xs
xsm
sm
md
lg

Angels & Demons: จะ "ซาตาน" หรือ "เทวา" ก็ยังดีกว่า "ดาวินชี โค้ด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

จะซับซ้อนซ่อนเงื่อนสักแค่ไหน หรือจะเข้มข้นขึงขังสักเพียงใด แต่ที่แน่ๆ ดูเหมือนว่า ทีมผู้สร้างของหนังอย่าง Angels & Demons จะได้ผ่านบทเรียนมาแล้วว่า The Da vinci Code ซึ่งเป็นผลงานชิ้นก่อนหน้าของพวกเขานั้น ไม่ค่อยเวิร์กสักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่รายได้ถล่มทลาย แต่ในแง่ของเสียงชื่นชม เกือบๆ จะล้มไม่เป็นท่า และนั่นก็อาจเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดการปรับโฉมอย่างเห็นได้ชัดใน Angels & Demons (เทวากับซาตาน)

อันที่จริง ผมค่อนข้างชอบนะครับที่ได้ยินได้ฟังมาว่า ผู้กำกับอย่าง “รอน โฮเวิร์ด” เอง ก็ดูเหมือนจะยอมรับกับ “ข้อบกพร่อง” ของดาวินชี่ โค้ด อยู่เหมือนกัน ถึงขั้นเคยออกปากว่า เขาจะทำให้ Angels & Demons ออกมาดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน ซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างกับคนทำหนังในบางประเทศที่มักไม่ค่อยคิดอะไรแบบนี้ คือจะนึก (หรือเข้าใจไปเอง) อยู่แต่ว่าหนังของข้าทุกๆ เรื่องดีอยู่แล้ว และไม่คิดจะพัฒนาอะไร

จุดแตกต่างที่คนดูจะสัมผัสได้แน่ๆ ระหว่าง “ดาวินชี่ โค้ด” กับ “เทวากับซาตาน” (เฉพาะภาคภาพยนตร์) ก็คือ ความสนุกสนานน่าติดตาม เพราะในขณะที่ดาวินชี่ โค้ด ทำตัวเหมือนกับคนที่เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง เล่าเรื่องของตัวเองดุ่ยๆ ไป (ด้วยข้อมูลที่อัดมาจากหลากทิศทาง) โดยไม่สนใจว่าคนฟัง (คนดู) จะสนุกหรือเบื่อหน่ายยังไง แต่ “เทวากับซาตาน” กลับดูจะเป็นหนังที่เอาอกเอาใจคนดูมากขึ้น และทำให้คนดูมีความรู้สึกร่วมที่จะติดตามเนื้อเรื่องไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

พูดง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าวัดกันในเชิงคุณค่าของความบันเทิงแล้ว Angels & Demons ดูจะเป็นต่ออยู่หลายก้าว และไม่ว่าแฟนๆ ของแดน บราวน์ เจ้าของนิยายต้นฉบับ จะบอกว่าเนื้อหาของหนังมันผิดเพี้ยนแตกต่างไปจากหนังสือตรงไหนยังไงบ้าง แต่ในแง่ของความเป็นหนังเรื่องหนึ่ง “เทวากับซาตาน” ดูจะตอบโจทย์ตัวเองได้ถูกต้องกว่า ไม่ว่าจะมองในมุมของความบันเทิงหรือเนื้อหาสาระ (ตามจริง หนังที่ทำมาจากหนังสือ ก็ไม่จำเป็นต้องเดินตามต้นฉบับเป๊ะๆ อยู่แล้ว จริงไหม?)

อย่างไรก็ดี พูดกันอย่างถึงที่สุด โดยทางของหนัง Angels & Demons จริงๆ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากดาวินชี่ โค้ด เท่าไหร่นัก เพราะหนังยังคงเล่นอยู่กับการซุกซ่อนและคลี่คลายเงื่อนปมปริศนา (หมายถึง กว่าจะเฉลยก็ต้มคนดูจนเปื่อยไปแล้ว ) เพียงแต่ว่า ดาวินชี่ โค้ด อาจจะแพรวพราวกว่าในแง่ของจุดหักมุมที่พลิกแล้วพลิกอีก ขณะที่ “เทวากับซาตาน” พลิกครั้งสองครั้ง แต่กลับสั่นสะเทือนความรู้สึกของคนดูได้เป็นอย่างดี

