xs
xsm
sm
md
lg

งานแต่งดารา กับแขก(ที่ไม่ได้)รับเชิญ : เมื่อนักข่าวเทวดาปะทะดาราระดับเทพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“งานแต่งที่ใด เป็นได้แค่แขกรับเชิญ” วรรคทองจากเพลงดังของนักร้องลูกทุ่งยาใจคนจนน่าจะเป็นเนื้อร้องที่ผู้สื่อข่าวบันเทิงหลายต่อหลายคนฮัมจนติดปากมานานหลายยุคสมัย แต่สิ่งที่ปรากฏในเนื้อเพลงงดังกล่าวคงไม่ใช่วิถีการทำข่าวบันเทิงในพุทธศักราชนี้อย่างแน่นอน

เพราะในปัจจุบันนี้ งานแต่งที่ใด นักข่าวก็เป็นได้แค่แขกที่(เกือบจะ)ไม่ได้รับเชิญไปเสียแล้ว

ถ้านักข่าวสักคนยึดติดกับวิธีการทำงานในสมัยสิบกว่าปีที่แล้ว นักข่าวผู้นั้นก็คงจะอึดอัดคับข้องใจกับวัฒนธรรมการจัดงานแต่งของดารา และคนมีชื่อเสียงในยุคสมัยนี้อย่างแน่นอน เพราะเสรีภาพในการเดินเตร่ไปทั่วงานที่ผู้สื่อข่าวเคยได้รับยามที่ดาราสักคนจัดงานมงคลสมรสนั้น ถูกริดรอดให้เหลือเพียงห้องรับรองที่มีคู่บ่าวสาวเดินมาให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าสู่พิธี กับพื้นที่หน้างานที่ผู้สื่อข่าวสามารถฉกตัวแขกที่มาร่วมงานไปขุดคุ้ยประเด็นต่างๆ นอกเหนือไปจากทำข่าวงานแต่งของดาราผู้นั้นแต่เพียงอย่างเดียว

วัฒนธรรม ‘การจำกัดพื้นที่สื่อ’ นั้น เริ่มต้นอย่างแจ่มชัดในงานแต่งของดาราระดับพระเอกท่านหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีกรณีพิพาทรุนแรงถึงขั้นที่สื่อหลายฉบับพาดหัวว่าดาราชื่อดังหิ้วนักข่าวสาวออกจากงาน และนำไปสู่การบอยคอตพระเอกดังนานหลายปี จนเกิดการถกเถียงในวงกว้างว่า ระหว่างนักข่าวกับดารา งานนี้ใครกันที่ทำตัวเป็น ‘เทวดา’
...
เมื่อนักข่าวเทวดาปะทะดาราระดับเทพ
มุมหนึ่งคือผู้สื่อข่าวที่ไม่ว่าไปงานไหนใครก็ต้องยกมือไหว้ นอบน้อมต้อนรับ มีอาหารให้กินฟรี มีของแจกติดมือจนถือไม่หวาดไม่ไหว ส่วนอีกมุมหนึ่ง คือ ดาราหน้าใส ที่ไม่ว่าจะก้าวไปทางใดก็ต้องมีไฟสว่างตามจับ และเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดให้นักข่าวกรูเข้าไปล้อม ยื่นไมโครโฟน แหย่เครื่องบันทึกเสียงกันเป็นพลวัน ถ้ามองจากคนที่นั่งอยู่ล่างเวที ก็คงจะต้องใช้วิจารณญาณที่สูงล้ำในการคัดแยกว่าใครกันแน่ที่ทำตัว ‘เหนือมนุษย์’

