xs
xsm
sm
md
lg

วิ่งสู่ฝัน : ญาติห่างๆ ของ High School Musical/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


apnunt@yahoo.com

เดือนที่หนึ่งของปี 2553 กำลังผ่านพ้นไป ผมรู้สึกว่า หนังไทยปีนี้ ออกสตาร์ทแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ ยังไม่มีอะไรให้ต้องรู้สึกตื่นเต้นประทับใจอะไรกัน ซึ่งจะว่าไป ค่อนข้างแตกต่างจากปีที่แล้ว ที่อย่างน้อยๆ ช่วงครึ่งเดือนแรกของปี ก็มี “ความสุขของกะทิ” มาเปิดศักราชให้แบบไม่ขี้เหร่เท่าไรนัก

ที่พูดเช่นนี้ เพราะที่ผ่านๆ มา เรายังได้ดูแต่หนังที่ “ดูเหมือนจะดี” แทบทั้งนั้น ไล่ตั้งแต่ “บังเอิญ รักไม่สิ้นสุด” ที่ดูจะไม่มีอะไรมากไปกว่าการรอคอยว่าตัวละครพระเอกนางเอกจะไป “จ๊ะเอ๋” กันตอนไหน เช่นเดียวกับ “อยากได้ยินว่ารักกัน” หนังวัยรุ่นรักสามเศร้าสไตล์เอ็มวี ที่ดูจากภาพรวมแล้ว สามารถทำให้จบได้ภายในเวลา 3 นาที

นั่นยังไม่ต้องพูดถึง “สี่สิงห์คอนเฟิร์ม” ที่พูดกันแบบตรงไปตรงมา ไม่ต้องลำบากถึงหมอดูหน้าตาดีบางคนก็ได้ แต่ใครที่ได้ดู ก็น่าจะ “คอนเฟิร์ม” ได้เหมือนๆ กัน ถึงความดีความด้อยที่อย่างแรกมีน้อยกว่าอย่างหลังอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ดี ในขณะที่รู้สึก “เฉยๆ” กับหนังไทย 2-3 เรื่องที่ว่ามา ผมกลับเห็นว่า หนังเรื่องใหม่ที่เพิ่งเข้าฉายอย่าง “วิ่งสู่ฝัน” หรือ After School นั้น ดูมีความน่าสนใจอยู่ในตัวเองอยู่พอสมควร และเหตุผลที่ว่าน่าสนใจ ก็ไม่ใช่เพราะว่าจะได้ฟังเพลงจากเสียงร้องของน้องสายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข (ซึ่งก็กลายเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ตกลง เธอร้องเองหรือว่าลิปซิ้ง) หากแต่นี่คือหนังที่เดินมาใน “เส้นทาง” แบบหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยครั้งนักในแวดวงหนังไทย ซึ่ง “เส้นทาง” ที่ว่านั้นก็คือ การเป็นหนังในสไตล์ Musical หรือ ภาพยนตร์เพลง

จะว่าไป Musical หรือหนังเพลง ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดเลยครับสำหรับแวดวงหนังบ้านเรา เพราะอันที่จริง มันถูกปูทางและสร้างทำมาเป็น 20-30 ปีแล้วด้วยซ้ำ โดยเรื่องแรกๆ เลย น่าจะเป็นงานเมื่อปี 2513 เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” โดยมีคุณรังสี ทัศนพยัคฆ์ เป็นผู้กำกับ และมีคู่พระคู่นางแห่งยุคสมัยอย่างมิตร ชัยบัญชา กับเพชรา เชาวราษฎร์ รับบทแสดงนำ ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่งของยุคนั้น ถึงขั้นที่ทำให้คุณอาดอกดิน กัญญามาลย์ นึกสนุกลงมาเล่นในเกมนี้ด้วย กับการทำหนังเรื่อง “ไอ้ทุย” ซึ่งก็ถือเป็นหนังเพลงเช่นเดียวกัน

