xs
xsm
sm
md
lg

โลงต่อตาย : หนังไทยดีๆ แห่งปี 2551!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ไม่ว่าผลลัพธ์สุดท้าย “โลงต่อตาย” จะพาตัวเองปีนป่ายไปเก็บรายรับได้ที่ระดับกี่สิบล้าน (หรือร้อยล้าน?!!) แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ ความข้องอกข้องใจหลายๆ อย่างที่ผู้คนมีต่อหนังเรื่องนี้ก็ได้รับการคลี่คลายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับประเด็นข้อสงสัยที่ถามไถ่กันเหลือเกินว่าหนังเรื่องนี้พูดไทยหรือพูดภาษาต่างด้าว (ซึ่งเป็นเรื่องที่จิ๊บจ๊อยมากๆ) ก็เฉลยออกมาแล้วว่า หนังพูดไทย (แม้เสียงพูดจะเป็นเสียงพากย์ แต่ก็ไม่ทำให้เสียอรรถรสเลยแม้แต่น้อย) เหนืออื่นใด ถ้าจะลองตั้งใจฟังให้ดีๆ นอกเหนือไปจากพูด “ภาษาไทย” ผมว่าหนังเรื่องนี้กำลังพูด “ภาษารัก” กับคนดูได้อย่างคมคายและน่าขบคิดมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

“โลงต่อตาย” (หรือ The Coffin) เป็นผลงานการกำกับลำดับที่ 3 ของ “เอกชัย เอื้อครองธรรม” ผู้กำกับที่เคยผ่านงานด้านไดเร็กเตอร์หนังใหญ่มาแล้ว 2 เรื่อง คือ Beautiful Boxer กับ Pleasure Factory ที่ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางในตลาดหนังต่างประเทศในแง่ของรายรับ ขณะที่ตัวของผู้กำกับเองก็ถูกพูดถึงในฐานะคนทำหนังคุณภาพระดับที่เชื่อมือได้

และไม่มากไม่มาย ผมคิดว่า “โลงต่อตาย” ก็คืออีกหนึ่งชิ้นงานที่ช่วยยืนยันได้ว่า “คำชื่นชม” ซึ่งหลายๆ คนมีให้แก่ “เอกชัย เอื้อครองธรรม” นั้น ไม่ได้เป็นแค่คำอวดอ้างเกินจริง

เล่าให้ฟังอย่างย่นย่อ “โลงต่อตาย” เกี่ยวข้องกับตัวละครที่เป็นแกนกลางของเรื่องราว 2 คน คือ “คริส” (อนันดา เอเวอริ่งแฮม) กับ “ซู” (คาเรน ม็อก นักแสดงสาวชาวฮ่องกง) ที่แม้จะอยู่กันคนละประเทศ แต่ก็มีเหตุการณ์บางอย่างดึงดูดให้พวกเขาก้าวเข้าไปสู่สถานการณ์คล้ายๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความอาถรรพ์ที่คาบเกี่ยวกับ “ความเชื่อลึกลับ” ที่ไม่เพียงทำให้พวกเขาต้องพานพบกับประสบการณ์หลอนระทึก แต่ยังสั่งสอน “บทเรียน” บทใหม่ให้พวกเขาด้วยในตอนท้าย

ด้วยความเป็นหนังที่เดินมาในทิศทางของ Horror อย่างเต็มตัว โลงต่อตายมีทุกสิ่งทุกอย่างที่หนังสยองขวัญทั่วๆ ไปควรจะมี ไล่ตั้งแต่บรรยากาศหลอนๆ แบบหนังผี กับดนตรีประกอบที่ชวนให้รู้สึกเย็นยะเยือกแถวสันหลัง ไปจนถึงฉากกระชากขวัญสั่นประสาทที่เป็นไวยากรณ์บทแรกๆ ของหนังแนวนี้

แต่ก่อนอื่นคงต้องยอมรับครับว่า โลงต่อตายเป็นหนังที่มีไอเดียแปลกใหม่อยู่ในตัวเอง โดยเฉพาะการหยิบยกเอาความเชื่อลึกลับเกี่ยวกับการนอนโลงสะเดาะเคราะห์มาผูกปมสร้างเรื่องราว ซึ่งทำให้คิดไปถึงคำพูดบางประโยคของเอกชัยที่บอกว่า เขาตั้งใจทำหนังเรื่องนี้ให้คนไทยได้ดูโดยเฉพาะ แต่เอาเข้าจริงๆ ผมมองว่า โลงต่อตายน่าจะขายได้ดีด้วยซ้ำไปในตลาดหนังต่างประเทศ

เพราะอะไรน่ะหรือ ?

