เป็นที่รู้กันดีว่า ในบรรดาหนังสือทั้งหลายแหล่ที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวประวัติของใครสักคน ส่วนใหญ่นั้น ถ้าไม่เขียนปอปั้นสรรเสริญกันราวกับเป็นเทพเจ้า ภาพชีวิตของเจ้าของเรื่องราวในหนังสือเล่มนั้นๆ ก็มักจะเป็นอะไรที่ "ดี๊ดี" จนบางที บอกตามตรง อ่านแล้ว อยากจะอาเจียนราดกระดาษเสียตรงนั้นเลย!!
แต่ให้ตายเถอะ หนังสือเล่มที่กำลังกล่าวถึงนี้ ดูจะฉีกขนบออกไปหนังสือแบบนั้นโดยสิ้นเชิง
มันไม่ใช่หนังสือที่ทำขึ้นเพื่อแจกในงานศพให้แขกเหรื่อน้ำตาไหลไปกับคุณงามความดีของคนตาย (ที่ก็ไม่รู้ว่า "ดี" จริงหรือเปล่า?) เพราะทุกๆ ตัวหนังสือที่สายตาของคุณจะได้สัมผัสตลอดทั้งเล่มนั้น บอกได้เลยว่า ไม่มีใครคนไหนกล้าทำ ก็แหงล่ะ ใครคนไหนรึจะบ้าเอาเรื่องราวความผิดพลาดและบาดแผลของตัวเองมาแล่ให้คนอื่นดูเป็นช็อตๆ ฉากๆ
แต่พวกเขา 5 หนุ่มแห่งวง ฟลัวร์ (Flure) ยินดีที่จะเปิดเปลือยบาดแผลนั้นให้เราดูอย่างหมดเปลือก แบบไม่เกรงกลัวจะเสียภาพลักษณ์แห่งวงดนตรีร็อกอินดี้อันดับต้นๆ ของเมืองไทย
เล่าให้ฟังแบบคนกันเอง...ฟลัวร์ เป็นชื่อของวงร็อกที่ประกอบด้วยสมาชิกหนุ่ม 5 ชีวิต (หลายๆ คนอาจจะคุ้นชื่อของ "คิว วงฟลัวร์" มากที่สุด เพราะเขาคนนี้แหละที่เป็นป็อปสตาร์ไปพักใหญ่จากการเป็นเจ้าของเสียงร้องในเพลง "กันและกัน" ที่ประกอบภาพยนตร์ "รักแห่งสยาม" อันโด่งดัง)
ว่ากันที่พื้นเพรากเหง้า ฟลัวร์ เป็นวงร็อกที่เติบโตมาในยุคที่กระแสอัลเทอร์เนทีฟร็อกยังคงคุกรุ่นอยู่ พวกเขาเป็นเสมือนส่วนผสมของไอเดียสดใหม่แบบวงร็อกอินดี้ในยุคเริ่มต้น เข้ากันกับความเป็นวงร็อกปัจจุบันที่เจ๋งในเรื่องการแสดงสด อย่างไรก็ดี จะว่าพวกเขาเป็นวงดนตรีเด็ก ก็ไม่ใช่ แต่ถ้าจะบอกว่าพวกเขาเป็นขาใหญ่ในวงการก็ยังไม่ถูกอีก แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็มีแฟนคลับหนาแน่นจำนวนหนึ่ง
ที่สำคัญ คือ พวกเขามีเลือดร็อกโดยธรรมชาติ ชนิดที่ไม่ต้องดัดแปลงตัวตน หรือศัลยกรรมดนตรีแบบที่ค่ายเพลงหัวการตลาดชอบทำกัน
ด้วยธาตุร็อกแบบนี้นี่เองที่ทำให้ฟลัวร์เป็นวงดนตรีที่คาดเดาอะไรได้ยาก คนฟังต้องลุ้นทุกครั้งเวลาที่ฟลัวร์จะออกอัลบัมใหม่หรือยามที่พวกเขาขึ้นแสดงสด ด้วยว่าพวกเขาชิงชังความซ้ำซาก กระหายในสิ่งประดิษฐ์ทางดนตรีชิ้นใหม่อยู่เสมอ
และถ้าดนตรีและบทเพลงของพวกเขาเป็นอะไรที่คาดเดาได้ยาก หนังสือเล่มนี้จะทำให้คนอ่านประหลาดใจยิ่งกว่านั้นอีกนับร้อยนับพันเท่า
เพราะอะไรน่ะหรือ??
เหตุผลนั้นไม่ซับซ้อนเลย ก็เพราะ Flure : Therapy คือหนังสือเกี่ยวกับวงดนตรีร็อกเมืองไทยที่น่าจะกล่าวได้ว่าตรงไปตรงมามากที่สุด พวกเขาทั้ง 5 ไม่ได้มานั่งยกย่องตัวเองหรือชมความเก่งของเพื่อนๆ ในวงให้เราได้ฟังกัน แต่ยังกล้าวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองและเพื่อนๆ ในวงได้อย่างออกรสออกชาติ ผ่านถ้อยคำภาษาดิบๆ สไตล์ร็อกที่ฟังแล้วจี๊ดได้ใจ
แต่เอาล่ะ ยังไงเสีย คุณก็อย่าเพิ่งคิดนะว่า นี่มันหนังสืออะไรหว่า มานั่งด่าตัวเองให้คนอื่นฟัง เพราะนอกเหนือจากเรื่องราวที่เป็นรอยร้าวและจุดบกพร่องของวง สิ่งที่เราจะได้สัมผัสอย่างเต็มอิ่มก็คือ เรื่องราวของวงร็อกวงหนึ่งนับตั้งแต่ยุคก่อร่างสร้างตัว ก่อนความสำเร็จอันหอมหวานจะมาเยือน พร้อมพ่วงเอายาพิษบางอย่างมาเป็นของฝากด้วย
"พวกเราทั้ง 5 ทำหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เพื่อมานั่งด่ากันเอง แต่ทำขึ้นเพื่อหาโอกาสที่พวกเราจะได้มานั่งคุยกันถึงเรื่องในอดีตที่ผ่านมาและปัญหาต่างๆ ภายในวง เสมือนเป็นการบำบัดทางจิตใจ" เท็ดดี้ ธีโอดอร์ แกสตัน ผ่านน้ำเสียงแสดงความเห็นแทนสมาชิกในวง
แน่นอนล่ะ หลังจากพลิกหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้จบลง สิ่งที่เราจะได้รับ ไม่ใช่แค่ได้รู้ตื้นลึกหนาบางของวงร็อกวงหนึ่ง แต่ ณ บางห้วงคำนึง เราอาจได้กลับมานึกถึงตัวเราเองเช่นกันว่า ในฐานะมนุษย์ ควรจะมีสักครั้งที่เราสมควรจะบำบัดตัวเองอย่างซื่อสัตย์ เฆี่ยนตีจิตสำนึกตัวเองอย่างบ้าคลั่ง โหยไห้แต่ความผิดพลาดอันแสนงี่เง่า ฮึกเหิมไปกับความสำเร็จชิ้นเล็กๆ และกลับมาสู่ความเป็นจริงของชีวิต ณ จุดเริ่มต้น หากเปิดใจได้ว่า การบำบัดคือหนทางหนึ่งซึ่งจะช่วยลดความบกพร่องในชีวิตให้น้อยลง
เพราะทุกๆ คนล้วนต้องการเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือร็อกสตาร์ก็ตามที