ทั้งๆ ที่หนังผีคล้ายๆ จะเป็นหนังยอดนิยมอันดับแรกๆ ที่คนทำหนังไทยชอบสร้างกันนักหนา แต่ก็ดูเหมือนว่า คนทำหนังแนวนี้ส่วนใหญ่ดูจะมีความทะเยอทะยานน้อยไปหน่อยในการที่จะผลิตหนังดีๆ มีคุณภาพ เพราะเมื่อลองมองย้อนกลับไปดูหนังผีในตลอดระยะเวลาร่วมๆ หนึ่งปีที่ผ่านมา มีคนทำหนังผีออกมานับ 20-30 เรื่อง แต่แทบทั้งหมด ก็ล้วนแล้วแต่เป็นหนังผีบวกตลกห่วยๆ ที่ไม่มีคุณค่าใดๆ ให้น่าจดจำ
แน่นอน ถ้าถามว่าหนังผีเรื่องไหนที่ทำได้น่ากลัวมากที่สุดในปีนี้ ผมก็คงเหมือนกับอีกหลายๆ คนที่โยนคะแนนให้กับ “หลาวชะโอน” หนังสั้นตอนหนึ่งใน 5 แพร่ง ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปในซีกของหนังผีบวกตลก งานที่จะเอาชนะด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ก็คงไม่พ้น “คนกอง” ใน 5 แพร่งอีกเช่นกัน พ้นไปจากนั้นก็เป็นหนังประเภท “ดูแล้วปล่อยผ่าน” ไม่ต้องเก็บบันทึกไว้ในสมองให้เปลืองพื้นที่ความทรงจำ
และถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ถามว่า หนังผีอย่าง “มหา’ลัยสยองขวัญ” ควรจะอยู่ในหมวดหมู่ไหน?
หนังดีๆ ที่น่าจดจำ? หรือหนังผีห่วยๆ ลำดับที่ 20 กว่าๆ ของปี?
ครับ, อันดับแรก ต้องยอมรับว่า ผลงานชิ้นใหม่ล่าสุดของค่ายสหมงคลฟิล์มเรื่องนี้มี “ต้นทาง” และ “ต้นทุน” ที่ดีมากๆ เพราะเรื่องเล่าขานตำนานผีๆ ประจำมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่หนังไปหยิบเอามาเล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็น “วัตถุดิบที่ดี” ในการทำหนังสยองขวัญสั่นประสาทด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตำนานลิฟต์แดง, ศาลในห้องน้ำหญิง ไปจนถึงห้องดับจิต และผี “ป๊อก...ป๊อก...ครืด”
แต่พูดก็พูดเถอะ ทั้งๆ ที่ตำนานเรื่องเล่าซึ่งหนังหยิบเอามาใช้สอยนั้น ต่างก็มี “พลังความหลอน” อยู่ในตัวของมันเอง ชนิดที่เพียงแค่ได้ยินได้ฟังยังน่าขนลุกแล้ว แต่ก็น่าแปลกที่เมื่อมันมาอยู่ในหนัง เรากลับไม่สามารถสัมผัสได้ถึง “พลัง” ที่ว่านั้นเลย
พูดง่ายๆ ก็คือ ผมคิดว่า หนังยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตำนานเรื่องเล่าให้คุ้มค่าเพียงพอ
โอเคล่ะ เราคงไม่ปฏิเสธว่าหนังเรื่องนี้มี “ความพยายามที่ดี” อยู่เหมือนกันที่จะฉีกตัวเองออกไปให้แตกต่างจากตำนานเรื่องเล่า อย่างน้อยๆ ก็คือการเพิ่มเติม “เนื้อหาใหม่” เข้าไปในเนื้อเรื่อง แต่ก็อีกนั่นแหละ ทั้งๆ ที่ “พยายาม” แต่ผมคิดว่ายังเป็นความพยายามที่ไม่มากพอ และคล้ายๆ คนทำดูเหมือนจะ “ขี้เกียจคิดต่อ” ยังไงยังงั้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ตอนลิฟต์แดงที่หนังเปิดประเด็นได้แรงมากๆ จนดูราวกับว่านี่จะเป็นหนังวิพากษ์วิจารณ์ความคิดความเชื่อทางการเมืองแบบสุดฤทธิ์สุดเดช แต่สุดท้าย มันกลับกลายเป็นเรื่องของการตามหาคู่รักให้กับผีไปอย่างงงๆ (และที่สำคัญ ตอนนี้ ทำให้เป้ยดูเป็นผู้วิเศษไปเลย เพราะนอกจากจะ “สื่อสาร” กับผีได้ เธอยังทำหน้าที่เป็นกามเทพให้ผีคู่รักได้เจอกันอีกต่างหาก)