ก็เพราะความ Exotic แบบท้องถิ่นอย่างความเชื่อที่ว่านี้แหละครับที่จะเป็นตัวดึงดูดความสนใจจากชาวต่างชาติได้ไม่ยากเย็นนัก และอย่าลืมนะครับว่า หนังเรื่องนี้ได้รางวัลจากต่างประเทศมาแล้วตั้งแต่ครั้งยังเป็นโปรเจคต์อยู่เลยด้วยซ้ำ (อันที่จริง ถ้ามองในแง่ของการคิดจะขายอะไรๆ ที่ Exotic ผมว่าเมืองไทยเรายังมีเรื่องทำนองนี้อีกเยอะเลยนะครับ อยู่ที่ว่าใครจะหยิบจับมาเล่นยังไงเท่านั้นเอง แต่ที่มากกว่าความ Exotic ก็ต้องไม่ลืมว่า หนังต้องมีเนื้อหาที่เป็นแกนหลักด้วย เพราะไม่อย่างงั้น ก็คงไม่ต่างอะไรกับพวก “สารดีของแปลก”)

ในส่วนของงานสร้าง โลงต่อตายมีความลงตัวค่อนข้างสูง คือถ้าไม่นับรวมเทคนิคด้านภาพที่ประณีตบรรจงซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพิถีพิถันของคนทำแล้ว ฉากกระตุกขวัญที่คอหนังผีคาดหวังกันนั้น ก็มีให้สะดุ้งสะเทือนกันในระดับที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป แม้ว่าในส่วนของการสร้างภาพ

บรรยากาศ เราจะยังมองเห็นการ “ยึดติด” อยู่กับบรรยากาศของหนังผีไทยสไตล์เดิมๆ ที่ชอบปล่อยควันสีขาวๆ ให้ลอยฟุ้ง แต่โดยรวม ถือได้ว่า โลงต่อตายดีไซน์บรรยากาศออกมาได้น่าหวาดหวั่นสะพรึงกลัวสมศักดิ์ศรีของหนังผีจริงๆ (จะว่าไปแล้ว หนังผีเรื่องหนึ่งจะน่ากลัวหรือไม่น่ากลัว ก็อยู่ตรงนี้เอง)

เหนืออื่นใด ผมคิดว่า ผู้กำกับคนนี้เขามีจังหวะชั้นเชิงในการปล่อยฉากช็อกๆ ซึ่งมีลูกล่อลูกหลอกที่ดี และที่น่าสังเกต มีสองถึงสามครั้งที่ผมเห็นว่า หนังดูเหมือนจะตั้งหน้าตั้งตาอย่างมากในการลากพาอารมณ์ของคนดูให้จมลึกเข้าไปสู่ห้วงแห่งความเศร้า แต่ในขณะที่เราเผลอไผลปล่อยใจให้เศร้าๆ ซึมๆ อยู่นั้นแหละครับ คือโอกาสอันดีของการที่หนังจะจู่โจมคนดูให้ตกใจชนิดที่ตั้งตัวรับไม่ทัน และเท่าที่ผมพอจะรู้บ้างก็คือ เวลาตกอยู่ในอารมณ์แห่งความเศร้า สภาพจิตใจของคนเราจะอ่อนแอลงไปและหวั่นไหวง่ายต่อสิ่งเร้า ซึ่งก็ถือเป็นความฉลาดของหนังที่ใช้สอยประโยชน์จากจุดนี้ได้ดี และถ้านี่เป็นความจงใจของเอกชัย ผมว่า เขาเจ๋งมาก

