xs
xsm
sm
md
lg

'หายนะบันเทิง' เทพๆ!!! : 2012/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


หลังจากล้มคว่ำคะมำหงายไปกับการทำหนังแฟนตาซีผจญภัยอย่าง 10,000 BC.ผู้กำกับที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "เจ้าพ่อหนังหายนะ" คนหนึ่งของฮอลลีวูดอย่างโรแลนด์ เอ็มเมอริช ก็เลี้ยวหักศอก หวนคืนสู่ "รากเหง้า" และ "แนวถนัด" ของตัวเองอีกครั้งกับหนังล้างโลกเรื่องใหม่อย่าง "2012" ที่เจ้าตัวบอกว่า มันจะอลังการงานสร้างชนิดที่ไม่มี "หนังหายนะ" เรื่องไหนในอนาคตสามารถ “ยิ่งใหญ่” ไปกว่านี้ได้อีกแล้ว!!

ยังไม่ต้องคิดไปไกลถึงวันข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง หรือจะมีใครมาโค่นงานชิ้นนี้ลงได้หรือเปล่า แต่เอาแค่เท่าระดับที่ตามองเห็น ณ ขณะนี้ ก็ต้องยอมรับล่ะครับว่า ความทะเยอทะยานของโรแลนด์ เอ็มเมอริช นั้นไม่สูญเปล่า และถ้อยคำของเขาก็ไม่ใช่แค่การคุยโม้คำโตเกินตัว

ครับ, ไม่ว่าจะดูหนังตลาด หนังอินดี้ หรือหนังดีหนังขยะอะไรมาก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ ผมเชื่อว่าคนดูหนังแทบทั้งหมดน่าจะเคยได้ยินชื่อของโรแลนด์ เอ็มเมอริช มาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะหลังจากเปิดฉากให้มนุษย์ต่างดาวเข้ามาบุกโลกใน Independence Day (ปี 1996) เอ็มเมอริชก็เนรมิต Godzilla (ปี 1998) ขึ้นมาทำลายบ้านเรือนของชาวเมืองแมนฮัตตัน ก่อนจะเขย่าขวัญคนดูหนังด้วยภาพการโถมท่วมของมหาอุทกภัย ใน The Day After Tomorrow (ปี 2004) ซึ่งหนังเหล่านี้ที่พูดมา ล้วนแล้วแต่เป็นงานระดับบล็อกบัสเตอร์ที่ทำเงินถล่มบ็อกซ์ออฟฟิศมาแล้วทั้งสิ้น

แน่นอนล่ะ...ว่ากันตามความจริง เอ็มเมอริชอาจจะเคยกำกับหนังแนวอื่นๆ จำนวนหนึ่ง (และหนังแนวอื่นๆ ที่ว่านี้ก็ยังเน้นฉากใหญ่ๆ เทคนิคเยอะๆ สไตล์เอ็มเมอริชอยู่) ไม่ว่าจะเป็น The Patriot, Moon 44, Making Contacts ฯลฯ แต่ถ้าจะถามว่า "ภาพ" ที่คนดูหนังจำได้แม่นยำเกี่ยวกับคนทำหนังคนนี้คืออะไร ร้อยทั้งร้อยก็ย่อมตอบเป็นเสียงเดียวกัน นั่นก็คือ เขาเป็น "นักขายฝันร้ายของมนุษยชาติ" ตัวจริงเสียงจริง

แต่ทั้งๆ ที่มันเป็น "ฝันร้าย" คนดูหนังก็ยังยินดีที่จะจ่ายค่าตั๋วเข้าไปดูครั้งแล้วครั้งเล่า นั่นไม่ใช่เพราะอะไร หากแต่เป็น "เทคนิคงานสร้าง" ของเอ็มเมอริชเองที่สามารถทำให้ "หายนะของโลก" กลายเป็น "ความบันเทิงอันหฤหรรษ์" บริการคนดูหนังได้

พูดง่ายๆ ก็คือ เขาเนรมิตให้...ขออภัยนะครับ..."ความฉิบหายวายป่วง" กลายเป็น "ความสำราญของเรา" ได้อย่างน่าดูชมนั่นแหละท่าน!!

