xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อรายการทีวีไทย “ตบหน้า” ไมเคิลกลางงานพิธีไว้อาลัย กับความคล้ายกันระหว่าง “ผู้วิจารณ์” และ “ผู้ถูกวิจารณ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อรายการทีวีไทย “ตบหน้า” ไมเคิล กลางงานพิธีไว้อาลัย

เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา ถือเป็นโชคดีของแฟนเพลง “ไมเคิล แจ็กสัน” ในเมืองไทย ที่มีสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีถึง 2 ช่อง ตัดสินใจถ่ายทอดสดพิธีไว้อาลัยที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางนครลอสแองเจลิส

เหตุผลหนึ่งก็คือ เป็นช่วงเวลาที่ไม่ไปคาบเกี่ยวกับโปรแกรมอื่นๆ ของสถานี จากความแตกต่างของเวลาที่เมืองไทย และสหรัฐฯ และอีกประการ ก็คือ เป็นงานรำลึกให้กับศิลปินที่ได้ชื่อว่าโด่งดังที่สุดในอุตสาหกรรมดนตรีโลก ที่จากไปอย่างปัจจุบันทันด่วน จนกลายเป็นข่าวโด่งดังแทบทุกวันเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์มานี้ ไม่เว้นแม้แต่ที่เมืองไทย

ผู้เขียนซึ่งเป็นแฟนเพลงของ ไมเคิล แจ็กสัน ก็เป็นหนึ่งในอีกหลายๆ คน ที่ไม่มีเคเบิลทีวีและไม่มีอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วพอจะดูพิธีดังกล่าวได้อย่างสะดวก การได้ชมพิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการเพลงประจำปีนี้ทางฟรีทีวี ถือเป็นข่าวดีสำหรับแฟนเพลงที่เป็นผู้ชมทางบ้านอย่างมาก

เหตุผลที่การชมพิธีไว้อาลัยครั้งนี้ มีความสำคัญ นอกจากผู้ชมทั่วไปจะได้เห็นพิธีกรรมของคนที่อยู่ข้างหลังไว้อาลัยต่อการจากไปของศิลปินที่ได้ชื่อว่ามีแฟนเพลงรักใคร่อยู่ทั่วโลกแล้ว มันยังเป็นการบำบัดความเศร้าอย่างหนึ่งของผู้ที่เป็นแฟนเพลงของ ไมเคิล แจ็กสัน โดยเฉพาะ กว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พวกเขาต้องเผชิญกับการสูญเสียที่ไม่ได้ตั้งตัวกันตามลำพัง นี่จึงเป็นครั้งแรกที่พวกเขาจะได้มีส่วนร่วมในการไว้อาลัยกันอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมรับรู้ถึงความทรงจำดีๆ ของผู้ที่จากไปจากคำบอกเล่าผ่านครอบครัว และเพื่อนสนิทของ ไมเคิล ที่ต่างเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นับหน้าถือตาในวงการ ซึ่งถือเป็นแหล่งข่าวที่ “น่าเชื่อถือ” ในการออกมาเล่าประสบการณ์ที่พวกเขาเคยรู้จักกับไมเคิลระหว่างที่เขายังมีชีวิตอยู่

งานครั้งนี้จึงถือเป็นการ Grief Relief อย่างเป็นทางการ ร่วมกันของผู้คนที่ผูกพันกับ ไมเคิล แจ็กสัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ต่างจากจุดประสงค์ของพิธีการร่วมญาติในงานศพ ที่แขกแต่ละคนจะมาร่วม Tribute ให้กับคุณงามความดีของผู้ที่จากไป

คืนนั้นมีสถานี 2 ช่องถ่ายทอดสด ช่องแรกคือ ไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งอยู่ในช่วงของข่าววันใหม่พอดี ดำเนินรายการโดย ชิบ จิตนิยม ที่ตามติดทำสกู๊ปเกี่ยวกับไมเคิลมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ที่เขาเสียชีวิต ซึ่งในวันนั้นโปรดิวเซอร์รายการจะเน้นไปที่การสัมภาษณ์นานาทัศนะของบุคคลต่างๆ ในเมืองไทยที่มีต่อตัวไมเคิล โดยใช้ภาพบรรยากาศในงานเป็นเพียงแค่ตัวเสริม ก่อนจะตัดเข้าข่าวอย่างรวดเร็ว โดยทิ้งจอเล็กๆ เอาไว้เผื่อรอดูว่ามีเหตุการณ์อะไรที่สำคัญเท่านั้น

ต่างกับของช่อง Thai PBS ที่ดูเหมือนจะถ่ายทอดสัญญาณอย่างสมบูรณ์ และที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจดูช่องนี้ตั้งแต่ช่อง 3 ยังไม่ตัดเข้าข่าว ก็คือ คอมเมนเตเตอร์ที่มาร่วมในรายการอย่าง มาโนช พุฒตาล