ส่วนประเด็นที่พูดถึงกันค่อนข้างมากอย่างเรื่องไทม์ไลน์ (ลำดับเวลา) ในหนังที่มีการตัดสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบันที่ทำให้หลายๆ คนออกปากบ่นว่าทำให้สับสนดูไม่รู้เรื่องนั้น ขออนุญาตยืนยันและแนะนำสำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูนิดนึงครับว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ “ปัญหา” เลยแม้แต่น้อย และไม่ต้องกังวลว่าจะดูไม่รู้เรื่อง หรือถ้าจะเอาแบบปลอดภัยไว้ก่อนก็ให้คิดล่วงหน้าไว้เลยครับว่า เรื่องราวในส่วนของอนันดานั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหลายปี (เทียบกับไทม์ไลน์ในหนังดีๆ เมื่อปีที่แล้วอย่าง “บอดี้ ศพ#19” ผมว่า โลงต่อตายดูง่ายกว่าเยอะมาก)

ข้ามฝั่งมาดูที่ผลงานของบรรดานักแสดงกันบ้างว่าเป็นอย่างไร หนุ่มอนันดานั้นไม่มีอันใดให้ต้องติติง เพราะหากไม่นับรวมการทุ่มเทลงทุนลงไปนอนในโลงศพโดยไม่ต้องพึ่งสตันท์แมนนั้นแล้ว บทของคริสก็คืออีกหนึ่งบทบาทซึ่งขับรัศมีแห่งความเป็นนักแสดงมืออาชีพในตัวของอนันดาออกมาให้คนดูได้เห็นอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้นอีก (ปีนี้ถือว่าเป็นปีทองของเขา จากผลงานที่เข้าฉายหลายเรื่องติดต่อกัน ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นงานระดับคุณภาพทั้งนั้น ไม่น่าแปลกใจเลยที่ใครต่อใครจะพูดกันว่า ปีหน้า อนันดาเตรียมตัวรับตุ๊กตาทองสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมได้เลย!!)

ขณะที่นักแสดงสาวอย่าง “มะหมี่-นภคปภา นาคประสิทธิ์” ที่แม้บทบาทที่เธอได้รับในหนังเรื่องนี้ อาจจะเรียกได้ว่าไม่ใช่ “นางเอก” แต่บทของผีสาวเจ้าคิดเจ้าแค้นที่มะหมี่เล่นก็โดดเด่นมากเสียจนกลบรัศมีของดาราดีกรีฮอลลีวูดอย่างคาเรน ม็อก ไปเกือบหมด (ทั้งที่มีบทให้เล่นน้อยกว่าคาเรน ม็อก ด้วยซ้ำ) ครับ บทบาทของมะหมี่ในหนังเรื่องนี้ชวนให้คิดถึงตัวละครอีกตัวหนึ่งอย่าง “โจ๊กเกอร์” ที่ฮีธ เลดเจอร์ เล่น ใน Batman : The Dark Night ที่แม้จะเป็นตัวร้ายตามท้องเรื่อง แต่เขาคือ “พระเอกตัวจริง” ของหนัง (และก็อย่างที่เราๆ ท่านๆ ก็คงรู้กันมาบ้างแล้วนั่นแหละครับว่า เทรนด์ของตัวร้ายที่มีบทบาทโดดเด่นกว่าพระเอกนางเอก กำลังจะมา...)

มีฉากหนึ่งในหนังซึ่งผมคิดว่า ทั้งอนันดาและมะหมี่เล่นได้ดีมากๆ ก็คือช่วงที่ผีสาวต้องเข้าฉากล่ำลากับแฟนเก่า ซึ่งแทบจะเทียบกันได้เลยกับฉากดีๆ ฉากหนึ่งในหนัง “นางนาค” ตอนที่ผีแม่ลูกอ่อนออดอ้อนพิรี้พิไรบอกลาผัวรักกลางป่าช้า (ซึ่งต้องยอมรับว่า Sad ได้ใจจริงๆ!!)

