Music
"ดูตำราตั้งตีห้า ตีหก มันก็ยังสอบตก เป็นเพราะเหตุอันใด"
วรรคทองของเพลงสอบตกที่สร้างทั้งรอยยิ้มและความสนุกสนานเพลิดเพลินให้กับเด็กนักเรียนขาสั้นส่งให้ ดิ อินโนเซนท์กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อัลบั้มชุดที่สามซึ่งมีเพลงสอบตกได้สมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามาอีกสองคน คือ 'เกรียงศักดิ์ จงธีระธรรม' กับ 'ปฏิภาณ สุขสุทธิ' โดยรายแรกรับหน้าที่ตีกลองสร้างจังหวะ ส่วนรายหลังมาดีดกีตาร์เพิ่มสุ่มเสียงให้กับบทเพลง ซึ่งเพลงสอบตกอันโด่งดังก็มาจากปลายปากกาของปฏิภาณนั่นเอง
ชื่อเสียงที่เคลื่อนย้ายสู่เมืองกรุงของดิ อินโนเซนท์ ทำให้พวกเขาต้องเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร ณ เวลานั้น สิทธิศักดิ์ซึ่งรับหน้าที่เล่นเบสให้กับวงไม่สามารถจะเดินทางตามสมาชิกคนอื่นๆ มาที่กรุงเทพฯ ได้ ดิ อินโนเซนท์จึงต้องมองหานักดนตรีคนใหม่เข้ามาเสริมทัพ
ท่ามกลางเสียงคึกคักของคีย์บอร์ดที่ดังอยู่ในคาเฟ่แห่งหนึ่งภายในซอยนานา นักดนตรีหนุ่มผู้ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงกับลูกค้าอยู่ใต้แสงไฟได้รับความสนใจจากสมาชิกดิ อินโนเซนท์ มากเป็นพิเศษ หลังจบการแสดง ผู้จัดการวงเดินเข้าไปทาบทามเขา โดยมีข้อเสนอแรกคือการเข้ามาเล่นคีย์บอร์ดให้กับวง
แต่หลังจากที่หนุ่มน้อยนักดนตรีคนนั้นตอบตกลง เขากลับถูกเสนอให้ไปจับกีตาร์เบสแทน
เด็กหนุ่มวัยเพิ่งทำบัตรประชาชนซึ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของดิ อินโนเซนท์คนนั้นคือ 'เสนีย์ ฉัตรวิชัย' ผู้ซึ่งเอ่ยปากบอกใครต่อใครว่า วงป็อบร็อกที่เขาเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกวงนี้ ทำให้เขาเล่นเบสเป็น
"ผมเป็นคนเล่นเปียโน เลนอิเล็คโทนมาตั้งแต่เด็ก พอมาเข้าวงเขาบอกจะให้ผมมาเล่นคีย์บอร์ดแล้วให้พี่สันมาเล่นเบส แต่พอถึงเวลาจริงเขาไม่ยอม ก็เลยหัดเล่นเบสตอนนั้น ก็ถือว่าอินโนเซนท์เป็นวงที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยน ได้ทำงาน ได้เล่นเบสเป็น ได้หัดเขียนเพลงด้วย"
แต่จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของวง ก็เข้ามาต่อกับดิ อินโนเซนท์ ในจังหวะเวลาหลังจากที่เสนีย์ได้เข้ามาหัดเล่นเบสกับวงได้ไม่นาน
"พอมีเพลงสอบตกขึ้นมา ก็ทำให้คนรู้จักทั่วประเทศ" สายชลพูดถึงโมเมนต์ที่ดิ อินโนเซนท์กลายเป็นภาพตัวต่อที่ครบสมบูรณ์ "ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่า คนรู้จักเยอะแล้ว แต่ว่า เอ๊ะ แล้วเราจะไปอย่างไรกันต่อ ต่อจากชุดสอบตกเนี่ย ผมว่าพีรสันติก็ยังมึนๆ อยู่เหมือนกันนะ ซึ่งตอนนั้นน่ะ เราก็โชคดีที่ได้พี่โอมเข้ามา"
