xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งตัวเต็ง...ชิง ‘หนังยอดเยี่ยมออสการ์’ : BROTHERS/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


apnunt@yahoo.com

ดูจากแผนการโปรโมตตลอดจนภาพบนโปสเตอร์ อาจทำให้หลายๆ คนคิดไปล่วงหน้านี่คงเป็นงานประเภท “รักสามเศร้าของเราสามคน” ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมแน่ๆ นอนๆ ซึ่งก็ถูกต้องครับ ถ้าคุณคิดเช่นนั้น แต่ถูกเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะจริงๆ แล้ว ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะมีบทสรุปที่เป็นโศกนาฏกรรมสะเทือนใจ แต่นั่นก็ไม่ได้มาจากเหตุผลว่าเป็นเพราะมีใครคนใดคนหนึ่งในบรรดาสามคนต้องทุกข์ทนกับการอกหักรักคุด หากแต่จุดซึ่งทำให้ “บราเธอร์ส” (Brothers) กลายเป็นภาพยนตร์ที่หดหู่สะเทือนใจมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง มันมีต้นตอที่มาซึ่ง “หนักหนา” ยิ่งกว่านั้น...หลายเท่าตัว...

แน่นอนครับ สำหรับนักดูหนังจำนวนหนึ่ง อาจจะบอกว่า เนื้อหาที่ Brothers นำเสนอ อันที่จริง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้วงเวลานับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาเปิดฉากสงครามก่อการร้าย ก่อนจะพาตัวเองไปล้มหัวฟาดพื้นอยู่บนผืนทะเลทรายในดินแดนตะวันออกกลาง ดูเหมือนว่าเนื้อหาทำนอง...วิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลอเมริกา หรือบอกเล่าความปวดร้าวของครอบครัวที่สูญเสียคนรัก ต่างก็เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกถ่ายทอดมาแล้วในหนังแนวนี้หลายต่อหลายเรื่อง

นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า หนังอย่าง Brothers โดยพื้นฐานของมันเอง ก็เป็นงานรีเมคมาจากหนังเรื่อง “Brodre” ของผู้กำกับหญิงชาวเดนมาร์ก นาม “ซูซาน แบร์” ที่ทำหนังเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่า ประเด็นในหนังนั้นย่อมมี “ความเก่า” ไปแล้วอย่างน้อยครึ่งทศวรรษ (หรือถ้ายัง “เก่า” ไม่พออีก ก็ต้องบอกว่า จริงๆ แล้ว ซูซานเองก็ได้แรงบันดาลใจในการสร้างงานชิ้นนี้มาจากบทกวีเก่ากึ๊กของ “โฮเมอร์” กวีเอกสมัยโบราณ ยุคก่อนคริสตกาลโน่นเลย)

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะเป็นหนังรีเมค แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผู้กำกับจิม เชอร์ริแดน (ผู้โด่งดังมากๆ มาจากหนังดีๆ หลายๆ เรื่อง เช่น In America, My Left Foot, In the Name of Father, The Filed ฯลฯ) สามารถรักษาพลังเนื้อหาของต้นฉบับไว้ได้อย่างครบถ้วนและถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างดีเยี่ยมน่าประทับใจ และไม่ต้องสงสัยเลยว่า คุณค่าความดีของมันนั้น มีโอกาสเดินทางไกลไปจนถึงเข้ารอบสุดท้ายชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ได้สบายๆ

แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก่อน ณ ตรงนี้ก็คือว่า โชคชะตาของ Brothers อาจจะยังเป็นรองหนังอีกเรื่องที่เป็นงานรีเมคเหมือนกันอย่าง The Departed ซึ่งได้หนังยอดเยี่ยมออสการ์ไปเมื่อหลายปีก่อน โดยเหตุผลหลักๆ นั้นก็อาจจะเป็นเพราะว่า ในขณะที่ The Departed รีเมคแบบ “รื้อใหม่” และมีความเป็นตัวของตัวเองจริงๆ (แม้จะโดนแฟนคลับของต้นฉบับดั้งเดิมอย่าง Infernal Affair สาปส่งเพียงใดก็ตาม)

