xs
xsm
sm
md
lg

'สุชาติ ชวางกูร' จากศูนย์ถึงอนันตกาล(1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฤดูร้อน

แดดกร้านส่องทะลุกิ่งตะขบ ลำแสงเฉียดเด็กชายตัวเล็กซึ่งกำลังพักก้นอยู่บนก้านไม้ใหญ่ เขาเอื้อมมือไปเด็ดผลอวบใหญ่สีแดงอมดำที่กำลังสุกปลั่งได้ที่ ก่อนจะส่งเข้าปากเคี้ยวตุ้ยจนน้ำฉ่ำแก้ม แล้วตั้งหน้าตั้งตาร้องเพลงลูกกรุงและลูกทุ่งที่โปรดปรานคลอคู่ไปกับความเดียวดายที่เปรียบเหมือนสหายคู่ใจนับตั้งแต่วันแรกที่เขาถือกำเนิดขึ้นในโลกใบนี้

วันศุกร์ที่ 22 เมษายน คือจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ไม่ธรรมดาของเขา อาจเพราะเกิดในเดือนซึ่งมีอุณหภูมิที่สูงที่สุด เขาจึงมักจะยอมรับกับใครต่อใครว่าตัวเองเป็นผู้ชายที่ 'ร้อนระอุไม่ต่างจากเดือนเกิด'

ฤดูการปิดภาคเรียนสิ้นสุดลง เด็กชายเสียงใสกลับมาสวมชุดนักเรียนขาวสะอาด อกเสื้อปักชื่อกับนามสกุลตัวโตว่า 'สุชาติ ชวางกูร'

การเรียนของสุชาติจัดอยู่ในระดับ 'พอไปได้' แต่พฤติกรรมในรั้วโรงเรียนของเขาเป็นสิ่งที่ทำให้ครูและเพื่อนๆ เอือมระอา

"เราชอบแกล้งเพื่อน คือเราไม่ได้มีจิตใจชั่วร้ายที่จะทำให้เขาเจ็บป่วยล้มตายอะไรนะ แต่เรามีความรู้สึกว่า เวลาเราแกล้งเขา แล้วเขาก็จะให้ความสนใจเรา เขาจะด่าเรา หรือเขาจะฟ้องครู ให้เราโดนตี เราก็จะได้รับความสนใจจากเพื่อนๆ (หัวเราะ) เอาอีกแล้ว โดนอีกแล้ว แล้วเวลาครูเขาตี เขาก็ตีเพื่อเป็นการประจาน ผู้ใหญ่เขาก็จะคิดไปในทางเดียวว่า เด็กที่เกเร เด็กที่มีปัญหาอะไรแบบนี้ ก็คงจะต้องโดนตี โดนทำโทษ แต่ว่าเขาก็ลืมไปว่า มันไม่ใช่ปกติแล้วนะ เพราะมันโดนทำโทษทุกวัน"

เอื้อมมือไปดึงผมของเพื่อนผู้หญิงที่นั่งอยู่ข้างหน้า นำหมากฝรั่งที่เคี้ยวจนเหนียวได้ที่ไปติดที่ผมยาวสลวยหรือเอาก้านไม้กวาดไปเกี่ยวกับหูกางเกงของเพื่อนให้คนอื่นๆ หัวเราะขบขัน เป็นวิธีการกลั่นแกล้งที่สุชาติล้วนเคยปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมห้องมาแล้วทั้งสิ้น แม้ครูจะลงโทษเขาแทบทุกครั้ง แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่หลังพฤติกรรมดื้อเกเรกลับเป็นสิ่งที่ผู้สอนไม่เคยสนใจที่จะเปิดเข้าไปมอง

คุณแม่ของสุชาติเป็นภรรยาคนที่หกของคุณพ่อ เขามีพี่น้องซึ่งเกิดจากบิดาเดียวกันอีกกว่าสิบห้าคน แต่มีน้องชายแท้ๆ ที่มีสายเลือดของพ่อและแม่เดียวกันอยู่หนึ่งคน ถึงแม้น้องชายคนนี้จะถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่เขาลืมตาดูโลกได้เพียงสามปี แต่จังหวะชีวิตที่วุ่นวายก็ทำให้เขากับน้องต้องแยกกันอยู่