ถ้าร่วมสมัยขึ้นมาหน่อย เท่าๆ ที่นึกออกตอนนี้ ผมว่าก็น่าจะมีหนังอย่าง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” หรือ “หมานคร” ที่แม้ว่าอาจจะไม่ใช่หนังเพลงเต็มรูปแบบ แต่ก็มีบางฉากบางตอนที่หนังเหล่านี้หยิบยืมสไตล์ของหนังเพลงมาใช้สอย อย่างเช่น ตอนที่ “ไอ้แผน” ในมนต์รักทรานซิสเตอร์พร่ำเพ้อถึงคนรักผ่านการร้องเพลงแล้วมีเพื่อนๆ ทหารลุกขึ้นมาประสานเสียง ฉากนั้นดูเซอร์เรียล (เกินจริง) ได้ใจ

ในงานร่วมสมัยของหนังไทย ผมว่าคนที่ทำภาพยนตร์เพลงออกมาได้โดดเด่นแปลกหูแปลกตามากที่สุด และจัดได้ว่าเข้าขั้น Musical ขนานแท้ ก็คงเป็นคุณเจ้ย-อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล กับงานอย่าง “หัวใจทรนง” (The Adventure of Iron Pussy) ที่มาพร้อมสไตล์ภาพสีสันสะดุดตากับเนื้อหามืดหม่น ซึ่งแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว กับผลงานของคุณชลัท ศรีวรรณา อย่าง After School เรื่องนี้ที่ทำออกมาในโทนอารมณ์สดใสร่าเริง

ไล่ตั้งแต่รูปลักษณ์ภาพรวม ไปจนถึงตัวละครวัยรุ่น หรือแม้แต่ฟอนท์ของชื่อหนังในภาษาอังกฤษ (นั่นยังไม่นับรวมคำว่า After School ที่เป็นทั้งชื่อหนังและชื่อวงดนตรีของวัยรุ่นในหนัง ที่ไปเหมือนกับชื่อเกิร์ลกรุ๊ปวงหนึ่งของเกาหลีอีกด้วย) ผมคิดว่ามันไม่น่าแปลกใจเลยที่ใครต่อใครจะเห็นว่า น่าอาจจะเป็น “ญาติ” อีกคนหนึ่งของ High School Musical เพียงแต่อาจจะเป็น “ญาติห่างๆ” หรือ ญาติรุ่นหลังๆ ที่สายเลือดแห่งความเป็นหนังดีลดความเข้มข้นลงไปเยอะแล้ว

นั่นยังไม่ต้องพูดถึงเนื้อหาหลักๆ ของหนัง ที่ว่ากันอย่างถึงที่สุด เรื่องราวความฝันและความรักของนักเรียนมัธยม ล้วนแล้วแต่ถูกนำเสนอมาแล้วในหนังไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของหนังเพลงวัยรุ่นอย่าง High School Musical เอง หรือแม้แต่ Step Up และ Bandslam เนื้อหาก็ไม่พ้นไปจากนี้ ซึ่ง After School ก็รับอิทธิพลแบบนั้นมาเต็มๆ

อันที่จริง เนื้อหาของ “ความเป็นวัยรุ่น” มีเยอะกว่านั้นนะครับ แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า วงการหนังนั้นถูกตีกรอบไปแล้วว่า ถ้าจะพูดเรื่องวัยรุ่น ก็ต้องพูดเรื่องรักหรือไม่ก็ความใฝ่ฝัน ดังนั้น ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้า เราจึงคงไม่มีวันได้เห็นผลงานอย่าง “ผีเสื้อและดอกไม้” เวอร์ชั่นหนังเพลง ด้วยเหตุผลที่ใครหลายๆ คนอาจจะลงความเห็นว่า มัน “เครียดเกินไป” (และที่สำคัญ คือ ขายไม่ได้) สำหรับคนวัยนี้ ใช่ไหม?