เมื่อเอาคำพูดเชิงถากถางอย่าง ‘นักข่าวเทวดา’ ไปให้นักข่าวรุ่นใหญ่ของหนังสือบันเทิงที่มีสำนักงานใกล้เสาชิงช้าท่านหนึ่งเปิดใจถึงความรู้สึกที่มีต่อคำนี้ เธอถึงกับหัวเราะออกมาดังๆ ก่อนจะกล่าวว่า “พี่ว่าเขาไม่ได้มองว่า นักข่าวคือเทวดาหรอก บางคนมองว่า นักข่าวก็แค่นักข่าว ก็แค่สื่อ ไม่ให้เกียรติก็มี พี่ว่าอย่าไปยึดติดกับคำพูดอย่างนั้น อย่าไปมองเลยว่า นักข่าวคือเทวดา หรือนักข่าวเป็นบุคคลที่อยู่ในอีกสถานะหนึ่ง ต้องยกย่อง จริงๆ นักข่าวก็แค่คนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ก็มีหน้าที่ของเราเท่านั้นเอง”

เธอบอกว่า การที่คนส่วนหนึ่งประชดประชันว่านักข่าวคือเทวดา น่าจะเกิดจากภาพผิวเปลือกที่คนเหล่านั้นมองเห็นว่า ไม่ว่านักข่าวจะไปไหนก็มักจะได้สิทธิ์เหนือคนทั่วไป ทั้งอาหารรับรอง ทั้งของแจก และการเข้าชมมหรสพต่างๆ โดยไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียว

แต่เธอยอมรับว่า อภิสิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็น ‘ราคา’ ที่นักข่าวทุกคนต้องจ่าย เพื่อแลกกับชิ้นงานที่พวกเธอต้องกลั่นออกมา

“นักข่าวก็เป็นคน มีสิ่งที่เราได้มา ก็มีสิ่งที่ต้องเสียไป พี่ได้โอกาสมากกว่าคนอื่น มีโอกาสที่จะเข้าไปใกล้ชิดดารา พี่มีโอกาสที่จะได้ไปงานนู้นงานนี้ พี่มีโอกาสที่จะได้รับของฟรี มีโอกาสที่จะได้ดูคอนเสิร์ตฟรี แต่สิ่งที่พี่เสียไปคือเวลา ถามว่าคนที่ทำงานปกติ ในชีวิตหนึ่งวัน คุณสามารถกำหนดเวลาตื่น เข้างานเก้าโมงเช้า ห้าโมงเย็นคุณเลิกได้แล้ว"

"แต่ความเป็นนักข่าวเราทำอย่างนั้นไม่ได้ โทรศัพท์มือถือยิ่งกว่าเซเว่นอีเลฟเว่น ต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องไปอยู่ ณ จุดนั้น บางครั้งเราไปแล้วเขาไม่ได้ยินดีต้อนรับเราทุกครั้ง เพราะข่าวไม่ได้เป็นข่าวเชิงบวกตอลดเวลา ข่าวที่เป็นเชิงลบ ข่าวที่เราต้องไปจกมา ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้อยากจะให้ก็มี”

ผู้สื่อข่าวที่บางคนมองแบบเหยียดๆ ว่าชอบทำตัวเหมือนเทวดา เผยความในใจของคนธรรมดาออกมาให้เราสัมผัส นอกจากจะยืนยันว่าอาชีพของตัวเองไม่ใช่เทวดาแล้ว เธอยังย้ำชัดเจนว่า ดารา นักแสดงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำตัวเยี่ยงเทพธิดาเช่นเดียวกัน เพราะจากการที่ได้สัมผัสคนกลุ่มนั้น พวกเขาก็ทำงานตาม ‘อาชีพ’ ที่สังกัดอยู่เช่นเดียวกัน

ในเมื่อไม่มีฝ่ายใดเป็นเทวดา แล้ววัฒนธรรมจำกัดพื้นที่สื่อที่เราพบเห็นถี่ขึ้นในงานแต่งดาราระยะหลังนั้น มีต้นเหตุมาจากเรื่องใดกันล่ะ?
...
เหตุผลของการจำกัด(พื้นที่)สื่อ
“ทุกวันนี้สื่อค่อนข้างเยอะ เราต้องยอมรับในจุดนี้ ความที่สื่อมากขึ้น ความวุ่นวายในการทำงานก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ฉะนั้นถามว่าเป็นเรื่องแปลกไหมที่จะมีการล้อมกรอบสื่อให้อยู่ในบริเวณที่เขากำหนด อย่างเช่น งานแต่งงาน พี่ว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลก” นักข่าวบันเทิงที่คร่ำหวอดในวงการมาสิบปีท่านเดิมบอกถึงต้นธารของการจำกัดพื้นที่สื่อในทรรศนะของเธอให้เราได้มองในมุมที่กว้างขึ้น ซึ่งความคิดของเธอก็ไปพ้องตรงกับสิ่งที่อยู่ในหัวของ ‘ทัศน์สรวง วรกุล’ นายกสมาคมนักข่าวบันเทิงคนปัจจุบันอย่างพอดิบพอดี

