อีเมล์ : apnunt@yahoo.com
“ความเชื่อในพลังที่ชั่วร้ายเหนือธรรมชาตินั้น หาจำเป็นไม่ มนุษย์เองสามารถทำสิ่งที่ชั่วร้ายได้ทุกประการ”
.......
จากคำโปรยข้างต้นนั้น อย่าเพิ่งเข้าใจไปนะครับว่า ผลงานที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้เป็นหนังประเภทดราม่าหนักหน่วงเข้มข้น ขุดเจาะโลกด้านมืด หรือสะท้อนความชั่วร้ายของมนุษย์อย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะสิ่งที่คุณจะได้เห็นตลอดเวลาร่วมๆ สองชั่วโมงกับการนั่งชมหนังเรื่องนี้ มันไม่มีอะไรมากไปกว่าความบ้าบอคอแตก ชนิดที่คุณอาจจะนึกอยากตะโกนออกมาว่า นี่มันเรื่องบ้าอะไรวะ??
บอกกล่าว ณ เบื้องต้นกันอย่างสั้นๆ ครับว่า หนังที่เปิดเรื่องด้วยประโยคงามๆ ข้างต้น ซึ่งหยิบเอามาจากคำกล่าวของโจเซฟ คอนราด (นักเขียนสัญชาติโปแลนด์) นี้มีชื่อว่า Bitch Slap เป็นผลงานการกำกับของ “ริค จาค็อบสัน” ซึ่งดูเพียงผิวเผิน ทั้งหน้าหนังและชื่อผู้กำกับที่โนเนม ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ใครต่อใคร “มองข้าม” มันไป ขณะที่ค่ายหนังบ้านเรา ก็แสดงความหวังดีด้วยการจับมันยัดลงแผ่นดีวีดีไปเลย
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจกับสถานการณ์แบบนี้ เพราะอย่าว่าแต่ Bitch Slap เลยครับที่อาภัพอับโชค ไม่มีบุญได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ แม้แต่หนังดีๆ หลายๆ เรื่อง ก็เจอชะตากรรมแบบนี้เช่นกัน อย่างล่าสุดที่ผมเห็น ก็คงจะเป็น (500) Days of Summer
แต่เอาเถอะ ไม่ว่าจะยังไง การที่ Bitch Slap ไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์นั้น ก็เป็นเรื่องที่เหมาะที่ควรและสมเหตุสมผลยิ่ง เพราะเมื่อพิจารณาดูทุกๆ สิ่งที่ประกอบรวมกันเป็นหนังเรื่องนี้แล้ว ทั้งคุณและผมก็คงมองเห็นเช่นเดียวกันว่า มันไม่มีอะไรเลยที่จะสามารถสร้างมั่นใจได้ว่าจะ “ขายได้” ไล่ตั้งแต่เครดิตผู้กำกับ ไปจนถึงทีมงานนักแสดงที่ถ้านั่งขายข้าวแกงอยู่แถวๆ ตรอกข้าวสาร ก็คงไม่มีใครรู้ว่าเป็นดารา
ยิ่งไปกว่านั้น ในบางประเทศที่บูชาวัฒนธรรมหนังฟอร์มยักษ์นั้น หนังทุนสร้างต่ำๆ ไม่มีสเปเชี่ยลเอเฟเฟคต์หรูหราประดับประดาให้น่าดึงดูดแม้แต่น้อย อย่าง Bitch Slap มีหรือจะขายออก??
พูดมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจมีคำถาม...ก็ในเมื่อมันไม่มีอะไรน่าสนใจขนาดนี้แล้ว ผมยังจะ “สอเสือใส่เกือก” มาเขียนถึงมันทำแมวอะไร?
