xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานกุหลาบไทย มัทนะพาธา / นพวรรณ สิริเวชกุล

เผยแพร่:   โดย: นพวรรณ สิริเวชกุล


โดย นพวรรณ สิริเวชกุล

คลิกที่ไอคอนด้านบนเพื่อ ชม และ ฟัง ในรูปแบบ MULTIMEDIA

ในชีวิตของคนเรา ดิฉันเชื่อว่าทุกคนต้องมีความรักกันบ้างนะคะ จะสมหวังหรือผิดหวังแต่อย่างน้อยทุกคนก็มีรัก....

ในช่วงเวลาแห่งรัก ทุกสิ่งอย่างก็ดูสวยงาม น่าหลงใหล ทะนุถนอมไปเสียหมดทุกอย่าง หลายคนเมื่อมีรักมักทำให้เกิดพลังแห่งการสร้างสรรค์ แต่ หากรักแล้วไม่สมหวัง ซ้ำยังกลายเป็นแรงผลักให้เกิดความชิงชังเคียดแค้นกันนี่สิค่ะ...คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเป็นแน่

เมื่อนึกถึงความรัก เราก็มักจะคิดกันไปถึงดอกกุหลาบ ที่หลายชาติหลายภาษาต่างก็ให้ดอกกุหลาบนี้เป็นสัญลักษณ์ของความรักที่มีต่อกัน

ของไทยเราเองก็ไม่น้อยหน้าค่ะ ดิฉันหวนถึงบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เรื่องมัทนะพาธา ที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2466 แน่นอน เป็นตำนานที่เกี่ยวกับดอกกุหลาบค่ะ

บทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ใช้คำประพันธ์หลายชนิดแต่เน้นด้วยคำฉันท์ บางตอนใช้กาพย์ยานี กาพย์ฉบังหรือกาพย์สุรางคนางค์ มีบทเจรจาที่เป็นร้อยแก้วในบางส่วนของตัวละครอีกด้วย ทำให้มัทนะพาธามีลีลาภาษาที่หลากหลายน่าสนใจ จนกระทั่งได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นหนังสือที่ประพันธ์ดี ใช้ฉันท์เป็นบทละครพูดซึ่งแน่นอนมีความแปลกและแต่งได้ยากอีกด้วย

มัทนะพาธาถือเป็นบทละครพูดคำฉันท์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อแสดงตำนานแห่งดอกกุหลาบ ว่า เหตุใดกุหลาบจึงกลายเป็นดอกไม้แห่งตำนานรัก
บทประพันธ์ชิ้นนี้แสดงถึงความเจ็บปวดแห่งรักที่ไม่สมหวังของตัวละครทุกฝ่าย เหตุก็ด้วยความรักที่เกิดผิดฝาผิดตัวไปเสียหมดทุกตัวละคร...

แม้จะเป็นสองหญิง สองชาย แต่ด้วยรักที่ไม่อาจฝืนใจกันได้ จึงทำให้ทั้งสี่มิอาจสมหวังในรัก นับจาก
สุเทษณ์ เทพผู้เป็นใหญ่บนชั้นฟ้า เกิดความทุกข์ด้วยลุ่มหลงในตัวนางมัทนาแม้จะมีเทวีผู้เลอโฉมหลายองค์เสนอตัวเข้ามา ก็ไม่เป็นที่ปรารถนาของสุเทษณ์

แม้ครั้งหนึ่งสุเทษณ์มีโอกาสได้ตัวนางมัทนามาด้วยเพราะนางต้องมนตรา แต่เขาก็ไม่ได้ต้องการนางด้วยวิธีเช่นนี้ เมื่อมนต์คลาย นางมัทนายืนยันที่จะปฏิเสธรักของสุเทษณ์เช่นเคย แน่นอนเมื่อถูกปฏิเสธเช่นนี้ย่อมเจ็บปวดยิ่งนัก เมื่อรักมากก็เจ็บปวดมาก จึงกลายเป็นความแค้น สุเทษณ์สาปนางมัทนาให้ไปเกิดในโลกมนุษย์และให้เป็นดอกไม้ที่ไม่เคยเบ่งบานบนพื้นโลกมาก่อน

