xs
xsm
sm
md
lg

ขุมทรัพย์เพลง "พุ่มพวง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



แม้จะมีเหตุการณ์ที่เป็น "ข่าว" ออกมาอย่างต่อเนื่องตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ทว่าในปีครบรอบปีที่ 17 การจากไปของราชินีลูกทุ่ง "พุ่มพวง ดวงจันทร์" กับความขัดแย้งของพ่อลูก "ไกรสร แสงอนันต์ - เพชร สรภพ" ผู้เป็นสามีและลูกรวมถึงบุคคลแวดล้อมคนอื่นๆ ในครั้งนี้ดูจะสร้างความน่าสนใจให้กับสังคมไม่น้อย

โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของผลประโยชน์จากงานเพลงที่ราชินีเพลงลูกทุ่งหญิงตลอดกาลคนนี้เคยขับร้อง

เมื่อพลิกดูชีวิตการเป็นนักร้องของ "พุ่มพวง ดวงจันทร์" หลังเริ่มต้นการเป็นนักร้องบันทึกแผ่นเสียงในชื่อของ "น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ" จากเพลงแก้วรอพี่ ที่แต่งโดยไวพจน์ เพชรสุพรรณ แล้ว เธอมีสังกัดค่ายเพลงที่ทำงานประกอบไปด้วย บริษัทเสกสรรเทป, อโซน่า (มีเพลงดังๆ เช่น สาวนาสั่งแฟน, นัดพบหน้าอำเภอ, คนดังลืมหลังควาย, อื้อฮื้อ ! หล่อจัง, ห่างหน่อย – ถอยนิด) ค่าย พีดี โปรโมชั่น และ ซีบีเอส เร็คคอร์ด (ประเทศไทย)

ค่ายท็อปไลน์มิวสิค มีผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมมากมาย เช่นชุด ตั๊กแตนผูกโบว์, กล่อม และ ทีเด็ดพุ่มพวง รวมถึงการนำผลงานเก่ามามิกซ์รวมกัน เช่น พุ่มพวงหลาย พ.ศ. (ตลับทอง และตลับเพชร), ขอให้รวย, น้ำผึ้งเดือนห้า, ซูเปอร์ฮิต 1 และ 2

จากนั้นเจ้าตัวได้เริ่มรับจ้างทำงานให้กับอาร์เอส โปรโมชั่น เมโทรเทปและแผ่นเสีย, แฟนตาซี ไฮคลาส โดยผลงานกับค่ายอาร์เอส เช่น ลูกทุ่งท็อปฮิตมาตรฐาน เป็นผลงานอัลบั้มที่เธอนำเพลงดังของศิลปินลูกทุ่งดังในอดีตมาร้องใหม่ ขณะที่ค่ายเมโทรฯ นั้นได้ลิขสิทธิ์งานเพลงชุด "ส่วนเกิน"

ทั้งนี้เมื่อมองย้อนกลับไปถึงการทำงานแบบขายขาดแล้วก็เป็นค่ายเพลงเหล่านี้นี่เองที่ถือสิทธิ์ในบทเพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์อยู่ ทว่า (ในราวๆ ปีพ.ศ.2536-37) จากการที่ศาลได้มีคำสั่งตัดสินให้ "ไกรสร แสงอนันต์" ในฐานะของสามีที่ถูกต้องตามกฏหมายของพุ่มพวงได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้เป็นภรรยา ส่งผลให้เกิดสัญญาที่ค่ายเพลงต่างๆ ที่ถือลิขสิทธิ์เพลงที่ราชินีลูกทุ่งไทยร้องต้องแบ่งรายได้บางส่วนมาให้กับเขา

ซึ่งไกรสรเองได้บอกถึงเรื่องนี้ว่า...