บอกตามตรงครับว่า ทีแรก ผมก็เกือบจะทิ้งหนังเรื่องนี้ไว้ในกระบะหนังแผ่นราคาถูกๆ เหมือนกัน ถ้าเพียงแต่จะไม่บังเอิญไปรับรู้มาก่อนว่า จุดมุ่งหมายของผู้กำกับริค จาค็อบสัน ที่สร้างสรรค์งานเรื่องนี้ขึ้นมานั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการให้มันเป็นตัวแทนแห่ง “การแสดงความคิดถึง” ผู้กำกับคนหนึ่ง นามว่า “รัส เมเยอร์” (Russ Meyer)
คีย์เวิร์ดสำคัญมันก็อยู่ตรงนี้แหละครับ เพราะถ้าคุณเป็นคนที่ชอบดูหนังทุกๆ เกรด ไม่ติดใจว่าเกรดเลวหรือเกรดดี คุณก็น่าที่จะเคยได้ยินชื่อของ “รัส เมเยอร์” คนนี้มาบ้าง และเป็น “รัส เมเยอร์” คนนี้นี่เองที่โลกภาพยนตร์จดจำเขาในฐานะ “ปรมาจารย์หนังเกรดบี” (และก็มีอยู่หลายคนเหมือนกันที่เรียกขานเขาด้วยความเอ็นดูว่า “ราชาหนังเสื่อมตัวพ่อ”)
พูดแบบรวดรัด หนังเกรดบีก็คือหนังจำพวกหนึ่งซึ่งมีลักษณะเด่นอันดับแรกๆ คือการเป็นหนังทุนต่ำ การถ่ายทำไม่ต้องประณีตพิถีพิถัน ดาราไม่จำเป็นต้องเล่นเก่งเหมือนจอร์จ คลูนี่ย์ หรือแบร็ด พิตต์ และที่สำคัญ ส่วนใหญ่ก็โนเนมและเล่นหนังได้แข็งโป๊กเป็นสากกะเบือด้วยกันทั้งนั้น ขณะที่บทหนัง (ดีๆ) ก็ไม่ใช่ “จุดขาย” ของหนังแนวนี้ และยิ่งไม่ต้องพูดถึงคุณค่าทางความคิดต่อปัญญาหรือมันสมอง เพราะสิ่งที่มันตอบสนองภูมิใจเสนอปรนเปรอต่อคนดูผู้ชมก็คือ ความมันส์บันเทิงในอารมณ์เป็นหลัก
ผมจะไม่ขอพูดถึงว่า ในที่สุดแล้ว หนังแนวนี้ ได้รับการโยกย้ายผ่องถ่ายสถานะจากการหนังเกรดบี (ที่คนชอบหนังดีมักหมิ่นแคลน) สู่คำเรียกใหม่หรูว่า หนังคัลต์ (Cult Movie) ได้อย่างไร เพราะความจริงก็คือ ในช่วงเวลาราวๆ ยุค 50-70 คนสมัยนั้นต่างก็เรียกขานหนังแนวนี้ด้วยถ้อยคำเดียวกันว่า หนังเกรดบี และในช่วงเวลานี้เอง แวดวงหนังทุนน้อยก็มีชื่อของ “รัส เมเยอร์” แจ้งเกิดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงการ ก่อนที่เขาจะค่อยๆ สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนมีสถานะเป็น “เสาหลัก” อีกหนึ่งเสาของหนังแนวนี้ในยุคนั้น