ถ้า เอกราช เก่งทุกทาง คือ ผู้ที่เชี่ยวชาญในแวดวงลูกหนังต่างประเทศมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย มาโนช พุฒตาล ก็ถือเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงดนตรีสากลอย่างโชกโชนมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยไม่แพ้กัน การได้ผู้ที่ทรงคุณวุฒิเช่นนี้มาร่วมในงานที่สำคัญแบบนี้ จึงถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมทางบ้านในการเรียนรู้วัฒนธรรมของดนตรีอเมริกันผ่านพิธีไว้อาลัยครั้งนี้

แต่เมื่อพิธีค่อยๆ ดำเนินไป ความรู้สึกที่จะได้ซึมซับความทรงจำที่ดีจากตัวงานผ่านการถ่ายทอดของช่อง Thai PBS ในความรู้สึกของผู้เขียนและแฟนเพลงอีกหลายๆ คนที่ยอมนอนดึก เพื่อพิธีครั้งนี้ กลับถูกทำลายลงอย่างป่นปี้ จากปัจจัยอันบกพร่องหลายๆ อย่างจากตัวผู้ดำเนินรายการทั้ง 3 คนในคืนนั้น

เริ่มจากพิธีกรชายหญิงของรายการที่อาชีพหลัก คือ การเป็นผู้ประกาศข่าว ซึ่งคงจะเคยชินกับการรายงานข่าวที่มีผู้เตรียมข้อมูลเอาไว้เป็นอย่างดี ทำให้การมารับหน้าที่บรรยายพิธีในงานที่สดอย่างนี้ มีความบกพร่องออกมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องคิวในการสอดแทรกความคิดเห็นระหว่างพิธี

ผู้ดำเนินรายการที่ดีในการบรรยายพิธีสดที่มาจากต่างประเทศ นอกจากจะต้องมีความรู้ด้านภาษาที่ดีแล้ว จังหวะในการสอดแทรกคำแปลที่ถูกต้องก็มีความสำคัญอย่างมากต่อการรับชม คือ ถ้าไม่สามารถแปลทุกอย่างที่มีคนมาพูดในพิธีให้ผู้ชมทางบ้านเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ วิธีที่ดีที่สุด ก็คือ การจับใจความสำคัญของแต่ละช่วงของผู้พูด แล้วนำเสนอให้กับผู้ชมในเมืองไทยได้รับทราบโดยไม่ขัดจังหวะผู้พูด เช่นกล่าวสรุปตอนที่หยุดพูดเพื่อเสียงปรบมือ

แต่สิ่งที่ผู้ดำเนินรายการทั้งสองคนทำหลายครั้ง ก็คือ พยายามแปลประโยคที่ตัวเองเข้าใจเอาไว้ก่อน พอเห็นประโยคไหนที่พอจะเข้าใจได้ก็พูดเสริมทันทีเหมือนพยายามจะไม่ต้องการให้ขาดเสียงภาษาไทยในรายการนานเกินไป จึงกลายเป็นการถอดความเพื่อความสะดวกของผู้บรรยาย มากกว่าจะจับใจความสำคัญของผู้พูดที่จะสื่อออกมา เพราะบ่อยครั้งที่บทบรรยายที่ “ไม่สำคัญนัก” ได้ถูกพูดออกไปทับกับช่วงที่ “สำคัญกว่า” ในสุนทรพจน์ของแขกแต่ละคน โดยที่ผู้ดำเนินรายการดูเหมือนจะไม่รู้สึกตัว และทำแบบนี้ตลอดทั้งรายการ

ข้อน่าตำหนิของโปรดิวเซอร์รายการในการเลือกผู้ประกาศข่าวทั้งสองมาดำเนินรายการทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีความรู้ในด้านดนตรีสากลมากพอ ทั้งสองคนจึงใช้ความไม่มั่นใจในเรื่องดนตรี บวกกับการขาดความเตรียมพร้อมในข้อมูลที่เพียงพอ ด้วยการยกหน้าที่ทั้งหมดให้ตกเป็นของแขกรับเชิญในการบรรยายอย่างคุณมาโนชอยู่ตลอดทั้งรายการ ตั้งแต่คำถามเชิงลึกในเรื่องอุตสาหกรรมดนตรี จนถึงคำถามเล็กๆ น้อยๆ เกือบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับงาน ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะเป็นหน้าที่ของพิธีกรหลักในการสรุปภาพรวมของงานมากกว่าจะถามความเห็นของแขกรับเชิญเพียงคนเดียว

ซึ่งการเชิญ มาโนช พุฒตาล มาเป็นผู้แสดงทัศนะในวันนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การถ่ายทอดพิธีไว้อาลัย ไมเคิล แจ็กสัน ในเมืองไทยกลายเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายของผู้ชมส่วนใหญ่ที่เป็นแฟนเพลงของไมเคิลอย่างแท้จริง

แค่เริ่มรายการ หายนะก็เห็นอยู่อย่างไม่ต้องสงสัยแล้ว เมื่อผู้ที่รายการเลือกมาแสดงทัศนะในพิธีครั้งนี้ กลับออกตัวตั้งแต่ก่อนเข้าพิธีว่า “ไม่ได้เป็นแฟนเพลงของ ไมเคิล แจ็กสัน”

