เพื่อความเข้าใจกัน ตัวตั้งมันคือความเข้าใจ ไม่ว่าจะเข้าใจในรายละเอียด พฤติกรรม เข้าใจในมุมมอง ความคิด จนเกิดความเห็นอกเห็นใจกัน”

รับมีไม่น้อยในหลายกรณี ที่บุคคลต้นเรื่องได้รับผลกระทบ หลังจากที่รายการออกอากาศ และมีหลายกรณีที่ตามแล้วตัดสินใจรื้อทิ้ง เพราะบุคคลเหล่านั้นไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นคนต้นแบบได้

“ทำรายการมาแล้วมีฟีดแบคที่เป็นด้านลบ เช่นไปทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยน หรือเอาไปเสนออยู่ไม่กี่ด้าน เรื่องพวกนี้ก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงต้นๆ มันมีอยู่ไม่กี่เรื่องหรอกครับ หนึ่งเลยก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับเงินทอง สองคือเรื่องที่เกี่ยวกับความตื่นตูม ที่มันเกิดจากตัวของรายการ มีคนแห่แหนกันเข้าไปหาเขาหลังจากที่ชมรายการ แต่ประเด็นที่ตัวรายการสื่อสารถึงแทบทั้งหมด ผมคิดว่าไม่มีปัญหา อาจจะมีเรื่องของสิทธิมนุษยชนบ้างในกรณีที่มันไปเกี่ยวกับเด็กนิดๆหน่อยๆ นอกนั้นก็ไม่มีอะไร”

“ซึ่งผมคิดว่าในการทำงาน เราก็เรียนรู้ไปพร้อมๆกันกับการทำงานของเรา ไม่ใช่ว่าที่เรารู้มันเป็นเรื่องที่ถูกทั้งหมด แต่เราทำไปและเรียนรู้ไปพร้อมกับงาน แล้วก็เอาไปปรับเปลี่ยนปรับปรุงแก้ไข แต่ในบางเรื่องก็ไม่ใช่เราเท่านั้นที่ต้องแก้ไข บางเรื่องสังคม ผู้ชมหรือว่าคนที่ตีความ ก็ต้องทำความเข้าใจไปพร้อมๆกัน ซึ่งเคสไหนที่มีปัญหาส่วนใหญ่เราก็เลือกที่จะไม่เอาออกอากาศ คือตอนแรกถ่ายๆไปเหมือนจะเข้าใจกันดี แต่พักนึงเราเริ่มพบบางสิ่งบางอย่าง ที่มันทำให้เรารู้สึกเอ๊ะ! หรือบางทีพอได้ข้อมูลแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ก็ปรากฎว่าสิ่งที่เราตั้งเอาไว้ มันไม่ใช่แบบเรียนของเราแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกคนเราจะนำเสนอทุกเรื่องนะครับ เราเลือกหยิบมุมที่มันจะให้ความรู้ของคน ไม่ใช่ว่าเราจะเอาบริบททั้งหมดไปพูด”

“ยกตัวอย่างเช่น เด็กกตัญญูคนนี้อาจจะกินข้าวหกเลอะเทอะ มันอาจจะพูดจาหยาบคายมาก มันอาจจะขี้หวงของอย่างที่สุด แต่มันกตัญญู เราจะไม่พูดถึงมิตินี้ แต่สิ่งที่ผมกำลังพูดก็คือ บางทีเราไปเจอข้อเท็จจริงบางอย่างมันไม่อนุญาตให้เราสามารถเดินหน้าต่อ เช่น คนนี้พอเราไปทำแล้ว มีคนบอกว่าเขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือบางทีคนนี้เราไปทำแล้ว เพิ่งมารู้ว่าเอ๊ะ!!ละเมิดเด็ก คนจำพวกนี้ก็มีไม่น้อยเลยทีเดียว เราทำได้อย่างเดียวก็คือทิ้ง แม้ว่าเราจะอยู่เฝ้ากันมาหลายเดือน”

“ซึ่งจริงๆมันมีกรณีให้เราทิ้งกันเยอะมากทีเดียว ยกตัวอย่างล่าสุดเลย เราทำกันมาเสร็จแล้วกำลังตัดต่อ ซึ่งการตัดต่อของผมให้ได้ในแต่ละเทป ต้องใช้เวลาเป็นเดือน เคสนี้เราก็ตัดกันมา 3 อาทิตย์กำลังจะเสร็จแล้ว พอวันจันทร์ดูทีวี มีรายการนึงซึ่งเป็นรายการทอล์คโชว์ เป็นคนเดียวกับที่เราจะเอาไปออกอากาศอังคารหน้าเลย ที่เราเฝ้าอุตส่าห์ไปถ่ายมาครึ่งปี ทั้งๆที่คุยกันไว้ดิบดีแล้วว่าเราขอนะ ก่อนที่เราจะออกอากาศอย่าเพิ่งไปออกที่ไหน เพราะของเรากว่าจะถ่ายทำเสร็จมันนาน”