“เราต้องยอมรับว่านักข่าวมันเยอะขึ้น พอนักข่าวเยอะขึ้น เวลาไปงานแต่งงานที ก็ต้องไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของเขา ถ่ายรูปที ก็ตีกัน มีบางงานที่เค้กพังเลยก็มี แย่งกันเอาข่าวมากเกินไป ซึ่งถามว่ามันเป็นสิ่งที่ดีไหม ก็ไม่ดี แล้วพี่คิดว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นน่ะ เพราะว่าแต่งงานที เขาก็อยากให้ญาติๆ และเพื่อนฝูงเขาได้เห็นอะไรที่ชัดเจน แล้วก็มีความเป็นส่วนตัว อันนี้พี่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่ว่าการที่คุณไม่ให้ไปต้องมีเหตุผลเพียงพอหรือมีสิ่งที่รองรับนักข่าว ว่านักข่าวจะได้งานแน่”

ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นงานแต่งของดาราระดับพระเอก งานแต่งของนักร้อง นักดนตรีรุ่นใหญ่ หรืองานแต่งของนักกีฬาชื่อดังที่สมรสกับผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก ก็ล้วนแต่แจ้งให้นักข่าวทราบก่อนเสมอว่าไม่อนุญาตให้เข้าไปภายในบริเวณงาน แม้จะมีกรณีผิดใจกันในรายละเอียดปลีกย่อย แต่ท้ายที่สุดสิทธิของดาราหรือผู้จัดงาน ก็เป็นสิ่งที่นักข่าวส่วนใหญ่เข้าใจดี

“เท่าที่คุยกับน้องๆ เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรนะคะ เขาก็คิดว่า ก็ได้นะ เพียงแต่ว่าต้องคุยกันให้เคลียร์ว่าจะให้เราอยู่ตรงไหน แล้วได้ภาพไหม จะได้ภาพกี่โมง แล้วภาพเป็นอย่างไร เขาต้องขอกันอยู่แล้วเพื่อที่จะเอาไปลงข่าว เพราะว่าคุณเป็นคนของประชาชน สื่อไหนไม่ลงข่าวก็ตกข่าวสิ พี่มองว่าคุยได้ ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องมีอะไรให้เราเอาข่าวกลับไปได้บ้าง” นายกสมาคมนักข่าวบันเทิงบอกถึงสถานการณ์ในการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานข่าว ในยุคที่สำนักข่าวผุดไวกว่าดอกเห็ดเช่นนี้

นอกจากประเด็นการเพิ่มกายขยายตัวของสื่อบันเทิงไทยแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่จะไม่นำมาวิเคราะห์ครุ่นคิดเลยก็คงจะเป็นการละเลยภาพความเป็นจริงจนเกินไป เพราะในขณะที่ดาราหลายคนจัดงานแต่งอย่างหรูหราอลังการ ผู้มาร่วมงานใส่ชุดสวยเฉิดฉาย แต่เรากลับเห็นผู้สื่อข่าวบางรายนุ่งกางเกงขาสั้น สวมเสื้อยืดคอกลมย้วย เดินเตร็ดเตร่อยู่ภายในงานเดียวกันนั้น

