โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ถ้าผลงานแทบทุกเรื่องซึ่งแสดงโดยพระเอกนักบู๊เลือดอีสานที่ชื่อ “จา พนม” ถูกถล่มมาอย่างหนักว่าไม่ได้มีสาระอะไรมากไปกว่าโชว์ลีลาแอ็กชั่น แล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่า หนังแอ็กชั่นเรื่องใหม่อย่าง “ท้าชน” ก็ย่อมหนีไม่พ้นการถูกตั้งคำถามในทำนองนี้เหมือนๆ กัน เพราะในขณะที่นักร้องหนุ่มวงแคลชวาดลีลาท้าชนกับคู่ต่อสู้ของเขาอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น ปริศนาข้อหนึ่งซึ่งจะผุดแทรกขึ้นมาท่ามกลางเสียงหมัดเสียงศอกของเหล่าตัวละครพันธุ์ดุก็คือ นอกไปจากแอ็กชั่นมันหฤโหดแล้ว หนังเรื่องนี้ต้องการจะบอกอะไรกับคนดู??
จากผลงานกำกับของ “ธนกร พงษ์สุวรรณ” หนังแอ็กชั่นอย่าง “ท้าชน” ดูจะสร้างจุดสนใจได้ตั้งแต่เครดิตของทีมงาน เพราะต่อให้ไม่นับรวมว่า นี่คือการข้ามสายงานมาเล่นหนังเป็นครั้งที่สองของนักร้องหนุ่มขวัญใจสาวๆ (บางคน) อย่าง “แบงค์ วงแคลช” แล้ว (อันที่จริง มันไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นอะไรอีกแล้วล่ะ ถ้าเราจะเห็นนักร้องสักคนไปโผล่ในหนังสักเรื่อง เพราะดูเหมือนว่า ยุคนี้ ใครก็เล่นหนังได้ ไม่ว่าใครคนนั้นจะเข้าใจหรือไม่ก็ตามว่า ศิลปะการแสดง เป็นอะไรที่มากกว่าการได้ไปโชว์หน้าบนจอหนัง) รายนามของคนเขียนบทที่แพ็คกันมาแบบ “แก๊ง อ๊อฟ โฟร์” ทั้ง อังเคิล วัฏลีลา, เกียรติ คงสนันท์, ทวีวัฒน์ วันทา และธนกร พงษ์สุวรรณ ที่ควบตำแหน่งกำกับการแสดงด้วย ก็ยิ่งขับเน้นความคาดหวังให้เดินทางล่วงหน้าไปหลายก้าวว่า มันคงไม่ธรรมดาแน่ๆ
และผลลัพธ์ที่ออกมา ก็ไม่มีอันใดให้ต้องผิดหวัง เพราะจากหน้าหนังที่บอกว่าจะมาแนวแอ็กชั่น ก็แอ็กชั่นกันได้ดุเดือดเลือดกระจายสมกับชื่อ “ท้าชน” ซึ่งสำหรับคนที่ใจไม่แข็ง คงต้องชี้แจงสักเล็กน้อยว่า หลายๆ ฉากอาจทำให้หัวใจคุณเต้นแรง...
