xs
xsm
sm
md
lg

ตายโหง : อย่าปลงใจเชื่อว่าเป็นหนังเลว เพราะ ‘พจน์ อานนท์’/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


apnunt@yahoo.com

สำหรับหลายๆ คน คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาพร้อมจะทำสีหน้าแบบว่า “ยี้” ออกมาทันทีที่ได้ยินชื่อของผู้กำกับซึ่งใครต่อใครเรียกขานด้วยสรรพนามนำหน้าว่า “เจ๊” อย่างพจน์ อานนท์ แน่นอนล่ะ มันไม่ใช่แค่เรื่องของรสนิยมที่แตกต่าง แต่หลายครั้งหลายหน ผลงานของเจ๊แกก็พิสูจน์ให้เห็นด้วยตัวของมันเองแล้วว่า “ห่วย” และ “ไร้คุณภาพ” ชนิดที่สมควรจะได้รับการแสยะยิ้มจากคนดูผู้ชมจริงๆ นั่นแหละ

บุคลิกบางอย่างที่ผมค่อนข้างชื่นชอบและชื่นชมในตัวของผู้กำกับคนนี้ก็คือ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของแกที่ไม่ว่าจะถูกตำหนิติติงด้วยถ้อยแรงๆ อย่างไรก็ตาม (ผมยังจำได้ว่า ครั้งหนึ่ง มีคนกล่าวหาเจ๊แกแบบเสียๆ หายๆ ว่าเป็นคนทำให้หนังไทยตกต่ำ) แต่เจ๊พจน์แกก็ยังคงเสมอต้นเสมอปลายกับการทำหนัง ได้เรื่องบ้าง ไม่ได้เรื่องบ้าง แต่ก็มีงานสร้างออกมาป้อนตลาดโดยตลอด

คงเหมือนกับความรู้สึกดีๆ ที่เห็นว่าผู้กำกับอย่าง “ยอร์ช-ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร” นั้น มีความใจกว้างมากพอที่จะ “ยอมรับ” ข้อตำหนิจุดอ่อนข้อบกพร่องของตัวเองแล้วนำมาปรับปรุงในงานชิ้นใหม่ๆ ผมรู้สึกว่าคุณพจน์เองก็แกก็คงคล้ายๆ กันนั้น จะต่างกันอยู่บ้างก็เพียงว่า คุณพจน์นั้น แม้จะ “รับได้” กับเสียงก่นด่า แต่ทว่าถึงที่สุดแล้ว แกก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างผลงานในแบบของแกอย่างไม่หวั่นไหวต่อคำครหา หนังประเภทตลกเกย์กะเทย ตลกบวกผี หรือแม้แต่ตลกกะเทยบวกผีกะเทย ฯลฯ เหล่านี้คือสไตล์และลายเซ็นที่ดูท่าว่า ถ้าชาติหน้ามีจริง คุณพจน์ก็อาจจะยังทำหนังแบบนี้อยู่

ครับ, ที่เกริ่นมาทั้งหมด ถ้าคิดว่าผมจะมา “เลียขนหน้าแข้ง” ของคุณพจน์ คุณคิดผิดครับ (เพราะตามจริง เจ๊แกอาจจะแว็กซ์ขนจนเกลี้ยงเกลา ชนิดที่ไม่มีเหลือให้ไล้เลียแล้วล่ะ 555) แต่ที่ผมอยากพูดก็คือว่า จริงๆ แล้ว คนชื่อพจน์ อานนท์ นั้น ก็ไม่ได้ทำแต่หนังเลวๆ นะครับ เช่นงานยุคก่อนๆ ของแก อย่าง “18 ฝน คนอันตราย” ผมก็ว่าเป็นหนังที่ดีใช้ได้เหมือนกันนะครับ