แต่เอาล่ะ สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจเดินเข้าไปเรื่องนี้ ไม่ใช่เนื้อหาของหนังที่มาพร้อมกับพล็อตเรื่องพื้นๆ หาดูได้ดาษดื่น หากแต่เป็นรูปแบบและสไตล์ที่ดูแปลกออกไปจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ แทบทั้งหมด

เบื้องต้นเลย ผมคิดว่า หนังเพลงที่ดีนั้น ควรจะมีเพลงเป็นของตัวเองเพื่อเล่าเรื่องราวของตัวเองโดยเฉพาะ นั่นหมายถึงว่า หนังต้องเขียนขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้มันเข้ากับอารมณ์ของเรื่องราวที่ต้องการจะบอกเล่าจริงๆ และสำหรับ “วิ่งสู่ฝัน” หนังก็มีเพลงเป็นของตัวเองอยู่เหมือนกันประมาณ 3-4 เพลง เหลือจากนั้น ก็เป็นบทเพลงเก่าๆ ที่มีคนเคยร้องไว้แล้วเอามาคัฟเวอร์ใหม่
ซึ่งการไปหยิบเอาเพลงเก่ามาแบบนี้แหละครับ นอกจากจะทำให้เราคนดูรู้สึกว่า อารมณ์เพลงมันเข้ากับเนื้อหาของหนังบ้าง ไม่เข้าบ้างแล้ว ยังส่งผลให้หลายๆ ครั้ง เรารู้สึกเหมือนกำลังนั่งดูมิวสิกวิดีโอเวอร์ชั่นใหม่ของเพลงเก่าๆ ที่เคยดังอยู่แล้วเท่านั้นเอง

ขณะเดียวกัน ผมรู้สึกว่าการเข้าเพลงแต่ละเพลงนั้น “ไม่เนียน” เท่าที่ควร และหนังก็ใช้สูตรในการเข้าเพลงเพียงสูตรเดียวทั้งเรื่อง คือให้ตัวละครนิ่งเงียบแล้วดนตรีก็ขึ้นมาให้ตัวละครร้องเพลงต่อ คือรอให้ดนตรีอินโทรขึ้นมาก่อนเหมือนร้องเพลงตามปกติ ทั้งที่ว่ากันตามจริง มันมีสูตรที่มากกว่านี้ ด้วยการทำให้เนื้อเพลงไหลลื่นจากบทพูดของตัวละครได้ พูดแบบนี้อาจจะนึกไม่ออก ผมอยากลองให้คิดถึงงานดีๆ อย่าง Sweeney Todd, Chicago, all that jazz ไปจนถึง Moulin Rouge ครับ เราจะเห็นว่า เพลงในหนังจะถูกเชื่อมร้อยอย่างลื่นไหลกับบทพูดของตัวละคร คือส่งผ่านบทพูดไปยังเพลงแบบต่อเนื่องเชื่อมโยง หรือพูดไปสักพักแล้วก็ร้องเป็นเพลงต่อไปได้เลย

ส่วนหนึ่งที่หนังไม่สามารถทำให้ “บทพูด” เชื่อมต่อกับ “บทเพลง” ได้ ก็น่าจะมาจากสาเหตุหลักๆ คือการไม่มีเพลงเป็นของตัวเองนี่เอง และการไม่มีเพลงเป็นของตัวเองนี้ มันก็ส่งผลข้างเคียงไปถึงส่วนอื่นๆ ของหนังอีกทอดหนึ่ง