เรื่องนี้คนที่รู้จักตัวคุณมาโนชจะรู้ดี เพราะเนื้อแท้แล้วคุณมาโนชเป็นผู้หลงใหลในดนตรีในสายพันธุ์ร็อกเป็นหลัก ซึ่งในมุมมองทั่วไปของคนที่ชื่นชอบดนตรีแนวนี้ จะไม่ค่อยแยแสดนตรีป๊อปเท่าไหร่ ซึ่งในความคิดของขาร็อกบางรายแล้วดนตรีป็อปไม่ต่างอะไรกับ “ศัตรู” ในฐานะที่ใช้ความ “อ่อนหวาน” ในการเข้าถึงแฟนเพลง ซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่า ต่างกับธรรมชาติของเพลงร็อกที่ใช้ความ “ดุดัน” ในการครองใจแฟนเพลง และเพลงร็อกมักว่าจะถูกมองว่าเป็นดนตรีที่ให้สาระกับคนฟังมากกว่า ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว แนวดนตรีมีอิทธิพลน้อยมาก เมื่อเทียบกับทักษะและความจริงใจในการนำเสนอผลงานของตัวศิลปินเอง

(ซึ่งที่จริงแล้วไมเคิลถือเป็นศิลปินเพลงป็อปที่มี “ธาติความเป็นร็อก” อยู่ในเพลงของเขาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น Scream, They Don't Care About Us ขณะที่คงจะไม่สามารถหาท่อนโซโลไหนจะสมบูรณ์แบบไปกว่าการ two-handed tapping ในช่วงที่ท็อปฟอร์มที่สุดของ เอ็ดดี แวน เฮเลน ในเพลง Beat It ได้แล้ว เพลงอย่าง Give In To Me ถ้าเปลี่ยนเสียงร้องให้เป็น แอ็กเซล โรส ก็สามารถนำไปรวมในชุด Use Your Illusion ได้อย่างไม่เคอะเขิน)

ในฐานะแฟนเพลงคนหนึ่งของรายการบันเทิงคดีของคุณมาโนช (สมัยช่อง 11) ยอมรับว่าตั้งแต่ดูมาแทบจะไม่เคยเห็นเอ็มวีของไมเคิลออกในรายการของคุณมาโนชเลย (จำได้ว่าอาจจะเคยฉาย We Are The World บ้าง กับตอนที่ Black or White ออกใหม่ๆ) แต่กระนั้นผู้เขียนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่ได้มีโอกาสไปดูการแสดงคอนเสิร์ตที่เมืองไทยของไมเคิลเมื่อกว่า 15 ปีที่แล้ว ก็เห็นคุณมาโนชเป็นหนึ่งในคนดูของคอนเสิร์ตครั้งนั้นด้วย (เห็นแกนั่งรอชมอยู่ด้านกลางๆ สนาม เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นบัตรสื่อมวลชน)

มันไม่ใช่ความผิดของใครทั้งนั้นในการที่จะชอบหรือไม่ชอบศิลปินคนไหน แต่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า ประโยคที่ว่า “ไม่ได้เป็นแฟนเพลงของ ไมเคิล แจ็กสัน” ควรจะพูดเปิดรายการ หรือควรจะพูดตั้งแต่ทีมงานโทรไปขอความช่วยเหลือให้มาแสดงทัศนะในคืนวันนั้นกันแน่

ซึ่งถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะที่สอง จึงน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า โปรดิวเซอร์รายการถ่ายทอดสดในคืนนั้นมีจุดประสงค์อะไร ที่ตัดสินใจเอาเวลาที่ได้จากการถ่ายทอดพิธีไว้อาลัยของศิลปินที่โด่งดังที่สุดในโลก โดยเลือกผู้ที่มาแสดงทัศนะในรายการที่แทบจะไม่รู้จักหรือแม้แต่จะรู้สึก “ศรัทธา” ในความเป็นศิลปินเจ้าของงานแม้แต่น้อย

มันไม่ต่างกับพิธีไว้อาลัยสุนทรภู่ แต่ได้ผู้เชี่ยญชาญในผลงานของเช็คสเปียร์ที่ไม่เคยชื่นชอบในกาพย์กลอนมาดำเนินรายการ เหมือนกับพิธีไว้อาลัยของ อากิระ คุโรซาวะ แต่ได้ผู้เชี่ยวชาญหนังฮอลลีวูดที่ไม่เคยดูหนังคลาสสิกของญี่ปุ่นมาดำเนินรายการ

เมื่อตราชั่งที่เที่ยงตรง ถูกนำไปใช้วัดความยาวของถนน เมื่อความมั่นใจตัวเองเกินร้อยของคอมเมนเตเตอร์ ผสมโรงกับความไม่รู้ของผู้ดำเนินรายการถึง 2 คน สิ่งที่แฟนๆ หวังจะได้เห็นในคืนแห่งการไว้อาลัยราชาเพลงป๊อปผู้จากไป จึงกลายเป็นบทพิสูจน์ความอดทนของแฟนเพลงแบบไม่ได้ตั้งตัว