และก็อย่างที่เกริ่นไว้บ้างแล้วครับว่า หนังเรื่องนี้ผูกโยงตัวเองเข้ากับ “ความเชื่อลึกลับ” ในการสะเดาะเคราะห์ของคนไทยส่วนหนึ่งซึ่งเชื่อว่า การลงไปนอนในโลงจะช่วยให้ตัวเองหลุดพ้นโรคภัยไข้เจ็บ (เอกชัยบอกว่า เขาหยิบมาจากข่าวๆ หนึ่งซึ่งเคยโด่งดังมากเมื่อหลายปีก่อนซึ่งเกิดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมาที่มีคนเข้าไปร่วมพิธี “นอนโลงสะเดาะเคราะห์” มากเป็นหมื่นๆ คนจนกระทั่งกินเนสส์ บุ๊ค ยังต้องเก็บไปบันทึก)

แน่นอนครับว่า มันเป็นไอเดียที่ดีที่หนังหยิบเอาความเชื่อแบบนี้มาเป็น “อุปกรณ์” ในการผูกเรื่อง แต่มันก็ค่อนข้างล่อแหลมในการลด “ความน่าเชื่อถือ” ของหนังลงไปด้วยในขณะเดียวกัน ดังที่เราจะเห็นว่ามันมี Detail บางอย่างซึ่งผมคิดว่า คนทำหนังเรื่องนี้คงเอามาต่อเติมเองจนดูโอเว่อร์เกินจริงมากไปสักหน่อย อย่างน้อยๆ เราก็คงยากจะทำใจให้เชื่อได้ว่า แค่การเข้าไปนอนในโลงมันจะส่งผลให้โรคมะเร็งที่เป็นอยู่หายไปเป็นปลิดทิ้งได้จริงๆ หรือ?? (ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีข้อมูลรองรับว่า เวลาคนเราไปนอนโลงสะเดาะเคราะห์ สิ่งเลวร้ายที่เคยพุ่งเป้าหมายมาที่ตัวเรา มันจะ “เคลื่อนย้าย” ไปเกิดกับคนอื่นๆ ที่เรารัก)

แต่เอาล่ะ ถ้าจะมองว่า นี่เป็นเพียง “เครื่องไม้เครื่องมือ” ที่ผู้กำกับเขาสร้างขึ้นเพื่อบอกเล่า Message ที่สำคัญ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และจริงๆ ผมว่ามันก็ไม่ได้หนักหนาสาหัสถึงกับทำให้หนังเสียศูนย์จนสารที่ต้องการสื่ออ่อนด้อยลงไป (แต่ก็อย่างว่า ถ้าจ้องจะ “จับผิด” กันให้ตายไปเลย นั่นก็อีกเรื่อง)

ครับ ว่ากันอย่างถึงที่สุด ถึงแม้ “โลงต่อตาย” จะพรีเซ็นต์ตัวเองออกมาในรูปแบบของหนังผี แต่นี่ก็ไม่ใช่หนังผีที่ตั้งหน้าตั้งตามาหลอกหลอนคนดูแบบเอาเป็นเอาตาย (อย่างน้อยๆ ก็เป็นผีอีกประเภทที่ต่างจากพวก JU-ON หรือ ชัตเตอร์ ซึ่งตามไปหลอกหลอนคุณต่อถึงเตียงนอน) มากไปกว่านั้น โลงต่อตายยังคมคายด้วยแง่คิดเกี่ยวกับชีวิตและความรักที่เล่าประสานไปกับเรื่องราวสยองขวัญได้อย่างกลมกลืน ผ่านเรื่องราวของตัวละครสองคนที่คิดกันไปคนละแบบ (คนแรกคิดว่าทำยังไงก็ได้เพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอด ส่วนอีกคนยอมทำทุกอย่างเพื่อรักษาคนรักไว้)