ด้วยบรรยากาศการจัดแสงให้อยู่ในโทนสลัวๆ เกือบจะทั้งเรื่อง (ซึ่งก็สอดรับและเข้ากันได้ดีกับเนื้อหาของหนังที่เล่าถึงโลกอันหม่นๆ มัวๆ ของตัวละคร) “ท้าชน” เดินมาในมาดกึ่งๆ หนังแก๊งสเตอร์ที่เขย่ารวมกับเจ้าพ่อมาเฟีย และในบางอารมณ์ มันทำให้ผมนึกไปถึงงานดีๆ อย่าง Fight Club ที่ตัวละครเอกต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวพัวพันกับเกมพนันผิดกฎหมายคล้ายๆ กัน ขณะที่ลีลาแอ็กชั่นก็ดูดิบและดุดันอย่างคล้ายคลึง แต่ทว่า ถึงที่สุดแล้ว ทั้งสองเรื่องก็มี “ทาง” ที่แตกต่างเป็นของตัวเองชัดเจน เพราะในขณะที่ Fight Club ถูกทำให้เป็นเสมือนภาพแทนแห่งการต่อสู้ขัดขืนต่ออำนาจทุนนิยม แต่ “ท้าชน” กลับดูเหมือนจะพิกัดตัวเองไว้แค่เพียงการทำให้คอหนังแอ็กชั่นรู้สึก “พออกพอใจ” เท่านั้น
หลังจากพันธุ์เอ็กซ์เด็กสุดขั้ว “ปรีติ บารมีอนันต์” หรือที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดีในนาม “แบงค์ วงแคลช” กลับมาอีกครั้งในตำแหน่งนักแสดงนำ กับบทบาทของ “ไท” ชายหนุ่มมาดเข้มที่ออกจากคุกมาแล้วพบว่า พี่ชายผู้แสนดีที่คอยวิ่งเต้นหาเงินจ้างทนายสู้คดีช่วยเหลือเขามาโดยตลอดนั้น ตอนนี้ ได้นอนนิ่งไร้สติเป็นเจ้าชายนิทราจากการโดนทำร้ายมาอย่างสาหัส ดังนั้น ภารกิจหลักๆ ของไท นอกจากต้องหาเงินมารักษาพี่ สิ่งที่เขาต้องทำอีกอย่างก็คือ ตามสืบให้ได้ว่าใครเป็นคนทำร้ายพี่ชายของเขา และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ฉุดดึงชายหนุ่มให้พลัดตกเข้าไปสู่เกมกีฬาที่เดิมพันกันด้วยเลือดเนื้อและชีวิต
คำถามที่น่าสนใจ...การขึ้นจอหนังครั้งที่สองในชีวิตของหนุ่มแบงค์เป็นอย่างไร?
ตอบได้เลยครับว่า นักร้องหนุ่มดูเหมาะสมกันอย่างยิ่งกับบทของผู้ชายมาดเท่และเก๊กเข้มอยู่ตลอดเวลาคนนี้ แต่น่าเสียดายก็ตรงที่ ดูเหมือนว่า บทหนังจะไม่ได้เอื้อให้เขาเล่นอะไรได้เต็มที่เท่าไหร่นัก หรือถ้าจะพูดให้ถูกกว่านั้น ผมว่าหนังไม่มี “ซีนเด็ดๆ” ให้เขาได้ใช้ทักษะการแสดงอย่างเต็มที่เลย (อย่าบอกเชียวนะครับว่า ที่เขานัวเนียกับแฟนของพี่ชายตัวเองนั้นคือซีนเด็ด เพราะนั่นน่ะ คือฝันร้ายของพี่ชายเขามากกว่า!) ดังนั้น ถึงแม้ว่าพระเอกหนุ่มจะได้เข้าฉากแทบทุกฉาก แต่เอาเข้าจริงๆ กลับไม่มีฉากไหนเลยที่จะถือได้ว่าดีถึงขั้นน่าจดจำ (โอเคล่ะ ถ้าใครจะเถียงว่า ก็ความเท่ของเขาไงคือความน่าจดจำ อันนี้ ผมก็ไม่มีอะไรต้องแย้งเลย)
