xs
xsm
sm
md
lg

Avatar : อยากจะกราบงามๆ สัก 3 ครั้ง!!!/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


อีเมล์ : apnunt@yahoo.com

ถ้า “พระเจ้า” (God) ทรงเป็นผู้สร้างโลกใบนี้ขึ้นมาจริงๆ ผมคิดว่า ณ เวลานี้ เจมส์ คาเมรอน ก็ได้เนรมิตโลกใหม่ขึ้นมาอีกใบแล้ว เพียงแต่มันอาจไม่ใช่โลกใบเดียวกันกับที่เราเหยียบยืนและสังกัด หากแต่เป็นโลกอีกใบในดินแดนแห่งความนึกฝันที่แม้แต่จินตนาการของเรายังยากจะคิดไปได้เท่าถึง และทั้งหมดนี้ ก็คือ “ก้าวสำคัญ” อีกก้าวหนึ่งซึ่งเดินทางมาได้ “ไกล” ที่สุดแล้ว สำหรับโลกภาพยนตร์...

บนเวทีออสการ์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เจมส์ คาเมรอน บอกกับทุกๆ คนที่เดินอยู่บนพรมแดงในงานครั้งนั้นด้วยประโยคว่า I’m the king of the world. แน่นอนล่ะ หลายๆ คนอาจจะนึกหมั่นไส้อยู่ลึกๆ กับถ้อยคำดังกล่าว แต่ถ้ามองตามความเป็นจริง เราจะเห็นว่าวาจานั้นไม่ได้เป็นการคุยโวโอเวอร์หรือถือหางตัวเองแต่อย่างใด เพราะต่อให้ไม่นับรวมความสำเร็จแบบถล่มทลายของหนังเรือใหญ่ Titanic ที่ได้ทั้งกล่องและเงิน หนังอย่าง Terminator รวมไปจนถึง Aliens หรือแม้แต่ True Lies ก็เป็น “เครื่องหมายการค้า” ที่สร้างชื่อเสียงให้คนจดจำคาเมรอนได้เป็นอย่างดี

โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าผู้กำกับคนนี้ นอกจากจะทำผลงานให้ติดอยู่ในความทรงจำของผู้คนได้เรื่อยๆ แล้ว ผมว่าเขายังมีความทะเยอะทะยานในแบบศิลปินนักสร้างสรรค์อยู่ในตัวเองสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความทะเยอทะยานในด้านเทคโนโลยี เพราะหนังหลายต่อหลายเรื่องของคาเมรอนดูเหมือนจะสนุกอยู่กับการเล่นกับเทคโนโลยีอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Terminator, Aliens, The Abyss ไปจนถึง Ghosts of the Abyss หรือแม้กระทั่งหนังรักๆ ใคร่ๆ อย่าง Titanic ก็ยังไม่วายที่จะมีเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้ามาเกี่ยวข้อง

แน่นอนที่สุด ความทะเยอทะยานดังกล่าวนั้นแสดงออกให้เห็นอย่างเด่นชัดอีกครั้งในหนังเรื่องใหม่อย่าง Avatar ที่คาเมรอนถึงกับยินยอมพร้อมใจที่จะปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนับสิบปีเพียงเพื่อเขาจะได้สนุกอย่างเต็มที่กับเทคโนโลยีที่เรียกว่า 3 มิติ ซึ่งกับผลลัพธ์ที่ออกมา ก็พูดได้อย่างสนิทใจว่า มันคุ้มค่าแก่ความทะเยอทะยานและการรอคอยของเขาจริงๆ

อันที่จริง ผมชอบคำว่า “สุดขอบจักรวาลแห่งจินตนาการ” ที่คุณสันติ เศวตวิมล คอลัมนิสต์รุ่นใหญ่เจ้าของคอลัมน์ “ผู้จัดการบันเทิง” ในหนังสือพิมพ์ Astv ผู้จัดการรายวัน นิยามให้กับเรื่องนี้ มาก...มากเลยนะครับ เพราะมันคือถ้อยคำที่ตรงที่สุดแล้วสำหรับงานชิ้นนี้

