xs
xsm
sm
md
lg

คลี่ม่านนางโชว์ : "เด ฟรีแมน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดชาวุฒิ ฉันทากะโร

คลิปโชว์เพลงปอบผีฟ้า

ผู้ชมละคร และภาพยนตร์ อาจจะคุ้นเคยและรู้จัก "เด ฟรีแมน"(เดชาวุฒิ ฉันทากะโร) หลังจากที่เห็นเธอร่วมแสดงอยู่ในละครโทรทัศน์ เรื่อง สะใภ้ไร้ศักดินา (2544 ) เจ้าสาวสองเงา (2545) และ เทพธิดาขนนก (2550) ทางช่อง 3 นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพยนตร์ไทย เช่น เป็นนักแสดงรับเชิญใน ว้ายบึ้ม ...เชียร์กระหึ่มโลก (พจน์ อานนท์), ช็อกโกแลต (ปรัชญา ปิ่นแก้ว)

แต่สำหรับนักเที่ยวกลุ่มเกย์นั้นรู้จัก "ป้าเด" คนนี้มานานหลายสิบปี ในฐานะ "นางโชว์"... ซึ่ง ณ วันนี้ ( ระหว่างวันที่ 28 – 30 สิงหาคม และ 4-5 กันยายน 2552 7 รอบการแสดง) ที่เธอจะกลับมาร้อยเรียงเรื่องราวเป็นกันเองแบบ Stand Up Comedy ที่จะเยาะความหรู อลังการของคาบาเรต์โชว์ โดยดำเนินเรื่องอย่างมิวสิคัล (อีกครั้ง) หลังจากที่เคยได้รับเสียงปรบมือล้นหลามกับการแสดงครั้งแรกมาแล้ว

อีกครั้ง แต่ไม่ซ้ำ (ตอนที่ 1)
"The Last Day Show: Will I Survive?" รีเทิร์นครั้งที่ 1 หนนี้ คำนึงถึง "มุก" มากที่สุด เนื่องจากบางมุก สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ควรนำมาเล่นซ้ำ เช่น มุกที่เอาเช็คช่วยชาติไปผ่าจิ๋มถือว่าเชย วันนี้ต้องเปลี่ยน!! ต้องหามุกใหม่มาใส่แทน

อีกประการหนึ่งครั้งที่แล้ว ป้าเด ไม่คิดว่า เต๋า - สมชาย เข็มกลัดจะขึ้นเวทีร่วมแจม ไม่เกี่ยงงอนที่จะมารับบทแค่เดินผ่านฉาก ไม่มีบทสนทนา บทฝ่ายชายทั้งหมดในคราวนั้นตกอยู่กับเจสัน ยัง ความโดดเด่นของโชว์ชุดนี้อยู่ที่การระดมผู้ชายสายพันธุ์พิเศษที่ทำงานในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น ไก่ วรายุฑ มิลินทจินดา, แจ๋ว ยุทธนา ล. พันธ์ไพบูลย์ และวสันต์ อุตมะโยธิน เข้ามาร่วมแจมในบทนางโชว์รุ่นป้าที่ไม่ยอมทิ้งลาย!! และทุกรอบจะมีดาราชายจากช่อง 3 มาเป็นแขกรับเชิญ

ตลอด 5 รอบของการแสดงในครั้งที่แล้วแค่รักษาโครงไว้ให้ได้ แต่รายละเอียดนั้นสามารถต่อเติมเสริมแต่งได้ ดังนั้น มุกในแต่ละรอบจึงไม่เหมือนกัน ความฮาที่ซุกซ่อนไว้ตลอดชั่วโมงการแสดงถือว่าคุ้มค่าบัตรแน่นอน

แต่ทั้งนี้ก็ต้องบอกเสียก่อนว่า โชว์ชุดนี้ไม่เหมาะสำหรับกะเทยชราภาพที่หายใจไม่ค่อยทัน หรือคนที่เป็นโรคหอบ ซึ่งอาจจะต้องแก้ปัญหาด้วยการหายใจทางปาก และพึ่งยาดม น้ำมันแปะฮวยอิ๊วเป็นครั้งคราว รวมถึงไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทางเพศ!!