เช่นเดียวกับผลงานเมื่อเร็วๆ นี้ อย่าง “เพื่อน...กูรักมึงว่ะ” หลายๆ คนก็ชมว่าเป็นหนังดี (ซึ่งผมขออนุญาตเห็นต่างว่า ที่จริง มันก็คือหนังน้ำเน่าบวกโอเว่อร์และเพ้อฝันมากๆ อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งบังเอิญได้ “สวมเสื้อ” ของงานภาพที่ดูอาร์ตๆ เลยทำให้ดู “หล่อ” ขึ้นมาหน่อย ก็เท่านั้นเอง)

แต่ก็อย่างที่บอกครับว่า สำหรับหลายๆ คน จากความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า มันทำให้รู้สึกเบื่อและหน่ายที่จะไปเสียเวลากับหนังของผู้กำกับคนนี้ไปแล้วโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะทำหนังอะไรออกมา ก็ไม่ดู ด้วยเหตุนี้ ก็จึงเป็นที่แน่ใจได้ในระดับหนึ่งว่า หนังอย่าง “ตายโหง” ซึ่งมีชื่อของคุณพจน์ปรากฏอยู่ในตำแหน่งผู้กำกับ ย่อมจะได้รับ “เกียรติ” แบบนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย (ในกรณีที่ผู้กำกับคิดแบบมองโลกในแง่ดีว่า การที่คนเขาไม่ไปดูหนังของเรานั้น ถือเป็น “เกียรติ” ชนิดหนึ่ง หึหึ)

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ชื่อของคุณพจน์จะโดดเด่นมากในหนังเรื่อง “ตายโหง” แต่เอาเข้าจริงๆ เจ๊แกก็เป็นเพียงหนึ่งในผู้กำกับ 4 คนที่ยกพลมากำกับกันคนละตอน ดังนั้น ใครที่กลัวว่าจะผิดหวังกับงานของคุณพจน์อีก ก็อาจจะยังหวังได้อยู่จากผู้กำกับคนอื่นๆ เพราะถ้าเช็กจากประวัติ ผู้กำกับอีก 3 คน (ไม่รวมคุณพจน์) ต่างก็จัดได้ว่าเป็นจอมยุทธ์แห่งบู๊ลิ้มภาพยนตร์ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่อาจจะเป็น “จอมยุทธ์ซุ่ม” ที่แฝงตัวอยู่ตามมุมต่างๆ ของวงการ ไล่ตั้งแต่ทำงานเบื้องหลังไปจนถึงทำหนังนอกกระแส

ไม่ว่าจะเป็น ชาติชาย เกษนัส, มานุสส วรสิงห์ และ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เขาและเธอเหล่านี้ ล้วนแต่เคยพานพบกับเสียงชื่นชมในเรื่องคุณภาพของเนื้องานที่ตัวเองทำมาแล้วทั้งนั้น และสำหรับการขยับมาทำหนังอย่าง “ตายโหง” ซึ่งมีเจ๊พจน์เป็นตัวตั้งตัวตี ก็สามารถกล่าวได้แบบสนิทใจว่า พวกเขามีส่วนช่วยอย่างมากมายในการสิ่งเสริมให้ “ภาพลักษณ์” ของพระนครฟิลม์ที่หลายๆ คนออกปากบ่นว่าทำเป็นแต่หนังห่วยๆ พลัน “ดูดี” ขึ้นมาอีกหลายขีดขั้น (หลังจาก “ปาฏิหาริย์รักต่างพันธุ์” เคยทำมาแล้วเมื่อเร็วๆ นี้)