และแน่นอนที่สุด ตัวเดินเรื่อง ของ Angels & Demons ก็ยังคงอยู่ที่ตัวละครหลักอย่าง “โรเบิร์ต แลงดอน” (ทอม แฮงค์ส) ศาสตราจารย์ผู้ปราดเปรื่องด้านสัญลักษณ์วิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่คราวนี้ เขาถูกเรียกตัวไปกรุงวาติกันในภารกิจเปิดโปงองค์กรลับที่เรียกตัวเองว่า “อิลลูมินาติ” ผู้ต่อต้านคริสตจักรซึ่งขโมยตัวอย่างปฏิสสารอันมีพลังทำลายล้างสูงไปซ่อนไว้ในกรุงวาติกัน ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรลับที่ว่านี้ยังได้ลักพาตัวพระคาร์ดินัลสี่รูปผู้เป็นตัวเต็งในการก้าวขึ้นมาเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่ และสิ่งที่แลงดอนจะต้องทำก็คือ การสืบเสาะหาข้อมูลจากเอกสารและงานศิลปะเก่าแก่ทั่วกรุงโรมเพื่อเปิดโปงความลับเกี่ยวกับองค์กรที่ว่านี้ ก่อนที่พระคาร์ดินัลทั้งสี่รูปจะถูกสังหารและปฏิสสารจะระเบิดกรุงโรมให้ย่อยยับตามคำขู่ของอิลลูมินาติ

ก็อย่างที่คนดูทุกๆ คนคงรู้สึกได้คล้ายๆ กัน ผมเห็นว่า “เทวากับซาตาน” ในการกำกับของรอน โฮเวิร์ด เรื่องนี้ ทำได้ดีในแทบจะทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นบทหนังที่รัดกุม เดินเรื่องได้กระชับ ฉับไว ไม่อืดอาดยืดยาดเหมือนดาวินชี่ โค้ด โอเคล่ะ ถึงแม้เราจะยังรู้สึกว่า Dialogue (บทสนทนา) ของหนัง ยังติดที่การพูดมากอยู่บ้างในบางจุด แต่บริบทของบทสนทนาก็ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนและกว้างไกลจนน่าปวดหัว ซึ่งเป็นความแตกต่างจาก ดาวินชี่ โค้ด ที่ทำให้คนดูเหมือนดุ่มเดินไปในเขาวงกตของข้อมูลและศัพท์แสงต่างๆ อันไม่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ

และไม่มากไม่มาย ผมเห็นว่า ผู้กำกับ รอน โฮเวิร์ด สามารถควบคุมโทนบรรยากาศความน่าเคลือบแคลงสงสัยของหนังสืบสวนสอบสวนให้ไปด้วยกันได้ดีในทุกๆ องคาพยพ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีประกอบที่นอกจากจะฟังดูอลังการมากๆ แล้ว ยังส่งเสริมและขับเน้นอารมณ์ของหนังให้ดูลุ้นระทึกได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับภาพฉากหลายๆ ฉากที่ดูเหมือนจะซุกซ่อนเงื่อนงำบางอย่างไว้ในนั้น ขณะที่ศิลปะภาพวาดเอย หรือรูปปั้นงานศิลป์ต่างๆ เอย ก็ไม่ได้เป็นแค่เพียงสิ่งสวยๆ งามๆ อีกต่อไป หากแต่ยังกักเก็บความลี้ลับและแทรกปมปริศนาอันน่าขบคิดตีความไว้ในนั้นด้วยเช่นกัน

หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องยิ่งขึ้นก็คือว่า ความมีเงื่อนงำนั้นดูเหมือนจะถูกวางไว้ในแทบจะทุกๆ จุดของหนัง ไม่เว้นแม้กระทั่งในตัวละคร อย่างที่เราจะเห็นว่า หนังใช้สอยตัวละคร 2-3 ตัวหลอกล่อและเล่นกับความคาดเดาของคนดูเพื่อที่จะหักมุมในภายหลังให้เราหัวทิ่มหัวตำกับความคิดความเชื่อที่เคยมี บาทหลวงแพทริกเอย ผู้บังคับการริกเตอร์เอย หรือแม้แต่เหล่าทหารองครักษ์สวิสที่แม้เราจะไม่ได้เห็นหน้าค่าตาพวกเขาชัดๆ ว่าใครเป็นใครบ้าง แต่จากบทพูดที่มีการเอ่ยอ้างถึงพวกเขาหลายๆ ครั้ง ก็กระตุ้นความสงสัยให้เราอดคิดไปไม่ได้ว่า มันน่าจะมีความไม่ชอบมาพากลอยู่ในกลุ่มบุคคลเหล่านี้ด้วยหรือเปล่า?

