xs
xsm
sm
md
lg

Truth or Dare: 6th Floor Rear Flat : พันธุ์หมาบ้า

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


ในขณะที่เด็กไทยจำนวนมาก ต้องทนทุกข์กับการแบกรับความคาดหวังจากพ่อแม่ตั้งแต่พวกเขาเข้าเรียนอนุบาลจนกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัย เลยไปถึงการมีการงานที่มั่นคง แต่เด็กๆ ฮ่องกงส่วนใหญ่โยนทิ้งสัมภาระของผู้ปกครอง และพยายามยืนด้วยลำแข้งและความฝันของตนเอง

พวกเขาหลายคนเลือกที่จะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย (นั่นก็เพราะระบบการศึกษาอันดีเยี่ยมของประเทศ ที่ถ้าเพียงคุณเรียนจบมัธยมปลาย คุณก็สามารถทำงานได้เกือบทุกประเภท) และส่วนใหญ่นั้น เลือกที่จะหกคะเมนตีลังกากับชีวิต โดยไม่สะท้านกับความเสี่ยงทั้งปวง

ชีวิตบ้าๆ บอๆ ของเด็กวัยรุ่นในฮ่องกงถูกบอกเล่าอย่างผ่อนคลายในหนังของ บาร์บาร่า หว่อง เรื่อง Truth or Dare: 6th Floor Rear Flat มันออกฉายในปี 2003 และกลายเป็นหนังวัยรุ่นที่บริสุทธิ์มากเรื่องหนึ่งจากฮ่องกง

หว่องเคยเป็นดาราโนเนมมาก่อน แต่ได้รับความสนใจจากการทำหนังอิสระและสารคดี เธอเล่าว่าระหว่างที่กำลังหาข้อมูลทำสารคดีอยู่นั่นเอง เธอได้พบกับเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่อายุเพิ่งย่างเข้าเลขสอง - สุมหัวอาศัยอยู่ในแฟลตโทรมๆ ราคาถูก และปาร์ตี้กันแบบคืนเว้นคืน พวกเขาไม่เอาไหนเลยสักอย่าง แต่พวกเขาดูมีความสุขมาก

นั่นทำให้เธอย้อนนึกไปถึงชีวิตของตัวเองเมื่อราวสิบกว่าปีที่แล้ว หลังจากเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอไม่ได้คิดถึงอนาคตของตัวเอง มากไปกว่าพรุ่งนี้จะมีใครมาขอเธอเดทหรือไม่ เธอหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเป็นดีเจ และราวสามปีหลังจากนั้น เธอถึงจะมุ่งหน้าไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่อเมริกา

เด็ก 6 คนในแฟลตชั้น 6 ประกอบไปด้วย คาริน่า (คาริน่า หลั่ม), แคนดี้ (แคนดี้ โหล), ฌอง (แพทริก ถัง), อาหวิง (ลอว์เรนซ์ โจว), อาโป๋ (แซมมี่ เหลียง) และ ลีโอ (รอย โจว) กิจวัตรประจำวันที่ขาดไม่ได้คือการกินเหล้าเมาเละทุกคืนไป โดยเกมโปรดของพวกเขา (และสมัครพรรคพวกที่แวะเวียนมาไม่ซ้ำหน้า) คือการเล่นเกม Truth or Dare ซึ่งกติกามีอยู่ว่า ผู้เล่นต้องเลือกระหว่าง Truth (ตอบคำถามส่วนตัวที่เพื่อนถามด้วยความสัตย์จริง) หรือ Dare (รับคำท้าให้ทำอะไรประหลาดๆ แล้วแต่เพื่อนจะสั่ง) - - มันเป็นเกมที่หาสาระอะไรไม่ได้ นอกจากฆ่าเวลาอันน่าเบื่อให้ผ่านไปอย่างรวดเร็วด้วยเสียงหัวเราะ