“แต่พอเขาเอาไปออก ก็ประเด็นเดียวกันภาพเหมือนกันหมดเลย เราก็เลยทิ้งมันไปซะ แล้วเรียกทีมมาคุยว่า ตอนนี้มีประเด็นอะไรที่ยังเหลืออยู่ เหลือเวลาแค่ 6 วันจะทำยังไง เราก็แก้ปัญหากันชุลมุนวุ่นวาย แต่เราไม่ได้กลับไปโวยวายเขานะ เราทำรายการ คน ค้น คน ทำให้เข้าใจมนุษย์ ผมเข้าใจกิเลสมนุษย์จากการที่ทำรายการนี้ไม่น้อย เพราะฉะนั้นไม่มีประโยชน์ที่เราจะกลับไปตัดพ้อต่อว่า ว่าทำไมถึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่ทำครับ เรามีศักดิ์ศรีของเรา การที่เราทิ้งงานเขาทั้งหมด เขาก็น่าที่จะเรียนรู้อะไรบางอย่าง”

"ทีวีบูรพา" ชื่อนี้ใช่ว่าจะมีแต่ความสำเร็จ

“มันก็มีไม่สำเร็จพอๆกันกับความสำเร็จ มีหลายรายการของเรามากนะ ที่ล้มหายตายจากไป เช่นล่าสุดรายการ คิดข้ามเมฆ ก็หลุดผังไปแล้ว รายการ พลเมืองเด็ก หรือรายการ แผ่นดินเดียวกัน บ้านฉันบ้านเธอซึ่งรายการพวกนี้เป็นรายการเกี่ยวกับเด็ก ถามว่าสำเร็จหรือไม่ เรามองไปว่ามันควรจะสำเร็จทุกเรื่อง คือเรื่องของการตลาดด้วย ไม่ใช่แต่กล้องอย่างเดียว มีหลายรายการที่เราได้รับความชื่นชมในเรื่องของเนื้อหาที่มีคุณภาพ ในเรื่องของเจตนา แต่ในเชิงธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ”

“ในเชิงของปริมาณงานกับปริมาณเงิน ความจริงผมพอใจความรู้สึกตั้งแต่ตอนทำรายการ กบนอกกะลา แล้ว แต่ผมก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูง มีความทะเยอทะยานในแบบของผม ก็เลยกลับมาคุยกันซีเรียสเลยกับน้องๆในทีมว่า เราจะทำอะไรกันต่อดี ทุกคนก็พูดคล้ายกันว่า ถ้าจะทำอันต่อไปมันต้องเขยิบคิดการใหญ่ไป คือมันต้องไปเปลี่ยนสังคม”

“เราเลิกคิดเรื่องของการได้เงิน คือพอมีเงินที่มันพอเลี้ยงตัวเราได้ แล้วก็เป็นเงินที่ค่อนข้างมั่นคง สิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องดูแลตัวที่มันโอเคอยู่แล้วให้ดี ถ้าเราคิดอะไรที่มันใหญ่ เราก็ไม่สามารถดูแลตรงนี้ให้มันดีได้ เพราะมันก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะสร้างคนได้ทันเวลา มันไม่ได้สร้างกันง่ายๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สร้างยากที่สุดไม่ใช่รายการโทรทัศน์ แต่คือคนที่จะทำรายการโทรทัศน์”

“ผมจึงคิดว่าโปรเจกต์ที่ผมจะทำต่อไป เรามาทำเรื่องของสังคมอย่างตรงเป้าและจริงจัง ก็เลยทำรายการชื่อว่า หลุมดำ ที่เป็นการหยิบปัญหาสังคมขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ ตีแผ่ขึ้นมาเตือนภัยโดยใช้คำว่าสัญญาณเตือนภัยจากโลกสีหม่น แต่ปรากฏมันก็เตือนภัยเรา(หัวเราะ) หนึ่งก็คือมันเป็นดาบสองคมในบางเรื่อง นี่คือสิ่งที่ผมบอกว่า มันเป็นการที่เราทำไปแล้วได้เรียนรู้ไปในตัว”

“เช่นเราทำเรื่องของเว็บแคม ที่ตอนนั้นมันกำลังระบาด เราก็ทำเรื่องแชตโชว์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครเปิดประเด็นเรื่องนี้เลย พอทีมงานเราเข้าไปดูในสังคมของคนเหล่านี้ ก็พบเรื่องที่น่าตกใจมาก จนทำให้ทีมตัดต่อกับทีมข้อมูลเราหลงเข้าไปในโลกแชตโชว์กันหลายเดือน”