แต่กับบราเธอร์ส สำหรับคนที่ได้ดูฉบับของซูซาน แบร์ มาแล้ว อาจจะไม่รู้สึกตื่นเต้นสักเท่าไหร่ เพราะจิม เชอร์ริแดน รีเมคมันออกมาในลักษณะที่ค่อนข้าง “เพลย์เซฟ” ชนิดที่เกือบเรียกได้ว่า “โคลนนิ่ง” กันมายังไงยังงั้น (นั่นยังไม่นับรวมว่า ปีนี้ มีคู่แข่งแข็งๆ อย่าง The Hurt Locker ของผู้กำกับ “แคทเธอรีน บิเกโลว์” ที่หลายๆ คนบอกว่าเป็น “หนังสงครามมิติใหม่” พร้อมกับยกให้เป็นเต็งหนึ่งออสการ์ไปเรียบร้อยแล้ว)

ส่วนที่ต้องบอกว่า ลอยลำมาแน่ๆ นอนๆ ก็คงหนีไม่พ้นนักแสดงหนุ่มฝีมือดีอย่าง “โทบี้ แม็คไกวร์” ที่หลังจากถูกส่งชื่อเข้าชิงตำแหน่งนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมรางวัลลูกโลกทองคำ มันก็คงไม่เป็นการเหลือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใดกับการที่เขาจะได้เข้าชิงรางวัลนี้อีกครั้งบนเวทีออสการ์

มองกันตามนามหนังที่ตั้งชื่อว่า “Brothers” ซึ่งแปลแบบตรงตัวได้ว่า “พี่ชาย-น้องชาย” ผลงานเรื่องนี้ก็มีตัวละครเช่นนั้นครบครัน เพราะมันพูดถึงพี่น้องคู่หนึ่งซึ่งดูเหมือนจะมีเส้นทางที่แตกต่างกันสุดขั้ว คนหนึ่งเปิดตัวมาาในฐานะวายร้าย ก่อนจะค่อยๆ คลี่คลายตัวเองไปสู่ด้านที่อ่อนโยนน่าคบหา ส่วนอีกคนเริ่มต้นจากภาพลักษณ์ของแฟมิลี่แมนและแขวนภาพความเป็นฮีโร่ไว้บนหน้าอก แต่สุดท้ายกลับกลายเป็น “ตัวอันตราย” ที่แม้แต่ลูกเมียยังไม่อยากจะเข้าใกล้

เรื่องของเรื่อง มันเริ่มต้นขึ้น เมื่อ “แซม เคฮิลล์” ถูกส่งตัวไปปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถานก่อนจะหายตัวไปอย่างลึกลับจนทุกๆ คนคิดว่าเขาตายไปแล้ว (ถึงขั้นที่จัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ) ขณะเดียวกัน “เกรซ” (นาตาลี พอร์ตแมน) ภรรยาของแซมที่ตกพุ่มม่ายกะทันหันและต้องประคองตัวเองให้ผ่านพ้นคืนวันอันเจ็บปวดไปให้ได้กับการเลี้ยงลูกสาวอีกสองคน ก็เริ่มมีความรู้สึกดีๆ ยิ่งขึ้นทุกวันกับ “ทอมมี่” (เจค จิลเลนฮาล) น้องชายของแซมซึ่งกลายมาเป็นกัลยาณมิตรทั้งต่อเธอและลูกสาว อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในหนังทั้งหมดก็เริ่มกลับตาลปัตร พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือไปทันที เมื่อ “แซม” ที่ถูกเข้าใจว่าตายไปแล้ว เดินทางกลับบ้าน...