"ตอนเด็กๆ ไม่ค่อยสนิทกัน เพราะต่างคนต่างอยู่ อยู่คนละบ้าน ได้มาอยู่ด้วยกัน ร่วมแก๊งขบวนการอยู่พักนึง น้องผมจะแรงกว่าผมอีก ถ้าเราขึ้นรถสองแถวในซอย ไม่มีใครกล้าเก็บเงินผมนะ เพราะตอนเด็กๆ น้องเราขาใหญ่น่ะ (หัวเราะ)"

ความทรงจำแรกที่ประทับอยู่ในสมองของสุชาติ คือภาพบ้านหลังใหญ่ภายในซอยสุขุมวิท 16 ซึ่งมีคุณพ่อแท้ๆ กับคุณแม่คนใหม่เป็นคนเลี้ยงดู คนทั่วไปอาจมองเห็นภาพเปื้อนเปรอะของเด็กผู้ชายตัวเล็กซึ่งจำต้องไปอาศัยอยู่กับคนที่ไร้สายเลือดเชื่อมโยง แต่สิ่งที่แจ่มชัดอยู่ในหัวของสุชาติกลับเป็นภาพสวยสะอาดของการเล่นทโมนตามประสาเด็กกับเพื่อนฝูงวัยเดียวกันมากกว่า

"ก็เล่นไปกับเขาหมดแหล่ะ ใครเขาไปตรงไหนก็ไปด้วย ลงน้ำลงท่า ก็ไปกับเขาหมด โรงงานยาสูบที่ยังเหลือเป็นบ่อๆ อยู่นี่สมัยก่อนก็เคยไปกระโดดเล่นเหมือนกัน ถือว่าเป็นเด็กซนน่ะครับ เป็นเด็กอยู่ไม่สุข ดื้อเงียบด้วย ถ้าใครบอกอย่าทำอย่างนี้นะ ครับๆ ห้ามไปตรงโน้น ห้ามไปตรงนี้ ก็ครับๆ แล้วเราก็ไป (หัวเราะ) ห้ามฟังวิทยุ ตอนกลางคืนจะมีวิทยุเครื่องเล็กๆ พวกทรานซิสเตอร์ เราก็จะแอบเปิด แล้วก็นอนฟังของเราไป แล้วเราก็จะฝันร้ายน่ะ เพราะเราจะชอบฟังละครวิทยุของคณะกันตนา พวก ระฆังผี ตุ๊กแกผี อะไรพวกนี้"

ถ้าจะมีสิ่งใดที่ทำให้เด็กผู้ชายวัยหลักหน่วยคนหนึ่งซึ่งอยู่ในสถานะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเดินพลัดหลงไปในทางไม่ดีกลายเป็นคนที่ไม่ข้องแว้งกับเรื่องผิดบาป สิ่งนั่นก็คงจะต้องมีพลานุภาพที่สูงพอ

และสุชาติก็มาสำนึกรู้ในวันที่เขาไม่ได้ใช้คำนำหน้าว่าเด็กชายแล้วว่า นั่นเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเรียกกันว่า 'ธรรมะ'

"มันคงจะเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมน่ะ คงไม่ใช่เฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันคงจะมีทั้งหนังสือ สั่งสมจากการดูทีวี เพราะมันจะมีละครทีวีอย่างเรื่อง ปลาบู่ทอง หุ่นไล่กา พิภพมัจจุราช อะไรแบบนี้ ละครที่สร้างสรรค์สังคมแบบนี้ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้วไง หรือมีมันก็ไมได้รับความนิยมเหมือนกับละครที่ตบจูบๆ ข่มขืนอะไรพวกนั้น

"มีอยู่ช่วงหนึ่งที่แม่พาไปวัด แม่จะพาไปใส่บาตรตอนเช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันเสาร์, อาทิตย์ ท่านจะพาไปใส่บาตรที่เสาชิงช้า แล้วก็ไปไหว้พระที่โบสถ์พราหมณ์ แล้วก็ข้ามไปไหว้ที่วัดสุทัศน์ แล้วก็จะพาไปวัดพระแก้ว พอเราโตขึ้นมาหน่อย ตอนประมาณสักป. 3 ป. 4 ก็มาเองแล้ว เราจะชอบไปวัดพระแก้ว จะเดินดูภาพไปเรื่อยๆ แล้วก็จะไปวัดโพธิ์ เราก็จะมาไหว้พระ แล้วก็เดินดูพระ ดูไม่รู้เรื่องหรอก แต่เราชอบดู แล้วก็ดูภาพวาดที่ฝาผนังวัดพระแก้ว เราจะดูว่ามันเล่าอย่างไร แล้วภาพมันเยอะไปหมดเลยไง แล้วเราก็จับไม่ถูก เราก็พยายามหาว่า ภาพที่หนึ่งอยู่ตรงไหน เดี๋ยวนี้ยังหาไม่เจอเลยนะ(หัวเราะ)"

