จะว่ามันเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ ก็พอไหว แต่เคยนึกสงสัยกันบ้างไหมครับว่าเพราะเหตุอันใด หลายครั้งหลายหน พอรับฟังเหตุผลการขึ้นราคาค่าตั๋วดูหนังที่ทางโรงภาพยนตร์บอกกล่าวกับเราแล้ว เราถึงรู้สึกว่ามันเป็นเหตุผลที่ฟังดูทะแม่งๆ ยังไงชอบกล
อย่างเมื่อเร็วๆ ที่ผมเพิ่งเจอมาจากการไปดูเรื่อง G-Force ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ (ผมควรจะบอกด้วยหรือเปล่าว่าเป็นสาขาปิ่นเกล้า?!) ซึ่งรอบดังกล่าว ผมต้องจ่ายเงินเพิ่มจาก 120 เป็น 140 บาท ด้วยเหตุผลที่น้องๆ หน้าตาอาโนเนะตรงหน้าเคาน์เตอร์บอกว่าเพราะเป็นโรงซาวด์แทร็ก (พูดอังกฤษ ซับไตเติ้ลไทย) แต่ถ้าดูโรงที่พากย์ไทย ราคาจะอยู่ที่ 120 บาท
โอเค ฟังๆ ดู ผมว่ามันก็สมเหตุสมผล เพราะหนังอย่าง G-Force ของเฮียเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ นั้นทุนสร้างเขาสูง เลยต้องยกระดับราคาตั๋วตามไปด้วย นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า เมื่อค่ายหนังซื้องานเข้ามาฉาย ก็ต้องเอาตังค์ไปจ่ายค่าแปลค่าทำซับไตเติ้ลและค่านักพากย์อะไรอีกมากมายเยอะแยะ
แต่ก็อีกนั่นแหละ ในขณะที่ผมเกือบๆ จะลืมเรื่องนี้ไปแล้ว พร้อมกับทำตัวเป็นผู้บริโภคเชื่องๆ ผู้ไม่มีปากมีเสียงใดๆ ก้มหน้าก้มตาจ่ายๆ ไปเพื่อให้ตัวเองได้ดูหนังสักเรื่อง (เจอหนังดีก็ดีไป เจอหนังห่วยๆ ก็เดินออกมาแช่งด่านักการเมืองเลวๆ ไปตามเรื่องตามราว?!) ล่าสุด เรื่องราคาตั๋วหนังก็เวียนมากระแทกต่อมเซ็นซิทีฟของผมอีกครั้ง เมื่อไปดูหนังอีกเรื่องเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (ที่โรงเก่าเจ้าเดิม) แต่คราวนี้เป็นหนังไทยเรื่อง "สามพันโบก" และสิ่งที่ทำให้ผมช็อกไปหลายวินาทีเลยก็คือ ราคาตั๋วของหนังเรื่องนี้ตกอยู่ที่ 140 บาท (จากเดิม 120)
ด้วยความสงสัย ผมเอ่ยถามน้องคนขายตั๋วว่าเพราะอะไร?
คำตอบที่ได้จากน้องคนนั้นซึ่งพูดออกมาราวกับไม่รู้เลยว่า คำตอบของเธอมันจะเสียดแทงหัวใจผู้อื่นเพียงใด ก็คือว่า...เพราะมันเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ราคาตั๋วเลยเพิ่มขึ้นมาอีก 20 บาท!!
ให้ตายเถอะครับ เกิดมาจนอายุปูนนี้...นอกจากความสงสัยที่ว่า เมื่อไหร่ หนังตลกไทยจะเลิกใช้คำหยาบและลามก นี่ก็คือเรื่องหนึ่งซึ่งทำให้ผมเกิดคำถามและงุนงงชนิดที่คิดหัวแทบแตก ก็ไม่พบคำตอบที่น่าพึงพอใจ...