คงเหมือนกับนวนิยายชิ้นเอกอย่าง “อันนา คาเรนินา” ของ "ลีโอ ตอลสตอย" ที่เปิดเรื่องด้วยประโยคว่า “แต่ละครอบครัวต่างก็มีสุขและทุกข์แตกต่างกันไปคนละแบบ” หนังอย่าง Brothers ก็มีประโยคเด็ดคล้ายๆ กัน แต่เปลี่ยนเป็น “แต่ละครอบครัวต่างก็มีปัญหาคนละอย่างสองอย่าง” ซึ่งมีการกล่าวซ้ำอย่างน้อย 2-3 ครั้ง และหนังก็นำเสนอปัญหาที่ว่านี้ออกมาให้เราเห็นอย่างเด่นชัด ผ่านเรื่องราวความสัมพันธ์หลายรูปแบบ ทั้งในส่วนของทอมมี่กับพ่อ (แซม เชฟพาร์ด) ที่ดูเหมือนจะหาจุดลงตัวกันได้ยาก ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่สะใภ้กับน้องสามีที่ ก็ดูคล้ายๆ ว่าจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ไกลเช่นเดียวกัน มิพักต้องเอ่ยถึงปมปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “บราเธอร์ส” สองหนุ่มพี่น้อง ที่สะท้อนสัจจะความจริงของประโยคดังกล่าวนั้นได้อย่างหมดจด

เจค จิลเลนฮาล คนหนุ่มจาก Brokeback Mountain ไม่มีอันใดให้ต้องขัดใจเลยในเรื่องการแสดง กับบทของชายหนุ่มที่ “ไม่เอาถ่าน” และมีสถานะไม่ต่างไปจาก “แกะดำ” ของครอบครัว แต่ไม่ว่าจะอย่างไร บอกตามตรงครับว่า ตอนต้นๆ เรื่อง เห็นเจค จิลเลนฮาล ผู้มาพร้อมกับท่าทีของคนเจ้าอารมณ์และหุนหันพลันแล่น ดูฝีมือของเขาว่า “เคี่ยว” แล้ว (โดยเฉพาะฉากระเบิดโทสะกลางโต๊ะอาหาร...ซึ่งฉากที่ว่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งฉากดีๆ ที่น่าจดจำของหนังเรื่องนี้ในแง่ที่เปิดโอกาสให้นักแสดงได้โชว์ความสามารถอย่างเต็มที่) แต่พอถึงคราวที่โทบี้ แม็คไกวร์ สบโอกาสระเบิดระบายออกมาบ้าง มันแทบจะทำให้เราหลงลืมความร้ายของหนุ่มเจคไปเลยโดยสิ้นเชิง

โทบี้ แม็คไกวร์ ดูจะมีเคมีที่ลงตัวอย่างถึงที่สุดกับบทบาทของทหารหนุ่มผู้ต้อง “เก็บซ่อนความลับ” และ “แบกรับตราบาป” ไว้อย่างเงียบงัน ในบางจังหวะ เราได้ยินแซมเอ่ยปากให้อภัยแก่สิ่งที่ทอมมี่ทำไปในช่วงที่เขาไม่อยู่บ้าน แต่กับสิ่งที่ตัวเองก่อไว้ในสงคราม แซมกลับไม่เคยให้อภัยมันได้เลย

ความรู้สึกผิดที่ติดค้างฝังลึก ถูกสะท้อนออกมาอย่างเด่นชัดในฉากเชิงสัญญะฉากหนึ่ง ตอนที่แซมโกนหนวดอยู่ในห้องน้ำซึ่งกินเวลาประมาณหนึ่งนาที ราวกับว่าหนังต้องการจะเล่นล้อกับภาวะตัวตนของทหารกล้าในเชิงอุปมาอุปไมย เพราะในขณะที่แซมสามารถโกนหนวดโกนเคราให้ใบหน้าเกลี้ยงเกลาได้อย่างสบายๆ แต่ทว่า กับความรู้สึกผิดบาปในใจ มันกลับนับวันมีแต่จะ “ดกหนา” มากยิ่งขึ้น ชนิดที่ไม่มีใบมีดโกนยี่ห้อใดสามารถขจัดตัดทิ้งไปได้เลย