ในขณะนั้น 'โอม' หรือ 'ชาตรี คงสุวรรณ' กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการใช้ชีวิต แม้จะเล่นดนตรีประจำอยู่กับวงโฟร์ซิงเกิลส์และวงโรแมนติก แต่ความมั่นคงของงานที่รับผิดชอบก็น้อยนิดเสียจนชาตรีเกิดความคิดที่จะไปรับราชการ แต่ก่อนที่จะได้ตัดสินใจอะไรลงไป พีรสันติก็พุ่งตรงไปหาชาตรี ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของเขาที่โรงเรียนดรุณา ราชบุรี เพื่อขอให้มาช่วยเสริมความคมเข้มในท่วงทำนองของดิ อินโนเซนท์
"ผมรู้จักดิ อินโนเซนท์ เขาก็ดังแล้วนะ" ชาตรีเล่า "ก่อนผมเข้ามาเขาเป็นวงมีชื่อเสียงแล้ว ตอนนั้นผมยังอยู่ราชบุรีอยู่เลย ต้องบอกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นจริงๆ"
หลังจากที่ชาตรีเดินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดิ อินโนเซนท์ วงดนตรีป็อบใสๆ วงนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นวงป็อบร็อกที่มีไลน์กีตาร์หนักหน่วง หลายเพลงของดิ อินโนเซนท์รกเรื้อไปด้วยเสียงลีดกีตาร์แตกพร่าและเสียงซินธิไซเซอร์ซึ่งนับว่าใหม่มากสำหรับวงการเพลงไทยในสมัยนั้น
"แต่ละอัลบั้มของดิ อินโนเซนท์จะมีคาแรกเตอร์ของมันเอง อย่างชุดแรกๆ ผมก็ยังประมาณว่า เอ๊ะ เอายังไงดี เราเข้ามาทำเพลงกับวงนี้ ด้วยความที่ชอบเล่นกีตาร์ ก็เลยใส่กีตาร์เยอะแยะไปหมด พอชุดต่อมาเราก็เริ่มปรับแนวทางให้มีความบาลานซ์กันมากขึ้น ก็เป็นอย่างนี้มาเรื่อยๆ"
And Next Songs
สมาชิกของดิ อินโนเซนท์หมุนเวียนเปลี่ยนย้ายเข้าและออกตามเหตุปัจจัย แต่สี่ขุนพลที่ยืนหยัดทำงานเพลงในนามดิ อินโนเซนท์จนถึงอัลบั้มสุดท้าย ได้แก่ พีรสันติ จวบสมัย , สายชล ระดมกิจ , เสนีย์ ฉัตรวิชัย และ ชาตรี คงสุวรรณ
อัลบั้ม 'เพียงกระซิบ' ถือเป็นผลงานที่ยกระดับมาตรฐานของดิ อินโนเซนท์ไปอีกขั้น หลังจากนั้นวงดนตรีป็อบร็อกวงนี้ก็มีผลงานเปี่ยมคุณภาพออกมาอีกหลายชุด ไม่ว่าจะเป็น รักคืออะไร(พ.ศ. 2527), โลกใบเก่า(พ.ศ. 2528), ครั้งนี้ของพี่กับน้อง(พ.ศ. 2529) และสิบนาฬิกา (พ.ศ. 2532)
โดยไม่ได้ตั้งใจและกำหนดกฎเกณฑ์ในรูปแบบวิถีการลาจาก แต่อัลบั้มที่ตั้งชื่อตามเวลาที่ห้องอัดเปิดให้ใช้งาน กลายเป็นการปิดฉากแยกย้ายของสมาชิกทั้งสี่ไปตามวาระที่ต่างคนต่างตระหนักรู้
"ดิ อินโนเซนท์มีอายุการทำงานมานานนะครับ" ชาตรีเล่าถึงวันที่ต้องอำลา "ไม่ใช่เล่นดนตรีกันแป๊บๆ แล้วก็แยกย้าย แล้วจริงๆ ก็ก่อนหน้าอัลบั้มสิบนาฬิกาแล้วที่เราจะเริ่มมี Direction การทำงานที่เริ่มทำงานหลายๆ ด้านกันมากขึ้น โดยลักษณะของวง ไม่ได้เป็นวงที่อยู่ด้วยกันทุกวัน มันจะมีการทำงานเป็นระยะ แล้วจะมีเรื่องอื่นๆ ที่แตกแขนงกันออกไป