ไม่ทราบว่าคิดนานกันหรือเปล่าครับ กว่าจะปิ๊งไอเดียนี้ขึ้นมา ขึ้นราคาค่าตั๋ว เพราะเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์
คือที่สงสัย ก็เพราะว่า เมื่อมองตามหลักความเป็นจริง หนังมันก็เหมือนๆ กัน ไม่ได้เป็น Special Edition ลับเฉพาะสำหรับคนดูหนังวันเสาร์อาทิตย์ซะหน่อย ขณะที่ "เนื้อหา" ของการบริการก็เท่าเดิม โรงหนังโรงเดิม เก้าอี้ตัวเดิม จอหนังก็จอเดิมๆ ไม่เห็นว่าโรงหนังต้องจ่ายอะไรเพิ่มเติม แต่ทำไมมาขึ้นราคากันแบบงงๆ และแปลกประหลาดเหลือรับประทาน (แปลกประหลาดเหมือนๆ กับพวกที่หยิบหนังหลายๆ เรื่องมาขายในแผ่นดีวีดีเดียวกัน ซึ่งหลายๆ แผ่น มีหนังคนละแนวที่แบบว่าไม่น่าจะมาอยู่ในแผ่นเดียวกันได้เลย อย่างเอา Titanic, Forrest Gump ไปขายแพ็คกับเรื่อง "หลวงพี่กับผีขนุน" หรือ "กระสือฟัดปอบ" แถมยังมี Resident Evil ติดเข้ามาอีก ซึ่งมันทำให้ผมล่ะอยากจะรู้วิธีคิดของคนที่ทำแบบนี้จริงๆ เลยว่า พวกเขาคิดยังไงถึงได้เอาหนังที่ว่านี้มาอัดขายในแผ่นเดียวกัน เพราะมันช่างดู "ไม่เข้ากัน" เอาซะเลย พับผ่าเถอะ)
จะเป็นเพราะว่า ไม่สามารถคิดหาวิธีใหม่ๆ ที่จะล้วงกระเป๋าคนดูหนังหรือเปล่า ถึงใช้วันเสาร์อาทิตย์มาเป็นเหตุผล อันนี้ ผมไม่รู้จริงๆ เพราะมันเป็นเรื่องของโรงหนังซึ่งอาจจะมีเหตุผลที่ "หนักแน่น" มากกว่านี้ เพียงแต่น้องคนที่ขายตั๋วไม่ได้อธิบาย...หรือเปล่า? (และผมก็ไม่อยากจะคิดเลยว่า นี่เป็นแค่เรื่อง "คิดจะขึ้นก็ขึ้น" แบบไร้เหตุผล) แต่ที่แน่ๆ ผมก็ได้ดู "สามพันโบก" ด้วยราคาค่าตั๋ว 140 บาท เน้นๆ...
ถามว่า แล้วผลที่ออกมาเป็นเช่นไร??
นี่คือผลงานการกำกับลำดับที่สามของคนทำหนังนามว่า "ธนภณ มลิวัลย์" (โคเลสเตอรอล...ที่รัก, Brave กล้า หยุด โลก) เนื้อเรื่องนั้นไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษและเดินตามสูตรสำเร็จของหนังบู๊พื้นๆ ทั่วไปที่มักจะมาพร้อมกับพล็อตง่ายๆ ด้วยการทำให้ "สิ่งของบางอย่าง" ถูกโจรกรรมไป แล้วก็เนรมิตตัวละครขึ้นมาสักตัวเพื่อปฏิบัติภารกิจตามล่าหาของสิ่งนั้นคืน (องค์บากเอย ต้มยำกุ้งเอย จีจ้าเอย ก็ไม่ต่างไปจากนี้ คือขายพล็อตเรื่องแบบ...ของหาย คนหาย แล้วต้องตามคืน)
และสำหรับสามพันโบก ทรัพย์สมบัติที่ตัวละครอย่าง "กริช" (บี ไพโรจน์) ต้องตามหาก็คือเครื่องราชย์ที่ถูกปล้นชิงไปตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ซึ่งตอนนี้ไปตกอยู่ในมือของมิจฉาชีพกลุ่มหนึ่ง