ในงานไว้อาลัยครั้งนี้ ถ้าผู้ชมสังเกตให้ดี ความพิเศษในสุนทรพจน์ที่แขกแต่ละคนออกมาพูดถึงตัว ไมเคิล แจ็กสัน นอกเหนือจากคุณงามความดีของเขาแล้ว มันยังเป็นความพยายามของแต่ละคนที่ต้องการให้ผู้ชมทางบ้านได้รู้จักเขาในฐานะ “มนุษย์ธรรมดา” คนหนึ่งให้มากที่สุด หลังจากที่เส้นทางอาชีพของเขา ทำให้เราเห็นเขาเป็นเพียงซูเปอร์สตาร์มานานนับปี คืนนั้นเราได้รับรู้ถึงชีวิตประจำวันที่แสนเรียบง่ายของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชาเพลงป๊อป ที่ผู้ชมไม่มีวันรับรู้เรื่องราวเหล่านี้จากสื่อไหนๆ

แต่ผู้ดำเนินรายการทั้ง 3 คนของคืนนั้น กลับพยายามทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ พยายามยัดเยียดมุมมองความเป็น “เอเลี่ยน” ของไมเคิลอยู่ตลอดเวลา คิดเผื่อว่าผู้ชมทางบ้านที่ติดตามอยู่จะพลาดสิ่งเหล่านี้ไป

ทั้งตัวพิธีกรนักข่าวทั้งสองที่ไม่ยอมไปไหนนอกจากจะวนเวียนเรื่องของสีผิวของผู้ที่มาร่วมงาน และพยายามโยงเข้าเรื่องการเมืองของสหรัฐฯ ที่ตัวเองพอจะมีความรู้บ้าง เพราะว่าที่นั่นเพิ่งได้ประธานาธิบดีผิวสีคนแรก ด้วยคิดว่าข้อมูลดังกล่าวจะทำให้ผู้ชมทางบ้านที่ไม่ใช่แฟนเพลงที่กำลังติดตามชมอยู่น่าจะเข้าใจความสำคัญของพิธีได้มากขึ้น

เปิดทางให้คุณมาโนช วกเข้าสู่ประเด็นเรื่องผิวสีที่เปลี่ยนแปลงไปของไมเคิล โดยผู้ดำเนินรายการทั้ง 3 คนต่างแสดงทัศนะอย่างเชื่อหมดใจว่าไมเคิลจงใจเปลี่ยนแปลงสีผิว เพราะไม่พอใจความเป็นคนดำของตัวเอง โดยไม่มีความเห็นช่วงไหนเลยที่ผู้ฟังจะได้ยินเรื่องราวของโรค “ด่างขาว” อยู่ในบทสนทนาของคนทั้งสาม

แต่แทบจะไม่สำคัญแม้แต่น้อย ว่า จริงๆ มันมันจะเป็นเพราะโรคด่างขาว หรือไมเคิลจงใจลอกผิวตัวเองให้เป็นคนขาว เพราะมันไม่ได้ให้สาระกับผู้ชมที่ต้องการดูพิธีไว้อาลัยครั้งนี้สักนิด ยิ่งการแสดงทัศนะบนความรู้ความเข้าใจที่คลุมเครือ ยิ่งจะนำไปสู่บทสรุปที่คลาดเคลื่อนมากขึ้นไปอีก จนถึงขั้นที่พิธีกรหญิงต้องการข้อสรุปของความขาวบนผิวของไมเคิลจากทัศนะของคุณมาโนชให้ได้ ซึ่งเขาก็ตอบกลับด้วยคำพูดง่ายๆ เพียงว่า “สงสัยเขาคงอยากลองมั้งครับ”

ไม่รู้ว่าเป็นความผิดของ ไมเคิล แจ็กสัน หรือเปล่าที่เกิดมาเป็นคนผิวสี และทำให้แขกในงานส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี ซึ่งไปสะดุดความสนใจของพิธีกรทั้งสองจนจับมาเป็นประเด็นอย่างไม่หยุดหย่อน จนเกิดเรื่องตลกครั้งที่ 1 ระหว่างการถ่ายทอดในวันนั้น เมื่อช่วงที่ทั้งสองพยายามจับประเด็นเรื่องสีผิวของคนในงานอย่างเข้มข้น โดยกำลังชี้อยู่ว่าผู้ที่ขึ้นเวทีมีแต่ชาวผิวสี แขกรายต่อมาคงทำให้ทั้งคู่ที่แสดงทัศนะไปอึ้งเล็กน้อย เมื่อเป็นมือกีตาร์ผิวขาวอย่าง จอห์น เมเยอร์ ขึ้นมาบรรเลงกีตาร์ในเพลง Human Nature ซึ่งถ้าตามข่าวกันมาแต่แรกคงไม่แปลกใจเพราะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่จะมาขึ้นเวทีกันแต่เนินๆ แล้ว และแน่นอนว่าไม่ได้มีแต่ชาวผิวสี (พอจบเพลงคุณมาโนชก็ช่วยพิธีกรทั้งสองด้วยการวกกลับมาที่เรื่องผิวสี โดยเน้นให้เห็นว่าสไตล์การเล่นของจอห์น เมเยอร์ คือ ดนตรีบลูส์ อันเป็นผลิตผลของคนดำ ซึ่งอาจทำให้คนผู้ชมสงสัยไม่หายว่ามันมีอิทธิพลพอที่จะทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในแขกที่มาร่วมไว้อาลัยในวันนั้นเชียวหรือ)