พูดกันอย่างไม่อ้อมค้อม บทของหนุ่มแบงค์ทำให้ผมนึกถึงบทของจา พนม ใน “ต้มยำกุ้ง” หรือแม้กระทั่ง “องค์บาก” ที่เดินไปข้างหน้าเพื่อจุดหมายบางอย่าง แต่หนังก็กลับหลงลืมที่จะใส่ “มิติ” ของความเป็นคนลงไปในตัวละครจนให้ความรู้สึกเหมือนกับว่า เรากำลังนั่งดูหุ่นยนต์สักตัวที่ถูกเซ็ตมาเพื่อภารกิจบางอย่างโดยเฉพาะ แต่ “ตัวตน” ของมันกลับว่างเปล่าเบาหวิว (อย่างไรก็ดี อาจจะมีบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น หนังของ จา พนม อาจได้รับ “สิทธิพิเศษ” มากกว่า ก็ตรงที่...ดูเหมือนคนดูจะเริ่มยอมรับกันได้แล้วว่า หนังหรือบทของพระเอกนักบู๊เบอร์หนึ่งของเมืองไทยไม่จำเป็นต้องมีสาระอะไรมากมายก็ได้ แค่ฟาดปากกันให้มันๆ หน่อย ก็เพียงพอแล้ว :)
จากเรื่องราวของหนังที่เกี่ยวโยงไปถึงเกมกีฬาพิลึกพิลั่นที่เดิมพันกันด้วยเลือดเนื้อและชีวิต ผมคิดว่าสิ่งที่ดูจะเป็นปัญหาพอสมควรสำหรับ “ท้าชน” ก็คือ เรื่องของประเด็นหลักของหนังที่ยังสื่อได้ไม่ชัดเจนว่าต้องการจะบอกอะไรกับคนดู ไม่เถียงครับเลยว่า หนังเรื่องนี้มีเรื่องราวอยู่ชุดหนึ่งซึ่งจะเล่าสู่คนดู และหนังก็เล่าได้ครบหมดตามลำดับ หนึ่ง สอง สาม สี่ ฯลฯ แต่คำถามสำคัญก็คือว่า แล้วประเด็นของเรื่องเล่าดังกล่าวนั้นอยู่ตรงไหน?
แน่นอน ผมไม่คิดว่า การที่ชายหนุ่มอย่างไทเอาชีวิตตัวเองเข้าแลกเพื่อหาเงินมารักษาพี่ชายนั้นเป็นประเด็นหลักของเรื่อง เพราะนั่นน่ะเป็นแค่เพียง “สถานการณ์” (Situation) หรือต่อให้เป็นอย่างนั้น ผมว่า เอาเข้าจริงๆ หนังก็ไม่เน้นย้ำอย่างหนักแน่นเพียงพอเพื่อจะโน้มน้าวให้เรา “รู้สึกร่วม” ได้อย่างจริงๆ จังๆ ว่า ที่นายไททำลงไปนั้น มันยิ่งใหญ่สมควรยกย่องมากเลยนะ
สิ่งนี้ ผมมองส่วนหนึ่งคงเป็นผลพวงมาจากน้ำหนักที่หนังวางใส่ในบทของไทนั้น ซอฟท์ไปหน่อย เพราะทั้งๆ ที่เขาเป็นตัวละครหลักของการเดินเรื่อง แต่ดูไป ดูไป เราจะพบว่าตัวละครตัวนี้แทบไม่มีความพิเศษอะไรที่แตกต่างไปจากตัวละครธรรมดาตัวอื่นๆ ที่เข้าไปเล่นเกมโหดเพื่อแลกเงิน และเหนืออื่นใด เอาไปเอามา ตัวละครที่ดูแสนจะธรรมดาอย่าง “สิงห์” (แซม เกษม) กลับดูเด่นขึ้นมาชนิดที่เรียกได้ว่าแทบจะขโมยซีนไปจากพระเอกของเราเสียด้วยซ้ำ (สังเกตไหมครับว่า ในช่วงท้ายๆ เรื่อง บทของสิงห์ดูส่องประกายกระจ่างมาก)
พ้นไปจากนี้ สิ่งที่ผมสงสัย เพราะหนังทำให้ “น่าสงสัย” ก็คือ เกมการต่อสู้ในสนามบาสฯ ที่ฝ่ายตัวโกง...ถ้าเราจะเรียกแบบนั้นน่ะนะ เพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆ ว่าไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับพระเอก...คือในขณะที่ฝ่ายตัวโกงใช้ “ตัวช่วย” อย่างท่อนเหล็กฟาดใส่ทีมของพระเอกสะบักสะบอมถึงขั้นเสียชีวิต แต่ทำไมอีกฝ่ายถึงไม่ใช้ตัวช่วยแบบนั้นบ้าง หรือเกมกำหนดมาว่าห้ามใช้ อันนี้ผมไม่รู้ แต่ก็เข้าใจนะครับว่า ที่หนังทำแบบนั้นก็เพื่อนต้องการแสดงให้เห็นถึงความแกร่งของทีมพระเอก แต่ผลข้างเคียงที่ตามมาก็คือ มันกลายเป็นรูโหว่ที่ลดความน่าเชื่อถือของหนังลงไปอย่างไม่น่าจะเป็น
