xs
xsm
sm
md
lg

'บัณฑิต ฤทธิ์ถกล'ซ่อนอะไรไว้ในเนื้อหนัง?(จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


(3)
หากพิมพ์ชื่อ 'สันติสุข พรหมศิริ' ลงไปในกูเกิ้ล ผลที่ได้จะออกมากมายกว่า 147,000 รายการ แม้หลายคนจะรู้ดี แต่สิ่งที่อินเทอร์เน็ตไม่ได้ระบุชี้ชัดลงไปก็คือ ดาราเจ้าบทบาทที่ชื่อ สันติสุข คนนี้ เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้ก็เพราะฝีมือการเขียนบทและกำกับของ 'บัณฑิต ฤทธิ์ถกล'

สันติสุขเริ่มงานในวงการบันเทิงด้วยการแสดงละครเวทีและภาพยนตร์กับค่ายไฟว์สตาร์จำนวน 3 เรื่อง และได้ร่วมงานกับบัณฑิตในภาพยนตร์ที่ชื่อ ‘ด้วยเกล้า(พ.ศ. 2530)’ ซึ่งเป็นหนังที่บัณฑิตตั้งใจสร้างเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาส ฉลองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี

"ได้เจอพี่บัณฑิตครั้งแรกเลยก็คือที่เชียงราย ก็คือไปเจอที่โลเคชั่นเลย เจอกันก็งานหินเลยเพราะว่าเรื่องนั้นเป็นภาพยนตร์ซาวนด์ออนฟิล์ม และเป็นภาพยนตร์ที่ไม่เหมือนกับสามเรื่องแรกที่ผ่านมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะซีเรียส เป็นดราม่าเยอะแล้วก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวด้วย"

นอกจากความยากในการแสดงภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้เด็กหนุ่มจากจังหวัดสิงห์บุรีคนนี้ประทับใจในตัวผู้กำกับชื่อ บัณฑิต ก็คือ ความเป็นคนที่ยอมลงมาคลุกลุยไปกับนักแสดง ซึ่งหาได้น้อยจากผู้กำกับรายอื่นๆ

"พี่บัณฑิตเป็นผู้กำกับฯกลางแดด เป็นผู้กำกับฯที่มีสไตล์ไม่เหมือนใคร คือนักแสดงตากแดดพี่บัณฑิตจะตากแดดด้วย จะลุย ไม่ได้เป็นผู้กำกับฯที่นั่งอยู่กับเก้าอี้ไดเรคเตอร์อยู่หน้าจอมอนิเตอร์ แล้วก็สั่งแอ็คชั่นอะไรแบบนั้น แล้วแกก็มีสไตล์การแต่งตัวคือ ใส่กางเกงสีกากี ใส่หมวก คือมันร้อนอยู่กลางแดด หนังส่วนใหญ่จะอยู่กับแดด

"แกจะมีความรอบรู้หลายอย่างเนื่องจากแกเป็นนักเขียนมาก่อน แล้วก็เป็นผู้ช่วยผู้กำกับฯมาก่อนแล้วก็มาเขียนบท คือค่อนข้างจะผ่านงานมาครบ เพราะฉะนั้นเวลาที่แกบอกหรืออธิบายอะไรจะมีเหตุผล ว่าทำไมต้องทำแบบนี้ ทำไมต้องถือปืนแบบนี้ คือจะมีที่มาที่ไป นักแสดงก็จะเชื่อถือเพราะว่าแกรู้จริง อย่างผู้กำกับฯบางคนสั่งได้แต่ว่าอธิบายไม่ได้เพราะไม่เคยผ่านมาก่อน ผู้กำกับฯใหม่อายุน้อยๆ ก็อาจจะมีมุมมองทางด้านหนังอย่างหนึ่ง แต่ว่าในด้านรายละเอียดอาจจะสู้ผู้กำกับฯที่เขาเก๋าเกมมาเยอะกว่าไม่ได้"

แต่บท คำนึง ทหารพรานหนุ่มในเรื่อง ด้วยเกล้า ก็ยังไม่ได้ทำให้ชื่อ สันติสุข เป็นที่รู้จักมากเท่ากับบทบาทหนุ่มสุพรรณใสซื่อ ที่มาพร้อมกับเสียงเหน่อๆ อันเป็นเอกลักษณ์ ใน บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. 2531) 