อย่างเพลงบางเพลง อารมณ์หนังของยังไม่ส่งเต็มที่ แต่ก็ถูกเปิดออกมา เช่น เพลง “18 ฝน” ที่หนุ่มจอห์นนี่ (หลุยส์ เฮสดาร์ซัน) คร่ำครวญออกมาราวกับจะขาดใจนั้น มันสร้างความรู้สึกเก้ๆ กังๆ ให้กับคนดูในการที่จะ “มีอารมณ์ร่วม” เพราะเนื้อหาในส่วนนี้ของตัวละครตัวนี้ ยังไม่สุกงอมเพียงพอ และอีกอย่าง หนังก็ไม่ได้ปูพื้นให้คนดูเชื่ออย่างหนักแน่นมาตั้งแต่ต้นว่า จอห์นนี่นั้นเจ็บปวดมากมายแค่ไหนกับเรื่องครอบครัว และความเจ็บปวดที่ว่านั้น มันก็ส่งผลมาถึงพฤติกรรมของเขาอย่างที่เห็น ดังนั้น เพลง “18 ฝน” จึงเป็นเสมือน “บทเพลงแห่งการแก้ตัว” ของเด็กใจแตกคนหนึ่งมากกว่าจะเรียกร้องความรู้สึกเห็นอกเห็นใจจากคนดูได้จริงๆ

เหนือสิ่งอื่นใดที่พูดมาทั้งหมด ผมคิดว่า บทหนังนั้นก็ค่อนข้างจะมีปัญหา คือถ้าให้เปรียบเทียบ ผมว่ามันก็คงคล้าย กับต้นไม้หนึ่งต้นซึ่งเพียบพร้อมด้วยกิ่งก้านสาขา แต่ทว่าขาดลำต้นที่แข็งแรง ลำต้นนั้นก็คือพล็อตหลักของหนังที่พูดถึงความใฝ่ฝันของเด็กๆ ในการมีวงดนตรีและมีอัลบั้มของตัวเอง แต่พล็อตหลักที่ว่านี้กลับไม่ได้รับการย้ำเน้นอย่างหนักแน่นเท่าที่ควร

เทียบกับหนังในทางเดียวกันหลายๆ เรื่อง อย่าง High School Musical หรือแม้แต่ Step Up นั้น ผมรู้สึกว่า เรื่องราวความฝันของวัยรุ่นถูกขับเน้นให้เห็นเด่นชัด ผ่านการต่อสู้และมุ่งมันฝึกฝนเพื่อพาตัวเองไปพิชิตความฝันในใจให้ได้ และคนดูที่เป็นวัยรุ่นดูแล้วก็อาจจะได้พลังฮึกเหิมอยากลุกขึ้นมาทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงอะไรทำนองนั้น

แต่กับ After School ผมว่าหนังมีพล็อตรองมากเกินไปและเสียเวลาให้กับเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างเยอะ...เยอะจนกระทั่งมันไปทำลายความเข้มข้นของพล็อตหลัก พูดง่ายๆ คือหนังมีเรื่องที่จะเล่ามากเกินไป และด้วยความที่มีเรื่องจะเล่าเยอะแบบนี้นี่เอง ก็ส่งผลเป็นโดมิโน ทำให้พล็อตรองแต่ละพล็อตถูกเล่าแบบ “แตะๆ” และบั่นทอนพลังของเนื้อหาไปโดยปริยาย

พล็อตรองที่ว่านั้น ก็มีตั้งแต่เรื่องของ “เกรท” (ภรณ์รวี อนันตกุล) ที่มีแม่ผู้มีทัศนคติต่อดนตรีคล้ายๆ กับพ่อแม่ของป้อมใน Seasons Change แต่ประเด็นระหว่างเกรทกับแม่ก็จบลงแบบง่ายดาย, เรื่องของจอห์นนี่ที่มัวไปขลุกอยู่กับหญิงจนเสียงาน พ่วงด้วยปัญหาครอบครัว, เรื่องของ “มะนาว” (สายป่าน-อภิญญา) เด็กสาวบ้านแตกแถมไปแอบรักเพื่อน ฯลฯ