ภาพทุกภาพ ช็อตทุกช็อต และซีนทุกซีน ถูกประดิษฐ์มาอย่างประณีตพิถีพิถันและดูอัศจรรย์น่าตื่นตาตื่นใจ ไล่ตั้งแต่สภาพภูมิทัศน์ของดาวแพนโดร่าที่งามสง่าน่าน่าหลงใหล ไปจนถึงตัวละครสัตว์ชนิดต่างๆ ที่หาดูไม่ได้ในโลกนี้ และที่สำคัญก็คือตัวละครชาวนาวีร่างสีฟ้านัยน์ตาสีน้ำตาลซึ่งถูกทำให้ “เหมือนจริง” อย่างถึงที่สุดด้วยเทคนิคโมชั่นแค็ปเจอร์ (Motion Capture)

ซึ่งเจ้าโมชั่นแค็ปเจอร์ที่ว่านี้ เกิดจากวิธีการให้นักแสดงสวมชุดบอดี้สูทเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของร่างกายและสีหน้า ก่อนจะนำไปสร้างเป็นตัวละครซีจี เหมือนกับที่เราเคยเห็นตัวละครแบบนี้มาแล้ว ก็คือ กอลลัม ใน The Lord of the Rings ผลของมันก็คือให้ความรู้สึก “เหมือนจริง” ไปทุกๆ อย่าง ทั้งท่วงท่าการเคลื่อนไหว การพูดการจา ตลอดจนการแสดงสีหน้าอารมณ์ของตัวละครซีจี

นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่แทบทุกเสียงของคนที่ได้ดูจะบอกว่า หนังเรื่องนี้ก้าวไปไกลเกินกว่าคำว่า “สมจริง” จะนิยามได้เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับถูกแทนที่ด้วยคำว่า “เหมือนจริง” เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่เห็นในหนัง มันทำให้เราแทบจะ “เชื่อ” ไปแล้วว่า นั่นคือ “ของจริง”!!

เอาง่ายๆ แม้แต่การทำให้ผู้ชายหน้าตาหล่อเหลาอย่าง “แซม เวอร์ธิงตัน” กลายเป็นคนขาพิการก็ดู “เหมือนจริง” อย่างไร้ที่ติ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงเจ้านกยักษ์ตัวนั้นที่ลีลาการโบยบินสุดพลิ้วไหวคล้ายกับว่ามัน “มีชีวิตอยู่จริงๆ” ยังไงยังงั้น
มาถึงส่วนของเนื้อหาที่หลายๆ คนออกปากบ่นว่ามันธรรมดาและเชยล้าสมัยไปหน่อย และพานบ่นไปไกลเลยว่าบทภาพยนตร์อ่อนและมีปัญหา ซึ่งผมขอยืนยันตรงนี้เลยครับว่า ไม่ใช่อย่างนั้นโดยประการทั้งปวง และคนที่พูดเช่นนั้นก็ดูเหมือนจะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เรียกว่า “บทหนัง” อย่างถูกต้องดีพอ เพราะจริงๆ คำว่า “บทหนัง” ไม่ได้หมายถึง “ต้องมีประเด็นทันสมัยใหม่กิ๊ก” หากแต่หมายถึงการดำเนินเรื่องให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยง มีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป น่าเชื่อถือ นั่นคือหลักการสำคัญของบทหนัง ส่วนหลังจากนั้น คนเขียนบทจะแทรกใส่ประเด็นหรือเนื้อหาแบบไหนเข้าไปในบทหนังนั้นๆ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เช่น เรื่องความรัก กิเลสตัณหา ปัญหาครอบครัว สังคม การเมือง ฯลฯ

มองมาที่ Avatar ผมว่าบทหนังก็สอบผ่านแบบฉลุย หนังเล่าเรื่องได้ลื่นไหล สมเหตุสมผล การกระทำของตัวละครมีที่มาที่ไปเท่าๆ กับที่มีเหตุผลรองรับ และพูดก็พูดเถอะ ผมรู้สึกว่าประเด็นที่หนังสื่อ แม้จะดูคล้ายคลึงกับ Dances With Wolves อยู่หลายส่วน แต่ถึงกระนั้น มันก็เป็นประเด็นที่ยังคงร่วมสมัยอยู่เสมอ

เพราะหากทอดสายตามองไปยังสังคมรอบๆ ตัว หรือรอบๆ โลก เราจะพบเห็นเรื่องราวแบบนี้ได้เรื่อยๆ มันคือเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ที่ลุกขึ้นต่อกรกับคนใหญ่คนโตกว่าที่เข้ามารุกราน ปัญหาที่เขื่อนปากมูลเอย ที่มาบตาพุดเอย ไล่เลยไปจนถึงการถูกรุกรานพื้นที่ของชนเผ่าอินเดียนแดง พูดกันอย่างถึงที่สุด ก็แทบไม่มีอันใดแตกต่างไปจากสิ่งที่ชาวนาวีเผชิญอยู่บนดินแดนแพนโดร่า