"ตอนที่รู้ว่าจะทำเรื่องบุญชูก็ไม่ได้นึกว่ามันจะเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จมาก หรือจะตลกแล้วทำรายได้ถล่มทลายในยุคนั้น ก็คิดว่าเป็นหนังวัยรุ่นธรรมดาเรื่องหนึ่ง เรื่องของเด็กต่างจังหวัด เด็กบ้านนอกเข้ากรุง มาเรียนพิเศษก็มาเจอเพื่อน สมัยก่อนเรื่องการเอ็นทรานซ์มันเป็นเรื่องใหญ่ต้องเรียนพิเศษต้องติว ถือเป็นเรื่องใหญ่ของเด็กต่างจังหวัดที่จะเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ

"พี่บัณฑิตแกก็ใช้ประสบการณ์ส่วนตัว เพราะพี่บัณฑิตแกก็เป็นเด็กบ้านนอกเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯเหมือนกัน ก็เลยเอาชีวิตส่วนตัวแกเขียนเข้าไปด้วย ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นผมก็ 24-25 ก็อยู่ในวัยพอดี ก็มีพวกเพื่อนๆหลายคน พวกซูโมก็อยู่ในวัยไล่ๆกัน ในเรื่องของการวางตัวนักแสดงค่อนข้างจะลงตัวมากในเรื่องของวัยวุฒิ ในเรื่องของคาแรกเตอร์ก็เหมือนกับว่าพี่บัณฑิตเขาเขียนบทมาให้กับทุกคนเลย"

และบทที่คล้ายว่าเขียนให้สันติสุขแสดง ก็ส่งให้ชื่อของนักแสดงหนุ่มหน้าไทยคนนี้กลายเป็นดาราดังในชั่วข้ามคืน ชีวิตของหนุ่มนักแสดงที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในช่วงนั้น สันติสุขต้องเดินสายไปโปรโมทภาพยนตร์ร่วมกับทีมนักแสดงในเรื่อง และไม่ว่าเขาจะย่างเท้าไปเยี่ยมที่ไหน บรรดาชาวบ้านก็ต้องออกมาทักทายเรียกขานเขาว่า 'บุญชู' ทุกคราไป

หลายปีผ่านไป บทบาทอื่นๆ ที่สันติสุขแสดงเริ่มเข้ามาเจือจางคาแรกเตอร์บุญชูที่ห่อหุ้มเขาเอาไว้ แต่นักแสดงวัย 46 ปี ผู้ซึ่งอยู่ในวงการบันเทิงมาเกือบสามทศวรรษผู้นี้ ก็ยังระลึกถึงบัณฑิต ในฐานะผู้กำกับหัวใจใหญ่ ที่เขามักจะบอกกับใครต่อใครว่า เป็นผู้กำกับที่เขาสนิทด้วยที่สุด

"พี่บัณฑิตเป็นคนใจนักเลง กล้าได้กล้าเสีย แล้วก็โอบอ้อมอารีกับลูกน้อง เป็นคนรักลูกน้อง บางทีแกเปิดหนังเพราะว่าลูกน้องไม่มีงานก็มี ลูกน้องตกงานไปนาน แกก็ต้องพยายามเปิดหนังเพื่อลูกน้องจะได้มีรายได้ เป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เป็นผู้กำกับฯรุ่นเก่าที่อายุมากแต่ว่าเปิดตัวเอง ใครอยากได้อะไร ซูโม่กิ๊ก(เกียรติ กิจเจริญ) พี่เจี๊ยบ(วัชระ ปานเอี่ยม)หรือว่าผมจะแนะนำอะไร ก็รับฟัง เป็นคนเปิดใจ ทำได้แกก็ทำ อันไหนทำไม่ได้แกก็จะอธิบายว่ามันเป็นเพราะอย่างนี้ๆนะ มันไม่ดีเพราะอย่างนี้ เป็นคนที่ทำงานไม่โอเวอร์ ทำหนังไม่ได้หวังว่าจะได้ตังค์หรือว่าอะไร แกทำเพราะแกรักหนัง

