xs
xsm
sm
md
lg

ทาง '5 แพร่ง' ของหนังผี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย วรวิช ทรัพย์ทวีแสง

ไม่มีกฎกติกาอะไรกำหนดเอาไว้ว่า ‘หนังผี’ ต้องทำให้ผู้ชมขนลุกขนพองสยองเกล้า แต่อย่างน้อยผู้ชมที่ตั้งใจมาชมหนังที่ตนเองเรียกได้เต็มปากว่า ‘หนังผี’ ก็ย่อมมีความคาดหวังอยู่ลึกๆที่จะได้รับความหลอนติดตากลับไปบ้าง

‘5 แพร่ง’ (Phobia 2) ก็เข้าข่ายหนังผีดังกล่าวเช่นกัน แต่ที่ต่างออกไปคือตัวหนังให้อารมณ์หลากหลายจึงสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชมได้หลากหลาย อาจเป็นเพราะความได้เปรียบตรงที่แบ่งเป็นเรื่องสั้นย่อยๆถึง 5 เรื่องด้วยกัน มันก็ต้องมีสักเรื่องที่ผู้ชมจะชื่นชอบไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ซึ่งเหตุผลของความชอบที่น่าจะมีน้อยที่สุด นั่นก็คือ ‘ชอบเพราะความน่ากลัวของ 5 แพร่ง’ ดูท่าแล้วชื่อภาษาอังกฤษของหนังเรื่องนี้ที่แปลว่า ‘ความหวาดกลัว’ จะไปด้วยกันไม่ได้กับอารมณ์หนังที่ออกมาเลย

ผิดกับ ‘4 แพร่ง’ ที่ขายความน่ากลัวสมชื่อ ในส่วนที่เป็นอารมณ์สนุกสนานขบขันอื่นๆซึ่งใส่มา ก็เป็นส่วนเสริมให้ผู้ชมได้ผ่อนคลายความกลัวลงบ้าง มันจึงกลายเป็นความลงตัวจนทำให้หนังประสบความสำเร็จอย่างไม่มีใครคาดคิด

หลาวชะโอน
งานของปวีณ ภูริจิตปัญญา เจ้าของ ‘ยันต์สั่งตาย’ ใน ‘4 แพร่ง’ พาผู้ชมไปนั่งอยู่บนรถที่ประสบอุบัติเหตุในจังหวะภาพสโลโมชั่นถือเป็นการเปิดเรื่องด้วยภาพที่ดึงความสนใจผู้ชมได้ดี สิ่งที่หนังเรื่องนี้จะบอกกับผู้ชมนั้นก็บอกอย่างตรงไปตรงมา และย้ำซ้ำอยู่หลายครั้งหลายคราจากบทสนทนาของพระสงฆ์กับเณร โดยเนื้อเรื่องเป็นความจริงของชีวิตและสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ ตัวเรื่องเอื้อให้ตัวละครมีมิติ สามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้ผู้ชมเข้าถึงและคล้อยตามได้ ผู้ชมอิ่มอารมณ์กับเรื่องนี้ได้พอสมควรกับการเป็นหนังในลำดับที่หนึ่ง


ในด้านการสร้าง หนังขาดความต่อเนื่องของภาพโดยเฉพาะตอนที่เณรเดินกลับกุฏิ ทำให้อารมณ์สะดุดแต่ก็ไม่ร้ายแรงจนถึงขั้นเสียอรรถรส หากตัดฉากสุดท้าย(ฉากกลายร่างตอนที่กล้องแทนสายตาเณร)ที่เป็นส่วนเกินของหนังออกแล้วนำเวลาตรงนั้นมาใช้ในส่วนที่ขาดหายไป จะทำให้อารมณ์ของหนังไหลลื่นยิ่งขึ้น เพราะการแสดงของนักแสดงแต่ละคนในเรื่องนี้ผ่านทุกคน

ห้องเตียงรวม
เดิมทีผู้กำกับฯ ยงยุทธ ทองกองทุน ถูกวางตัวไว้ให้เป็นหนึ่งในผู้กำกับฯของ ‘5 แพร่ง’ แต่เพราะประสบอุบัติเหตุ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ในฐานะหนึ่งในผู้บริหารจีทีเอชจึงลองทำหน้าที่ผู้กำกับฯเองสักครั้งในชีวิต


