xs
xsm
sm
md
lg

12 ที่สุดของ “แดเนียล เดย์-ลูอิส” นักแสดงชายที่ยิ่งใหญ่แห่งทศวรรษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Entertainment Weekly - เรื่องของความทุ่มเท, การเข้าถึงบท, การปลดปล่อยอารมณ์ในจังหวะที่ยอดเยี่ยม ล้วนเป็นสิ่งที่นักแสดงชาย 'เลือดไอริชหัวใจอังกฤษ' “แดเนียล เดย์-ลูอิส” มีอยู่ในตัวอย่างเต็มเปี่ยม สิ่งที่ขาดไปก็คือจำนวนผลงานที่น้อยนิดตลอด 3 ทศวรรษในวงการภาพยนตร์ของเขา แต่ทุกครั้งที่กลับมา เขาได้มอบการแสดงที่เปี่ยมพลังแบบที่หาจากนักแสดงชายที่ไหนในยุคนี้ไม่ได้

ในบรรดาผลงานทั้ง 20 เรื่องที่ แดเนียล เดย์-ลูอิส นักแสดงวัย 50 ปี เคยฝากฝีมือทางการแสดงเอาไว้ ทาง Entertainment Weekly ได้คัดผลงานเด่นๆ ของเขาออกมา 12 เรื่อง เพื่อให้เราเห็นพัฒนาการของเจ้าแห่ง method ผู้นี้

My Beautiful Laundrette (1986)

เดย์-ลูอิส รับบทเป็นจอห์นนี เกย์ พังก์หนุ่มชาวลอนดอน ที่มีคู่รักเป็นหนุ่มแขกอพยพอย่างโอมาร์ โดยทั้งคู่ได้ท้าทายอคติทางเพศและเชื้อชาติด้วยการร่วมกันตั้งโรงซักรีดด้วยกัน ถือเป็นผลงานเรื่องแรกที่แฟนหนังเริ่มสังเกตเห็นความสามารถในการ 'แปลงร่าง' ของเขาจากผลงานชิ้นนี้และอีกเรื่องที่ออกฉายในช่วงเวลาแทบจะพร้อมๆ กัน

A Room With a View (1986)

ผลงานพีเรียดของ อี.เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ เรื่องนี้ออกฉายในอเมริกาวันเดียวกับ My Beautiful Laundrette ที่ทำให้แฟนหนังแทบไม่เชื่อสายตาว่า ผู้ที่รับบทเป็น ซีซิล หนุ่มผู้เต็มไปด้วยหลักการจากสังคมชั้นสูงในเรื่องนี้ จะแสดงโดยคนเดียวกับที่เล่นเป็น จอห์นนี เกย์ หนุ่มเหลือขอจาก My Beautiful Laundrette

The Unbearable Lightness of Being (1988)

ผลงานที่ถือว่าเป็นการเปิดตัวในฐานะนักแสดงนำเรื่องแรกของเดย์-ลูอิส ผลงานดัดแปลงของ มิลาน คุนเดอร์รา ในเรื่องราวรักสามเส้าที่เกิดขึ้นในสมัยที่สาธารณรัฐเชคยังคงอยู่ในร่มเงาของโซเวียต เดย์-ลูอิสรับบทเป็นหมอจอมเจ้าชู้ ที่อ่อยทั้ง ลีนา โอลิน และ จูเลียต บิโนช

My Left Foot (1989)

สุดยอดผลงาน Method อีกชิ้นของโลกภาพยนตร์ ที่ส่งให้เขาคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในปีนั้นไปครองได้อย่างไร้คู่แข่ง ในบทบาทของ คริสตี บราวน์ นักเขียนชาวไอริส ผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิดจนสามารถขยับได้เพียงเท้าซ้ายเท่านั้น อารมณ์อันป่าเถื่อนและความขบขันที่เดย์-ลูอิสแสดงออกมาทำให้เรารู้ว่าคริสตี บราวน์ มีสิ่งต้องฝ่าฟันในชีวิตแค่ไหน และกว่าที่ศิลปินคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จต้องผ่านอะไรมาบ้าง

The Last of the Mohicans (1992)

ผลงานของนักเขียนอเมริกัน เจมส์ เฟนิมอร์ คูเปอร์ ที่เกี่ยวกับชาวอินเดียนแดง, ชาวอาณานิคม และกองทัพของนักล่าอาณานิคมเรื่องนี้อาจจะไม่มีอะไรโดดเด่นมากนัก แต่การแสดงของเดย์-ลูอิส, เมเดอลีน สตอว์ และผู้กำกับ ไมเคิล มาน ทำให้ผลงานชิ้นนี้มีความน่าสนใจทันที โดยเฉพาะการสวมบทเป็น ฮอว์กอาย ของเดย์-ลูอิส ที่ผสานเรื่องความรักและการเป็นฮีโร่ในหนังได้อย่างลงตัว และยังคงเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จทางรายได้ที่สุดของเขาจนถึงวันนี้

The Age of Innocence (1993)

การร่วมงานครั้งแรกกับ มาร์ติน สกอร์เซซี ในผลงานดัดแปลงจากการประพันธ์ของ อิดิธ วอร์ตัน ที่เดย์-ลูอิสรับบทเป็น นิวแลนด์ อาร์เชอร์ สุภาพบุรุษชาวนิวยอร์กในศตวรรษที่ 19 ที่ต้องอดกลั้นความรักที่มีต่อหญิงสาวที่เขาหมายปอง (มิเชล ไฟเฟอร์) เพื่อทำหน้าที่สามีที่ดีต่อภรรยาสาวที่เขาแต่งงานด้วยเหตุผลทางสังคม (วิโนนา ไรเดอร์) แรงปรารถนาที่รอวันระเบิดของอาร์เชอร์ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างยอดเยี่ยมผ่านทางสายตาและรอยยิ้มที่ฝืนทนของเดย์-ลูอิสนั่นเอง

In the Name of the Father (1993)

เดย์-ลูอิส กลับมาร่วมงานกับ จิม เชอริแดน ที่เคยร่วมงานกันใน My Left Foot อีกครั้ง ในเรื่องราวที่สร้างจากเรื่องจริงของ เจอร์รี คอนลอน ผู้ที่ถูกใส่ร้ายจนต้องติดคุกไปพร้อมกับ จูเซ็ปเป พ่อของเขา ในข้อหาเป็นผู้ก่อการร้ายไออาร์เอที่ลอบวางระเบิด ตลอด 15 ปีที่อยู่ในคุก เจอร์รี ได้เรียนรู้เรื่องราวของคุณธรรมและความขัดแย้งทางการเมือง เหนือสิ่งอื่นใดเขาได้รับรู้ว่าพ่อที่เขาเห็นว่าเป็นคนที่อ่อนแอนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เป็นหนึ่งในผลงานที่เดย์-ลูอิสฝากการแสดงที่ทรงพลังเอาไว้จนถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์อีกครั้งจากเรื่องนี้

The Crucible (1996)

ผลงานที่ดัดแปลงมาจากงานเขียนของ อาเธอร์ มิลเลอร์ ในเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สอบสวนความเป็นแม่มดในสมัยช่วงก่อตั้งอเมริกา ที่เดย์-ลูอิสรับบทเป็น จอห์น พรอคเตอร์ นักบวชพิวริตันที่ไปมีสัมพันธ์กับ อบิเกล วิลเลียมส์ (วิโนนา ไรเดอร์) หลังจากแสดงเรื่องนี้ได้ไม่นานเขาก็แต่งงานกับ รีเบคกา มิลเลอร์ ผู้กำกับสาว ลูกสาวของนักประพันธ์เรื่องนี้นั่นเอง

The Boxer (1997)

การรวมงานครั้งที่ 3 กับ จิม เชอริแดน ในบท แดนนี ฟินน์ ผู้ที่เข้าไปอยู่ใจกลางของความรุนแรงเมื่อเขาพยายามที่จะนำเด็กวัยรุ่นที่เป็นอริกันในสองฝั่งเมืองของเบลฟาสต์มาลงแข่งขันในลีคชกมวย

Gangs of New York (2002)

หลังจากเกษียณตัวเองจากการแสดง เพื่อไปทุ่มเทกับงานที่เขาหลงใหลอย่างการเป็นช่างทำรองเท้าที่อิตาลีถึง 5 ปี ในที่สุดเขาก็ได้มาแสดงในหนังที่เขาฝันถึงมาตลอดชีวิตการแสดง ในการดัดแปลงงานเขียนของ เฮอร์เบิร์ต แอสบิวรี เรื่องราวความรุนแรงในยุคตั้งไข่ของนิวยอร์ก ซึ่งในการกลับมาร่วมงานกับมาร์ติน สกอร์เซซีเขาได้แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทในการไปหัดเป็นคนแล่เนื้อเหมือนในบทของการเป็น บิล 'เดอะ บุชเชอร์' คัตติง วายร้ายของเรื่อง และยังคงรักษาท่าทางของตัวละครนั้นไว้ตลอดเวลาที่อยู่ในกองถ่ายเพื่อรักษาสำเนียงแบบชาวนิวยอร์กของเขาให้บริสุทธิ์เสมอ จนล้มป่วยเป็นนิวมอเนียหลังจากไม่ยอมใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่นซึ่งขัดแย้งกับตัวละคร

แม้การเข้าชิงจากการแสดงที่ยอดเยี่ยมในเรื่องนี้จะไม่ทำให้เขาคว้าออสการ์ตัวที่ 2 จากการเข้าชิงครั้งที่ 3 มาได้ แต่เป็นที่ยอมรับกันว่าในผลงานที่มีนักแสดงดังอย่าง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ คาเมรอน ดิแอซ ร่วมแสดงอยู่นี้ ไม่มีใครติดฝุ่นการแสดงที่ทรงพลังของเดย์-ลูอิส โดยเฉพาะหนวดที่น่าเกรงขามของเขาที่ขโมยความโดดเด่นจากหนังเรื่องไปจนหมด

The Ballad of Jack and Rose (2005)

หลายปีก่อนที่รีเบคกา มิลเลอร์และเดย์-ลูอิสจะแต่งงานกัน เธอได้เสนอบทเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพ่อที่เจ็บออดๆ แอดๆ กับลูกสาววัยรุ่นแก่เขา แต่เธอต้องรอเป็นเวลากว่า 12 ปีกว่าที่เธอจะได้มากำกับสามีของเธอในการแสดงที่แสนจะหลอกหลอนเรื่องนี้ แม้ผลงานที่ออกมาจะได้รับการวิจารณ์ทั้งแง่บวกและแง่ลบ แต่เรื่องการแสดงของเดย์-ลูอิสนั้นได้รับการสรรเสริญจากนักวิจารณ์กันถ้วนหน้า ซึ่งระหว่างที่ถ่ายทำเรื่องนี้เขาต้องยอมแยกกับภรรยาเพื่อไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียว เพื่อให้เข้ากับความสมจริงของตัวละครที่เขาได้รับ

There Will Be Blood (2007)

การทุ่มเทให้กับการแสดงแบบสุดตัวทุกครั้ง เป็นเหตุผลหลักที่แฟนหนังไม่ค่อยได้เห็นเขาในโรงภาพยนตร์บ่อยอย่างที่ควรจะเป็น เพราะมันต้องแลกมาด้วยหลายๆ อย่างในชีวิตของเขา แต่ทุกครั้งที่เขากลับมาจะสร้างเสียงฮือฮาจากการแสดงของเขาได้อยู่เสมอ เช่นเดียวกับผลงานเรื่องล่าสุด ที่เขารับบทเป็น แดเนียล เพลนวิล เจ้าของกิจการขุดเจาะน้ำมันอารมณ์รุนแรง ใน There Will Be Blood ที่เขาสร้างการแสดงในครั้งนี้ออกมาได้อย่างเหนือชั้นกว่าครั้งไหนๆ จนทำให้เป็นตัวเต็งสำหรับออสการ์ปีนี้ในแบบที่คู่แข่งรายอื่นๆ แทบจะมอบรางวัลให้กับเขาไปก่อนที่จะประกาศกันจริงในเช้าวันจันทร์นี้เลยก็ว่าได้

There Will Be Blood เข้าชิง 8 สาขา

1.ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
2.นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (แดเนียล เดย์ ลูอิส)
3.ผู้กำกับยอดเยี่ยม (พอล โธมัส แอนเดอร์สัน)
4.บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม
5.การถ่ายภาพยอดเยี่ยม
6.ลำดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
7.กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
8.ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม

ทำไมออสการ์ถึงยกย่องนักแสดงอังกฤษนัก?
บาเบล หรือ เบเบล ? ในความหมายที่แท้จริงของ Babel
กำลังโหลดความคิดเห็น