ฉะนั้น ...พ่อแม่ไม่ต้องหนีบลูกมาชมด้วย เพราะแทนที่คุณจะได้ชมอย่างสนุกสนาน อาจจะต้องมานั่งตอบคำถามเด็ก ให้เป็นที่รำคาญของผู้ชมที่นั่งข้างๆ ...
...
"คราวที่แล้วเต๋าเข้ามายืน ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เราเองก็ไม่ได้แจ้งกับคนดู คนดูก็เอ๊ะ ไอ้นี่ใครวะ หน้าคุ้นๆ เราก็เลยต้องใส่มุกไปว่า คนนี้มันใช่คนที่มีเรื่องกับโกตาหรือเปล่า" เด ฟรีแมน บอกถึงการเข้ามาร่วมด้วยของหนุ่มเต๋า สมชาย

คนก็เลยรู้ว่าเป็นเต๋า ที่เราต้องเพิ่มในส่วนที่เป็นบทของเต๋า เพื่อให้คนที่เคยดูรอบที่แล้วและกลับมาดูใหม่ในหนนี้ว่า เต๋าจะมาทำอะไร แต่ไม่ใช่ภาคสองแน่นอน เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ใส่ใจในรายละเอียดในเรื่องการปรับบท และเปลี่ยนบางเพลงที่ไม่ใช่เพลงหลัก" ป้าเดกล่าว

"เต๋าแค่มาดูงานเราก็ดีใจแล้ว แต่นี่ขึ้นมาช่วยเรา งานกุศลใช่มั้ยครับ ผมไม่เอาค่าตัว ผมชอบ ผมทำได้จริงๆ นะ เราก็บอกไม่มีไดอะล็อกให้นะ มีแต่บทผู้ช่วยเจสัน ยัง แค่ถือไม้หน้าสาม เต๋าก็ยอมเล่นให้เรา"

โครงเรื่องมาจากเรื่องจริงผสมจินตนาการ...เมื่อ เด ฟรีแมน หรือ ป้าเด นางโชว์ระดับปรมาจารย์ (ในอดีต) กำลังถึงคราวตกอับ เพราะโรงละครเล็กๆ ของเธอที่เคยรุ่งเรืองและรุ่งโรจน์กำลังจะถูกแบงก์ยึด เพราะคนเลิกดูคาบาเรต์โชว์กันแล้ว!!

ผู้ชมต่างพากันเชิดใส่การแสดงประเภทลิปซิงก์ที่ใช้ปากงับตามเพลง หายนะจึงมาเยี่ยมเยียน เพราะไม่มีใครมองเห็นคุณค่า

โรงละครเล็กๆ ไม่ใหญ่โตป้าเดไม่เคยเสียดาย แต่เพราะความผูกพัน ทำให้ป้าเดต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ครั้งสุดท้ายเพื่อรักษาโรงละคร และปกป้องศักดิ์ศรีของนางโชว์รุ่นครู โดยการระดมนางโชว์รุ่นเก๋าที่เคยโด่งดังในอดีตให้กลับมาช่วยกอบกู้สถานการณ์ และเพื่อประกาศให้โลกรู้ว่า "ของจริงไม่มีวันตาย" ถึงแม้จะแก่ไปบ้างก็ตาม แต่ก็ขอสู้ตายถวายหัว!!

พล็อตเรื่องเป็นของเธอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแรงบันดาลใจในเหตุการณ์ที่เธอพานพบใน Freeman เพียงแต่นำโศกนาฏกรรมนั้นมาเล่าและผูกเรื่องให้ดูสนุกเท่านั้นเอง

ผ่านการแสดงเมื่อครั้งที่แล้ว หลายคนตั้งใจรอเพื่อซื้อ DVD เก็บไว้ชมเป็นที่ระลึก แต่เดบอกว่า
"การแสดงละครเวที บทพูดหรือมุกขำๆ บนเวที คือความสดใหม่ที่ DVD , VCD ให้ไม่ได้ นอกจากคุณจะมาเป็นส่วนหนึ่งของการชมเท่านั้น อีกประการหนึ่งคือ ติดปัญหาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลง"
...
ย้อนรอยชีวิตป้าเด
ก่อนหน้าที่เธอจะเข้ามาเล่นละครโทรทัศน์ เธอเคยร่วมแจมกับละครเวทีมาหลายเรื่องมาแล้ว เช่น "แม้เลือกเกิดได้" ซึ่งเขียนบท ช่วยกำกับ และออกแบบเสื้อผ้า โดย ภูพิสิฐ หอมธูปพรหม จัดแสดงเมื่อปี 2537 ณ หอประชุมเอยูเอ , เพลงรักดอกไม้บาน (วันกะโท่โล่) ปี 2544 เวทีนี้พาให้เธอได้มีโอกาสรู้จักกับนักแสดงรุ่นแม่ แอ๊ด - โฉมฉาย ฉัตรวิไล เป็นครั้งแรก , แก่น เซี้ยว เปรี้ยว ซ่า พวกเรากล้าหาญ ปี 2547 และ The Last Day Show: Will I Survive? ปี 2552 ถือเป็นละครเวทีเรื่องล่าสุดของเธอ