ไม่ต้องไปใส่ใจว่าคนในยุคเดียวกันเขาอยากจะสร้างสรรค์ผลงานให้คนโจษขานร่ำลือไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานกันยังไง เพราะสำหรับ “รัส เมเยอร์” ดูเหมือนจะมีสิ่งเดียวที่เขาสนใจ คือความสนุกสนานบันเทิงที่จะมอบให้กับคนดู ผ่านเรื่องราวต๊องๆ เพี้ยนๆ ที่มาพร้อมกับตัวละครหญิงสาวหุ่นสะบึม (ที่โฟกัสมุมกล้องเองก็ดูจะมีความพยายามซะเหลือเกินในการเชิญชวนผู้ชมทัศนาสัดส่วนเรือนร่างของเธอ) ผู้มีพฤติกรรมประหลาดๆ หรือไม่บางที ก็ดูบ๊องๆ และแสดงความโง่ออกมาจนน่าตบกบาลซักฉาดสองฉาดเผื่อว่าหล่อนจะฉลาดขึ้นมาบ้าง แต่ขอโทษ ถ้าว่ากันที่ความโหด เธอน่ะโหดอย่าบอกใครเชียว
หนังของรัส เมเยอร์ ที่ถูกยกขึ้นหิ้งนั้น มีหลายต่อหลายเรื่อง แต่ที่แน่ๆ ผลงานระดับมาสเตอร์พีซซึ่งแสดงลายเซ็นความเป็นราชาหนังเกรดบีของรัส เมเยอร์ ที่มักจะถูกกล่าวซ้ำย้ำถึงมาจนทุกวันนี้ก็ย่อมหนีไม่พ้น Faster, Pussycat Kill! Kill! เรื่องราวของสาวอกภูเขาไฟสามคนกับเรื่องราววายป่วงบ้าระห่ำของพวกเธอ และสำหรับ Bitch Slap ของผู้กำกับริค จาค็อบสัน เรื่องนี้ ก็แสดงตัวแบบเด่นชัดผ่านเนื้องานของเขาว่า มันเป็นเหมือนการแสดงความคารวะต่องานชิ้นเอกของรัส เมเยอร์ ชิ้นนี้แบบเต็มๆ
Bitch Slap เล่าเรื่องราวของ 3 สาวที่มาพร้อมกับบุคลิกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนแรก “คาเมโล” (อเมริกา โอลิโว) ผู้มีท่าทีดุดันเอาจริงเอาจัง เหมือน “แม่เสือสาวกระหายเลือด” ที่พร้อมจะฟาดปากกับใครก็ได้ทุกเมื่อ คนถัดมาคือ “เฮลล์” (อีริน คัมมิงส์) ที่ดูเหมือนจะมีลักษณะประนีประนอมกว่าคนแรก แต่ก็แฝงความขึงขังและพลังดุร้ายไว้ลึกๆ ขณะที่คนสุดท้ายอย่าง “ทริกซี่” (จูเลีย โว้ธ) นั้นดูแตกต่างจากเพื่อนๆ แบบสุดกู่ เพราะนอกจากเธอจะดูเหมือนเจ้าหญิงเลอโฉมผู้บอบบางอ่อนไหว เท่าๆ กับที่ดูเป็นคนไร้สมองและโง่งมสุดๆ (แบบที่เค้าพูดกันว่า “สวยแต่โง่” นี่ใช่เธอเลย พับผ่าสิ!!)
แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่ว่าคาแรกเตอร์พวกเธอจะต่างกันยังไง แต่สิ่งที่คล้ายกันราวกับหลุดมาจากแบบเบ้าของแม่พิมพ์เดียวกันก็คือ ทรวดทรงอันอวบอึ๋มมโหฬารระดับที่น้องตั๊ก-บงกช ของบ้านเราต้องชิดซ้าย ตามสไตล์ของหนังแนวนี้ที่ต้องมีตัวละครสาวๆ อกภูเขาไฟแบบนี้เป็น “ฟันเฟืองหลัก” ตัวหนึ่ง (จะว่าไป สาว 3 คนนี้ก็ไม่ต่างอะไรกันเลยกับแก๊งสาวทรงโต 3 คนใน Faster, Pussycat Kill! Kill!)