แต่เอาล่ะ ไม่ว่าพล็อตเรื่องจะซ้ำๆ เดิมๆ ยังไงก็ตาม ที่สุดแล้ว ต้องไปดูที่องค์ประกอบด้านการเล่าเรื่องว่าจะทำให้คนดูลุ้นระทึกไปกับเรื่องราวนั้นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะแม้แต่หนังแอ็กชั่นเจ๋งๆ อย่าง Taken ที่แม้เมื่อมองในแง่ของประเด็น ก็ซ้ำๆ เดิมๆ (คือตามหาคนหาย) แต่วิธีการเล่าเรื่องและใส่รายละเอียดของหนัง กลับทำให้คนดู "ลุ้น" ไปกับเรื่องราวได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
อย่างไรก็ดี กับ "สามพันโบก" ผมว่าหนังไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย อารมณ์ของหนังดู "จืดชืดไร้ชีวิตชีวา" อย่างแทบจะสิ้นเชิง หนังเล่าตัวเองไปแบบดุ่ยๆ ไม่มีลูกล่อลูกชนหรือชั้นเชิงอะไรเลย เทียบกับงานก่อนหน้าของคุณธนภณอย่าง "Brave กล้า หยุด โลก" ยังดูดีกว่า อย่างน้อยๆ ก็มีอารมณ์ขันที่ใช้ได้อยู่บ้าง และพูดก็พูดเถอะ ผมว่าหนังบู๊ๆ ที่ดูเหมือนไม่มีสาระอะไรเลยอย่างพวก "เกิดมาลุย" ของคุณพันนา ฤทธิไกร ยังดูสนุกกว่าด้วยซ้ำไป
มองกันที่ลีลาแอ็กชั่นรึ ก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่โลดโผนน่าทึ่ง ซึ่งว่ากันตามจริง ก็เหมือนหนังแอ็กชั่นอีกเรื่องอย่าง "“อะดรีนาลิน คนเดือดสาดด.." ที่แน่นอนล่ะว่ามันมีคนฟาดปากกันจริง แต่ทำไม มันเตะต่อยกันไม่ได้อารมณ์เอาซะเลย
พ้นไปจากนี้ ที่ผมรู้สึกเห็นอกเห็นใจมากๆ ก็คือตัวละครอย่าง "ปลายฟ้า" ที่บทหนังไม่ส่งเธอแม้แต่น้อย คุณทราย เจริญปุระ ที่เคยดับสนิทมาแล้วในหนังเรื่อง "กระสือฟัดปอบ" มาถึงสามพันโบก กับการรับบท "ปลายฟ้า" ยิ่งทำให้ดูเหมือนว่าความเป็นนักแสดงคุณภาพจะสาบสูญไปแล้วอย่างสิ้นเชิงจากผู้หญิงคนนี้ แน่นอน ผมไม่ได้บอกว่าเธอไม่มีฝีมือด้านการแสดง แต่บทหนังไม่ได้มีอะไรให้เธอได้โชว์ความสามารถนั้นเลย และที่ทำเอาผมงงมากๆ เลยก็คือ เพราะอะไร จู่ๆ หญิงสาวนักโบราณคดีเช่นปลายฟ้า ถึงปามีดได้หนักแน่นแม่นยำราวกับ "ลี้น้อย" ใน "ฤทธิ์มีดสั้น" ของโก้วเล้งซะขนาดนั้น