ต้องยกความดีความชอบให้กับ ‘หลาวชะโอน’ ที่ทำให้ผู้ชมตั้งตารอเรื่องต่อไปด้วยใจจดจ่อ และหวังว่าเรื่องแรกคงเป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น แล้ว ‘ห้องเตียงรวม’ ก็เปิดเรื่องได้เจ็บแสบ เสียดสีแว๊นบอยและสก๊อยเกิร์ลด้วยเสียงประกอบกับล้อที่วิ่งแข่งกันทำให้นึกไปถึงภาพชินตาที่อยู่บนถนนแถวบ้านผู้ชมในประเทศนี้ได้ง่ายๆ และขณะเดียวกันก็เป็นการปูเรื่องของตัวละครโดยไม่ต้องเล่าอะไรเพิ่มเติมให้ยุ่งยากอีกเลยถือเป็นความฉลาดอย่างหนึ่งในฉากนี้

หนังเรื่องนี้อาศัยประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ชมมากเกินไป ในการสร้างความน่ากลัวให้กับตัวผู้ชมเอง เพราะถ้าผู้ชมไม่มีประสบการณ์ร่วมในโรงพยาบาลอย่างตัวละครเด็กแว๊นคนนี้แล้ว เรื่องนี้ก็ไม่อาจสร้างความขนลุกขนพองให้กับผู้ชมได้เลย นอกจากทำให้สะดุ้งสะเทือนด้วยเทคนิคการตัดภาพและเสียงประกอบที่ดังกว่าปกติเพื่อให้ผู้ชมตกใจ ที่รู้จักกันในนาม ‘ผีตุ๊งแฉ่’ สุดท้ายแล้วหนังก็ละเลยการเล่าถึงครอบครัวของเด็กแว๊นที่จะมารับ ปล่อยให้จบแบบห้วนๆตามที่ใจต้องการซึ่งทำให้หลุดไปจากเรื่องที่เล่าตอนต้น

ส่วนในเรื่องการสร้างดูจะเป็นเรื่องที่ทำได้แนบเนียนที่สุด ภาพไม่สะดุดมีความต่อเนื่องถือได้ว่าวิสูตร เป็นผู้กำกับฯหน้าใหม่ฝีมือไม่ได้ขี้เหร่

Backpacker
งานของทรงยศ สุขมากอนันต์ เจ้าของ ‘เด็กหอ’ ที่คันไม้คันมืออยากทดลองทำผีไทยให้แตกต่างออกไปจากเดิม แต่ไม่ได้แตกต่างออกไปจากผีที่นักดูหนังเคยรู้จัก คาดว่าทรงยศน่าได้รับอิทธิพลผีความเร็วสูงมาจากหนังเรื่อง ‘28 Days Later’ ของผู้กำกับฯ แดนนี่ บอยด์ การที่หนังเรื่องนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษเพียงเรื่องเดียวก็อาจจะเป็นการบอกใบ้ถึงความแตกต่างของแนวคิดเรื่องผีก็เป็นได้


การทดลองสุดท้ายแล้วผลที่ได้อาจจะได้ค้นพบสิ่งใหม่ที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิมหรืออาจจะล้มเหลวไม่เป็นท่าเลยก็ได้ นี่เป็นข้อดีของหนังที่แบ่งซอยเป็นหนัง 5 เรื่องอย่าง ‘5 แพร่ง’ เพราะหากผลออกมาเป็นลบก็ไม่ทำให้นายทุนเจ็บตัวมาก

ปัญหาของเรื่องนี้คือความเชื่อของผู้ชม ผู้ชมคนไทยยังเชื่อในผีที่เป็นวิญญาณหลอกหลอนมากกว่า แม้ว่าที่ไปที่มาของวิญญาณเหล่านั้นจะขาดเหตุผลที่มาที่ไปอย่างไร ผู้ชมคนไทยก็ยังเชื่อ อย่างน้อยที่สุดก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่เมื่อทรงยศต้องการสร้างผีที่แตกต่างออกไปจากความเชื่อของคนไทย แต่กลับไม่ให้เหตุผลรับรองที่มาที่ไปของมันเลย ทั้งยังมีความบกพร่องในเรื่องของความสั้นยาวของระยะเวลาภายในเรื่องที่ไม่สมจริง เพียงเพื่อจะดึงเวลาให้รองรับกับฉากจบในเวลาเช้าซึ่งตั้งใจให้ผู้ชมตีความ ผลที่ได้จึงล้มเหลวไม่เป็นท่า

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชมคนไทยจะไม่เปิดรับผีรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม เพียงแต่ผีวิญญาณได้ซึมลึกอยู่ในวัฒนธรรมของเรามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ผีแนวใหม่ที่จะเข้ามาจึงต้องอาศัยความสามารถของผู้สร้างหนังอย่างมาก ต้องรัดกุมและสมเหตุสมผลกว่าผีเดิมๆเป็นเท่าตัว จึงจะเข้ามาสิงในใจผู้ชมคนไทยได้

