xs
xsm
sm
md
lg

Angel of Mine : ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย/โสภณา

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


* หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง

จุดขายสำคัญประการหนึ่งของ Angel of Mine นอกเหนือจากการได้ แคเธอรีน ฟรอต์ (The Page Turner) และ ซองดรีน บอนแนร์ (8 Women) นักแสดงหญิงฝีมือฉกาจแห่งวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส มาประชันบทบาทกันแล้ว ก็คือ การที่หนังดัดแปลงมาจากเรื่องจริงซึ่ง –ตามคำอธิบายที่ปรากฏในปกหลังดีวีดี- “เหลือเชื่อ” ยิ่งนัก

ขออภัยอย่างยิ่งที่ดิฉันไม่พบข้อมูลว่าเรื่องจริงที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังนั้น แท้จริงแล้วมีต้นสายปลายเหตุและความเป็นไปอย่างไร

ทว่ายึดตามเรื่องราวที่ปรากฏใน Angel of Mine ฉบับภาพยนตร์ ก็คือ มันว่าด้วยเรื่องของผู้หญิงสองคนที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน ทว่าครั้งหนึ่งเคยประสบเหตุการณ์เข้าข่าย “โศกนาฏกรรม” ร่วมกัน หลังจากนั้นต่างฝ่ายก็ต่างแยกย้ายไปดำเนินชีวิตตามวิถีทางของตน จนกระทั่งวันหนึ่ง ความบังเอิญแห่งชีวิตก็ทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง ทั้งคู่โคจรมาพบกันทั้งที่ความเป็นไปได้มีอยู่น้อยมาก และการพบกันหนนี้ก็ทำให้พวกเธอต้องพาตัวเอง –และคนรอบข้าง- หวนกลับไปหาโศกนาฏกรรมในอดีตคราวนั้นอีกครั้งหนึ่ง

ผู้หญิงสองคนที่ว่า คนหนึ่งคือ เอลซา ผู้ช่วยเภสัชกรในร้านขายยาแห่งหนึ่ง และอีกคนคือ แคลร์ คุณแม่ยังสาว ฐานะความเป็นอยู่ดี ผู้มีหน้าที่หลักคือการดูแลบ้านและลูกๆ สองคน

หนังใช้เวลาราวสิบนาทีแรกเล่าถึงสถานการณ์โดยคร่าวของเอลซา – ณ เวลานั้น ชีวิตคู่ของเธอกำลังประสบปัญหา เธอกับสามีตัดสินใจเลิกร้างจากกัน และยังคงตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะได้ครอบครองสิทธิในการดูแลบุตรชายวัย 10 ขวบ

วันหนึ่ง เอลซาไปรับลูกชายกลับจากงานปาร์ตี้ของเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่ง ภายในงาน เธอพบเด็กหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งอย่างบังเอิญ และด้วยเหตุผลบางประการ เอลซาให้ความสนใจเด็กหญิงผู้นี้อย่างมากจนถึงขนาดลืมลูกชายแท้ๆ ของตนเองไปเสียแทบจะสนิท

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ความสนใจที่เอลซามีต่อเด็กหญิงก็ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นทุกขณะจนในที่สุดก็เข้าข่ายกลายเป็นความลุ่มหลง (โดยที่หนังยังไม่ยอมเฉลยสักทีว่า เหตุใดเธอจึงสนใจเด็กคนนี้นัก) เอลซาหลอกถามข้อมูลเด็กหญิงจากลูกชายจนทราบว่าเธอเป็นน้องสาวเพื่อนที่โรงเรียนคนหนึ่ง เธอสืบเสาะติดตามกระทั่งรู้ที่อยู่ของเด็กคนนั้น และเหนืออื่นใด เธอพาตัวเองเข้าไปทำความรู้จักและตีสนิทกับแคลร์ ผู้เป็นแม่ของเด็กหญิงด้วย

หลังจากให้ผู้ชมเห็นอาการที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า “โรคจิต” ของเอลซาพักใหญ่ หนังก็ยอมคายความลับสำคัญให้ผู้ชมรู้ในที่สุดว่า แท้จริงแล้ว เมื่อหลายปีก่อน เอลซาเคยสูญเสียบุตรสาวซึ่งยังเป็นทารกแบเบาะในอุบัติเหตุไฟไหม้ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เธอไม่เคยทำใจยอมรับความสูญเสียในครั้งนั้นได้ และสาเหตุที่เธอสนใจลุ่มหลงเด็กหญิงคนนั้นนัก ก็เป็นเพราะเธอเชื่อของเธออย่างหมดหัวใจว่า เด็กหญิงคือลูกสาว –ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอคิดว่าตายไปแล้ว- ของเธอคนนั้นนั่นเอง

Angel of Mine เป็นผลงานกำกับของ ซาฟี เน็บบู หนังได้ สเตฟาน ริกา ซึ่งก่อนหน้านี้มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังระทึกขวัญชั้นเยี่ยมอย่าง The Page Turner (ซึ่งได้มาเข้าโรงฉายในบ้านเราด้วย) มาทำหน้าที่เดียวกันอีกครั้งหนึ่ง