เช่นเดียวกัน บทของคุณเมย์-ภัทรวรินทร์ ทิมกุล ก็เป็นบทที่ใครเล่นก็ได้ เพราะมันเป็นบทที่เบาหวิวเอามากๆ คือนอกจากจะได้พูดแค่ไม่กี่คำแล้วยิงปืนกับโยนระเบิดตูมตาม 4-5 ลูก หนังยังใช้สอยเธอในฉากเลิฟซีนแบบแกนๆ ประเภทที่จู่ๆ ก็แทรกแซมเข้ามาอย่าง "ยัดเยียด" (หรือเพราะเห็นว่าคุณเมย์มีภาพของหญิงเซ็กซี่อยู่แล้ว ก็เลยต้องเซลล์ๆๆ แล้วก็เซลล์ฉากแบบนี้กันซะหน่อย ต่อให้มันไม่เกี่ยวอะไรกับหนังเลยก็ตาม) แน่นอน ผมไม่คิดว่าคุณเมย์ควรจะมารู้สึกภาคภูมิใจอะไรนักกับฉากหวิวๆ 5-6 วินาที ที่ต่อให้ไม่มีฉากนี้ หนังก็ไม่ได้เสียหายอะไร
เหนือสิ่งอื่นใดที่พูดมาทั้งหมด ผมคิดว่าคำโปรโมตบนโปสเตอร์หนังนั้นดู "ใหญ่เกินตัว" อย่างยากจะทำใจยอมรับได้จริงๆ ครับ
ใช่ล่ะ ในขณะที่ประโยคแรกบอกว่า "สิ่งเร้นลับที่ซ่อนไว้ จะชี้เป็นชี้ตายโลกใบนี้" ประโยคที่สองก็ปล่อยคำโตออกมาว่า "การต่อสู้สุดระห่ำที่เดิมพันด้วยโลกทั้งใบ" แต่เมื่อไปดูจริงๆ ไม่เห็นว่ามันจะเกี่ยวกับความเป็นความตายของโลกใบนี้ตรงไหนเลย เช่นเดียวกับชื่อหนังที่ใช้คำว่า "สามพันโบก" (ชื่อสถานที่แห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีที่ว่ากันว่าเป็น "แกรนด์แคนยอนเมืองไทย") ซึ่งว่ากันอย่างถึงที่สุด ก็แทบไม่มีอะไรเกี่ยวกับเนื้อหาหนังเลย นอกจากฉากต่อสู้ตอนท้ายซึ่งหนังไปถ่ายที่สามพันโบก
แล้วที่บอกว่าการต่อสู้ "สุดระห่ำ" รึ ผมว่า "สุดละเหี่ย" น่าจะถูกต้องกว่าไหม?
ก็รู้ล่ะครับว่า การโปรโมตโฆษณามันจำเป็นต่อการขายสินค้า แต่ผมว่ามันก็ต้องดูด้วยล่ะว่าศักยภาพของสินค้าของตัวเองมัน "ถึง" แบบนั้นจริงหรือเปล่า ไม่ใช่พูดอะไรเว่อร์ๆ ไว้ก่อนเพื่อจะต้อนให้คนหันมาสนใจ ซึ่งตามจริง ก็ไม่ใช่เฉพาะแค่ภาพยนตร์หรอก สินค้าทุกอย่าง ไล่ตั้งแต่เครื่องสำอางทารักแร้ ไปจนถึงกาแฟหรือแม้แต่รถยนต์ ฯลฯ ก็ล้วนแต่ "โอเว่อร์เซลล์" ด้วยกันทั้งสิ้น ราวกับว่าถ้าใช้สินค้าแบบนั้นๆ แล้ว จะกลายเป็น "เทวดา" ไปเลยในนาทีสองนาที
ครับ ที่พูดมา ไม่ใช่จะบอกว่าเจ้าของสินค้าไร้จรรยาบรรณในการ "ขายของ" แต่เป็นเพราะ "รู้สึก" ว่ามัน "เกินจริง" เกินไปสักหน่อย ก็เท่านั้นเอง
"รู้สึกว่ามันเกินจริง" เหมือนกับที่รู้สึกต่อราคาตั๋วหนังซึ่งอ้างวันเสาร์อาทิตย์เป็นตัวดีดราคาขึ้น เพราะพูดก็พูดเถอะ คุณภาพหนังเท่านี้ ค่าตั๋ว 120 บาทเท่าเดิม ก็คิดหนักแล้วล่ะครับ!! (และขอโทษเถอะ เพื่อนปากมอมที่ดูพร้อมกับผม หล่นคำขมๆ ที่ผมไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ว่า "40 บาทน่ะ เหมาะที่สุดแล้ว"!!)