มองในภาพรวม ผมว่าหนังเรื่องนี้มีความโดดเด่นมากๆ ในด้านของการใช้ภาพเล่าเรื่อง (ซึ่งถือเป็นพื้นฐานรากเหง้าของศิลปะแขนงที่ 7 อย่างภาพยนตร์นี้อยู่แล้ว) หนังใช้บทพูดเท่าที่จำเป็น และหันไปเน้นให้ความสำคัญกับบรรยากาศและสีหน้าท่าทางของตัวละครแทน ซึ่งสิ่งนี้แหละครับที่ผมมองว่ามันหาได้ยากเหมือนกันในหนังไทย เพราะหลายๆ ครั้งกับหนังหลายๆ เรื่อง นอกจากบทพูดไม่เป็นธรรมชาติ หรือไม่ใช่ “ภาษาคน” (คือคนทั่วไปไม่พูดกัน) บทพูดที่เขียนกันขึ้นมา บางที ก็ยังดูหน่อมแน้มอีกต่างหาก (ถ้าจะมีหนังไทยสักเรื่องที่เขียนบทพูดได้เนียน มีความเป็นธรรมชาติ เท่าที่ผมนึกออกเป็นเรื่องแรกๆ ณ ตอนนี้ก็คือ “รักแห่งสยาม”)

และเทคนิคแบบที่ว่านี้ ก็ใช้ได้ผลมากๆ กับหนังตอนที่สองอย่าง “คุกกองปราบ” (กำกับโดย คุณมานุสส วรสิงห์) และสำหรับผม มันคือตอนที่ดีกว่าตอนอื่นๆ ทั้งหมด ผมว่าหนังใช้ความจำกัดของสถานที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนอกจาก “ห้องขัง” จะคับแคบและชวนให้รู้สึกอึดอัดโดยธรรมชาติแล้ว หนังยังคุกคามซ้ำเติมคนดูเข้าไปอีกด้วยการตกแต่งแสงเงาของฉากให้มีบรรยากาศที่มองดูอึมครึมไม่น่าไว้วางใจและชวนกดดัน ขณะเดียวกัน การแสดงทั้งของ “หนุ่ม-อรรถพร” และ “เต๊ะ-ศตวรรษ” ก็ไม่ต่างอะไรกับสารเคมีตัวแรงที่ขับเร่งความหลอนในใจของคนดูได้เป็นอย่างดี

และไหนๆ ก็พูดมาถึงนักแสดงแล้ว ผมรู้สึกว่าการคัดเลือกนักแสดงหลักๆ ของหนังเรื่องนี้ ไม่ได้ “ด้อย” เลย และที่สำคัญ นักแสดงระดับ “ตัวยืน” ของแต่ละเรื่องก็เต็มที่และดีพอสำหรับบทที่ตัวเองได้รับ ไม่เว้นแม้แต่คุณใหม่ เจริญปุระ ที่แม้จะไม่ถึงขั้นทำให้เรารู้สึกรักได้เหมือนกับที่เคยรักคุณมาช่า วัฒนพานิช ในตอน “คนกอง” ของ 5 แพร่ง แต่การแสดงในบทหญิงขายบริการของเธอก็เป็นหนึ่งในสิ่งแรกๆ ของหนังที่ผมเชื่อว่าคนดูจะจำได้

อย่างไรก็ดี ถ้าถามความชอบส่วนตัว ผมว่าคุณป้าวาสนา ชลากร กับคุณหนุ่ม-อรรถพร นั้น ดูมีเสน่ห์มากที่สุดในแง่ของความลึกลับ (ซึ่งเหมาะกับบุคลิกของหนังผีมากๆ) เพราะตั้งแต่เปิดตัวมา เราจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศแห่งความไม่น่าไว้วางใจที่แฝงอยู่ในตัวละครสองตัวนี้และทำให้เรารู้สึกระแวงอยู่ตลอดเวลาว่า ตกลงแล้ว คุณเป็น “คน” หรือ “ผี” กันแน่ (วะ?)