แน่นอน เมื่อหนังเดินไปถึงจุดที่ความจริงถูกเปิดโปง มันก็คือความเซอร์ไพรส์สำหรับคนดู แต่ก็อีกนั่นแหละ ว่ากันตามจริง ถ้าไม่นับรวมบุรุษลึกลับที่มาปรากฏตัวแว้บๆ ในช็อตสั้นๆ บางช็อต ผมว่าหนังได้เริ่มแง้มๆ รหัสลับบางอย่างให้คนดูตั้งแต่ช่วงกลางๆ เรื่องแล้วว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด ก็ตอนที่แลงดอนสวมสูทตัวใหม่นั่นแหละครับ เพราะสูทตัวนั้นมันเข้ากันกับหุ่นของเขาพอดีเป๊ะ ราวกับถูกเตรียมการล่วงหน้าไว้แล้วอย่างดี!! ดังนั้น ถ้อยคำธรรมดาๆ ของบาทหลวงแพทริกที่เอ่ยทักแลงดอนเกี่ยวกับเรื่องสูท จึงชวนให้รู้สึกดูมีเลศนัยและมีความหมายลึกลับที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่ก็อีกนั่นแหละ ต่อให้โฉมหน้าของตัวร้ายที่ถูกเปิดเผยออกมา จะเป็นใคร นั่นก็ดูเหมือนจะไม่สลักสำคัญอะไรเลย เมื่อเทียบกับ “สาร” อันน่าเจ็บปวดหัวใจที่หนังต้องการจะบอกกับคนดู และที่ผมชอบก็คือ คำพูดที่แฝงน้ำเสียง irony (เสียดสีเย้ยหยัน) ซึ่งหลุดจากปากของคาเมอร์เลงโก (ยวน แมกเกรเกอร์) ที่เปรยๆ ในทำนองว่า สมาชิกอิลลูมินาติจริงๆ นั้น ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก หากแต่ “เป็นคนของพระเจ้า” เองนั่นแหละ และนี่ก็คงเป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งซึ่งทำให้ชื่อเสียงของแดน บราวน์ ฉาวโฉ่ในแวดวงศาสนจักร (อันที่จริง เนื้อหาในทำนอง “คนของพระเจ้า” คือผู้ร้าย แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลยในโลกของหนัง อย่างน้อยๆ ตอนนี้เท่าที่นึกออกก็มี Bad Education ของเปโดร อัลโมโดวาร์ ฯลฯ เพียงแต่เมื่อมันถูกพูดออกมาจากปากกาของแดน บราวน์ น้ำหนักความฉาวจึงอาจจะดูหนักหน่วงมากกว่าคนอื่นๆ เพราะชื่อชั้นของนักเขียนคนนี้)

ดังนั้น เมื่อว่ากันอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าหนังจะพาคนดูครุ่นคิดไปถึงไหนต่อไหนเกี่ยวกับการก่อกำเนิด (Creation) ของโลกว่า จริงๆ แล้ว เป็นฝีมือของพระเจ้าหรือวิทยาศาสตร์ และไม่ว่าวิทยาศาสตร์กับศาสนาจะมีปากเสียงถกเถียงกันวุ่นวายโกลาหลสักเพียงใด แต่ในที่สุด ผมคิดว่า หนังหาทางลงและบทสรุปให้กับตัวเองได้ดี ด้วยประเด็นที่จับต้องได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนอะไรมาก แต่ก็สุ่มเสี่ยงต่อความเสื่อมเสียของคริสตจักรมากเหมือนกัน เพราะมันเข้าไปแตะ “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” ของคริสตจักร พร้อมพูดถึงเรื่องศรัทธาอันผิวเผินของผู้คนที่มักจะ “มอง” ทุกสิ่งทุกอย่างเพียงแค่ที่ตา “เห็น” จนไม่รู้ไม่เข้าใจว่าใคร “จริง” หรือใคร “ปลอม”

ใช่หรือไม่ว่า เพราะเรามักจะมองและชื่นชมเฉพาะ “สิ่งที่ตาเห็น”...เราจึงไม่มักไม่ค่อยรู้ว่า “เทวา” ที่เราบูชากันนักหนานั้น แท้จริงแล้ว อาจซุกซ่อนวิญญาณ “ซาตาน” ไว้ภายในเบื้องลึก และใช่หรือไม่ว่า “ซาตาน” ก็ชาญฉลาดพอที่จะเล่นบทบาทของ “เทวา” หลอกตาเรา...เราจึงต้องเจ็บปวดอยู่ร่ำไป เมื่อ “เทวา” ที่ว่าใช่ มันไม่ใช่อย่างที่เราคิด

หันไปมองโลกและชีวิตจริงๆ กันดูเถิดครับ แล้วคุณจะพบว่า มันมี “ซาตาน” ตั้งมากมายที่สวมเสื้อและเล่นบทบาทของเทวาได้อย่างเหนือชั้น และมีฮีโร่อีกไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ที่สุดท้ายแล้ว ก็เป็นได้แค่เพียงฮีโร่ที่ลวงหลอกและลวงโลกไปวันๆ จริงไหม?
กำลังโหลดความคิดเห็น