ถามว่า แล้ว 3 คนนี้ เธอมาทำอะไรกัน? แน่นอนล่ะ คำตอบนั้นคงไม่ใช่มากอบกู้โลกแน่ๆ เพราะภารกิจที่ผู้กำกับริค จาค็อบสัน สั่งให้พวกเธอปฏิบัติการ ก็คือ ตามล่าหาเพชรที่หายไปกลางผืนทะเลทรายที่ร้อนระอุ โดยที่ในระหว่างนั้น หนังก็ผูกสร้างสถานการณ์ขึ้นมาแบบหลวมๆ เพื่อให้ตัวละครได้ซัดคิวบู๊ใส่กัน พร้อมกับเพิ่มตัวละครจิตป่วงเข้ามาอีกจำนวนหนึ่งเพื่อรองมือรองตีนของสาวๆ ทรงตู้ม
เพราะเข้าใจว่า อย่าไปเอานิยายอะไรมากกับหนังเกรดบี ผมว่าคนที่พร้อมจะสนุกไปกับหนังแบบนี้ได้ อย่างน้อยๆ อาจต้องปล่อยวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรฐานอะไรหลายๆ อย่างไว้ก่อน เพื่อหลีกทางให้กับ “มาตรฐาน” และ “ขนบ” ของหนังกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นผู้ดี (หนังสบถคำหยาบโลนและพูดเรื่องใต้สะดือได้อย่างไม่อายเขิน) หรือแม้แต่ความสมเหตุสมผล (ถ้าคุณได้ดู คุณจะรู้ว่า สิ่งที่สาวๆ กำลังกระทำอยู่อย่างเอาเป็นเอาตายนั้น มันไร้สาระและหน่อมแน้มปัญญาอ่อนสิ้นดี) รวมไปจนถึงความเพี้ยนเกินพิกัดของเหล่าตัวละครจิตป่วงที่มาพร้อมกับสมองขี้เลื่อยและพร้อมจะปล่อยคำโง่ๆ ออกจากปากได้ทุกเมื่อ ขณะที่ชอบทำอะไรซึ่งชาวบ้านชาวเมืองทั่วๆ ไปเค้าไม่ทำกัน
และที่เด็ดสุดๆ ก็เห็นจะเป็นวิธีการแอ็กชั่นต่อสู้กันที่ไม่มีเกี่ยงว่าจะสวยหรูหรือถ่อยสถุลเพียงใด ขอให้ล้มฝ่ายตรงข้ามได้เป็นพอ ยิ่งกว่า “ไมค์ ไทสัน” กัดหู “อีวานเดอร์ โฮลีฟิล” เป็นร้อยเท่า เพราะถ้าเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ วิธีการไหนก็ทำได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งฮุบกัดโยนี!! (ใน Bitch Slap ก็มีวิธีถ่อยๆ นี้ แต่โชคดีหน่อยที่หนังไม่ได้นำเสนอช็อตนี้แบบจะแจ้ง 555) เหนืออื่นใดเลยก็คือ คุณอาจจะได้เห็นอาวุธหน้าตาประหลาดๆ ที่คนพวกนี้แบกมาถล่มกัน ซึ่งพิลึกพิลั่นไม่น้อยไปกว่า “แข้งปืนกล” ของแม่สาวโคโยตี้สุดโหดใน Planet Terror ของโรเบิร์ต รอดดิเกวซ
โดยส่วนตัว ผมดูหนังเรื่องนี้ หรือแม้แต่หนังแนวนี้เรื่องอื่นๆ ด้วยความรู้สึกแบบดูไปขำไป คือมันไม่ใช่แค่ขำให้กับความห่วยของบทหนังและโปรดักชั่นงานสร้างหรือแม้แต่ซีจีหลอกๆ (ดูแล้วซึ้งเลย ไอ้ที่เค้าบอกว่า “ห่วยจนน่าขำ” นั้นมันเป็นเช่นนี้นี่เอง) แต่พฤติกรรมพิลึกกึกกือของตัวละครก็เป็นอะไรที่น่าขบขันไม่แพ้กัน บางที มันดูเหมือนโลกของคนไม่เต็มเต็งเอามากๆ อย่างฉากที่สาวๆ กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการขุดหาสมบัติอยู่ดีๆ แต่จู่ๆ คุณเธอทริกซี่ก็ลุกขึ้นเอาน้ำมาราดตัวให้ชุ่มโชกและสาดใส่เพื่อน ก่อนมันจะจบลงด้วยการสาดน้ำใส่กันยังกับวันสงกรานต์ไปซะงั้น หรือแม้แต่ตอนที่ทริกซี่ฉีกกะโปรงที่สั้นจู๋อยู่แล้วให้สั้นเข้าไปอีกเพียงเพื่อจะเอาเศษผ้านั้นไปซับเลือดให้ผู้ชาย (ทั้งๆ ที่ในบ้าน ก็พอหาผ้าซับได้ไม่ยาก)
