xs
xsm
sm
md
lg

เราสูญเสียมันไปตอนไหน?/อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

วันเสาร์ที่ 12 ม.ค.นี้เป็นวันเด็ก(แห่งชาติ)ครับ

ที่ผ่านมา แม้จะไม่ใช่นางงามแต่ผมก็รู้สึกว่าตัวเองมีความรักเด็กอยู่ในระดับที่ค่อนข้างจะสูงพอสมควรทีเดียว และก็อย่างไม่ได้เข้าข้างตัวเองนะครับ ผมว่าผมน่าจะเป็นคนๆ หนึ่งที่เด็กค่อนข้างจะติดได้ง่าย อย่างหลานบางคนติดถึงขนาดเรียกชื่อผมได้ก่อนพูดคำว่าพ่อ แม่เสียอีก

ทว่าครั้นได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มองดู แอบสังเกตพฤติกรรมของเด็กหลายต่อหลายคนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักแล้ว ผมก็พบว่าตัวผมเองไม่ได้รักเด็กแต่อย่างไรหรอกครับ หากแต่ชื่นชอบในจินตาการ ความเดียงสา ซื่อ บริสุทธิ์ ที่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ภายในร่างเล็กๆ เหล่านั้นมากกว่า

หลายปีมาแล้ว ขณะที่กำลังนั่งรถประจำทางสายสุพรรณ - สระบุรี เพื่อจะกลับบ้านที่ อ. เสาไห้ ระหว่างที่รถแล่นมาจะถึงศาลาริมทางหน้าหมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่ง เด็กรถก็ได้ทำหน้าที่แทนกริ่งรถ(ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียเกือบทุกคัน)ด้วยการตะโกน ถามผู้โดยสารว่า...มีคนจะลงหรือไม่? ก่อนจะมีเสียงดังตอบมาจากด้านหลังรถว่า..."มี อาตมา อาตมา ลง..."

หลังจอดส่งพระภิกษุรูปดังกล่าว เมื่อรถเคลื่อนตัว ผมได้ยินเสียงเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่นั่งอยู่ข้างๆ หันไปเขย่าแขนพ่อ แล้วถามดัวยความสงสัยว่า..."พ่อๆ พระเป็นคนหรือพ่อ...?"
...
วันปีใหม่ที่ผ่านมา ระหว่างที่กำลังล้างรถ(จักรยาน)อยู่หน้าหอฯ มีเด็กผู้หญิงวัย 4 - 5 ขวบคนหนึ่งซึ่งเดินนำหน้าพ่อ - แม่ลงมาจากอาคาร เมื่อเธอเปิดประตูหอฯ ออกมาเห็นผม เธอก็ทักขึ้นว่า "พี่ๆ พี่ทำอะไรอยู่"

ครั้นผมตอบออกไปว่ากำลังล้างรถ(จักรยาน)อยู่ เธอก็ถามกลับมาว่า..."แล้วพี่จะล้างให้หนูด้วยหรือเปล่า?" พร้อมชี้มือไปที่รถจักรยานคันสีแดงที่จอดอยู่ข้างๆ จักรยานคันสีเหลืองของผม

ผมอมยิ้มให้กับพ่อแม่ของเธอ ขณะที่พ่อแม่ของเธอยิ้มแบบเขินๆ ให้กับผม
ฯลฯ

พูดถึงเรื่องเด็กแล้วใจก็พลันนึกไปถึงหนังสือเล่มล่าสุดของคุณ "อธิคม คุณาวุฒิ" ที่ผมซื้อมาทันที

เนื้อหาภายใน(ยังอ่านไม่จบ)ก็ส่วนหนึ่งครับ แต่ที่สะดุดอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของผมเอามากๆ ก็คือชื่อหนังสือที่มีชื่อว่า "เราสูญเสียมันไปตอนไหน"

เรื่องจริงก็คือเราทุกคนเองต่างก็เคยยืนอยู่ในบทบาทและสถานะของการเป็นผู้สร้างสรรค์เสียงหัวเราะด้วยความเดียงสาให้กับพ่อ - แม่ เช่นเดียวกับพ่อ - แม่เองเราเองก็คงจะเคยเล่นบทเดียวกันนี้ให้กับปู่ย่า หรือ ตายาย ของเรามาก่อนหน้านั้น