โดยภาพรวมของความเป็นหนังผี ถามว่าผีเรื่องนี้เฮี้ยนแค่ไหน ผมว่าคงไม่อาจใช้คำว่า “หลอน” ได้กับหนังเรื่องนี้ และที่สำคัญ “ตายโหง” ยังคงรักษาสูตรสำเร็จของหนังผีตลาดๆ ไว้ครบทุกอย่างทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นผีหน้าตาเละๆ น่าแหวะ ไปจนถึงจังหวะการปล่อยผีตึงตังโครมครามสร้างความตกอกตกใจ แม้แต่ตอนที่คิดว่าจะขายบรรยากาศความหลอนอย่างเดียว อย่างตอน “คุกกองปราบ” เอาเข้าจริงๆ หนังก็ยังไม่ทิ้งสูตรสำเร็จที่จำเป็นจะต้องปล่อยผีหน้าเละๆ แหวะๆ โผล่ผ่างๆๆ มาทำให้คนขี้ตกใจได้กรี๊ดกัน (หญิงสาวที่ไปดูหนังเรื่องนี้กับผม ยกมือปิดตาเกือบทั้งเรื่อง เพราะกลัวผีหน้าเละๆ จนผมสงสัยว่าแล้วจะมาดูทำไมเนี่ย เสียดายค่าตั๋วเปล่าๆ 555)

ขณะเดียวกัน หนังแทบทุกตอนก็ดูเหมือนจะเดินตามขนบที่ว่า “หนังผีที่ดีต้องมีหักมุม” กันอย่างพร้อมเพรียง แต่พูดก็พูดเถอะ ผมรู้สึกว่าการหักมุมนั้นเป็นเพียงแค่ “องค์ประกอบเล็กๆ” ของหนังเท่านั้นและมันก็ไม่ใช่เป็นการหักมุมที่จงใจมาสร้างความรู้สึกผวาให้กับคนดูหรือทำให้ผู้ชมหกล้มหัวทิ่มหัวตำกับความคาดเดาที่ผิดๆ เมื่อเทียบกับหนังหักมุมเจ๋งๆ อย่าง The Sixth Sense เอย The Others เอย หรือแม้แต่หนังหักมุมที่ไม่ใช่หนังผีอย่าง The Orphan เอย หนังเหล่านี้ การหักมุมของมันล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งความรู้สึกน่าขนลุกสำหรับคนดูด้วยกันทั้งสิ้น

แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าจะมีอะไรบางสิ่งที่ผมรู้สึกว่ายังขาดๆ เกินๆ อยู่บ้างสำหรับหนังเรื่องนี้ ก็คงเป็นตอนที่ 1 กับตอนที่ 3 ซึ่งสำหรับ “ซานติฆ่า” (กำกับโดย คุณชาติชาย เกษนัส) นั้น เราจะเห็นว่า หนังมีความเป็นดราม่าสูงมาก แต่ถ้าหากถามความรู้สึกเชิงซาบซึ้งกินใจ ผมว่า หนังยังทำให้คนดูสัมผัสได้ไม่ “หนักแน่น” เท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อถึงตอนที่หนังปล่อยเพลงประกอบออกมาทิ้งท้าย เราก็รู้ได้ทันทีเลยว่า เนื้อหาของหนังนั้นไม่ “สุกงอมดื่มด่ำ” เพียงพอที่จะรองรับความลึกซึ้งของเพลงได้เลย อย่างน้อยๆ ผมรู้สึกว่า ความซึ้งตอนที่ได้ฟังเพลงนี้ในหนังตัวอย่าง มันลดลงไปเยอะมาก เมื่อมาฟังเพลงนี้อีกครั้งในหนังฉบับเต็ม

เช่นเดียวกัน ตอนที่ 3 อย่าง “ศพแท็งก์น้ำ” ซึ่งกำกับโดย คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ก็ดูจะใช้ผีน้องดิว (อริสรา ทองบริสุทธิ์) เปลืองไปหน่อย เดี๋ยวโผล่ตรงนั้นตรงนี้เยอะไปหมดจนดูไม่น่ากลัว ทั้งที่ว่ากันตามจริง แค่ฉากศพลอยอืดอยู่ในแท้งค์น้ำ ไปจนถึงเหตุการณ์แบบ...เส้นผม เศษเล็บ กลิ่นเหม็นเน่า ที่ติดมากับน้ำจากก๊อก หรือแม้แต่หน้าหน้าตาเละๆ ของผีน้องดิว...เหล่านี้ก็เพียงพอที่จะเรียกความแหวะของคนดูได้แล้ว และจริงๆ จุดเด่นของหนังตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่การหลอกของผีน้องดิวเลย แต่อยู่ที่ความรู้สึกขยะแขยงใน “เศษซาก” ของศพมากกว่า