หนึ่งวีรบุรุษที่เป็นสะพานเชื่อมให้สุชาติเดินเข้าไปในวัดก็คือ 'หนุมาน'ทหารเอกตัวสำคัญของพระรามจากวรรณคดีเรื่อง 'รามเกียรติ์' นั่นเอง

"เราฟังเรื่องรามเกียรติ์ เราก็อยากเป็นหนุมาน เพราะหนุมานเก่ง เป็นฮีโร่ จริงๆ แล้วเราไม่รู้หรอกว่านั่นคือศิลปะ เรารู้ว่าเราจะไปดูหนุมาน เพราะทุกๆ รูปที่เราดู เราก็จะพยายามมองหาว่าหนุมานอยู่ตรงไหน(หัวเราะ) คิดว่าเด็กทุกคนคงจะชอบหนุมานนะ"

เสียงเพลง All For The Love of A Girl ของ Johnny Horton จากแผ่นไวนิลล่องลอยอยู่ในบ้าน บางวันก็มีเสียงเพลง Always on My Mind ของ Brenda Lee หรือ Who's Sorry Now? ของ Connie Francis ดังขึ้นมา บทเพลงที่คุณพ่อนักวิศวกรเปิดฟังซึมแทรกเข้าในโสตประสาทของลูกชายวันแล้ววันเล่า

นอกจากเพลงฝรั่งเหล่านั้นยังมีเพลงลูกกรุง เพลงลูกทุ่ง จากวิทยุเครื่องเก่าที่คุณแม่ของแม่ใหม่นำมาเปิดตอนอยู่ในบ้านขับขานคลอไปกับคืนและวันที่ผ่านพ้น

"เราฟัง มันก็จะติดหูมาเรื่อยๆ เราร้องภาษาอังกฤษไม่ได้หรอก แต่เราจะจำทำนองได้ แต่เพลงที่ร้องได้แน่ๆ จะเป็นพวกเพลงลุกทุ่ง ลูกกรุง"

สุชาติค่อยๆ เบี่ยงความสนใจส่วนหนึ่งไปหาเสียงเพลง ในบางวันที่ไม่มีเพื่อนในละแวกบ้านร่วมวิ่งเล่น เขาจะปลีกวิเวกไปตะเบ็งเสียงร้องเพลงในโอ่งที่มีน้ำขังอยู่ในระดับตื้นๆ หรือไม่ก็ปีนขึ้นไปเปล่งเสียงครวญเพลงอยู่บนต้นไม้ใหญ่ เสียงสดใสของเด็กผู้ชายดังออกจากปากเล็กๆ แล้วก้องกังวานไปถึงหัวใจที่เต้นเร่าอยู่ในอกที่ไหวสะเทือน

ฤดูฝน

เมฆดำก่อตัวขึ้นในใจของแม่กับลูกชายที่นับวันจะเข้าใจในสิ่งที่พูดคุยสื่อสารกันได้น้อยเต็มที หลังจากที่สุชาติไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านคุณพ่อกับบ้านคุณแม่แท้ๆ ของเขาได้ระยะหนึ่ง ความไม่ลงรอยระหว่างเขากับแม่ก็ทำให้เขาขอแยกตัวออกมาอยู่หอพักตามลำพังในขณะที่เขามีอายุได้เพียง 15 ปีเท่านั้น