แต่ก็ทั้งหมดทั้งมวลในแบบที่ว่ามานั้นแหละครับคือเสน่ห์ของหนังแนวนี้ และอย่างหนึ่งซึ่งต้องทำความเข้าใจก็คือว่า หนังแบบนี้ที่มันดูห่วย ก็เนื่องมาจากคนทำหรือผู้สร้างต้องการให้มันออกมาห่วยแบบนั้นเอง (อาจจะเพราะถูกกำหนดมาโดยต้นทุนที่น้อยนิดอีกทีหนึ่ง) ซึ่งจะต่างจากหนังอีกจำพวกหนึ่งซึ่งคนทำ “คิดจะทำให้ดี” แต่ผลลัพธ์ดันออกมาห่วยเอง มันคนละแบบ
แน่นอนครับ สำหรับหนังราคาถูกๆ อย่าง Bitch Slap ถ้าชี้วัดด้วยไม้บรรทัดของศาสตร์แห่งหนังดี มันก็คือหนังห่วยๆ ดีๆ นี่เอง (เอ๊ะ!! ตกลงว่าห่วยหรือดี??) แต่ถ้ามองที่ครรลองและขนบของมัน หนังเรื่องนี้ก็ตอบโจทย์ของมันได้ไม่ขี้เหร่เลย ในแง่ของความบันเทิงเชิงเพี้ยนๆ ที่มอบให้กับคนดู และโดยส่วนตัว มันถือเป็นอีกหนึ่งหนังเลวที่ผมให้ข้อสรุปกับตัวเองว่า “เกลียดไม่ลง” จริงๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเจอเข้ากับบทสรุปบางอย่างของหนังแล้ว ยิ่งทำให้ผมเริ่มจะรู้สึกรักมันขึ้นมาด้วยซ้ำ
อันที่จริง ผมไม่ติดใจเท่าไหร่ว่าคำกล่าวของโจเซฟที่ Bitch Slap หยิบยกมาเอ่ยอ้างราวกับจะป่าวประกาศสัจธรรมอะไรบางอย่างนั้น ที่สุดแล้ว มันจะสนับสนุนเนื้อหาของหนังหรือไม่อย่างไร แต่ในหนัง มันมีการกล่าวถึงอย่างใหญ่โตถึงหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า “พิ้งกี้”
เล่าขานกันในหมู่สาวอวบ 3 นาง ว่าพิ้งกี้คนนี้ เธอคือสุดยอดนางมารร้ายที่น่าเกรงขามทั้งในความเก่งกาจและเหี้ยมโหด มิหนำซ้ำ ยังถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้คอยชักใยอยู่เบื้องหลังสถานการณ์ทั้งหมด แต่ตลอดทั้งเรื่อง เรากลับไม่เคยได้เห็นหน้าค่าตาของหญิงร้ายคนที่ว่านี้เลย ก่อนที่หนังจะสับขาหลอกคนดูด้วยตัวละครหน่อมแน้มอย่าง “สาวคิงกี้” จากนั้น ค่อยตลบหลังผู้ชมอีกครั้งด้วยบทสรุปในตอนท้ายที่พลิกความคาดหมาย กับความเหลือร้ายของแม่สาวพิ้งกี้ตัวจริง ที่ “แสบ” แบบเหมาะสมซะเหลือเกินกับคำว่า Bitch ในชื่อหนัง
และก็เป็นเพราะแม่สาวพิ้งกี้คนนี้แหละครับที่ทำให้ผมนึกเทียบเคียงไปถึงวาทะชั้นครูของปีศาจสุรานักเขียนอย่างโก้วเล้งที่บอกไว้ว่า “ที่ๆ อันตรายที่สุด คือที่ๆ ปลอดภัยที่สุด” เพียงแต่ Bitch Slap สลับสับเปลี่ยนในบางถ้อยคำแล้วบอกกับคนดูว่า “คนที่ดูปลอดภัยที่สุด นั่นแหละที่อันตรายมากที่สุด”
โอ้โห...อุตส่าห์คมคายซะขนาดนี้แล้ว ถ้าผมยังเกลียดมันได้ลงคอ ก็ดูจะใจจืดใจดำเกินไปหน่อยแล้ว จริงไหมครับ คุณๆ ที่รัก??