"ถ้านับเป็นช่วงเวลา ก่อนหน้าชุดสิบนาฬิกา วงการเพลงยังเป็นยุคเก่าอยู่ หมายความว่า โดยกลไกหรืออะไรต่างๆ ยังไม่ค่อยมีระบบกันมาก พอถึงชุดสิบนาฬิกา บริษัทเพลงเริ่มมีระบบกันมากขึ้น ชุดสิบนาฬิกาก็เหมือนเราทดลองทำงานที่มีระบบ ที่จับต้องได้ แต่ในระหว่างที่ทำ บางทีทุกคนก็ทำอย่างอื่นกันเยอะแล้ว ผมเองก็ทำงานกับทีมงานพี่เต๋อ(เรวัต พุทธินันทน์)เยอะขึ้นเรื่อยๆ มันก็เป็นความรู้สึกที่ไม่ได้ต้องล่ำลาอะไร แต่เหมือนว่าเราก็รู้สึกคล้ายๆ กัน อย่างผมกับพีรสันติเนี่ย ก็ อ่ะ ถ้าอย่างนั้น เสร็จชุดนี้ ผมก็อยากไปทำงานตรงนั้นจริงจังมากขึ้น งานอะไรก็ตาม พอเราทำเยอะมากขึ้น เราก็จะทำทุกอย่างไม่ไหว ในเวลานั้นมันก็จะเป็นความรู้สึกเหมือนเรารู้กันน่ะ ว่าถึงเวลาที่ต้องไปทำอย่างอื่นกันแล้ว"
ในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่กับวงมาตั้งแต่วันแรกถึงวันลา พีรสันติเผยความในใจว่า ดิ อินโนเซนท์คือการก้าวที่ไกลเกินกว่าจุดเริ่ม ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นที่เขาไม่เคยคิดที่จะทำเพลงเพื่อการค้าแม้แต่น้อย
"ตอนแรกต้องยอมรับว่าไม่ได้คิดว่าวงจะมาไกลถึงขนาดนี้นะครับ แต่หลังจากที่พอเริ่มอัลบั้มอยู่หอ เพียงกระซิบ และได้พี่โอมเข้ามาร่วมงานด้วย เราก็เริ่มมองเห็นว่า มันก็มีหนทางนะที่เราจะเดินไปทางนี้ เพราะหลังจากที่เราเลิก หลังจากที่เราต่างคนต่างทำงานเยอะๆ จริงๆ ทุกคนก็ไปทำงานห้องอัดอยู่ดี
"ก็เหมือนว่าวงดิ อินโนเซนท์เป็นการปูทางให้เรามีทุกวันนี้อย่างที่พี่โอมว่า เพราะหลังจากสิบนาฬิกา พี่โอมก็ไปทำงานกับพี่เต๋อที่แกรมมี่ ผมก็ยังทำอยู่นิธิทัศน์ ปื๊ด(เสนีย์ ฉัตรวิชัย)ก็ทำงานเยอะแยะหลายค่าย หนุ่มเสกอะไรต่างๆ สมัยนั้น สายชลก็ไปอยู่เบเกอร์รี่(ค่ายเลิฟอีสในปัจจุบัน) ผมเลยคิดว่า ถึงแม้ว่าวงจะหยุดไป แต่ทุกคนก็ยังทำงานจากประสบการณ์ที่เราได้มีร่วมกันที่ดิ อินโนเซนท์"
หลังจากได้รับเสียงทักถามถึงการกลับมารวมตัวเล่นคอนเสิร์ตของดิ อินโนเซนท์มากขึ้นเรื่อยๆ สมาชิกทั้งสี่ก็นัดมาหารือกันถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดคอนเสิร์ตเฉพาะกิจของพวกเขาอีกครั้ง
บรรยากาศในห้องซ้อมวันแรกหลังจากห่างกันไปนานยี่สิบปีคล้ายจะจุดไฟฝันในวัยเยาว์ให้โชนขึ้นมาอีกครั้ง พีรสันติเดินไปจับคีย์บอร์ดที่เปลี่ยนลักษณะไปตามยุคสมัย แล้วค่อยๆ ไล่นิ้วระไปตามคีย์ต่างๆ
"ผมนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ นะ ตอนกลับมาเจอกันพี่โอมเขาก็ชวนคุยกันก่อน เหมือนว่าเราต้องมาทวนกันด้วยว่า เราทำอะไรกันมาบ้าง แล้วเรากำลังจะทำอะไรต่อ"
