มีการตีความกันไปต่างๆ นานา เกี่ยวกับข่าวการหย่าร้างกันของอดีตนายก "แม้ว ทักษิณ ชินวัตร" กับ ภรรยา "อ้อ พจมาน ชินวิตร" ทว่าโดยส่วนใหญ่จะมีความใกล้เคียงกันในเรื่องของการที่ทั้งสองต้องการจะรักษาทรัพย์สินเงินทองและอำนาจเอาไว้ให้ได้มากที่สุดหากมีการยึดทรัพย์กันขึ้นมาจริงๆ
กรณีทำนองนี้ (หย่าเพราะจะได้สะดวกในเรื่องของการเขียนเช็ค เซ็นเช็ค เรื่องภาษี เรื่องสมบัติ) ถ้าใครจำได้ ในรายของคู่รักนักร้อง-นักแสดง อย่าง "อ๊อด โอภาส" กับ "แก้ว อภิรดี" ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่พอสมควร
ที่ผ่านมาอดีตนายกคนนี้ถูกสร้างภาพให้ดูดีเหลือกันในฐานะของพ่อที่มีความรักเมีย รักลูก รักครอบครัว การเดินทางมาถึงจุดของคำว่า "หย่า" นี้จึงดูเหมือนจะเป็นการตัดสินใจที่ถ้าเป็นนักพนันในวงไพ่ก็คงต้องบอกว่านี่คือการทิ้งไพ่ใบสุดท้ายแล้วเกเงินพนันที่มีอยู่แบบหมดหน้าตัก
เหตุผลที่จริงเป็นเช่นไร? และทำไปเพื่ออะไร? คนที่รู้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นคนสองคนที่หย่ากัน
แต่ที่ผมว่าน่าสนใจก็คือ "คุณค่า" ของคำว่ารักที่ถูกตีราคาเป็น "มูลค่า"
งานแต่ง-การจดทะเบียน แน่นอนว่าภาพโดยรวมของมันในความคิดของคนส่วนใหญ่อาจจะมองหรือรู้สึกว่า ก็แค่เรื่องของประเพณีกับข้อผูกมัดทางกฏหมาย กระทั่งบ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำพูดในทำนองที่ว่า...ไม่เห็นต้องแต่ง ไม่เห็นต้องจดฯ เลย รักกันก็อยู่ด้วยกัน ไม่เห็นจะเกี่ยวกันตรงไหน แต่งทำไมให้เปลือง จดฯ ทำไมให้วุ่นวาย...แต่ใครจะตอบได้หรือไม่ว่าทั้งสองกรณีที่ว่านี้ไม่มีความผูกพันเกี่ยวโยงในเรื่องของความรู้สึกทางด้านจิตใจ(ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย)เข้ามาเกี่ยวข้องเอาเสียเลย
เพราะอย่างน้อยทั้งงานแต่ง หรือแม้กระทั่งการจดทะเบียน(โดยเฉพาะสำหรับคนที่คิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ(แต่ก็ยังทำ))มันก็คือ "พยาน" อย่างหนึ่งที่ทำให้นามธรรมของคำว่า "รัก" และคำว่า "ครอบครัว" มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นในเชิงของรูปธรรมใช่หรือไม่?
และอีกอย่างน้อยๆ มันก็เป็นเครื่องหมายแห่งการเสียสละที่ทำให้ฝ่ายที่ต้องการเกิดความสบายใจใช่หรือไม่?
อย่างที่เรียนไปแล้วว่า ผม(ซึ่งรวมถึงใครหลายคน)และคนส่วนใหญ่คงไม่มีสิทธิ์รู้หรอกว่า การหย่าครั้งนี้ของอดีตนายกฯ ทักษิณมีนัยอะไรแอบแฝง แต่ทั้งนี้ผมก็มีสิทธิ์ที่จะคิดได้ใช่มั้ยว่าสำหรับใครก็ตามที่มองแต่ผลประโยชน์ในเชิงของอำนาจ ทรัพย์สินเงินตราเป็นที่ตั้ง ยอมกระทำทุกวิถีทาง-ยอมเสียทุกอย่างเพียงเพื่อขวนขวายหาสิ่งเหล่านี้มาครอบครองเอาไว้ให้ได้เยอะที่สุดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ โดยไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักพอแล้วละก็...
คงเป็นเรื่องยากเหลือเกินครับที่คนเหล่านี้จะค้นพบคำว่าความสุขหรือแม้กระทั่งความรักที่แท้จริง
...