แน่นอนครับว่า หลายสิ่งหลายอย่างล้วนแล้วแต่สมควรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับร่างกายในวัยที่เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อาทิเรื่องของ เหตุผล ความคิด สติปัญญา แต่นั่นจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องเหมารวมเอาเรื่องของจินตนาการ ความบริสุทธิ์ในความคิด คำพูดคำจาที่ไม่เสแสร้ง คุณธรรม + ความรับผิดชอบต่อสังคมสวนรวมที่ถูกสั่งสอนมาเมื่อครั้นเรียนระดับอนุบาล + ประถมศึกษา ซึ่งดูเหมือนว่าเราจะค่อยๆ สูญเสียมันไป เพื่อแลกมาด้วยอายุที่ถูกจัดระดับชั้นว่าเป็นผู้ใหญ่

จำได้มั้ยครับว่า ตอนเป็นนักเรียนอยู่ชั้นประถมฯ เวลาเจอเศษกระดาษ ขยะ เราต้องทำอย่างไรกับมัน, เวลาเจอดินสอ ปากกา ยางลบ ไม้บรรทัด(ที่ยังใช้งานได้)เราต้องทำอย่างไรกับมัน? เวลาเจอผู้ใหญ่ต้องทำอย่างไร? และเมื่อทำแล้วรู้สึกอย่างไร?

ในบริบทเดียวกัน แต่เป็นสเกลที่ใหญ่ขึ้น ณ วันนี้ เรามีวิธีการปฏิบัติเช่นไร? ด้วยความรู้สึกเช่นไร?

มิใช่เพียงจะสูญเสียมันไปเท่านั้น หากแต่เป็นที่น่าสังเกตว่ายิ่งนับวัน เราเองกำลังล้วนฉุดพรากเอาความบริสุทธิ์เดียงสาที่สมควรจะอิงแอบอยู่กับเด็กๆ ด้วยแนบสนิทความออกมาชนิดอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยรูปแบบของสังคมที่มีแต่ความเห็นแก่ได้ สังคมที่แรงโฆษณาสามารถกำหนดทิศทางให้เดินไปซ้ายหรือขวาก็ได้ สังคมที่แห่แหนบูชาของหรูหรา ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ฯ

20 ปีที่แล้ว ในวัยสิบขวบกว่าๆ เด็กชายหลายคนกำลังสนุกมีความสุขกับการเล่นซ่อนแอบ ผู้หญิงเล่นกระโดดยาง แต่ในวัยเดียวกันของเด็กสมัยนี้พวกเขาและเธอกำลังถูกล้างสมองให้รู้สึกว่าตนเองโตเป็นหนุ่มเป็นสาวบานสะพรั่งที่รักแร้จำเป็นจะต้องหอมกรุ่นละมุนด้วยโรลออน ขณะที่ผิว(หน้า)ก็ต้องขาวด้วยครีมโลชั่น

มิเช่นนั้นเรื่องสำคัญในชีวิตอย่างการหาแฟนมาเดินควงจะเกิดอุปสรรคขึ้นมาทันที

เรากำลังทำให้เด็กๆ ของเราเองอ่อนแอทางอารมณ์ความคิด แต่แก่แดดในพฤติกรรมจนเกินไปหรือเปล่า?

สิ่งของบางสิ่ง ความรู้สึกบางความรู้สึก เรื่องราวประสบการณ์บางบท คนบางคน จริงอยู่ที่กว่าเราจะล่วงรู้ว่ามันเป็นของดี คนสำคัญ มีคุณค่า ก็ต้องรอให้ถึงวันที่เราสูญเสียมันไป แต่นั่นมันก็ยังดีมิใช่หรือที่ว่าเราเองยังรู้สึกได้ถึงความสูญเสียที่ว่า

เพราะยังมีอีกหลายสิ่ง หลายอย่าง หลายเรื่องราวที่เป็นของดีที่เราเองไม่รู้สึกตัวเสียด้วยซ้ำว่าเราเดินหนีทิ้งมันมาตั้งแต่ตอนไหน?

และด้วยเหตุผลอะไร?

กำลังโหลดความคิดเห็น