xs
xsm
sm
md
lg

The Sisterhood of the Traveling Pants 2 + The Womenผู้หญิงถึงผู้หญิง

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี

ภาพยนตร์เรื่อง The Sisterhood of the Traveling Pants ออกฉายในปี 2005 และทำเงินไปสมน้ำสมเนื้อ หนังสร้างจากนิยายวัยรุ่นขายดีของ แอนน์ บาร์แชร์ส ที่ออกวางจำหน่ายในปี 2001 ก่อนจะมีเล่มที่ 2, 3 และ 4 ออกมาตามลำดับ เจาะตลาดเด็กหญิงวัยกำลังโตโดยเฉพาะ

พล็อตของมันว่าด้วยเด็กสาวมัธยมปลาย 4 คนที่เป็นเพื่อนสนิทกัน แต่ละคนมีบุคลิก ท่าทาง จุดเด่นและปมปัญหาแตกต่างกันออกไป และสิ่งที่เชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน คือปรากฏการณ์ประหลาดเกี่ยวกับกางเกงยีนลายเชยๆ ตัวหนึ่งที่สามารถใส่เข้ารูปได้กับทั้ง 4 แบบพอดิบพอดี ทั้งๆ ที่เหล่าสาวน้อยมีทรวดทรงองค์เอวที่ผิดแผกกันพอสมควร

คล้ายกับหนังหรือนิยายก้าวผ่านพ้นวัยเรื่องอื่นๆ เหตุการณ์หลักๆ เกิดขึ้นในฤดูร้อน เด็กสาว 4 คนอันประกอบไปด้วย คาร์เมน, ทิบบี้, เลน่า และ บริดเจ็ต ต่างแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตช่วงวันหยุดต่างสถานที่กัน โดยทั้งหมดส่งกางเกงยีนเวียนกันไปใส่คนละสัปดาห์ และภาวนาว่าขอให้มีเรื่องมหัศจรรย์เกิดขึ้นกับตนเอง

ภาคต่อของ The Sisterhood of the Traveling Pants ออกฉายในจังหวะที่เหมาะเจาะ อเล็กซิส เบิลเดล (รับบท เลน่า) นั้นโด่งดังอยู่แล้วจากซีรีส์ Gilmore Girls, แอมเบอร์ แทมบลิน (รับบท ทิบบี้) ก็มีซีรีส์ดังเป็นของตนเองคือ Joan of Arcadia แต่คนที่แรงแบบฉุดไม่อยู่จริงๆ ทางจอทีวีก็คือ อเมริกา เฟอร์เรร่า (รับบท คาร์เมน ศูนย์กลางของเรื่อง) กับ Ugly Betty และ เบลค ไลฟ์ลี่ (รับบท บริดเจ็ต) จาก Gossip Girl

เรื่องราวในภาค 2 ห่างจากภาคแรก 2 ปี เด็กสาวทั้ง 4 เข้าเรียนมหาวิทยาลัย บริดเจ็ตเรียนโบราณคดี, ทิบบี้เรียนภาพยนตร์ที่นิวยอร์ก, เลน่าเข้าวิทยาลัยศิลปะ ส่วนคาร์เมนนั้นเรียกเอกการละครที่เยล การต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ๆ ทำให้มิตรภาพที่เคยแน่นแฟ้นคลายตัวลงไปบ้าง คาร์เมนอ่อนไหวกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ และยังทำใจไม่ได้เมื่อเธอพบว่า “พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ” นั่นคือการส่งมอบกางเกงยีนไม่ได้มีความหมายลึกซึ้งกับเพื่อนคนอื่นๆ อีกแล้ว