สิ่งที่น่าคิดก็คือว่า ภาพของมวลประชาชาวนาวีที่ถูกทำให้ดูเหมือนเป็นพวกคนป่าเมืองเถื่อนหรือสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดในตอนต้น เอาเข้าจริงๆ พอหนังเดินหน้าไปเรื่อยๆ เราก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจมากยิ่งขึ้นทุกทีว่า ใครกันแน่ที่คือ “อารยะ” หรือใครกันแน่ที่ควรถูกตราหน้าว่า “ไม่เจริญ”?

ในหนัง มีถ้อยคำๆ หนึ่งซึ่งชาวนาวีเรียกมนุษย์ประมาณว่า “คนจากบนฟ้า” ซึ่งผมคิดว่ามันฟังดูแล้วแปลกดีพิลึก เพราะตามจริง มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นโลก แต่ถ้ามาจากฟากฟ้า ก็น่าจะมีแต่พวก “สัตว์ประหลาด” หรือ “เอเลี่ยน” อะไรเหล่านั้นมากกว่า...หรือว่าจริงๆ แล้ว นี่คือความจงใจของคาเมรอนที่ต้องการจะสะท้อนและเสียดสีเผ่าพันธุ์ของตัวเองด้วยการให้ชาวนาวีเรียกพวกนาวิกโยธินซึ่งบุกเข้าไปในดาวแพนโดร่าด้วยคำเรียกที่น่าจะใช้กับตัวประหลาดอะไรสักตัว

ผมว่ามันก็คงคล้ายๆ กับตอนที่เจมส์ คาเมรอน ทำหนังอย่าง The Abyss ซึ่งเล่นเอาคนดูที่หวังจะได้เห็นสัตว์ประหลาดแปลกๆ งงเป็นไก่ตาแตก เพราะตั้งแต่เริ่มแรกไปจนถึงตอนจบ ไม่มีสัตว์ประเภทนั้นโผล่หน้ามาสักตัว ซึ่งนั่นย่อมไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่เป็น “สาร” จากใจของผู้กำกับที่พยายามจะสื่อไปยังคนดูผู้ชมของเขาว่า จริงๆ แล้ว มันอาจไม่มีสัตว์ประหลาดหรือเอเลี่ยนที่ไหนในโลกหรอก แต่สิ่งมีชีวิตที่กว้างคืบ ยาววา และหนาศอก อย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ ที่เป็น “สัตว์ประหลาดตัวพ่อ” เลย

อย่างไรก็ดี พูดกันอย่างถึงที่สุด เท่าๆ ที่ติดตามผลงานของเจมส์ คาเมรอน มาทุกๆ เรื่อง ผมว่าคาเมรอนนั้นก็ไม่ได้เป็นคนที่ชอบทำหนังลุ่มลึกซับซ้อนอะไรมากมาย เพราะเนื้อหาในหนังแต่ละเรื่องของเขาก็จัดอยู่ในประเภทที่เน้นความเรียบง่าย ซึ่ง “เด็กเข้าใจได้ ผู้ใหญ่เข้าใจดี” แทบทั้งนั้น

แน่นอน สำหรับ Avatar โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าเนื้อหาประมาณนี้แหละ กำลังพอเหมาะพอดี ไม่ลึกจนเกินไป แต่ก็ไม่ตื้นเขินจนเกินควร โดยภาพรวมของมัน นอกเหนือไปจากการเป็นหนังแฟนตาซีผจญภัยสไตล์นิยายของเอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรว์ส (ผู้แต่งวรรณกรรมอมตะเรื่อง “ทาร์ซาน”) ซึ่งแทรกฉากแอ็กชั่นการต่อสู้เข้ามาอย่างได้จังหวะถูกที่ถูกเวลา หนังยังผสมผสานประเด็นทางศีลธรรมและกิเลสตัณหาหน้ามืดของมนุษย์ รวมเข้ากับเรื่องราวความรักและความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของผู้อื่นได้อย่างลงตัว

และนั่น...ผมคิดว่า มันก็ดีมากๆ แล้ว สำหรับที่หนังเรื่องหนึ่งจะพึงดีได้











กำลังโหลดความคิดเห็น