โดย เวสารัช โทณผลิน
13 ปีมาแล้วที่ "อุดม แต้พานิช" นำการแสดง One Stand up Comedy เข้าสู่ประเทศ ปรับประยุกต์ให้เข้ากับจังหวะชีวิตของคนไทยแล้วตั้งชื่อเพื่อสร้างลายเซ็นต์ของตัวเองเอาไว้ว่า "เดี่ยวไมโครโฟน"
แม้ช่วงแรกคนไทยส่วนมากอาจจะยังไม่สามารถจำแนกความต่างระหว่างทอล์คโชว์ที่คุ้นเคยกับการแสดง One Stand up Comedy ซึ่งเป็นของใหม่ได้ แต่หลายต่อหลายคนที่เคยได้ไปเสพชมการแสดงทั้งสองประเภทก็มักจะใช้รสสัมผัสค่อยๆ แยกแยะจังหวะลีลาการแสดงที่มีผู้แสดงยืนลำพังอยู่บนเวที แล้วใช้ไมโครโฟนหนึ่งตัวในสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมนับพันเบื้องล่างตั้งแต่ต้นจนจบทั้งสองประเภทได้ในที่สุด
จะว่าไปแล้ว หากแสดงภาพคุณภาพในการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของอุดม แต้พานิชออกมาเป็นรูปกราฟ เส้นคลื่นที่ได้ก็คงจะออกมาคล้ายภูเขา ซึ่งมีความสูงชันในช่วงต้นและลาดเอียงเทลงในตอนปลาย
เพราะการเปิดตัวเดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ 1 ในปีพ.ศ. 2538 นับเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างกระแสและความแปลกใหม่ที่น่าตื่นใจให้กับสังคมเป็นอย่างมาก ยังผลให้เกิดการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนอีก 2 ครั้งถัดมาโดยเว้นระยะห่างกันเพียงปีเดียวเท่านั้น
เมื่อสิ่งที่สดใหม่ไปผนวกเข้ากับการที่อุดมได้ผลุบหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์หลังจากที่สามารถสร้างคาแรกเตอร์ของตัวเองขึ้นมาได้สำเร็จแล้ว เดี่ยวไมโครโฟนทั้ง 4 ครั้งในช่วงต้นจึงกลายเป็นการแสดงที่เยี่ยมยอดลงตัว อุดมสามารถคุมจังหวะการพูด การเคลื่อนไหวของตัวเองและจังหวะการติดตามเรื่องคนทั้งหอประชุมได้อยู่หมัด ไม่ว่าจะเป็นช่วงรุกเร่งหรือผ่อนลง ถือว่าเขาเป็นพลขับที่สามารถกำหนดอัตราเร็วในการเดินทางให้กับการแสดงได้อย่างแท้จริง
แต่พ้นจากบริเวณยอดสุดบนภูเขาในเดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ 4 ระดับลาดไหลลงพื้นของเส้นกราฟแบบภูเขาก็ปรากฏ เดี่ยวไมโครโฟนครั้งต่อๆ มาของเขาดูจะแกว่งเอน และไม่สามารถควบคุมความเร็วหรือปลายทางได้อย่างที่เคยเป็น
การหายหน้าไปจากการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนครั้งล่าสุด(ครั้งที่ 6 ในปีพ.ศ. 2546)ของอุดม ไม่ว่าจะเกิดจากความต้องการให้น้ำระเหยออกจากจุดอิ่มตัวหรือประสงค์จะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านงานศิลปะแขนงอื่นอย่างแท้จริงก็ตาม แต่อุดมก็คงต้องเข้าใจและยอมรับสัจจะที่สำคัญประการหนึ่งว่า เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เคยยืนอยู่บนผาสูง ที่จะมีคนมากมายยืนมองขึ้นมาจากเบื้องล่าง และในจำนวนผู้คนเหล่านั้น มีคนกลุ่มน้อยที่กำลังชื่นชมยินดี แต่มีกลุ่มมากที่กำลังส่งเสียงสาปแช่ง พร้อมทั้งรอวันที่คนผู้นั้นจะพลัดหล่นลงมาจากตำแหน่งสูง
จากระดับความห่างจากพื้นโลกที่อุดมเคยทำได้ แม้เขาจะถลาลื่นลงมาแค่ก้าวเดียว ผู้คนเบื้องล่างก็อาจจะมองเห็นว่าเขากำลังตกหน้าผาได้ เดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ 7 ซึ่งอุดมหายตัวไปนานถึง 5 ปีเต็มครั้งนี้ จึงเต็มไปด้วยแรงกรรโชกจากลมรอบบริเวณ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เขาร่วงหล่นลงไปได้ทั้งสิ้น
สถานที่จัดแสดงอย่าง โรงภาพยนตร์ สกาล่าดูจะเป็นเรือนรับรองแฟนเดี่ยวไมโครโฟนที่เข้าท่าที่สุดไปเสียแล้ว เพราะจากตำแหน่งการจัดที่นั่ง ความจุ และการเดินทางอันสะดวกสบาย(ด้วยรถไฟฟ้า BTS) ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนทำให้สถานที่จัดการแสดงแห่งนี้ดูเหมาะเจาะลงตัวยิ่งขึ้น