โดยอิงจากนิยายเป็นหลัก ทั้ง 4 สาวได้เจอกับปัญหาใหม่ๆ ที่ซับซ้อนกว่าเดิม เลน่าพบว่าหนุ่มชาวกรีซคนที่ให้สัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะกับเธอเมื่อ 2 ปีก่อน เตรียมตัวแต่งงานเพราะทำผู้หญิงคนอื่นท้อง, บริดเจ็ตต้องเรียนรู้ความสูญเสียและเผชิญหน้ากับอดีตที่ค้างคาใจเกี่ยวกับแม่ของเธอ, ทิบบี้หาผู้ชายที่เข้ากับคนแปลกๆ อย่างเธอได้เสียที แต่การยอมเสียความบริสุทธิ์ครั้งแรก ดันนำเรื่องหนักใจมาให้จนได้ ทิบบี้กลัวว่าตัวเองจะตั้งท้อง และคนที่ไม่อยากจะรับผิดชอบภาระอะไรทั้งนั้นอย่างเธอ จะจัดการกับมันได้อย่างไร, คาร์เมนไปเข้าค่ายการละครที่เวอร์มอนต์ เธอกะจะไปเป็นแบ็คสเตจในทีแรก แต่ก็จับพลัดจับผลูได้รับบทนำในละครเวทีเสียเอง เธอต้องผิดใจกับเพื่อน และหลังจากที่เก้ๆ กังๆ อยู่นาน เธอก็เริ่มเปิดตัวเองกับหนุ่มรูปงามที่เข้ามาตีสนิทกับเธอ

เพราะเป้าหมายที่ไม่ได้วางไว้สูงเกินไปนัก The Sisterhood of the Traveling Pants 2 จึงเป็นหนังสบายๆ ที่พอเพียงทั้งความบันเทิงและสาระ การคาดหวังความเฉียบคมหรือความแยบยลในการนำเสนอ คงเป็นเรื่องผิดที่ผิดเวลา มันเป็นหนังที่มีราคาเฉพาะในตลาดของมันเอง นั่นคือเด็กวัยรุ่นผู้หญิง
...
The Women ของผู้กำกับ ไดแอน อิงลิช ก็เป็นหนังสำหรับผู้หญิงเช่นเดียวกัน แต่วัยของผู้ชมและตัวละครคงผ่านพ้นเวลาของความฝันอันแสนหวานมาสักระยะแล้ว หนังพูดถึงโลกของผู้หญิงในวัยผู้ใหญ่ ที่ต้องวุ่นวายกับปัญหาชีวิตคู่ การเข้าสังคม พร้อมๆ กับที่ต้องประคองความสุขส่วนตัวไปด้วย

หนังดัดแปลงมาจากภาพยนตร์คลาสสิคปี 1939 ชื่อเดียวกันนี้ของผู้กำกับ จอร์จ คิวเกอร์ ซึ่งต้นฉบับนั้นเป็นการรวมพลังดาราหญิงของสตูดิโอเอ็มจีเอ็มอย่างเต็มพิกัด ได้แก่ นอร์ม่า เชียร์เรอร์, โจน ครอวฟอร์ด, โรซาลินด์ รัสเซลล์, พอแลตต์ โกดาร์ด, โจน ฟอนเทน และ แมรี่ โบแลนด์ เป็นอาทิ ทั้งนี้ทั้งนั้น หนังไม่มีนักแสดงชายปรากฏขึ้นในฉากแม้แต่นิดเดียว ฉบับหนังของคิวเกอร์เป็น escapist เต็มรูปแบบ หนังพาคนดูเพริดไปกับโลกอันสวยงามของสาวสังคมที่มีสไตล์ทุกกระเบียดนิ้ว และการวิพากษ์สิทธิสตรีไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์หลัก ผู้ชมไม่ต้องการเนื้อหาที่หนักหนามากกว่าไปการมาชื่นชมความงามของดาราคนโปรด

รัศมีของดาราฮอลลีวู้ดในยุคปัจจุบัน เทียบกันไม่ได้เลยกับความเจิดจรัสของดาราดังในยุคทองของระบบสตูดิโอ รายชื่อดาราหญิงในย่อหน้าข้างต้นไม่ต่างอันใดกับสมมติเทพ พวกเธอหลายคนอยู่ไกลเกินเอื้อมถึงและลึกลับเย้ายวนจนน่าค้นหา (ในขณะที่เราได้เห็นทุกซอกทุกมุมของบริทนีย์ สเปียร์สอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนเราอาจจะรู้จักตัวเธอมากกว่าตัวเธอเองเสียด้วยซ้ำ)