"ตอนนั้นคุณแม่ท่านแรงมาก ตอนที่เราโตขึ้นมาแล้ว เรารู้สึกว่าบางทีเราก็เข้าใจนะ เพราะท่านต้องทำงานเอง แล้วมีลูกสี่คน (คุณแม่ของสุชาติแต่งงานใหม่ แล้วมีลูกอีกสองคน) เพราะฉะนั้นท่านจะค่อนข้างจะเครียด แล้วก็เจ้าระเบียบ ไม่ได้บอกว่าผู้ใหญ่จะต้องเข้าใจเด็กทุกอย่างนะ แต่เด็กมีศักยภาพในการที่จะเข้าใจ ผู้ใหญ่ค่อนข้างจำกัดมากกว่า ส่วนผู้ใหญ่ผ่านประสบการณ์การเป็นเด็กมาก่อน เขาต้องพยายามทำอย่างไร ที่จะเข้าใจว่า คนในวัยที่เด็กกว่ามีความคิดอย่างไร แต่คุณแม่จะไม่เข้าใจ

"ตอนแรกเราก็ว่าเราผิดปกตินะ แต่พอเรามองกลับไป กับตัวเองก็มีปัญหาเรื่องเข้ากันกับแม่ไมได้ น้องก็มีปัญหา ทุกคนมีปัญหาหมดเลย แต่เราก็ไม่ได้สรุปว่าแม่มีปัญหานะ (หัวเราะร่วน) แต่ทุกคนมีปัญหาหมด"

สำหรับเด็กวัยรุ่นที่ไม่มีครอบครัวเป็นเบาะรองยามหกล้ม การออกมาอยู่คนเดียวอาจทำให้เขาเดินตกหลุมอบายมุข แต่ตาข่ายผืนใหญ่ที่ดักรับสุชาติเอาไว้ในตอนนั้นคือ 'มนต์ของเสียงเพลง' ที่เขาหลงใหลมาตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว

สุชาติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชมรมประสานเสียงอาสานอกหลักสูตร สำนักงานส่งเสริมเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งกลายมาเป็น 'โรงเรียนสอนร้องเพลง' แห่งแรกในชีวิตของเขาในเวลาต่อมา

"ผมได้รับการฝึกหูที่เขาเรียกว่า Formal Training ฝึกเป็นเรื่องเป็นราวเลย ตอนนั้นคุณปัญญา ประดิษฐ์ธรรม เป็นผู้ฝึกสอน คนที่แต่งเพลงใจรักนี่แหล่ะ เราเรียกแกว่า พี่น้อย พี่น้อยเป็นเหมือนหัวหน้าเด็กน่ะ เป็นผู้นำเด็ก ตอนนั้นพี่น้อยเขาเรียนจบแล้ว อายุประมาณยี่สิบกว่าๆ แล้ว"

เสียงเพลงคอยโอบอุ้มให้สุชาติไม่พลัดเดินไปบนเส้นทางที่ร้ายเลว เขาอยู่ในวงกับเพื่อนๆที่ชมรมประสานเสียง ออกงานไปร้องเพลงบ้างตามวาระโอกาส จนถึงวันที่เขาเคลื่อนชั้นสู่มหาวิทยาลัย จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชื่อ 'สุชาติ ชวางกูร' กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็เกิดขึ้น

ช่วงนั้นสุชาติเป็นหนึ่งในสมาชิกของวงดนตรีลูกทุ่งสุโขทัย ส่วนภาคการศึกษานั้นอยู่ในสังกัดของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากที่เคยผิดหวังจากการเรียนในคณะบัญชีที่มหาวิทยาลัยเดียวกันจนต้องโอนย้ายไปศึกษาด้านการเมืองการปกครองตามรุ่นพี่ที่อยู่ในวงดนตรีเดียวกัน

อาจเป็นเพราะน้ำเสียงอันอบอุ่นและทรงพลัง ที่ทำให้เพื่อนๆ และรุ่นพี่ทั้งที่อยู่ในวงดนตรีลูกทุ่งสุโขทัยและวงดนตรีของมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือ RU. Band พร้อมใจผลักดันให้สุชาติเข้าประกวดในรายการยิ่งใหญ่ระดับประเทศอย่าง การกระกวดนักร้องสมัครเล่นยอดเยี่ยมแห่งราชอาณาจักรไทย (Thailand Amateur Singing Contest) ที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นโต้โผ

วันรับสมัครคึกคักเนืองแน่นไปด้วยผู้คนกว่าเจ็ดร้อยคน สุชาติเดินทางไปสถานีของช่อง 3 ตามลำพัง ก่อนจะกรอกใบสมัคร เช็คประวัติ และเข้าสู่กระบวนการประกวดตามลำดับ