คือถ้าจะให้พูดถึงพล็อตรองเหล่านี้จริงๆ จังๆ ก็คงอีกหลายบรรทัด แต่ไม่ว่าจะมันจะเยอะแค่ไหน แต่ทุกๆ พล็อตที่ถูกผูกขึ้นมา ก็ “ลงเอย” แบบง่ายๆ จุดที่ควรจะเกิดความขัดแย้งรุนแรง ก็ไปไม่ถึง เพราะมันถูกทำให้จบลงแบบง่ายๆ เช่นเดียวกับความสำเร็จของวง After School ที่ได้มาแบบง่ายๆ ไม่ต้องต่อสู้ฟันฝ่าอะไร (ผมเดาว่าถ้าโลกความเป็นจริง “ง่าย” เหมือนในหนัง เราคงมีวงดนตรีวัยรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ไม่เว้นแต่ละวัน)

แต่ที่พูดมาทั้งหมด ยังไม่เท่ากับว่า หนังเรื่องนี้ได้ใส่ฉากสถานการณ์ที่ถือเป็นการ “ลดสถานะ” ของตัวเองลงไปเทียบเท่ากับ “ละครน้ำเน่า” อย่างไม่น่าจะเป็น ถึง 2 ครั้ง 2 ครา ครั้งแรก จอห์นนี่วิ่งเข้าบ้านแล้วเจอยายนอนนิ่งอยู่ ครั้งที่สอง จอห์นนี่กับมะนาวไปออกทีวีเพื่อส่งกำลังใจให้เด็กหญิงผู้โชคร้าย ผมว่ามันไม่ได้ส่งผลดีต่อหนังเลย (แต่ถ้าส่งผลดีต่อทีวีเคเบิ้ลช่องนั้นล่ะก็ ว่าไปอย่าง เพราะได้โฆษณาสถานีไปเต็มๆ)

อันที่จริง ถ้าไม่พูดถึงว่า หนังพยายามนำเสนอให้เห็นความเป็นจริงของครอบครัวร่วมสมัยหลายๆ รูปแบบ (แม้จะนำเสนอได้ไม่ “คม” เลยก็ตาม) ผมรู้สึกชอบในบางประเด็นที่หนังพูดและมันน่าจะถูกขับเน้นให้เป็น “ใจความสำคัญ” ของหนัง อย่างเรื่องการสอนให้เห็นคุณค่าของเวลาและชีวิตกับการมีความใฝ่ฝันที่มุ่งมั่นจะทำโน่นทำนี่ที่มีประโยชน์ ซึ่งเป็นโจทย์ที่น่าจะโดนใจวัยรุ่นที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในวัยคิดฝันได้แล้วล่ะ แต่ก็น่าเสียดายที่หนังไม่ได้เน้นอะไรในส่วนนี้แบบเป็นจริงเป็นจังอย่างที่ควรจะเป็น

และพูดก็พูดเถอะ ผมไม่เชื่อตั้งแต่แรกแล้วว่า สมาชิกวง After School ที่ซ้อมกันแค่วันแรก แต่กลับเล่นดนตรีได้เจ๋งราวกับมืออาชีพ ขณะที่หนุ่มแว่นอย่าง “พีท” (อติวิชญ์ เอี่ยมยอดสิน) หนังไม่ได้บอกว่าเขาเคยจับเครื่องดนตรีมาก่อนเลยในชีวิต แต่แค่ฟอร์มวงวันแรก กลับบดขยี้กีตาร์เบสได้ราวกับเทพกีตาร์มาจุติยังไงยังงั้น!!

อย่างไรก็ดี พูดกันอย่างถึงที่สุด เทียบกับหนังไทยที่เข้าฉายตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมว่า After School น่าจะเป็นหนังที่ “ดูดี” ที่สุดแล้ว อย่างน้อยๆ ผมชอบการแตกบทและใส่รายละเอียดของหนัง ทำให้ดูมีหลายมิติเนื้อหาในเรื่องเดียว ซึ่งถ้าคุมให้อยู่และรู้ว่าอะไรคือประเด็นรองประเด็นหลักแล้วเน้นน้ำหนักให้แน่นๆ สักจุด มันก็มีโอกาสที่จะเป็น “หนังดีๆ” ได้เหมือนกัน








กำลังโหลดความคิดเห็น