“เราคิดว่าพอทำออกไปแล้วต้องเตือน แต่กลับกลายเป็นว่าไอ้ที่สมมติมีคนเข้ามาเป็นร้อยเป็นพัน คนที่รู้จักมันกลับกลายเป็นทั้งประเทศ มันก็เลยเปรียบเสมือนเป็นเหรียญสองด้าน ซึ่งอยู่ที่วิธีมองและวิธีทำ หลายๆปัญหาที่เราทำถึงระยะนึง มันก็ปรากฏว่าเป็นรายการโทรทัศน์ ที่ได้ผลงานในแง่ของรายการโทรทัศน์ที่พูดถึงปัญหา”

ก้าวต่อไปของสารคดี "ทีวีบูรพา"

“สำหรับก้าวต่อไปผมไม่ได้มองบริษัท ทีวีบูรพา ในแง่ความเติบโต เรื่องของขนาดของบริษัทในอนาคตมากเท่ากับจุดยืนของบริษัท ที่มันจะต้องชัดเจนขึ้นในอนาคตว่า จะต้องเป็นแบบไหน ผมคิดถึงเรื่องว่าจะทำอย่างไร ให้คนของเราที่มีอยู่ ซึ่งมันแตกต่างหลากหลายกันมากมายเหลือเกิน ทำอย่างไรถึงจะให้คนเหล่านี้มีสำนึกร่วมในการอยู่ร่วมกัน และมีทิศทาง มีเป้าหมายการทำงานร่วมกันที่ค่อนข้างจะเป็นเอกภาพ”

“ถ้าเราจะทำอะไรต่อไปก็คิดมากครับ อย่างที่เรียนว่าการที่ผมมาทำธุรกิจโทรทัศน์ ผมไม่ได้มองเพียงแค่มันเป็นมิติของอาชีพ แต่ผมมองในฐานะที่มันเป็นกลไกนึง เป็นเครื่องมือนึงที่สามารถเอาไปช่วยขับเคลื่อน หรือเข้าไปเปลี่ยนแปลงรับผิดชอบต่อสังคมที่เราอยู่ได้ด้วย ผมก็มองในเรื่องของการที่จะเข้าไปร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ พยายามเข้าไปเป็นหนึ่งในบรรดาห้านิ้ว ในการที่จะช่วยทำอะไรให้มันเกิดในทิศทางที่เราคาดหวัง หรือในทางที่ดี พยายามทำตรงนี้ให้มันเป็นรูปธรรมขึ้น”

“ถ้าในแง่ของบริษัท ให้พูดถึงในตอนแรกผมคิดว่าตัวเองมีโชค อาจจะเคราะห์ดีที่เงื่อนไขทั้งหมดมันสุกงอม ผมได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารสถานี และเป็นจังหวะเวลาพอดีที่มันอาจจะขาดงานแนวนี้ คือจังหวะมันพอดีกันทุกอย่าง มันเลยทำให้รายการ คน ค้น คน ได้รับการยอมรับขึ้นมา”

“สิ่งแรกที่ผมคิดหลังจากวันที่รายการ คน ค้น คน ได้รับการยอมรับ ขณะที่มีคนเป็นห่วงว่า ผมจะเหลิงกลายเป็นดาราไปแล้ว สำหรับตัวผมนั้นไม่ได้คิดเรื่องเหล่านั้นเลย สิ่งที่ผมคิดมากเลยตอนนั้นก็คือ ทำอย่างไรถึงจะให้ตัวสารคดีมันแชร์พื้นที่ หรือลงหลักปักฐานในแวดวงโทรทัศน์”

“ผมก็มานั่งคิดว่า แวดวงทีวีมันประกอบไปด้วยใครบ้าง สถานี ผู้ชม ลูกค้า เอเจนซี่ โฆษณา เจ้าของสินค้าอะไรทั้งหลาย และที่สำคัญก็คือผู้ผลิตรุ่นใหม่ๆ รายใหม่ๆ ผมไม่เชื่อว่าการที่ ทีวีบูรพา เจ้าเดียวจะต้องยึดครองความเป็นเจ้า แล้วจะต้องมีแต่คนมาซูฮก ความมั่นคงยั่งยืนของการปักหลักของสารคดีในโทรทัศน์ ตัวผมคิดว่าถ้ามันจะมั่นคง มันต้องมีการแย่งพื้นที่ หรือการแชร์พื้นที่ได้ ไม่ว่าจากสถานี จากลูกค้า จากผู้ชม จากคนอื่นๆที่หันมาทำกัน ถ้ามันมีมากทุกช่อง ช่องนึงมีหลายรายการ แบบนี้แหละผมว่ามันเริ่มที่จะมีพื้นที่แล้ว”