เชื่อเหลือเกินว่าคงจะไม่มีใครบังคับให้นักข่าวเจียดเงินเดือนอันน้อยนิดซื้อชุดสูทหรือชุดราตรีราคาเรือนหมื่นมาสวมออกงานที่จัดปีละไม่กี่ครั้ง แต่ถ้าจะให้พูดกันแบบยึดหลักความเป็นจริงแล้ว การแต่งกายที่สมเทศะและถูกกาละก็มิได้วัดกันที่ราคาของชุดที่สวมแต่อย่างใด
...
อีกหนึ่งเหตุผลที่ถูกจำกัด(พื้นที่)
ลองถามตัวเองดูสักครั้ง ถ้าคุณจัดงานที่สำคัญที่สุดซึ่งชั่วชีวิตนี้มีเพียงหนึ่งครั้ง คุณเชิญแขกเหรื่อที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ คนสำคัญในชีวิตมาร่วมงาน คุณออกแบบงานอย่างสุดกำลังสมอง ใช้เงินหมดไปกับการตกแต่งสถานที่หลายแสน หลายล้าน แล้วอยู่ดีๆ ก็มีใครก็ไม่รู้นุ่งกางเกงขาสั้น เสื้อยืดสีซีดๆ เก่าๆ สะพายกล้องเดินต๊อกๆ อยู่ในงานของคุณ ไม่ใช่แค่หนึ่ง แต่มีคนที่สวมใส่เครื่องแต่งกายในลักษณะดังกล่าวอยู่ในงานของคุณอีกเกือบร้อยคน

คุณจะรู้สึกอย่างไร?

“พี่ต้องยอมรับว่านักข่าวบางส่วนเขาก็แต่งตัวไม่สุภาพเหมือนกัน อันนี้ก็ต้องยอมรับ ถ้าเกิดว่าคุณรู้หมายข่าวก่อนแล้วว่า งานนี้เป็นอย่างไร พี่มองว่าคุณเองก็ควรจะแต่งตัวให้เหมาะสมกับงานด้วยเหมือนกัน อันนี้ก็ต้องบอกว่า ใช่ มันเถียงไม่ได้อยู่แล้ว โดยมารยาทน่ะ การจะไปที่ไหน ก็ต้องเคารพเจ้าของสถานที่กับอะไรเยอะแยะไปหมด มันเป็นมารยาทสังคมอยู่แล้วค่ะ” ทัศน์สรวงพูดถึงประเด็นดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา

และเมื่อสอบถามไปยังผู้สื่อข่าวอาวุโสจำนวนมาก ทุกท่านตอบกลับมาเป็นเสียงเดียวกันว่า การแต่งกายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้สื่อไม่ได้รับการต้อนรับจากผู้จัดงาน รวมไปถึงเจ้าของโรงแรมที่ตระหนักถึงภาพลักษณ์ของสถานที่นั้นอย่างแน่นอน

ถ้า ‘สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล’ การแต่งกายก็น่าจะสื่อถึงความเป็นตัวของผู้ที่สวมใส่ได้ไม่มากก็น้อย หลายคนแย้งว่า พวกเขาแค่มาทำงาน หรือ มันเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขา และด้วยเหตุผลส่วนตัวของนักข่าวบางคนนั้นทำให้ในปัจจุบันเรายังคงพบเห็นผู้สื่อข่าวสายพันธุ์เสื้อยืดกางเกงยีนส์ไปร่วมงานแต่งกันอย่างอยู่เรื่อยๆ

ด้วยความที่เป็นสัตว์สังคมซึ่งชินกับการออกกฎอะไรสักอย่างมาคุมไม่ให้ประพฤติออกนอกลู่ ทำให้จิตสำนึกของมนุษย์เสื่อมประสิทธิภาพในการทำงานไป ซึ่งสมาคมนักข่าวบันเทิงเองก็ไม่สามารถจะจัดการอะไรกับกรณีดังกล่าวได้