และถ้าชาวมายัน "พยากรณ์" ไว้ว่าโลกจะล่มสลายในปี 2012 เราก็สามารถ "ทำนาย" ได้ไม่ยากเช่นกันว่า 2012 จะเป็นอีกหนึ่งหนังของเอ็มเมอริชซึ่งเก็บเงินได้ถล่มทลายจากคนดูผู้กระหายใคร่รู้จุดจบของโลกและตัวเอง...
โดยที่มาที่ไป เรื่องราวในหนังนั้นอิงตัวเองอยู่บนพื้นฐานความเชื่อของชนเผ่าชาวมายันที่ทำนายไว้ว่าโลกจะถึงกาลอวสานในปี ค.ศ.2012 (ซึ่งก็คืออีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า) อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ตรงนี้ก่อนก็คือ เอ็มเมอริชนั้นเพียงแค่หยิบยืม ปี ค.ศ.แห่งการล่มสลายของโลกมาจากคำพยากรณ์ของชาวมายันเท่านั้น ส่วน "วิธีการ" และ "สาเหตุ" ที่ว่าโลกจะถึงจุดจบอย่างไรนั้น อ้างอิงมาจากทฤษฎีแกนโลกเอียง ของ "ชาร์ล ฮ้าปกู้ด" ที่เสนอไว้ตั้งแต่ปี 1958 โดยมีจอมอัจฉริยะอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ให้การสนับสนุน

เอาล่ะ ไม่ว่าต้นตอสาเหตุจะมีที่มาที่ไปยังไง แต่เอาเข้าจริงๆ ผมคิดว่า ผู้กำกับเอ็มเมอริชก็ไม่ได้ต้องการจะมาซีเรียสจริงจังอะไรกับทฤษฎีที่ว่านั้นนักหรอก เพราะพูดกันอย่างถึงที่สุด นี่ไม่ใช่หนังที่หวังจะมา “กระตุ้นเตือน” หรือ "ปลุกเร้า" สำนึกดีๆ เหมือนกับที่ An Inconvenient Truth หรือ The 11th Hour ทำไว้ แต่ "ความปรารถนาในใจ" จริงๆ ของคนทำหนังอย่างเอ็มเมอริช ก็คือ ทำหนังหายนะที่ดู "น่าหวาดหวั่น" และ "ยิ่งใหญ่เร้าใจผู้ชม"! (แต่ที่ต้องมีทฤษฎีมารองรับกันหน่อย ก็เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวหนังบ้าง อย่างน้อยๆ ผมว่าเอ็มเมอริชเองก็คงไม่อยากจะเดินย่ำซ้ำรอยเหมือนกับตอนที่ทำ The Day After Tomorrow ซึ่งมีหลายๆ เสียงออกโรงค้านทฤษฎีความเป็นไปได้ในหนังกันยกใหญ่)

ดูจากภาพรวม ผมไม่แปลกใจเลยว่า เพราะอะไร เอ็มเมอริชถึงกล้าคุยว่านี่จะเป็นหนังหายนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะถ้าไม่นับรวมหายนะล้างโลกอย่างพวกมนุษย์ต่างดาว อาวุธนิวเคลียร์ หรือเชื้อโรคไวรัสแบบที่หนังแนวนี้หลายต่อหลายเรื่องหยิบมาเล่า...2012 ดูเหมือนจะรวบเอาหายนะหลากหลายรูปแบบมารวมไว้จนครบครัน

ซึ่งมีตั้งแต่แผ่นดินไหวแบบ Earthquake (ปี 1974) ตึกระฟ้าถล่มทลายคล้าย The Towering Inferno (ปี 1974) ลาวาระเบิดแบบ Volcano และ Dante’s Peak (ปี 1997) คลื่นน้ำโถมท่วมอย่าง The Day After Tomorrow และ Deep Impact รวมไปจนถึงคลื่นยักษ์สึนามิแบบเดียวกับ "สึนามิ" (ทรนง ศรีเชื้อ) และ HAEUNDAE ของประเทศเกาหลี (อันหลังสุดนี้ไม่ได้บอกว่าคุณภาพทัดเทียมกัน แต่แค่เล่นกับฉากสึนามิเหมือนๆ กันเท่านั้น)

แน่นอน หายนะเหล่านี้ถูก "ประดิษฐ์" และ "ตกแต่ง" มาอย่างพิถีพิถัน ผ่านเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่เนรมิตให้ทุกสิ่งทุกอย่างดู "สมจริง" และ "น่าประหวั่นพรั่นพรึง" เมื่อบวกรวมเข้ากับซาวด์เอฟเฟคต์และดนตรีประกอบที่มาได้จังหวะถูกที่ถูกเวลา เพิ่มอารมณ์ลุ้นระทึกให้กับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี (ไม่รู้มีใครรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่า แต่ตอนที่จอห์น คูแซ็ค ในบทของ "แจ็คสัน เคอร์ติส" ห้อตะบึงรถยนต์ขนสมาชิกครอบครัวหนีแผ่นดินถล่มนั้น คือฉากที่ลุ้นระทึกที่สุดแล้วสำหรับผม แต่หลังจากนั้นเป็นต้นไป ก็ไม่มีฉากไหนระทึกใจเท่าอีกแล้ว นอกจากโชว์ฉากใหญ่ๆ ซีจีเยอะๆ)