ตามปรกติ ในความเห็นส่วนตัว ดิฉันไม่เห็นว่าตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างจะสามารถเป็นเครื่องหมายการค้ารับประกันตัวหนัง –ไม่ว่าจะในแง่มุมใด- ได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ Angel of Mine แล้ว หนังมีองค์ประกอบที่ชวนให้นึกถึง The Page Turner อยู่หลายส่วน ทั้งในแง่ของแนวทางซึ่งเป็นหนังระทึกขวัญเหมือนกัน จังหวะจะโคนในการเล่าเรื่องเป็นประเภท “เรียบ-ลึก” เช่นเดียวกัน (หนังไม่มีฉากหวือหวากระโตกกระตากให้มากมาย ทว่าฉากตื่นเต้นระทึกขวัญต่างๆ นั้น ทั้งที่ใช้ลีลานิ่งๆ เรื่อยๆ มาเรียงๆ ทว่ากลับให้ผลในการดึงดูดและกระตุ้นเร้าความสนใจของผู้ชมได้อย่างยอดเยี่ยม) ใช้นักแสดงนำหญิงคนเดียวกัน (ใน The Page Turner แคเธอรีน ฟรอต์ รับบทนักเปียโนชั้นเซียนที่ถูกเด็กสาวคนหนึ่งแก้แค้นอย่างเจ็บแสบด้วยความผิดพลาดในอดีตที่ตัวเธอเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าได้กระทำมันลงไป)

และเหนืออื่นใด คุณภาพและความบันเทิงของหนังทั้งสองเรื่อง ก็ยังใกล้เคียงสูสีกินกันไม่ลงอีกด้วย

จุดใหญ่ใจความประการหนึ่งที่ทำให้ Angel of Mine เป็นหนังที่ “ดูสนุก” เป็นพิเศษ คือ การที่มันอัดระดมเหตุการณ์ “เหนือความคาดหมาย” ใส่ผู้ชมแทบจะตลอดเวลา

ตัวอย่างเบาะๆ ก็เช่น ครั้งหนึ่ง เอลซาลอบเข้าไปในบ้านของแคลร์เพื่อพลิกค้นควานหาอะไรสักอย่างของเด็กหญิงที่จะนำมาใช้ในการตรวจดีเอ็นเอ (เพื่อพิสูจน์ว่าแท้จริงแล้วเด็กหญิงคือลูกของเธอ ไม่ใช่ของแคลร์) เธอเข้าไปในห้องนอนของเด็กหญิง และมะงุมมะงาหราค้นหาจ้าละหวั่นจนกระทั่งพบเส้นผมเด็กหญิงเส้นหนึ่ง

ตามปรกติ ในหนังระทึกขวัญส่วนใหญ่ เหตุการณ์ทำนองนี้มักได้รับการนำเสนอออกมาเป็นฉากประเภท “เล่นซ่อนหา” กล่าวคือ ระหว่างที่ผู้บุกรุกกำลังปฏิบัติภารกิจลับของตน จะมีเสียงแกร๊กดังขึ้นที่ประตู แล้วเจ้าของบ้านก็จะโผล่เข้ามา ขณะที่ผู้บุกรุกจะต้องหาหนทางแอบซ่อนอำพรางกายหัวซุกหัวซุน และจะมีช่วงเวลาแห่งความลุ้นระทึกเมื่อผู้บุกรุกเกือบจะถูกจับได้พอหอมปากหอมคอ

Angel of Mine กลับเลี่ยงวิธีการเช่นนั้น – เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฉากดังกล่าวคือ ทันทีที่เอลซาพบเส้นผมของเด็กหญิง ในขณะที่เธอดีใจยังไม่ทันเสร็จ หนังก็ให้แคลร์เปิดประตูพาตัวเองเข้ามาในห้อง และคู่ปรับทั้งสองก็ได้เผชิญหน้ากันทันที โดยที่หนังไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าใดๆ ทั้งนั้น

อาจดูเหมือนเป็นความแตกต่างที่ไม่ได้พิเศษพิสดารอันใดนัก อย่างไรก็ตาม การที่หนังทำเช่นนี้มากครั้งและอย่างสม่ำเสมอ ก็ก่อให้เกิดผลลัพธ์ประการหนึ่ง คือ มันทำให้ผู้ชมไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง และเรื่องราวจะดำเนินพลิกผันไปในทิศทางใดอีก

เหนืออื่นใด ลงท้ายหนังยังมีจุดหักมุมพลิกผันสำคัญอยู่อย่างหนึ่งซึ่งไม่พึงจะเปิดเผย ณ ที่นี้

ที่พอจะบอกกล่าวเล่าสู่กันฟังได้ก็มีแต่เพียง เหตุการณ์พลิกผันดังกล่าว มันทำให้เราตระหนักและเข้าใจว่า ที่ใครบางคนเคยกล่าวว่า ชีวิตจริงของคนเรา บางครั้งก็เป็นเสียยิ่งกว่านิยาย นั้น – ไม่ใช่คำกล่าวอ้างสวยๆ อย่างเลื่อนลอยแต่อย่างใดเลย

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก




กำลังโหลดความคิดเห็น