ขณะที่ตอน “ศาลในห้องน้ำหญิง” หนังยิงประเด็นเริ่มต้นเหมือนจะพาคนดูเข้าไปสัมผัสกับโลกด้านมืดของนักศึกษาที่หาลำไพ่พิเศษด้วยการค้ายา แต่ไปๆ มาๆ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ดีไม่ว่าดี แต่พาตัวเองเดินเข้าไปให้ผีหลอกแบบโง่ๆ
ผมคิดว่าตอนที่ดูจะมีเนื้อหาให้จับต้องได้แบบชัดๆ หน่อย ก็คงเป็น “ป๊อก...ป๊อก...ครืด” ที่แม้ว่าลีลาคืบคลานของผีสาวจะได้รับอิทธิพลมาจากผีพวก Ju-On อยู่บ้าง แต่เนื้อเรื่องที่พูดถึงภัยสังคมร่วมสมัยที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมแช็ต ตลอดจนความห่วงใยระหว่างเพื่อน ก็เป็นสองประเด็นที่ทำให้รู้สึกว่า เนื้อหาของหนังไม่เบาหวิวจนเกินไป (แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าคุณคิดว่าจะได้ดูตำนานสยองขวัญป๊อก..ป๊อก..ครืด แบบที่มันเป็นจริงๆ ก็คงไม่ใช่)
พ้นไปจากประเด็นของเนื้อหา มองมาที่เทคนิควิธีการ ผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะทีมงานมีแรงกดดันว่ากลัวจะไปซ้ำรอยกับ 4 แพร่ง หรือ 5 แพร่ง หรือเปล่าไม่รู้ได้ จึงส่งผลให้...แทนที่หนังจะแบ่งตอนแต่ละตอนเป็นเอกเทศออกจากกัน แต่กลับใช้วิธีการเชื่อมร้อยเรื่องราวเข้าด้วยกันโดยมีตัวละครอย่าง “หมวย” (เป้ย-ปานวาด เหมมณี) เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวต่อให้หนังแต่ละตอนเชื่อมโยงถึงกัน แต่ผมว่ามันไม่เวิร์กเอาซะเลย
คือถ้าไม่นับรวมว่า มันดู “ฝืนๆ” และ “พยายาม” อย่างไร้ความเป็นธรรมชาติแล้ว จังหวะที่หนังเชื่อมตอนแต่ละตอนเข้าด้วยกันก็ไม่ได้ “เนียน” เท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่หนังเปลี่ยนจากตอน “ห้องดับจิต” ไปสู่ “ป๊อก ป๊อก ครืด” นั้น เราจะเห็นได้เด่นชัดว่ามัน “กระโดด” แบบไร้ความต่อเนื่องเชื่อมโยง
อันที่จริง ผมว่า ถ้าหนังแบ่งตอนแต่ละตอนออกจากกันแล้วตั้งใจเล่าจริงๆ มันน่าจะดีกว่านี้นะครับ ก็อย่างที่บอกว่า หนังมี “ประกายความคิด” ที่ดีๆ อยู่แล้ว (อย่างเรื่องความขัดแย้งทางความคิดในตอนลิฟต์แดง หรือเรื่องภัยสังคมและมิตรภาพในป๊อก...ป๊อก..ครืด) แต่หนังกลับไม่ “สานต่อ” และ “พัฒนา” ประเด็นเหล่านั้นให้แข็งแรงเอง
ที่สำคัญ ผมว่าหนังไปให้ความสำคัญกับส่วนที่ไม่ค่อยสำคัญมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของเป้ย-ปานวาด ที่ว่ากันตามเนื้อผ้า ถ้าไม่นับตอน “ป๊อก...ป๊อก...ครืด” แล้ว ที่เหลือ เธอแทบจะไม่มีความโดดเด่นถึงขั้นมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องอะไรเลย หนังใช้สอยเธอในฐานะ “โซ่ข้อกลาง” เชื่อมหนังให้ต่อเข้าด้วยกันแบบแกนๆ ซึ่งพูดกันตามจริง ต่อให้ไม่มีบทของหมวย ผมว่าหนังก็เล่าเรื่องตัวเองได้เหมือนเดิม (ไม่นับรวมตอนป๊อก...ป๊อก...ครืด ที่บทของเธอมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องจริงๆ)
และเหนืออื่นใด ถ้าเราคิดว่า หน้าตาอันหล่อเหลาของมาริโอ้ เมาเร่อ ไม่ได้ช่วยให้การแสดงของเขาใน “บุปผาราตรี” ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย มันก็เป็นความชอบธรรมอีกเช่นกันที่เราจะคิดว่า เป้ยก็ไม่ต่างไปจากนี้ คือ หน้าตาดีๆ นั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลยกับ “การแสดงดีๆ” เพราะสีหน้าแววตาของเธอไม่ “แสดงออก” อะไรเลยสักอย่าง แม้แต่ตอนที่พบเจอกับเรื่องซึ่งน่าตกใจอย่างการเห็นเด็กสาวถูกรถชน สีหน้าแววตาของเป้ยกลับดูเหมือนคนที่กำลังป่วยกับเรื่องรักหรือเซ็งกับชีวิตซะมากกว่า