มาถึงตรงนี้ ผมนึกถึงคำพูดของหลายๆ คนที่ชอบมาบ่นให้ฟังอยู่เรื่อยๆ ว่า ทำไมหนังไทยปีนี้ “ดูไม่ได้” เลย แน่นอนครับว่า ความหมายของคำว่า “ดูไม่ได้” แปลเป็นไทยแบบไม่เกรงใจกันก็คือ “ห่วย” ซึ่งผมเห็นด้วย แต่ไม่ทั้งหมด เพราะหากเราลองเอาตะแกรงมาร่อนดูกันจริงๆ จังๆ จะพบว่ามันยังมีหนังที่เข้าขั้นดีแทรกอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง (และถ้าจะพูดกันอย่างเป็นธรรมที่สุด ผมว่า มันก็เป็นแบบนี้ทุกๆ ปีมิใช่หรือ คือไม่เฉพาะแค่หนังไทยหรอก แม้แต่หนังอิมพอร์ตจากเมืองนอก ก็มี “หนังที่ดี” น้อยกว่า “หนังที่ด้อย” ครือๆ กันนั่นแหละครับ ว่าไหม?)

โอเคว่า กับปี 2551 เราอาจจะยังไม่มีหนังไทยเรื่องไหนที่เรียกได้ว่าเป็น “ปรากฏการณ์” จริงๆ แต่เราก็ยังมีหนังที่จัดว่าเข้าขั้นดีอยู่หลายเรื่อง และการที่ไม่มีหนังทำเงินระดับร้อยล้าน ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่มีหนังดีๆ เพราะถ้าไม่นับรวมบุญชู ภาค 9 ที่คาดการณ์กันว่าจะเรียกคนไปโรงหนังได้มากมายกว่าหนังไทยทุกๆ เรื่องของปี เราก็ยังมีหนังอย่าง “ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น” มี “สี่แพร่ง” หรือแม้กระทั่ง “The 8th Day แปดวัน แปลกคน” และ “รักสามเส้า” ที่พูดได้ว่าไม่ใช่หนังด้อย

และแน่นอนที่สุด ผมว่า “โลงต่อตาย” ก็ควรได้ติดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

แต่บอกกันตามตรงครับว่า สิ่งหนึ่งซึ่งผมรู้สึกไม่ดีเลยเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็คือ การโปรโมตโฆษณาที่ชี้นำ (และคาดคั้น!!) ให้คนดูเกิดความรู้สึกคิดหวังไปล่วงหน้าว่า หนังคงจะออกมาหลอนระทึกแบบสุดๆ ผ่านคำพูดแรงๆ อย่าง “กล้าตาย ท้าตาย โกงตาย” หรืออะไรทำนองนั้น (ซึ่งจะว่าไป เซ็นส์ของถ้อยคำลักษณะนี้ เมื่อวิเคราะห์ดูดีๆ มันมีอารมณ์หนักไปทางแอกชั่นมากกว่าจะทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผีๆ ด้วยซ้ำ ถึงแม้จะมีคำว่า “ตาย” “ตาย” แล้วก็ “ตาย” ก็ตามที)

เหนืออื่นใด กับภาพรวมของหนังทั้งหมดที่ออกมา โลงต่อตายก็ไม่ได้ระทึกขวัญสั่นประสาทอะไรมากมายขนาดนั้น ซึ่งเทียบกันกับหนังอย่าง “ชัตเตอร์” หรือ “แฝด” แล้ว ผมว่า ดีกรีความสยองยังเป็นรองกว่าเยอะ

นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า เมื่อพิจารณาดูเนื้อหาหลักๆ ที่หนังต้องการจะสื่อ เราจะพบว่า ที่จริงแล้ว โลงต่อตายก็คือ Love Story ดีๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งเพียงแค่หยิบยืมวิธีการของหนังสยองขวัญมาบอกเล่า ก็เท่านั้นเอง

เปล่าครับ ไม่ได้ติดใจอะไรมากมาย เพราะเข้าใจว่าต้องการจะขายของ

ก็แค่นึกสงสัยนิดๆ หน่อยๆ ว่า เดี๋ยวนี้ “ความจริงอกจริงใจ” หรือ “ความตรงไปตรงมา” มันใช้ไม่ได้แล้ว ใช่ไหม ???
กำลังโหลดความคิดเห็น