เสนีย์ยังคงพกพาบุคลิกกวนๆ ตามแบบฉบับเด็กวัยรุ่นติดตัวเข้ามาในห้องซ้อม เขาเดินเข้าไปกดคีย์บอร์ดเล่นอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะฉวยเอาเบสคู่ใจมาตบสายระลึกความหลัง
"มันเป็นความรู้สึกที่หายไปนาน ยี่สิบปีที่เราไม่ได้เล่นด้วยกัน เพราะสมัยก่อน ดิ อินโนเซนท์เป็นวงที่เราซ้อมกันบ่อยมาก ซ้อมทุกวันครับ มันก็กลายเป็นความเคยชิน แต่พอหายไปยี่สิบปีแล้วกลับมาครั้งนี้ พอเจอกันวันแรกก็ตื่นเต้นเหมือนกัน เล่นผิด เล่นถูก เพราะไม่ได้จับมานาน แต่ก็ดีนะ เอาความรู้สึกเก่าๆ กลับมา แล้วพอรู้ว่าจะมีคอนเสิร์ตที่จะแสดงร่วมกัน ก็ทำให้ตั้งใจมากขึ้น เพราะเราต้องไม่ทำให้คนที่อยากดูเราผิดหวัง
สายชลเดินตรงไปหยิบกีตาร์ขึ้นมาคล้องไหล่ เขาจับคอร์ดแล้วตีไปมา เหมือนคนที่หิวกระหายเพลงซึ่งเคยคุ้นปากคุ้นมือ
"ถามว่าตื่นเต้นไหม ตื่นเต้นตั้งแต่ตอนที่พี่โอมบอกว่า คอนเสิร์ตมันต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ตอนนั้นก็ตื่นเต้นมากครับ แล้วมาวันแรก ก็งงๆ เหมือนกันนะ เอ๊ะ จะทำตัวยังไง(หัวเราะ) แต่ที่ดีใจที่สุดก็คือ การได้กลับมาเล่นกับพี่โอม"
ชาตรีสะพายกีตาร์เดินเข้ามายืนในตำแหน่งที่แหว่งวิ่นไป รูปภาพที่โหว่เว้าก็ครบสมบูรณ์ขึ้น เขาใช้นิ้วเกาสายกีตาร์แผ่วเบา ก่อนจะพูดถึงคอนเสิร์ตที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยเสียงทุ้มนุ่มว่า
"ผมไม่เคยมีมุมมองเลยว่า ดิ อินโนเซนท์เป็นวงซุปเปอร์สตาร์ เราก็เป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ทำงานอีกแบบ แล้วก็ชอบงานที่เราทำ ฉะนั้นตลอดเวลายี่สิบปีที่เราแยกย้าย ก็จะมีคนมากมายที่บอกว่า อยากจะดูคอนเสิร์ต ดิ อินโนเซนท์ ถ้ามีคอนเสิร์ตก็จะมาดูกัน สำหรับผม ครั้งนี้จะเป็นหนแรกที่ผมจะได้รู้ว่าแฟนเพลงของเราคือใครบ้าง"
หลังจากที่ทุกคนเข้าประจำตำแหน่ง ใครสักคนในห้องซ้อมก็ส่งเสียงนับถอยหลัง แล้วบทเพลงที่คุ้นเคยก็ถูกบรรเลงขึ้นอีกครั้ง ต่อเนื่องยาวนานเสมือนว่าเข็มนาฬิกาไม่เคยเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิมเลยแม้แต่องศาเดียว
........................................................
+ 'สิงห์ คอร์เปอเรชั่น รียูไนท์ส ดิ อินโนเซ้นท์ คอนเสิร์ต' โดย วง ดิ อินโนเซนท์ จะจัดขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ณ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี บัตรราคา 800/1,200/2,000/2,500 และ 3,500 บาท เริ่มจำหน่ายบัตรที่โทเทิล เรสเซอร์เวชั่น หรือจองบัตรทางอินเทอร์เน็ตได้ที่ www.totalreservation.com ตลอด 24 ชั่วโมง