"เราเรียนรู้การแสดงจากแม่แอ๊ด โฉมฉาย , แม่แดง ฉันทนา กิติยพันธุ์ รวมถึงคนอื่นๆ อีกหลายท่านที่เรามีโอกาสได้ร่วมงานด้วย มันทำให้เรารู้ว่า นักแสดงรุ่นนี้มีความเป็นครู มีความน่าเลื่อมใส มีการปฏิบัติตัวดีในสังคม เขาสอนเราทุกอย่างแบบไม่ปิดบัง คำอธิบายของเขาทำให้ง่ายต่อการพัฒนาทางด้านการแสดงของเรา และทำให้เราได้มองมุมของละครที่เอาไปปรับใช้ในงานโชว์ของเราอีกด้วย"

มีผู้จัดละครหลายคนมาชมละครเวทีเพลงรักดอกไม้บาน เช่น ก้อย ทาริกา ธิดาทิตย์, ไก่ วรายุฑ มิลินทจินดา คราวหนึ่งไก่ วรายุธจัดงานเลี้ยงขอบคุณสื่อมวลชน และเรียกเธอไปโชว์ ... ครั้งนั้นเธอได้นำไดอะล็อกของศรราม เทพพิทักษ์ (ชายกลาง) และจอย รินลณี ศรีเพ็ญ (พจมาน สว่างวงศ์) จากละครเรื่อง บ้านทรายทอง มาโชว์เป็นงานตลก เรียกเสียงฮาจากผู้ชมและได้รับความสนใจจากกลุ่มสื่อมวลชนที่ไปทำข่าวในครั้งนั้น ต่อมาแม่แอ๊ด โฉมฉาย ได้แนะนำเธอให้รู้จักกับปิ่น ณัฐนันท์ ฉวีวงษ์ ตอนนั้นค่ายทีวีซีนกำลังจะเปิดละครเรื่อง สะใภ้ไร้ศักดินา

"กะเทยที่เราเห็นส่วนใหญ่ในละครนั้น ถ้าไม่ใช่คนบ้า ก็ต้องรับบทคนใช้ มันเหมือนกับเราโดนกด เราไม่ได้เรียกร้องบทวิเศษวิโสอะไรหรอก แต่ยอมรับเลยว่า พี่ปิ่นเป็นคนแรกที่ทำให้กะเทยดูเป็นผู้เป็นคนขึ้น ตัวละครที่เราได้รับ มันส่งผลให้ภาพรวมของกะเทยดูดี ใจดี แม้จะเป็นคนคุมหางเครื่องที่ปากจัด แต่เห็นคนตกทุกข์ได้ยากก็ช่วยเหลือทุกที จนมาถึงเจ้าสาวสองเงา, เทพธิดาขนนก ถือเป็นตัวละครในสังคมที่ไม่ได้จงใจกดให้มันผิดปกติ"

การที่กะเทยนางหนึ่งได้มีโอกาสทำอะไรหลายต่อหลายอย่าง เช่น ช่างผม, นางโชว์ , เล่นละครโทรทัศน์,ภาพยนตร์ และละครเวที, เขียนหนังสือ จนมาถึงการเป็นพิธีกร จึงนับว่าไม่ธรรมดา แล้วเธอมีเรื่องราวในชีวิตแต่หนหลังมาอย่างไร !!
...
ไม่เหมือนคนอื่นมาแต่เด็ก
แม่เล่าให้เธอฟังว่า สมัยที่ครูสอนให้เขียน ก. ไก่ เธอจะไม่ได้แค่ลากอักษรเท่านั้น หากแต่ต้องวาดแม่ไก่ตามแบบในโปสเตอร์อีกด้วย และถ้าไก่ตัวนั้นวาดไม่สำเร็จก็จะนั่งร้องไห้ หรือในสมัยที่เธอเริ่มรู้ความ เธอระบายสีผลมะม่วงเป็นสีม่วง โดยแย้งกับครูว่า ถ้าระบายสีอื่นๆ จะเรียกว่า มะม่วง ได้อย่างไร !? น่าจะเรียกว่า มะเหลือง มะเขียว มะแดง มากกว่า เมื่อโตและมองย้อนกลับไป ถึงรู้ว่า "เรามีความคิดไม่เหมือนคนอื่นมาตั้งแต่เด็ก"