จะว่าไป แซม เคฮิลล์ ก็คงคล้ายๆ กับใครสักคนที่เพิ่งผ่านสายฝนมาจนเปียกโชก จิตวิญญาณของเขากำลังหนาวสั่น ฉากที่กะเทาะแก่นแท้ความรู้สึกของแซมได้ดีมากๆ ฉากหนึ่งก็คือ ตอนที่เขานั่งคุยกับทอมมี่ข้างสนามเล่นเจ็ตสกี ความหวาดระแวงในระดับวิตกจริต ตลอดจนความรู้สึกที่ไม่สามารถไว้ใจใครได้อีกต่อไปแล้ว สะท้อนออกมาแบบหมดเปลือกผ่านแววตาท่าทีตลอดจนคำพูดคำจา

มองในเชิงจิตวิทยา ผมว่า การที่แซมพยายามจะคาดคั้นเอาผิดกับทอมมี่ แล้วบอกว่าเขาสามารถยกโทษให้ได้กับสิ่งที่ทอมมี่ทำนั้น จริงๆ แล้ว มันก็คงคล้ายๆ กับที่ใครสักคนซึ่งทำเรื่องไม่ดีบางอย่างมา แล้วพยายามมองหาความผิดของใครอีกคนเพื่อทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นมาได้บ้างว่าตัวเองไม่ใช่คนเลวร้ายเพียงคนเดียวในโลก และยิ่งไปกว่านั้น ลึกๆ ในใจของแซม เขาก็คงกำลังต้องการใครสักคนที่จะมาบอกเขาด้วยถ้อยคำง่ายๆ เหมือนที่เขาพูดกับทอมมี่ประมาณว่า “ไม่เป็นไรหรอก ทุกสิ่งทุกอย่างมันผ่านพ้นไปแล้ว เรายกโทษให้นาย” เช่นเดียวกัน...

ครับ, สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าใครจะมองว่า ประเด็นเนื้อหาที่ Brothers นำเสนอ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่สำหรับผม นี่คือหนังสงครามที่ดีมากๆ อีกเรื่องหนึ่ง เพียงแต่มันอาจไม่ใช่หนังสงครามที่ขายเอฟเฟคต์ระเบิดตูมตาม หากแต่เป็นหนังสงครามที่เข้มข้นและหนักหน่วงซึ่งบอกเล่าถึง “สงครามในใจ” ของคนคนหนึ่งที่ต้องต่อสู้ขับเคี่ยวกับตราบาปซึ่งตามหลอกหลอนเหมือนไม่ยอมเลิกรา

มากกว่านั้น แก่นสารอีกอย่างที่หนังเรื่องนี้ส่งเสียงบอกกับคนดูได้อย่างน่าหดหู่สะเทือนใจ ก็คือ ผลพวงแห่งสงครามนั้น อาจไม่ได้จบลงด้วยการ “สูญเสียเลือดเนื้อ” เสมอไป แต่มันอาจเลวร้ายยิ่งกว่านั้น ถึงขั้นทำให้ใครบางคน “สูญเสียตัวตนและจิตวิญญาณ” ชนิดที่อาจจะไม่สามารถ “กอบกู้” และกลับมามีชีวิตอยู่ “เป็นผู้เป็นคน” ได้ปกติดังเดิมอีกต่อไป

ถ้อยคำบรรยายสุดท้ายของแซมที่คล้ายๆ จะไต่ถามทั้งต่อตัวเองและคนดูผู้ชมว่า “ผมจะกลับมาอยู่อีกครั้งได้ไหม?” ฟังเผินๆ มันอาจจะเป็นคำถามธรรมดาๆ ที่ฟังแล้วสามารถปล่อยผ่าน

แต่ถ้าคุณเป็นใครสักคนที่เพิ่งกลับมาจากการฆ่าคนในสงคราม หรือเพิ่งล้มคว่ำกับความรักที่จบลง คำถามๆ หนึ่งซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นในความคิดของคุณบ้างก็คือ คุณจะกลับมา “อยู่” ต่อ ได้อีกหรือเปล่า??

...กลับมา “อยู่” โดยที่ไม่มีเขาหรือเธอคนนั้นเคียงข้างอีกต่อไปแล้ว

...กลับมา “อยู่” หลังจากจิตวิญญาณแหลกลาญล่มสลายไปแล้วในดินแดนแห่งสงคราม...


เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น