ยันคนที่จะทำสารคดี ไม่จำเป็นต้องอิงอุดมการณ์ แต่ต้องทำเพราะใจรัก ลั่นตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มองตัวเองต้องเป็นที่หนึ่ง ยังมีความเชื่อและศรัทธาในคลื่นลูกใหม่

“อนาคตของธุรกิจโทรทัศน์ผมก็คงทำไปในแนวคิดที่ว่า ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ถามว่าการที่เราทำสารคดีแบบนี้ ต้องยึดอุดมการณ์มาก่อนมั้ย ส่วนตัวแล้วอุดมการณ์ไม่น่าจะมีอิทธิพลมากเท่ากับความรัก ความชอบ หรือที่เรียกมันว่าวิถี การที่เราจะทำมันต้องมีความสุขนะ ที่เราได้ใช้ชีวิตอยู่ในวิถีแบบนี้ เราต้องมั่นคงกับเรื่องแบบนี้พอสมควร ถ้าเราอยากแค่จะเป็นคนทำรายการโทรทัศน์ อยากแค่จะมีชื่อ อยากที่จะมีผลงานหรืออะไรต่างๆตรงนี้ผมคิดว่ามันอาจจะไม่ตอบโจทย์ทั้งหมดก็ได้”

“ผมคิดว่าปัจจุบันนี้ก็น่าดีใจมากแล้ว ที่มีคนทำรายการสกุลเดียวกับที่ผมทำเยอะมาก ถ้าดูในเชิงสัดส่วนของการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในบางช่องเรียกได้ว่าเกือบทั้งช่องของเขา จะมีแต่รายการประเภทผมเยอะมาก ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อก่อนในเชิงปริมาณ มันเพิ่มขึ้นมาในสัดส่วนที่เรียกว่ามาก ซึ่งมันหมายความถึงว่ามีคนที่สนใจ”

“ส่วนคนที่เข้ามาทำก็มีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่มันเป็นตัวช่วยก็คือตัวเทคโนโลยี ณ ปัจจุบันมันต่างจากเมื่อ 8-9 ปีที่แล้วมาก ทำให้การผลิตรายการสักหนึ่งรายการมันง่ายขึ้น แต่สิ่งที่ผมคิดว่าต้องมีควบคู่ไปด้วยนั้น ก็คือมันต้องมีเรื่องของตัวคุณภาพ”

“ผมไม่เคยกลัวคู่แข่งเลย แต่การที่ไม่กลัวเลย ก็ไม่ได้หมายความว่าเราแน่หรือว่าเจ๋ง ผมมักจะพูดกับน้องในทีมของผมอยู่เสมอๆว่า ถ้าสมมติในปัจจุบันมีคนที่ทำธุรกิจโทรทัศน์อยู่ห้าหมื่นราย ในสัดส่วนที่มันเป็นเรื่องของสารคดี มันมีอยู่นิดเดียว ถามว่าตรงนี้มากพอสำหรับสารคดีมั้ย ผมคิดว่าถ้ามันได้มากกว่านี้ก็ดี แต่เท่าที่มีอยู่มันมากพอ”

“แล้วถามว่ามันมากพอ ที่จะทำให้เราอยู่รอดมั้ย ผมคิดว่าเราอยู่รอดถ้าเป็นเบอร์หนึ่งในพื้นที่ตรงนี้ แต่สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้ความเชื่อมั่นของคนในกองทัพของเรา เดินออกไปรบแล้วสามารถที่จะสู้กับเขา แล้วเราต้องทำให้เขาตื่นตัวกับตรงนั้นตลอด แต่ในความเป็นจริงความคาดหวังของผมลึกๆไม่คิดว่า มันจะมีอะไรยืนยงมั่นคงถาวรตราบชั่วนิรันดร”

“ผมเชื่อในเรื่องของคลื่นลูกเก่า ที่จะต้องไล่หลังคลื่นลูกใหม่ ปรากฏการณ์หรือนวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ มันจะเกิดขึ้นมาจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งตัวผมอยากเห็นสิ่งนี้มากกว่า ถึงแม้ว่าสิ่งนี้มันจะทำให้ผมเหลือพื้นที่ที่เล็กน้อยมาก แต่ผมคิดว่าถ้าหากสิ่งนี้เป็นอานิสงส์แก่สังคม กับแวดวงของคนที่ทำสารคดีในบ้านเรา ที่สามารถจะเอาไปแข่งขัน ทำให้มันมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นกว่าที่มันเป็นอยู่ ทำให้มันได้รับการยอมรับมากขึ้นกว่านี้ ผมคิดว่าสิ่งนี้ต่างหากที่เป็นสิ่งที่น่ายินดีมากกว่า”

กำลังโหลดความคิดเห็น