นามสกุล "ฉันทากะโร" เพิ่งมาเปลี่ยนทีหลัง แต่เดิมสมัยเด็ก เธอ "แซ่ลิ้ม" นามสกุลนี้แต่เดิมเป็นฉายาของพ่อสมัยที่บวช เธอเห็นว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต จึงได้ทำการเปลี่ยนจากแซ่มาใช้นามสกุลนี้แทน

วันนี้ ... หลายคนเรียกเธอว่า "ป้า" เนื่องจากวัยของเธอในวันนี้ 44 ปีแล้ว ผ่านเรื่องราวในชีวิตมากมาย

เธอเกิดและโตในย่านฝั่งธนฯ ครอบครัวทางฝ่ายพ่อ หมายถึง อากงกับอาม่า (ปู่กับย่า) เดินทางมาจากเมืองจีน มีอาชีพชำแหละเป็ดไก่ขายส่งตลาดสด ครอบครัวทางฝ่ายแม่ เป็นคนไทย เธอเกิดและเติบโตภายใต้ความแตกต่างของวัฒนธรรม 2 เชื้อชาติ ชีวิตผันแปรไม่แน่นอน

ต่อมาพ่อซึ่งยังเป็นลูกคนต่างด้าวแพ้ความกรณีพิพาทเรื่องที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกับโรงพยาบาลธนบุรี ส่งผลให้ครอบครัวต้องเสียเงินว่าจ้างทนายสู้คดีความเป็นจำนวนมาก สุดท้าย...คู่ความชนะ บ้านของเธอถูกยึด นั่นทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ในครอบครัวเธอลำบากยิ่งขึ้น

แต่เดิม ... พ่อคิดว่าจะสืบทอดธุรกิจทางบ้านด้วยการรับเป็ดไก่ตัวเป็นๆ มาจากชานเมือง ย่านปทุมธานี, บางบัวทอง มาขังเล้าไว้ที่บ้าน กรรมวิธีต้มน้ำ เชือด ถอนขน ทำเลือดเป็ด เลือดไก่ใส่กะละมัง เป็นสิ่งที่เธอเห็นจนชินตามาแต่เด็ก เชือดแล้วก็เอาไปส่งขายที่ตลาดสด จนช่วงหนึ่งที่พ่อมีโอกาสบวช เรียนรู้หลักพระศาสนาในเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ กรรมดี กรรมชั่ว จิตใจซึ่งเคยแข็งกระด้างกลับอ่อนโยน

พ่อเห็นว่าอาชีพนี้ไปเบียดบังชีวิตด้วยการ "ฆ่า" ต้องเรียนรู้ที่จะ "พูดปด" ของค้างก็ต้องบอกว่าใหม่ และผู้ชำแหละเป็ด - ไก่จะมี "เทคนิคในการโกงน้ำหนัก" ด้วยการอัดน้ำ และเอาลูกยางบีบเข้าไปในหลอดลมเพื่อเพิ่มน้ำหนัก รายละเอียดเหล่านี้ทำให้พ่อไม่อยากดำเนินธุรกิจนี้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของอาๆ ดำเนินกันต่อไป

เมื่อจะทำธุรกิจอื่น พ่อซึ่งไม่มีความรู้ เรียนแค่ชั้น ป.2 จะไปทำอะไรได้ นอกจากเป็นกรรมกรก่อสร้าง ส่วนแม่ของเธอหาบขนมขาย ที่บ้านไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไร นอกจากวิทยุทรานซิสเตอร์เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น ขณะที่รายได้เท่าเดิม แต่สมาชิกภายในบ้านเติบโตขึ้นทุกวัน แม้ทางบ้านจะมีฐานะที่ฝืดเคือง แต่ก็ไม่อดอยาก เนื่องจากสามารถไปเอาไก่ เป็ดมารับประทานได้ตลอดเวลา