เรื่องประเด็นผิวสีของแขกในงานนั้นไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อน เพราะถึงแม้ไมเคิลจะร่วมงานกับผู้คนมากมาย แต่เจ้าภาพงานอย่างครอบครัวของเขาอาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยกับบุคเหล่านั้นทั้งหมด ด้วยเวลาที่จำกัดทั้งการเตรียมงานและเวลาในพิธี จึงทำให้แขกที่มาในงานวันนั้น นอกจากจะเป็นคนที่ไมเคิลรู้จักแล้ว ยังต้องเป็นคนที่ครอบครัวของเขาเข้าถึงได้ด้วย ซึ่งข้อสังเกตของพิธีกรครั้งนี้คงจะหมดไป ถ้าเป็นงานศพของคนขาวที่มีแต่แขกผิวขาว แบบเดียวกับความธรรมดาของงานศพคนไทยที่มีแต่คนไทย งานศพคนเกาหลีที่มีแต่คนเกาหลี ฯลฯ ซึ่งข้อสังเกตของพิธีกรในจุดนี้ก็นำไปสู่คำถามคล้ายๆ เดิมต่อคุณมาโนชว่าเคยเห็นพิธีที่ชาวผิวสีร่วมใจกันมากอย่างนี้มาก่อนไหม ซึ่งเขาตอบได้เพียงว่า “ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน”

การพยายามเออออกันระหว่างพิธีกรและคุณมาโนชในที่สุดก็พิสูจน์ว่าไม่สามารถใช้ได้ตลอดรอดฝั่ง จากตอนที่ บรูก ชีลด์ส ออกมาพูดถึงความผูกพันที่เธอมีต่อไมเคิล ก่อนจะปิดท้ายถึงเพลงที่ไมเคิลชอบที่สุดอย่าง Smile ของ ชาร์ลี แชปลิน

แม้ บรูก ชีลด์ส จะอธิบายอย่างชัดเจนว่าเพลงนี้มีความหมายลึกซึ้งแค่ไหน แต่ชื่อของชาร์ลี แชปลินก็มีอิทธิพลมากพอจะทำให้พิธีกรหญิงในคืนนั้นเชื่อว่ามันเป็นเพลงที่สนุกสนาน โดยเธอหันไปหาที่พึ่งของเธออย่างคุณมาโนช ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่เออออห่อหมกได้อย่างดีด้วยทัศนะว่า “เพราะเพลงของชาร์ลี แชปลิน มันเป็นเพลงที่ตลกๆ ขำๆ นะครับ”

ก่อนที่ประวัติศาสตร์จะถูกเขียนขึ้นใหม่โดยคนทั้งสอง เป็น เจอร์เมน แจ็กสัน พี่ชายของไมเคิลที่ออกมาร้องเพลงที่เศร้าสลดที่สุดของคืนนั้น ซึ่งถูกทำให้เชื่อไปไม่กี่วินาทีก่อนหน้านี้ว่าเป็นเพลงชวนหัว เขาร้องมันด้วยเสียงอันสะอื้น เป็นการถ่ายทอดอารมณ์ให้ยิ่งตรงกันข้ามกับข้อมูลที่ผู้ชมทางบ้านได้รับไปก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง

มาถึงวินาทีนี้ การชมพิธีไว้อาลัยของไมเคิลจากสถานีนี้ต่อไปสำหรับแฟนเพลงอาจจะเป็นเรื่องที่ไร้สติไปแล้ว หลายคนหาทางเลือกอื่น บางคนอาจตัดใจเข้านอน แต่สำหรับคนที่ไม่ทางเลือกเช่นตัวผู้เขียนก็ยังคงทนดูต่อไป โดยพยายามตั้งสมาธิจดจ่อกับเสียงซาวด์แทร็กที่ซ่อนอยู่หลังการบรรยายของผู้ดำเนินรายการทั้งสามคนแทน (หลังจากช่วงนี้รู้สึกว่าเสียงของคุณมาโนชหายไปจากจอนานมาก ในใจหวังลึกๆ ว่าคุณมาโนชอาจจะสละเรือกลับบ้านไปแล้ว น่าเสียดายที่ไม่เป็นเช่นนั้น)

ความผิดพลาดทั้งหมดที่กล่าวมาส่วนใหญ่เกิดจากความสะเพร่าและความเข้าใจผิดของผู้ดำเนินรายการทั้งสาม ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่ผู้เขียนต้องการจะนำเสนอในบทความนี้