หนึ่งความสนใจของผู้ชมเดี่ยวไมโครโฟนทุกท่าน คือเรื่องของฉากบนเวที เพราะนับตั้งแต่การแสดงครั้งที่ 1 มาแล้วที่อุดมให้ความสนใจละเมียดละไมกับฉากหลังเป็นพิเศษ (แม้จะทำอย่างธรรมดาสามัญมากในเดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ 5 และ 6 ) และในเดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ 7 นี้อุดมก็ยังยึดแนวคิดที่ไม่พลิกไปจากเดิมสักเท่าไร นั่นคือการประติดประต่อพื้นหลังที่เรียบง่ายๆ ในปริมาณมาก แล้วดึงความสนใจผู้ชมด้วยสิ่งก่อสร้างหรืองานศิลปะที่ใหญ่โตโดดเด่นอลังการของเขาเพียงหนึ่งชิ้น
การไม่มีทิศทางคอนเซปแน่ชัดของเดี่ยวไมโครโฟนในครั้งหลังๆ ถือเป็นข้อเสียประการหนึ่งของการแสดง เพราะการเดินทางที่ไม่รู้จุดหมาย จะทำให้ผู้ชมไม่สามารถบังเกิดความรู้สึกร่วมได้เท่ากับการกำหนดทิศเอาไว้ได้ แต่ในขณะเดียวกันมันกลับสร้างความรู้สึกอิสระพริ้วไหลแบบไร้กรอบให้แก่คนเล่าอย่างอุดมได้มากพอสมควร
ทักษะในการเล่า การล้อ และการประชดประชันเสียดสีซ่งจัดอยู่ในขั้นสูงแล้วของอุดมมีให้เห็นอยู่ตลอดทั้งการแสดง ในเดียวไมโครโฟนครั้งนี้ การเฝ้ามองสังคม ดูความเป็นไปของโลกแล้วนำมาขยายความด้วยวิธีกระทบกระทั่งแบบเบาๆ แต่ซอนลึกเข้าไปแทงหัวใจผู้ชมยังคงเป็นอาวุธถนัดสำหรับเขา แต่จังหวะที่ดูเนื่อยช้าและออกจะติดขัดบ้างบางช่วงดูจะเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับแฟนเดี่ยวไมโครโฟน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอุดมก็ออกตัวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า มันเกิดมาจากสังขารของเขาที่ร่วงโรยไปแล้วนั่นเอง
ในเดี่ยวไมโครโฟน 7 การแสดงที่ถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญสำหรับเดี่ยวไมโครโฟน(ซึ่งมีให้เห็นแทบจะทุกครั้ง) กลายเป็นการแสดงที่สร้างความอึดอัดและชะลอช้าจังหวะของการแสดงลงไปอีก เพราะแม้ว่าการแหล่เพลงและแร็ปสดจะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทักษะไหวพริบและพลังงานที่สูงล้ำ แต่อุดม แต้พานิชก็ยังไม่ใช่นักแหล่ชั้นครูหรือแร็ปเปอร์มือหนึ่งที่จะดึงเอาสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาสอดประสานให้ลงตัวเข้ากับทำนองได้อย่างสนิทเนียน การแสดงที่ถือเป็นไฮไลต์ของเขาครั้งนี้จึงกลายเป็นการคั่นรายการที่ยืดยาวจนน่าเบื่อแทน
นอกจากนี้บรรยากาศในการแซวเล่นกับคนดูตลอดจนการเดินเตร่เข้ามาสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ชมซึ่งถือเป็นสีสันที่สำคัญของเดี่ยวไมโครโฟนก็ไม่มีให้เลยแม้แต่น้อย
สิ่งที่ยอดเยี่ยมลงตัวในเดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ 7 อยู่ที่ทักษะความสามารถในการเป็นนักเล่าเรื่องของอุดม ที่สามารถอรรถาธิบายเรื่องธรรมดาให้มีชีวิตชวนสนุกจนเสมือนว่าผู้ชมกำลังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์นั้นๆ อยู่ อีกทั้งมุขเหน็บจิกคนรอบข้างและสังคมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเพิ่มพูนอรรถรสให้แก่ผู้ชมได้เป็นอย่างดี
มุมมองต่อปัญหา และการพิศโลกแบบกลับด้านกลายเป็นสิ่งเก็บตกที่ผู้ชมจะได้เพิ่มกลับไป นอกเหนือจากการที่ได้มา หัวเราะท้องคัดกันอย่างเบาสมองแล้ว เพราะจะว่าไปแล้วในเดี่ยวไมโครโฟนทุกครั้งที่ผ่านมา มักจะมีหลายสิ่งที่อุดมทิ้งเค้ารอยไว้ให้ขบคิดกันได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูเหมือนว่ายิ่งเติบโตขึ้นเท่าไร อุดมก็จะยิ่งคมคายและมีมุมมองที่ไม่เหมือนใครมากขึ้นทุกที
ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงกราฟที่เรี่ยไล้พื้นดินจนรู้สึกได้ แม้จะไม่ได้เอียงลาดเทต่ำลงไปกว่าครั้งที่แล้ว แต่ระดับความชันก็ยังไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา จนอาจจะเรียกได้ว่า กราฟคุณภาพเดี่ยวไมโครโฟนของอุดม แต้พานิชคือลายเส้นที่มีรูปทรงเหลือเพียงภูเขาที่เคยสูงไปเสียแล้ว