เรื่องกรณีการหย่าทั้งที่ยังรักของคุณทักษิณทำให้ผมนึกถึงหนังเกาหลีเรื่อง "OldBoy" ขึ้นมา (ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้วก็แทบจะไม่เกี่ยวกันเลย)
เรื่องนี้โด่งดังมากในแดนโสม เป็นผลงานของผู้กำกับคนดัง Park Chan Wook และมีรางวัลการันตีมากมาย อาทิ 2005 Hong Kong Film Awards ครั้งที่ 24 ในสาขา Best Asia Film, 2004 British Independent Film Awards ในสาขา Nomination - Best Foreign Film, 2004 Cannes Film Festival ในสาขา Winner Grand Jury Prize และ Nomination Palm D'Or, 2004 European Film Awards ในสาขา Nomination - Screen International Award ฯ
เป็นหนังที่เจ๋งกระทั่ง "เควนติน ทาเรนติโน" เคยออกมาชื่นชมกันอย่างออกหน้าออกตามาแล้ว
ต้องชี้แจงท่านที่อ่านก่อนว่า ข้อเขียนจากนี้ไปแม้จะไม่เยิ่นเย้อหรือแทบจะไม่ได้เล่าลงรายละเอียดใดๆ เลย แต่ก็เฉลยปมสำคัญของหนังอันจะทำให้ท่านที่ไม่เคยดูจะต้องเสียอรรถรสไปเยอะถึงเยอะที่สุด เพราะฉะนั้นใครที่ไม่อยากเสียอรรถรส ใครที่ชอบดูหนังที่เครียดๆ ประเด็นแรงๆ ดูแล้วคิดมาก สะเทือนอารมณ์-ความรู้สึก และจิตสำนึก ยืนยันว่าควรจะหยุดอ่านนับจากบรรทัดด้านล่างนี้ไป
แบบสรุปเลยนะครับ Oldboy ว่าด้วยเรื่องราวการค้นหาความทรงจำที่ขาดหายไปและการแก้แค้นของ "โอแดซู" (CHOI Min-sik) ต่อชายลึกลับที่ใช้รหัสว่า Evergreen ผู้ซึ่งสังหารโหดครอบครัวและจับเขาขังอยู่ในคุกลับเป็นเวลานานกว่า 15 ปี โดยมี "มิโดะ" (GANG Hye-jung) หญิงสาวที่ปรากฏตัวขึ้นมาพร้อมกับคำสัญญาว่าจะช่วยเขากระทำการดังกล่าว
ด้วยความผูกพันทำให้ทั้งสองเริ่มรู้สึกดี และมีเพศสัมพันธ์ต่อกันอย่างเร่าร้อนในค่ำคืนหนึ่ง
เรื่องดำเนินไปพร้อมๆ กับความลึกลับที่ค่อยๆ ถูกคลี่คลาย และความทรงจำเก่าที่ขาดหายไปเพราะการถูกสะกดจิตค่อยๆ กลับคืนมา กระทั่ง "โอแดซู" ได้รับรู้ว่าชายที่ใช้รหัสว่า Evergreen (ที่ปรากฏให้เขาเห็นในหลายๆ ครั้งนั้น) มีชื่อว่า "อีวูจิน" (YOO Ji-tae) ซึ่งเคยเรียนอยู่ในเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกันในสมัยมัธยม
นอกจากนี้ "โอแดซู" ก็ได้รับรู้ว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นเกมส์ที่เกิดจากการกำหนดของ "อีวูจิน" ที่ต้องการจะแก้แค้นเขาซึ่งไปแอบเห็นพฤติกรรมล่อแหลมทางเพศระหว่าง "อีวูจิน" กับน้องสาวตนเองและนำไปบอกเพื่อนสนิทจนข่าวแพร่กระจาย กระทั่งฝ่ายหญิงต้องฆ่าตัวตาย!
เรื่องเหมือนจะคลี่คลายและจบลงเพียงเท่านี้ แต่แล้วในตอนท้าย ระหว่าง "โอแดซู" บุกเข้าไปหา "อีวูจิน" เขาก็ต้องเจ็บปวดราวกับตกนรกทั้งเป็น เมื่อได้รับรู้ว่า "มิโดะ" เป็นลูกสาวในสายเลือดของเขาเอง!
Oldboy เป็นหนังที่มีทั้ง แอ็กชั่น (ใครที่คิดว่าฉากคนต่อยกันใน Fight Club (1999) โหดสมจริงแล้ว นี่คือหนังที่มีความสมจริงมากกว่า) ดรามา ซาดิสต์ สืบสวนสอบสวน โรคจิต ผสมกันอย่างลงตัว การเล่าเรื่องเป็นไปอย่างบีบเค้นอารมณ์-น่าติดตาม ภาพและบทเจรจาค่อนข้างจะรุนแรง และมีเนื้อหาที่อึดอัด-หดหู่ รวมถึงมีสัญลักษณ์ที่ให้ตีความมากมายเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงของจิตวิทยา (ใครสนใจสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.kumlungjai.com/index.php?option=com_content&task=view&id=53&Itemid=39)
มีช่วงหนึ่งระหว่างการสนทนากันของ "อีวูจิน" ที่บอกกับ "โอแดซู" เกี่ยวกับ "มิโดะ" ก็คือ...ถึงเขาอาจจะให้คนสะกดจิตเพื่อให้ทั้งสองพบเจอกันก็จริง ทว่าการที่คนสองคนที่เจอกันแล้วจะรู้สึกดีต่อกันถึงขั้นที่จะมีความรักนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นหรือมีใครมากำหนดได้ง่ายๆ
"อีวูจิน" อาจจะรู้สึกว่ารักของเขาที่มีต่อน้องสาวนั้นยิ่งใหญ่(กระทั่งนำมาซึ่งการแก้แค้นที่ต้องรอเวลาถึง 15 ปี) เพราะเขารู้อยู่แล้วถึงสถานภาพของตนเองก่อนจะมีรัก ผิดกับรักของ "โอแดซู" ที่มีต่อ "มิโดะ" ซึ่งความรู้สึกในคำว่ารักได้แปลเปลี่ยนไปในทันทีที่รู้สถานะของตนเองและฝ่ายหญิง...แต่ในความเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
ผมเองก็ไม่มีคำตอบหรอกครับ เพียงแค่สงสัยว่า ในเมื่อรักคือสิ่งที่สวยงามแล้ว ทำไมในหลายครั้งทั้งในภาพยนตร์และในชีวิตจริง คนที่มีรักอย่างบริสุทธิ์ใจจะต้องได้รับความเจ็บปวดด้วย
หรือความเจ็บปวดที่ว่าก็แค่กฏเกณฑ์ทางความรู้สึกที่มนุษย์สังคมตีกรอบกฏเกณฑ์ล้อมจำกัดความคำว่า "รัก" เอาไว้