นางมัทนาจึงกลายเป็นดอกกุหลาบที่สวยงามทั้งรูปและกลิ่นอีกทั้งหนามที่แหลมคม ทุกจันทร์เพ็ญของแต่ละเดือน นางจะมีโอกาสกลายร่างเป็นหญิงงามเพียงชั่วทิวาและราตรี และหากนางมีรักเมื่อใดคำสาปนั้นก็จะคลายมนต์ให้นางได้กลายเป็นมนุษย์ไปตลอดกาล

และแล้วนางมัทนาก็พบรักแรกกับท้าวชัยเสน ต่างก็พร่ำรำพันถึงความรักที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันต่อกัน ท้าวชัยเสนประกาศคำมั่นและสัญญารัก ณ ริมฝั่งลำธารก่อนพานางมัทนากลับไปยังเมืองที่ตนปกครอง

หากเรื่องจบลงเช่นนี้ ตำนานดอกกุหลาบของไทยคงไม่สนุกนะคะ จึงมีเรื่องให้ชวนติดตามต่อไปด้วยท้าวชัยเสนนั้นมีชายาอยู่แล้วชื่อนางจัณฑี แน่นอนว่าท้าวชัยเสนไม่ได้มีใจปฏิพัทธ์ต่อชายาของตัวเองเลย เมื่อกลับเข้าบ้านเมืองตัวก็ใช้เวลาทั้งหมดอยู่กับนางมัทนา

นางจัณฑีผู้ชายาจึงออกอุบายกลั่นแกล้งนางมัทนาและสั่งให้บิดาของตัวซึ่งเป็นผู้ปกครองอีกเมืองหนึ่งยกทัพเข้ามาตีเมืองของท้าวชัยเสนผู้สามี

ท้าวชัยเสนมารู้ทีหลังว่าตนได้เสียทีชายาเจ้าเล่ห์ของตัวเข้าเสียแล้ว จึงเข้าห่ำหั่นกับกองทัพของพระบิดานางจัณฑี กระทั่งได้รับชัยชนะ

ข้างฝ่ายนางมัทนาเมื่อถูกกล่าวหาใส่ร้ายกระทั่งถูกโทษประหารชีวิตแต่ได้รับความช่วยเหลือกระทั่งหนีรอดมายังกุฏิฤๅษีที่เคยพำนัก นางก็ได้ทำพิธีอ้อนวอนสุเทษณ์ให้ช่วยเหลือ ซึ่งสุเทษณ์นั้นพร้อมช่วยอยู่แล้วด้วยข้อแม้ก็คือ นางต้องมาเป็นชายาของสุเทษณ์

นางมัทนาผู้มั่นคงในรัก มิอาจรับข้อเสนอนี้ได้ จึงทำให้นางกลายร่างเป็นดอกกุหลาบไปชั่วกัปกัลป์ ไม่อาจกลายร่างเป็นหญิงสาวได้อีกต่อไป...ท้าวชัยเสนมาช้าเกินไปจึงไม่อาจรั้งร่างนางอันเป็นที่รักของตัวไว้ได้ เขาจึงได้เพียงต้นกุหลาบมัทนากลับวังไปเท่านั้น....

ตำนานดอกกุหลาบของไทยเรา มัทนะพาธาเรื่องนี้ ทำให้เราได้เห็นแง่มุมของความรักหลากหลายอารมณ์นะคะ ทั้งความมั่นคงในรักเดียวไม่หวั่นไหวยินดีในลาภยศของนางมัทนา ความรักที่มีอยู่อย่างท่วมท้นของสุเทษณ์ที่มีต่อนางมัทนาไม่เสื่อมคลาย อีกทั้งยังมีความรักที่ผสมความริษยาที่นางจัณฑีมีอยู่ทั่วกายกระทั่งก่อให้เกิดสงคราม

จะว่าไป ก็คงคล้ายกับบทหนึ่งของละครเรื่องนี้ ที่ใครๆ คงจำได้ขึ้นใจนะคะ

ความรักเหมือนโรคา บรรดาตาให้มืดมน
ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดใด

ดั่งที่โบราณเขาว่าไว้ล่ะค่ะ ความรักมักทำให้คนเราตาบอด แต่ดอกกุหลาบนอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงในรักแล้ว หนามแหลมของมันก็ยังคอยสะกิดเตือนให้เราตระหนักถึงพิษสงแห่งรักอีกด้วยค่ะ.
กำลังโหลดความคิดเห็น