xs
xsm
sm
md
lg

Le Petit Prince (ฉบับการ์ตูน) : บอกนักบินทีว่า 'เจ้าชายน้อย' กลับมาแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปกด้านหน้า


โดย เวสารัช โทณผลิน

 แรกพบ 'เจ้าชายน้อย' เขามีชีวิตอยู่ในหนังสือที่มีความหนาเพียงหนึ่งร้อยสี่สิบหกหน้า หลังจากที่มนุษย์ตัวเล็กๆ คนนี้ปรากฏตัวในรุ่งสางของเช้าที่หมองหม่น เขาก็ค่อยๆ เริ่มต้นเล่าถึงเสี้ยวส่วนชีวิตของตัวเองให้แก่นักบินผู้ติดอยู่ในหล่มการมองโลกแบบผู้ใหญ่ฟัง ด้วยแววตาและความหวังว่า สักวันหนึ่ง วิธีการสัมผัสโลกที่พิสุทธิ์ซึ่งธรรมชาติมอบให้แด่ทุกคนจะคืนกลับมาอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นฉากเปิดตัวที่เล่าถึงเหตุที่ทำให้หนุ่มนักบิน(ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า อาจหมายถึงตัวของ 'อองตวน เดอ แซงเตก – ซูเปรี' ผู้ประพันธ์วรรณกรรมคลาสสิคเรื่องนี้นั่นเอง) หันหลังให้กับโลกของเด็กที่เปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ แล้วหลุดจมสู่โลกอันแห้งแล้งแข็งทื่อของผู้ใหญ่ หรือฉากที่หลายคนหลงรักในบทที่ 21 ซึ่งเล่าถึงการพบกันระหว่างเจ้าชายน้อยกับสุนัขจิ้งจอก(ที่ซูเปรีได้แรงบันดาลใจมาจากสุนัขจิ้งจอกทะเลทรายที่เขาพบในระหว่างที่เครื่องบินตก) จนนำไปสู่ประโยคอมตะที่สุนัขจิ้งจอกได้ให้ไว้กับเจ้าชายน้อย นั่นคือ "สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา"

นับตั้งแต่การถือกำเนิดของ เจ้าชายน้อย หรือ Le Petit Prince โลกก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คนจำนวนมากได้แรงบันดาลใจและพลังจากวรรณกรรมเรื่องนี้ งานศิลปะจำนวนมากถูกรังสรรค์ต่อยอดจาก 'เจ้าชายน้อย' ไม่ว่าจะเป็นนิยายเรื่องเจ้าชายน้อยกลับมาของ ฌอง ปิแอร์ ดาวิด, การกลับมาของเจ้าชายน้อย ที่ประพันธ์โดยหลานสาวแท้ๆ ของ ซูเปรี , การสร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อยในเมืองฮาโกเน ประเทศญี่ปุ่น, รูปวาดงูกินช้างถูกบรรจุอยู่ในหนังสือของนักคณิตศาสตร์, ในนิยายหลายเรื่องปรากฏฉากที่ตัวละครอ่านหนังสือเจ้าชายน้อย, ในมิวสิควิดีโอของนักร้องบริทป็อบอย่าง มอริสซีย์ ก็มีฉากที่เขากำลังอ่านเจ้าชายน้อย

รูปวาดเจ้าชายน้อยเคยอยู่บนธนบัตรราคา 50 ฟรังค์ของฝรั่งเศส ตัวเอกในมังงะหลายเรื่องของญี่ปุ่นอ่านเจ้าชายน้อย สตีเฟน เพียรซ์ นักร้องนำวงฮาร์ดคอร์ แอมแอมเฮิร์สต์ สักรูปเจ้าชายน้อยไว้บนร่างกาย นอกจากนั้นเจ้าชายน้อยยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นละครเวที โอเปร่า ทำการแสดงมาแล้วทั่วโลก

66 ปีของการถือกำเนิด เจ้าชายน้อยกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของคอมมิคส์ลายเส้นหวือหวา สีสันสดใส จากการร่วมมือกันระหว่าง 'โจอันน์ สฟารุ' (ลายเส้น) กับ 'บริจิตต์ แฟงดัคลี' (ลงสี) โดยสฟารุเป็นการ์ตูนนิสรุ่นใหม่ชื่อดังของประเทศฝรั่งเศส เขาศรัทธางานศิลปะของซูเปรีมายาวนาน และหมายมั่นว่าจะนำผลงานที่เขาหลงรักชิ้นนี้มาถ่ายทอดให้ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า

และแล้ววันหน้าวันนั้นก็เดินทางมาถึง เมื่อผลงานเจ้าชายน้อน ฉบับคอมมิคส์ (หรือฉบับการ์ตูน ตามภาษาที่ใช้ในประเทศไทย) เสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และถูกนำมาพิมพ์เผยแพร่ไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552