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นจากผู้ดำเนินรายการในวันนั้น คือ ตอนที่ เมจิค จอห์นสัน นักบาสดังขึ้นมาพูดบนเวที เขาได้ทำการสรรเสริญความดีของย่า, ลุงๆ และน้าๆ ว่า ถือเป็นโชคดีของลูกๆ ทั้งสามของไมเคิลที่ได้บุคคลที่ดีงามเหล่านี้คอยดูแลแทนพ่อผู้จากไป ในช่วงเวลาที่ประทับใจนั้น เป็นตอนเดียวกับที่คุณมาโนชโพล่งขึ้นมาอย่างอดไม่ได้ว่า “นี่เป็นความเห็นชี้นำหรือเปล่า เพราะเรื่องยังอยู่ในขั้นศาล”

ความพยายามดำเนินรายการของพิธีกรทั้ง 3 คน กับภาพอันอบอุ่นในพิธีไว้อาลัยที่ดำเนินบนจอโทรทัศน์เป็นสิ่งที่ขัดกันอย่างสุดโต่ง ขณะที่บุคคลในงานพยายามอย่างที่สุดในการนำเสนอมุมดีๆ ของตัวไมเคิล แต่ผู้ดำเนินรายการกลับร่วมกันทำลายสิ่งเหล่านั้นด้วยการช่วยกันจับจ้องประเด็นที่ซ่อนอยู่ในงานพิธี ตามนิสัยของนักข่าวและนักวิจารณ์ชอบกระทำ

ซึ่งเป็นการกระทำที่ถือว่าไม่ให้เกียรติต่อทั้งตัวงาน และไม่ให้เกียรติผู้ชมที่อยู่ทางบ้านอย่างไม่น่าให้อภัย

บุคคลที่น่าตำหนิที่สุดของคืนวันนั้น ก็คือ โปรดิวเซอร์รายการที่ปล่อยให้ผู้ดำเนินรายการสองคนทำหน้าที่ ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอ นำมาซึ่งคำถามประหลาดๆ ที่กลายเป็นภาระอันหนักหน่วงของคอมเมนเตเตอร์ที่ถูกเชิญมาอย่างยิ่งยวด

ซึ่งความจริงแล้วมันเป็นความรู้พื้นฐานที่ไม่ได้สลับซับซ้อนมากมายเกินกว่าจะหาได้จากสื่อต่างประเทศในเวลาแค่ไม่ถึงชั่วโมง โดยเฉพาะความจริงที่ว่าทุกวันนี้ข่าวของไมเคิลถูกรายงานออกมาแทบจะทุกวัน แม้แต่ในบ้านเราเอง

ส่วนคนที่ถือว่าน่าผิดหวังที่สุดของคืนนั้นก็คือ ตัวคุณมาโนชนั่นเอง กับความคาดหวังมากมายทั้งจากตัวผู้เชิญมาออกรายการและผู้ชมทางบ้านที่อยากจะได้ความเห็นของบุคคลที่น่าเชื่อถือในวงการเพลงอย่างเขา มาช่วยทำให้งานไว้อาลัยครั้งนี้ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น แต่มันกลับกลายเป็นเวทีที่ใช้พิสูจน์ความเป็นคนอีโก้จัดของตัวคุณมาโนชเอง

บ่อยครั้งที่พิธีกรชายพยายามยกเอาจุดเด่นที่แฟนๆ ชื่นชมในตัวไมเคิลมาเป็นคำถาม เพื่อหวังจะนำคำตอบของคุณมาโนชมาช่วยยืนยันเกียรติภูมิของผู้ตายอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าไม่มีซักครั้งที่คุณมาโนชจะเห็นด้วยกับคำถามด้วยการตอบตรงๆ เลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่จะใช้วิธีให้คำตอบแบบเลี่ยงๆ ไป (เพลงป็อปของไมเคิลพิเศษกว่าคนอื่นอย่างไร - เป็นเพลงป๊อปที่มีกลิ่นของคนดำ) หรือไม่ก็ชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าความพิเศษที่คนเห็นในตัวไมเคิลนั้นคนอื่นก็ทำมาแล้ว (ไมเคิลเป็นคนทำลายกำแพงผิวสีหรือเปล่า - โมฮัมหมัด อาลี, จิมมี เฮนดริกซ์, โรเบิร์ต จอห์นสัน ก็เคยทำมาแล้ว ก่อนจะยอมรับทีหลังว่าไมเคิลได้รับการยอมรับในวงกว้างมากกว่า) จนถึงคำถามสุดท้ายก่อนงานเลิกที่พิธีกรหญิงถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งมาถึงตอนนี้ผู้ชมที่ฟังการแสดงความคิดเห็นของคุณมาโนชมา 2 ชั่วโมงกว่า คงพอจะเดาคำตอบได้ และเขาก็ไม่ทำให้เราผิดหวังด้วยคำตอบที่ว่า “ผมไม่มีความคิดเห็น เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับงานของคนดังที่เสียชีวิต”

สิ่งที่ผู้ชมได้รับจากการชมพิธีไว้อาลัย ไมเคิล แจ็กสัน ในคืนนั้นเป็นเพียงแค่การนั่งดูการพยายามของผู้ดำเนินรายการที่สิ้นหวังสองคนในการไล่จับ “อีโก้” ของผู้ที่เชิญมาแสดงทัศนะให้กับงานนี้