แน่นอน ตัวละครหลักแต่ละตัวก็มีจุดขัดแย้งแตกต่างกันออกไป คาริน่า อยากเป็นนักเขียน และเธอกำลังตกหลุมรัก บก.หนุ่มคนหนึ่งทั้งๆ ที่เธอได้พูดคุยกับเขาทางโทรศัพท์เท่านั้น เธอฝันว่าเมื่อหนึ่งปีผ่านไป เธอจะได้ตีพิมพ์นิยายของเธอ รวมถึงได้เป็นแฟนกับบก.หนุ่มผู้นั้น, แคนดี้ เปิดร้านขายของในตลาดนัด แต่กิจการก็ซบเซา วันๆ เธอจึงนั่งจับเจ่าดูไพ่ยิปซีให้ตัวเอง เธอหวังว่าในไม่ช้านี้ จะมีหนุ่มๆ มาขายขนมจีบให้เธอหายเหงาได้บ้าง

ฌอง เป็นลูกเศรษฐีที่ไม่อยากพึ่งพาพ่อแม่ เขาพยายามทำธุรกิจแบบไม่มีกลยุทธ์อะไร และหวังว่าตนเองจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ, อาหวิงหนีแม่มาจากอเมริกา เพื่อจะมาเป็นนักร้องออกอัลบั้มเดี่ยว ทั้งๆ ที่ตนเองสอบเข้าโรงเรียนแพทย์ได้แล้วก็ตาม, อาโป๋ ทำงานใส่หุ่นมาสคอตตามห้างสรรพสินค้า งานที่น่าเบื่อที่สุดในบรรดาเพื่อนๆ ทั้งหมด ชีวิตของโป๋นั้นช้ำนัก เขาโดนแฟนสาวบอกเลิกไปอย่างไม่ไยดี หลังจากนั้นเขาก็พบว่าที่แท้จริงแล้วตนเองเป็นเกย์ แต่ก็ยังคิดถึงแฟนสาวคนนั้นไม่หาย, ลีโอ หนุ่มแว่นท่าทางหงิมๆ ที่พูดจาน้อยกว่าทุกคน เขามักจะนั่งสูบบุหรี่อยู่เงียบๆ และแอบมองคาริน่าด้วยความเป็นห่วงเป็นใยในแบบที่มากกว่าเพื่อน แต่ก็ไม่กล้าพูดอะไรออกไป ลีโอพิเศษกว่าเพื่อนๆ คนอื่นตรงที่ เขาเป็นคนเดียวในกลุ่มที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย

ในคืนที่เกม Truth or Dare ดำเนินไปอย่างบ้าคลั่ง และมีสมาชิกใหม่มาร่วมเล่นเกม คือ ซูซี่ หญิงชราอารมณ์ดีที่อาศัยอยู่ห้องติดๆ กัน เพื่อนคนหนึ่งท้าทั้ง 6 คนว่า ให้เขียนความปรารถนาอันสูงสุดแล้วใส่ลงไปในขวดแก้ว และหากภายในเวลา 1 ปี ทั้ง 6 คนทำตามความฝันของตนไม่สำเร็จ พวกเขาจะต้องรับประทานอุจจาระของซูซี่ให้คนอื่นที่เหลือชม

ทั้งหมดตอบตกลงด้วยนิสัยรักสนุก ก่อนที่จะพบบทเรียนเดิมๆ ที่พวกเขาทราบกันดีอยู่แล้ว คือความฝันไม่เคยง่ายที่จะไปถึง

บาร์บาร่า หว่อง เล่าเรื่องอย่างพื้นๆ เช่นการถ่ายภาพก็ไม่ได้หวือหวาซับซ้อน โดยไม่พยายามให้มันสมจริงหรือเหนือจริงเกินไป ฉากหลายฉากใส่อารมณ์ทีเล่นทีจริงลงไปด้วย ตามแบบฉบับหนังฮ่องกงที่อดไม่ได้ ที่จะใส่มุกตลกเฝือๆ ให้กระจายไปตลอดเรื่อง