เธอเป็นพี่คนโตของน้องชายอีก 3 คน และน้องสาวอีก 1 คน จนเมื่อเธอเรียนอยู่ที่ชั้น ม.ศ. 4 โรงเรียนทวีธาภิเศก โรงเรียนชายล้วน อันดับ 1 ของฝั่งธนบุรี พ่อบอกว่า ปีนี้ถ้าน้องสอบเข้า ม.1 ได้ ต้องเลือกเอา เรียนได้แค่คนเดียว!! เธอตัดสินใจหยุดเรียน โดยไปลาออกกับครู แต่ครูไม่ให้ออก เธอทู่ซี้เรียนจนจบชั้น ม.ศ. 5 ขณะที่น้องก็เข้าเรียนชั้น ม.1 ตามปกติ

"ถ้าเราอยู่บ้าน เหตุการณ์แบบนี้ก็ต้องเกิดขึ้นมาอีก แต่ถ้าเราออกจากบ้านสักคน ค่าใช้จ่ายในบ้านก็จะลดน้อยลง มันไม่ใช่ว่าตัดช่องน้อยแต่พอตัวหรืออะไร อยู่กันแบบเตี้ยอุ้มค่อม มันไม่ไหว"

อาจารย์ที่สอนภาษาฝรั่งเศสแนะนำและฝากไปเป็นลูกจ้างหน้าร้านขายยา เงินเดือน 1,800 บาท เธอเริ่มคิดที่จะเบนชีวิตไปเรียนต่อทางสายวิชาชีพในหลักสูตรสั้นๆ เร่งรัด เพื่อสามารถนำมาประกอบอาชีพหารายได้ ใจจริงของเธอ ไม่ได้แตกต่างจากเกย์หรือกะเทยคนอื่นๆ ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นดีไซเนอร์, ช่างผม, ช่างแต่งหน้าชื่อดัง แต่เมื่อคำนวณค่าเล่าเรียนแล้วจัดว่าแพงมาก ขั้นต่ำต้องใช้เงินถึง 1 หมื่นบาทขึ้นไป ลำพังเงินเดือนแค่ 1,800 บาท คงต้องใช้เวลาในการเก็บนานโข ไม่นับค่ากินอยู่อีกต่างหาก

เธอโชคดีตรงที่เธอมีพ่อและแม่ที่ใจกว้าง ยอมรับในความเป็นเด็กผู้ชายผมเกรียน แต่เรียบร้อยกว่าเด็กผู้ชายทั่วๆ ไป..."ลูกจะเป็นอะไรก็เป็น อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน หมั่นไส้หรือรังเกียจก็แล้วกัน" พ่อสอนเธออย่างนั้น

เธอยอมรับว่า เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เกิด หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Born To Be แหวกกฎความเชื่อสารพัดทั้งมวลที่มีผู้สันทัดกรณีชอบวิเคราะห์ไว้

"บางคนบอกว่า บ้านมีแต่ผู้หญิง บ้านเรามีผู้หญิงแค่ 2 คน คือ แม่กับน้องสาว ส่วนเราเป็นลูกชายคนโต มีพ่อ และน้องชายอีก 3 คน สืบสายตระกูลขึ้นไปก็ไม่พบกะเทยอยู่ในสายพันธุ์, สมัยเรียนชั้นประถมมีฉันเป็นกะเทยเพียงคนเดียวเท่านั้น จนมาเรียนที่โรงเรียนทวีธาภิเศกรุ่นนั้น มีฉันกับเพื่อนอีก 1 คนที่เป็นกะเทยเหมือนกัน ,โทรทัศน์บ้านฉันก็ไม่มี แล้วจะเลียนแบบจากอะไร ใคร ที่ไหน นอกจากจะบอกว่า เป็นอย่างนี้ตั้งแต่จำความได้"

กะเทย 2 นางในรุ่นนั้น เคยสร้างวีรกรรมจากการเป็นนักศึกษาวิชาทหารมาแล้ว
"ตอนที่เรียนรด. มีแค่ 2 คนที่ยิงปืนผ่าน พอประกาศชื่อยืนขึ้นมา เป็นเราคนหนึ่งกับเพื่อนกะเทยอีกคน ฮามาก"