มีผู้ชมหลายคนเริ่มบ่นตั้งแต่คุณมาโนช วิจารณ์ไมเคิลก่อนเข้ารายการแล้ว ทั้งเรื่องตัวไมเคิลเป็นสินค้าของผู้ที่จะหาผลประโยชน์ เป็นเทพเจ้าของแฟนๆ หรือที่หลายคนรับไม่ได้ที่สุดอย่างข้อกล่าวหาที่ว่า We Are The World ของ USA for Africa เป็นแค่การเลียนแบบ Band Aid ของฝั่งอังกฤษที่ทำออกมาก่อนหน้านี้

แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่าคุณมาโนชมีความชอบธรรมเต็มร้อยที่จะใส่ทัศนคติของตัวเองในช่วงเวลานั้นอย่างไม่ต้องไว้หน้าใคร แต่ทันทีที่งานเริ่ม งานซึ่งเป็นพิธีเพื่อไว้อาลัยแด่ผู้ที่จากไป บทบาทในการเป็นผู้วิจารณ์ของคุณมาโนชควรจะถูกแทนที่ด้วยสำนึกแห่งกาลเทศะ เพราะงานประเภทนี้ไม่ต่างอะไรกับช่วงแจกรางวัล LifeTime Achievement ของงานแกรมมี่หรือ ออสการ์ ซึ่งเป็นช่วงที่วงการจะแสดงความเคารพอย่างเป็นทางการต่อบุคคลที่ได้เลือกแล้ว ความคิดเรื่องการวิจารณ์ในแง่ลบในงานดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ผิดมารยาทอย่างร้ายแรงเสียจนเราแทบจะไม่เคยเห็นการกระทำอย่างนั้นมาก่อน จนกระทั้งการถ่ายทอดของช่อง Thai PBS เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ เคยมีเหตุการณ์ที่แฟนเพลงของ ไมเคิล แจ็กสัน เห็นเขาถูกฉีกหน้ากลางเวทีมาแล้วเมื่อปี 1996 ในงาน BRIT Awards เมื่อ จาร์วิส ค็อกเกอร์ นักร้องนำวง Pulp ขึ้นไปป่วนบนเวทีที่ไมเคิลกำลังแสดงด้วยการวิ่งไปมารอบเวทีและหันก้นไปทางไมเคิล โทษฐานที่ไมเคิลพยายามทำตัวเปรียบเทียบกับพระเจ้า ซึ่งการกระทำครั้งนั้นได้รับทั้งเสียงชื่นชมและเสียงประณามของคนในวงการพอๆ กัน

แต่ที่แตกต่างจากเหตุการณ์เมื่อคืนวันอังคาร ก็คือ แม้เหตุการณ์ครั้งนั้นจะเป็นเจตนาร้ายของผู้กระทำอย่างชัดเจน แต่มันเป็นเรื่องระหว่างคนเป็น แต่ในการถ่ายทอดพิธีไว้อาลัยของไมเคิล แม้จะไม่มีผู้ดำเนินรายการคนไหนมีเจตนาร้ายต่อไมเคิล แต่มันเป็นเรื่องระหว่างคนเป็นและคนตาย ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในงานคือความ Respect (เคารพ) ซึ่งบอกได้ว่าหาได้ยากเหลือเกินเมื่อดูจากความเห็นที่ออกมาแต่ละครั้ง

ผู้ที่น่าเห็นใจที่สุดในวันนั้น ก็คือ ตัวผู้ชมทางบ้าน ซึ่งเชื่อว่าเกินครึ่งที่อดนอนดูการถ่ายทอดหลังเที่ยงคืนไปแล้วคงจะมีแต่แฟนเพลงของไมเคิลเป็นส่วนใหญ่ ที่จิตใจกำลังอยู่ในสภาพที่เปราะบางเพื่อรับการเยี่ยวยาโดยสุนทรพจน์ที่แขกในงานแต่ละคนต่างประดิษฐ์ออกมาได้อย่างลึกซึ้งกินใจ แต่ต้องมาถูกปลุกให้ตื่นจากภวังค์ด้วยข้อมูลแรงๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หลายคนที่ติดตามการออกอากาศครั้งนี้ต่างอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมรายการถึงไม่เชิญผู้ที่อาจจะมีความรู้ทางดนตรีไม่ลึกเท่านี้ แต่ก็มากพอที่จะทำให้ผู้ชมเห็นความสำคัญในการจากไปของไมเคิล แจ็กสัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือหัวใจสำคัญที่ดูเหมือนจะถูกละเลยไปอย่างสิ้นเชิงในการถ่ายทอดสดเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็น วิโรจน์ ควันธรรม เซียนเพลงยุค 80 ตัวจริง ที่ไปร่วมงานรำลึกไมเคิลที่เมืองไทยไม่นานมานี้ หรือจะเป็นดีเจเก๋าๆ ทั้ง นิมิตร ลักษมีพงศ์, มณฑานี ตันติสุข, สาลินี ปันยารชุน ต่างเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการให้มุมมองในพิธีไว้อาลัยครั้งนี้แบบหลับตาเลือกใครก็ได้