"พี่บัณฑิตแกพูดเสมอว่า หนังควรจะให้อะไรกับคนดูบ้างนอกจากความสนุกสนานที่มีอยู่แล้ว แต่โดยลึกๆแล้วหนังควรจะให้ อย่างเรื่องบุญชูบางคนดูแล้วก็ไม่มีอะไรมันก็เป็นหนังตลก แต่ว่าถ้าคุณถอดมุขตลกอะไรต่างๆออกไป เหลือแต่แก่นของเรื่อง มันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงในยุคนี้เลย ก็คือ เป็นเรื่องของเด็กบ้านนอกที่ออกมาเรียนที่กรุงเทพฯแล้วก็กลับไปทำงานที่บ้าน กลับไปขายข้าวไปช่วยงานที่จังหวัดสุพรรณบุรี ไปช่วยญาติพี่น้องตัวเอง เป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีความจริงใจ ไม่โกง อาจจะเคยโดนเอาเปรียบบ้างก็ผ่านพ้นมาได้ในหลายๆภาคที่โตๆขึ้นมา

"แก่นของหนังจะมีอยู่ในหนังทุกเรื่องของพี่บัณฑิต พี่บัณฑิตเขียนบทมาจากมนุษย์ที่เป็นเนื้อหนังจับต้องได้จริงๆ มันมีสองด้านทั้งด้านดีและด้านเสียไม่ได้เป็นตัวละครแบบลอยๆขึ้นมา ดีก็ดีด้านเดียวลอยไป งานของพี่บัณฑิตจะจริงจังมีความเป็นมนุษย์ ขายความเป็นมนุษย์ ความเอื้ออาทรของมนุษย์ที่มีต่อมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้ น้อยคนที่จะทำหนังออกมาในลักษณะแบบนี้"

(4)
เพราะหัวใจที่รักในศาสตร์ภาพยนตร์ ถึงแม้จะไม่ได้ร่ำเรียนตรงสาขา แต่บัณฑิตก็ใช้ความรักนั้น เป็นสะพานที่เชื่อมเขาไปสู่การทำหนัง

แม้จะเป็นสะพานที่ไม่ได้เรียบ ไม่มั่นคง หากแต่เต็มไปด้วยความขรุขระและหลุมบ่อ
หลังจากที่บุญชูผู้น่ารักประสบความสำเร็จในด้านรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ของบัณฑิตและครอบครัวก็ดีขึ้น แต่เพราะความใจกว้างของเขานี่เอง ที่ทำให้ชื่อบัณฑิต ฤทธิ์ถกลไม่ได้รับบรรจุอยู่ในการจัดอันดับมหาเศรษฐีของประเทศไทย

"คุณบัณฑิตเขาจะเป็นคนใจกว้างน่ะค่ะ" นันทนาพูดถึงคู่ชีวิตด้วยดวงตาที่เปี่ยมประกาย "เขารักเพื่อนฝูง พี่น้อง ถ้าใครเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ เขาจะยินดีช่วยเหลือค่ะ ห่วงใย จะว่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีมันก็ไม่ใช่ เพียงแต่ว่าเรื่องจับจ่ายใช้คล่องมันก็โอเคนะคะ สถานะการเงินก็ดีขึ้นค่ะ แต่ว่าตอนนั้นก็ทำเงินได้เยอะ ก็ใจกว้าง ตั้งบริษัท อะไรต่อมิอะไร แต่ว่าก็ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าไหร่"

ถัดจากภาพยนตร์ชุดบุญชู บัณฑิตก็เดินหน้าสร้างหนังแนววัยรุ่นเปื้อนเสียงหัวเราะอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น โก๊ะจ๋าป่านะโก๊ะ, อนึ่งคิดถึงพอสังเขป, ส.อ.ว. ห้อง 2 รุ่น 44 และเปลี่ยนวิถีมาเขียนบท พร้อมกำกับหนังในแนวอื่น อย่าง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้, สตางค์, 14 ตุลา สงครามประชาชน, สาปเสือที่ลำน้ำกษัตริย์, ชื่อชอบชวนหาเรื่อง ซึ่งภาพยนตร์ในยุคหลังนี้เอง ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในด้านรายได้ แม้ตัวบทจะเป็นที่ถกเถียงพูดคุยกันในวงกว้างก็ตาม