ถ้าพูดถึงด้านดีๆ ผมว่าสิ่งที่หนังเรื่องนี้ตอบสนองคนดูได้มากที่สุด มีอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือความตลก และสองคือความตกใจ
ตกใจกับจังหวะตึงตังโครมครามและซาวด์เอฟเฟคต์ธรรมดาๆ ที่เห็นมาในหนังผีแทบทุกเรื่อง และตกใจกับฉากแรงๆ ในตอนป๊อก...ป๊อก...ครืด ที่โหดดิบเถื่อนได้ใจ น้องๆ หนังสยองขวัญเลือดสาดซาดิสต์ๆ แนวๆ จับคนมาทรมานอย่างพวก The Hostel, Grotesque ย้ำ...แค่ระดับน้องๆ เท่านั้นนะครับ ไม่ได้หมายความว่ารุนแรงขนาดนั้น (อย่างไรก็ดี ทั้งๆ ที่มีฉากโหดๆ แบบนี้ และหนังก็ติดเรต 18+ ให้ตัวเองแล้ว แต่ผมยังก็เห็นน้องๆ มัธยมอายุไม่ถึง 18 เข้าไปดูกันอยู่เลย อย่างงี้แล้ว จะจัดเรตติ้งกันไปทำไมไม่ทราบ?)
ส่วนเรื่องความตลกก็เกิดจากสองจุด จุดแรกคือตอนห้องดับจิตซึ่งในความคิดผม มันเป็นตอนที่ดูลงตัวมากกว่าใครเพื่อน เพราะหนังเล่นกับความกลัวของตัวละครได้แบบขำๆ กลายเป็นหนังผีครื้นเครงขนาดที่ผีเองยังต้องลุกขึ้นมาร่วมขบวนฮาด้วย ดูแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ในเมื่อมันเป็นหนังผีไม่มีสาระ ก็ไร้สาระให้มันสุดๆ แบบนั้นไปเลย!!
แต่ก็อีกนั่นแหละ ขณะที่หลายๆ คนอาจเฮฮาไปกับสีหน้าท่าทางเด๋อด๋าของนักศึกษาแพทย์หนุ่มที่ต้องตกไปอยู่ในชุมชนผีในห้องดับจิต แต่สำหรับผม “วิธีคิด” ในการปล่อยผีของหนังเรื่องนี้ก็น่าขันไม่น้อยไปกว่า
คือถ้าไม่นับรวมเทคนิควิธีการแบบบ้านๆ อย่างการดับไฟพึ่บพั่บที่หนังแนวนี้ทำตามๆ กันมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว (ประมาณว่า คิดอะไรไม่ออก ก็ดับไฟไว้ก่อน) ผีในหนังก็ดูเหมือนจะว่านอนสอนง่ายกันเหลือเกิน ประเภทที่พอตัวละครพูดว่าระวังเจอผี หรือมันจะมีออกมาหลอก มันก็มีผีออกมาตอนนั้นเลย อย่างในตอนลิฟต์แดงที่พอรุ่นพี่ท้ารุ่นน้องไป “ลองของ” ที่ลิฟต์แดงปุ๊บ ผีก็โผล่มา ณ นาทีนั้นแบบไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง ขณะที่ตอนศาลในห้องหญิงก็ไม่ต่างกัน เมื่อนักศึกษาหนุ่มพูดขึ้นมาว่าจะมีผีมาหลอก มันก็มีผีมาหลอกจริงๆ แบบว่าสั่งได้ราวกับก๋วยเตี๋ยว
สุดท้าย ยอมรับครับว่า คนทำหนังเรื่องนี้ “คิดเยอะ” และมีอะไรๆ อยู่ในหัวเยอะ คืออยากจะ “พูด” หลายเรื่อง ทั้งความขัดแย้งของความคิดทางการเมือง ปัญหาสังคมร่วมสมัย ไปจนถึงความห่วงใยระหว่างเพื่อน และอยากจะ “ทำ” หลายอย่าง ไล่ตั้งแต่ตลก หลอนน่ากลัว หรือแม้กระทั่งโหดเลือดสาด แต่ทั้งหมดทั้งมวล ล้วนแล้วยังเป็นแค่เพียง “ประกาย” ที่สามารถทำให้ “ดี” กว่านี้ได้อีก
นั่นยังไม่ต้องพูดถึง “วัตถุดิบดีๆ” อย่างพวกตำนานผีๆ ทั้งหลาย ที่ถ้าปล่อยให้มันเป็นตำนานเรื่องเล่าแบบนั้นเหมือนเดิม ผมว่า ก็หลอนดีอยู่แล้ว...
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |