ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับละครเวทีของเหล่านักล่าฝัน ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย หรือ กรุงศรีฯ เอเอฟ เดอะมิวสิคคัล ตอนโจโจ้ซัง ที่ลงทุนกว่า 50 ล้านบาท ในรอบสื่อมวลชน ได้พบกับฝีมือการแสดงของ มิ้นท์ และ ว่าน ซึ่งก็สร้างความประทับใจไม่น้อยเลยทีเดียว
โดย โจโจ้ซัง ละครเรื่องนี้ แบ่งการแสดงเป็น 2 กลุ่มในบทเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Double Cast โดยกำหนดวางตัวนักล่าฝันในบทบาทดังนี้ กลุ่มที่ 1 (รอบสื่อมวลชน) – ว่าน เอเอฟ 2 (พิงเคอร์ตัน), มิ้นท์ เอเอฟ 3 (โจโจ้ซัง), พะแพง เอเอฟ 4 (เคท), ต้อล เอเอฟ 4 (ยามาโดริ), ปอง เอเอฟ 4 (ซาซากิ) กลุ่มที่ 2 – ตุ้ย เอเอฟ 3 (พิงเคอร์ตัน), ลูกโป่ง เอเอฟ 4 (โจโจ้ซัง), พัดชา เอเอฟ 2 (เคท), นัท เอเอฟ 4 (ยามาโดริ), ซาร่า เอเอฟ 3 (ซาซากิ)
โจโจ้ซัง ดัดแปลงมาจากอุปรากรญี่ปุ่นเรื่องคลาสสิก Madame Butterfly คีตกวีชื่อดังชาวอิตาเลี่ยน Giocomo Puccini เรื่องราวของ “รักสามเส้า” ของ โจโจ้ซัง – พิงเคอร์ตัน – เคท ข้ามพ้นเรื่องรักก็จะพบเรื่องบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ นั่นคือ การกระทำของชาติมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกาที่กระทำต่อชาวเอเชีย
พิงเคอร์ตัน แค่อยากจะเล่นเกมรักกับโจโจ้ซังเพื่อเอาชนะใจเธอ เธอเป็นเกอิชาที่อ่อนไหวต่อความรัก ยอมทุกอย่างกับความรักโดยปราศจากเงื่อนไข แม้กระทั่งการเข้ารีต เปลี่ยนศาสนา ท่ามกลางเสียงเสียดสี ประชด ประชัน แดกดันของวงศาคณาญาติและชาวบ้าน การรอคอยตลอด 3 ปี สิ้นสุดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความจริง
เคท ภรรยาฝรั่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ ความจริง ส่วนโจโจ้ซัง อดีตเกอิชาตกอับเป็นเพียงความทรงจำ เพราะทั้งคู่ล้วนได้ “ผีเสื้อ” เป็นสัญลักษณ์ของความรัก โจโจซัง สาวเอเชียได้ปิ่นปักผม เคท สาวอเมริกันได้เข็มกลัดผีเสื้อ เคทต้องการลูกของโจโจ้ซังเพราะเหตุเธอมีลูกให้กับพิงเคอร์ตันไม่ได้ อนิจจา ... สาวน้อยผู้ซึ่งสูญเสียทุกอย่างแม้กระทั่งจิตวิญญาณ จำเป็นต้องเสียของรักชิ้นสุดท้ายคือ “ลูก” จะมีประโยชน์อะไรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร้เกียรติ ในฐานะที่เป็นลูกของซามูไร เธอเลือกฮาราคีรี อัตวินิบาตกรรมตัวเอง โดยใช้ผ้าปิดตาลูกเล่นซ่อนหา เพื่อไม่ให้เด็กเห็นภาพโหดร้ายนั้น
“โจโจ้ซัง” จัดแสดงรอบสื่อมวลชนเมื่อ 4 สิงหาคม ณ M Theatre หรือโรงละครกรุงเทพฯ (เดิม) ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ บทละครดัดแปลงเรื่องนี้ โดย ตรียูงทอง กำกับการแสดงโดย มารุต สาโรวาท เพลงโดย พงษ์ศักดิ์ ภูววีรานนท์ และปิติ เกยูรพันธ์ และอำนวยการสร้างโดยกิตติกร เพ็ญโรจน์
นับเป็นครั้งที่ 2 สำหรับ ทรู แฟนเทเชีย ที่กลับมาสร้างปรากฏการณ์ละครเวทีในปีนี้ ถือเป็นเรื่องที่ 2 ต่อจากละครเพลงเรื่อง “เงิน เงิน เงิน” เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งปรากฏการณ์ของ “เงิน เงิน เงิน” เหมือนห้องเรียนทดลองให้กับนักล่าฝันเหล่านี้ ทว่า ละครเวทีหนนี้เปรียบเสมือนกับการทำข้อสอบที่สลับซับซ้อนกว่าการเรียน ภาพรวมทุกคนสอบผ่าน และทำได้ดีเกินคาด เพราะทิ้งตัวเองก้าวเข้าสู่ “ตัวละคร” ได้อย่างถึงแก่น เพราะผ่านการเคี่ยวกรำในการเรียนแอกติ้ง จาก หม่อมน้อย ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล รวมถึงการเจอผู้กำกับที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ละครเวทีอย่าง “มารุต สาโรวาท”
เข้าใจว่า การจัดวางตัวละครแบบ “ดับเบิล แคส” ได้นำเอาจุดเด่นไปกลบจุดด้อย เช่น เอาเสียงไปช่วยแอกติ้ง เอาการแสดงไปเสริมให้ละครราบรื่นและเด่นขึ้น ในกรณีที่เสียงไม่ถึง ดังจะเห็นได้จากรอบสื่อมวลชนที่เอา “มิ้นท์ มิณทิตา วัฒนกุล” ไปช่วยว่าน หรือให้ พะแพง (เคท) ซึ่งบทน้อยออกมาสร้างปมเด่นด้วยการร้องเพลงโต้ตอบปะทะกับ มิ้นท์ (โจโจ้ซัง) เป็นต้น
ใครที่เคยได้ยิน และเห็น MV เพลงโปรโมตละคร ที่นำเอาเพลง “โจโจ้ซัง” ต้นฉบับเดิมของ “รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส” คำร้อง – ทำนองโดย พยงค์ มุกดา “อันความรักมักชวนชักให้ใจลุ่มหลงระเริง...” จนคิดว่าเป็นเพลงประกอบละครเรื่องนี้ ขอบอกว่า เข้าใจผิด เพราะเพลงนี้ ไม่มีในบทละครเพลงเรื่องนี้ เป็นแค่บอกกล่าว เพราะคนไทยรู้จักสาวน้อยคนนี้จากเพลงนี้ ส่วนทำนองเพลงซูบารุ และ สุกี้ยากี้มีอยู่จริง แต่ถ้าเป็นเนื้อไทยก็เขียนเนื้อใส่ใหม่
ขอชื่นชมกับความสามารถทางการแสดงที่เหนือความคาดหมายของตัวละครทุกตัว รวมทั้งเกอิชาตัวเสริม ไม่ว่าจะเป็นแคท เอเอฟ 4, ปอง เอเอฟ 4, บรูน่า เอเอฟ 3, อิ๋งอิ๋ง เอเอฟ 4, ปุยฝ้าย เอเอฟ 4 เล่นได้ดีทีเดียว เกอิชาสุดฮาอย่างอิม อชิตะ สิกขมานา ก็เรียกเสียงฮาได้ตลอดทั้งเรื่อง เช่นเดียวกับแม่นางฮิโตมิ เจ้าของสำนักเกอิชา ที่รับบทโดยท๊อป ดารณีนุช ในความฮาก็มีปรัชญาสอดแทรก
สำหรับเสื้อผ้า หน้าผม สมแล้วกับความตั้งใจลงทุนไปซื้อผ้าจากแดนอาทิตย์อุทัย สีสันสวยงามและประณีตทีเดียวสำหรับชุดกิโมโน เพลงไพเราะ และเสียงแหบเสน่ห์ปนเศร้าของผู้รับบทโจโจ้ซัง อย่าง มิ้นท์ ทำให้คนดูปรบมือให้ตลอดในความเจ็บปวดที่เยือกเย็น อดชมเสียมิได้ ก็ต้องบทลูกชายของโจโจ้ซัง หนูน้อยเล่นได้ดีเหลือเกินในความใส และบริสุทธิ์ สะเทือนใจไม่น้อยกับการเล่นซ่อนหาที่ไม่รู้ว่าแม่จะลาโลก ฉากส่งท้ายที่บีบใจคนดูทั้งโรงละคร
แต่รอบสื่อมวลชน เกือบตายตอนจบ เมื่อ พิงเคอร์ตัน วิ่งถลาไปเลื่อนบานประตูเพื่อประคองร่างที่ไร้วิญญาณของโจโจ้ซัง ปรากฏการณ์ “ความฝืด” เล่นเอาบานประตูญี่ปุ่นเกือบหลุดยกแผง นอกนั้นถือว่าโดยรวม “โจโจ้ซัง” ถือว่าเป็นอีกก้าวที่น่าสนใจของเหล่าบรรดานักล่าฝันเอเอฟ