“เราเคยคุยกันแล้ว เคยเตือนกันแล้ว ว่ามันมีอย่างนี้ขึ้นมา เคยมีการสัมมนากันแล้ว สมาคมพูดได้ค่ะ แต่ว่าเขาจะปฏิบัติหรือเปล่า ก็อยู่ที่ต้นสังกัดของเขาอยู่ดี สมาคมของพี่ไม่สามารถที่จะไปออกกฎ ห้ามนู่น ห้ามนี่ บอกว่าผิดกฎหมาย ต้องฟ้องอะไรแบบนั้น มันไม่ได้ สมาคมพี่ไม่ได้ทำขึ้นมาด้านกฎหมายน่ะ ไม่ใช่งาน Organize Profit ไม่มีผลประโยชน์อะไรมาเกี่ยวข้อง มันก็เหมือนว่าเราแค่ทำข้อตกลงกันน่ะ

“เหมือนกรณีแนน อมิตดา เราก็ทำข้อตกลงกันว่าเราจะทำข่าวไหม ไม่ทำก็จบ ทุกคนก็เห็นด้วย แต่ก็ยังมีบางเล่มที่หลุดรอดไปทำเหมือนกัน มันอยู่ที่เจ้านายของเขาโดยตรง ที่เขากินเงินเดือนต่างหาก ไม่ใช่เรา เขาต้องฟังคนนั้นมากกว่า อันนี้ก็ต้องเข้าใจ เขาต้องฟังต้นสังกัดของเขามากกว่า เราเป็นเพียงผู้ควบคุมดูแลไม่ให้มีอะไรที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป หรือว่าอะไรที่รุนแรง เราก็เข้าไปดูแล แต่ถามว่าเรามีโอกาสจะไปออกกฎมาตรการ หรือทำเป็นสัญญาอะไรแบบนั้นคงยาก เพราะสุดท้ายบางคนเขาก็จะเล่นข่าวของเขา” นายกสมาคมนักข่าวบันเทิงสรุป

สุดท้ายเรื่องนี้ก็วนกลับมาที่จิตสำนึกของใครของมัน เป็นจิตสำนึกที่คงไม่จำเป็นจะต้องมีกฎหมาย กฎหมู่ หรือกฎใดใดมาบีบบังคับเลยแม้แต่น้อย
...
กฎหมาย กฎหมู่หรือจะสู้วัฒนธรรมไทย
พูดถึงกฎหมายกับการทำงานของสื่อในวงการบันเทิง ถ้าเราวกกลับไปที่กรณีนักข่าวเทวดา หรือดาราทำตัวเป็นเทพนั้น ก็คงจะเถียงกันไม่จบไม่สิ้น ไม่ต่างอะไรกับปัญหาโลกแตกที่ถกกันข้ามศตวรรษ จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ต่อให้ใครสักคนหยิบประมวลกฎหมายมากาง ก็ไม่อาจตัดสินชี้ขาดว่า ฝ่ายไหนทำผิดทำถูกได้ เพราะ ‘อาจารย์มานพ แย้มอุทัย’ แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในวงการสื่อและวงการบันเทิงทั้งในและนอกตำราได้กล่าวด้วยเสียงหนักแน่นว่า

“มันจะมีเส้นอยู่ ซึ่งเส้นตัวนี้ไม่สามารถที่จะตีได้เลยว่ามันอยู่ตรงไหน ซึ่งมันจะอยู่ตรงไหนนั้นอยู่ที่ผู้รับและสังคมจะเป็นผู้กำหนด ว่าไม่ใช่แล้วนะ คุณทำไม่ถูกแล้วนะ มันไม่ถึงขั้นประท้วงแต่เป็นการบอยคอต ไม่ดู ไม่อ่าน นี่คือการบอยคอตเมื่อสมัยยุค 30 ปีที่แล้ว เดี๋ยวนี้ก็มีบ่อยๆ เพราะสังคมจะเป็นผู้ที่บอกเส้นนี้