เหนือสิ่งอื่นใดที่พูดมาทั้งหมด ผมรู้สึกของผมเองว่า อารมณ์ของการเรียงเรื่องสั้นใน “ตายโหง” มีสัดส่วนที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับ 5 แพร่งอยู่สมควร นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า ตอน “ขึ้นครู” ซึ่งกำกับโดยคุณพจน์นั้นดูจะมีความพยายามพอสมควรที่จะทำให้หนังมีอารมณ์คล้ายๆ กับ “คนกอง” ของ 5 แพร่ง เพียงแต่เปลี่ยนตัวแสดงจาก “หญิงรั่วๆ” อย่าง “มาช่า” มาเป็น “หญิงแรดๆ” (ในหนังนะครับ) อย่างคุณใหม่ เจริญปุระ ก็เท่านั้นเอง

นั่นหมายความว่า หนังเริ่มต้นจากเรื่องที่ดูเครียดมากสุดไปสู่จุดที่เครียดน้อย ก่อนจะไม่เครียดเลยในตอนหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พอถึงตอนที่ 3 หนังเริ่มจะคลี่คลายคนดูไปสู่อารมณ์ขันและผ่อนคลายมากขึ้นด้วยการใส่ตัวละครอย่างกระแต-ศุภักษร เข้ามา ก่อนที่กระแตจะส่งไม้ต่อให้กับคุณใหม่ เจริญปุระ ในตอนที่ 4

พูดกันอย่างถึงที่สุด ผมไม่แน่ใจเท่าไรนักว่า “ตายโหง” จะทำให้คนดูกลับบ้านไปด้วยรอยยิ้มเหมือนกับที่ 5 แพร่งเคยทำไว้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ เชื่อส้มตำร้านป้าหน้าปากซอยกินคอยได้เลยว่า หนังของพระนครฟิลม์เรื่องนี้ นอกจากจะไม่ “ตายโหง” แล้ว ยังมีโอกาสทำเงินได้มากกว่าหนังไทยทุกๆ เรื่องที่เข้าฉายก่อนหน้าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แน่ๆ นอนๆ และเหนืออื่นใด อานิสงส์ของหนังผีเรื่องนี้ อาจจะกลายเป็นแฟรนไชส์ขายดีทำให้มีภาคต่อไปเรื่อยๆ ได้อีก แต่จะได้ชื่อ “ตายโหง 2” หรืออะไรนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง...

"ก็ตั้งชื่อว่า “ตายห่า” ก็ได้ไง” เพื่อนปากดีบางคนของผมรีบเอ่ยปากอย่างภาคภูมิใจในสติปัญญาอันฉับไวของตัวเอง พร้อมนำเสนอพล็อตเรื่องย่อที่ผมไม่คิดว่าพระนครฟิลม์จะสนใจ (จริงๆ ก็ไม่น่าจะสนตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้วล่ะ)

“แล้วถ้าชอบอะไรที่มันอิงมาจากเรื่องจริงกันนัก หนังภาคต่อไปของ “ตายโหง” ก็อาจจะโยงย้อนไปตอนที่โรคห่าระบาดในบ้านเราก็ได้ เข้ากันดีกับชื่อเรื่องด้วย แล้วก็ใช้ช่วงเวลาวิกฤตินั้นเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเรื่องราวความรักความหลอนขึ้นมา ดีมั้ยล่ะ”??!!

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก





กำลังโหลดความคิดเห็น