สรุปก็คือ มันเป็นความ Ignorance ของผู้ดำเนินรายการทั้งสอง ที่ไม่ทำการบ้านมามากพอ เป็นความ Ignorance ของผู้แสดงทัศนะที่เห็นความสำคัญของอีโก้มากกว่ากาลเทศะในการแสดงความคิดเห็นแต่ละครั้ง เป็นความ Ignorance ของโปรดิวเซอร์รายการที่นำองค์ประกอบที่ไม่สมบูรณ์นี้มาออกอากาศในรายการที่ผู้ชมทั่วประเทศตั้งตารอ

ถ้าจะโทษทางสถานี Thai PBS ว่า ถ่ายทอดรายการออกมาได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ก็คงไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าสถานีช่องอื่นๆ จะไม่เอาอะไร “ประหลาดๆ” มายัดเยียดใส่หัวคนดูแบบไม่ได้รับเชิญ กลางงานไว้อาลัยอย่างนี้อีก

ถ้าจะว่าเป็นบทเรียนให้กับคนทำรายการก็ลำบากใจ เพราะคงจะไม่มีงานระดับนี้ให้แก้ตัวกันอีกแล้ว เพราะดูจากมาตรฐานของป็อปสตาร์ยุคนี้ จะหาคนที่อยู่ในวงการอย่างสมภาคภูมิกว่า 3 ทศวรรษได้เหมือนกับ ไมเคิล แจ็กสัน ยากเต็มที ซึ่งคงจะไม่มีใครจัดงานไว้อาลัยให้กับการจากไปของพวกเขาได้อย่างสุดแสนอาลัยอาวรเหมือนการจากไปของราชาเพลงป๊อปอีกแล้ว

*******************

ความเหมือนกันระหว่าง “ผู้วิจารณ์” และ “ผู้ถูกวิจารณ์”

เป็นเรื่องบังเอิญหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะผู้พี่อย่าง ดำรง พุฒตาล เพิ่งจะเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่าตกเป็นเป้าโจมตีแฟนเพลงวง Super Junior ในเมืองไทย จนถึงขนาดมีการเขียนจดหมายไปต่อว่ากันถึงนิตยสารคู่สร้างคู่สม ซึ่งทางคุณดำรงก็นักเลงพอที่จะนำจดหมายที่เขียนต่อว่ามาอย่างรุนแรงและหยาบคายนั้น ลงตีพิมพ์ในคู่สร้างคู่สม พร้อมคำชี้แจงตอบกลับเพียงอีกเล็กน้อย แต่เข้าประเด็นดีเหลือเกิน

แต่ที่ต่างในกรณีของคนน้องอย่างคุณมาโนช ก็คือ จากกระแสต่อต้านส่วนใหญ่ที่เห็นได้จากกระทู้ภายในเว็บแห่งนี้และอีกหลายๆ เว็บ สังเกตได้ว่ากว่าครึ่งจะเป็นทั้งแฟนเพลง แฟนหนังสือ หรือแฟนรายการของคุณมาโนชมาก่อนทั้งนั้น มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่รู้ว่า มาโนช พุฒตาล คือ ใครและเคยทำอะไรมาก่อน

ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คุณมาโนช ยังคงมีสาวกรอติดตามผลงานอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะทั้งบทบาทการเป็นคนหนังสือและพิธีกรรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอผลงานดนตรีสากลดีๆ ในช่วงสิบกว่าที่แล้ว ทำให้เขาเป็นผู้นำของแวดวงดนตรีสากลในเมืองไทยแบบไร้คู่แข่ง และสร้างนิสัยในการรักเสียงดนตรีที่แท้จริงแก่นักฟังเพลงชาวไทยมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น อีกทั้งผลงานเพลงจากชุด “ในทรรศนะของข้าพเจ้า” ถือเป็นผลงานยอดเยี่ยมและท้าทายที่สุด แบบไม่เคยมีมาก่อนในวงการเพลงบ้านเราเลยก็ว่าได้

สำหรับบางคนแล้ว คุณมาโนช ก็ไม่ต่างจาก “เทวดา” สำหรับพวกเขา ไม่ต่างกับทัศนะที่คุณมาโนชให้ก่อนเข้ารายการ ที่ว่า ไมเคิล แจ็กสัน เป็น “เทพเจ้า” ต่อแฟนเพลงเช่นเดียวกัน

ในขณะที่หลายคนหวังอย่างยิ่งว่าผลงานเพลงอันยิ่งใหญ่มากมายของ ไมเคิล แจ็กสัน จะไม่ถูกลบเลือนหลงลืมไปตามกระแสของข่าวเสียๆ หายๆ ที่กระหน่ำเข้ามาในช่วงท้ายของชีวิตของเขา

เช่นเดียวกับที่อดจะกังวลแทนไม่ได้ว่า ชื่อเสียงทั้งในฐานะสื่อมวลชนด้านดนตรีสากลที่โดดเด่น รวมทั้งในฐานะนักแต่งเพลงและนักดนตรีที่ยอดเยี่ยม คงจะไม่ต้องมาเสียหายเพราะการแสดง “ทรรศนะของเขา” เพียงครั้งนี้ครั้งเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น