The Women ดัดแปลงมาจากบทละครของ แคลร์ บูธ ลูซ ซึ่งออกแสดงในบรอดเวย์เมื่อปี 1936 ถ้าเทียบกับเวอร์ชั่นล่าสุดของไดแอน อิงลิช ก็มีอายุห่างกัน 72 ปีพอดี
ในยุค 30 เป็นยุคที่เรายังไม่มีโทรทัศน์, โทรศัพท์มือถือ ไม่มีจิตแพทย์ที่รับปรึกษาปัญหาชีวิตคู่ แต่ธรรมชาติของเพศหญิงและเพศชายไม่ได้แปรเปลี่ยนไปมากนัก พล็อตของ The Women เริ่มต้นที่ ซิลวี (เอนเน็ตต์ เบนนิ่ง) บังเอิญไปทราบข่าวเม้าท์จากพนักงานร้านทำเล็บ (เด็บบี้ มาซาร์ - ออกมา 2 ฉาก แต่มีพลังราว 60 แรงม้า) ว่า สามีที่แสนดีของ แมรี่ (เม็ก ไรอัน) เพื่อนสนิทของเธอ แอบไปมีเมียน้อยเป็นพนักงานขายน้ำหอมชื่อ คริสตัล อัลเลน (เอวา เมนเดส)

ตามประสาเพื่อนผู้แสนดี ซิลวีนำข่าวนี้ไปบอกกับเพื่อนสนิทคนอื่นๆ ยกเว้นแมรี่ และโดยที่เวลาผ่านไปไม่นานนัก พรสวรรค์ในการซุบซิบของพนักงานร้านทำเล็บเจ้าเก่าก็ทำให้เจ้าตัวก็ทราบข่าวนี้ด้วยตนเอง เส้นเรื่องดำเนินไปเป็น 3 ส่วนย่อยๆ นั่นก็คือ การเผชิญหน้ากันระหว่างเมียหลวง (แมรี่) และเมียน้อย (คริสตัล), การค้นหาตัวเองหลังจากละทิ้งชีวิตสมรสของแมรี่ และมิตรภาพระหว่างเพื่อนหญิงด้วยกัน

ส่วนที่เพลิดเพลินที่สุดใน The Women ฉบับใหม่คือ บทสนทนาที่ราวกับเรากำลังนั่งชมละครซิทคอมชั้นดี มันจิกกัดและเหน็บแนมเหลือร้าย (แม้บ่อยครั้งจะหาสาระไม่ค่อยจะได้) คนที่คล่องตัวมากที่สุดในเรื่องนอกจากเอนเน็ตต์ เบนนิ่งแล้ว ก็มี เดบร้า เมสซิ่ง (ในบท เอดี้ เพื่อนจอมเป๋อประจำกลุ่ม) ที่ลื่นไหลกับบทตลกของตัวเองได้อย่างกระฉับกระเฉง - คนที่เป็นแฟนซิทคอม Will & Grace คงจะไม่แปลกใจเท่าไร

และเพราะหนังใช้แม่พิมพ์ที่มีอายุราว 70 ปี โครงสร้างหลายส่วนก็สึกหรอไปตามกาลเวลา แน่นอนว่า เราไม่สามารถหาความเด็ดขาดอย่างที่ต้นฉบับมันเคยเป็นได้ แต่ก็น่าสนใจว่า ผู้ชมคนไหนที่ต้องการมากกว่านั้น?

มองจากรูปลักษณ์แล้ว ทุกอย่างที่เราเห็นใน The Women คืออีกเวอร์ชั่นหนึ่งของ Sex and the City (แบบที่ไม่มีเรื่องเซ็กซ์เข้ามาข้องเกี่ยวมากนัก) ชีวิตหรูหราและฟู่ฟ่าของสตรีชั้นสูงในนิวยอร์กที่มีกิจวัตรสำคัญในแต่ละวันคืองานสังคมและการชมแฟชั่นโชว์ - - การแสดงถึงปัญหาของเพศหญิงจึงตีวงได้ในระยะแคบๆ เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น