สามรอบการประกวดผ่านพ้นไป สุชาติทำหน้าที่ของตัวเองบนเวทีได้ดีจนหลายคนยกให้เขาเป็นหนึ่งในตัวเก็งที่จะได้รางวัล ในที่สุด วันชิงชนะเลิศก็มาถึง เพื่อนๆ และรุ่นพี่ทั้งจากวงดนตรีลูกทุ่งสุโขทัยและ RU. Band ร่วมเดินทางไปให้กำลังใจสุชาติถึงห้องส่งที่หนองแขม แม้หลายคนจะเชื่อมั่นในพลังเสียง แต่ในใจลึกๆ ของสุชาติกลับไม่ได้คาดหวังถึงระดับที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศมาครอบครอง เพราะเขาตระหนักถึงผลการประกวดในอดีตทั้งห้าครั้งเป็นอย่างดี

"คนได้รางวัลนี้เป็นผู้หญิงล้วน ตั้งแต่คุณเกวลิน บุญศิริธรรม, คุณแสงจันทร์ กาญจนนินทุ คุณนันทิดา แก้วบัวสาย คุณจุฑารักษ์ สมานกล ปีที่ห้าก็เป็นคุณมณีนุช เสมรสุต

"ตามหลักสถิติแล้ว ไม่เคยมีผู้ชายได้เลย ทุกปีคนที่หนึ่งเป็นผู้หญิงหมด คนที่สองบางปีก็เป็นผู้ชาย มีอยู่สามปีที่เป็นผู้ชาย สองปีเป็นผู้หญิง เราก็เลยคิดว่า คงจะที่สองก็ได้ ไม่เป็นไร แต่พอถึงเวลาเข้าประกวดจริงๆ พอถึงรอบสุดท้ายปุ๊บ เขาบอกว่าทางฮ่องกงเปลี่ยนกฎ เขาไม่เอาสองคนแล้ว เขาเอาคนเดียว ก็เลยเหลือคนที่เป็นที่หนึ่งเท่านั้นถึงจะได้ไป(ไปประกวด Asia Amateur Singing Contest (AASC) )เราก็คิดจากหลักสถิติมันไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เราก็ไม่ได้หมดกำลังใจ เราก็ทำให้ดีที่สุด ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วน่ะ"

แม้ความหวังอันสูงสุดจะริบหรี่ แต่สุชาติก็นำเพลง Without Love ของ Tom Jones ขึ้นไปครวญบนเวทีจนคณะกรรมการและผู้ชมต้องทึ่งตะลึงไปกับน้ำเสียงทุ้มนุ่มของเขา สิ้นสุดการแข่งขัน สุชาติก็คว้ารางวัลนักร้องสมัครเล่นยอดเยี่ยมแห่งราชอาณาจักรไทยมาครองได้สำเร็จ

ตำแหน่งดังกล่าวทำให้สุชาติได้เซ็นสัญญากับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ถึงแม้ว่า Music Square รายการเพลงที่วางตัวแชมป์จากโครงการนี้ให้เป็นพิธีกรและนักร้องประจำจะต้องยุติในปีที่เขาก้าวขึ้นรับตำแหน่งพอดี แต่สุชาติก็มีโอกาสได้เรียนการแสดงอย่างละเอียดลออทุกขั้นตอน ตั้งแต่ แอคติ้ง เต้นรำ ไปจนถึงการแต่งหน้าในทุกรูปแบบ

และในคลาสเรียนนั้นเอง ที่กลายเป็นทางเชื่อมให้เขาได้มีอัลบั้มเป็นของตัวเองในกาลต่อมา

"มีอยู่รุ่นหนึ่ง พี่นิ (ชุติมา เสวิกุล หรือที่รู้จักกันในนามปากกา นิลุบล นวเรศ ) ภรรยาของคุณประภัสสร เสวิกุล มาเรียนกับเรา ก็เลยกลายเป็นหัวหน้าเด็ก(หัวเราะ) ตอนนั้นเราก็จะไปกองอยู่ที่บ้านพี่นิ ตอนนั้นบ้านพี่นิอยู่ใกล้หนองแขม แล้วคุณประภัสสรกับพี่นิ เพิ่งย้ายมาจากเยอรมัน ตอนเย็นๆ เด็กๆก็จะไปกองอยู่ที่บ้านพี่เขา กินข้าวกินปลาแล้วก็แยกย้ายกันไป บางทีก็ไปเที่ยวกัน หรือเราจะนัดไปเที่ยวน้ำตกกัน ก็จะไปกองอยู่ที่บ้านพี่นินี่แหละ

