โดย : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
หลังจากได้ยินได้ฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงพลานุภาพของ “ปืนใหญ่” กระบอกนี้มานานพอสมควร ในที่สุด ปืนใหญ่นัดแรกก็ถูกจุดชนวนขึ้นอย่างเป็นทางการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับสตาร์ทรายได้เปิดตัวฉายในวันแรกเป็นสถิติสูงสุดแห่งปี 12 ล้านบาท ซึ่งเชื่อแน่ว่า คงตามมาอีกหลายสิบล้าน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า “ปืนใหญ่จอมสลัด” จะเป็นหนังไทยเรื่องแรกของปีนี้ที่แตะตัวเลขร้อยล้านบาทได้สำเร็จหรือไม่ เมื่อหันมามองที่ตัวหนัง เราจะพบเห็นรายละเอียดที่น่าสนใจหลายๆ อย่างรายล้อม “ปืนใหญ่” กระบอกนี้อยู่รอบด้าน ที่สำคัญที่สุด หากวัดจากเครดิตทีมงานทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ผู้กำกับ คนเขียนบท ทีมนักแสดง ฯลฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบประมาณการสร้างกว่า 200 ล้านบาท ก็ทำให้ “ปืนใหญ่จอมสลัด” เหมือนมีแม่เหล็กดึงดูดความสนใจอยู่รอบทิศทาง และตกอยู่ในสถานการณ์ “ถูกคาดหวัง” อย่างไม่อาจจะเลี่ยงได้...
ด้วยทิศทางของความเป็นหนังแอ็กชั่นแฟนตาซี ผลงานล่าสุดของผู้กำกับ “อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” พาคนดูเดินทางย้อนหลังกลับไปในดินแดนลังกาสุกะเมื่อประมาณ 400 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากจุดเริ่มต้นเพียงเท่านี้ เราก็จะเริ่มเห็นแล้วว่า งานนี้ไม่ใช่ของกล้วยๆ แน่นอน เพราะอย่างน้อยที่สุด ภาระแรกที่หนังต้องแบกรับก็คือ การดีไซน์ฉาก โลเกชั่น สถานที่ต่างๆ รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ฯลฯ ซึ่งต้องให้แมตช์กับ “สิ่งที่เป็นอยู่จริง” ในช่วงเวลานั้น และกับผลลัพธ์ที่ออกมา ต้องยอมรับว่า “เอก เอี่ยมชื่น” ผู้ออกแบบงานสร้างมีความพิถีพิถันและเก็บรายละเอียดได้ดี หรืออย่างน้อยๆ ผมว่า หนังก็สามารถทำให้เราเชื่ออย่างสนิทใจได้ว่า เรากำลังอยู่กับเหตุการณ์ที่เป็นอดีตจริง
ขณะเดียวกัน เทคนิคด้าน cg (คอมพิวเตอร์กราฟฟิค) ซึ่งอุ๋ย-นนทรีย์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในสื่อหลายๆ แห่งว่า ได้รับคำชมมาพอสมควรจากการได้ไปฉายเปิดตัวในเทศกาลหนังหลายๆ ที่ในต่างประเทศนั้น ก็ไม่ใช่แค่คำคุยโวโอ้อวดแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ยังพูดได้เลยว่า ปืนใหญ่จอมสลัดเรื่องนี้น่าจะถือเป็น “มาตรฐานใหม่” ที่ดีสำหรับแวดวงซีจีเมืองไทย แม้ด้วยงบประมาณที่จำกัด แต่หลายๆ ฉากก็ทำออกมาได้โอ่อ่าอลังการแลดูน่าตื่นตาตื่นใจ
เหนืออื่นใด ปัจจัยที่เข้ามาเพิ่มองศาความน่าสนใจให้สูงขึ้นอย่างมากมายนั้นและกลายเป็น “กระแส” อย่างหนึ่งที่ดึงคนหลายๆ คน (โดยเฉพาะหนอนหนังสือ) ให้ตัดสินใจเดินเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ ก็คือ “วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัยที่ขยับมาเขียนบทหนังเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งจากเนื้องานที่ออกมา ก็พิสูจน์แล้วว่า คุณวินทร์นั้นไม่มีอันใดให้ต้องกังขาในฝีไม้ลายมือการผูกและเล่าเรื่องที่มีความต่อเนื่องของเรื่องราวเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งนี่ก็ถือเป็นความช่ำชองของนักเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายมืออาชีพโดยแท้
มองโดยภาพรวมทั้งหมด ผมว่า ปืนใหญ่จอมสลัด สามารถตอบโจทย์ของตัวเองได้ดีในความเป็นหนังแอ็กชั่นแฟนตาซี โดยเฉพาะจินตนาการในด้านแฟนตาซีนั้น แม้ไม่ถึงกับเรียกว่าบรรเจิดอะไรมาก แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็ดูน่าอัศจรรย์ใจที่ได้เห็น ขณะที่ความเป็นแอ็กชั่น สิ่งที่น่าให้คะแนนมากที่สุดคงเป็นเรื่องของความหลากหลายในลีลาบู๊ ซึ่งมีทั้งดาบ กระบี่ หมัดมวย นินจา ไม่เว้นแม้กระทั่งพลังฝ่ามือ (ซึ่งอันหลังนี้เชื่อว่าคุณวินทร์คงได้จินตนาการมาจากหนังสือพวกนิยายกำลังภายในที่คุณวินทร์บอกว่าก็ชอบอ่าน)
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความน่าชื่นชมในหลายๆ ส่วนของหนังเรื่องนี้ หากเราจะลองถอยออกมาแล้วมองเข้าไปใหม่อีกรอบหนึ่ง เราจะพบว่า ผลงานชิ้นนี้ของอุ๋ย-นนทรีย์ ยังมี “จุดด้อย” อยู่จำนวนหนึ่งซึ่งน่าติติงด้วยความหวังดีเป็นอย่างยิ่ง...“หวังดี” เพราะว่า นี่คือหนังที่คนทำมีความตั้งอกตั้งใจ ไม่มักง่าย หรือสุกเอาเผากิน และแน่นอนที่สุด นี่คือหนังไทยอีกเรื่องที่จะเป็นหน้าเป็นตาให้กับวงการภาพยนตร์ไทยในเวทีนานาชาติ...
อันดับแรกสุดที่ต้องพูดถึงก็คือ ความมากมายของตัวละครกับความหลากหลายของเรื่องราวซึ่งจำเป็นต้องถูกเล่าภายในเวลาเพียงสองชั่วโมง ซึ่งมันกลายมาเป็นปัญหาของหนังอย่างหนึ่งของหนังอย่างเห็นได้ชัด เพราะเวลาที่จำกัดบวกกับความหลากหลายที่กระจัดกระจายห้อมล้อมอยู่รอบทิศทาง บังคับให้หนังจำเป็นต้องรีบเร่งและรวบรัดตัดความ แม้ในด้านหนึ่ง อาจจะดูเป็นความกระชับฉับไว แต่สิ่งที่เสียไปก็คือ การไม่ได้ลงลึกหรือให้น้ำหนักกับตัวละครตัวใดตัวหนึ่งหรือจุดหนึ่งจุดใดได้อย่างเต็มที่ อาการข้างเคียงที่ตามมาก็คือ แม้ว่าหนังจะมีนักแสดงดังๆ มากันเป็นกองทัพ แต่ก็ไม่มีใครที่จะ “โดดเด่น” เหนือคนอื่นๆ อย่างแท้จริง
ในแง่นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณวินทร์กังวลกับตัวละครและเรื่องราวมากเกินไปและอยากเก็บเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดได้มาใส่ไว้ในหนังให้ครบหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ แต่บางความรู้สึก มันดูเหมือนกับว่า เรากำลังนั่งดูสไลด์โชว์ที่เรื่องราวในหนัง Flow ไปข้างหน้าเรื่อยๆ แบบ “แตะแล้วผ่าน” แม้ในบาง Moment ที่หนังควรจะเค้นให้คนดูเกิดความอินกับเรื่องราวได้ แต่หนังก็เดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น แม้ว่า “เรื่องราว” หรือ “สถานการณ์” ต่างๆ จะยังคงอยู่ แต่สิ่งที่ขาดหายไปอย่างน่าเสียดายก็คือ ส่วนที่เป็นความรู้สึก (Feeling) สุดท้ายก็ส่งผลให้ “ปืนใหญ่จอมสลัด” กลายเป็น “หนังเล่าเรื่อง” ที่เล่นกับสถานการณ์ไปเรื่อยๆ (และเร็วมากๆ!!)