ด้วยขนบของการเล่าเรื่องแบบคอมมิคส์(การดำเนินเรื่องโดยใช้ภาพวาดเป็นช่องดำเนินต่อเนื่อง) ทำให้การเริ่มต้นของเจ้าชายน้อย ฉบับการ์ตูนนี้ไม่ค่อยมีพลังขรึมขลังเทียมเท่าฉบับวรรณกรรม แม้จะเริ่มเรื่องด้วยขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน แต่ตัวหนังสือกับภาพประกอบของซูเปรีในฉบับดั้งเดิมที่เผยในสิ่งที่ควรใช้ตามอง ปิดซ่อนบางสิ่งที่ไม่อาจมองด้วยตาก็เร้าอารมณ์ของผู้อ่านได้ดีกว่าอย่างรู้สึกได้

ถัดจาดนั้น สฟารุก็ดำเนินเรื่องโดยยังเคารพกริ่งเกรงวรรณกรรมของซูเปรีแบบเห็นได้ชัด เพราะเขาเล่าเรื่องตามลำดับของเจ้าชายน้อยฉบับนิยาย(หรือนิทาน) ชนิดที่แทบจะไม่ได้เบนเบี่ยงออกจากแนวเส้นเลยแม้แต่น้อย และนั่นก็ทำให้พลังของการเล่าเรื่องที่คอมมิคส์สามารถกระทำได้ถูกลดทอนไปพอสมควร เรียกว่าถ้าใครไม่เคยสัมผัสงานวรรณกรรมต้นฉบับมาก่อน อาจจะรู้สึกสะดุดหรืองุนงงกับจังหวะการเล่าเรื่องในเชิงกวีได้

ถ้าพิจารณาเฉพาะลายเส้นกับสีสัน ต้องยอมรับในตัวงานที่หวือหวาและวิจิตร ลายเส้นที่ไมได้เนียนเรียบเฉกเช่นคอมมิคส์ในยุคก่อน แต่ก็เปรี้ยวซ่าตามสไตล์คอมมิคส์สมัยใหม่ เมื่อมาผนวกกับสีจัดจ้านที่บอกอารมณ์ความรู้สึก ทั้งหดหู่ เศร้าหมอง ร่าเริง สนุกสนานได้เป็นอย่างดี ทำให้งานด้านภาพของสฟารุกับแฟงดัคลีจัดอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม

เจ้าชายน้อยใน ค.ศ. 2009 ซึ่งผ่านการตีความโดยโจอันน์ สฟารุ อาจจะต่างไปจากเจ้าชายน้อยที่ซูเปรีเคยวาดไว้ บางเหลี่ยมมุม แววตาของเจ้าชายน้อยของสฟารุมีแววเจ้าเล่ห์ ดูขัดแย้งกับบุคลิกจริงของเจ้าชายน้อยอย่างสิ้นเชิง แต่สำหรับตัวละครอื่นๆ (นักบิน, พระราชา , ดอกไม้, สุนัขจิ้งจอก ฯลฯ)ถือว่ามีมิติที่สมบูรณ์ขึ้นเมื่อถูกการเล่าเรื่องแบบคอมมิกค์มารับใช้เช่นนี้

หากยังไม่เคยเสพงานของอองตวน เดอ แซงเตก – ซูเปรี มาก่อน แนะนำให้ไปหาต้นฉบับมาอ่านเสียก่อน แล้วค่อยมาสัมผัสรสชาติแปลกใหม่ของเจ้าชายน้อยในยุคนี้ของโจอันน์ สฟารุ แต่สำหรับใครที่คุ้นเคยกับเจ้าชายน้อยอยู่แล้ว ก็ขอบอกตรงๆ ว่านี่เป็นอีกผลงานที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

เพราะการกลับมาของเจ้าชายตัวเล็กจากดาว B612 อาจเป็นนิมิตของการกระตุ้นเตือนให้เราท่านสำนึกถึงจิตวิญญาณความเป็นเด็กที่เรามิอาจกุมกำไว้ได้แน่นพอ ทำให้วันเวลา สังคมภายนอก ความเครียด ความอ่อนล้ามาพรากมันไปจากเรา

ทั้งๆ ที่สิ่งนั้น อาจเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้เรา 'อยู่รอด' ได้ ในโลกที่จวนจะแตกใบนี้

................................

 
ปกด้านหลัง
อองตวน เดอ แซงเตก - ซูเปรี
โจอันน์ สฟารุ
ภาพเจ้าชายน้อยภาพแรกที่ อองตวน เดอ แซงเตก - ซูเปรี สเก็ตซ์เอาไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น