รถมือสอง
งานของ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ เจ้าของ ‘Last Flight’ ใน ‘4 แพร่ง’ สร้างความผิดหวังให้กับผู้ชมที่ขนลุกกับ ‘Last Flight’ เป็นอย่างมาก สิ่งที่หนังเรื่องนี้ขายมันเกือบจะเป็นการพาผู้ชมเดินเข้าไปในบ้านผีสิงของสวนสนุก เป็นผีที่ปราศจากน้ำหนักของเรื่องราว จุดมุ่งหมายของเรื่องอ่อนปวกเปียก จุดจบของเรื่องก็เหมือนกับการเดินออกจากประตูบ้านผีสิงโดยไม่ได้รับรู้เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับผีในบ้านผีสิงเลย แล้วเทคนิคผีตุ๊งแฉ่ก็ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ จนกลายเป็นความน่าเบื่อหน่าย


คนกอง
งานของ บรรจง ปิสัญธนะกูล เจ้าของ ‘คนกลาง’ ใน ‘4 แพร่ง’ กลับมาเรียกเสียงฮาเหมือนเดิม แม้จะตั้งใจฮากว่าเดิมแต่ก็ไม่ทำให้ฮาเพิ่มขึ้น


‘คนกอง’ เปิดเรื่องด้วยฉากการแสดงของมาช่าที่ต้องเทคใหม่ ในฉากนี้หนังบอกเป็นนัยๆอยู่แล้วว่าจะหนังเล่าด้วยน้ำเสียงเช่นไร หนังเรื่องนี้จะเล่าเรื่องโดยตัดความสมจริงออกไปตั้งแต่ต้นเรื่อง เปรียบได้กับดูโชว์ ‘แก๊งสามช่า’ (หม่ำ-เท่ง-โหน่ง) หากผู้ชมจะเรียกร้องความสมจริงในฉากต่อๆไปก็ถือว่าผู้ชมไปผิดทางจากความตั้งใจของผู้สร้าง ทั้งเรื่องจึงมีแต่ความบันเทิงให้กับผู้ชม หนังทำได้สำเร็จและไม่ขาดตกบกพร่อง

แต่หากผู้ชมไม่ดูด้วยสายตาเดียวกับที่ดูโชว์จากแก๊งสามช่าแล้ว หนังเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นหนังที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง เนื่องจากตั้งใจเล่นกับคนดูมากจนขาดความเป็นเหตุเป็นผลของหนังเอง คนทำหนังเรื่องนี่น่าผิดหวังเมื่อเทียบกับ ‘คนกลาง’ ที่ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมมาก หากเรียกว่าเป็น ‘คนทำหนัง’ แล้วทำออกมาได้เพียงแค่อารมณ์ตลกโปกฮาแบบไร้ที่ไปที่มาอย่างนี้ก็น่าผิดหวัง ซึ่งความฮาอาจจะเทียบเท่าหรือด้อยกว่าแก๊งสามช่าด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับเงินลงทุนไปมากกว่าหลายเท่าตัว จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สร้างงานชิ้นนี้จะต้องกลับไปพิสูจน์ตัวเองในฐานะ ‘คนทำหนัง’ เสียใหม่

อันที่จริงสังคมในยุคโพสต์โมเดิร์น หรือ ในยุคที่อะไรๆไม่ได้ยึดหลักการที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับที่ไม่มีกฎกติกามากำหนดว่า ‘หนัง’ หรือ ‘ภาพยนตร์’ จะต้องทำให้ผู้ชมเห็นถึงความสมจริงสมจัง และจะต้องมีความต่อเนื่องของภาพที่ไหลลื่นเหมือนอย่างในอดีตอีกแล้ว

ในยุคที่ความคิดความเห็น อารมณ์ความรู้สึก และความพอใจที่จะจ่ายเงินของผู้ชมแต่ละคนสามารถตัดสินว่า ‘อะไรเป็นหนัง’ หรือ ‘อะไรไม่เป็นหนัง’ ได้เช่นเดียวกับหลักการทฤษฎีทางภาพยนตร์ซึ่งใช้ตัดสินความเป็นหนังหรือไม่เป็นหนัง สุดท้ายมันก็อยู่ที่จิตวิญญาณของผู้ที่เรียกตัวเองว่า ‘คนทำหนัง’ นั่นเองที่กำหนดได้ว่า หนังในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
คนกอง, ห้องเตียงรวม, รถมือสอง, หลาวชะโอน, Backpacker
ทรงยศ สุขมากอนันต์, บรรจง ปิสัญธนะกูล, วิสูตร พูลวรลักษณ์, ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ, ปวีณ ภูริจิตปัญญา
กำลังโหลดความคิดเห็น