"พอหมดสัญญา พี่นิกับคุณประภัสสรที่อยู่ในสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีคุณวินัย รุ่งอนันต์อยู่ด้วย ตอนนั้นคุณวินัยเป็นพีอาร์ของ EMI(Electric & Musical Industries Ltd) พี่นิกับคุณประภัสสรก็แนะนำให้ผมรู้จักกับคุณวินัย คุณวินัยก็ชวนไปเซ็นสัญญากับ EMI จนได้ออกอัลบั้ม"

'สายธาร' คือ อัลบั้มชุดแรกของสุชาติที่วางแผงในปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเพลงเปิดอัลบั้มอย่าง สายธาร ก็ดังเปรี้ยงปร้างทันทีที่นักจัดรายการวิทยุนำเพลงของเขาไปออกอากาศ ถัดจากนั้นไม่นาน เพลงภวังค์รัก ดวงฤดี ด้วยรัก คืนนี้มีเพียงดาว ก็เป็นที่รู้จักและชื่นชอบไล่เรียงกันไป

"มาปิดท้ายด้วยเพลงใจรัก ซึ่งเพลงใจรักอยู่หน้าหนึ่ง แต่เป็นเพลงสุดท้าย เพลงที่หก เขาก็ไม่ได้จัดเป็นคิวโปรโมท แต่มันดังไล่กันมาเอง พวกดีเจสมัยก่อนเขาจะมีส่วนที่รับโปรโมทให้กับบริษัทนู้นบริษัทนี้ แต่ก็ยังมีส่วนนึงที่ยังเป็นอิสระอยู่ เราบอกให้เขาโปรโมทเพลงนี้เขาก็จะช่วยโปรโมทเพลงนี้ให้ แต่ว่าเขาก็จะเอาเพลงของเราไปฟังทั้งอัลบั้ม แล้วถ้าเขาชอบเพลงนี้ เขาก็เปิดของเขาเอง มันก็เลยทำให้เพลงนี้ติดขึ้นไปเอง โดยที่ไม่ได้อยู่ในคิวโปรโมท"

ชีวิตของนักร้องหนุ่มอดีตสมาชิกวงดนตรีลูกทุ่งสุโขทัยสดใสขึ้นในพริบตา เขาออกอัลบั้มเพลงมาอีก 15 ชุด ซึ่งก็ยังได้รับความนิยมอย่างดีมาโดยตลอด อีกทั้งยังมีโอกาสได้แสดงภาพยนตร์อีก 4 เรื่อง (ขอแค่คิดถึง กำกับการแสดงโดย หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย, ดั่งเม็ดทราย กำกับการแสดงโดย สรวงสุดา ชลลัมพี, พิศวาส กำกับการแสดงโดย สรวงสุดา ชลลัมภีร์ และ ยิ้ม กำกับการแสดงโดย ฉลอง ภักดีวิจิตร) รวมไปถึงการเป็นพิธีกรรายการต่างๆ อีกจำนวนหนึ่งด้วย

ในที่สุดหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ ซึ่งมีผลงานในวงการบันเทิงจนทำเงินให้เขาอย่างมหาศาล ก็ศึกษาจนจบปริญญาในสาขารัฐศาสตร์ ในวัย 24 ปี เขามีทั้งบ้าน รถยนต์ และเงินฝากในธนาคารก้อนใหญ่ เมื่อเหลียวไปมองเพื่อนร่วมรุ่นที่จบมาพร้อมกัน หลายคนเพิ่งจะเริ่มตั้งหลักให้กับหน้าที่การงาน บางคนยังไม่ได้รับกระทั่งเงินเดือนก้อนแรก

แม้ชีวิตด้านการเงินจะหยั่งรากมั่นคง แต่สุชาติกลับรู้สึกว่า เขาต้องการจะเติมชีวิตอีกด้านที่พร่องหายไปให้เต็ม


                           โปรดติดตามอ่านตอนจบ
กำลังโหลดความคิดเห็น