อันที่จริง คุณวินทร์ซึ่งเป็นผู้เขียนบท พัฒนาบทหนังเรื่องนี้ขึ้นมาพร้อมๆ กับงานเขียนในรูปแบบนิยายที่ชื่อว่า “บุหงาปารี” ซึ่งในส่วนที่เป็นนิยายนั้นไม่มีปัญหาอะไรแน่นอน เพราะจะเล่ายาวเล่าสั้นตรงไหนอย่างไรก็ได้ แต่เมื่อมาเป็นบทหนังที่ต้องอยู่ในเวลาอันจำกัด อรรถรสหลายๆ อย่างแบบที่ได้อ่านในหนังสือจึงจำเป็นต้องถูกหั่นทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย (นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่หลายๆ คนขวนขวายไปหาเวอร์ชั่นที่เป็นหนังสือมาอ่าน)
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีเรื่องของความสมเหตุสมผลในหลายๆ จุดที่หนังยังเก็บไม่หมด เช่น ตอนที่ตัวละครอย่างติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี ที่จู่ๆ ก็โผล่มาช่วยเหลือราชินี ซึ่งมันไม่ Make Sense เลยว่า เขาเข้ามาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่กองทัพของ “อีกาดำ” ตั้งทัพกั้นน่านน้ำทางเข้าเมืองอยู่?
เหนืออื่นใด คือเรื่องของวิชาดูหลำ (การรวมพลังคนเข้ากับพลังปลาที่ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในระดับน้องๆ สึนามิ) ที่หนังดูจะตั้งอกตั้งใจเป็นพิเศษและเสียสละเวลาให้ตั้งหลายนาทีเพื่อที่จะบอกเล่าถึงอานุภาพของเคล็ดวิชานี้ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อหนังเทน้ำหนักให้ความสำคัญขนาดนั้น คนดูก็ย่อมคาดหวังอยู่ลึกๆ ว่า น่าจะได้ดูฉากต่อสู้เด็ดๆ ด้วยเคล็ดวิชานี้แบบอลังการๆ สักฉาก (เหมือนดูหนังกังฟู ก็ควรมีฉากบู๊ฟาดปากกันเลือดแตกให้ดูบ้าง) แต่ถึงที่สุด หนังก็ไม่มีอะไรแบบนี้ให้ดูชม เช่นเดียวกับ “ปืนใหญ่” ที่หนังปูพื้นให้เรารู้ถึงความยอดเยี่ยมของมันตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่พอถึงตอนเอามาใช้งาน หนังกลับไม่ได้แสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่จริงๆ ของมันตามที่ได้คุยไว้ นั่นก็คือ “ปืนใหญ่” ที่ช่วงชิงกันนักกันหนานั้น สุดท้ายแล้ว ก็แทบไม่มีอันใดแตกต่างกับปืนใหญ่ธรรมดาๆ ทั่วไป
ไม่ว่าจะอย่างไร ท่ามกลางรายละเอียดหยุมหยิมและการ “ขาดๆ เกินๆ” ในอีกหลายๆ จุด ผมนึกถึงคำพูดของคุณวินทร์ เลียววาริน ในบางประโยคที่บอกว่า หนังเรื่องนี้ควรจะมีความยาวสักสามชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ซึ่งจากคำพูดนี้ก็พอจะอนุมานได้ว่า บทหนังที่เป็นความตั้งใจของคุณวินทร์คงจะมีอะไรๆ “มากกว่าที่เห็น” อย่างแน่นอน เพียงแต่มันอาจจะขาดหายไปในกระบวนการตัดต่อซึ่งถูกกำกับอีกทีหนึ่งโดยสิ่งที่เรียกว่า “เงินทุน”
ครับ พูดแบบนี้ ใช่ว่าจะโยนภาระให้กับ “เจ้าของเงิน” (ซึ่งก็คือสหมงคลฟิล์มของเสี่ยเจียง) เพราะจริงๆ ผมว่า ถ้าหนังไม่กังวลกับตัวละครและเรื่องราวที่หลากหลายมากเกินไป และเลือกโฟกัสเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งแล้วเล่าจุดนั้นเป็นแกนหลัก น้ำหนักของบทหนังน่าจะหนักแน่นขึ้นมากกว่าที่เห็น
แต่เอาล่ะ เมื่อพิจารณาดูองค์ประกอบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของโปรดักชั่นงานสร้าง ผมก็ยังเห็นด้วยนะครับกับเสียงส่วนหนึ่งซึ่งบอกอย่างให้กำลังใจกับคนทำงานว่า ด้วยงบสร้างเพียงเท่านี้ ทำได้ขนาดนี้ ก็ถือว่าน่าชมเชยแล้ว...