แต่เอาล่ะ ไม่ว่าประเด็นหลักของหนังจะยังดูลอยๆ หรือตกๆ หล่นๆ ในบางด้าน แต่ “ท้าชน” กลับมีจุดอื่นที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากกว่า นั่นก็คือเรื่องของรายละเอียดต่างๆ ที่หนังหยิบมาใส่ซึ่งแฝงมิติทางสังคมได้ดีพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ทรงอิทธิพลหรือเจ้าพ่อมาเฟีย รวมไปจนถึงเกมกีฬาที่ถูกใช้ไปในทางผิดๆ มีเรื่องราวแห่งมิตรภาพ เท่าๆ กับที่มีการทรยศหักหลัง มีภาพชีวิตของคนที่ต่อสู้อย่างหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี ก็ยังมีคนอีกคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ก้มหัวยอมจำนน
จุดหนึ่งซึ่งผมคิดว่าหนังทำได้เกือบดีมากก็คือ การพูดถึงตัวละครธรรมดาๆ หรือชะตาชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่หาเช้ากินค่ำแต่ไม่พอใช้จนต้องไปหารายได้เพิ่มเติมจากการทำงานรับใช้พวกอยู่นอกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หนังก็แตะเรื่องเหล่านี้แค่เพียงผิวๆ คือจริงๆ แล้ว ดูเหมือนว่า หนังสามารถที่จะทำให้คนดูรู้สึกสะเทือนใจไปกับความเป็นอยู่และเป็นไปของตัวละครกลุ่มนี้ได้ไม่ยาก แต่หนังก็ไม่ทำ คล้ายกับคนที่คิดได้ แต่ก็ขี้เกียจจะคิดต่อ ยังไงยังงั้น
ผมลองคิดเล่นๆ นะครับว่า ถ้า “ท้าชน” เปรียบเสมือนกับคนคนหนึ่ง คนคนนี้ก็เป็นคนที่มีกระดูกซี่โครงที่โค้งสวยครบทุกชิ้นส่วน (หมายถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจ) ขาดเพียงอย่างเดียวก็คือ กระดูกสันหลัง (ซึ่งก็ได้แก่ ประเด็นที่เป็นแก่นแกน)
ว่ากันอย่างถึงที่สุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ของคุณธนกร นับได้ว่าเป็น “งานบันเทิง” ดีๆ ชิ้นหนึ่งซึ่งเข้าใจสร้างสถานการณ์แบบหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้ตัวละครได้โชว์แอ็กชั่นมันๆ แต่จะเป็นงานที่สื่อสะท้อนมิติทางสังคมอะไรได้ลุ่มลึกหรือไม่ ผมว่าคงไม่ถึงขั้นนั้น (แม้ว่าหนังเกือบจะทำได้)
แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าหากคุณเป็นคนที่เชื่ออยู่แล้วว่าหนังแอ็กชั่นคือหนังที่ต้องบู๊กันสะบั้นหั่นแหลกเป็นงานหลัก เชื่อขนมร้านป้าหน้าปอกซอยกินคอยได้เลยครับว่า คุณน่าจะเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งชอบ “ท้าชน”...