"สิทธิ์ที่ผมถืออยู่ก็คือ หนึ่งชื่อคำว่า พุ่มพวง ดวงจันทร์ สองรูปถ่ายทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว และสุดท้ายก็คือเสียง ถ้าหากใครจะนำส่วนใดส่วนหนึ่งไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ก็จะต้องมาพูดคุยกันก่อน เช่นหากมีนักร้องไปติดต่อซื้อลิขสิทธิ์จากคนแต่ง เอาเพลงที่คุณพุ่มพวงเคยร้องไว้ไปร้องเอง แล้วใช้ชื่อชุดว่า พุ่มพวง ในดวงใจ อะไรทำนองนี้ ไม่เป็นไร แต่ถ้าใช้ว่า พุ่มพวง ดวงจันทร์ แบบนี้ไม่ได้"

"ส่วนเรื่องเพลง หากค่ายไหนก็ตามที่ถือสิทธิ์เพลงที่คุณพุ่มพวงร้องไว้แล้วนำมาปั๊มใหม่ มีการนำออกไปขาย ตามสัญญาที่ทำไว้ผมจะต้องได้ม้วนหรือแผ่นละ 5 บาท ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยได้รับในส่วนนี้เลย"

อย่างไรก็ตามทั้งหมดนั้นคือสิทธิ์ที่ค่ายเทปเพลงถือครอง ทว่าเมื่อมองไปทางเรื่องกฏหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันที่ได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ครูเพลงที่เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงในส่วนของเนื้อร้องและทำนองให้กับศิลปิน-นักร้องเป็นเจ้าของสิทธิ์ที่แท้จริง

และนั่นเองที่ส่งผลให้ลิขสิทธิ์เพลงดี เพลงดัง ที่พุ่มพวง ดวงจันทร์ ร้องไว้กว่า 180 เพลง อาทิ ชุดดาวเรืองดาวโรย, สาวนาสั่งแฟน, อื้อหือหล่อจัง, ห่างหน่อยถอยนิด, ตั๊กแตนผูกโบว์, ทีเด็ดพุ่มพวง, หนูไม่รู้, หนูไม่เอา, ขอให้รวย ,โลกของผึ้ง ฯ อยู่ภายใต้การดูแลของครูเพลงคู่บุญ "ลพ บุรีรัตน์" ที่ปัจจุบันลิขสิทธิ์ทั้งหมดเจ้าตัวนั้นได้มอบหมายให้กับค่ายแกรมมี่ฯ เป็นผู้ดูแล

"ราคาค่าลิขสิทธิ์จะพิจารณาจากรายละเอียดการนำไปใช้งานประเภทใด หรือลักษณะใดบ้าง ซึ่งราคาค่าลิขสิทธิ์จะไม่เท่ากัน โดยส่วนใหญ่ที่ผ่านมาได้มีการอนุญาตให้นำเพลงครูลพไปใช้งานต่างๆ เช่น ขับร้องบันทึกเสียง ใช้ประกอบเป็นเพลงภาพยนตร์โฆษณา เพลงประกอบละครโทรทัศน์ เป็นต้น" แหล่งข่าวจากแกรมมี่ฯ เผย

สำหรับในส่วนของ "เพชร สรภพ" ทายาทของ "พุ่มพวง ดวงจันทร์" นั้น ที่ผ่านมาเจ้าตัวเคยนำเพลงของผู้เป็นมารดามาขับร้องในอัลบั้มชุด " เพลงของแม่" สังกัดค่ายแกรมมี่โกลด์ ซึ่งวันนี้สัญญาของเขากับทางต้นสังกัดนั้นได้หมดลงไปแล้ว และนั่นก็หมายความว่าหากเขาอยากจะร้องเพลงของแม่อีก ก็คงจะต้องเสียเงินจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ถูกต้องไม่ต่างอะไรจากคนอื่นๆ

งานนี้ก็คงจะรู้กันแล้วว่า ขุมทรัพย์ในส่วนงานเพลงของ "พุ่มพวง ดวงจันทร์" นั้นอยู่ที่ไหนกันแน่?
กำลังโหลดความคิดเห็น