ยกตัวอย่างในตอนของแคนดี้ เมื่อเธอพบว่า ไพ่ยิปซีนั้นทำนายแม่นเกินจริง เธอมีผู้ชายมาติดพันพร้อมกันถึงสองคน และทั้งคู่เป็นตำรวจหนุ่มอนาคตไกล เธอเพ้อฝันไปว่า ตัวเธอและหนุ่มสองคนนั้น อยู่ในหนังเรื่อง Hero ของจางอี้โหมว สองบุรุษฟาดฟันห้ำหั่นกัน เพื่อหมายปองสตรีเพียงหนึ่งเดียวคือเธอ หรือในตอนที่เธอเล่าให้ฟังว่า ความฝันอันสูงสุด คือการได้ไปเที่ยวปารีสกับแฟนหนุ่ม บาร์บาร่า หว่องก็เปลี่ยนฉากหลังเป็นภาพหอไอเฟลในทันที ชนิดที่ไม่ยำเกรงความประดักประเดิดทางอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

หรือในตอนที่แม่ของอาหวิง (นักร้องสาวใหญ่ เทเรซ่า คาร์ปิโอ มาเล่นบทรับเชิญ) มาลากตัวลูกชายกลับอเมริกาด้วยตนเอง หลังจากที่สวดทุกคนพอเป็นพิธี เธอก็เดินไปที่เปียโนและบรรเลงเพลงที่พูดถึงความฝันอย่างไม่ทันให้คนดูตั้งตัว มันเป็นฉากเชยแสนเชยที่คาดเดาได้ว่า ฉากนี้จะคลี่คลายไปในทิศทางไหน แต่หนังก็ทำออกมาซื่อๆ จนเราไม่อยากไปเอาผิดกับความเสียหายที่เล็กน้อยเช่นนี้

และเอาเข้าจริงๆ ฉากที่ว่าก็จบลงด้วยความซาบซึ้งใจเล็กๆ อาหวิงไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า แม่จอมบงการของเขาเล่นดนตรีและร้องเพลงได้วิเศษขนาดนี้ และนี่เองเป็นคำตอบแบบนัยๆ ที่แม่พยายามจะบอกกับเขา บางทีเราก็ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งหาความฝันขนาดนั้น และบางทีเราอาจต้องประนีประนอมกับเงื่อนไขที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของชีวิตเสียบ้าง

Truth or Dare: 6th Floor Rear Flat เป็นหนังที่ดูสนุกพร้อมกับมีเรื่องเจ็บๆ คันๆ หัวใจให้คิดบ้างสำหรับคนดูที่มักจะตั้งคำถามว่า เราจะตามหาฝันไปทำไม น่าเสียดายที่หลังจากนี้ ผลงานของบาร์บาร่า หว่อง ดูจะอยู่ในขั้นที่น่าผิดหวังทั้งสิ้น ตั้งแต่หนังตลกร้ายอย่าง Six Strong Guys (2004) หรือหนังชีวิตผู้หญิงในช่วงการคืนเกาะฮ่องกงสู่จีนอย่าง Wonder Women (2007) ก็กลายเป็นงานสุดยอดทะเยอทะยานแบบไม่สัมฤทธิ์ผล

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน บาร์บาร่า หว่อง นำหนังเรื่องใหม่ของเธอออกฉาย นั่นก็คือ Happy Funeral ซึ่งถือเป็นภาคต่อของ Truth or Dare: 6th Floor Rear Flat โดยเนื้อเรื่องจับไปที่เด็กกลุ่มใหม่ที่ย้ายเข้ามาอาศัยในแฟลตแห่งนี้ พล็อตวนอยู่คล้ายเดิม ขาดความสดไปมาก และคาดเดาได้

ใน Happy Funeral ตัวละครจากภาคเก่ากลับมาให้คนดูเห็นอยู่ประมาณ 3-4 คน บางคนก็ลุล่วงกับปัญหาส่วนตัวไปได้แล้ว และบางคนก็ยังต่อสู้กับความฝันของตัวเองเหมือนเดิม

แสดงว่า ในหนังหรือชีวิตจริงก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก ก็คือ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความเสร็จก็ไม่ได้อยู่ที่นั่นเสมอไป




กำลังโหลดความคิดเห็น