“ผมเชื่อว่าสื่อทุกสื่อไม่ได้โง่ อย่างดาราคนหนึ่งจะสร้างข่าวว่าเป็นนู่นเป็นนี่ เป็นไปไม่ได้ที่สื่อจะดูไม่ออก เพียงแต่ว่าขอบเขตของข่าวบันเทิงมันกว้างขวางมาก นอกเหนือจากหน้าที่ที่จะให้ความคิดเห็น เรื่องของข่าวสารข้อมูล เรื่องของรับเรื่องราวร้องทุกข์ แล้วมันเป็นหน้าที่หนึ่งของสื่อที่จะให้ความบันเทิง รูป รส กลิ่น เสียงได้หมด การกินอาหารอร่อยๆ ฟังอะไร ดูอะไร อ่านอะไร มันก็บันเทิงรวมไปถึงสื่อพื้นบ้านการละครวัฒนธรรมต่างๆ พวกนี้คือบันเทิงหมด ตราบใดที่คนผ่อนคลายมีความสุขถือว่าบันเทิง”

ถ้าสื่อไม่ได้โง่จริง ตามที่อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ท่านนี้บอก พวกเขาก็ย่อมจะมองเห็นเส้นบางๆ ที่แบ่งระหว่างการทำข่าวและการก้าวล้ำความเป็นส่วนตัวของดาราได้ไม่ยาก เมื่อย้อนไปถามผู้สื่อข่าวอาวุโสที่คลุกคลีในแวดวงบันเทิงมายาวนานท่านเดิม เราก็พบว่า เส้นแบ่งดังกล่าวสัมพันธ์เกี่ยวรัดกับสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมแบบไทยๆ’ อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

“เชื่อไหม พี่เคยคุยกับนักข่าวด้วยกัน ที่เป็นนักข่าวบันเทิง่ไม่ใช่อาชีพที่ทำบุญน่ะ อาชีพเราเป็นอาชีพที่ทำบาป เพราะฉะนั้นพี่ว่าหลายคนเข้าใจ หลายเล่มหลายฉบับเข้าใจว่าขอบเขตของเรามีขนาดไหน

“อย่าง กรณีปาปารัซซีเนี่ย ปาปารัซซีไทยไม่ดุเดือดหรอก แต่คนไทยจะรู้สึกว่ามากเกินไป เพราะสมัยก่อนไม่มี พอมีมันคือความแปลกใหม่ที่จะให้พูดตรงๆ สังคมชอบ หรือคุณจะเถียงว่าไม่ชอบล่ะ พี่รู้สึกว่า จริงๆ หนังสือพวกนี้เป็นหนังสือที่สนองความต้องการอยากรู้ของคนทั่วไปเท่านั้นเอง ถามว่าคุณรู้แล้วได้อะไรไหม คุณไม่ได้อะไร คุณแค่อยากรู้ หนังสือพวกนี้ถึงขายได้ไง"

"แม้จะมีคนโจมตีตลอดเวลาว่า มันไม่ใช่หนังสือที่ประเทืองปัญญา แม้จะเป็นข่าวบันเทิง เปิดประเด็นใหม่ สร้างกระแส ใครเป็นคู่กับใคร ใครทำอะไรกับใคร แต่มันอยู่ได้ เพราะมันก็คือพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ ที่อยากรู้เรื่องคนอื่นเท่านั้นเอง โดยเฉพาะเรื่องเสียๆ หายๆ ซึ่งบ้านเรายังน้อยกว่าเมืองนอกเยอะ เพราะดารากับนักข่าว ด้วยความเป็นคนไทย มันยังมีความเป็นพี่เป็นน้องกัน เรื่องบางเรื่องยังคุยกันได้ ถึงจะตีกันอย่างไรก็ไม่มีการฆ่ากันถึงตาย นี่คือสิ่งหนึ่งที่เราต่างจากปาปารัซซีเมืองนอก”

หรือแท้จริงแล้ว การพยายามหาคำตอบว่า นักข่าวล่วงล้ำสิทธิดารา หรือ ดาราคือคนของประชาชน จึงต้องแลกความเป็นส่วนตัวเพราะมีรายได้สูงและชื่อเสียงโด่งดัง เป็นการกระทำที่เปลืองเปล่า เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น วัฒนธรรมไทยก็มีอานุภาพเหนือวัฒนธรรมจำกัดพื้นที่สื่อ ซึ่งกลายเป็นกระแสล่าสุดในงานแต่งของดาราในยุคสื่อล้นไปเสียแล้ว




ทัศน์สรวง วรกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น