นอกเหนือไปจากซีจีหรือเทคงานสร้างที่ "ล้ำๆ" อยู่แล้วอย่างไร้ข้อกังขา ผมคิดว่า ความฉลาดอย่างหนึ่งของเอ็มเมอริชก็คือ การเลือกหยิบเรื่องราวที่จะนำมาเล่าเคล้าแทรกร่วมไปด้วย คือไม่ใช่ว่าก้มหน้าก้มตาเอาหายนะมาทุ่มโลกอย่างเดียว ก็อย่างที่เราจะได้เห็นในหนังหายนะของเอ็มเมอริชทุกๆ เรื่อง เราจะพบว่า ก่อนจะโดนภัยพิบัติถล่มใส่ ตัวละครของเอ็มเมอริชต่างก็โดน "มรสุมชีวิต" เล่นงานอยู่ก่อนแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่างพ่อกับลูกชายใน The Day After Tomorrow หรือประเด็นความรักของคนหลายๆ คู่ ใน Independence Day ที่แม้เมื่อว่ากันอย่างถึงที่สุด ประเด็นทำนองนี้มันก็มีให้เห็นในหนังหายนะทุกๆ เรื่อง (ที่ตัวละครต้องทะเลาะกันก่อน แล้วค่อยแฮปปี้เอ็นดิ้งในตอนจบ) แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวแบบนี้ก็เป็น "เนื้อหาที่ดี" ระดับหนึ่งซึ่งช่วยประคับประคองไม่ให้มันกลายเป็น "หนังวินาศสันตะโร" แบบเพียวๆ และสำหรับ 2012 ก็ไม่ต่างไปจากนี้...

อย่างไรก็ดี พูดกันอย่างถึงที่สุด ผมคิดว่า น้ำหนักเนื้อหาความสัมพันธ์ของตัวละครนั้นไม่ค่อยข้นเท่าที่ควร ซึ่งเมื่อเทียบกับเรื่องของลูกชายกับพ่อใน The Day After Tomorrow หรือแม้แต่ประเด็นความรักของหนุ่มเดวิดกับสาวเลขาฯท่านประธานาธิบดีใน Independence Day นั้น ยังดู "เข้มข้นแข็งแรงกว่า" เยอะมาก

เช่นเดียวกัน ผมรู้สึกว่า การเสียสละของท่านประธานาธิบดีใน Independence Day ก็ดู "แข็งแกร่งห้าวหาญ" กว่าในเรื่องนี้ เหมือนๆ กับที่การเสียสละของตัวประกอบเล็กๆ อย่าง "ซาช่า" ก็ดูมีพลังน้อยกว่า เมื่อเทียบกับตาแก่ขี้เมาที่ขับเครื่องบินพุ่งชนยานเอเลี่ยน ใน Independence Day

เอาล่ะ ถ้าเรารู้สึกว่า เนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวละครในหนังหายนะเรื่องก่อนๆ ของเอ็มเมอริช ทั้ง The Day After Tomorrow และ Independence Day มีความ "ลงตัว" และ "ลึก" ชนิดที่ทำให้เรา "รู้สึกร่วม" ได้มากกว่า ถ้าเช่นนั้น แล้วอะไรล่ะที่พอจะเรียกได้ว่าเป็น "กระดูกสันหลัง" ทางด้านสาระให้กับ 2012 ได้บ้าง

ไม่มากไม่มาย ผมคิดว่า ประเด็นเนื้อหาที่แข็งแรงที่สุดของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การใช้สอยประโยชน์จาก "วันสิ้นโลก" ในการตีแผ่ความเห็นแก่ตัวอย่างชั่วร้ายของคนบางกลุ่ม นั่นก็คือ ตั้งแต่ต้นๆ เรื่อง เราจะพบว่า มันมีความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับคนใหญ่คนโตในวงการต่างๆ ซึ่ง "รู้เหตุการณ์" ล่วงหน้าก่อนใครเพื่อนแล้วตระเตรียมการแบบลับๆ ในคนไม่กี่กลุ่ม (ซึ่งส่วนใหญ่ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนักการเมืองแถวหน้า หรือไม่ก็บรรดาเศรษฐีเงินถัง)