"เขาก็ไม่สูญเสียความตั้งใจนะคะ เพียงแต่ว่า แหม ถ้าทำตามใจตลาด มันก็ไม่ได้ตามอุดมการณ์ของเขาน่ะ หรือถ้าทำตามเขาก็อาจจะไม่ค่อยถูกใจเจ้าของหนัง มันก็เอาใจกันลำบาก คนละอย่าง แต่ช่วงที่เขาทำหนังที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเนี่ย จะว่าไปคุณบัณฑิตเขาก็ยึดมั่นในตัวเองมากไปเหมือนกันนะคะ หมายถึง มั่นใจในตัวเองน่ะ จะเขียนบท หรือใครเขียนมาให้ เขาจะต้องแอบเปลี่ยน ทำเอง ไม่ถูกใจ เราก็มีคุยกับเขาเหมือนกัน บอกเขาว่า ตัวเอง ฟังคนอื่นบ้างนะ(หัวเราะ) ก็คุยกันน่ะค่ะ แต่เขาก็จะบอกว่า แหม บางทีมันก็ใช้ไม่ได้ เขาก็ต้องเปลี่ยน"

ธนธรณ์เล่าถึงช่วงที่บิดาต้องทำงานเพื่อสื่อ 'สาร' ในหัวซึ่งไม่ใช่เนื้อสารหลักที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่หิวกระหายว่า "ส้มเชื่อว่าคนทำหนังทุกคน ทำหนังมาก็ต้องอยากให้คนไปดูเยอะๆ อยากให้คนชื่นชอบ แต่คุณพ่อจะมีคำพูดติดปากอยู่คำพูดหนึ่งว่า เราทำหนังของเราให้ดีที่สุด ในระหว่างที่เราทำ แต่เมื่อเราทำเสร็จแล้ว ตัดต่อเสร็จแล้ว มันออกฉายในโรง ก็เป็นเรื่องของคนดูที่จะตัดสิน"

ในด้านหนึ่ง ภาพยนตร์ของบัณฑิตเริ่มจะไม่ทำเงินเหมือนอดีตกาล ส่วนอีกด้านหนึ่ง บรรดาโรคร้ายที่อยู่คู่กับบัณฑิตมานานนับสิบปี ก็สำแดงเดช จนก่อปัญหาในการทำงานให้บัณฑิตบ้างเหมือนกัน

"ถ้าเป็นโรคไตก็สี่ปี ฟอกไตมาตลอด ก่อนหน้านั้นก็เป็นโรคหัวใจ โรคความดัน เบาหวาน เป็นครบสูตรแล้วล่ะ แล้วก็มาเป็นมากช่วงนี้แหล่ะ” นันทนาพูดถึงอาการป่วยของสามี เธอคือคนที่พาบัณฑิตเข้า – ออก โรงพยาบาลวิชรพยาบาลนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยหน้าที่ของภรรยาที่ต้องดูแลสามีซึ่งมีน้ำหนักเกินกว่าหน้าที่ของพยาบาลที่ต้องดูแลคนป่วย

"พี่ก็พาเขาเข้าออกโรงพยาบาล ช่วงก่อนหน้านี้ ก็เจ็บป่วยเยอะ เรื่องของเรื่องเขาปวดแผลที่ขา ที่เกี่ยวกับเส้นเลือด ก็จะปวดแล้วนอนไม่หลับ กลางคืน ถ้าวันไหนที่เขานอนไม่หลับ เขาจะบอกให้พี่พาไปนั่งรถเล่นหน่อย ตอนกลางคืน ก็จะขับรถพาเขาไปตระเวนทั่วกรุงเทพฯ เขาจะบอกให้ขับพาเขาไปไกลๆ เราก็บอก ชั้นจะพาเธอไปไกลๆ ได้ไง มันมือค่ำขนาดนี้ คุณบัณฑิตเขาขับรถไมได้หรอกนะคะ เขาเป็นคนใจร้อน เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่ให้เขาขับรถ"

แต่แล้วกิจกรรมที่ไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าจะสามารถพรากชีวิตของใครได้ ก็ทำให้ผู้กำกับรุ่นใหญ่ต้องจากทุกคนไปตลอดกาล แม้ตัวจะลาลับ แต่ผลงานภาพยนตร์กว่า 30 เรื่องของเขาก็ยังอยู่ในใจของคนดู ส่วนสิ่งที่จะอยู่ในใจของสองแม่ลูกซึ่งเป็นที่รักยิ่งของบัณฑิตก็คือ ภาพวันเก่าๆ อันสวยงาม