แม้จะถูกล้อเลียนบ้าง แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นปมด้อย !!
"พอเขาบอกว่า กะเทย เราไม่คิดว่ามันเป็นความผิด แปลก เพราะครูสอนให้เราเป็นเด็กเรียบร้อย ครูไม่ได้สอนให้เราแรด ทุกอย่างเราทำตามที่ครูสั่งสอนได้หมด คำว่ากะเทย ในความคิดเราคล้ายๆ กับคำล้อเลียนอย่าง ว้าย ... ฟันหลอ, ไอ้โย่ง, ไอ้ตัวเหม็น, ไอ้อ้วน อะไรแบบนี้"

แต่สิ่งที่เธอคิดคือ ทำอย่างไรให้เพื่อนยอมรับเธอมากกว่า
"สมัยเด็กๆ สมมติว่า เราเล่นกระโดดหนังยาง เพื่อนๆ สมัยชั้นประถมก็จะรู้ว่า ถ้าเอาไอ้นี่อยู่ในกลุ่ม กูไม่ตายแน่ อีนี้สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ สมัยมัธยม นักศึกษาวิชาทหารกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่มีเรา ส่วนใหญ่จะกินข้าว 3 กษัตริย์ คือ บนดิบ กลางไหม้ ล่างแฉะ แต่ถ้ามีอีนี่อยู่ในกลุ่มหุงข้าวกินอิ่ม กับข้าวเพียบพร้อม เพราะเราถูกแม่สอนมาตั้งแต่เด็กให้รู้จักการช่วยเหลือตัวเองและน้องๆ เพราะเราเป็นพี่คนโต"

ประมาณปี 2526 หลังฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี มีช่างผมจากสยามสแควร์คนหนึ่งมาเปิดร้าน "เปี๊ยก แฮร์ดู" ร้านนี้เป็นร้านต้นแบบของร้านตัดผมชื่อดังๆ อีกหลายร้านในย่านวงเวียนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เกย์ คัท, มะนาว ฯลฯ ร้านเปี๊ยกแฮร์ดู เปิดในซอยสารภี 3 ก่อนที่จะย้ายออกมาทางด้านนอก ค่าตัดผมในตอนนั้นแค่ 50 บาทเท่านั้น !! เปรี้ยว เท่ และราคาถูกกว่าร้านผมในย่านสยามสแควร์

เธอมีโอกาสไปดูการทำงานของช่าง ช่างเปี๊ยกเห็นว่าเธอสนใจจึงแนะนำให้เธอไปเรียนต่อ แต่เธอบอกว่า โรงเรียนดังๆอย่างเกตุวดี , เกศสยาม, เรืองฤทธิ์ ค่าเล่าเรียนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ช่างเปี๊ยกแนะนำว่า ไม่ต้องไปเรียนกับโรงเรียนดังๆ ก็ได้ เขาเองก็ร่ำเรียนมาจากโรงเรียนราคาถูกๆ !! แล้วมาหาประสบการณ์เพิ่มในภายหลัง

ประกายความคิดนี้ ทำให้เธอมีความหวัง ...
เธอเรียนพื้นฐานการตัดผมกับอาจารย์ นงเยาว์ ที่โรงเรียนสารพัดช่าง วัดแก้วแจ่มฟ้า หลักสูตร 3 เดือนค่าเรียน 200 บาท เรียนอยู่แค่เดือนเดียวก็แหกกฎข้ามสเต็ป อาจารย์บอกให้ตัดทรงนักเรียน แต่เธอจัด "บ็อบเท" ให้ !! อาจารย์นงเยาว์ก็เลยบอกว่า "ฉันไม่มีอะไรจะสอนเธอแล้ว นอกรีตนอกรอย ไม่สอนแล้ว"

วันหนึ่ง เพื่อนที่เรียนมาด้วยกันที่โรงเรียนทวีธาภิเศกมาหา และคุยให้ฟังว่าอยากจะมีกิจการส่วนตัว เธอบอกกับเพื่อนว่า ตัดผมได้ และลองตัดให้เพื่อนดู ปรากฏว่าเพื่อนถูกใจและจะลงทุนเปิดร้านให้...(ติดตามอ่านต่อตอนที่ 2 - มากกว่านางโชว์)
นักแสดง The Last Day Show เจสัน ยัง, ป้าเด และไข่มุก
เต๋า สมชาย เข็มกลัด
คาบาเรต์โชว์
ไก่ วรายุฑ กับ ป้าเด
วัยเด็กของเดชาวุฒิ
วัยเด็กของเดชาวุฒิ
กำลังโหลดความคิดเห็น