ดังนั้น นอกเหนือไปจากฉากมหาวิบัติที่หนังซัดใส่เราแทบจะทุกๆ 5 นาที ผมคิดว่า คำถามหลักๆ ซึ่งเอ็มเมอริชโยนใส่คนดูแบบจงใจ ก็คือการตั้งคำถามว่า ที่สุดแล้ว ถ้ามันจะต้องถึงวันที่ "ไม่มีโลกใบนี้" อยู่จริงๆ แล้ว "ใคร" ล่ะที่ควรจะได้หรือไม่ควรจะได้รับสิทธิ์ในการอยู่รอด คนมีเงิน? คนมีอำนาจ?

หรือว่าทุกๆ คน? (ในหนัง มีประโยคหนึ่งซึ่งน่าจะถูกใจคอการเมืองก็คือ ถ้อยคำของใครบางคนที่บอกว่า "ให้นักวิทยาศาสตร์เก่งๆ สักคนรอดตาย ดีกว่าให้นักการเมืองร้อยๆ คนมีชีวิตอยู่ต่อ")

แน่นอน สิ่งที่เอ็มเมอริชปิดท้ายไว้มันฟังดูสวยหรูและเป็นอุดมคตินะครับที่บอกว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะ "มีชีวิตรอด" อย่างเท่าเทียม แต่ทว่าเมื่อถึงวันนั้นจริงๆ ก็ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นเหมือนกัน

ใช่หรือไม่ครับว่า คนที่ไม่เงินเป็นพันล้านอย่างคุณผู้อ่านหลายๆ ท่าน หรือแม้แต่คนเขียนบทความภาพยนตร์จนๆ อย่างผม ที่สุดแล้ว ก็คงไม่ต่างอะไรกับอาคารบ้านเรือนในหนังที่ถูกปล่อยทิ้งให้จมลงสู่ห้วงน้ำและผืนดินที่พังทลายอย่างไร้ค่า...

"ถ้ามันถึงวันโลกแตกแบบนั้นจริงๆ เราจะทำยังไงกันดี?" หญิงสาวผู้ตื่นตระหนกกับโลกในอนาคตบางคนบนออฟฟิศย่านถนนพระอาทิตย์ ตั้งคำถามขึ้นมากลางวงสนทนา ภายหลังกลับมาจากดูหนังเรื่องนี้

"จะทำไงได้ล่ะแก เพราะขนาดโลกยังเดี้ยงเลย แล้วคนอย่างเราจะไปเหลืออะไร" หญิงสาวอีกคนพูดขึ้นหลังจากกระดกเหล้าปั่นไปหนึ่งอึกใหญ่ เพราะรู้แน่ว่าชาตินี้ ตัวเองคงไม่มีทางหาเงินไปซื้อตั๋วเรือราคาพันๆ ล้านยูโรเหมือนเศรษฐีร่างท้วมในหนังได้แน่ๆ

แต่เอาเถอะ คิดกันแบบคนจนๆ โดยส่วนตัว ผมมองว่า ถ้ามันจะต้องไม่รอดจริงๆ แต่ก็น่าจะยังมีวิธีการสักวิธีนะครับที่ฟ้าดินเมตตาปราณีให้เราใช้ "จูบลา" โลกใบนี้ไป ในแบบที่ไม่ขี้เหร่เท่าไรนัก

แน่นอนครับ ถ้ายังมีสิทธิ์เลือก ผมคิดว่า ถ้าได้ตายแบบสหายชาวอินเดียของด็อกเตอร์เฮมสลี่ย์นั้นเป็นการตายที่ใช้ได้เลย เพราะถึงแม้จะต้องตาย แต่ก็ได้ตายไปพร้อมกับคนที่รัก โอเคล่ะ มันอาจจะดูเศร้า แต่ก็เป็นความเศร้าที่งดงามอยู่ในที

แต่ก็อีกนั่นแหละ ประเด็นของผมไม่ได้อยู่ตรงนี้ เพราะอันที่จริง สิ่งที่ผมต้องทำในลำดับแรกสุดเลยก็คือ หาใครสักคนที่พร้อมจะ "ร่วมหัวจมท้าย" และ "กอดคอกันตายไปด้วยกัน" ให้ได้ก่อน...หุหุหุ...







กำลังโหลดความคิดเห็น