"เขาจะดูหนังมากเลยค่ะ หนังจากทีวีบ้าง หนังจากยูบีซีบ้าง แล้วเขาก็จะซื้อหนังสือมาอ่านมากเลยค่ะ เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับหนังนี่แหล่ะค่ะ การถ่ายทำบ้าง อะไรบ้าง แล้วถ้าไปซื้อแผ่นมาดู เขาจะดูมาก เป็นเรื่องเป็นราว กลางวันจะนอน กลางคืนไม่ค่อยนอน เรื่องบันเทิงนี่เขาก็มีนะคะ ชอบร้องเพลง เล่นกีตาร์ เขาก็ทำเหมือนกันค่ะ แล้วก็ชอบที่จะไปเที่ยวต่างจังหวัด เที่ยวป่า แม้กระทั่งก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เขายังบอกเลยว่า อยากจะเที่ยวป่าเขียวๆ" นันทนาฉายภาพของบัณฑิตในความทรงจำที่แจ่มชัด

"พ่อเป็นคนมีน้ำใจกับทุกๆ คน" ธนธรณ์พูดถึงบัณฑิตด้วยน้ำเสียงชื่นชม "จะเรียกว่าเป็นไอดอล เป็นฮีโร่ที่ส้มเอาเป็นแบบอย่างในทุกๆ เรื่องเลย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงาน วิธีคิด หรือวิธีการปฏิบัติกับคนอื่นๆ ในกองถ่าย เป็นผู้กำกับก็เหมือนจะใหญ่ที่สุด แต่คุณพ่อไม่เคยที่จะละเลยการที่จะดูลูกน้อง พ่อมีน้ำใจให้กับทุกคน กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมวงการ ไม่ว่าใครมาขอความช่วยเหลือ ถ้าพ่อทำได้ พ่อยินดีจะทำให้

"แล้วลักษณะของการทำงาน ด้วยความที่ค่อนข้างสนิทกัน ก็จะตามพ่อไปทำงานบ่อย ก็จะได้เห็นมุมมอง ได้เห็นความคิดอะไรบางอย่างที่ เออ เรายังคิดไม่ถึง ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเรามีความพยายาม ถ้าเราใฝ่ที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ฝึกฝนจากคนอื่น ยินดีเปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆ เพราะว่าอย่างคุณพ่อ ช่วงหลังๆ ที่ท่านมากำกับ ก็ต้องยอมรับว่าท่านก็ค่อนข้างที่จะอาวุโสแล้ว เพราะฉะนั้นการมากำกับหนังวัยรุ่นแบบนี้ ท่านเองก็ไม่ได้คิดว่าท่านเป็นผู้กำกับมานาน เป็นสิบๆ ปี แต่ว่าท่านยังเรียกเด็กๆ เรียกน้องๆ ฝึกงานในกองถ่าย เรียกทีมงานวัยรุ่น คนสมัยใหม่ต่างๆ มาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แล้วท่านก็นำความคิดเห็นเหล่านั้นมาปรับใช้อยู่เสมอ มันทำให้เห็นว่า ไม่มีใครที่จะแก่เกินเรียน"

ไม่มีใครล่วงรู้ว่า วันสุดท้ายระหว่างเรากับคนรักคือวันไหน นันทนาก็เช่นกัน เธอหยิบภาพสุดท้ายระหว่างเธอกับบัณฑิตออกมาจากกล่องหัวใจ แล้วเล่าพร้อมหยดน้ำตาที่คลออยู่ในเบ้าว่า

"ตอนป่วยครั้งสุดท้ายมีน้องคนนึงมาบอกว่า เอ๊ะ พี่บัณฑิต พี่นันเขาเคยบอกรักพี่บัณฑิตสักครั้งไหม คุณบัณฑิตบอกว่า ไม่เคยเลย เราจะไม่ค่อยสวีทกัน ปกติคุณบัณฑิตเขาก็จะไม่ชอบอะไรแบบนี้ เขาจะบอกว่า เขาจะเลี่ยนมากเลย ถ้าใครมาแสดงอะไรกับเขามากมาย แต่วันนั้นพอน้องเขามาพูดแบบนี้ พี่ก็เลยไปโอบเขา บอกเขาว่า เค้ารักตัวนะ เขาก็ยิ้ม ดีใจ

"แล้วก็เรื่องลูกอีก ลูกเราก็เลี้ยงมา ไม่ได้กอดรัดฟัดเหวี่ยงอะไรกันมากมาย เสร็จแล้ว น้องคนนี้เขาก็บอกว่า น้องส้ม มากอดคุณพ่อ หอมแก้มคุณพ่อบ้างนะ ส้มเขาก็จะเขิน จะอาย เขาก็ไม่กล้า แล้ววันนั้นอยู่ๆ คุณบัณฑิตเขาก็พูดมาว่า ถ้าไอ้ส้มมันมากอดชั้น หอมชั้นนะ ถ้าชั้นหายนะ ชั้นกลับบ้านไป ชั้นจะนั่งรถไปที่ทำงานมัน ให้มันหอม ให้มันกอด เช้า กลางวัน เย็น ตรงนี้ ที่เรามีความรู้สึกว่า...เขาคงอยากได้ความรักจากลูก

"คุณบัณฑิตเขาห่วงลูกสาวมากนะ เขาเคยบอกว่า ถ้าเขาจะเป็นอะไรไป ขอให้ส้มได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ซึ่งตอนนี้ส้มก็ทำงานอยู่ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพิ่งได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำแล้ว แต่ส้มเขาเป็นคนรักเรียน เรียนไปเรื่อย จบแล้วก็ยังเรียนอีก จบโทที่จุฬาฯ พอเขาได้รับการบรรจุที่ ททท. ฝ่ายการตลาด เขาก็ไปเรียนโทที่ศิลปากร เรื่องการจัดการวัฒนธรรม เขาชอบเรียน พ่อเขาก็ตามใจ เคยถามว่าจะทำหนังอย่างพ่อไหม พ่อไม่ยอมให้ทำ

"เขาบอกว่ามันจะลำบาก เพราะอาชีพนี้มันไม่ได้ก้าวหน้ากันง่ายๆ แล้วช่วงที่ลำบากมันก็ลำบากมาก มันไม่ใช่งานประจำที่จะยึดได้มั่นคงเสมอไป"นันทนาพูดถึงแนวคิดที่บัณฑิตมีต่ออาชีพที่เขารักและยึดมั่นจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

              …………………………………………………………….

สิ่งที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้ เกี่ยวกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

1. ทุกครั้งที่กำกับภาพยนตร์ บัณฑิตจะต้องสวมหมวก และคล้องผ้าพันคอประจำตัวเสมอ มิเช่นนั้นจะทำงานไม่ได้

2. เวลาเขียนบทภาพยนตร์แต่ละครั้ง บัณฑิตจะต้องสอดแทรกความคิดอะไรลงไปในนั้นเสมอ ไม่เว้นกระทั่งหนังเรื่อง ผ่าปืน ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ที่บัณฑิตเขียนบทให้ ตอนนั้น บัณฑิตมองว่า กระสุนปืนไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาเข่นฆ่ากันอย่างเดียว สัญลักษณ์การผ่าลูกปืน หมายถึงการผ่าออกมาดูข้างในว่า ภายในลูกปืนอาจจะมีหัวใจหรือความรักอยู่ก็ได้

3. ภาพยนตร์ที่บัณฑิตภาคภูมิใจที่สุด คือ ด้วยเกล้า(พ.ศ. 2530)

4. เมื่อป่วยเป็นโรคไต บัณฑิตได้เป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมถ์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ แต่บัณฑิตได้ส่งจดหมายไปปฏิเสธ โดยให้เหตุผลสองข้อว่า ไม่อยากลัดคิวผ่าตัดเปลี่ยนไตของคนป่วยรายอื่น และตนเองพอจะมีกำลังทรัพย์ในการรักษาตัวได้ จึงไม่อยากเบียดบังคนไข้รายอื่นๆ
สันติสุข พรหมศิริ
สันติสุข - บัณฑิต - จินตหรา
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง บุญชูผู้น่ารัก
กำลังโหลดความคิดเห็น